green and brown plant on water

อนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์

เวลาอ่าน : 3 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2565

เรื่อง อนุสาสนีย์ปาฏิหาริย์

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

กำหนดจิต รู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลายปล่อยวางเรื่องราวทุกอย่าง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายตัดร่างกายความสนใจทั้งหมดออกไป 

กำหนดใช้สติจดจ่อซักซ้อมฝึกฝน ให้เมื่อไหร่ก็ตามที่เรากำหนดจิตทรงสมาธิ เราปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างออกไปจากจิตใจและร่างกายของเราได้ 

ก่อนนอนกำหนดจิต ทิ้งร่าง ปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางทุกสิ่ง การที่เราฝึกฝนซักซ้อมในการปฏิบัติในการตัดร่างกายควบพิจารณากับมรณานุสติ ปล่อยวางร่างกาย ทิ้งกาย ทิ้งเรื่องราว ทิ้งภาระ ทิ้งสมมุติทุกอย่าง ทิ้งความผูกพันทั้งหลายที่ปรากฏในโลกมนุษย์ ในบทบาทหน้าที่ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงแค่สมมุติมายาทั้งสิ้น เมื่อเราตายไปจากร่างกายนี้ ภพนี้ ชาตินี้ สมมุตินี้ ภาระทั้งหลาย บทบาททั้งหลาย หน้าที่ทั้งหลาย สมมุติทั้งหลายก็หมดสิ้นลง เมื่อเราเกิดใหม่จุติมาใหม่ เราก็มาอยู่ในร่างใหม่ ชื่อใหม่ สถานะใหม่ มีพ่อมีแม่คนใหม่ มีความผูกพันมีหน้าที่ใหม่ มีรูปลักษณ์รูปโฉมรูปกายใหม่ ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลง เราพิจารณากำหนดรู้เท่าทัน ปล่อยวางในทุกสิ่ง ผ่อนคลายปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางภาระของใจ ยิ่งปล่อยวางได้เร็วมากเท่าไหร่ ครอบคลุมมากเท่าไหร่ จิตเรายิ่งเบา ยิ่งละเอียด ยิ่งมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ยิ่งหมดห่วงหมดอาลัย จิตยกสภาวะขึ้นสู่ภูมิจิตที่สูงขึ้น

ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเมื่อไหร่ เราผ่อนคลายปล่อยวาง ทิ้งร่างกายตัดขันธ์ห้า พร้อมกับตัดสมมุติ ภาระความผูกพันทั้งปวงออกไปจากจิตของเรา เหลือจดจ่ออยู่กับสติที่รู้อยู่ในลมหายใจที่สงบ เบาละเอียด สบาย ผ่องใส ลมหายใจที่ละเอียดเหมือนกับแพรวไหมพลิ้วผ่านเข้าออกในกาย จิตสงบเข้าสู่สมาธิได้อย่างรวดเร็ว

ทรงอารมณ์ที่กำหนดรู้ในลมหายใจละเอียด ทรงอารมณ์กำหนดรู้ในความสงบระงับของจิต ทรงอารมณ์กำหนดรู้ในความนิ่งความหยุดจากการปรุงแต่ง สงบจากความคิดที่ฟุ้งไปในเรื่องต่างๆ  สงบนิ่งผ่องใส  อารมณ์จิตมีความเบา 

กำหนดรู้ถึงความสบายของจิต พิจารณาว่าเราเป็นผู้ที่ปฏิบัติ มีปัญญาความเข้าใจในธรรมะของพระพุทธเจ้า เราฉลาดในการน้อมจิตพิจารณาธรรม กระแสธรรมที่ถ่ายทอด จะเป็นเสียงก็ดี จะเป็นญาณเครื่องรู้ที่ผุดรู้ขึ้นมาในจิตก็ดี เรากำหนดน้อมจิตพิจารณาตาม ตามติดตามกระแสธรรมอย่างถี่ถ้วน โดยที่จิตเราไม่ไหลไม่หลุดออกไปในสิ่งต่างๆที่มารบกวน จิตตามติดกำหนดรู้ในธรรม เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตเราก้าวหน้าขึ้นในการปฏิบัติ กระแสธรรมที่เราฟังเทศน์ ฟังคำสอนจากอาจารย์ท่านใด จะเป็นพระอาจารย์ จะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาสก็ตาม จิตกำหนดรู้ตามติดกระแสธรรมที่เป็นเสียง ในขณะเดียวกันเกิดญาณเครื่องรู้ผุดรู้ขึ้นมาในจิต มาอธิบายกระแสธรรมที่เราฟังผ่านกายเนื้อ ผ่านหู มาเป็นกระแสธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น พิสดารขึ้น ตรงวาระจิตขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องในความก้าวหน้า ถ้าหากยกไว้ในส่วนที่เรียกว่ามหาสติปัฏฐานสี่

หากเมื่อไหร่ที่กระแสแห่งธรรมผุดปรากฏขึ้นในจิตก็ดี จิตตามติดกระแสธรรมที่เราฟังก็ดี อ่านก็ดี ปรากฏธรรมพิเศษเป็นญาณเครื่องรู้ที่ผุดขึ้นมาในจิตที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้นเมื่อไหร่ นับว่าจิตเราเข้าถึงธัมมานุปัสสนามหาสติปัฏฐานในระดับที่สูงขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ธัมมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ญาณที่เป็นธรรมเครื่องรู้ในจิต คุรุภายในก็ดี หรือจะเรียกว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นกายทิพย์ปรากฏ ผุดรู้กระแสธรรมมาสั่งสอนในจิตก็ดี ธรรมะที่ปรากฏขึ้นนี้จะยังให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างยิ่ง 

เรากำหนดรู้พิจารณาย้อนดูจิตของเราว่าสภาวธรรมเช่นนี้ปรากฏขึ้นกับข้าพเจ้าหรือไม่ กำหนดรู้เพื่อหยั่งให้เข้าใจถึงว่าการปฏิบัติของเราปรากฏผลเป็นปัจจัตตัง ความอัศจรรย์แห่งจิตในการปฏิบัติธรรมปรากฏขึ้นไหม ความก้าวหน้าในธรรมปรากฏขึ้นไหม เราน้อมจิตพิจารณาดูประสบการณ์ของเราแต่ละบุคคล บางท่านก็อาจจะอยู่ในจุดที่ว่าจิตตามติดกระแสธรรมที่สอน ยังตามติดตลอดได้บ้างไม่ได้บ้าง ตามติดบ้างหลับบ้าง หรือตามติดจดจ่อได้ทุกคำ ตามติดจดจ่อจนถึงขั้นที่มีเจโตปริยญาณในจังหวะที่ครูอาจารย์สอนอธิบาย จิตเราไว ล่วงรู้ล่วงหน้าว่าคำต่อไป ธรรมบทใดที่อาจารย์จะพูด คำประโยคใดที่อาจารย์จะพูดจะสอน เรารู้ขึ้นในจิตก่อนล่วงหน้า อันนี้ก็ถือว่าจิตเราตามจี้ติดในกระแสธรรมจดจ่อ น้อมตามติดในกระแสธรรม อันนี้จะเป็นเรื่องของคำอธิบายในการสอนที่ละเอียด แต่เมื่อเราปฏิบัติมามากเข้าสูงเข้า การปฏิบัติธรรมเราละเอียดขึ้น จิตก็จะตามติดกระแสธรรมได้ทัน จิตก็ปรากฏธรรมที่ผุดรู้ขึ้นตาม 

เรากำหนดน้อมพิจารณาดูใจของเรา แต่ละบุคคลอาจจะไม่เท่ากัน คนที่ก้าวหน้าในธรรมสูงการปฏิบัติธรรมรุดหน้ารวดเร็ว จะเป็นสภาวะตามที่อาจารย์ได้สอน จิตตามติดในกระแสธรรม จิตปรากฏเจโตปริยญาณรู้ล่วงหน้าในประโยคคำพูดที่จะสอน และมีญาณเครื่องรู้อธิบายเสริมเพิ่มให้ธรรมมีความละเอียดลึกซึ้งและตรงวาระจิตเรามากขึ้น

เราน้อมพิจารณาดู จิตมีความยินดีมีความเข้าใจในการฟังในการพิจารณาธรรม ปาฏิหาริย์แห่งการปฏิบัติ ปาฏิหาริย์แห่งการพิจารณาธรรม ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นการฟังก็ดี การอ่านบางครั้งจิตเราเกิดความรู้สึกว่าติดขัดในข้อใด หยิบจับหนังสือ หยิบจับเปิดหนังสือธรรมะมา ก็พอดีกับเรื่องที่เราติดขัดอยู่ เปิด YouTube ไฟล์เสียง Search หา ก็ปรากฏบทความ ปรากฏไฟล์เสียงที่เป็นเรื่องในข้อธรรมที่เทศนาหรือสอนตรงกับวาระจิตเราพอดี เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ จิตของเราได้ปรากฏประจักษ์ในธรรมที่ตรงกับวาระจิต อันนี้ก็ถือว่าพระท่านสงเคราะห์ ครูบาอาจารย์ท่านสงเคราะห์ เทวา เทพพรหมเทวาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านเมตตาสงเคราะห์ ไม่อยากให้การปฏิบัติธรรมของเรานั้นสะดุดหรือติดขัด 

เราก็กำหนดดูพิจารณาให้รู้ว่าเราเคยผ่านประสบการณ์ดังนี้ไหม กำหนดเดินจิตพิจารณาดูตามไปเรื่อยๆนะ เหตุการณ์ก็จะปรากฏขึ้น ประสบการณ์ต่างๆที่เราผ่านมาประสบมาก็จะปรากฏขึ้น

วันนี้ก็จะเป็นการสอนแนะนำในเรื่องของอนุสาสนีปาฏิหาริย์

ปาฏิหาริย์แห่งการเจริญธรรม  ปาฏิหาริย์แห่งการปฏิบัติธรรม  ปาฏิหาริย์แห่งการฟังธรรม

โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติธรรม สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดก็คือ การน้อมจิตพิจารณาธรรมตาม พิจารณาตามในจิต พิจารณาให้จิตจดจ่อติดตามธรรมได้ทัน ไม่หลุด ไม่หลง ไม่หลับ ไม่หลุดไป ไม่หลงฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น แล้วก็ไม่หลับ ส่วนใหญ่ก็ติดขัดกันอยู่ตรงนี้ ถ้าคนที่ตามติดอยู่ได้ตลอด จิตจะมีความรุดหน้าในธรรมอย่างรวดเร็ว อันนี้เกิดจากการน้อมจิตตาม เหมือนจิตที่ติดตามติดจิตของอาจารย์ผู้แสดงธรรมหรือผู้สอน อันนี้เป็นสิ่งที่อาจารย์ผู้สอนที่มีเจโตปริยญาณก็รู้สึกสัมผัสได้ว่าผู้ฟังธรรมนั้นจิตเขายังตามติด ยังเห็นยังรู้สึกยังพิจารณาตาม แล้วก็เห็นวาระจิตของผู้เรียนบางท่านก็ล่องลอยไปเรื่องอื่นก็หลุดตามไม่ทัน หรือหากฟังธรรมในการปฏิบัติเป็นเพียงเปิดไปในขณะที่ทำอย่างอื่นไปด้วย ตรงนี้ประโยชน์หรือโอกาสที่จิตจะติดตามกระแสธรรมได้ตลอดตามติดคำได้ตลอดตรงนี้ก็อาจจะไม่เท่ากับคนที่กำหนดจิตทรงสมาธิใส่หูฟัง ฟังธรรมในฌาน

การฟังธรรมถ้าฟังธรรมในฌาน ในอุปจาระสมาธิ ญาณเครื่องรู้ก็จะผุดเกิดขึ้นมากกว่าคนที่ไม่ได้ทรงสมาธิอยู่ ทำสิ่งอื่นอยู่ แต่ถึงกระนั้นทำสิ่งอื่นไปด้วยทำงานไปด้วยฟังธรรมไปด้วยก็ยังถือว่ามีประโยชน์กว่าไม่ฟังเลย หรือฟังธรรมไปแต่จิตไม่เข้าสู่สมาธิ ตรงนี้ก็ยังเข้าไปยังจิตใต้สำนึก หรือแม้แต่ฟังธรรมแล้วหลับ กระแสธรรมก็ยังเข้าสู่จิตใต้สำนึก ซึ่งเคยมีในพระชาดกที่ค้างคาวห้อยหัวฟังพระอภิธรรมแล้วก็เพลินเคลิ้มจนกระทั่งหลุดลงมาจากขาที่เกาะบนเพดานถ้ำ ตกลงมาตาย ชาติใหม่มาเกิดเป็นภิกษุ อาศัยกุศลเก่า ชาติที่เป็นค้างคาวฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างก็จริง เข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ดีเพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่จิตยินดีในบทสวดในพระอภิธรรม จิตรู้สึกเพลิดเพลินชอบใจจนเคลิ้มจนหลับ ถึงเวลาอารมณ์จิตนี้ก็คือกุศลจิตเมื่อมาเกิดเป็นพระภิกษุในชาติต่อมา ฟังบทพระอภิธรรมเพียงครั้งเดียวก็บรรลุอรหันต์มรรคผล

ดังนั้นการฟังธรรมถึงแม้ว่าจะหลับแต่ก็ยังมีผลเป็นอานิสงส์ แต่อาจจะช้ากว่าการที่เราทรงฌาน ประสิทธิภาพสูงสุดในการปฏิบัติธรรมก็คือในยามฟังธรรมเข้าสู่ฌานในอุปจาระสมาธิ กำหนดจิตใช้จิตใช้เจโตปริยญาณของเราตามติดกระแสธรรมของอาจารย์ผู้สอนผู้แนะนำให้ติดตามตลอดได้จดจ่ออยู่ตลอด อันนี้ก็คือเป็นเคล็ดลับของการปฏิบัติธรรม

ให้เราลองพิจารณาดูว่าแต่ละสภาวะตามที่อาจารย์พูดเป็นจริงตามนั้นไหม การพิจารณาจนเห็นจริง อันนี้ก็ถือว่าเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ พิจารณาไตร่ตรองเห็นจริงได้ในธรรมที่แสดงนั้น จิตเราเป็นเช่นไร กระแสจิตของครูอาจารย์ผู้สอนเป็นเช่นไร แล้วก็พิจารณาต่อไป ในองค์ของอาจารย์หรือครูผู้สอนหรือผู้แสดงธรรมนั้น เราพิจารณากำหนดรู้ในกระแสธรรม อันนี้ก็คือเมื่อเราปฏิบัติจนกระทั่งจิตเราเกิดเจโตปริยญาณรู้วาระจิตในระดับหนึ่ง กระแสธรรมที่สอน เราจะทราบว่าองค์ผู้แสดงธรรมนั้น ท่านแสดงผ่านกำลังของฌาน กระแสจิตที่แผ่ออกมาพร้อมกับกระแสธรรมมีไหม หรือเป็นธรรมะที่เป็นสัญญาคือความจำท่องจำมา หรือเป็นธรรมที่ออกจากจิต ถ่ายทอดจากจิตสู่จิต อันนี้คือจุดสำคัญ

ธรรมะที่เป็นสัญญากำลังกระแสของจิตของผู้ถ่ายทอดธรรมนั้นจะมีกำลังไม่เท่าหรือไม่เหมือนกับบุคคลที่มีกำลังแห่งฌานสมาบัติ มีกระแสจิต สามารถถ่ายทอดธรรมจากจิตสู่จิตได้  ถ้าพบเจออาจารย์ที่สามารถถ่ายทอดธรรมจากจิตสู่จิตได้ นั่นก็จะเป็นผลที่ทำให้เราปฏิบัติแล้วเกิดความรุดหน้าก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อันนี้ก็ให้เราพิจารณา

บางครั้งกระแสธรรมหรือเนื้อหาธรรมะที่ครูบาอาจารย์หรือองค์แสดงธรรมที่ท่านสอนที่ท่านแนะนำ เราฟังแล้วก็พิจารณาตามว่า ธรรมนั้นท่านแสดงธรรมในฐานะ ในการโปรดเป็นฆราวาสธรรม คือธรรมที่กล่าวถึงกุศลผลบุญทั้งหลาย ทานทั้งหลาย การรักษาศีล ประโยชน์ในข้อธรรมต่างๆ อันนี้ก็เป็นไปเพื่อโปรดในฆราวาสวิสัย หรือกระแสธรรมข้อธรรมเนื้อหาธรรมที่แสดงนั้นเป็นไปเพื่อทำให้พระนิพพานให้แจ้ง กำหนดพิจารณา บางครั้งเราต้องเข้าใจ บุคคลกลุ่มคนที่ฟังธรรมนั้น หากอยู่ในสภาวะในวิสัยที่เป็นฆราวาสมากจำนวนมากปัญญาอาจจะไม่ได้ลึกซึ้ง ภูมิจิตภูมิธรรมอาจจะยังไม่สูง ท่านก็จำเป็นจะต้องปูพื้นในเรื่องของทานบ้าง บุญบ้าง กุศลบ้าง สัมมาทิฐิ นรกสวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด การครองชีวิต ความเป็นสุขในชีวิตของฆราวาส ความสุขในการมีคู่ครอง ในการที่ว่าสามีควรมีคุณธรรมอย่างไร ภรรยาควรมีคุณธรรมมีศีลอย่างไร ตามกำลังปัญญาของผู้รับฟังธรรม แต่ในระดับที่สูงขึ้นไป ท่านก็จะเริ่มกล่าวถึงการปฏิบัติในเรื่องของการเจริญพระกรรมฐาน ในเรื่องของจิต ในเรื่องของสมาธิ ในเรื่องของอารมณ์พระกรรมฐาน จนกระทั่งไปถึงปัญญาในการเจริญวิปัสสนาญาณเป็นธรรมะในขั้นที่สูงขึ้นไปรายละเอียดขึ้นไปตามลำดับ เราก็กำหนดรู้เข้าใจในข้อธรรมทุกสิ่ง

แต่สำหรับการที่เรามาปฏิบัติกัน เนื้อหาในการปฏิบัติก็จะเป็นเรื่องของการยกคุณภาพของจิต ยกภูมิจิตภูมิธรรมให้สูงขึ้น ปฏิบัติเพื่อทำให้พระนิพพานให้แจ้ง ปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพาน เรากำหนดรู้พิจารณา อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องย้อนทบทวนในจิตเรา

ตอนนี้ให้เราน้อมจิตพิจารณาทบทวนใจของเราว่าเรามาปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรมเพื่อ หลายคนเป็นฆราวาสก็พิจารณา เราปฏิบัติธรรมเพื่อให้ชีวิตพ้นจากวิบาก พ้นจากบาปเคราะห์ เพื่อให้การปฏิบัติพระกรรมฐานเจริญสมาธิ ให้มีโชคลาภ ให้ชีวิตดี ปฏิบัติสมาธิฝึกจิตเพื่อเป็นการปฏิบัติเพื่อรักษาโรค เพื่อให้พ้นจากบาปเคราะห์ จากวิบากกรรมจากอุปสรรคในชีวิต หรือตั้งจิตว่าเราปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด กำหนดรู้เป้าหมายของเรา

บางคนตั้งกำลังใจว่าอยากจะสงบ ทำสมาธินี้เริ่มต้นร้อยทั้งร้อยทำไมถึงมาทำสมาธิ อยากที่จะสงบ อยากที่จะสงบในอันที่จริงแค่อาณาปานสติเข้าถึงลมสบายจิตมันก็สงบละ ความเร่าร้อนความทุกข์ ความฟุ้งซ่านในใจมันก็สงบระงับ อันนี้แค่เบื้องต้นก็เข้าถึงแล้ว ได้ประโยชน์แล้ว แต่ที่จริงการปฏิบัติจิต การเจริญพระกรรมฐาน ผลรับได้ทุกข้อตามที่ทุกคนตั้งใจ เราก็ย้อนพิจารณาว่าเราเอาข้อเดียวหรือเอาทุกข้อ ตั้งแต่ทำให้จิตของเราเข้าถึงความสงบ ปฏิบัติพระกรรมฐานเพื่อลดบาปเคราะห์วิบากอุปสรรคในชีวิต เพื่อบำบัดรักษาโรค เพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน ปฏิบัติเพื่อเป็นบุญให้กับญาติให้กับปิยชนทั้งหลาย เราเอาข้อเดียวหรือเอาทุกข้อ อันที่จริงบางคนพอบอกแบบนี้ ก็บอกไม่ได้เดี๋ยวโลภ เอาทุกข้อมันดูโลภไป แต่อันที่จริงก็คือมันได้ทุกข้อแต่แรก ถ้าฉลาดรู้จักใช้ประโยชน์ของการเจริญพระกรรมฐานคือได้ทุกข้อ อย่าไปคิดว่าโลภ จงคิดไว้แต่ว่า ประโยชน์ที่พึงเกิดขึ้น มีครอบคลุมครบถ้วนทั้งหมด แต่เราได้ไปแค่ส่วนเดียวนี้ถือว่าบังเอิญจะฉลาดน้อยไป ประโยชน์มันมีครบถ้วนครอบคลุม เราก็ควรจะฝึกให้ได้ครบถ้วนครอบคลุมทั้งหมด

วิสัยของการเป็นฆราวาสนั้นชีวิตมีความลำบากในการครองชีพ ยิ่งในยุคปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บมีมากมายมหาศาล ความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย เราบอกว่าการแพทย์มีความเจริญแต่อันที่จริงกลายเป็นว่าคนเราป่วยมากขึ้นกว่ายุคก่อน ดังนั้นความทุกข์ที่มันมาก เราใช้จิตตานุภาพการเจริญพระกรรมฐานมาใช้ให้เป็นประโยชน์ก็เป็นเรื่องที่เราควรจะทำ

ดังนั้นกำหนดจิตว่ากรรมฐานเรากำหนดใช้งานทุกข้อ พิจารณาดูว่าเราเคยใช้ประโยชน์กำลังแห่งพระกรรมฐานครบทั้งหมดไหม ประสบการณ์ที่เราผ่านมาในการฝึกในการปฏิบัติ จะจากที่เราเคยปฏิบัติมาก่อนก่อนมาปฏิบัติที่จุดนี้ก็ดีหรือมาพบเจอการปฏิบัติที่ได้มาฝึกกันที่นี่ก็ดี เราได้ใช้ประโยชน์ใช้งานพระกรรมฐาน ใช้ฌานสี่ใช้งาน เราได้ใช้งานเขาไหม ใช้งานกำลังแห่งจิตตานุภาพไหม ใช้อะไรบ้าง เกิดประสบการณ์ที่ปรากฏขึ้นอะไรบ้าง กำหนดน้อมจิตพิจารณา

ตอนนี้ให้เราน้อมพิจารณาให้ภาพเหตุการณ์ให้ภาพประสบการณ์ผุดขึ้น เมื่อเรื่องราวเหตุการณ์ประสบการณ์ของแต่ละคนผุดขึ้น เราก็กำหนดจิตว่านับแต่นี้เราจะสามารถใช้กำลังแห่งพระกรรมฐาน กำลังจิต กำลังฌานสี่ใช้งานได้ครอบคลุมครบถ้วนในทุกเรื่อง ยังประโยชน์ให้ครบถ้วนบริบูรณ์สมบูรณ์อย่างแท้จริง น้อมจิตพิจารณาของเราเองแต่ละบุคคล

กำหนดน้อมจิตอยู่ในสมาธิ กำหนดรู้ให้จิตเกิดความยินดีในธรรม เกิดความยินดีในการปฏิบัติ อย่าลืมว่าบางครั้งบางคนจิตมีความละเอียด บางคนจิตมีความหยาบ บางคนปฏิบัติแล้วก้าวไปรุดหน้าไปผ่านไป โดยที่บางครั้งเราก็ลืมที่จะสังเกต อาจจะขาดความละเอียดลออในการพิจารณาบ้าง หรือมองไม่เห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในการปฏิบัติที่เราปฏิบัติผ่านไปบ้าง เราก็ฝึกว่าการปฏิบัติทั้งหมดของเรานี้ เราก็ควรที่จะย้อนพิจารณา ย้อนทบทวน ย้อนทำความเข้าใจ อย่างตัวอาจารย์เอง การปฏิบัติทั้งหมดเมื่อข้ามมาในเวลา ณ เวลานั้น ประสบการณ์ที่ผ่านมา ตอนนั้นเราอาจจะประสบพบเห็นเข้าถึงสภาวธรรม แต่เมื่อเราย้อนพิจารณา เราจะเห็นรายละเอียดเพิ่ม เข้าใจในธรรม เข้าใจในเหตุ เข้าใจในผลเพิ่ม เข้าใจได้ว่าตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้น ปรากฏการณ์ของจิตคืออะไร ตอนนั้นมันมีรายละเอียดต่างๆเพิ่มอย่างไรบ้าง  ตรงจุดนี้เป็นสิ่งสำคัญซึ่งทุกคนควรจะต้องย้อนกลับไปพิจารณาทุกคน มีความสำคัญ มีประโยชน์อย่างยิ่ง อารมณ์จิตเดิมที่เราเคยทำได้ อารมณ์จิตสูงสุดที่เราเคยทำได้ ต้องย้อนไปพิจารณา แล้วก็มาพิจารณาต่ออีกว่า เราจะทำให้ได้แบบนี้ทุกครั้งได้ไหม เราจะปฏิบัติให้ดีขึ้นกว่าเดิมขึ้นไปอีกได้ไหม ย้อนพิจารณา หรือเราจะมีความเพียรเพิ่มขึ้น จะมีผลลัพธ์อย่างไร ย้อนทวนอารมณ์เดิมไว้เสมอ

ตอนนี้ให้เราแต่ละบุคคลย้อนทบทวนสภาวธรรมสูงสุดที่เราเคยได้ เช่นการฝึกมโนมยิทธิที่เราฝึกแล้วชัดเจนที่สุด สว่างที่สุด การปฏิบัติและจิตมันสงบที่สุดผ่องใสที่สุด การปล่อยวาง การพิจารณาตัดขันธ์ห้าแล้วเรารู้สึกปล่อยวาง มีความเบาความละเอียดมากที่สุด เราฝึกที่ไหน ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติกับใคร ตอนนั้นพระอาจารย์ท่านนั้นสอน ตอนนั้นเราฟังธรรมเรื่องนี้ เราย้อนทบทวนนึกถึงสภาวะสูงสุดที่เราเจริญพระกรรมฐานแล้วเกิดผล เกิดความประทับใจประทับจิตมากที่สุด พิจารณาของเราในแต่ละบุคคลตอนนี้ ทบทวนเรื่องราว ทบทวนรายละเอียด พิจารณารายละเอียด 

จากนั้นให้เราน้อมจิตพิจารณาต่อไป พิจารณาดูตัวของเราจิตของเราขณะนี้ ว่าในการปฏิบัติการทรงสมาธิ การเจริญพระกรรมฐาน เราในขณะที่เจริญพระกรรมฐาน เราสามารถปฏิบัติสมาธิในสภาวะในสิ่งแวดล้อมที่เป็นชีวิตทั่วไปทางโลกได้ไหม เช่นอาการสำคัญในการปฏิบัติ คือสิ่งที่เรียกว่าวิเวกความสงบสงัด เราจำเป็นต้องไปหาสถานที่ที่วิเวกสงบสงัดในการฝึกเท่านั้นไหม หรือเราสามารถที่จะทรงสมาธิได้ แม้ในสถานที่ที่คนวุ่นวาย มีคนมากมาย

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อวานวันก่อนอาจารย์พาลูกศิษย์ไปไหว้ที่พระพรหมเอราวัณ แล้วก็พาทำพานำว่า ในขณะที่อธิษฐาน จงกำหนดจิตสลายสภาวะแวดล้อมภายนอกทั้งหมดเหลือเพียงแค่จิตเราอธิษฐาน จิตของลูกศิษย์ก็เข้าสู่สภาวะที่ผู้คนทั้งหลายหายไปทั้งหมด มีเพียงจิตที่จดจ่อตรงกับพระพรหมเอราวัณเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างหายไปทั้งหมด ไม่มีความวุ่นวาย ไม่รู้สึกถึงความวุ่นวาย ไม่รู้สึกถึงคนมากมายที่เดินไปเดินมาแถวนั้น เสียงทั้งหลายหายไปจนหมด ความวุ่นวายสลายหายไปจนหมด อันนี้ก็คือสภาวะจิตเราสามารถเข้าถึงจิตวิเวกได้ในทุกสถานที่

จะอยู่บนรถไฟฟ้า จะอยู่ในห้างสรรพสินค้า แต่จิตเราสามารถทรงสภาวะทรงสมาธิสลายเข้าสู่ความสงบสงัดวิเวกของเราได้ อันนี้คือความสามารถในการฝึก ในการเข้าถึงการปฏิบัติ แต่ละบุคคลอาจจะทำได้ไม่เท่ากัน  แล้วก็เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งเวลาที่เราไปทำบุญไปอธิษฐานบางคนไปทำบุญอธิษฐานที่พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์เดียวกัน คนหนึ่งจิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจวุ่นวาย รำคาญคนข้างๆบ้าง รำคาญคนที่ไปด้วยบ้าง หงุดหงิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่บ้าง จิตไม่เข้าถึงความสงบสงัด กับอีกบุคคลหนึ่งไปถึงจิตจดจ่อทุกสิ่งสภาพแวดล้อมความวุ่นวายรายล้อมรอบข้างสลายหายไปจนหมด เหลือเพียงจิตของบุคคลนั้นกายทิพย์ของบุคคลนั้นที่กำลังอธิษฐานจิตตรงกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และสถานที่นั้นโดยตรง ผลลัพธ์ผลแห่งการอธิษฐานของบุคคลทั้งสองก็ย่อมแตกต่างกันไปเป็นธรรมดา อันนี้ก็คือจิตวิเวก เราเข้าถึงจิตวิเวกได้ทุกครั้งทุกเวลาทุกสถานที่ไหม

น้อมคิดพิจารณาดู ในจิตวิเวกในขั้นที่สูงขึ้น เรียกว่า “อุปธิวิเวก” คือสภาวะจิตสงัดวิเวกจากกิเลส สงัดวิเวกจากความโลภโกรธหลง คือความละเอียดของความสงบสงัดนั้นปราศจากความอยาก ความปรารถนาในภพภูมิ ความติด ความห่วง ความอาลัยทั้งปวง อารมณ์จิตที่เป็นอุปธิวิเวกนั้นคือสภาวะอารมณ์ที่เรียกว่าอารมณ์พระนิพพาน “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” จิตสงบวิเวกที่สุด หากเราสามารถฝึกฝนจนเข้าถึงอารมณ์พระนิพพานได้ในทุกสถานที่ อันนี้ก็ถือว่ากำลังใจเราในการปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพานของเราสูงขึ้น ยกจิตใช้กำลังมโนมยิทธิขึ้นไปบนพระนิพพานได้ในทุกครั้งทุกสถานที่โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีข้ออ้างว่าจะต้องอยู่ที่วัดเท่านั้น จะต้องสงบเท่านั้น จะต้องไม่มีคนวุ่นวายเท่านั้น

บางคนที่ตั้งใจปฏิบัติ ยังสามารถทรงสภาวะความเป็นกายทิพย์เป็นกายพระวิสุทธิเทพตลอดเวลา เดินไปเดินมา ทำกิจการงานก็ทรงสภาวะความเป็นกายพระวิสุทธิเทพไว้ หรือบางคนกำหนดเห็นกายเนื้อแต่จิตทรงสภาวะเป็นกายพระวิสุทธิเทพบนพระนิพพานตลอดเวลา อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคในการปฏิบัติของแต่ละคน

แต่ถ้าผลสูงสุดจริงๆ หากกำหนดกายทิพย์กายพระวิสุทธิเทพก็ดีกายทิพย์ก็ดีอยู่บนโลกมนุษย์ตลอดเวลา ผลที่ได้จะเกิดประโยชน์ในทางโลกในเรื่องของอธิษฐาน ในเรื่องของพลังความโชคดี ในเรื่องของจิตนึกคิดต่างๆกลายเป็นแก้วสารพัดนึก ส่วนการกำหนดกายทิพย์อาทิสมานกายอยู่บนพระนิพพานตลอดเวลาเป็นประโยชน์ในเรื่องของมรรคผลพระนิพพาน คือถ้าตายไปในขณะจิตนั้น จะstrokeก็ดี จะheart attackก็ดี จะหัวใจวายตายไปทันที ทันใดนั้น อาทิสมานกายเราไปจ่อล่วงหน้าอยู่บนพระนิพพานแล้ว เราก็บรรลุอรหัตผลในจิตสุดท้ายก่อนตายไป

และในขณะเดียวกันอาทิสมานกายเราอยู่บนพระนิพพานแต่ถ้าเรายังไม่ตายมันจะกลายเป็นว่า กระแสธรรมจากพระนิพพานจะมาเตือนสติเราในสิ่งที่มากระทบอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นเรื่องของผลของการปฏิบัติ ประสบการณ์ของการปฏิบัติว่าเป็นเช่นนี้ ถ้าทรงอารมณ์อยู่บนพระนิพพานตลอดเวลา กายเนื้อบนโลกมันมีเรื่องกระทบ ก็จะมีกระแสธรรมบอกมา ผุดมา บอกมา หรือเห็นพระพุทธเจ้ามาสอนมาบอกว่าเป็นอย่างไรเช่นนี้ สิ่งที่มากระทบเป็นยังไงเราทุกข์ไหม เราวางกำลังใจยังไง ดังนั้นอารมณ์เราจะสามารถสู้กับการกระทบทางโลกทั้งหมดได้ ปล่อยวางในสิ่งเร้า ปล่อยวางในความโลภโกรธหลงทั้งหมดได้ หรือจิตมีสติในการรักษาศีลได้ตลอดเวลาอยู่ได้

ดังนั้นผลในการกำหนดจิต ว่าเรารู้สึกในความเป็นอาทิสมานกายระหว่างอยู่บนโลกมนุษย์กับอยู่บนพระนิพพานนั้นผลลัพธ์และประสบการณ์ก็จะมีความแตกต่างกัน ถ้าอยู่บนพระนิพพานจิตก็จะสะอาด จิตก็จะเบาบางจากกิเลสมากกว่าการที่อาทิสมานกายอยู่บนโลกมนุษย์ อยู่บนโลกมนุษย์ยังมีความโลภโกรธหลงผุดเกิดขึ้น แต่สิ่งที่นึกสิ่งที่คิดสิ่งที่ปรารถนาก็กลายเป็นความจริงสำเร็จ อันนี้ก็เป็นประสบการณ์จากที่หลายๆคนฝึกแล้วก็ปรากฏตรงกัน

ตอนนี้ก็ให้เราพิจารณาดู กำหนดให้เห็นประโยชน์ ประโยชน์ให้เห็นคุณ แล้วก็ฝึกแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติ สำหรับตอนนี้ก็ให้วางอารมณ์ใจเบาๆ ใส สว่าง จิตมีความยินดีในธรรม คือธรรมฉันทะ การปฏิบัติของเรา ความก้าวหน้า ปาฏิหาริย์แห่งการปฏิบัติปรากฏ จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆจริงๆก็เกิดปาฏิหาริย์แห่งจิตแล้ว เราน้อมเอาปาฏิหาริย์ทั้งหลายเหล่านี้มาเป็นกำลังใจให้จิตเราเกิดธรรมฉันทะ ยิ่งมีอารมณ์พึงพอใจในการปฏิบัตินำไปสู่อารมณ์แนบ เมื่อไหร่ที่อารมณ์แนบในการปฏิบัติความก้าวหน้าก็จะยิ่งปรากฏเพิ่มขึ้น

ปาฏิหาริย์แห่งการปฏิบัตินั้น ตั้งแต่เรื่องเจโตปริยญาณ ตั้งแต่เรื่องที่จิตเราเริ่มกลายเป็นแก้วสารพัดนึก นึกคิดอะไรก็สมปรารถนา นึกอยากได้อะไรก็มีสิ่งนั้นมีคนนั้นนำสิ่งที่เราปรารถนามาให้ และในขณะเดียวกันปาฏิหาริย์อย่างอื่นที่มันปรากฏขึ้น เช่นเกิดปาฏิหาริย์แห่งพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุเสด็จเพิ่มขึ้น พระธาตุเสด็จใส เปลี่ยนวรรณะจากขุ่นเป็นใส เป็นแก้วทั้งหมดบ้าง ใสขึ้นจนเห็นชัดเจนมาก พระบรมสารีริกธาตุที่เราบูชาองค์ใหญ่บ้าง พระธาตุเสด็จคืออยู่ๆเสด็จมาบ้าง ปาฏิหาริย์พระธาตุนี้ตามประสบการณ์ทั้งหมดก็คือบางครั้งการเกิดพระธาตุเสด็จเสด็จมาตั้งแต่เจริญพระกรรมฐาน หรือนั่งสมาธิเสร็จพระธาตุเสด็จแก๊กตกแก๊กลงมาให้รู้ให้เห็นว่ามีพระธาตุเสด็จ อันนี้คือประสบการณ์ กับอีกอย่างหนึ่งก็คือวรรณะของพระธาตุใสขึ้น หรือวรรณะใหญ่ขึ้น อันนี้เราก็ปฏิบัติด้วยความตั้งใจไปเรื่อยๆ  ปฏิบัติไปเรื่อยๆเรามีพระธาตุบูชาอยู่ ถ้ามีพระธาตุบูชาอยู่ปฏิบัติไปสักพักจิตใสมากเท่าไหร่ จิตปรารถนาพระนิพพานทรงอารมณ์ผ่องใสมากเท่าไหร่ได้นานมากเท่าไหร่ พอเผลอตัวเจ็ดวัน เดือนหนึ่งบ้าง เจ็ดวันบ้าง ปีหนึ่งบ้าง มาดูพระธาตุอีกที พระธาตุเสด็จเพิ่มขึ้น ใสขึ้นบ้าง องค์ใหญ่ขึ้นบ้าง มาโดยที่เราไม่รู้ตัวก็มี อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ พอพูดถึงตอนนี้แล้วบางคนที่ยังไม่มีพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับทางเมตตาสมาธิที่อาจารย์สอนส่วนใหญ่แล้วก็เรียกว่าพระธาตุที่เป็นปฏิบัติบูชา ที่จริงการบูชาพระธาตุก็คือปฏิบัติบูชาคือการเจริญพระกรรมฐาน การเปลี่ยนวรรณะก็ดี การเสด็จปาฏิหาริย์พระธาตุถือว่าเป็นการที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ท่านเมตตาสงเคราะห์ให้เราเกิดกำลังใจ

ตอนนี้ก็ให้เราแต่ละบุคคลนะ คนไหนยังไม่มีพระบรมสารีริกธาตุแจ้งเข้ามาในห้องในกลุ่มไลน์ว่าขอพระบรมสารีริกธาตุแล้วาทักมาถึงเวลาเดียวมีจัดให้และแจกให้ อันนี้คือแจกให้เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน สำหรับคนที่มีแล้วหรือมีประสบการณ์ในเรื่องของพระบรมสารีริกธาตุแล้ว ตอนนี้ก็ให้เราทุกคนแต่ละคน กำหนดจิตพิจารณานึกรำลึกถึงประสบการณ์ที่ปรากฏขึ้น ให้จิตมีความเอิบอิ่ม มีปิติ มีความชุ่มเย็น มีความยินดี พระธาตุเสด็จมากขึ้น พระธาตุใสขึ้น ใจเรายิ่งแช่มชื่น เราพิจารณาว่าเราปฏิบัติมาถูกทาง พระท่านพระพุทธองค์ท่านทรงเมตตาเทพพรหมเทวาท่านสงเคราะห์ให้กำลังใจเรา ครูบาอาจารย์ท่านดีใจยินดี จิตเราอิ่มเอิบขอบคุณ ยิ่งอิ่มเอิบขอบคุณผ่องใสมากเท่าไหร่ ขอให้ปาฏิหาริย์พระธาตุจงปรากฏเพิ่มพูนขึ้นมากขึ้น กำหนดจิตพิจารณาไว้เช่นนั้นนะ แล้วก็ทบทวนใหญ่อีกครั้งหนึ่งว่าการปฏิบัติของเราแต่ละคนทุกคนอันที่จริงก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น มีความก้าวหน้า มีข้อสังเกตตามที่อาจารย์ได้บอก ทุกคนมีจะมากจะน้อยมีปรากฏทุกคนแน่นอน ดังนั้นให้ใจเราเกิดความยินดี ให้ใจเราเกิดความเพียรวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติ กำลังใจบารมีเราเพิ่มพูนขึ้นจากการพิจารณา การปฏิบัติกรรมฐานในวันนี้ก็ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ ครั้งใหม่ก็ขึ้นต้นเป็นปีหน้า เราก็ถือนับรวมว่าการปฏิบัติครั้งนี้เราทบทวนการปฏิบัติทั้งหมด ให้ใจเรามีกำลังใจ มีความเอิบอิ่ม มีความปิติ ให้จิตเราเบาขึ้น เอิบอิ่มขึ้น มีกำลังใจเพิ่มพูนขึ้น บารมีเพิ่มขึ้นยกขึ้นกันทุกคน 

กำหนดจิตรำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ สมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน นึกถึงน้อมจิตรำลึกนึกถึงกระแสแห่งพระธรรม นึกถึงครูบาอาจารย์ พระอริยะสงฆ์ พระอริยะเจ้า พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ เทพพรหมเทวาทั้งหลาย พ่อแม่ ครูบาอาจารย์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ท่านผู้มีพระคุณทั้งหลาย กำหนดจิตน้อมรำลึกนึกถึงพระนิพพานเป็นที่สุด จากนั้นตั้งจิตอธิษฐาน ขอน้อมกระแสบุญแห่งการปฏิบัติบูชานี้ บูชาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยะสงฆ์ บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณทุกท่านทุกพระองค์ จิตมีความเอิบอิ่ม น้อมจิตถวายพระราชกุศลปฏิบัติบูชาให้กับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ พระองค์ภา พระเจ้าลูกยาเธอพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมืองด้วยจิตอันบริสุทธิ์ทุกท่าน ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่งใดๆก็ตาม ผู้ที่สร้างคุณูปการต่อโลก ต่อประเทศชาติ ต่อพระพุทธศาสนาทุกคน ขอน้อมกระแสบุญ ขอน้อมกระแสแห่งปฏิบัติบูชา ขอน้อมกระแสแห่งพระนิพพานลงมายังทุกท่าน น้อมกระแสลงมาเป็นเมตตาแผ่สว่างไปยังสามภพสามภูมิ สรรพสัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุข สรรพสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากความทุกข์ สรรพสัตว์ทั้งหลายจงเข้าถึงปรมัตถ์วิมุตติธรรมอันบริสุทธิ์มรรคผลพระนิพพาน บรรลุเข้าถึงมนุษย์สมบัติ ทิพยะสมบัติ พรหมสมบัติ นิพพานสมบัติกันถ้วนทั่วทุกรูปทุกนามทั่วสังสารวัฏด้วยเถิด แล้วตัวเราเองก็ขอให้การปฏิบัติพระกรรมฐานนี้ยังความสุขความเจริญ ยังความรุ่งเรืองทั้งทางโลกทางธรรม ความมั่งคั่ง ความร่ำรวย อายุ วรรณะ สุข พละ ปัญญาบารมี บารมีทั้ง 30 ทัศ จงยกขึ้นเต็มขึ้น บารมีจงเต็ม กรรมฐานทุกกองจงเต็มกำลัง น้อมจิตให้มีความผ่องใสสว่าง จิตยินดีในธรรม ความเพียรไม่ท้อถอยไม่ลดถอยไปจากจิตของเรา ปฏิบัติทุกวัน ปฏิบัติสม่ำเสมอ วางอารมณ์จิตให้สว่างผ่องใสที่สุด เอิบอิ่มสว่างที่สุด เต็มกำลังที่สุด จิตของเราเป็นแก้วสารพัดนึก เป็นเพชรประภัสสรสว่าง ใจยิ้มเอิบอิ่ม กายทิพย์สว่าง จิตเกิดจิตตานุภาพเต็มกำลัง ทุกอย่างสำเร็จสัมฤทธิ์สมปรารถนาในทุกสิ่ง วิบากอุปสรรคทั้งหลายสลายตัวคลี่คลายผ่านพ้นอย่างอัศจรรย์

ยิ่งผ่องใสยิ่งดึงดูดโชคลาภความโชคดีความสุข ทรงได้ตลอดเวลาในสภาวะกายทิพย์ ทุกสิ่งทุกอย่างยิ่งผ่านพ้น

จากนั้นก็ให้เรากำหนดจิตกราบพระพุทธเจ้า กราบลาพระ กราบลาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพพรหมเทวาทั้งหลายทุกพระองค์ แยกอาทิสมานกายกราบทุกพระองค์นะ ใจสบาย ใจผ่องใส

จากนั้นก็ตั้งจิตโมทนาสาธุกับญาติติธรรม กัลยาณมิตรทุกคนที่ร่วมฝึกร่วมปฏิบัติ ทั้งในขณะนี้ และที่ตามมาอ่านมาฟัง ทีหลัง กำหนดจิตน้อมสาธุกับทุกความดี ทุกกุศล ทุกทานศีลภาวนาที่เกิดขึ้นในโลกในจักรวาล ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ตราบไปจนอนาคต ยินดีกับทุกบุญทุกกุศล ยิ่งโมทนาบุญ จิตเรายิ่งเกิดกำลัง เติมกำลังสูงขึ้น 

จากนั้นหายใจเข้าลึกๆช้าๆ อารมณ์จิตเบาละเอียดผ่องใสสว่าง หายใจเข้าพุธ ออกโธ ใจยิ่งสว่าง ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ คุณพระพุทธ พระธรรม พระอริยะสงฆ์คุ้มครองกายวาจาใจของเราทุกคนให้อยู่ในศีล อยู่ในธรรม อยู่ในกระแสมรรคผลพระนิพพาน อยู่ในกระแสโลกุตระ ใจสว่างผ่องใส รับเปิดรับแต่กระแสของบุญกุศล เปิดรับแต่กระแสของโชคลาภมหาโภคทรัพย์ เปิดรับแต่กระแสบุญอันบริสุทธิ์ จิต กายขันธ์ห้า ละเอียดสว่าง ผ่องใส ฟอกร่างกายเนื้อ ฟอกธาตุขันธ์ ฟอกกายเนื้อกายทิพย์ของเรา

สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนากับทุกคนด้วยนะครับ ใครที่มีประสบการณ์ วันนี้เรียนและสิ่งที่อาจารย์สอนตรงวาระจิตก็ให้เราช่วยกันเล่าช่วยกันแชร์ประสบการณ์แบ่งปัน แล้วก็เป็นการย้ำว่าความก้าวหน้าในการปฏิบัติของเราแต่ละบุคคลเกิดขึ้น เป็นกำลังใจในการปฏิบัติให้กับทุกคนต่อไป แล้วก็พยายามเขียนแผ่นทองอธิษฐานพระนิพพานกันทุกคนทุกครั้งที่เราปฏิบัติธรรม แล้วข้อที่สามก็คือเดี๋ยวก็จะเข้าสู่ช่วงที่จะถวายมหาสังฆทานก็ตั้งใจว่าเป็นพระสังฆทานรับปีใหม่ รับบุญรับกุศล เราก็ตั้งใจทำกัน กระจายแบ่งปั่นส่งต่อ ช่วยกันทำ ไปร่วมถวายด้วยกันพร้อมกัน บุญกุศลทั้งหลายก็ให้เราตั้งใจรวมจิต พยายามช่วงนี้ปลายปีรวมอานิสงส์รวมบุญกุศลที่เราทำให้มาส่งผล ปีหน้าก็จะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในเรื่องของสุขภาพผู้คนอายุขัยต่างๆ เราก็พยายามเจริญพระกรรมฐานเอาบุญพระกรรมฐานมาต่อบารมีต่ออายุขัยต่อบุญกุศลของเราทุกคนกัน อย่าประมาทในการธรรม อย่าประมาทในชีวิต อย่าประมาทในการเวลา

สำหรับวันนี้ก็ขอขอบคุณทุกคนที่มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติ มีความสม่ำเสมอในการปฏิบัติ ก็ขอให้มีความเจริญก้าวหน้าในธรรม พบกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีครับ 

ถอดเสียงและเรียบเรียงโดย คุณ Be Vilawan

You cannot copy content of this page