เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม 2565
เรื่อง ยกจิตขึ้นพระนิพพาน
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดสติ อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม สติที่กำหนดรู้ เท่าทันในความคิดการปรุงแต่งของจิตเรา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ปล่อยวาง ความเกาะ ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ผ่อนคลายปล่อยวาง ความห่วง ความกังวลในจิตใจ สลายนิวรณ์ 5 ประการออกไป สลายความเกาะเกี่ยวในร่างกาย ความสนใจ ความกังวล พะวักพะวงในร่างกายออกไป ผ่อนคลายร่างกาย ปล่อยวางร่างกาย ผ่อนคลายจิตใจ จนรู้สึกเข้าถึงความสงบ ความสบาย เมื่อจิตสงบลง มีความเบา ความสบายแล้ว เรากำหนดรู้อยู่กับลมหายใจ กำหนดจิต จินตภาพ รู้สึกสัมผัส เห็นด้วยความรู้สึกของจิต ว่าลมหายใจของเราที่ผ่านเข้าออกในกาย เป็นเหมือนกับแพรวไหมที่ละเอียดระยิบระยับ กระแสลมที่ผ่านเข้าออกในกาย เป็นประกายสว่างใส ในขณะที่เรากำหนดเห็นลมหายใจเป็นประกาย เป็นเพชรระยิบระยับผ่านกำลังความเป็นทิพย์ในการกำหนดลมหายใจเช่นนี้ ก็เป็นการฝึกปราณ เป็นการทรงอารมณ์
กำหนดเห็นลม เป็นแก้ว เป็นเพชรละเอียด เป็นกสิณลมไปอีกชั้นหนึ่ง เกิดผลอานิสงส์ในเรื่องของกำลังแห่งจิตตานุภาพจากลมปราณ และการฉลาดในการใช้ลมในการรักษาเสริมเพิ่มกำลังของร่างกายขันธ์ 5 เพิ่มพลังชีวิตไปอีกชั้นหนึ่ง กำหนดความรู้สึกเห็นลมหายใจเป็นเพชรประกายพรึกพลิ้วผ่านเข้าออก เข้าถึงลมสบายพร้อมกับเข้าถึงอารมณ์จิตที่สบาย ลมหายใจยิ่งละเอียดเบาสบายมากเท่าไหร่ จิตเราย่อมสงบรวมลงสู่สมาธิมากขึ้นเพียงนั้น จดจ่ออยู่กับลมสบาย ใจเอิบอิ่มแย้มยิ้ม วางอารมณ์จิตเบา อยู่กับลมหายใจสบายเป็นสมาธินี้ อยู่กับอารมณ์ผ่องใส ใจแย้มยิ้มเอิบอิ่ม อารมณ์จิตของเราที่มีความเอิบอิ่ม มีความสุข มีความผ่องใสคือปิติสัมโพชฌงค์ ยามปฏิบัติธรรม ยามเจริญสมาธิ จิตมีความสุข มีความเอิบอิ่ม ย่อมยังให้เกิดความพึงพอใจธรรมฉันทะในการปฏิบัติ ธรรมฉันทะในการปฏิบัติ เมื่อใจมีความรักในการปฏิบัติ จิตย่อมเข้าถึงวิริยสัมโพชฌงค์ มีความเพียร มีความขยัน ขยันที่จะฝึก ขยันที่จะปฏิบัติต่อไป อยู่กับลมสบาย อยู่กับอารมณ์จิตที่สบาย
สติที่กำหนดรู้ ในอารมณ์สบาย ในลมหายใจละเอียดสบาย ก็จงพิจารณารู้ พิจารณาในธรรมวิจยะ คือธรรมะวิจัย พิจารณาธรรมเปรียบเทียบ ระหว่างธรรมคือธรรมชาติของใจในขณะที่จิตเราเกิดความสงบระงับ กับธรรมคือธรรมชาติของใจในยามที่เรามีความเร่าร้อน มีความฟุ้งซ่าน มีความกังวล มีความทุกข์ถาโถม กำหนดพิจารณาว่า ยามที่มีความโลภ โกรธ หลง ในยามที่มีนิวรณ์ 5 ประการเข้ามา ใจเราเร่าร้อน ความรู้สึกทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ กับในขณะที่เราปฏิบัติธรรม เจริญจิตภาวนา เจริญพระกรรมฐาน เข้าถึงความสงบของจิต จิตมีความเอิบอิ่ม มีความเบามีความผ่องใสสงบระงับจากความฟุ้งปรุงแต่ง ความคิด ความฟุ้งซ่าน ความกังวลทั้งปวง ความสงบเย็นของจิตปรากฏขึ้น ชัดกระจ่างกับใจของเรา ให้เรากำหนดรู้พิจารณาดู เฉพาะในส่วนนี้ก็ถือว่า เราเข้าการปฏิบัติเพื่อความสงบของจิต ให้ใจเราสงบเย็นจากความทุกข์ของโลก พิจารณาให้ใจเกิดความเข้าใจและยินดีในความสงบ เข้าใจถึงความสุขจากสมาธิที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้เสมอว่า ความสุขเสมอด้วยความสงบนั้นไม่มี ความสงบนี้เป็นความสงบเย็น เกิดขึ้นที่ใจ ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อามิส คำว่าอามิสคือไม่ต้องไปใช้เงินซื้อ ไม่ต้องไปแลกมาด้วยวัตถุ ไม่ต้องไปหวังให้ผู้อื่นเขาทำให้เรา ไม่ต้องกราบไหว้วิงวอนบวงสรวงสิ่งใด ให้ความสุขนี้ ความสงบนี้เกิดขึ้น ความสุขสงบทั้งหลายนี้ เกิดขึ้นที่จิต จากการเจริญพระกรรมฐาน จากการเดินจิตในสมาธิเข้าสู่ความสงบ ความผ่องใส ยิ่งวาง ยิ่งบาง ยิ่งสงบ ลมหายใจยิ่งละเอียด ยิ่งเบา ยิ่งสงบ ยิ่งสงบมากเท่าไหร่ ใจเรายิ่งเข้าถึงความสุข กำหนดรู้ กำหนดพิจารณาให้ชัดเจนในจิต จนจิตของเราสว่าง สงบ สะอาดจากกิเลสทั้งปวง นิ่ง เอิบอิ่ม เป็นสุข
เมื่ออานาปานสตินำพาให้จิตเราเข้าถึงความสงบเย็นได้แล้ว เราเจริญจิตต่อไป พิจารณาว่าในสมถะนั้น ประกอบไปด้วยการเจริญพระกรรมฐาน ให้เข้าถึงความสงบ ความสงบของอานาปานสติ คือสภาวะที่จิตเข้าถึงฌาน 4 มีอาการอารมณ์ที่ปรากฏขึ้น คือจิตหยุด นิ่ง สงบ เป็นอุเบกขารมณ์ ลมหายใจสงบระงับหยุด เห็นอาการหยุดของจิต จิตอุเบกขาต่อสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตนิ่งหยุดจากการปรุงแต่ง ความคิดปรุง ความฟุ้งซ่านทั้งปวง หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุด นิ่ง สงบ ทรงอารมณ์การหยุด ทรงอารมณ์อุเบกขารมณ์ จนจิตเข้าถึงฌาน 4 แห่งอานาปานสติอย่างชัดเจน นิ่ง หยุด ปราศจากความคิด ปราศจากการปรุงแต่งทั้งปวง
เมื่อฌาน 4 ในอานาปานสติปรากฏขึ้น ชัดเจนแล้ว เราก็พิจารณาต่อไป มีกำลังของการปฏิบัติในสมถะที่สูงละเอียดและเกิดผลอานิสงส์ มีบาทฐานให้เกิดความเป็นทิพย์ของจิต ก่อให้เกิดอภิญญาจิต เรากำหนดต่อไป ในความนิ่งความหยุด จงปรากฏลูกแก้วใส กำหนดว่าจิตเรานั้นคือลูกแก้วใสๆ ใสละเอียด ใสแจ๋วราวกับน้ำค้าง นิ่งหยุดอยู่กับดวงจิต กสิณจิตที่เป็นดวงแก้วใส ใจมีความสุข มีความอิ่ม มีความยินดี ดวงแก้วใสที่ปรากฏนั้น ให้เราทำความรู้สึกว่าแก้วมณีนี้เป็นของมีค่า เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นดวงแก้วจักรพรรดิ เป็นดวงแก้วที่ศักดิ์สิทธิ์ มีค่ายิ่งกว่าเพชรนิลจินดา วัตถุธาตุใดๆในโลก เรากำหนดทำความรู้สึกเช่นนั้น ว่าเราเป็นเจ้าของ จิตที่ใส ใจที่สะอาด มีค่ายิ่งกว่าวัตถุธาตุใดๆทั้งปวง ใสละเอียด
จากดวงแก้วใส เรากำหนดจิต ค่อยๆน้อมพิจารณาต่อไป ดวงแก้วใสนั้นมีความใส แต่ยังไม่มีกำลัง เราพิจารณาต่อไป กำหนดภาพนิมิตจากดวงแก้วใส ให้เกิดแสงสว่าง เป็นเหมือนกับใจกลาง ปรากฏมีแสงสว่างจากภายในดวงแก้วใสนั้น เป็นแสงสว่างประดุจหลอดไฟ ที่มีแรงเทียนกำลังสูงส่องสว่างอย่างยิ่ง ดวงแก้วใสนั้นปรากฏเป็นแสงสว่างออกมา แสงสว่างยิ่งสว่างเพียงใด ใจเรายิ่งเป็นสุข ยิ่งรู้สึกว่าเกิดกำลังความอิ่มใจ กำลังความอิ่มใจที่ปรากฏพร้อมกับการกำหนดภาพนิมิตทั้งหลาย อันนี้ก็คือปิติสัมโพชฌงค์ ยิ่งมีความอิ่มเอมมากเท่าไหร่ ยิ่งมีกำลังมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นบาทฐานแห่งการบรรลุธรรม สว่างใส แสงสว่างจากจิตเราเจิดจ้าสว่างคลุม ทั่วกายเนื้อ ทั่วอาณาบริเวณที่เราฝึกเจริญพระกรรมฐาน ทรงความรู้สึกในแสงสว่างเจิดจ้า มีความเสถียร มีความมั่นคงในแสงสว่างที่ปรากฏนี้ จิตของเราสว่างทะลุกายเนื้อ ครอบคลุมปริมณฑลอาณาบริเวณที่เราฝึกสมาธิ เกิดแสงสว่างชัดเจน
เมื่อจิตเกิดแสงสว่าง นั่นก็คือจิตเราเกิดกำลัง เกิดจิตตานุภาพ จิตสามารถใช้งานใช้ประโยชน์ ทรงสภาวะจิตที่สว่างไว้ บางครั้ง บางคนในขณะที่เข้าถึงสภาวะนี้จะรู้สึกว่าเกิดแสงสว่างขึ้นจริงๆ สัมผัสได้ทางตาเนื้อ รู้สึกว่ามีความสว่างปรากฏ จากนั้นเราพิจารณา ว่าจิตที่เป็นแก้วใสและสว่างนี้ พิจารณาคือใช้ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ คือธรรมวิจัย พิจารณาการปฏิบัติรู้เท่าทันการปฏิบัติ เปรียบเทียบกับปริยัติ เพื่อให้เกิดปฏิเวธ พิจารณาว่าแสงสว่างที่ปรากฏเป็นอาโลกสิณ จิตที่เป็นดวงแก้วใสและมีความสว่างขึ้นนั้น จิตเรากำลังเข้าถึงสภาวะฌานแห่งกสิณที่เรียกว่าอุคคหนิมิต จิตมีความตั้งมั่นอยู่ในอุคคหนิมิต จิตมีแสงสว่าง พิจารณาว่ายังมีกำลังของกสิณจิตที่มีกำลังสูงยิ่งกว่านั้น กำหนดใจของเราให้สว่างผ่องใส กำหนดใจของเรา กำหนดน้อมนิมิตให้เห็นภาพ จิตที่เป็นแก้วใสนั้น กลายเป็นเพชรระยิบระยับละเอียด สภาวะของเพชร ดวงจิตที่เป็นเพชรนั้น มีแสงสว่างเป็นประกายพรึก คือแสงเป็นรุ้ง กระแสแสงที่เป็นรุ้งนั้นสว่างออกไป รายรอบ แผ่สว่างออกไป กำหนดจิตทรงอารมณ์ เห็นจิตของเรา กสิณดวงจิตของเราตอนนี้กลายเป็นเพชรระยิบระยับแพรวพราวสว่าง รอบดวงจิตที่เป็นเพชรนั้นมีแสงเส้นรัศมี เป็นเส้นของแสงรายรอบ 360 องศา เลยจากเส้นแสงรัศมีของจิต ปรากฏสภาวะความเป็นทิพย์ คือมีสภาวะเหมือนกับละอองกากเพชรระยิบระยับแพรวพราวรายรอบ เป็นบรรยากาศรายรอบครอบคลุมภายนอก มีความเป็นทิพย์ระยิบระยับรายรอบห้อมล้อมกว้างไกลออกไป จิตสว่างเป็นเพชรเจิดจ้าเต็มกำลัง ยิ่งกำหนดเห็นจิตเป็นเพชรเจิดจ้าชัดเจนมากเท่าไหร่ กำลังแห่งจิตตานุภาพ กำลังแห่งความเป็นทิพย์ปรากฏ ในขณะที่เราทรงสภาวะเช่นนี้ จิตเราทรงไว้ในปฏิภาคนิมิตของกสิณจิต จิตเกิดกำลัง จิตเกิดสภาวะเป็นแก้วสารพัดนึก ก็ในกำลังที่เราทรงภาพนิมิตกสิณเช่นนี้ไว้ได้ อธิษฐานก็อธิษฐานในสภาวะที่จิตเป็นเพชรประกายพรึกใสสว่างที่สุด จิตที่เป็นเพชรสว่างที่สุดนี้ เมื่อทรงอารมณ์ไว้ได้ อารมณ์ขณะนั้นจะสะอาดจากกิเลสทั้งหลาย ดวงจิตสะอาดใส หากพิจารณาลึกลงไป ใสลงไป ลึกลงไปในจิตจนกระทั่งไม่ปรากฏไม่เห็นแก่น มีแต่ความใสบริสุทธิ์ถึงเนื้อใน จิตเป็นเพชรสว่าง รู้สึกสัมผัสถึงอาณาบริเวณรายรอบ ที่เป็นประกายพรึก ที่เป็นความเป็นทิพย์ ใจยิ่งเอิบอิ่ม ความเอิบอิ่ม ความสุขยิ่งสูงขึ้นจากสภาวะที่จิตสว่างจากดวงแก้วใสเฉยๆ ในยามที่จิตเป็นประกายพรึก เป็นเพชร ความปิติความเอิบอิ่ม กำลังแห่งจิตยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นอย่างมหาศาล ความรู้สึก จิตเรามีจิตตานุภาพอันไม่มีประมาณ ฐานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเรา ทรงอารมณ์ไว้
จากนั้นเรากำหนดจิตต่อไป ฌาน 4 ในกสิณเราเข้าถึง เราทรงสภาวะ เราทรงอารมณ์ไว้ได้แล้ว กำหนดจิตให้สูงขึ้นไปอีก ในกำลังแห่งสมถะ เดินจิตเข้าสู่อรูปสมาบัติ กำหนดจิตสลายล้างรูป คือวัตถุทั้งหลาย รูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งขันธ์ 5 ร่างกายวัตถุธาตุที่เป็นของหยาบทั้งหมด สลายกลายเป็นความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า ขาวโล่งไม่มีพื้น ไม่มีผนัง ไม่มีเพดาน กำหนดจิตว่าทุกอย่าง วาบ โล่ง ว่าง สลายออกไปจนหมด วัตถุธาตุอันได้แก่บ้านเรือน ตึก ภูเขา โลก ดาว จักรวาลทั้งหลาย ที่เป็นของหยาบ สลาย ว่าง โล่ง สลายไปจนหมด จากความเกาะ ความยึด จากความรู้สึกของจิตเรา สลายกลายเป็นความว่าง ไกลออกไปอย่างไม่มีประมาณ กำหนดจิตต่อไปว่า สิ่งที่มากระทบทางอายตนะอันเป็นมายา ทางสายตา ทางโสตเสียง ทางชิวหารสชาติ ทางผัสสะ ทางผิวกาย ทุกสิ่งสัมผัส การกระทบทางอายตนะภายในภายนอกทั้งหลาย ภาพความทรงจำทั้งหลาย ภาพอดีตทั้งหลาย สัญญาทั้งหลาย สลายกลายเป็นความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า สลายล้างสัญญาทั้งปวง การกระทบทางอายตนะทั้งปวง โล่งว่าง สลายออกไปจนหมด เหลือเพียงดวงจิตของเราที่สว่างเป็นเพชรอยู่ กำหนดจิตปล่อยวาง สลายล้าง ความพยาบาท ความรัก ความหลง ห่วงทั้งหลาย ความผูกพันทั้งหลาย สมมุติทั้งหลาย สลายออกไปด้วยกำลังแห่งอรูปสมาบัติ ปมในจิต สัญญาความจำ สลายล้างออกไป กลายเป็นความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า เหลือเพียงความสงบจากความว่าง จิตเป็นประกายพรึกยิ่งใส ยิ่งเบาขึ้น เป็นสุขที่ละเอียดขึ้น ปราณีตขึ้น เบาขึ้น ปล่อยวางภาพจำ สัญญาทั้งปวง ปมในอดีตทั้งปวง ความทรงจำ วิบากกรรมทั้งหลายสลายล้าง ดับล้าง สลายออกไปจนหมด เบาขึ้น สว่างขึ้น จิตที่เป็นเพชรประกายพรึก ยิ่งมีความละเอียดขึ้น สว่างขึ้น เบา ว่าง สงบ ทรงอารมณ์แห่งอรูปไว้
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป น้อมนึกรำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า กำหนดภาพนิมิตขึ้นมาใจกลางดวงแก้วที่เป็นเพชรประกายพรึก องค์พระก็เป็นเพชรระยิบระยับละเอียด องค์พระเมื่อปรากฏรัศมีของจิต รัศมียิ่งสว่างขึ้น ด้วยกำลังแห่งพุทธานุภาพ จิตเรามีคุณแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่งที่อาศัยตลอดชีวิต ไม่มีที่พึ่งสิ่งอื่นใดยิ่งกว่า กำหนดจิตสว่าง องค์พระสว่าง ทรงภาพพระสว่างเป็นเพชรเต็มกำลังกลางดวงจิต ใจยิ่งเอิบอิ่ม ยิ่งเกิดปิติสัมโพชฌงค์สูงขึ้น ละเอียดขึ้น เอิบอิ่มยิ่งขึ้น จากนั้นกำหนดทำความรู้สึกว่าเมื่อกำลังความศรัทธา ความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าปรากฏในจิตเรา ในขณะนี้เราทรงอารมณ์จิตชัดเจน แยกทิ้งจากกายชัดเจน กำหนดจิตต่อไปว่าดวงแก้วที่เป็นเพชรนั้น ค่อยๆปรับรูปเปลี่ยนรูป จากจิตมาอยู่ในสภาวะของอาทิสมานกาย จากดวงแก้วที่เป็นเพชรค่อยๆเปลี่ยนรูปร่างขึ้นมาเป็นกายพระวิสุทธิเทพ ภายในอกของกายพระวิสุทธิเทพ ปรากฏองค์พระอยู่ภายใน ในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ มีแสงสว่างระยิบระยับเป็นเพชรปรากฏอยู่
กำหนดความรู้สึก ว่ากายของเราตอนนี้เป็นกายพระวิสุทธิเทพ ไม่เกี่ยวกับกายเนื้อ เราไม่ใช่กายเนื้อ กายเนื้อไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ร่างกายเนื้อขันธ์ 5 ขันธ์ 5 กายเนื้อไม่ใช่เรา เราคือดวงจิตหรืออาทิสมานกายที่ปรับเปลี่ยนไปตามอารมณ์ สภาวะและภพนั้นๆ ยามที่เราไปเสวยบุญที่สวรรค์ จิตอาทิสมานกายเราก็ปรับสภาวะเป็นกายของเทวดา เป็นกายทิพย์ของเทวดา หากตายไปเราไปจุติยังพรหมโลก อาทิสมานกายของเราก็แปรสภาวะเป็นกายของกายของพรหม มีแสงสว่าง มีรัศมีเป็นแก้วแกมทอง และในขณะเดียวกันเมื่อจิตเราปรารถนาในพระนิพพาน ตัดความเกาะ ความหลงในสังสารวัฏ จิตอาทิสมานกายของเราก็แปรสภาวะเป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพ กำหนดจิตว่าตอนนี้ในขณะที่กายของเราแปรสภาวะเป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพ เราตั้งจิตอาราธนา น้อมกระแสจากพระนิพพาน รำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ขอจงปรากฏกระแสแสงสว่างเป็นลำส่องตรงลงมายังกายทิพย์ของเรา แสงสว่างจากพระนิพพานจงคลุมลงมาทั่วกายเนื้อ ส่องเฉพาะตรงลงมาในอาณาบริเวณที่เราฝึกสมาธิอยู่บนโลกมนุษย์ขณะนี้ เป็นกระแสบุญ เป็นกระแสกุศล เป็นกระแสเป็นกำลังแห่งพุทธคุณ กระแสแห่งพระนิพพานส่องตรงลงมา ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำพิธีพุทธาภิเษกก็ดี อาราธนาบารมีพระก็ดี ท่านก็กำหนดน้อมจิตอาราธนาลงมาปรากฏเป็นแสงเช่นนี้ อย่างเช่นในคราวที่มีพิธีจัดสร้างสมเด็จองค์ปฐม หล่อที่วัดท่าซุงเป็นครั้งแรก ก็มีการปรากฏถ่ายรูปออกมาเป็นลำแสงสว่างลงมาที่เบ้าหล่อพระ ลำแสงที่ปรากฏนี้ก็เป็นกำลังแห่งการอาราธนาบารมีพระ บางครั้งบางคนบางวาระที่พระพุทธองค์ทรงเมตตาสงเคราะห์ เวลาที่นั่งกรรมฐานก็จะปรากฏถ่ายรูปเอามาติดเห็นเป็นลำแสงลงมาเช่นนี้ เรากำหนดเห็นในจิต รู้ด้วยจิต สัมผัสได้ด้วยใจ มโนมยิทธิแปลว่าฤทธิ์ทางใจ
เรากำหนดจิตต่อไปว่าเราอาราธนาบารมี กระแสจากพระนิพพาน กำลังแห่งพุทธคุณลงมา จากนั้นตั้งจิตว่าเราขอพุ่งจิตอาทิสมานกายของเราพุ่งไปตามลำแสง พุ่งขึ้นไปอยู่เบื้องหน้าพระพุทธองค์บนพระนิพพาน กำหนดเห็นอาทิสมานกาย กายพระวิสุทธิเทพของเราขึ้นไปบนพระนิพพาน ไปที่วิมานของสมเด็จองค์ปฐม ขออาราธนาบารมีให้พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรม พระอรหันต์ขีณาสพทุกๆพระองค์ปรากฏ มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ชัดเจนอยู่ กายของเราปรากฏชัดเป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพ มีความสว่าง มีรายละเอียดชัดเจน กำหนดจิตทรงอารมณ์ทรงสภาวะอยู่บนพระนิพพานพร้อมกับ น้อมจิตกราบ แยกอาทิสมานกายกราบทุกท่านทุกพระองค์ จิตสว่างใส จิตยิ่งเกิดความเอิบอิ่ม อารมณ์พระนิพพานที่เราบริกรรมนิพพานัง ปรมังสุขัง ก็คือปิติสัมโพชฌงค์ในอารมณ์แห่งพระนิพพาน
เมื่อยามกำหนดยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพานแล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องทำเสมอ
- ประการที่ 1 คือความกำหนดรู้ คือสติกำหนดรู้ในกายแห่งอาทิสมานกาย ในกายพระวิสุทธิเทพให้ละเอียด
- ประการที่ 2 คือทบทวนอารมณ์ในการตัดภพภูมิต่างๆ ความห่วง ความหลง ความยึดในภพภูมิต่างๆ พิจารณาตัดสังโยชน์ทั้ง 10 พิจารณาละ วาง ตัดความรัก โลภ โกรธ หลงทั้งปวง
- ส่วนประการที่ 3 คือการน้อมเข้าถึงสภาวะของพระนิพพาน คือบริกรรมและเข้าถึงอารมณ์ นิพพานัง ปรมังสุขังพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ให้จิตเข้าถึงวิมุต เสวยวิมุต ความสุขจากการเข้าถึงสภาวะพระนิพพาน
รวมเป็น 3 ประการสำคัญ
เป็นเครื่องยืนยันว่าจิตเราเข้าถึงสภาวะธรรม เข้าถึงพระนิพพาน ครูบาอาจารย์อย่างท่านจิตโตเคยเมตตาสอนเตือนไว้ว่า บางครั้งบางคนด้วยความที่ไว แต่ไม่มีความละเอียด ไม่มีการพิจารณาถี่ถ้วน ไม่มีธรรมวิจยะ มีความคุ้นชินเห็นภาพพระ เห็นภาพพระนิพพาน แต่อารมณ์จิตก็ยังมีความโลภ โกรธ หลง ไม่ได้ทบทวนสภาวะในการตัดสังโยชน์ ไม่ได้ทบทวนสภาวะการตัดภพจบชาติ อารมณ์จิตบางครั้งก็มีความหนัก ไม่ปรับเข้าถึงความเบาความละเอียด ความเข้าถึงวิมุต ดังนั้นการที่เห็นหรือรู้สึกว่าขึ้นมาบนพระนิพพานได้ ก็อาจจะเป็นสัญญา เป็นภาพจำ แต่การที่จะเข้าถึงสภาวะธรรมอย่างแท้จริง เราจำเป็นต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่างที่เน้นไว้ จะเน้นอีกครั้งหนึ่ง ทำความรู้สึกว่าเราคืออาทิสมานกาย ไม่ใช่ว่าเป็นจิต ยังอยู่กับกายเนื้อบนโลกมนุษย์ แต่มองขึ้นไปเห็นกายที่เป็นกายพระวิสุทธิเทพนั่งอยู่กับพระ อันนี้คือการที่กายเนื้อกำหนดทรงสมาธิ เห็นด้วยทิพยจักษุญาณว่า มีกายหนึ่งอยู่บนพระนิพพาน และกราบพระอยู่กับพระ แต่ถ้าเป็นมโนมยิทธิคือ ความรู้สึกของเรานั่งอยู่หน้าพระ กำลังกราบพระ ความรู้สึกสัมผัสถึงเครื่องทรง ความรู้สึกถึงความเป็นกายแก้ว ประกายพรึกของพระวิสุทธิเทพชัดเจน อันนี้จะต่างกัน เหมือนกับการที่เราได้ ทิพยจักษุญาณคือมองเห็น มโนมยิทธิคือไปถึง มองเห็นไกลๆหรือดูผ่านทีวี กับการที่เราเดินทางไปในสถานที่นั้นด้วยตัวเราเอง มีความแตกต่างกันไหม ให้พิจารณาดู มโนมยิทธิคือเอากายทิพย์ไปที่สถานที่แห่งนั้น ย้อนกลับไปในอดีต เดินทางไปในอนาคต เดินทางข้ามภพข้ามภูมิ ข้ามวัฏสงสาร ใช้กายทิพย์ ไปด้วยกายทิพย์ สำเร็จด้วยกายทิพย์ ดังนั้นยิ่งเรากำหนดในความรู้สึกในการปฏิบัติ ว่าเราคือกายทิพย์อยู่ตลอดเวลา เราคือกายพระวิสุทธิเทพตลอดเวลา จิตจะยิ่งมีความเคยชิน จิตจะยิ่งแยกจากร่างกายเนื้อได้มากเท่านั้น จิตจะแยกจากขันธ์ 5 ได้มากเท่านั้น เรากำหนดทรงอารมณ์ชัดเจนในอารมณ์พระนิพพาน ซึ่งถือว่าเป็นอารมณ์สูงสุดในการปฏิบัติธรรมทั้งหมด เพราะเราปฏิบัติธรรมเพื่อปรารถนาให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ในขณะจิตนี้เราเข้าถึงพระนิพพานแล้วแม้เพื่อชั่วคราว แต่เรากำหนดว่าเมื่อไรเราตายจากชาติภพนี้ เราขอเข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ ทรงอารมณ์พระนิพพานให้สว่าง กายพระวิสุทธิเทพของเราทุกคน แต่ละคนสว่างเอิบอิ่ม
จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานรวมบุญของเราก่อน นึกถึงทาน ศีล ภาวนา ทานนับตั้งแต่ทานที่เราได้ให้ต่อบุคคล ต่อสัตว์ทั้งหลาย ทานที่ทำในเขตพระพุทธศาสนา การใส่บาตร การถวายสังฆทาน ถวายวิหารทาน การสร้างพระพุทธรูป ศีลที่เรารักษา ศีล 5 ศีล 8 ศีล 227 ศีลแห่งการถือบวชเนกขัมมะ ศีลทั้งหลายเรารักษา กุศลเกิด ภาวนา การเจริญจิตภาวนา สมถะและวิปัสสนา กรรมฐานทั้ง 40 กอง กำลังแห่งฌานที่เราเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นณาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ฌาน 4 อรูปพรหม อันเป็นฌานที่ 5 6 7 8 ไปจนกระทั่งถึงการเจริญจิตในกสิณทั้ง 10 กอง ซึ่งรวมอยู่ในกรรมฐานทั้ง 40 นั้น พรหมวิหาร 4 การเจริญเมตตา แผ่เมตตาอันไม่มีประมาณ การเจริญวิปัสสนาญาณ พิจารณาตัดสังโยชน์ 10 กรรมฐานทั้งหลาย บุญแห่งกรรมฐานทั้งหลาย นับตั้งแต่อดีตชาติจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทั้งในชาตินี้และอดีต สะสมมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ขอจงมารวมตัวกัน ณ ปัจจุบันนี้ บุญจงรวมตัวที่กายทิพย์ อาทิสมานกายของข้าพเจ้าให้สว่างขึ้น ผ่องใสขึ้น กายพระวิสุทธิเทพของเราบนพระนิพพานยิ่งสว่างขึ้น
จากนั้นตั้งจิตอธิษฐาน น้อมกุศล รำลึกนึกถึงบารมีทั้ง 30 ทัศของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ตั้งแต่สมเด็จองค์ปฐมเป็นต้นมา บารมีของพระโพธิสัตว์ พระมหาโพธิสัตว์ บารมีของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระอริยเจ้า เทพพรหมเทวา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วอนันตจักรวาล น้อมจิตอธิษฐาน ขอให้บุญกุศลทั้งหลาย บารมีทั้ง 30 ทัศ คุณความดีของท่าน จงรวมตัวเป็นอัศจรรย์ เป็นกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์ รวมอยู่ที่พระนิพพาน
จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานต่อไป ว่าบุญกุศลต่างๆ ทาน ศีล ภาวนา บารมีของสาธุชน พุทธบริษัท 4 ที่กระทำบำเพ็ญจะมากจะน้อยทุกสายบุญ ทุกสายการปฏิบัติ ขอจงถักทอเรียงร้อยเป็นกระแสบุญ เป็นเส้นแสงขนาดใหญ่ มารวมตัวกันบนพระนิพพาน
จากนั้นเราร่วมจิต ตั้งจิตจำเพาะเจาะจง รวมจิตอยู่บนพระนิพพาน ขอน้อมรวมกระแสบุญทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้ตั้งจิตอธิษฐานน้อมรำลึกถึง โดยอ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัย มีคุณแห่งสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ขอตั้งสัตยาธิษฐาน อธิษฐานจิตด้วยกำลังบุญฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์แห่งพระนิพพาน เป็นกระแสบุญน้อมถวายพระพรชัย เป็นพระราชกุศล เป็นแสงสว่างแห่งบุญ ส่งตรงน้อมลงสู่พระวรกาย สู่พระจิตขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี และทูลกระหม่อมพระองค์ภา ขอจงเป็นกระแสแสงสว่างจากพระนิพพาน ฟอกชำระล้างธาตุขันธ์ สลายล้าง กระแสอันเป็นเครื่องขัดขวาง พระพลานามัยของพระองค์ ขอจงสลายไป โรคภัยทั้งหลายจงสลายไป ปลาสนาการไป กระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพาน ขอจงฟอกชำระล้างพระธาตุขันธ์ ชำระล้างสลายวิบากทั้งปวง อกุศลทั้งปวง สลายล้าง เหลือแต่ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งพระวรกาย ร่างกายทุกส่วน เซลล์ทุกเซลล์ โรคภัยทั้งหลาย เชื้อโรคทั้งหลาย จงสลายตัวไป ทั่วพระวรกาย ขอจงปลอดโปร่ง น้อมก่อเกิดพลังชีวิต หล่อเลี้ยงพระวรกายทุกพระองค์ ขอจงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง กระแสกุศลฟอกธาตุขันธ์ จนเกิดปราณ เกิดพลังชีวิต ไหลเวียนโคจรทั่วพระวรกาย ทะลุทะลวงส่วนที่ติดขัดขัดข้อง หลอดเลือดทุกเส้น ทั้งส่วนสมอง หัวใจ ทั่วร่างกาย ไหลเวียนโคจรราบรื่นปลอดโปร่ง สมดุล พลังชีวิตก่อเกิดฟื้นตัว พลังแห่งการเยียวยาบำบัดปรากฎขึ้น เซลล์ทุกเซลล์ของทุกพระองค์สว่าง ระยิบระยับ เปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต กระแสบุญกุศลฟอกชำระล้างธาตุขันธ์ของทุกพระองค์ให้สว่างหมดจด
การเจริญพระกรรมฐานในกำลังแห่งโพชฌงค์ทั้ง 7 เกิดผล เกิดพลัง เกิดความอัศจรรย์ เกิดปาฏิหาริย์ฉับพลันทันใด ฟอกชำระล้างพระวรกายธาตุขันธ์ของทุกพระองค์ ให้สะอาดบริสุทธิ์หมดจด ด้วยกำลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ด้วยเถิด น้อมกระแสนะ กำหนดจิต ขอความเป็นทิพย์ ญาณเครื่องรู้จงปรากฏ ผลแห่งเจตนาอันเป็นกุศลของพุทธบริษัท กัลยาณมิตรทุกสายบุญ ผู้ที่ไปปล่อยปลา เพื่อสะเดาะ เพื่อต่ออายุก็ดี ท่านที่ถวายสังฆทาน สร้างพระ หล่อพระถวายก็ดีผู้ที่ตั้งใจ ตั้งจิต บวชถวายเป็นพระราชกุศลก็ดี ผู้ที่เจริญพระกรรมฐาน แผ่เมตตา สวดมนต์ถวายพระพรทั่วประเทศก็ดี น้อมจิตขอให้เกิดกำลังรวมตัวเป็นหนึ่ง รวมตัวที่พระนิพพาน น้อมถวายโดยตรงต่อทั้ง 3 พระองค์ เกิดปาฏิหาริย์ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดความอัศจรรย์ด้วยเทอญ จิตของเราน้อมภาพพระองค์ท่านสว่าง กระแสจากพระนิพพาน กระแสบุญที่ฟอกธาตุขันธ์ ฟอกกาย ฟอกจิตเห็นอาทิสมานกาย เห็นกายเนื้อท่านสว่าง มีรัศมีรุ่งโรจน์ ขอกำลังบุญที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย
ร่วมจิตร่วมใจเป็นหนึ่ง หนุนนำยกพระบารมีให้สูงขึ้น กำลังพระบารมีเข้มแข็งขึ้น ทรงพระเกษมสำราญ มีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงเต็มกำลังด้วยเทอญ ปาฏิหาริย์จงปรากฏ กำลังบุญบารมีรัศมี กำลังฤทธิ์ ขอจงปรากฏ แสงสว่างส่งตรงลงมา เกิดความสว่างรุ่งโรจน์ เกิดความอัศจรรย์ในพระนคร ในพระบรมมหาราชวัง ในที่ประทับ ในที่ประทับรักษาพระวรกาย เกิดแสงสว่างรุ่งโรจน์ คุ้มครองทั้ง 3 พระองค์ ขอบุญทั้งหลาย ที่เราได้ร่วมจิตอธิษฐาน น้อมรำลึกอาราธนาถึง ขอจงเป็นกำลังน้อมโดยตรงส่งถึงพระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เทวดาผู้รักษาเศวตฉัตร รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เหล่าพรหมเทวาผู้รักษาดวงพระชะตาของทั้ง 3 พระองค์ ขอบุญกุศลทั้งหลาย บุญฤทธิ์ อิทธิฤทธิ์ พรหมฤทธิ์ เทพฤทธิ์ จงปรากฏถึงทุกท่านทุกพระองค์ ก่อเกิดบุญบารมีปาฏิหาริย์ มีกำลังสามารถพิทักษ์รักษาคุ้มครองสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีกำลังเพิ่มขึ้นอย่างอัศจรรย์ด้วยเถิด บุญในบ้านเมืองจงปรากฏ กระแสบุญจงคุ้มครองเป็นเกาะแก้ว ป้องกันให้ประเทศไทย ให้อาณาจักรสยาม ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านพ้นยอยกขึ้นสู่ยุคชาววิไล ไทยมหารัฐ จักรพรรดิราชขึ้นได้ตามลำดับอย่างอัศจรรย์ ผ่านพ้นราบรื่นด้วยเทอญ
กำหนดน้อมจนมองเห็นแสงสว่างครอบคลุม ทั้งบ้านเมือง ทั้งพระองค์ท่าน ทั้งอาณาประชาราษฎร์ทั้งหลาย คนดีสาธุชนผู้มีจิตมั่นคง เจตนาดีต่อส่วนรวม ขอจงมีแต่ความรุ่งเรืองขึ้น มีกำลัง มีบารมี มีบุญคอยหนุนนำ ขอให้ทุกคน ทุกท่าน ทุกพระองค์ ปรากฏบุญบารมีขึ้น เจริญรุ่งเรืองขึ้น กำหนดน้อมจิตเป็นแสงสว่างลงมา เป็นเพชรระยิบระยับ สว่าง พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว พระหลักเมือง ปรากฏแสงสว่าง ปรากฏแสงเป็นลำลงมา มีเกาะแก้วแสงสว่างครอบคลุมคุ้มครอง เกิดความรุ่งเรือง เกิดสันติสุข สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่เป็นกำลังสำคัญพิทักษ์รักษาให้ชาติบ้านเมือง ให้ดินแดนอาณาจักรสยามประเทศ ประเทศไทย ผ่านพ้นทุกวิบาก ทุกอุปสรรคมาได้ ขอจงเกิดเกาะแก้ว เกิดกำลัง เกิดบุญบารมี เป็นแสงสว่าง เป็นเพชรรุ่งโรจน์ขึ้นในทุกที่ ทุกสายการปฏิบัติจงสว่างขึ้น กระแสจากพระนิพพาน กระแสธรรม กระแสมรรคผล จงหลั่งไหลลงมาเกิดความสว่าง เกิดความก้าวหน้า เกิดความรุ่งเรืองในธรรม ในทุกรูปทุกนามแห่งพุทธบริษัท 4 กำหนดจิตอธิษฐานต่อสมเด็จองค์ปฐม ว่าจิตเจตนาอันบริสุทธิ์ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ที่เจริญพระกรรมฐาน และจิตมีความจริงใจปรารถนาดีจงรักต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอสัตยาธิษฐานนี้จงเกิดปาฏิหาริย์ ความศักดิ์สิทธิ์ อัศจรรย์เกิดความรุ่งเรืองต่อประเทศชาติ เกิดความรุ่งเรืองต่อศาสนา เกิดความรุ่งเรืองต่อพระมหากษัตริย์ เกิดความรุ่งเรืองต่อสาธุชนทั้งหลายที่มีจิตจงรักภักดีต่อชาติ ต่อแผ่นดินด้วยเถิด ใจเราน้อมให้เกิดความเอิบอิ่มสว่าง ใจเรามีความผ่องใส จิตเรายินดีในกุศลที่เจริญกรรมฐาน ที่อธิษฐานจิตไว้ดีแล้ว จิตใส ว่าง ปราศจากความกังวลทั้งปวง ทุกสิ่งเป็นบารมีของพระท่านสงเคราะห์ ทุกสิ่งเป็นกำลังแห่งเทพฤทธิ์ พรหมฤทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเมตตาสงเคราะห์ ใจเราเบา สะอาด ละเอียดผ่องใส บุญกุศล ความดีทุกคน ทุกสายการปฏิบัติ เกิดผล ไม่ตกหล่น รวมตัวเป็นหนึ่ง รวมจิตเป็นหนึ่ง เกิดผล เกิดปาฏิหาริย์อัศจรรย์ ใจเราสบายผ่องใสนะ
จากนั้นน้อมใจของเรากราบพระ กราบพระพุทธเจ้า แยกจิตกราบเทพพรหมเทวา กราบพระพุทธเจ้า พระธรรมพระอริยสงฆ์ พระอรหันต์ทุกพระองค์ เทพพรหมเทวาทั้งปวง บุญทั้งหลายจงเกิดผล บารมีทั้งหลายจงเกิดผล กรรมฐานจิตเจตนาของเราจงเกิดผล เมื่อกราบลาแล้ว ก็กำหนดจิต พุ่งอาทิสมานกายกลับมาที่กายเนื้อ นิ่งหยุดอธิษฐานจิต อธิษฐานหลังพระกรรมฐาน มีกำลัง มีความอัศจรรย์ จากนั้นก็โมทนาสาธุ ในหมู่ผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรมด้วยกัน โมทนาในทุกกุศลของทุกๆคน ตั้งใจว่าจิตเราผ่องใส จิตเรายินดีในทุกความดี
จากนั้นหายใจเข้าลึกๆ หายใจเข้าพุทโธ ใจเรามีคุณพระพุทธเจ้าคุ้มครองรักษา กำหนดภาพพระสามฐานที่กายเนื้อ องค์พระเป็นเพชรสว่าง หายใจเข้าลึกๆออกธัมโม มีกระแสธรรม กระแสแห่งธรรมวิจยะ ปัญญาที่พิจารณาจำแนก แยกแยะธรรมะพิสดารลึกซึ้งละเอียด หลั่งไหลลงมาสู่จิตของเรา สังโฆกำหนดน้อมว่ามีกำลังแรงครู ครูบาอาจารย์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ประสิทธิ์ประสาท มีหลวงพ่อปาน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงพ่อสด หลวงปู่มั่น สมเด็จโต ครูบาอาจารย์ทุกรูปทุกงาน ทั้งที่กล่าวนามไม่กล่าวนาม กำลังแห่งแรงครู กำลังแห่งพระอริยสงฆ์ พระสุปฏิปันโน พระอริยเจ้าทั้งหลาย คุ้มครองรักษาเราเสมอ อยู่ในสายตาของครูบาอาจารย์เสมอ
สำหรับวันนี้ ก็ขอโมทนากับทุกคนด้วยที่เสียสละตั้งใจเจริญพระกรรมฐาน กุศลเกิดขึ้นทั้งต่อตัวเราผู้ปฏิบัติ และความอัศจรรย์แห่งการอธิษฐานแห่งการปฏิบัตินั้น ก็เกิดผลตามที่เราตั้งจิต น้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ทั้ง 3 พระองค์ ให้ทรงมีพระวรกายที่สมบูรณ์แข็งแรง หายจากอาการประชวรทุกพระองค์ ความตั้งใจดีนี้ก็จะเป็นเงาสะท้อนย้อนให้เราทุกคนมีความรุ่งเรืองในทั้งทางโลก ทางธรรมสืบต่อไป ก็ขออนุโมทนากับทุกคนด้วย สำหรับวันนี้สวัสดีครับ พบกันใหม่วันอาทิตย์หน้า ตั้งใจปฏิบัติกันเยอะๆ แล้วก็อย่าลืมเขียนแผ่นทองอธิษฐาน สร้างพระเจ้าองค์แสน แสนอธิษฐานนิพพานด้วยกัน สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณวรรณภา