เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน 2565
เรื่อง ตัดกรรม
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
สวัสดีนะครับทุกท่าน เริ่มเข้าสู่สมาธิ ตัดความกังวล คือความกังวลทั้งหลาย ในกิจการงานที่คั่งค้าง ปล่อยวางเรื่องราว ปล่อยวางร่างกาย ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ทำความรู้สึกถึงกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกาย ปล่อยวางร่างกายไปพร้อมกัน เมื่อปล่อยวางร่างกายจนหมดแล้ว กำหนดรู้อยู่กับลมหายใจสบาย เบาละเอียดผ่องใส เข้าถึงความสงบของใจ กำหนดรู้ในความสงบของสมาธิ พักจิตของเราจากความวุ่นวาย การปรุงแต่ง กระแสที่เข้ามากระทบทางอายตนะทั้งหลาย เราปล่อยวาง จดจ่ออยู่กับความสงบ กำหนดรู้ในความเบาละเอียดของจิต กำหนดรู้ในความเชื่อมโยงของลมหายใจและอารมณ์ใจ ยิ่งลมหายใจละเอียด จิตยิ่งเบาสบาย ยิ่งลมหายใจละเอียด จิตยิ่งสงบเข้าสู่สมาธิที่สูงขึ้นลึกขึ้น อยู่กับลมหายใจละเอียด อยู่กับอารมณ์จิตที่เบาสบาย ปล่อยวางจากความสนใจในร่างกาย กำหนดรู้อยู่เพียงลมหายใจและความเบาความละเอียด จิตสงบสงัดจากนิวรณ์ 5 ประการ จิตจดจ่ออยู่กับความนิ่งสงบ หยุดการปรุงแต่ง เข้าถึงอุเบกขารมณ์ เข้าถึงเอกัคคตารมณ์ นิ่ง หยุด สงบ กำหนดรู้สภาวะว่าเราเข้าถึงความสงบ ทรงสมาธิในอานาปานสติ ในความนิ่งในความสงบ นิ่งหยุด กำหนดในความนิ่งหยุดนั้น ปรากฏภาพนิมิต น้อมนึกให้เห็นดวงจิตเราเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง ความสว่างแพรวพราวระยิบระยับปรากฏขึ้น จิตของเราละเอียดระยิบระยับเป็นเพชรประกายพรึก แผ่รัศมีแสงสว่างปกคลุมอาณาบริเวณที่เราทำสมาธิ จิตสว่างรุ่งโรจน์ จิตเราเข้าถึงจิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร จิตเราปรับสภาวะเป็นแก้วมณีโชติ เป็นแก้วสารพัดนึก รัศมีแสงสว่างของดวงจิตที่เป็นเพชรประกายพรึก ก่อให้เกิดอาณาบริเวณสภาวะความเป็นทิพย์ พร่างพรายรายรอบห้อมล้อมรอบกายของเรา มีจิตที่เป็นประกายพรึกเป็นรัศมี ทรงสภาวะอารมณ์นี้ไว้
กำหนดรู้ว่าจิตเราเข้าสู่จิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร ยิ่งแสงสว่าง ยิ่งความชัดเจน ยิ่งความแพรวพราวระยิบระยับมีมากเท่าไหร่ ใจเรายิ่งยิ้ม ใจเรายิ่งเอิบอิ่ม ใจเรายิ่งเป็นสุข เวทนาอารมณ์ใจของเรายิ่งเบิกบาน เวทนาอารมณ์ใจเรายิ่งเบิกบาน สภาวะความเป็นทิพย์ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น ทรงสภาวะอารมณ์ครอบคลุมคุ้มครองกาย ทรงอารมณ์อยู่ในสภาวะที่จิตเป็นเพชรประกายพรึกนี้ ความพร่างพรายรายรอบสว่างเป็นเพชรเหมือนมีกากเพชรระยิบระยับโปรยปรายรายรอบ ความเป็นทิพย์ปรากฏ จิตเกิดกำลังเพาะบ่มจิตตานุภาพ ทรงอารมณ์ไว้ กำหนดจิต อธิษฐานว่า ขอให้ข้าพเจ้าเข้าถึงสภาวะจิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสรนี้ได้โดยง่ายเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียวเสมอ ขอให้ข้าพเจ้าเข้าถึงอารมณ์กรรมฐาน อารมณ์จิตอันละเอียด จิตอันเป็นประกายพรึกเป็นปฏิภาคคณิต เป็นกสิณจิต ขอจงรวมกำลังแห่งกสิณทั้ง 10 รวมอภิญญาไว้เป็นหนึ่ง กำหนดความแพรวพราวสว่าง กระแสรัศมีคลื่นกระแสยิ่งสว่างออกไป
จากนั้นควบกำลังกรรมฐาน พิจารณาว่าเมื่อจิตของเรามีกำลังแห่งจิตตานุภาพ แห่งกสิณจิตเต็มกำลังรัศมีของจิตปรากฏ รัศมีกาย ความเป็นทิพย์ของจิตปรากฏ กำหนดจิตควบกรรมฐานในกองเมตตา กำหนดว่ารัศมีแสงสว่างจากเส้นแสงที่แผ่ออกไปกลางจิตเรา เป็นกระแส เป็นแสงสว่าง ที่แผ่ออกไปด้วยกำลังอำนาจของเมตตาพรหมวิหาร 4 ความสว่าง ความเมตตา กระแสแห่งบุญ กระแสแห่งกุศล ความเมตตา ความปรารถนาดี แผ่สว่างออกไป ยิ่งแผ่สว่างออกไปรัศมียิ่งสว่างครอบคลุมแผ่ออกไปมากขึ้น แผ่ออกไปทั่วโลกทั่วจักรวาล ยิ่งแผ่ออกไปมากเท่าไหร่ ใจเรายิ่งอิ่ม ใจเรายิ่งเบิกบาน ความสุขจากการให้ ความสุขจากความเมตตา ความสุขจากกระแสจิตที่เราอุทิศ ที่เราแผ่กระแสแห่งบุญกุศลออกไป กระทบกับดวงจิตใด ดวงจิตนั้นก็พลอยเอิบอิ่มสว่างชื่นบานโมทนาบุญ แผ่เมตตาออกไปยังทุกภพทุกภูมิ ภายในจิตเราน้อมอารมณ์ ดั่งอารมณ์จิตของพระโพธิสัตว์อันเปี่ยมต่อ ในเมตตาต่อมวลมหาสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ ใจเรายิ่งเอิบอิ่ม ยิ่งชื่นบาน แผ่กระแสเมตตาสว่าง
กำหนดรำลึกรู้ในอานิสงส์แห่งเมตตา จิตย่อมเป็นสุขในยามหลับ จิตย่อมเป็นสุขในยามตื่น เป็นที่รักของมวลมนุษย์ เป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย เป็นที่รักของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย คลื่นกระแสแห่งความเมตตาอันถึงพร้อม ทำให้กลายเป็นเกราะแก้วคุ้มครองภัยจากภัยพิบัติทั้งปวง คุ้มครองไม่เป็นอันตรายจากไฟ ไม่เป็นอันตรายจากน้ำ ไม่เป็นอันตรายจากแผ่นดินไหว ฟ้าผ่า ยาพิษ เขี้ยวงาทั้งหลาย กระแสแห่งเมตตาสลายล้างความเป็นพิษ โรคภัยไข้เจ็บ กระแสเมตตาสว่าง ความปรารถนาดี ความเป็นผู้ที่ปราศจากการเบียดเบียน จิตอันเปี่ยมด้วยกระแสแห่งความเป็นผู้ปราศจากเวรภัย แผ่สว่างออกไป จิตเจตนาอันเปี่ยมไปด้วยเมตตาและเป็นผู้ที่ปราศจากเวรภัย เป็นผู้ที่ให้อภัยทาน เป็นผู้ที่ให้อโหสิกรรม จิตเจตนานี้ ส่งถึงดวงจิตทั้งหลาย ส่งถึงเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ส่งถึงผู้ที่เป็นวิบากจองเวรต่อกัน เคยมีวิบากกรรมต่อกันทั้งหลาย คลื่นกระแสเมตตาอัปมาณฌาน กระแสแห่งเมตตานั้น มีกำลังทั้งความบริสุทธิ์ มีทั้งกำลังแห่งฌานอันเต็มเปี่ยม กำลังแห่งการพิจารณาในการตัดความอาฆาตพยาบาทจองเวรนั้น จัดว่าเป็นวิปัสสนาญาณ จัดว่าเป็นการตัดสังโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังโยชน์ข้อที่ 5 คือความพยาบาท เมื่อตัดความพยาบาทคือให้อโหสิกรรมได้ ตัดความเป็นเจ้ากรรมนายเวรได้ ชาติภพที่ผูกเวรผูกวิบากทั้งหลาย บาปเคราะห์วิบากทั้งหลาย ที่ถูกลากจูงมาด้วยวิบากกรรม จากความอาฆาตพยาบาท ก็สลายตัวลง ตัดไป กลายเป็นโมฆะกรรม ชาติภพก็สั้นลงเบาลง วิบากกรรมก็สั้นลงเบาลง แผ่เมตตา ตั้งจิตเป็นมหาอภัยทาน แผ่เมตตาตั้งจิตเป็นมหาขอขมากรรม
น้อมจิตด้วยอารมณ์ใจที่เปี่ยมไปด้วยความสำนึก ขมากรรม อโหสิกรรม ตัดเวรตัดกรรม ตัดความเป็นเจ้ากรรมนายเวร ตัดวิบากทั้งหลาย จิตยิ่งสว่างขึ้น รุ่งโรจน์เปี่ยมไปด้วยรัศมีความอิ่มใจความสุขใจ ทรงอารมณ์ในเมตตาอัปมาณฌานนี้ ความรู้สึก รัศมีอารมณ์ แผ่สว่างกระจายออกไปทั่วทุกภพทุกภูมิ ข้ามกาลเวลา ข้ามภพ ข้ามจักรวาล จิตมีกำลังอันไม่มีประมาณด้วยเมตตาเจโตวิมุตินี้ แผ่สว่าง บุญกุศลก่อเกิดกระแสเมตตา กระแสแห่งบุญ จิตเปี่ยมไปด้วยเมตตา เป็นกุศลจิต เป็นกุศลเจตนา ภูมิจิตภูมิธรรมเรายิ่งสูงขึ้น สว่างขึ้น ละเอียดขึ้น ปราณีตขึ้น กำหนดน้อมใจเลิกกล่าวโทษผู้อื่น อโหสิกรรม ให้อภัย ใจเรายิ่งสว่าง จิตเรายิ่งเบา พิจารณาไว้เสมอว่า ยิ่งวางยิ่งเบา ยิ่งตัดสายโยงใยของวิบากกรรมได้ยิ่งเบา ตัดความกังวลทั้งหลายได้ จิตเรายิ่งเบา การตัดกรรมนั้นมีได้ 2 วิธีคือ
- การขมากรรม อโหสิกรรม จนกลายเป็นโมฆะกรรม และอีกประการหนึ่งก็คือ
- การที่เราตัดเข้าสู่อรหันต์ ตัดเข้าสู่พระนิพพาน กรรมทั้งหลาย วิบากทั้งหลายก็ตัดลง ไม่อาจส่งผลติดตามได้อีกต่อไป แต่ผลนั้นเกิดขึ้นต่อเมื่อเราเข้าถึงซึ่งพระนิพพานอย่างสมบูรณ์ คือละจากร่างกาย การมีชีวิตในภพนี้แล้ว
กำหนดจิตแผ่เมตตาสว่าง ฐานกำลังของบุญ กำลังของกุศล กำลังของจิตเรา ก่อเกิดขึ้น เพิ่มพูนขึ้น ด้วยกำลังแห่งเมตตาฌาน แผ่เมตตาสว่าง ใจเราเอิบอิ่มชุ่มเย็น รู้สึกว่ามีหยาดความเย็น หล่อเลี้ยงหัวใจของเรา หล่อเลี้ยงอยู่ภายในอกของเรา หยาดของความเย็นของเมตตาปรากฏซาบซ่านซึมซาบไปทั่วร่างกาย เป็นกระแสธารทิพย์แห่งเมตตา แผ่สว่างออกไปทั่วอนันตจักรวาล ทรงอารมณ์ ทรงกระแสแห่งเมตตาจนรู้สึกถึงความสว่างจากจิตที่เป็นประภัสสรทะลุออก แสงสว่างทะลุออกจากกายเนื้อ จนมองเห็นกายเนื้อโปร่งใสโปร่งแสง มองเห็นทะลุกระดูกอวัยวะภายในทั้งหมด แสงสว่างจากจิตอันเปี่ยมไปด้วยเมตตา สว่าง กายเนื้อที่โปร่งใสโปร่งแสงทะลุ เราพิจารณาว่ามันเป็นเพียงแค่เปลือกที่มาห่อหุ้มผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นเปลือกที่พรางความเป็นอสุภสัญญา พรางความน่าเกลียด ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือกรรมฐานทั้ง 5 เกศา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ เมื่อจิตเราพิจารณาจากภายในทะลุมองเห็นโครงกระดูก เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ อวัยวะภายในทุกส่วนออกมา มองจากภายใน เห็นกายในกาย พ้นเปลือก ที่ห่อหุ้มปิดบังเป็นอวิชชา ความหลงในกาย พิจารณากำหนดรู้ เป็นการพิจารณารู้ในกาย
พิจารณาต่อไปว่า กายนี้ เมื่อตายไปแล้ว จิตเราก็เคลื่อนออกจากร่างกายเนื้อ กายเนื้อนี้ก็กลับคืนเป็นธาตุทั้ง 4 กลับคืนสู่ดิน กลับคืนสู่น้ำ กลับคืนสู่ลม กลับคืนสู่ธาตุไฟ จิตพิจารณาไม่เกาะเกี่ยว ยอมรับตามความเป็นจริง ไม่หลงในกาย ไม่ติดในกาย จิตเกิดปัญญาพิจารณาได้ว่า การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเรื่องธรรมดา เราอันที่จริงก็คือดวงจิต หรืออาทิสมานกาย จิตหรืออาทิสมานกายนั้น ก่อเกิดภพชาติด้วยกำลังอำนาจแห่งกรรม จะเป็นกรรมดีคือส่วนกุศล ผลบุญ หรือจะเป็นกรรมฝ่ายชั่วคืออกุศล ผลกรรมวิบาก วิบากแปลว่าเครื่องขัดขวาง เราคิดพิจารณาว่า ที่ไปของดวงจิต เมื่อละจากอัตภาพนี้ มันก็มีภพต่างๆ ภพต่างๆที่มันเกิดขึ้น ที่ทำให้จิตของเราไปจุติ เกิดขึ้นจากกรรมที่เราสะสม ทำบ่อยๆ ทำกรรมไว้สม่ำเสมอเป็นอาจิณณกรรมบ้าง ทำกรรมที่ใหญ่มีผลกระทบ มีผลที่ฝังบันทึกในจิตรุนแรงเข้มข้นบ้าง ตราบจนกระทั่งถึงกรรมที่เป็นอนันตริยกรรมบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกรรมฝ่ายกุศล หรือฝ่ายอกุศล ล้วนแต่เป็นที่ไป แต่กรรมสำคัญที่เป็นเหตุแห่งการจุติ ที่มีส่วนสูงที่สุด ก็คือจิตสุดท้ายก่อนตายของเรา ที่ไปของจิต หากในยามที่เราเป็นมนุษย์อยู่ในชาติภพนี้ ซึ่งถือว่าเป็นภพที่เป็นกลาง ภพที่มีกายเนื้อ เราหมั่นสร้างกุศลไว้ ทานอันเป็นเหตุที่ทำให้เสวยซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ศีลเป็นเครื่องนำพา ปิดกั้นอบายภูมิ คือปิดนรก ปิดอบายคือภพที่เป็นทุกข์ ศีลเป็นเครื่องนำพาไปยังสวรรค์ สมาธิคือสมถะ สมถะสมาธิคือตั้งแต่ฌาน 1 ถึงฌาน 4 ฌานที่ละเอียด ฌานที่หยาบ รวมไปถึงพรหมวิหาร 4 ที่เราเจริญ เป็นเหตุให้ไปจุติยังพรหมโลก ตามกำลังของฌาน ตามกำลังของเมตตาภูมิของจิต ภูมิของเมตตาจิต
ส่วนเหตุแห่งอกุศลที่ทำให้ไปจุติยังภพภูมิที่เป็นทุกข์หรืออบายภูมิ ก็เนื่องจากการฆ่าสัตว์ ก็ทำให้เราไปจุติไปเกิดเป็นสัตว์ที่เราเคยฆ่า ที่เคยฝังใจ จากอาจิณณกรรมหรือสภาวะจิตสุดท้ายก่อนตาย ปรากฏนิมิตภพที่ไปจุดนั้น เปรต อสุรกาย สัตว์นรก ภพต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้น จากวิบากอกุศลที่เราทำ หากเราทำกรรมหนักกรรมชั่วเป็นอนันตริยกรรม หรือกรรมในสายอนันตริยกรรม เช่นกรรมที่ทำร้าย ทำสงฆ์ให้แตกแยก กรรมที่ทำให้บ้านเมืองแตกแยก กรรมที่กระทำต่อผู้มีพระคุณ คำว่าผู้มีพระคุณนั้น หมายความไปถึงนับตั้งแต่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือพระมหากษัตริย์ หรือบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง คือส่วนรวม ผู้ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อโลก สิ่งต่างๆเหล่านี้ เมื่อบุคคลเขากระทำบุญใหญ่ยังประโยชน์ให้กับคนหมู่มาก แล้วเราไปตัดทอน ผลสะท้อนก็ย้อนกลับมาที่เราแรงมากเช่นกัน กระแสกรรมทั้งหลาย หากเราพิจารณาโดยละเอียด เราจะเห็นความวุ่นวายของกรรมที่ปรากฏ เกิดมาชาติภพหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะมีกรรม มีวิบากกับคนแค่คนเดียว เราเจอคน เจอเหตุการณ์กี่เหตุการณ์ตลอดชีวิตของเรา ยิ่งกระทบต่อคนหมู่มาก ยิ่งกระทบกับคนที่ทรงในบุญกุศลมาก ทรงบุญบารมีมาก ทรงความดีมาก กระแสกรรมที่สะท้อนกลับ ก็มีผลมากตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน หากเราทำบุญทำกุศลที่ยังประโยชน์ต่อคนหมู่มาก
เหตุนี้หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านจึงสอนว่าอย่าทิ้งปฏิปทาสาธารณประโยชน์ คำว่าสงฆ์นั้นจริงๆ ท่านหมายความถึงส่วนรวมหรือคนหมู่มาก สิ่งที่กระทำต่อประเทศชาติ ศาสนา โดยภาพรวมทั้งหมดแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่เราทำให้สงฆ์ ทรัพย์สินราชการ ทรัพย์สินของคนหมู่มาก นั่นก็เป็นเรื่องที่เราทำให้สงฆ์เช่นกัน กุศลก็เกิดขึ้นสูงกว่าทำให้เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังที่หลายคนทราบในการพรรณนาอานิสงส์ของสังฆทานมาแล้ว ในขณะเดียวกัน การบำเพ็ญทาน การสงเคราะห์ การเกื้อกูลบุคคลที่เป็นเนื้อนาบุญ คำว่าเนื้อนาบุญนั้นก็คือ นับตั้งแต่พระอริยะเจ้า พระสุปฏิปันโน พระโพธิสัตว์ หรือบุคคลที่ยังประโยชน์ต่อส่วนรวมมากนั้นก็ถือว่าเป็นเนื้อนาบุญ คือตราบที่เขามีชีวิต ตราบที่เขามีความคล่องตัว เขาสามารถมีกำลังที่จะสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มากเท่าไหร่ การที่เราสงเคราะห์เกื้อกูลช่วยเหลือ ถวายทานก็ดี ถวายปัจจัย 4 ก็ดี ส่งเสริมก็ดี ให้กำลังใจท่านก็ดี ก็ทำให้ท่านสามารถยังประโยชน์ต่อส่วนรวมได้มากเพียงนั้น
อันนี้จึงเรียกว่าเป็นเนื้อนาบุญ เมื่อเราเข้าใจในเรื่องของบุญกุศลต่างๆ เหตุของบุญกุศลต่างๆ เราปฏิบัติธรรม เจริญพระกรรมฐานจนเข้าใจได้ ว่าการทรงอารมณ์จิตเช่นไร ส่งผลให้ไปจุติยังภพใด ความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาท อารมณ์จิตสุดท้ายก่อนตาย เราก็ลงไปนรก ความเศร้าหมองเกิด จิตที่ซึมเศร้า ความเศร้าหมองเกิด ลงไปสู่อบาย จิตมีความหวงความเกาะในสถานที่ จิตก็ไปเกิดไปจุติในสถานที่นั้น กลับไปจุดนั้น ห่วงลูกห่วงหลานก็ย้อนกลับไปเกิดในตระกูลนั้นในวงตระกูลนั้น ห่วงหมาห่วงแมวรักหมารักแมวมากเกินไป ก็ไปเกิดเป็นหมาเป็นแมว ด้วยสภาวะจิตหรืออารมณ์ที่เราคิดถึง พอใจรักแมวมากชอบแมวมาก รักหมามาก อารมณ์จิตที่เราพึงมีต่อสัตว์เลี้ยง คือกำหนดจิต กำหนดรู้เมตตา แต่ในความรักนั้น ในฐานะที่เราปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน ความรักความห่วงใย ในอารมณ์ที่มันหลงเกินไป ถึงขนาดที่ว่ามาเกิดเป็นแม่ มาเกิดเป็นลูกกันอีก สำหรับบางคนกับหมากับแมวก็มีอารมณ์เช่นนี้ เราก็ต้องวางเบาๆ อารมณ์ที่เผลอมาเกิดเป็นลูกแม่นะ มันอาจจะกลายเป็นว่าเราไปเกิดเป็นลูกมันก็ได้ เพราะอารมณ์มันไปผูกไปยึดไปเกาะ
ดังนั้นเมตตากำหนดรู้ มีระยะของใจของเราที่รู้เท่าทันความเป็นไปในภพภูมิต่างๆ ไม่เกาะไม่ผูกพันจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด รักด้วยเมตตา ไม่ว่าจะคนก็ดี ไม่ว่าจะสัตว์ก็ดี หรือแม้กับลูกกับหลานที่เป็นมนุษย์ ใจเราต้องฝึกตัด พิจารณาไว้เสมอ ถ้าตายไปเราจะไปพระนิพพาน ความห่วงความอาลัยในสมมุติทั้งหลาย ใจเราต้องวางให้ลง กำหนดพิจารณาให้ได้ว่าทุกสิ่งนั้นเป็นสมมุติ ยิ่งหากเราเจริญสมาธิได้ญาณทั้ง 8 คืออตีตังสญาณ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปปาตญาณ
พิจารณาที่มาที่เกิดของภพ รำลึกชาติรำลึกอดีตชาติได้ เราจะพบเจอว่า บางชาติเราเคยเป็นลูกของท่านนั้น พอบางชาติก็กลายเป็นว่าเรากลับกลายเป็นปู่ของท่านซะอีกทางหนึ่ง บางชาติท่านเป็นพ่อเรา แต่บางชาติกลายเป็นว่า เราเป็นข้ารับใช้ของท่าน บางชาติเรากลายเป็นลุง บางชาติแล้วกลายเป็นหลานท่าน ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นสมมุติทั้งสิ้น โลกเป็นเหมือนกับโรงละครโรงใหญ่ เปลี่ยนภพต่างๆก็เหมือนกับเปลี่ยนสมมุติ เปลี่ยนบทบาทที่เราเล่น ตายเมื่อไหร่ก็เลิกจากสมมุตินั้น มารับบทใหม่ โดยที่บทบาทใหม่นั้นก็เป็นไปโดยอำนาจของกรรม เราคิดพิจารณาจนกระทั่งจิต เห็นจริงในสมมุติทั้งหลาย พิจารณาเห็นสมมุติทั้งหลาย ปล่อยวางสมมุติ จึงเข้าถึงวิมุติ ตัดสายโยงใยของกรรม ตัดความหลงความยึดในสมมุติทั้งหลาย ให้จิตเกิดปัญญาความกระจ่างแจ้งรู้ตื่น สู่วิชชา ดับอวิชชาทั้งปวง คือดับสมมุติ เข้าสู่พระนิพพาน สภาวะของพระนิพพานนั้น จิตของท่านมีเมตตา แต่ท่านไม่ห่วง ไม่เกาะ ไม่ยึด อุเบกขาต่อกรรมของสรรพสัตว์ โปรดได้ตามวาระ ตามเหตุ ตามปัจจัย โดยที่ท่านไม่ทุกข์ บางคนช่วยไม่ได้ บางท่าน บางคน ท่านช่วยจนกระทั่งยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพานได้แล้ว แต่บุคคลนั้นเมื่อเข้าถึงพระนิพพานได้ แต่ไม่เห็นค่าในพระนิพพาน ท่านก็อุเบกขา
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ของบุคคลที่มาฝึกสมาธิ บุคคลที่ได้มโนมยิทธิครั้งแรก ท่านช่วยท่านสงเคราะห์เต็มกำลัง ง่ายจนน่าตกใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ไม่เห็นคุณค่า มโนหายไป มโนเสี่อมไป การที่จะดึง การที่จะยกกำลังใจ การที่จะเอากลับมาอีกที จะเป็นเรื่องที่ยาก อันนี้หลายคนมีประสบการณ์ หรือบางคนไม่กลับมาอีกเลยก็มี อันนี้ก็เป็นเรื่องของบุญของแต่ละคน ได้ของดีแล้วไม่เห็นค่า ดังนั้นการที่เราฝึกมโนมยิทธิ เราตั้งกำลังใจสำคัญไว้จุดหนึ่ง
จุดที่สำคัญที่สุดก็คือฝึกเพื่อยกจิตในขณะที่จิตดวงสุดท้ายก่อนตายเราจะได้ไปพระนิพพาน
แต่กระนั้นการที่เราฝึก การที่เราปฏิบัติ ตลอดชีวิตเราบอกว่าชาตินี้เราจะไปพระนิพพานให้ได้ แต่ตลอดชีวิตเรายกจิตเราขยันฝึก ทั้งชีวิตยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานได้ 2 ครั้ง เราคิดว่าสิ่งที่เราอธิษฐานจะไปพระนิพพานชาตินี้ กับสิ่งที่เราตั้งใจคือมีความเพียร มีวิริยะ มีธรรมฉันทะ มีความแนบ ความพอใจในพระนิพพาน มันคู่ควรกับสิ่งที่เราอธิษฐานไหม ตรงนี้ก็คือครูบาอาจารย์ท่านเคยกล่าวไว้ บอกว่าถ้าตั้งจิตปรารถนาไปพระนิพพานชาตินี้ สิ่งที่เราปฏิบัติจะต้องคู่ควรกับการเข้าถึง เรายกจิตไปพระนิพพานทุกวันไหม ใจเรามีความเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัยแค่ไหน จิตเรามีความรักคือมีธรรมฉันทะ มีอารมณ์แนบในพระนิพพานแค่ไหน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องใคร่ครวญพิจารณาให้ละเอียด ค่อยๆปรับปรุงขึ้นทีละน้อยทีละน้อย จนกระทั่งเข้าถึงความปราณีตละเอียดของจิต
ในการที่เราปฏิบัติธรรมในเบื้องต้น บางครั้งอารมณ์จิตเรายังหยาบ พออารมณ์จิตเรายังหยาบอยู่ การพิจารณาต่างๆหรือสิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติที่เรียกว่าจริยวัตร กริยาอาการต่างๆนั้น ก็ยังถือว่าเป็นที่รับได้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าถึงความละเอียดของจิต เช่นอาการกราบพระก็เป็นอาการกราบลวกๆแข็งๆกราบพระแบบขอไปที แต่ถ้าเมื่อไหร่อารมณ์จิตเราละเอียดขึ้น การกราบจะประกอบไปด้วยสภาวะอาการที่แสดงถึงความนอบน้อม จำไว้เสมอว่า คำแรกของบทสวดมนต์ของทุกคน
นะโมตัสสะนั้น คำว่านะโมนั้นจริงๆ แปลว่าความนอบน้อม นอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ดังนั้นจำไว้เสมอว่าการกราบ ต้องกราบด้วยใจ กราบด้วยความนอบน้อม กราบให้สูงขึ้นมาอีกก็คือกายเนื้อกราบด้วยความนอบน้อม กายทิพย์ขึ้นไปกราบพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน อันนี้ก็สูงขึ้นไป เพราะในขณะที่จิตเราหยาบ บางทีอาการต่างๆ การวางพระพุทธรูป วางหนังสือบ้าง บทสวดมนต์บ้าง เราวางกับพื้น แต่ถ้าเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อรุ่นเก่า เขาก็จะถือว่า หนังสือหลวงพ่อ หนังสือที่มีรูปพระ ห้ามวางกับพื้นโดยเด็ดขาด จะต้องมีพาน หรือวางตัก วางบนกระเป๋า หรือวางโดยมีที่รอง ไม่วางกับพื้นเด็ดขาด ต่อมาในเรื่องของความหยาบ ความละเอียด เราก็ต้องพิจารณา การกระทบ พิจารณาละเอียดจนกระทั่ง คำพูดต่างๆ อาการต่างๆ การวาง การเดินต่างๆ เรามีสติ เรามีความละเอียดไหม เราเดินลงส้น แล้วเป็นการรบกวนผู้อื่น เกิดเสียงดังไหม เราเข้าไปในสถานที่ต่างๆ เราไปด้วยอาการสำรวม พิจารณาระวังว่าผู้อื่นเขาฝึกสมาธิอยู่ สวดมนต์อยู่ หรือทำสิ่งใดอยู่ ตรงจุดนี้ก็คือยิ่งปฏิบัติ จิตยิ่งสูง สิ่งต่างๆ กิริยาต่างๆยิ่งละเอียด ของต่างๆ เราเทพรวด ยกให้ เสริฟให้ รินน้ำให้ เราริน เรายก เราวางของ เราวางด้วยสติกำหนดรู้ในการหยิบ การยก การวางให้มันพอดีแรงไหม การเปิดปิดบานประตูต่างๆ เราปิดพอดีแรง ไม่มีอาการปึงปัง กระโชกโฮกฮากไหม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะค่อยๆปรากฏขึ้น
เมื่อจิตเราละเอียดขึ้นปราณีตขึ้น อย่างสายพระป่าท่าน เวลาครูบาอาจารย์ท่านอบรม ในศาลาที่เป็นศาลาไม้กระดาน พระท่านจะเดิน จะลด เดินด้วยความระมัดระวัง ไม่มีการรบกวน พยายามไม่ให้มีเสียงดัง การยก การถวาย การปฏิบัติ อุปัฏฐากครู พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ท่านก็จะทำด้วยความละเอียดถี่ถ้วนสังเกต คือทุกอย่างกลายเป็นการฝึกสติ ประกอบกับอิริยาบถ คำพูดคำจาต่างๆ พิจารณาก่อนว่ากระทบอารมณ์ใจบุคคลต่างๆไหม อยู่ในวิสัยที่สอนได้ก็สอน ถ้าอยู่ในวิสัยที่สอนไม่ได้ก็อย่าพูด ไม่ต้องพูดไม่ต้องกระทบ พิจารณาละเอียด พิจารณาภายนอกไม่พอ พิจารณาภายใน คือพิจารณาดูอารมณ์จิตเรา ในขณะที่พูดในขณะที่แม้เป็นการพูดคุยในเรื่องธรรมะ เราพิจารณาดูว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์เมตตา คือปรารถนาให้เขาได้ธรรม หรือเป็นการพูดจาเพื่อเอาธรรมนั้นมาข่มกัน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ดูเข้าไปลึกถึงข้างในจิตของเรา การสอนสมาธิ การแนะนำสมาธิ เราปรารถนาที่จะให้บุคคลที่เขามาฟังธรรม มาฝึก มาเรียน เขาเข้าถึงธรรม เข้าถึงสมาธิไหม การถ่ายทอดธรรม ปรารถนาให้เขาได้มรรคผลนิพพานไหม
หากเราเข้าใจพิจารณาให้ลึกซึ้ง อารมณ์จิตเราจะค่อยๆละเอียดขึ้นปราณีตขึ้น จิตเจตนาของเราบริสุทธิ์เป็นกุศลมากขึ้น รวมไปถึงยิ่งเราละเอียด ก็จะยิ่งทำให้เราเห็นในภูมิของท่านที่ภูมิไม่ละเอียด ในส่วนที่เท่ากับเรา เมื่อเราเห็นในภูมิที่เขาละเอียดไม่เท่ากับเรา ถ้าในระดับที่สูงขึ้น เราก็ต้องพิจารณาว่า เราเอาแต่จับผิดพิจารณากล่าวโจทก์ โทษความผิดคนอื่นไหม หรือเราเห็นจุดนั้น โดยที่พิจารณาแล้ว ใจยอมรับเข้าใจได้ว่า การปฏิบัติของแต่ละบุคคล ยังมีความหยาบ ความละเอียดไม่เสมอกัน บางครั้งบางคนก็ไม่ใช่วาระของเขา ยังไม่ถึงจุดที่เขาจะละเอียดจนเข้าใจหรือทำได้ และสำหรับบางบุคคลที่เขายังไม่เข้าใจถึงความละเอียดหรือธรรมได้ เราก็ต้องพิจารณาต่อไปว่า ถ้าเราพูดหรือเราเตือนทำให้เขากระทบใจ กลายเป็นว่าเขาคิด กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือกลายเป็นอารมณ์ที่เขาคิดว่า เราเรื่องเยอะเรื่องมาก หรือการปฏิบัตินี้มันช่างยุ่งช่างเยอะเกินไป ตรงจุดนั้นก็อาจจะเป็นข้อที่เราพิจารณาก่อนเสมอว่า พึงพูดได้ไหม แต่ถ้าหากสิ่งใดมันเป็นอันตรายต่อหมู่สงฆ์ หมู่คณะกัลยาณมิตรที่เป็นผู้ที่เป็นปฏิบัติด้วยกัน เป็นภัย เป็นกรรม หรือว่าเป็นสิ่งที่มันเป็นการผิด เราก็จำเป็นที่จะต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ตักเตือนสะกิดในระดับที่พอเหมาะพอสมพอสมควร แต่ถ้าเตือนไม่ได้จริงๆเกินวิสัยจริงๆก็ต้องอุเบกขา
ดังนั้นยิ่งละเอียด เรายิ่งจำเป็นที่จะต้องพิจารณา ให้สูงขึ้นละเอียดขึ้น หรือแม้แต่บางครั้ง การที่เราไปกราบครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยสงฆ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตรงนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเตือน ถ้าครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระสงฆ์และตัวเราเป็นผู้หญิง ถึงแม้ว่าในขณะที่เราถ่ายภาพมีผู้คนอยู่จำนวนมาก แต่ภาพที่ปรากฏ กลายเป็นว่าเราถ่ายรูปเป็นผู้หญิงอยู่กับท่านแค่คนเดียว อันนี้ก็ถือว่าอันที่จริงแล้วก็ถือว่าจริงๆเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ควรที่จะต้องมีบุคคลอื่นอยู่ในภาพด้วย เพื่อเป็นเรื่องป้องกันอาบัติของท่านของพระท่าน ดังนั้นพึงพยายามที่จะค่อยๆศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องของพระวินัยของพระสงฆ์ ในบางเรื่องหลายๆเรื่องด้วย เพื่อที่จะป้องกันอาบัติ บางครั้งตัวเราต้องการที่จะได้กราบได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์หรือพระท่าน แต่สิ่งที่เราทำบางครั้งกับกลายเป็นโทษกับท่าน หรือเป็นเหตุที่ทำให้ท่านถูกเข้าใจผิดในหลายๆเหตุการณ์ ดังนั้นยิ่งสูงขึ้น ยิ่งละเอียดขึ้น ในระดับการพิจารณาต่างๆในทุกสิ่ง ยิ่งจำเป็นที่จะต้องพิจารณาให้ลึกซึ้ง
ตอนนี้ก็ให้เราน้อมใจของเราดูในจิต ตั้งอารมณ์ใจตั้งกำลังใจว่า เราจะละเอียดขึ้น ปฏิบัติธรรมด้วยจิตอันปราณีตขึ้น ยิ่งละเอียดปราณีตมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเข้าใจสภาวะธรรมที่ละเอียดขึ้นสูงขึ้นตามนั้น อารมณ์จิตของบุคคลที่ท่านได้ในอารมณ์พระโสดาบัน มีความละเอียดไม่เท่าอารมณ์ของท่านที่เข้าถึงในระดับของอรหัตมรรค อรหัตผล เพราะความละเอียดนั้นมันมีความต่างกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่อารมณ์จิตเราเริ่มละเอียดปราณีตเพิ่มขึ้นมากขึ้น จะยิ่งกลับทำให้เราเข้าถึงธรรมะขั้นสูงได้มากขึ้นง่ายขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นตั้งกำลังใจของเรา พยายามดำรงชีวิตไปด้วยสติ การขยับเคลื่อนไหว รู้กาย เคลื่อนไหว ราบรื่น อ่อนโยนนุ่มนวลเปี่ยมไปด้วยสติ การให้ การขยับ ผัสสะทั้งหลาย จงเปี่ยมไปด้วยเมตตา วาจาทั้งหลายจงเปี่ยมไปด้วยเมตตา เปี่ยมไปด้วยความจริงใจ เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี ฝึกที่จะให้กระแสเสียงของเราเป็นกระแสของความเมตตา ความปรารถนาดี ฝึกให้กระแสสายตาที่เรามองที่เราเห็นโลก เห็นโลกด้วยใจที่เกื้อกรุณาเอ็นดูต่อมวลสรรพสัตว์ เห็นโลกตามสภาวะความเป็นจริง ตามกฎพระไตรลักษณ์ เห็นในความดีในกุศล เห็นในศักยภาพของผู้คน
จำไว้เสมอว่าทุกดวงจิตล้วนมีวิสัยแห่งการบรรลุธรรม บรรลุมรรคผล หรือแม้แต่พระพุทธองค์เองท่านก็มองว่า จิตทั้งหลายคือพุทธะ อันที่จริงแล้ว จิตทั้งหลายแม้แต่จิตของมดแมลง หากแม้นตั้งจิตปรารถนาในความเป็นพุทธภูมิ คือพระโพธิญาณ จิตที่เสวยอยู่ในร่างของมดน้อย มดแดง ในที่สุดก็ผ่านการวิวัฒน์ทางจิต คือพัฒนาสะสมบุญบารมีเสริมขึ้นสูงขึ้น จนกระทั่งในที่สุดจะยาวจะนานเท่าไหร่ก็ตาม จิตดวงนั้นหากไม่ทิ้งมโนปณิธานในความเป็นพุทธภูมิ จากจิตของมดแมลงก็อาจจะกลายเป็นพระพุทธองค์ในอนาคต พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ดังนั้นทุกดวงจิตล้วนแต่มีศักยภาพ ล้วนแต่มีวิสัยแห่งการบรรลุธรรม ล้วนแต่มีเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะในจิตทั้งนั้น
ดังนั้นพระพุทธองค์ในสายพระเนตรของท่าน ท่านพิจารณาเห็นว่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย พึงเป็นผู้บรรลุธรรมเข้าถึงมรรคผลได้ เพียงแต่ว่า แต่ละดวงจิตอาจจะถึงเร็วถึงช้าไม่เสมอกัน หากเราย้อนไปเมื่อพุทธันดรที่ผ่านมา ก่อนภัทรกัปป์นี้ เราก็อาจจะเป็นคนเกกมะเหรกเกเร เจอพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมาแล้ว แต่เราอาจจะหัวดื้อบ้าง หัวทึบบ้างหรือยังมีเรื่องอื่นที่สนใจบ้าง หรือไม่เข้าใจธรรมะที่ท่านสอนอะไรบ้าง ในขณะที่คนอื่นเขาไปพระนิพพานกันมากมายในหลายยุค พุทธันดรของพระพุทธเจ้าในการที่ผ่านมา แต่เราก็ยังไม่ไป จนกระทั่งตอนนี้เรามาถึงยุคของพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 แห่งภัทรกัปป์ คือพระพุทธเจ้าองค์พระสมณโคดม ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เราถึงมาปฏิบัติธรรมเข้าถึงธรรม
ดังนั้นการที่ยุคนี้เรามีปัญญาเข้าถึงธรรมในระดับหนึ่ง แต่เราพบเจอกับผู้คนอีกมาก ที่ยังไม่อยู่ในวิสัยที่บรรลุธรรมบ้าง ดื้อด้านบ้าง มีทิฐิที่เป็นมิจฉาทิฐิบ้าง เราก็พึงเข้าใจว่าอันที่จริง เหตุการณ์สถานการณ์ต่างๆเช่นนี้ เชื่อเถิดว่าเราก็เคยอยู่ในจุดนั้นมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นใจของเรา พิจารณารู้แล้วก็ปล่อยวาง พิจารณาอุเบกขาว่า ผลไม้ในต้นเดียวกันสุกไม่เสมอกัน บุคคลมาเกิดในพระศาสนาขององค์สมณโคดมเหมือนกัน แต่ก็เข้าถึงความดีงาม เข้าถึงบุญกุศล เข้าถึงธรรมท่านแตกต่างกัน ดังนั้นบอกตัวเราเองเพียงอย่างเดียวว่า เราโชคดี เราปฏิบัติจนกระทั่งเราพบคำว่าพระนิพพาน พบทางของพระนิพพาน ใจเราเกิดปัญญา เกิดนิพพิทาญาณ เบื่อหน่ายในสังสารวัฏ ปรารถนาพระนิพพานชาตินี้ อันนี้ถือว่าเป็นบุญของเรา ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านสอนเสมอว่า หากกำลังใจของเรามีถึงที่ต้องการปรารถนา ที่จะปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน อันนี้ในเขตของพระพุทธศาสนาถือว่าบารมีเป็นปรมัตถ์ ยิ่งหากกำลังใจปฏิบัติพระกรรมฐาน ไม่ใช่เพียงแค่ปฏิบัติพอเป็นอุปนิสัย แต่ตั้งจิตมั่นคงจำนงหมาย ว่าจะเข้าถึงพระนิพพานชาตินี้ให้ได้ ถ้ากำลังใจของเราเป็นเช่นนี้ ก็ถือว่ายิ่งปรมัตถ์ ยิ่งอยู่ในวิสัยที่เข้าถึงพระนิพพานชาตินี้ได้แน่นอน
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่เราต้องทำอีกอย่างหนึ่งก็คือ อย่าให้กำลังใจของเราถดถอยไป อาจจะมีช่วงที่ห่างหายจากการปฏิบัติบ้าง แต่เราตั้งกำลังใจว่าเราจะไม่ทิ้งการปฏิบัติ จะไม่ทิ้งพระนิพพาน จะไม่ทิ้งบุญกุศล จำไว้ว่าคำว่าพระโสดาบันแปลว่าเป็นผู้ที่ไม่ถอยกลับ คือไม่ถอยกลับไปสู่ความเป็นปุถุชน ไม่ถอยกลับไปว่าโอ้ยไม่เอาแล้วพระนิพพานพอกันที อารมณ์จิตเช่นนี้ไม่มีในพระโสดาบัน มีแต่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอยู่ในกระแสโลกุตระ กระแสแห่งธรรม กระแสแห่งพระนิพพาน ที่พระพุทธองค์ท่านทรงเมตตาถ่ายทอด เกิดข้อธรรม เกิดวิปัสสนาญาณ ผุดรู้ เจอสิ่งกระทบก็เกิดสภาวะธรรม สอนเรา เตือนเรา บอกเรา ให้ผุดรู้ขึ้นมาในจิต เจอคนตายก็เตือนให้เรารู้ว่าสังขารไม่เที่ยง เตือนเราให้รู้ว่าเราปรารถนามีที่ไปคือพระนิพพาน
ดังนั้นก็ขอให้เราทุกคนนับแต่นี้ ยกกำลังใจของเราให้ละเอียดปราณีตขึ้น พิจารณาให้ละเอียดมากขึ้น การขยับกายเคลื่อนไหวเดินเหิน จงเปี่ยมไปด้วยสติ จงเปี่ยมไปด้วยความนุ่มนวลปราณีต สมกับเป็นผู้ที่ขัดเกลาจิตใจมาแล้ว พิจารณาทุกอย่าง พิจารณาในการกระทบ พิจารณาเปรียบเทียบ รู้เหตุ รู้ผล รู้กรรม รู้วาระ รู้ผลของความคิดพิจารณา อารมณ์ปุถุชนคิดพิจารณาเพียงอารมณ์ของเรา ณ ขณะนั้น อารมณ์ของพระอริยเจ้า คิดพิจารณาการกระทบยาวเป็นวิสัยที่มองเห็นพิจารณาถึงชาติภพต่อไป กรรมต่อไป วิบากต่อไป ทำเช่นนี้เกิดผลเช่นนี้ ทำเช่นนี้เกิดวิบากเช่นไร ทำเช่นนี้เป็นวิบากในภพภูมิต่อไปเกิดผลเช่นไร พิจารณาให้ได้เช่นนี้แล้ว เราก็ถือว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติจนเกิดกระแสธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งปราณีตกว่าบุคคลปุถุชนทั่วไป
สำหรับวันนี้ก็ให้เราตั้งจิต น้อมจิต กำหนดน้อมอาทิสมานกายเรากราบถึงแทบพระบาทของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ กำหนดน้อมใจว่ากระแสบุญที่ถวายมหาสังฆทาน จงเป็นกระแสสายทรัพย์ สายสมบัติหลั่งไหลลงมายังเรา ในขณะที่ยังมีชีวิต ก็ขอจงเป็นมหาอุบาสกอุบาสิกา ขอเป็นอภิมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ผู้ทำนุบำรุงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทรัพย์ทั้งหลายที่เป็นมนุษย์สมบัติที่รออยู่ จงส่งผลในชาติปัจจุบัน เป็นความมั่งคั่งที่ถึงพร้อมด้วยปัญญา ถึงพร้อมด้วยเมตตา ขอกระแสแห่งพระนิพพานจงหลั่งไหลลงมาฟอกชำระล้างร่างกายธาตุขันธ์เรา ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ขอกระแสธรรมฟอกกาย วาจา ใจและดวงจิตให้สว่างผ่องใสปราณีต
จากนั้นตั้งจิตกราบลาพระ น้อมจิตโมทนาสาธุ กับเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมด้วยกันทุกคนในวันนี้ น้อมใจว่านับแต่นี้ จิตเราจะละเอียดขึ้นปราณีตขึ้น การเคลื่อนไหวทั้งหลายเปี่ยมไปด้วยสติ รู้กาย รู้กระทบ รู้จิต รู้ญาณ รู้วาระ รู้ผลกระทบของกรรม ความลึกซึ้งปราณีต ปัญญาญาณปรากฏในดวงจิตของเราทุกคน แล้วก็ตั้งใจว่าพยายามนะทุกครั้งที่ยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน ก็พยายามเขียนแผ่นทองอธิษฐาน กำหนดจิตว่าเหมือนกับการยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับการที่เราปิดทองพระพุทธรูป ทองคำเปลวที่เราแปะไปทีละแผ่น แปะไปเรื่อยๆจนกระทั่งพระที่เป็นพระทองเหลืองบ้าง พระองค์สีดำบ้าง พระที่เป็นผิวไม้บ้าง กลายเป็นพระทองคำอร่ามทั้งองค์ฉันใด การที่เราขยันยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน ก็ส่งผลให้จิตเราตอกย้ำชินในอารมณ์พระนิพพานฉันนั้น การอธิษฐานจิตเขียนแผ่นทองในอารมณ์พระนิพพาน ก็เป็นการตอกย้ำอารมณ์ใจเราไว้กับพระนิพพานฉันนั้นด้วยเช่นกัน
สำหรับวันนี้ก็ขอให้เราทุกคนได้รับผลอานิสงส์แห่งการถวายมหาสังฆทาน ได้รับผลอานิสงส์แห่งการเจริญพระกรรมฐาน แผ่บุญกุศลไปยังทุกภพ ทุกภูมิ ทุกรูป ทุกนาม ทุกท่าน และก็ขอให้เกิดความสุขสวัสดิ์ เกิดความโชคดี เกิดความสุข เกิดความเจริญ เกิดธรรมปิติขึ้นในจิตทุกดวง สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณวรรณภา