เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม 2565
เรื่อง ตัดภพจบชาติ
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
สวัสดีนะครับทุกท่าน เริ่มต้นฝึกสมาธิด้วยกัน ตั้งจิตรำลึกนึกถึงคุณพระรัตนตรัย คือคุณพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ คุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ พ่อแม่ จากนั้นเริ่มต้นกำหนดจิต ในความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วร่างกายของเรา ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั้น เรากำหนดปล่อยวางความรู้สึก ผ่อนคลายร่างกาย ผ่อนคลายจิตใจ ปล่อยวางเรื่องราวทั้งหลาย ออกไปจากจิตใจของเราให้หมด วางอารมณ์ใจเบาสบายๆ จากนั้นกำหนด รู้อยู่กับ ลมหายใจที่สงบ เบาสบาย กำหนดจินตภาพเห็นลมหายใจ เป็นเหมือนกับแพรวไหมพริ้วผ่านเข้าออกในกายของเรา ตลอดสาย ตลอดทั้งกองลม ลมหายใจที่เป็นแก้วประกายพรึก ระยิบระยับพริ้วผ่านเข้าออก อารมณ์จิตเบาสบาย ลมปราณคือลมหายใจสัมพันธ์กับจิตใจของเรา ยิ่งลมหายใจละเอียดปราณีต ลมหายใจมีความเบาเท่าไหร่ ละเอียด ขึ้นเท่าไหร่ อารมณ์จิต อารมณ์ใจ ก็คือเวทนาของเราก็จะมีความสบาย มีความสุข เป็นสุขของความสงบ เป็นสุขของสมาธิ อยู่กับลมหายใจ ละเอียดเบาสบาย ที่เป็นประกายพรึก
ในการที่เรากำหนด เห็นลมหายใจเป็นประกายพรึก ก็เท่ากับว่า เราผนวกควบ เห็นลมก็คือธาตุลมนั้น อยู่ในสภาวะในอารมณ์ของกสิณ คือสภาวะของกสิณนั้น ภาพนิมิตนั้นเป็นประกายพรึก ลมหายใจเราพริ้วผ่านเข้าออก เป็นประกายพรึก อานาปานสติของเราก็ควบรวมอยู่กับกสิณลม และในขณะเดียวกันลมหายใจที่เป็นประกายพรึก ที่ผ่าน เข้ามา ก็จัดเป็นการกำหนด กำหนดให้ลมนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่ลมหายใจธรรมดา เป็นลมปราณที่มีพลังชีวิต พลังจาก ธรรมชาติ ไหลเวียน เยียวยาส่งต่อ ฟอกชำระล้าง ส่งพลังชีวิตให้กับร่างกาย ที่เป็นกายเนื้อ ธาตุขันธ์ของเราไปพร้อมกัน ลมหายใจที่เป็นปราณละเอียด เบาสบาย อยู่กับลมหายใจ อยู่กับความสงบ อยู่กับอารมณ์อันเป็นสุข จดจ่อทรงอารมณ์ในความสงบไว้ จดจ่ออยู่ในความผ่องใสไว้ จดจ่อกำหนดรู้อยู่กับความสุขของสมาธิ คือความสงบของสมาธิ จิตได้พักจากความปรุงแต่ง ในสิ่งที่มากระทบทางอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
และแม้กระทั่งสิ่งที่มากระทบจิตใจ ของเรา กำหนดในความสงบนิ่ง เบาสบาย อยู่กับความสงบ หยุดปรุงแต่งในสิ่งที่มากระทบ จิตเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ จิตเข้าถึงอุเบกขาอารมณ์ อุเบกขาต่อสิ่งที่มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นิ่งสงบ เอิบอิ่มเป็นสุขผ่องใส ในความนิ่ง ให้เรายกอารมณ์ของเราให้เอิบอิ่มเป็นสุข มีความผ่องใสเป็นปรกติ การกำหนดรู้ ปรับวางอารมณ์ของเราให้ถูกในการเจริญพระกรรมฐาน เรียกว่าเข้าถึงอารมณ์แห่งพระกรรมฐานได้อย่างถูกต้อง จะเป็นผลลัพธ์สำคัญในการฝึก ในการ ปฏิบัติ บางคนเริ่มต้นในการฝึกสมาธิ แต่อารมณ์มีความหนักไป มีความเพ่ง มีความเครียด สมาธิก็ไม่สามารถจะเข้าถึง อารมณ์ความเป็นทิพย์ ไม่สามารถที่จะเข้าถึงทิพยจักขุญาณ ไม่สามารถเข้าถึงกำลังอภิญญาสมาบัติได้ อันที่จริงความ เป็นทิพย์นั้น อารมณ์จิตมันมีความเบา นิ่งหยุดอยู่ในความเบา นิ่งหยุดอยู่ในความผ่องใส นิ่งหยุดอยู่ในอารมณ์จิต อันเป็นสุข
กำหนดรู้วางอารมณ์จิตของเรา นิ่งสงบผ่องใส มีความเบิกบาน มีความสว่างของจิต จิตมีความชุ่มฉ่ำชุ่มเย็น เป็นประกายระยิบระยับ ภายในหัวใจ ภายในจิตของเรา มีความชื่นอกชื่นใจ เอิบอิ่มอยู่ภายใน นิ่งสงบ สว่างผ่องใส อยู่ภายใน ทรงอารมณ์ในอารมณ์แห่งอานาปานสติกรรมฐาน ที่เข้าถึงความละเอียดปราณีตเต็มกำลังไว้ ลมหายใจ ละเอียด อารมณ์จิตเป็นสุข ใจของเราเอิบอิ่มแช่มชื่นเบิกบาน ตั้งใจว่า นับแต่นี้เราทรงอารมณ์ เราจดจำอารมณ์ใจ อารมณ์พระกรรมฐานได้ จดจำอารมณ์พระกรรมฐานได้เมื่อไหร่ เราปฏิบัติในที่ใดก็ตาม เราเข้าถึงสภาวะ เข้าถึงอารมณ์ นี้ ได้ทุกครั้งทุกเวลาทุกสถานที่ ลืมตา หลับตา ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ เราสามารถทรงอารมณ์ความผ่องใสสงบ อารมณ์จิตที่มีความเป็นทิพย์ มีความสงบร่มเย็นของใจนี้ได้เป็นปกติ และก็จงพิจารณาต่อไปว่า ในความนิ่งสงบเย็นนี้ อารมณ์จิตของเราสะอาดจากสรรพกิเลสทั้งปวง จิตสะอาดจากความโลภ โกรธ หลง จิตสะอาด ระงับจากนิวรณ์ทั้ง 5 ประการ ความฟุ้งซ่านทั้งหลายไม่ปรากฏในจิตในใจของเรา จิตเราอยู่กับความหยุด สงบ นิ่ง ผ่องใส ใจแย้มยิ้มเบิกบาน ในความนิ่งสงบผ่องใส กระแสใจของเรา มีคลื่น มีกระแสของความเย็น ความเบา ความสบาย แผ่ออกมาจากดวงจิต อาณาบริเวณโดยรอบกาย รอบทิศของเรา มีกระแสของความเป็นทิพย์ซึมซาบ แผ่กระจายเป็นปริมณฑล เป็นอาณาเขต กำหนดจิตต่อไป ว่าเมื่อจิตของเราทรงไว้ ในความสงบ อารมณ์เข้าถึงเอกัคคตารมณ์ในอานาปานสติแล้ว เราก็ยกจิตใน กำลังของสมถะให้สูงขึ้น ทรงอารมณ์จิตในกรรมฐานที่เป็นการกำหนดภาพนิมิต ภาพนิมิตให้จิตของเราเป็นกสิณจิต เห็นจิตของเรานี้ เป็นแก้วประกายพรึก มีสภาวะเป็นเพชรระยิบระยับแพรวพราว มีรัศมีเป็นเส้นรุ้งกระจายออกโดยรอบทั้ง 360 องศา รัศมีโดยรอบมีประกายรุ้งพุ่งออกมาจากดวงจิต ความระยิบระยับแพรวพราวของจิตเราปรากฏ และอาณา บริเวณเลยจากเส้นรัศมีออก ก็มีคลื่นกระแสที่มีความพร่างพรายระยิบระยับ ราวกับกากเพชรอยู่ในชั้นบรรยากาศรัศมี โดยรอบกายห่างออกไป คือสภาวะความเป็นทิพย์รายรอบพ้นเลยขอบเขตจากรัศมีจิต
และเราก็กำหนด การทรงอารมณ์ ของกสิณนั้น มีความสัมพันธ์ ภาพนิมิตของกสิณ สัมพันธ์กับอารมณ์จิตใจเช่นกัน กำหนดว่าเมื่อจิตเรายิ่งมีแสงสว่าง มากเท่าไหร่ ยิ่งมีประกายความแวววาว ความสวยงาม ความระยิบระยับของจิตมากเท่าไหร่ จิตเรายิ่งเป็นสุข รัศมีจิตยิ่งสว่าง จิตเรายิ่งเป็นสุข ความแพรวพราวระยิบระยับ ปรากฏกับภาพนิมิตคือความรู้สึกในจิตเรามากเท่าไหร่ จิตเรายิ่งเป็นสุข กระแสบุญ กระแสบารมี แผ่จากรัศมีจิตของเรา ความเป็นทิพย์นั้น ยิ่งจิตมีแสงสว่างมากเท่าไหร่ มีรัศมีกว้างไกล สวยงามระยิบระยับมากเท่าไหร่ บุญกำลังบารมีของจิต ของอาทิสมานกายนั้น ก็มีมากมีสูงเช่นกัน ตามกำลังของรัศมีจิต กำหนดจิต ทรงความรู้สึกจดจ่ออยู่กับความสุข อยู่กับสภาวะที่จิตนั้น มีประกายความสว่าง แพรวพราวสวยงามระยิบระยับนั้น
ทรงอารมณ์จิตเปล่งประกาย เปล่งแสงสว่างเต็มกำลัง จิตแย้มยิ้มจนกระทั่งใบหน้า ร่างกายของกายเนื้อเราแย้มยิ้มตามไปด้วย ร่างกายกายเนื้อมีความเปล่งปลั่งมีความสุข แสงสว่างของจิตส่งกระแส ส่งพลังงาน ส่งแสงสว่างไปยังเซลล์ทุกเซลล์ทั่วร่างกาย อาณาบริเวณวัตถุธาตุทั้งหลายที่อยู่รายล้อมรอบกายของเรา จิตเราสว่าง กายของเราผ่องใส ความระยิบระยับแพรวพราวของจิต ฟอกชำระล้างธาตุขันธ์ของเรา ให้สว่าง ให้ผ่องใส ให้สะอาดจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย แสงสว่างความผ่องใสของจิต ก็ฟอกดวงจิตของเราให้สะอาดผ่องใส จากสรรพกิเลสด้วยเช่นกัน รวมความว่าเมื่อเราทรงอารมณ์จิตในกสิณจิต เราก็กำหนดจิตยังประโยชน์ให้ปรากฏขึ้นทั้งดวงจิต และปรากฏประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับธาตุขันธ์ร่างกายของเรา กายจิตผ่องใส ความแพรวพราวระยิบระยับรายรอบ ห้อมล้อมตัวเรา จิตเราเป็นสุขอย่างยิ่ง จิตเราสะอาดสงบอย่างยิ่ง รายรอบตัวเราด้วยกระแสแห่งบุญ กระแสแห่งกุศล รัศมีจิตเป็นเหมือนเกราะแก้วกำบังเรา จากอวิชชา จากคุณไสยทั้งหลาย จากกระแสคลื่น จากกระแสวิบาก กำลังแห่งความผ่องใส ความเป็นทิพย์ ความแพรวพราวระยิบระยับ ขอจงสะท้อนผู้ที่จิตเป็นอกุศล จงห่างไกลออกไป ผู้ที่เป็นกัลยาณชน เป็นกัลยาณมิตร เป็นผู้ที่มีจิตอันเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นมิตร เป็นผู้ที่ปรารถนาดี ผู้ที่มีจิตเป็นกุศลและเจตนา ดึงดูดเข้ามาใกล้ในชีวิตของเรา กำหนดใจของเราสว่างผ่องใส จิตของเราสว่างระยิบระยับ กำลังจิตของเราเป็นเพชรประกายพรึกสว่างอย่างยิ่ง จิตเป็นสุขอย่างยิ่ง กระแสบุญรวมตัวในดวงจิตของเรา สว่างผ่องใส ทรงอารมณ์ไว้
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป กำหนดจิตให้สภาวะรายรอบทั้งหมด รวมถึงแม้กระทั่งร่างกายที่เป็นกายเนื้อของเรา สลายกลายเป็นความว่างขาว เวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ เหลือแต่เพียงดวงจิตของเราที่ส่องสว่าง เป็นเพชรประกายพรึก เป็นพลังงานโดยไร้รูป ไร้ร่างกายเนื้อขันธ์ 5 สภาวะห้อง บ้านเรือน หรือไกลออกไปเป็นเมือง เป็นโลก เป็นจักรวาล สลายกลายเป็นความว่างเวิ้งว้าง ว่างเปล่า ไม่มีผนัง ไม่มีพื้น ไม่มีเพดาน มีเพียงจิต ของเราที่สว่างผ่องใสระยิบระยับ ลอยอยู่ท่ามกลางความว่างเวิ้งว้างนั้น
กำหนดพิจารณาในวิปัสสนาญาณไปพร้อมกับ การกำหนด ยกกำลังจิตของเราขึ้นสู่อรูปสมาบัติ พิจารณาว่าสังขารร่างกายนั้นไม่เที่ยง ในที่สุดก็ต้องมีความสลายตัว แตกดับไปในที่สุด ความไปยึดมั่น ถือมั่น เกาะยึดห่วงมากเกินไป ย่อมทำให้จิตเราเกิดความทุกข์ จากภาวะที่เรา หวงแหน ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย จิตเราปล่อยวาง เมื่อจิตเราปล่อยวางได้ เราจึงสลายรูป คือสลายขันธ์ 5 สลายร่างกาย วัตถุธาตุที่เป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ออกไปจนหมดได้ หากกำลังใจเราไม่สามารถตัดร่างกาย ยังห่วงใย ยังเสียดาย กำลังใจเราก็จะเพิก คือสลายรูปของกายขันธ์ 5 เรานั้นไปไม่ได้ กำหนดจิตสลายร่างกายออกไปจนหมด สลายวัตถุธาตุ สิ่งของสมบัติ โลกจักรวาล บุคคลที่เป็นที่รัก โลกวัตถุจักรวาลในที่สุดก็ต้องสลายตัวไปในที่สุด ความไปยึดมั่น ถือมั่นก่อให้เกิดทุกข์ ใจเราปล่อยวาง ว่างวางเบา สลายเป็นความว่างไปให้หมด
กำหนดจิตต่อไปว่า สัญญาความจำทั้งหลาย ความทรงจำทั้งหลาย เปรียบประดุจความฝัน ความทรงจำ การบันทึกใดที่เป็นความทุกข์รำลึกแล้ว ก็ก่อให้เกิดความเศร้า เกิดเวทนา เกิดความทุกข์ สัญญาความจำใด ที่เป็น ความอาฆาตพยาบาทจองเวร ที่เราไปคิดถึง สิ่งที่ผู้อื่นกระทำย่ำยีทำร้ายต่อเรา นึกถึงสัญญาความทรงจำนั้นแล้ว ความทรงจำนั้นก็ก่อให้เกิดความทุกข์ ความโมโห ความแค้น ความอาฆาต ความพยาบาท หรือแม้แต่ความทรงจำ สัญญาที่เป็นความสุข เมื่อผ่านแล้วจบแล้ว เรายังถวิลคิดถึง ถวิลหาความทรงจำสัญญานั้น ความเศร้า ความเสียดาย ในเหตุการณ์ในสิ่งที่ผ่านไป ก็ทำให้เราทุกข์อีกเช่นกัน หรือแม้แต่สัญญาความทรงจำ ภาพจำในบุคคลอันเป็นที่รัก เมื่อพลัดพรากจากกันไปจากภพชาติใดไปแล้วก็ตาม เหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม ความคิดถึง ความห่วงหาอาลัย ในสัญญาความจำนั้น ก็ก่อให้เกิดความทุกข์ รวมความว่าทั้งความสุข ทั้งความทุกข์ที่เป็นสัญญาความจำทั้งหลาย สุดท้ายก็กลายเป็นความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาจนปัญญาเห็นจริงได้ พิจารณาน้อมตามความเป็นจริงได้ อดีตชาติที่เกิดมาล่วงแล้วผ่านไป คิดพิจารณาได้ดังนี้แล้ว จึงกำหนดจิต สลายภาพสัญญาทั้งหลาย กลายเป็น ความว่างเวิ้งว้าง ว่างเปล่า สัญญาภาพจำ ภาพที่เคยปรากฏ ภาพของอดีตชาติ ภาพของญาณที่ปรากฏ ผุดรู้ผุดเห็นมาทั้งหมด สลาย ค่อยๆเลือนจางลงเลือนลง ลบไปจากจิตของเรา สัญญาความจำทั้งหลาย สลายไปจนหมดสิ้น กลายเป็นความว่างเวิ้งว้าง ว่างเปล่าไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ จิตนิ่งสงบ สว่างอยู่
จากนั้นพิจารณาต่อไป ว่าสิ่งต่างๆ ที่มากระทบทางอายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น กายของเรา ผัสสะทั้งหลายนั้น ก่อให้เกิดความอยาก ก่อให้เกิดความปรารถนา หากสิ่งที่มากระทบนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เราพึงใจ รูปที่สวยงาม อาหารที่ มีรสอร่อย กลิ่นที่หอมรัญจวนใจ ผัสสะที่นุ่มละมุน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้งหลาย หรือแม้แต่เสียงที่เป็นคำชม คำสรรเสริญ เสียงที่มีความไพเราะเสนาะหู เสียงของความชื่นชม ทุกสิ่งที่มากระทบนั้น ก่อให้เกิดการปรุงแต่ง ความพึงใจ ความพอใจ เป็นภวตัณหา ซึ่งภวตัณหา นี้ก็เป็นเหตุให้เรายึดเกาะ ยึดติด ปรารถนาที่จะแสวงหาความสุข ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มาบำรุงบำเรอ จิตของตนอยู่ เราพิจารณาต่อไปว่า สิ่งที่มากระทบ ทางอายตนะ ในด้านตรงข้าม ที่เป็นความไม่พึงพอใจ เสียงด่า เสียงนินทาว่าร้าย เสียงตะโกนกระโชกโฮกฮาก เสียงต่างๆนี้เป็นที่ขัดเคืองใจของเรา รูปอันเป็นอสุภะ คือไม่มีความสวยงาม รูปลักษณ์ต่างๆที่มันมีความสกปรก ความน่ารังเกียจ กลิ่นที่มัน มีความเหม็น มีความคาว ผัสสะที่ถูกโบยตี ถูกเฆี่ยนตี ถูกฟาด ถูกทำร้าย ถูกแทง
ขึ้นชื่อว่าสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ไม่พึงพอใจ ที่ขัดเคืองใจ ก็ทำให้จิตเราเกิดความทุกข์ เป็นวิภวตัณหา ใจเราก็ดิ้นรน ไม่ปรารถนาที่จะ พบเจออีก ดังนั้นขึ้นชื่อว่าอายตนะ สิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเข้ามากระทบแล้ว ก็ก่อให้เกิด ความทุกข์อยู่ดีทั้งสองฟาก ไม่ว่าจะเป็นสุขหรือทุกข์ ภวตัณหาหรือวิภวตัณหา เมื่อกำหนดแล้ว บุคคลผู้เข้าถึงอรูปฌานสมาบัติขั้นสูง จึงทรงอารมณ์อุเบกขาในอายตนะ ตาเห็นรูปสักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียงสักแต่ว่าได้ยิน ลิ้นได้ลิ้มชิมรสก็สักแต่ว่าได้ลิ้มชิมรส จมูกได้กลิ่นก็สักวาได้กลิ่น ผัสสะที่สัมผัสก็วางเฉยนิ่งเฉย มีความรู้สึกสัมผัสแต่ไม่มีปฏิกิริยา ไม่มีการปรุงแต่ง ร้อนก็รู้ว่าร้อน แต่ไม่สนใจไม่ดิ้นรน
เมื่อทรงอารมณ์เช่นนี้ได้แล้ว ก็กำหนดใจของเรา สลาย ละ วางสิ่งที่มากระทบ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส คืออายตนะทั้งปวง สลายความรู้สึกการปรุงแต่งทั้งหลาย กลายเป็นความว่างเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ไม่มีพื้น ไม่มีเพดาน ขาวโล่งว่าง มีแต่เพียงจิตเป็นพลังงาน เป็นความพร่างพรายประกายพรึกอยู่ ทรงอารมณ์ว่าจิตเราปล่อยวางในร่างกาย จิตเราปล่อยวาง ยอมรับในความไม่เที่ยงของโลก ของสรรพสิ่ง ของจักรวาล ว่ามีการแตกสลายไปในที่สุด จิตยอมรับและรู้เท่าทันว่าสัญญาความจำทั้งหลาย ก่อให้เกิด การปรุงแต่งทางอารมณ์ จิตสลายล้างสัญญาทั้งปวงออกไป เป็นความว่าง จิตกำหนดรู้ รู้เท่าทันในสิ่งที่มากระทบ ทางอายตนะ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ว่าทุกสิ่งที่มากระทบนั้น เป็นเพียงมายา เป็นการปรุงแต่งที่ทำให้ใจเราปรุงเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นความขัดเคืองใจ เป็นความเคลิบเคลิ้ม หรือเป็นความทุรนทุรายเร่าร้อน กำหนดสลาย กลายเป็นความว่าง จิตเป็นอุเบกขาในอรูปสมาบัติอย่างยิ่ง ว่างโล่ง วางในทุกสิ่ง ทรงอารมณ์แห่งอรูป เข้าใจ เข้าถึงสภาวะแห่งอรูป
จากนั้นจึงกำหนดจิตต่อไป ว่าเราใช้กำลังของอรูปเป็นพลังแห่งสมถะ เพื่อใช้ในการตัดสรรพกิเลสเป็น สมุจเฉทปหาน เพื่อเข้าถึงซึ่งพระนิพพานในที่สุด การกำหนดปล่อยวาง โล่งว่างนี้ อรูปหรือความว่าง ยังไม่ใช่พระนิพพาน เป็นเพียงอรูป เมื่อจิตกำหนดรู้เท่าทันในอรูป สังโยชน์ข้อที่ 7 คือ อรูปราคะ ก็กำหนดรู้ ขาดออกไปจากใจ ของเรา กำหนดใช้กำลังของอรูปที่เราพิจารณาแล้ว มาพิจารณาต่อ ว่าขันธ์ 5 ร่างกายนี้ ในที่สุดก็ต้องสลาย กลายเป็นผงธุลี กลายเป็นความว่างไปในที่สุด สิ่งต่างๆที่มากระทบ ที่ก่อให้เกิดกามฉันทะ ในที่สุดก็ต้องสลายกลาย เป็นความว่างไปในที่สุด สัญญาความจำทั้งหลาย ในที่สุดก็จางหายไปกับกาลเวลา เป็นสัญญาอนิจจา ไร้แก่นสารสิ้นเชิง ไปในที่สุด กำหนดจิตต่อไปว่า ชาติภพทั้งหลาย ความยึดเกาะ ความผูกพัน ความห่วงหาอาวรณ์ ความห่วงใย ไม่ว่าจะเป็นภพของการเป็นมนุษย์ ภพของการเป็นพญานาค ที่มีอารมณ์ความรัก มีอารมณ์ความแค้นเข้มข้นรุนแรง ภพของการเป็นเทวดา ภพของการเป็นพรหม หรือแม้แต่ภพของการเป็นอรูปพรหม ซึ่งมีอายุความเป็นทิพย์ยาวนาน มากมายมหาศาลก็ตาม ภพทั้งหลายก็ ไม่มีความเที่ยง มีความแปรปรวนไปในที่สุด การเวียนว่ายตายเกิดหมุน เวียนในสังสารวัฏนี้ เกิดมาเป็นมนุษย์ แต่ละครั้ง ก็ถูกลบสัญญาความทรงจำ ไม่สามารถจดจำอดีตชาติของตัวเองได้ พอไปจุติเป็นเทวดา ไปจุติเป็นพรหม ความเป็นทิพย์ปรากฏขึ้น แต่ความเพลิดเพลินตกตะลึงพรึงเพริดในทิพยสมบัติ ที่เราได้รับที่เราเสวย ก็พาให้เราเพลิดเพลินหลง ขาดการมา
พิจารณาดูว่า ชาติภพที่เราเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า ในสังสารวัฏนั้นมันยาวนาน มันยาวนานต่อเนื่องสักประการใด อันที่จริงแล้ว ความเป็นเทวดา ความเป็นพรหมนั้น มีความเป็นทิพย์ มีกำลังของความเป็นทิพย์ การระลึกชาติที่เป็นเรื่องปกติ แม้ว่าในนิยายหรือมีความเชื่อว่า จะระลึกชาติได้ เทวดาจะระลึกชาติได้ จะต้องไปดมดอกปาริชาติ ที่สวนบนสวรรค์ที่ชั้นดาวดึงส์ แต่อันที่จริงแล้ว ความเป็นทิพย์ของเทวดานั้นท่านมีอยู่ สามารถกำหนดจิตรำลึกรู้ได้ เทวดาที่ท่านมีความไม่ประมาท เมื่อขึ้นมา เป็นเทวดาแล้ว ก็ย่อมพิจารณาว่า ด้วยเหตุอันใด บุญกุศลใด วาระใดอันเป็นเหตุที่ทำให้เรามาเสวยทิพยสมบัติ เป็นเทวดาอยู่ที่ชั้นนี้ สังฆทานกองนี้ทำให้เกิดบุญเช่นนี้ วิหารทานเช่นนี้ ทำให้เกิดวิมานแก้ว วิมานเพชรมีขนาดเช่นนี้ การที่เราบอกกล่าว บอกบุญชักชวนผู้คนไปทำบุญ ทำให้เรามีเทวดา นางฟ้าเป็นบริวารเช่นนี้ เทวดาหรือพรหมที่ ไม่ประมาทย่อมพิจารณา พิจารณาต่อไปอีกว่า และอายุความเป็นทิพย์ ของเราจะมียาวนานเท่าไหร่ เราต้องทำ เหตุอย่างไร หรือแม้กระทั่งพิจารณาต่อไปว่าหากเรา มาเป็นเทวดา มาเป็นพรหม แต่หากจริงๆแล้ว จิตเราเคย เจริญพระกรรมฐาน มาในสมัยที่เป็นมนุษย์ หรือแม้แต่ฟังธรรมที่เทวสภา เรามีความปรารถนาในพระนิพพานหรือไม่
หากมีความปรารถนาในพระนิพพาน เราก็พึงพิจารณาต่อไป ว่าการปฏิบัติของเราบนสวรรค์ เราจะเพลิดเพลิน อยู่กับทิพยสมบัติ หรือเราตั้งใจว่า เราจะหาโอกาสวาระ ที่จะสร้างบุญสร้างกุศล เช่นฟังธรรมที่เทวสภา แอบย่องลงไป ถวายทาน กับพระอรหันต์ พระสุปฏิปันโน ด้วยเหตุนี้เราจึงมักจะเห็นว่า ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ ที่ท่าน เป็นพระอริยเจ้า เทวดาพรหมทั้งหลาย ท่านย่อมลงมาทำบุญสร้างกุศล เพื่อต่อบุญต่อบารมีของท่าน รวมทั้งฟังธรรมเพื่อต่อเหตุอันก่อให้เกิดมรรคผล
อย่างการที่เราฝึกสมาธิอยู่ในขณะนี้ ก็ยังมีเทวดาและพรหมจำนวนมากที่ท่านร่วมฟัง ร่วมปฏิบัติธรรมกับเราไปด้วยพร้อมกัน วันนี้การสอนจึงไม่ได้สอนเพียงเฉพาะเราที่เป็นมนุษย์ มีเทวดาพรหมจำนวน มากที่ท่านเมตตา มาปฏิบัติธรรม มาโมทนาบุญกับเรา การเป็นเทวดา การเป็นพรหมนั้น อันที่จริงก็สามารถจะปฏิบัติ สร้างสะสมบารมีทั้งในส่วนของอายุความเป็นทิพย์ โดยลงไปทำบุญ หรือก่อนหมดอายุขัยของความเป็นทิพย์ เราก็ อธิษฐานจิตด้วยกำลังของความเป็นทิพย์ ลงไปชั่วขณะชั่วกาล ลงไปสร้างบุญ ลงไปสร้างบารมี ใช้เวลาของความเป็น ทิพย์ ความเป็นเทวดาเพียงแค่ 3 ชั่วโมง 4 ชั่วโมงของความเป็นทิพย์ แต่ย่องลงมาเกิดสร้างบุญสร้างบารมีบนโลกมนุษย์ อาจจะ 50 ปี 80 ปีขึ้นอยู่กับวาระ และอันที่จริงนั้น ยิ่งอายุความเป็นทิพย์มียาวนานมากเท่าไหร่ หากตั้งจิตตั้งใจปฏิบัติ เจริญพระกรรมฐานในกำลังจิตที่สูงขึ้น ภพภูมิก็สามารถยกระดับจากเทวดาขึ้นไปเป็นพรหมได้ จากเทวดาที่เป็นปุถุชน เทวดาที่เป็นเทวดาทั่วไป พิจารณามากขึ้นสูงขึ้น ก็เข้าถึงความเป็นเทวดาที่เป็นพระอริยเจ้าได้ ไม่ว่าจะเป็นเทวดาที่เป็น พระโสดาบันก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี พระอนาคามีก็ดี แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เทวดาและพรหม ท่านก็จะยับยั้งอยู่เต็มที่ อยู่ที่ ความเป็นอนาคามีมรรค รอเข้าสู่อรหันต์ อนาคามีผล เพื่อรอเข้าสู่อรหันต์ ในช่วงเวลาต่อไป แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่อารมณ์ จิตของเทวดาเข้าถึงความเป็นพระอนาคามี ท่านก็มักจะยกจิตปรับภพภูมิขึ้นไปสู่ความเป็นพรหม เพราะความเป็น อนาคามีนั้น ไม่ปรารถนาในความสุขระหว่างเพศ ความเป็นพรหมนั้นไม่มีเพศ เทวดานั้นยังมีความสุข อยู่กับความเป็น เทวดานางฟ้า มีความสุขในกามแบบพรหม ในกามแบบเทวดา แต่พรหมนั้นมีความสงบ มีความสันโดษ มีพรหมวิหาร 4 อารมณ์จิตจึงมีความเหมาะสมกับความเป็นอนาคามี คือความสงบสงัด ปราศจากความวุ่นวาย หากเป็นฆราวาสก็คือ เป็นผู้ที่ปราศจากเรือน ผู้ออกจากเรือนคือไม่ปรารถนาความวุ่นวายในทางโลก เรื่องลูก เรื่องเมีย เรื่องสามี เรื่องภรรยา เรื่องความวุ่นวายทั้งหลาย อารมณ์แห่งอนาคามีนั้นไม่ปรารถนา
ดังนั้นท่านจึงอยู่ในความเป็นพรหม จากนั้นการบำเพ็ญบารมีบนสวรรค์ บนพรหม หากไม่ตัดจากพรหม เข้าพระนิพพานเลย ส่วนใหญ่ท่านก็รอช่วงเวลาที่ยุคพระศรีอริยเมต ไตรยท่านมาตรัส เทวดาทั้งหลายพรหมทั้งหลาย ก็ตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งท่ารอ พุ่งจิตลงไปเกิดในยุคแห่ง พระศรีอาริยเมตไตรย ด้วยกำลังบุญ กำลังบารมีท่านมีพร้อมอยู่แล้ว และการรออยู่บนสวรรค์ อยู่บนพรหมนั้น เป็นที่สบาย เป็นที่ไม่ลำบาก ดังนั้นเทวดาพรหมทั้งหลาย ก็สามารถบรรลุเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้
โยมทั้งหลาย ฆราวาสทั้งหลายอย่างเรา แม้ว่าเป็นผู้ที่ครองเรือน แม้ว่าเราไม่ได้บวช เราก็สามารถเข้าถึงซึ่ง พระนิพพานได้ แต่อารมณ์จิตอารมณ์ใจของเราที่เป็นฆราวาส อารมณ์จิตที่เราปฏิบัตินั้น ยิ่งปฏิบัติลึกขึ้นเท่าไหร่ จิตพิจารณาในวิปัสสนาญาณมากเท่าไหร่ ถอดถอนขัดเกลากิเลสทั้งหลายให้เบาบางลงมากเท่าไหร่ อารมณ์ก็จะเข้าสู่ความ เป็นพระอริยเจ้าที่ลึกละเอียดขึ้นเพียงนั้น ยิ่งละเอียดขึ้นเท่าไหร่ อารมณ์ก็จะยิ่งมีความเบื่อชีวิตในทางโลก ชีวิตในการ ครองคู่มากขึ้นเพิ่มขึ้น จนรู้สึกว่าโลกนี้ ความสุขที่บุคคลทั่วไปในโลกมองว่าเป็นสุข เราไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสุข เรามอง เห็นทุกข์ มองเห็นความเร่าร้อน มองเห็นความทะยานอยาก มองเห็นการกระทบกัน มองเห็นความวุ่นวาย ในขณะที่ปุถุชนคนทั่วไป เขายังมีความสุข มีความสนุก มีความเพลิดเพลิน ในสิ่งที่เป็นสุขในทางโลกเช่นนั้น
ยิ่งจิตเราละเอียดมากเท่าไหร่ เบาลงมากเท่าไหร่ เราเห็นทุกข์ในสิ่งที่บุคคล ปุถุชนมองไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ ยิ่งละเอียดขึ้น ความเป็นพระอริยเจ้าก็เลื่อนลำดับขึ้น สูงขึ้น ถึงเวลา วาระที่ได้ บุคคลที่เข้าถึงอารมณ์แห่งอนาคามีมรรค ใจก็เริ่มแสวง หาหนทางที่จะออกบวชบ้าง ออกมาถือศีลบ้าง ออกมาปฏิบัติธรรม จิตไม่อาลัยยินดีกับทรัพย์สินเงินทอง ความห่วงในลูกในหลานมันเบาบางลงมาก อารมณ์จิตก็จะละเอียดขึ้นสูงขึ้นเพียงนั้น แต่หากบุคคลทั่วไปที่เป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อ พระนิพพาน หากเรากำลังใจ เราไม่ได้ตั้งจิต ว่าเราจะเข้าถึงอรหัตผลในขณะที่มีชีวิตอยู่ หรือจะเข้าอารมณ์ที่มันลึก เกินไป เราก็ยับยั้งอารมณ์ใจ ทรงอารมณ์ไว้ในอารมณ์แห่งพระโสดาบัน อารมณ์ใจที่เราก็ยังมีความสุข มีความเพลิด เพลิน สามารถแต่งตัว เสื้อผ้าสวยงามได้ กินอาหารรสชาติอร่อย ดูหนังดูละครได้เป็นปกติ เดินทางไปเที่ยวท่อง เที่ยวในที่ต่างๆก็เป็นเรื่องปกติ มีคู่ครอง มีลูก มีบุตร มีภรรยาก็มีได้เป็นเรื่องปกติ เพียงแต่อารมณ์จิตของเรานั้น ทรงไว้ในศีล 5 ทรงไว้ในศีล เพื่อเป็นเครื่องปิดกั้นอบายภูมิ ตั้งอารมณ์ใจโดยมีกำลังของวิปัสสนาญาณ ที่อาจจะไม่ได้ ลึกเกินไปนัก มีอารมณ์พิจารณารู้เท่าทัน ทรงไว้ในสัมมาทิฏฐิ เชื่อบุญ เชื่อบาป เชื่อว่ามีสวรรค์ มีนรก มีการเวียนว่าย ตายเกิด เชื่อว่านิพพานมีจริง คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์มีจริง มรรคผลยังมีอยู่จริงในยุคปัจจุบัน เห็นทุกข์ภัยในสังสารวัฏ เกิดสภาวะที่เรียกว่าดวงตาเห็นธรรม คือเห็นภัยในสังสารวัฏว่า ถ้ายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีก เราก็ไม่พ้น หรือไม่ออกจากความทุกข์ได้ เมื่อจิตเริ่มปรารถนาพระนิพพาน เห็นภัยในสังสารวัฏอย่างชัดเจน อารมณ์ใจ ก็เริ่มเข้าสู่ ความเป็นโสดาปัตติมรรค ปฏิบัติรักษาศีลให้บริสุทธิ์เต็มที่ ได้เมื่อไหร่ ปรารถนาพระนิพพานอย่างมั่นคง ชัดเจนเมื่อไหร่ ก็เข้าสู่อารมณ์ของความเป็นพระโสดาบัน คือโสดาปัตติผล อารมณ์จิตที่เราทรงไว้เช่นนี้ เราก็ทรงไว้ ตายเมื่อไหร่ เราตั้งกำลังใจไปพระนิพพาน อันนี้ก็เป็นการทรงอารมณ์ที่เบาหน่อย ไม่หนัก ไม่เคร่งเกินไป แล้วก็เป็นวิสัย ที่สามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ในชาติปัจจุบัน
แต่การปฏิบัติหรือทรงอารมณ์ในเช่นนี้ มีความจำเป็นที่ เราจำเป็นต้องฝึก ที่จะต้องย้ำในอารมณ์ของพระนิพพาน หากเรามีกำลังของมโนมยิทธิ เรายกจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน ตื่นมา เรายกจิตขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน กินอาหาร เรากำหนดจิตยกถวายพระพุทธองค์บนพระนิพพาน ก่อนนอน เราพิจารณาตัดร่างกายขันธ์ 5 พิจารณาว่า ถ้าตายไปคืนนี้ เรายกจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน พิจารณาเช่นนี้ทุกวัน พิจารณาเป็นนิจ พิจารณาอย่างมั่นคง ไม่มีเบื่อ ไม่มีหน่าย ในที่สุดกำลังฌาน กำลังบุญ กำลังความตั้งใจที่เราสะสม ขึ้นไปบนพระนิพพานอย่างน้อยเกินวันละ 7 ครั้ง 9 ครั้ง อารมณ์จิตทรงไว้บนพระนิพพาน ตั้งแต่หลับยันตื่น ถึงเวลาที่จิตสุดท้ายก่อนตาย เราตั้งใจว่าตายเมื่อไหร่ไป พระนิพพาน จิตรวมตัวกันไปพระนิพพาน ยกขึ้นพระนิพพาน ด้วยความเคยชิน อันเป็นวสีที่เราปฏิบัติ จากการยกจิต ขึ้นพระนิพพานนั้น
อันนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ หลวงพ่อท่านสอนให้เราขยันหมั่นรักษาอภิญญาสมาบัติไว้ ฝึกไว้ทุกวัน ปฏิบัติทุกวัน อย่าทอดทิ้ง กำลังของมโนมยิทธิไว้ เพราะกำลังของมโนมยิทธินั้น ความสำคัญที่สุดก็คือ เมื่อจิตเรา สามารถที่จะเคยยกไปบนพระนิพพานได้แล้ว ลองคิดพิจารณาดูว่า ในเมื่อเราเคยยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน ได้แล้ว ตายไปแล้วเราจะยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานได้ไหม ให้เปรียบเทียบดูกับบุคคลที่อาจจะอยู่ในวิสัยของ สุขวิปัสสโก จิตไม่เคยเห็นพระนิพพาน จิตไม่เคยยกไปบนพระนิพพาน จำเป็นจะต้องยกกำลังศรัทธา ความมั่นคง ของใจว่า ฉันจะต้องไปพระนิพพานให้ได้ ฉันไม่ติด ฉันไม่ปรารถนาในการเกิด ฉันไม่เอาภพใดชาติใด แต่ให้สังเกต ดูว่าในลึกๆ ของจิต ก็อาจจะมีความลังเลสงสัยว่า จะไปได้หรือไม่ได้ อารมณ์ใจมันจะมีความเข้มข้น มีกำลังใจต่างกัน เหตุด้วยที่ว่าเราเคยไปแล้ว เราเคยทำได้ ความมั่นใจก็ย่อมจะมากกว่าบุคคลที่ไม่เคย ไม่เคยไป ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น อย่างที่เราทำ
ดังนั้นจงพิจารณาด้วยปัญญาให้ลึกซึ้ง ถึงประโยชน์ในการฝึก ในการปฏิบัติ อย่างหลายคนก็มีความ ขยันหมั่นเพียร ฝึกกรรมฐานทุกสัปดาห์ เราก็มีความตั้งใจ ไม่ยอมขาดการฝึก การปฏิบัติ ทุกวันทุกคืนก็มีความตั้งใจ ในการทรงอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานไม่เคยขาด บุคคลที่มีความมั่นคง มีความมั่นใจ มีความเด็ดเดี่ยวในพระรัตนตรัยเช่นนี้ ก็ย่อมสามารถเข้าถึง ซึ่งฝั่งพระนิพพานได้อย่างไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ ดังที่ว่ากำลัง ใจของพระโสดาบันนั้นมี 3 ประเภท ประเภทที่เป็นเอกพีชี ก็คือต้องเกิดอีก 1 ชาติก็เข้าถึงพระนิพพาน เกิดอีก 3 ชาติ เกิดอีก 7 ชาติ แต่อย่างบุคคลที่เคยฝึก มีกำลังความเข้มข้นของมโนมยิทธิ มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติ ชาตินี้ อย่างไรก็สามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้อย่างแน่นอน
ดังนั้นให้เราแต่ละคน ทรงอารมณ์ใจของเรา ให้ผ่องใสที่สุด ยกอาทิสมานกายขึ้นไปบนพระนิพพาน จงขึ้นไป ด้วยกำลังที่เราอาราธนาบารมี น้อมขอบารมีพระท่าน ยกขึ้นไปบนพระนิพพาน ตั้งจิตกราบพระพุทธองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้า ทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์ อันมีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธานมหาสมาคมบน พระนิพพานนั้น ทรงอารมณ์จิตความผ่องใส อาทิสมานกาย เป็นกายพระวิสุทธิเทพสว่างแพรวพราวอยู่บนพระนิพพาน ตั้งจิตอธิษฐาน ขออาราธนาอัญเชิญเทวดาและพรหมทั้งหลาย ที่ท่านเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ขอน้อมจิตอัญเชิญ ทุกท่านขึ้นมาบนพระนิพพานด้วยเถิด
ท่านมีจำนวนมากมายมหาศาลเพียงใด ก็ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสถึง ทุกท่าน ทุกรูป ทุกนาม ทุกพระองค์ด้วยเถิด กำหนดดู กำหนดรู้นะ แม้แต่ลุงพุฒหรือพญายมราชท่านก็ยังขึ้นมา พญายมราชท่านเป็นพรหม ที่ต้องทำหน้าที่เป็นพญายมราชในนรก พญายมราชที่ท่านเป็นพรหมนั้น อันที่จริงท่านเป็น พระอนาคามี เราก็น้อมจิตกราบท่าน พระอินทร์ ลองน้อมจิตกำหนดรู้ดู พระอินทร์ท่านก็เป็นพระอริยเจ้า ท่านท้าวสหัมบดีพรหม ท่านก็เป็นพระอริยเจ้า ท้าวมหาราชทั้ง 4 ท่านก็เป็นพระอริยเจ้า น้อมจิตกราบทุกท่าน ทุกพระองค์ กำหนดน้อมใจของเราว่า จิตข้าพเจ้า กายทิพย์ข้าพเจ้า ขอเมตตาของทุกท่าน ทุกพระองค์ห้อมล้อม ไปด้วยกระแสแห่งพระอริยเจ้า ขอกระแสแห่งมรรคผลพระนิพพาน กระแสแห่งโลกุตระ จงหยั่งเข้าถึงดวงจิตของข้าพเจ้า จิตข้าพเจ้าจงเข้าสู่กระแสแห่งโลกุตรธรรม กระแสแห่งมรรคผลนิพพาน ไม่หลุด ไม่พลาด ไม่คลาด ไปจาก พระนิพพานด้วยเถิด
ทรงอารมณ์ในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ กำหนดอธิษฐานจิต บุญทั้งหลาย ทาน ศีล ภาวนา บารมี 30 ทัศ ทุกชาติภพ จงรวมตัวเต็มกำลัง แสงสว่างแห่งรัศมีกาย กายพระวิสุทธิเทพของข้าพเจ้า จงเจิดจรัสสว่างผ่องใส เต็มกำลังด้วยเถิด กำลังจิต กำลังใจ ความมั่นคงในพระนิพพานของข้าพเจ้า จงเต็มกำลังด้วยเถิด กำลังความเป็นทิพย์ อภิญญาของข้าพเจ้า จงเต็มกำลังด้วยเถิด บารมีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เทพพรหมเทวาผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ เทพพรหมเทวาผู้เป็นพระอริยเจ้า ขอจงเมตตา โปรดสงเคราะห์ข้าพเจ้าเต็มกำลังด้วยเถิด กำหนดรู้ กำหนดในความเป็นกายทิพย์ สว่าง กายพระวิสุทธิเทพนั้น สว่างอย่างยิ่ง อธิษฐานจิต ขออาทิสมานกายข้าพเจ้าจงปรากฏที่วิมานของข้าพเจ้าแต่ละบุคคลบนวิมาน และขอให้วิมานและตัวข้าพเจ้านั้น อาทิสมานกายนั้น สว่างอย่างยิ่ง ทรงอารมณ์ความผ่องใส ทรงอารมณ์พระนิพพาน
นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ยิ่งสว่างยิ่งสุข ทรงอารมณ์ไว้ จนจิตไม่ปรารถนาภพอื่นภูมิใดอีกต่อไป ปรารถนาความดับไม่เหลือเชื้อแห่งการเกิด คือพระนิพพาน เพียงจุดเดียว ทรงอารมณ์ผ่องใสไว้ สว่างไว้ จิตสงบนิ่ง ผ่องใสอย่างยิ่ง ผ่องใสอันเป็นปรมัตถ์ คือความผ่องใสบนพระนิพพาน
กำหนดพิจารณาแยกแยะระดับ กำลังของความผ่องใสให้ได้ ความผ่องใสของอานาปานสติก็ระดับหนึ่ง ความผ่องใสที่เปี่ยมพลังของกำลังแห่งกสิณ ก็เพิ่มพูนขึ้นอีกระดับหนึ่ง ความผ่องใสสะอาดจากความว่างของอรูปก็อีก ระดับหนึ่ง ความผ่องใสของอารมณ์พระอริยเจ้า ที่สะอาดจากกิเลสก็อีกระดับหนึ่ง จนถึงที่สุดก็คือความผ่องใสบน พระนิพพาน ไม่เหลือเชื้อของกิเลส ไม่มีภพชาติ ไม่มีกระแสวาระกรรม ไม่มีวิบาก มีแต่ความผ่องใสอันเป็นวิมุต หมดจดอย่างแท้จริง ความผ่องใสอันสูงสุดคือความผ่องใสอันเป็นวิมุตบนพระนิพพาน เข้าถึง แยกแยะ ความละเอียด ปราณีตของจิตในความผ่องใสให้ชัดเจน เข้าถึงความผ่องใส เข้าถึงวิมุติ
จากนั้นน้อมจิตเชื่อมกระแสกับทุกท่าน ทุกรูป ทุกนาม น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมา แผ่เมตตาลงมา ยังอรูปพรหมทั้งปวง พรหมโลกทั้งปวง 16 ชั้น แผ่เมตตาลงมายังอากาศเทวดา สวรรค์ทั้ง 6 ชั้น แผ่เมตตา กระแสจากพระนิพพานลงมา ยังรุกขเทวดา ภุมมเทวดาทั่วโลก ทั่วอนันตจักรวาล แผ่เมตตาลงมายังสรรพสัตว์ มนุษย์ และสัตว์ที่มีกายเนื้อขันธ์ 5 กายหยาบ ทั่วโลก ทั่วจักรวาล ทั่วทุกมิติที่ทับซ้อน แผ่เมตตาลงมายังหมู่กายทิพย์ ดวงจิต ดวงวิญญาณ โอปปาติกะ สัมภเวสีทั่วโลก ทั่วจักรวาล แผ่เมตตาไปยังภพภูมิที่ทับซ้อน ภพแห่งพญานาค เมืองลับแล เมืองบังบดทั้งหลาย แผ่เมตตาลงไปยังเปรต อสุรกายทั้งหลาย แผ่เมตตาลงไปยังนรกภูมิทุกขุม 3 ภพภูมิ น้อมกระแส จากพระนิพพาน แผ่สว่าง กระแสบุญแผ่ถึงถ้วนทั่วทุกดวงจิต ขอให้ทุกสรรพชีวิต ดวงจิตนี้ได้ซึมซับรับกระแสแห่งพระนิพพาน กระแสแห่งบุญกุศล กระแสแห่งความเป็นทิพยสมบัติ บุญจงปรากฏในจิตทุกรูปทุกนาม ผู้ใดเป็นสุขแล้ว ก็ขอให้เป็นสุขยิ่งขึ้นไป ผู้ใดที่เป็นทุกข์ ก็ขอให้พ้น ให้คลายจากความทุกข์ ผู้ใดที่ถึงวาระแห่งการโมทนาบุญได้สำเร็จ ก็ขอให้ปรับภพ ปรับภูมิขึ้นสู่ภพภูมิที่สูงกว่า ดวงจิตใดที่มีความโกรธแค้นพยาบาทอาฆาต ก็ขอให้สงบ เย็นดับลง อโหสิกรรมต่อกัน เลิกแล้วต่อกัน สรรพวิบากทั้งหลาย ความอาฆาตพยาบาททั้งหลาย แรงกรรมทั้งหลาย จงสลายไปด้วยกำลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ด้วยกำลังแห่งบุญ กำลังแห่งเมตตา พรหมวิหาร 4 ความสงบเย็น ดับลงด้วยกระแสแห่งวิมุต กระแสแห่งพระนิพพาน ดวงจิต ดวงวิญญาณทั้งหลายที่ขึ้นมา ดวงจิต ดวงวิญญาณทั้งหลาย ที่มีความอาฆาตแค้นพยาบาท ขอจงดับล้างความอาฆาตทั้งปวง ขอจงอโหสิกรรมต่อกัน เลิกแล้ว ต่อกัน
จากนั้นน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมา ยังวัดวาอารามทั่วโลก สถานปฏิบัติธรรมทุกแห่ง พุทธบริษัท ทั้งหลาย พระเครื่อง พระพุทธรูปทุกพระองค์ พระธาตุเจดีย์ พระบรมธาตุเจดีย์ พระบรมสารีริกธาตุทุกพระองค์ ขอกระแสพุทธานุภาพ กระแสจากพระนิพพาน จงก่อให้เกิดกระแสธรรม กระแสมรรคผล กระแสธรรมอันมุ่งลัดตัดตรงสู่มรรคผลพระนิพพาน จงสืบต่อ จงส่งต่อ ยังจิตยังใจ ขอกระแสจากพระนิพพาน จงสลายวิปัสสนูปกิเลสในดวงจิต ของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย กระแสจากพระนิพพาน ขอจงสลายมิจฉาทิฏฐิทั้งหลาย ขอกระแสจากพระนิพพาน จงสลาย วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในทุกดวงจิต ขอความมั่นคง ความศรัทธาในพระรัตนตรัย กระแสแห่งสัมมาทิฏฐิ กระแสแห่ง พระนิพพานจงปรากฏในทุกดวงจิต น้อมกระแสลงมา ขอกระแสจากพระนิพพานนี้จงเป็นพลัง อันนำพาเข้าสู่ยุคชาววิไล บุคคลทั้งหลายเข้าถึงธรรม เป็นผู้ที่มีจิตใจสูง ก่อให้เกิดความเจริญทั้งทางโลก ทางธรรม ในเวลาอันใกล้นี้ด้วยเถิด น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมา รวมถึงกายเนื้อของเรา ครอบครัวบุคคลอันเป็นที่รักทั้งหลายของเรา บ้านเรือน เคหสถาน ขอความเป็นทิพย์ ขอกำลังเทพฤทธิ์ เทพยดา เทพพรหมเทวาผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ เทพพรหมเทวาที่ท่าน เป็นพระอริยเจ้า และมีจิตเมตตาเอ็นดูข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอท่านเมตตาสงเคราะห์ข้าพเจ้าทั้งหลายเต็มกำลังด้วยเถิด น้อมกระแสลงมา
จากนั้นตั้งจิตอธิษฐาน กราบลาพระพุทธเจ้า กราบลาพระปัจเจกพระพุทธเจ้า กราบลาพระอรหันต์ เทพพรหมเทวาครูบาอาจารย์บนพระนิพพานทุกท่าน น้อมจิตกราบทุกท่านด้วยความเคารพ เมื่อน้อมจิตกราบแล้ว จึงกำหนดจิตอธิษฐาน ขอกำลังกรรมฐาน กำลังจิตอันทรงฌาน ทรงญาณ ทรงความบริสุทธิ์ ทรงกำลังวิปัสสนา ขอแรงอธิษฐานหลังกรรมฐานนี้ จงเกิดบุญฤทธิ์ เกิดความศักดิ์สัทธิ์อัศจรรย์ด้วยเถิด เมื่ออธิษฐานแล้ว ก็ตั้งใจว่า ขอให้ทุกอย่างสำเร็จ สัมฤทธิ์ เปิดสายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมี ชีวิตมีแต่ความรุ่งเรือง สุขภาพแข็งแรง อายุยืนนาน มีความสำเร็จ สัมฤทธิ์ในทุกสิ่งอันเป็นประโยชน์ เทพพรหมเทวาสงเคราะห์เต็มกำลังทุกคน จากนั้นจึง หายใจเข้าลึกๆ 3 ครั้ง หายใจเข้าพุท ออกโธ ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ โมทนาสาธุกับกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน กัลยาณมิตรเพื่อนๆที่มาฟังในภายหลัง ตั้งใจน้อมให้เรา รอดพ้นปลอดภัยจากภัยพิบัติทั้งปวง มีความเจริญยิ่งในธรรม แล้วก็อย่าลืมเขียนแผ่นทองอธิษฐานพระนิพพาน ทุกครั้งที่ยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน ก็เขียนแผ่นทองอธิษฐานไว้เสมอ ช่วยกันเพื่อสร้างบารมี สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคนด้วย ขอให้มีความสุข มีความเจริญ มีความรุ่งเรืองทั้งทางโลกและทางธรรม สายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ จงไหลเนืองนอง เพิ่มพูน ต่อเนื่องอย่างอัศจรรย์ สำหรับวันนี้สวัสดีพบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณวรรณภา