เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน 2565
เรื่อง ทรงภาพพระ 3 ฐาน
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
จิตเอิบอิ่มแย้มยิ้มอยู่ภายใน ทั่วร่างกายผ่อนคลาย ปล่อยวาง ละวางความสนใจในร่างกาย กำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ปล่อยวางความสนใจ ความเกาะ ความรู้สึกทางร่างกายออกไปจนหมด อยู่กับลมหายใจสบาย ละเอียดผ่องใส เห็นลมหายใจเป็นเหมือนกับประกายพรึก พริ้วไหว ผ่านเข้าออกในกายของเรา กำหนดรู้ในอารมณ์ใจที่สบาย กำหนดรู้ในลมหายใจที่สบาย จิตเป็นสุข ยิ่งสงบ ยิ่งอารมณ์สบายปรากฏ ลมหายใจยิ่งละเอียดลง เบาลง จิตยิ่งสงบ จิตพักจากการปรุงแต่ง จิตสะอาด สว่าง สงบ ลมหายใจเบาละเอียด สบายผ่องใส
เมื่อลมหายใจของเราละเอียดผ่องใสแล้ว ให้เราใช้สติกำหนดดู กำหนดรู้ ในความเบา ในความสบาย ในความสงบของจิต จิตละวางเรื่องวุ่นวายออกไปจากใจของเรา ความกังวล ความวุ่นวาย ความขัดเคืองทั้งหลาย สลายออกไปทางจิตของเรา อยู่กับความสงบ อยู่กับความผ่องใสของจิต สภาวะที่จิตของเรา อยู่กับความสงบ มีความสุขของความสงบ ความสุขของสมาธิปรากฏขึ้น คือความสุขในฌาน ความสุขที่จิตได้สงบ สงัดจากกิเลสและนิวรณ์ทั้ง 5 ประการ กำหนดทรงอารมณ์อยู่ในความสงบ ความเบาความละเอียด ความสบายนี้
ให้ภายในจิตของเรา มีความแย้มยิ้ม มีความอิ่ม ในความผ่องใส มีความอิ่ม เอิบอิ่มเป็นสุข จิตมีความเบา มีความละเอียด มีความสุข มีความสงบ ครบพร้อมร่วมอยู่ในสภาวะเดียวกัน สงบนิ่ง เป็นสุข เอิบอิ่มผ่องใส ใจมีความสบาย มีความเบา ทรงอารมณ์นี้ไว้ ได้ชื่อว่าเราเข้าสู่อารมณ์ของฌาน ในอาณาปาณสติ วางอารมณ์เบา วางอารมณ์ให้เข้าถึงความเป็นทิพย์ของจิต
จากนั้นยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิที่สูงขึ้น กำหนดจิตของเรา นึกภาพให้เห็นดวงจิตของเรา และรู้สึกสัมผัสได้ว่าภายในอกของเรา ดวงจิตของเราปรากฏขึ้นเป็นเพชรประกายพรึก จิตเป็นเหมือนกับเพชรลูกที่มีแสงระยิบระยับ ละเอียดแพรวพราว มีรัศมีสว่างรายรอบ แสงสว่างของจิตที่เป็นประกายพรึก คือจิตที่ทรงในกสิณที่เป็นปฏิภาคนิมิตคือฌาน 4 แห่งกสิณ
กำหนดต่อไปว่าขอให้กสิณทั้ง 10 กอง อันประกอบไปด้วยกสิณธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ นะมะพะทะ วรรณกสินสีทั้ง 4 คือ กสิณสีขาว กสิณสีเหลืองหรือสีทอง นิลกสิณ สีดำหรือสีเขียว และกสิณสีแดง รวมถึงกสิณที่เป็นอากาศกสิณ คือกสิณที่เป็นที่ว่างที่เป็นอากาศ และอาโลกกสิณ กสิณแห่งแสงสว่าง กำหนดให้กสิณทั้งหมด รวมตัวอยู่ในจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกนี้ ขอกำลังแห่งกสิณธาตุ กสิณทั้ง 10 จงเป็นกำลังในจิต ให้เกิดบาทฐานของอภิญญาสมาบัติทั้งปวง
กำหนดเห็นจิต ดวงจิตปรากฏเป็นเพชรประกายพรึก สว่าง รัศมีสว่าง กระจายออกมารอบกายของเรา อาณาบริเวณรอบกายของเรา ปรากฏแสงสว่าง ปรากฏออร่า รัศมีของจิต รัศมีของความเป็นทิพย์ และสภาวะโดยรอบกาย รอบรัศมีจิตของเรา มีสภาวะที่เป็นความเป็นทิพย์ มีประกายระยิบระยับแพรวพราว รายรอบเหมือนกับกากเพชร ที่มีแสงสว่างสาดส่อง แพรวพราวระยิบระยับ อยู่รายรอบรัศมีกายของเราอีกชั้นหนึ่ง อาณาบริเวณรอบดวงจิต รอบกายของเรา ขณะนี้ มีสภาวะความเป็นทิพย์ปรากฏขึ้นเต็มอัตรา ทรงอารมณ์จิตในสภาวะที่จิตเป็นเพชรประกายพรึก มีกำลัง มีรัศมี มีแสงสว่างของจิต มีความเป็นทิพย์รายรอบอยู่รอบรัศมีของจิตอีกชั้นหนึ่ง ทรงอารมณ์ ทรงสภาวะ ทรงภาพนิมิตนี้ไว้ ใจยิ่งเอิบอิ่ม ใจเรายิ่งเป็นสุข
ยิ่งจิตเราสัมผัส กำหนดรู้ในความเป็นทิพย์ ในรัศมี ในความแพรวพราวระยิบระยับ มากและนานเท่าไหร่ จิตเรายิ่งชินกับสภาวะ ยิ่งเพาะบ่มกำลังแห่งความเป็นทิพย์ กำลังแห่งอภิญญาสมาบัติรวมในจิต ซึมลึกลงสู่แก่นของจิตเรามากขึ้น เพิ่มขึ้นเพียงนั้น ใจเอิบอิ่มผ่องใส เป็นสุข จิตแย้มยิ้ม ปิติสุขภายในเต็มกำลัง ภาพนิมิตแพรวพราวระยิบระยับแพรวพราว จิตเป็นเพชรประกายพรึก เป็นเพชรสว่างแพรวพราว แสงรัศมีจากดวงจิตแผ่สว่างเป็นเส้นรุ่งเจิดจ้า พ้นจากรัศมีของดวงจิต ก็ปรากฏมีสนามพลังของความเป็นทิพย์ มีประกายระยิบระยับ กากเพชรแพรวพราว ฟรุ้งฟริ้ง รายรอบอยู่ทั่วอาณาบริเวณ ใจเอิบอิ่มเป็นสุข ใจรู้สึกสัมผัสได้ถึงกระแสพลัง กระแสแห่งความผ่องใส กระแสแห่งความเป็นทิพย์อย่างสมบูรณ์พร้อม ทรงงอารมณ์ไว้ ทรงงสภาวะไว้
เมื่อทรงสภาวะจนรู้สึกสัมผัส ได้ว่าความเป็นทิพย์ รายรอบอยู่รอบตัวเรา จิตมีกำลัง กำหนดต่อไปว่า เราขออาราธนาบารมี กำลังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อารธนาในการทรงอารมณ์พระ 3 ฐาน กำหนดน้อมอาราธนา ขอบารมีพระพุทธองค์ทรงเสด็จลงมา เป็นภาพนิมิตของพระพุทธรูป ลอยมาจากพระนิพพาน จากเบื้องบนองค์พระสว่างเป็นเพชรเจียรนัย ระยิบระยับแพรวพราว ค่อย ๆ เสด็จลอยเคลื่อนคล้อยลงมาจากพระนิพพาน ตรงลงมาประดิษฐานอยู่กลางกระหม่อม เหนือเศียรเกล้าของเรา กำหนดความรู้สึกว่าองค์พระ ที่เป็นเพชรสว่างใสระยิบระยับเจียรนัยอย่างสวยวิจิตรบรรจง ลอยแตะอยู่เหนือศีรษะของเรา ไม่มีอาการกด ไม่มีอาการหนัก แต่เป็นสภาวะที่เราสัมผัสได้ว่า องค์พระประดิษฐานวางแตะอยู่เหนือเศียรเกล้าของเรา องค์พระหันหน้าออกไปในทิศทางเดียวกันกับเรา กำหนดจิตสว่าง รัศมีกำลังพุทธานุภาพของพระพุทธองค์แผ่สว่างกระจายออกไปอีก
จากนั้นกำหนดจิต อาราธนาบารมี อาราธนาพระพุทธรูปองค์ที่ 2 อาราธนากระแสของพระพุทธเจ้า ลงมากับภาพนิมิตพระพุทธองค์องค์ที่ 2 เสด็จลงมาจากพระนิพพาน ผ่านลงมา ตรงลงมายังกายเนื้อของเรา ผ่านทะลุลงมาจากกระหม่อมผ่านพระองค์ที่ 1 ลงมาอยู่ภายในศีรษะของเรา บริเวณพระอุณาโลม คือกึ่งกลางตาที่ 3 ของพระพุทธองค์พระพุทธรูปพุทธนิมิตนั้น ตรงกันกึ่งกลางตาที่ 3 ระหว่างคิ้วของเราเช่นกัน พระองค์ที่ 2 อยู่ในสมอง อยู่ในศีรษะของเรา
จากนั้นอาราธนา กำลังแห่งพุทธานุภาพ อาราธนาบารมีพระองค์ที่ 3 ลงมาจากพระนิพพาน องค์พระลอยทะลุผ่านกระหม่อม ผ่านศีรษะ ผ่านภายในศีรษะ ลงมาอยู่ภายในท้องของเรา ภายในกายของเรา บริเวณศูนย์กลางกาย คือใต้สะดือ 2 นิ้วขององค์พระนั้น อยู่พอดีตรงกับจุดที่เป็นศูนย์กลางกาย ใต้สะดือลงมา 2 นิ้ว ในร่างกายเราด้วยเช่นกัน
กำหนดจิตต่อไปว่า ขอให้ภาพพุทธนิมิตของพระ 3 ฐานนั้น ปรากฏสว่างชัดเจน ทับซ้อนอยู่ในกายของเรา
พระองค์ที่ 1 อยู่เหนือเศียรเกล้าเหนือกระหม่อมจอมขวัญ
พระองค์ที่ 2 อยู่ภายในศีรษะ
พระองค์ที่ 3 อยู่ภายในกาย ภายในท้องของเรา
ตำแหน่งขององค์พระเชื่อมโยงกับตำแหน่ง ที่ตรงกันกับกายของเรา กำหนดทรงภาพพระทั้ง 3 ฐานไว้ ตั้งจิตอธิษฐานว่านับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ข้าพเจ้าสามารถอาราธบารมี ทรงภาพ ทรงนิมิต ทรงกำลังจิต ในการทรงภาพพระ 3 ฐานได้ทุกครั้ง ทุกเวลา ทุกสถานที่ตลอดไป และเมื่อไรก็ตามที่ข้าพเจ้าทรงในอารมณ์พระ 3 ฐาน ก็ขอให้จิตข้าพเจ้าเชื่อมโยง กับกระแสพุทธานุภาพของพระพุทธองค์ จิตสามารถน้อมนำกระแสธรรมะของพระพุทธองค์รวมลงสู่ใจของข้าพเจ้า ญาณเครื่องรู้ปรากฏชัดเจนถูกต้อง ตามความเป็นจริงทุกอย่างทุกประการ
กำหนดรู้ต่อไปว่า การกำหนดละเอียดในการทรงอารมณ์ ในการทรงภาพพระ 3 ฐานนั้น พระองค์ที่ 1 ที่อยู่เหนือเศียรเกล้า เราอาราธนามาขอบารมีให้ท่านคุ้มครอง คุ้มกาย วาจา ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความนึกคิดของเรา
เมื่อพระท่านคุมแล้ว มารก็ตาม อกุศลก็ตาม อวิชาทั้งหลาย ก็ไม่สามารถสอดแทรก มาขัดขวาง มาดลจิตดลใจของเรา ให้คิดไปในสิ่งที่เป็นบาป เป็นกรรม เป็นอกุศล ภาพองค์พระ พุทธานุภาพของพุทธนิมิต ที่มีกระแสของพระพุทธเจ้าสถิตอยู่เหนือเศียรเกล้า คุม กาย วาจา ใจของราไว้ และคุ้มครอง กาย วาจา ใจของเราด้วยเช่นกัน สำหรับคนที่ฝึกหรือคนที่สอนมโนมยิทธิ สิ่งสำคัญก็คือต้องอาราธนาบารมีพระคุม คือสถิตไว้เหนือเศียรเกล้า เพื่อให้การสอนมโนมยิทธิ เป็นพุทธานุภาพ เป็นพุทธบารมี ที่พระท่านคุมไว้ คุมก็คือ ทั้งคุมให้สอนให้ถูกต้อง คุมก็คือสอนให้ตรงวาระจิต และในขณะเดียวกันก็คุ้มครองจากอวิชา จากสิ่งที่เป็นมิจฉาทิฎฐิทั้งปวง
การกำหนดภาพพระฐานที่ 1 ก็มีนัยยะสำคัญดังนี้ และหากเมื่อไรก็ตาม ที่เรามีความรู้สึกว่าเราไปในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เราก็สามารถอธิษฐานขยายองค์พระฐานที่ 1 เหนือเศียรเกล้ากระหม่อมจอมขวัญของเรา ขยายเป็นองค์ใหญ่จนคุ้มกายเราทั้งหมด เป็นกำลังพุทธานุภาพคุมอยู่ เราอยู่ในองค์พระอีกที่นึง ตรงจุดนี้ก็เป็นนัยยะในการฝึก ในการใช้ ในการปฏิบัติ
ต่อมาก็คืออรรถาธิบายในการทรงภาพพระฐานที่ 2 ที่อยู่ภายในสมองศีรษะของเรา ถ้าเราสังเกตุดู จุดสำคัญโดยทั่วไป ท่านก็กำหนดว่าพระอยู่ในศีรษะเฉยๆ แต่หากปฏิบัติโดยละเอียด การที่เชื่อมโยงตำแหน่งของภาพองค์พระให้ตรงกับตำแหน่งของกายของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอุณาโลมซึ่งก็คือตาที่ 3 ภาพองค์พระ ของพระฐานที่ 2 ที่อยู่ภายในศีรษะ พระอุณาโลม คือ กึ่งกลางตาที่ 3 ของพระพุทธเจ้าของพระพุทธรูป หรือพุทธนิมิตตรงกันกับตาที่ 3 ตรงกับอุณาโลมระหว่างคิ้วของกายเรา เพื่อให้กระแสญาณ คือญาณเครื่องรู้ต่าง ๆ กระแสของพระพุทธเจ้า การกำหนดในทิพยจักษุญาณก็ดี การกำหนดญาณเครื่องรู้ต่างๆ ก็ดี
เมื่อกำหนดองค์พระฐานที่ 2 และเชื่อมตำแหน่งกันอย่างสมบูรณ์ เราจะรู้สึกว่าตึง ๆ ที่บริเวณตาที่ 3 ระหว่างคิ้ว และในขณะเดียวกันเราก็จะสามารถสังเกตได้ว่า ญาณเครื่องรู้ต่าง ๆ ความเป็นทิพย์ต่าง ๆ ทิพยจักษุญาณมีความชัดเจนขึ้น มีความคล่องตัวขึ้น กำหนดภาพพระในฐานที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่เชื่อมกับตาที่ 3 ของเราพระอุณาโลมของพระพุทธองค์ตรงกับตาที่ 3 ของเรา เชื่อมกระแส เชื่อมญาณ
ต่อมาคือนัยยะอรรถาธิบาย ในการทรงงภาพพระในฐานที่ 3 พระในฐานที่ 3 นั้นอยู่ภายในร่างกาย อยู่ภายในอก ในท้องของเรา ถ้ากำหนดตำแหน่งอย่างชัดเจน หากเราอยู่ในท่าขัดสมาธิ ฝ่ามือประสาน สองข้างอยู่บนหน้าตัก ความรู้สึกของเราจะรู้สึกว่า มือที่ประสานกันนั้น กำลังประคองฐานองค์พระหรือกำลังอุ้มองค์พระนั้นอยู่ และบริเวณตำแหน่งที่เรียกว่าจักระที่ 2 ฐานที่ตั้งของจิตหรือที่เรียกว่าใต้สะดือลงมา 2 นิ้ว จุดตันเถียน ซึ่งคำพูดที่อธิบายทั้งหมด คือจุดเดียวกันทั้งหมด ฐานที่ตั้งของจิตจักระที่ 2 หรือจุดตันเทียน หรือศูนย์กลางกายในศัพย์ของวิชาธรรมกาย ตรงจุดนี้จะเป็นจุดของการตั้งฌาน คือการตั้งฌาณสมาบัติ
ตอนนี้เราแต่ละบุคคล ประสานฝ่ามือไว้ที่ตัก กำหนดเมื่อเราประคององค์พระและกำหนดดูว่าเมื่อจิตเชื่อมบริเวณศูนย์กลางกาย หรือฐานที่ตั้งของจิตของเราให้ตรงกับองค์พระ เราจะรู้สึกว่าฌาน สมาธิมีความตั้งมั่น มีความแน่น มีความตั้งมั่นมากขึ้น ให้น้อมจิตพิจารณาทรงอารมณ์ ประคององค์พระ กำหนดเชื่อมให้ฌาณสมาบัติเรา มีความตั้งมั่น มีความมั่นคง จากนั้นย้อนดูลม พิจารณาใช้สติกำหนดรู้ดูจิต ดูความสงบ
เราจะรู้สึกได้ทันที่ว่าจิต ในการทรงอารมณ์ฌาน ฌาณของสมถะมีความตั้งมั่น มีความนิ่งแน่นอย่างยิ่ง จนจิตไม่อยากออกจากฌาน ออกจากสมาธิ ทรงอารมณ์ไว้ เมื่อจิตได้ศึกษา ได้พิจารณา ได้กำหนดรู้และพิจารณาเห็นชอบ จุดที่เป็นข้อส่งเสริมในการปฏิบัติ ในการทำความเข้าใจ ในการทำให้ฌาน ญาณต่างๆ และการเชื่อมกระแสกำลังแห่งพุทธานุภาพลงมาสู่ตัวเรา ได้เข้าใจกระจ่างชัดเจนในจิต จากการพิจารณาเปรียบเทียบดูอารมณ์ ดูความรู้สึก ดังที่อาจารย์อธิบายมาแล้ว
ยังมีนัยยะของวิชาการทรงอารมณ์พระ 3 ฐานในอีกจุดนึง ที่เป็นข้อธรรมที่หลวงพ่อฤาษีฯ ท่านเคยสอนไว้ ในอารมณ์ของอรูปสมาบัตินั้น ท่านสอนว่านอกเหนือจากการกำหนดเพิกรูป เพิกวัตถุทั้งหลายให้กลายเป็นความว่างไปแล้ว อันที่จริงการแค่กำหนดเห็นองค์พระทะลุทับซ้อนอยู่ในกายของเรา ท่านบอกว่าอารมณ์ที่เพิก เห็นองค์พระทะลุอยู่ในกายของเรานั่นก็ถือว่าเป็นการเพิกร่างกายออก ซึ่งก็ถือว่าเป็นกำลังของอรูปสมาบัติด้วยเช่นกัน
ดังนั้นหากเราทรงอารมณ์ในการทรงภาพพระ 3 ฐาน หากเรามีความเข้าใจและละเอียด ในจุดต่าง ๆ ที่อาจารย์ได้อธิบาย ในการทรงภาพพระทั้ง 3 ฐาน
พระองค์ที่ 1 เน้นการเชื่อมโยง คุ้มครอง คุมกาย วาจา ใจของเรา
พระองค์ที่ 2 เชื่อมกระแสญาณเครื่องรู้ ทิพยจักษุญาณของพระพุทธองค์ กับญาณเครื่องรู้ผ่านตาที่ 3
ของจิตเรา
พระองค์ที่ 3 เป็นกำลังที่ทำให้ฌานสมาบัติของเรา มีความนิ่ง มีความมั่นคง มีความตั้งมั่นขึ้น
แล้วพระทั้ง 3 ฐานนั้นเป็นกำลังในอรูปสมาบัติ เนื่องจากมีการเพิกทะลุร่างกายของเรา เมื่อกำลังของอรูปสมาบัติครบเต็ม นั่นก็คือเป็นบาทฐานแห่งการเกิดปฏิสัมภิทาญาณ เมื่อเราเข้าใจเหตุและผล เราทำเหตุเพื่อให้เกิดผลอันนี้ก็คือธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน เมื่อเราทำเหตุไว้ดีแล้ว พิจารณาด้วยปัญญา จนจิตกระจ่างแจ้งในธรรมแล้ว จิตเราก็จะสามารถดึงศักยภาพ ดึงกำลังแห่งฌานสมาบัติ ดึงกำลังและวิสัยแห่งอรูปสมาบัติ มาใช้ประโยชน์ ในปฏิสัมภิทาญาณ ในอภิญญาสมาบัติ ในทิพยจักษุญาณได้อย่างเต็มครบถ้วนทั้งหมด
ดังนั้นพื้นฐานสำคัญของการที่เราฝึกไว้ในระหว่างวัน ทำความรู้สึกว่าเดิน ไปไหนก็ตาม ทำธุระไปไหนก็ตามนั่งขับรถอยู่ก็ตาม เราทรงภาพพระ 3 ฐานไว้ตลอดเวลา อารมณ์ญานความเป็นทิพย์ของจิตก็ดี ญาณเครื่องรู้ต่างๆ หรือการพุ่งจิตขึ้นไปบนพระนิพพานทันที ด้วยกำลังมโนมยิทธิ ก็สามารถที่จะทำได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้นท่านสำหรับใครที่กำหนดภาพองค์พระยังไม่ชัดเจน ก็อาจจะสามารถใช้ความรู้สึกว่ามีองค์พระอยู่ ในฐานทั้ง 3 คือเหนือกระหม่อมกลางศีรษะ ภายในศีรษะและภายในกายภายในอกของเรา ประสานมือเมื่อไหร่เรารู้สึกสัมผัสได้ว่าเรากำลังประคับประคององค์พระ อุ้มพระอยู่ ตอนนี้เราส่งภาพพระ 3 ฐานพร้อมกัน กำหนดจิตอธิฐานกำกับ
พุทธัง อาราธนานัง ธัมมัง อาราธนานัง สังฆัง อาราธนานัง
พุทโธ อัปมาโร ธัม อัปมาโร สังโฆ อัปมาโร
พุทธัง ประสิทธิเม ธัมมัง ประสิทธิเม สังฆัง ประสิทธิเม
กำลังแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ สถิตอยู่เหนือกระหม่อมจอมขวัญ อยู่ภายในศีรษะ อยู่ในกายของข้าพเจ้า
กำลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ มีอัปมาโร คือ ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
และกำลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ประสิทธิ คือ ยังประโยชน์ เกิดผล เกิดความศักดิ์สิทธิ์เกิดความอัศจรรย์
กำหนดจิต ในเวลานี้ให้เห็นพระทั้ง 3 ฐานที่อยู่อยู่ในกายของเรา ยิ่งเปล่งประกายเป็นเพชรสว่าง รัศมียิ่งแผ่สว่าง สนามพลังของความเป็นทิพย์ที่มีความแพรวพราวระยิบระยับ ยิ่งเพิ่มกำลัง ยิ่งมีพลังเพิ่มขึ้น กายทิพย์ของเรายิ่งมีกำลังเพิ่มขึ้น
จากนั้นขอบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ยกจิต พุ่งจิต ด้วยความเร็วอย่างยิ่งยวด พุ่งขึ้นไปบนพระนิพพาน ขึ้นไปปรากฏเป็นกายแห่งพระวิสุทธิสุเทพ สว่างผ่องใสเต็มกำลัง กำหนดพิจารณาดูว่าการยกจิตขึ้นสู่พระนิพพานเรามีความคล่องตัวขึ้นไหม มีความรวดเร็วขึ้นไหม แสงสว่างความชัดเจนของรัศมีกายมีเพิ่มขึ้นไหม เมื่อยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานได้แล้ว ก็กำหนดจิตกราบ ตั้งจิตอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุกๆ พระองค์ เมตตาปรากฏ มีสมเด็จองค์ปฐมท่านทรงเป็นประธาน เป็นมหาสมาคม อธิษฐานเห็นกายทิพย์ อาทิสมานกายของเราทุกคนขึ้นไปบนพระนิพพาน
ตั้งจิตอธิษฐานธรรมทั้งหลายไม่จำกัดกาล เป็นอกาลิโก ทานในวันนี้ที่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้ร่วมน้อมจิตถวายบนพระนิพพาน ขอย้อนมิติแห่งเวลา ให้เกิดภาพนิมิตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง กำหนดขอสังฆทาน มหาสังฆทานทั้ง 15 ชุดจนปรากฏความเป็นทิพย์ องค์พระสว่าง เครื่องบริวารของสังฆทานทั้งหลาย ปรากฏชัดเจน สว่าง ยกอาทิสมานกาย กายพระวิสุทธิเทพของเราร่วมกันยกถวายคณะสงฆ์ คือทุกท่านบนพระนิพพาน มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ยกถวายพร้อมกันให้จิตเรามีความอิ่ม มีความปิติ มีความสุข ในมหาสังฆทานที่จิตเราทรงฌาน ทรงกำลังสมาบัติถวายด้วยกำลังของมโนมยิทธิบนพระนิพพานนี้ ขอภาพทิพย์จงปรากฏ ภาพทิพย์แห่งมหาสังฆทาน พระพุทธรูปอันเป็นทิพย์ เครื่องบริวารมหาสังฆทานอันเป็นทิพย์ จงปรากฏและยกถวาย ใจยิ่งเกิดความปีติ เกิดความสุข
ตั้งจิตอธิษฐาน บุญนี้เกิดผล บุญคือความอิ่มใจ ความปิติสุข บุญที่ถูกขยายกว้างขึ้นด้วยกำลังแห่งฌาน ด้วยอารมณ์จิตแห่งสมาธิ ยิ่งเกิดกำลัง ยิ่งเกิดอานิสงส์ ยิ่งเกิดผลฉับพลันทันใด อัศจรรย์ ยกถวายด้วยความปีติสุข ตั้งจิตว่าเราถวายสังฆทานต่อมหาสมาคม มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ทานนี้เป็นไปเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด ขอเทวดา พรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย พ่อแม่ ท่านผู้มีพระคุณทั้งหลาย ได้โมทนาสาธุ ได้มีส่วนร่วม ขอเทวดา พรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านตั้งจิตตั้งใจเกื้อกูลช่วยเหลือสงเคราะห์ข้าพเจ้า เทวดาทั้งหลายที่ปกปักษ์รักษาขุมทรัพย์ ขุมสมบัติของข้าพเจ้า ได้โมทนาสาธุ ในมหาสังฆทานทิพย์นี้
ตั้งจิตอธิษฐานต่อไป ชาตินี้ข้าพเจ้าขอเข้าสู่พระนิพพาน และในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ ขออานิสงฆ์อัศจรรย์แห่งสังฆทาน มหาสังฆทานทิพย์ที่ข้าพเจ้า ตั้งจิตด้วยกำลังฌานสมาบัติอันละเอียดปราณีต และทรงกำลังสูง คือทั้งกำลังแห่งสมถะในอานาปานสติ กำลังแห่งกสิณทั้ง 10 กำลังแห่งอรูปสมาบัติ กำลังแห่งพุทธานุภาพ กำลังแห่งมโนมยิทธิเต็มกำลังสมบูรณ์พร้อมในการกำหนดจิต ขอความเป็นทิพญ์และกำลังแห่งจิตนี้ จงส่งผลให้ทาน จงเกิดผลฉับพลันทันใดในชาตินี้ กำลังแห่งบุญจงเกิด จงปรากฏ จงเปิดสายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมีของข้าพเจ้าทั้งหลาย ให้มีความคล่องตัวอย่างรวดเร็วและอัศจรรย์ด้วยเทอญ
เมื่อเรากำหนดถวายมหาสังฆทาน เป็นปรมัตถทานบารมีบนพระนิพพานแล้ว เราก็ตั้งจิตอธิษฐานต่อไปว่า ในขณะที่เราทรงอารมณ์ในการเจริญจิต เจริญพระกรรมฐานอยู่ขณะนี้ กายทิพย์อาทิสมานกาย กายวิสุทธิเทพของเราทุกคนอยู่บนพระนิพพาน ศีล 5 ของเราทุกคนสะอาดบริสุทธิ์หมดจด จิตที่ทรงไว้สะอาด ทรงไว้ในกุศลกรรมบถทั้ง 10
ศีล 5 ปราศจากการเบียดเบียนทางชีวิต การลักทรัพย์ การล่วงละเมิดทางเพศ การพูดจาโกหก หรือแม้แต่การทำลายสติด้วยอบายมุขหรือสุรายาเสพติดทั้งปวง ศีล 5 ของเราบริสุทธิ์หมดจด วิมุติอย่างยิ่ง และใจของเรานั้น แผ่เมตตา สว่างไปยังทุกภพภูมิ เราทรงอารมณ์ที่ทรงไว้บริสุทธิ์สะอาดในศีล ในกุศลกรรมบถ 10 ในพรหมวิหาร 4 พร้อมจิตมีความเอิบอิ่มผ่องใส่เต็มกำลัง ทานเราเป็นปรมัตถ์ ศีลเราเป็นปรมัตถ์
กำหนดพิจารณาต่อไปว่า ภาวนาปัญญาของเรา ใช้กำลังยกอาทิสมานกายขึ้นมาบนพระนิพพาน พระนิพพานเป็นวิมุติอย่างยิ่ง บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ว่างจากกิเลสอย่างยิ่ง ภาวนาของข้าพเจ้าเป็นปรมัตถบารมี ทาน ศีล ภาวนา ข้าพเจ้าขณะนี้บริสุทธิ์หมดจด กำลังในบารมีทั้ง ทาน ศีล ภาวนาของข้าพเจ้านี้สมบูรณ์พร้อม จิตข้าพเจ้าอธิษฐานตั้งมั่นปักไว้อยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด กำลังจิตที่อธิษฐานด้วยความมั่นคงเด็ดเดี่ยวนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าสามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ได้อย่างง่ายดายด้วยเทอญ
และขอให้ในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์นี้ สายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมี เปิดให้ข้าพเจ้าได้ใช้ประโยชน์ ยังประโยชน์ต่อตน ยังประโยชน์ต่อครอบครัว ยังประโยชน์ต่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามารถยังประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ และตายเมื่อไหร่ข้าพเจ้าขอเข้าสู่พระนิพพาน อย่างสง่างาม ขอสายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมี หลั่งไหลมามากมายมหาศาล อัศจรรย์ด้วยเทอญ
จากนั้นกำหนด ในความเป็นกายพระวิสุทธิสุเทพของเราแต่ละบุคคล สว่าง ตั้งจิตกราบ หลังจากที่เราถวายและกำหนดในการพิจารณา ในอารมณ์พิจารณา ทาน ศีล ภาวนา กำหนดเห็นอาทิสมานกายเรา ขัดสมาธิบนรัตนบัลลังค์ดอกบัวแก้ว สว่างอยู่เบื้องหน้ามหาสมาคม ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ กำหนดขอแสงสว่างแห่งจิตข้าพเจ้า จงปรากฏ จิตยิ่งเบิกบานผ่องใส ขอกายพระวิสุทธิเทพของข้าพเจ้า ทรงในอารมณ์อุปมานุสติ คือ อารมณ์แห่งพระนิพพานอย่างละเอียดเต็มกำลัง
นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
กำหนดน้อม อาทิสมานกายเรายิ่งสว่าง ยิ่งละเอียด ยิ่งใส จิตยิ่งปิติสุข ยิ่งเอิบอิ่ม ยิ่งสว่าง ผ่องใส ใจเบิกบานผ่องใสเต็มกำลัง ผ่องใสไร้ซึ่งกิเลสทั้งปวง ผ่องใส สะอาด วิมุติหมดจดจากความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งปวง ผ่องใสเป็นอิสระจากจะสังโยชน์ 10 เครื่องร้อยรัดดวงจิตไว้กับภูมิทั้งปวง จิตเบิกบานผ่องใสอยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด
นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ทรงอารมณ์พระนิพพานไว้ ใจใสสะอาด ไม่เกาะเกี่ยวในร่างกายเนื้อ ไม่เกาะเกี่ยวในวัตถุ ไม่เกาะเกี่ยวในบุคคลทั้งหลาย ไม่เกาะเกี่ยวในพระภูมิทั้งปวง มีเพียงอาทิสมานกาย กายพระวิสุทธิสุเทพที่ทรงอารมณ์อันปิติสุข ละเอียด ปราโมชอยู่ในอารมณ์แห่งพระนิพพาน
จิตผ่องใสอย่างยิ่ง จิตเป็นสุขอย่างยิ่ง จิตมั่นคงในพระนิพพาน เป็นหนึ่งเดียวกับพระนิพพาน เป็นผู้ไม่ถอยกลับ มั่นคงอยู่กับพระนิพพาน จิตเราทุกดวงเข้าสู่กระแสแห่งโลกุตระ เข้าสู่กระแสพระนิพพาน เป็นหนึ่งเดียวอยู่กับพระนิพพาน
เมื่อทรงอารมณ์แล้ว ก็กำหนดจิตต่อไป ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขออาราธนากระแสแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ กระแสบุญศักดิ์สิทธิ์บนพระนิพพาน กระแสแห่งมรรคผล กระแสของดวงจิตแห่งพระวิสุทธิเทพทั้งปวง ซึ่งสะอาดปราศจากธุลีแห่งกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ขอน้อมกระแสจากพระนิพพานนี้ ลงมาสู่โลกมนุษย์กำหนดน้อมให้เห็นเป็นลำแสงสว่าง เป็นประกายพรึกขาวใส ระยิบระยับลงมาบนโลกมนุษย์ ลงมายังดวงจิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ขอน้อมกระแสพระนิพพาน ลงมาสู่วัดวาอาราม สถานปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ขอกระแสจากพระนิพพาน ลงมายังพระธาตุเจดีย์ พระบรมธาตุเจดีย์ ตลอดรวมจนถึงพระพุทธรูปทุกๆ พระองค์ พระเครื่องทุกองค์ พระบรมสารีริกธาตุ พระบรมธาตุ พระอัฐิธาตุ พระอรหันตธาตุทุกๆ พระองค์ ขอกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพาน เกิดผลเกิดความอัศจรรย์ ขอเทวดา พรหม ผู้เป็นสัมมาทิฐิทั้งหลาย ได้อาราธนาอัญเชิญ มาสถิตเป็นเทพเทวารักษา วัดวาอาราม รักษาพุทธศาสนา รักษาองค์พระพุทธรูปให้ปรากฏความศักดิ์สิทธิ์
ขอเทวดา พรหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าอินทกะ ผู้มีฤทธิ์มาปกปักษ์รักษาคุ้มครอง ผู้ประพฤติธรรมทั้งปวง ผู้ทรงฌาน ทรงสมาธิ ทรงศีล ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคผลพระนิพพาน ขอเทพพรหมเทวา ท่านมาคุ้มครองรักษาดูแลปกป้อง และโมทนาบุญกับกุศลทั้งปวง ขอกระแสจิตแห่งผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ขอจงเริ่มซึมซับรับกระแสพระนิพพานเชื่อมโยงกระแสกับพระนิพพาน ขอธรรมะที่เป็นธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้น มีความวิมุติบริสุทธิ์หมดจุด เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะกิเลส เป็นธรรมอันพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทรงตรัสไว้ การธรรมอันพระอรหันต์ทั้งหลายทรงสรรเสริญ จงไหลลงสู่ผู้ประพฤติปฎิบัติธรรมทั้งปวง ทุกวัดวาอาราม พุทธบริษัท 4 ไม่ว่าจะปฏิบัติในแนวทางใด สายใด ก็ขอให้ในที่สุดกระแสธรรม กระแสพระนิพพานรวมลงสู่ดวงจิตท่านทั้งหลาย ประดุจแม่น้ำทุกสายไหลรวมลงสู่มหาสมุทรเฉกเช่นเดียวกันด้วยเทอญ
กำหนดนะ ช่วยกันน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมานะ และขอให้กระแสแห่งพระนิพพานนี้ เป็นกระแสแห่งบุญใหญ่ ที่ส่งผลให้จิตทั้งหลายของมนุษย์บนโลกได้ตื่นขึ้น สู่กุศล สู่ความดี ให้โลกนี้ได้ตื่นขึ้นสู่ยุคชาววิไลได้โดนพลันด้วยเทอญ
กระแสกุศลหลั่งไหล กระแสบุญหลั่งไหลลงสู่จิต สู่ใจทุกดวง ขอความสุขสงบสันติ การผ่านพ้นภัยพิบัติ โรคระบาด โรคภัยไข้เจ็บ สงครามทั้งหลาย จงผ่านพ้นด้วยกำลังแห่งกุศล ด้วยกำลังแห่งบุญด้วยเทอญ และขอให้วิบากอุปสรรคทั้งหลายของเรา ที่ปฏิบัติธรรมจงผ่านพ้นไปอย่างอัศจรรย์ด้วยเทอญ
จากนั้นแผ่เมตตา น้อมกระแสพระนิพพาน แผ่เมตตาลงมายังภพภูมิทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นภพของ อรูปพรหม พรหมโลกทั้ง 16 ชั้น สวรรค์ทั้ง 6 ภพของรุกขเทวดา ภูมิเทวดา ภพของสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลาย ทั่วอนันตจักรวาล ทั่วทุกมิติ ภพแห่งโอปปาติกสัมภเวสีทั้งหลาย ภพแห่งเปรตอสุรกายทั้งหลาย และนรกทุกขุม ขอกระแสบุญ ขอกระแสเมตตา ขอกระแสแห่งความสุขสงบเย็น ขอสรรพสัตย์ทั้งหลายจงประสบแต่ความสุข ความสงบเสวยบุญ เสวยกุศล ดวงจิตใดที่ประสบความทุกข์ ก็ขอให้พ้นจากความทุกข์ เข้าถึงความสุข จิตดวงใดที่มีความสุขอยู่แล้ว ก็ขอให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ขอกระแสธรรม กระแสพระนิพพาน จงไหลลงสู่ดวงจิตทุกดวงทั่วทั้งสารวัฏ
ขอความสุขสงบสันติ จงปรากฏต่อโลก ต่อจักรวาล ตอนทุกภพภูมิ ขอบุญกุศลทั้งหลาย ที่มนุษย์ผู้เป็นสาธุชนคนดีได้สร้าง ได้บำเพ็ญ จงเป็นกระแสบุญที่เชื่อมต่อ ส่งถึงพระภูมิเจ้าที่ รุกขเทวดา สวรรรค์ทุกภพ พรหมโลก
เชื่อมกระแสถึงกันทั้งหมด บุญจงส่งผลเชื่อมโยง สว่าง สานถักทอเป็นเส้นสายแห่งบุญ ที่ถักทอขึ้น เชื่อมโยงถึงกันทุกดวงจิต ทั้งเป็นผู้ที่แผ่เมตตา คือเป็นผู้ให้ และเป็นผู้ที่รับ กระแสดวงจิตทั้งหลายเชื่อมโยง บุญทั้งหลายไหลเวียนส่งผ่านแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงโมทนาถึงกันทั้งหมด จิตเราเข้าถึงกระแสของทุกดวงจิต
ขอกระแสของทุกๆ ดวงจิต จงเป็นสุขเป็นสุขเทอญ เราเป็นหนึ่งเดียวกับทุกดวงจิต คือเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่เจ็บ ตาย ในสังสารวัฎนี้ กระแสจิตเราเชื่อมโยงกับทุกดวงจิต ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุข ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้ที่ปราศจากการเบียดเบียน ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงเป็นผู้เข้าถึงความดี เข้าถึงกุศล เข้าถึงกระแสแห่งวิมุติธรรม เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพานด้วยเทอญ
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป เมื่อใจเราใสสะอาดบริสุทธิ์แล้ว เราตั้งใจกราบพระพุทธเจ้า ตั้งใจว่าเราปฏิบัติบูชา ทาน ศีล ภาวนา ปรมัตถ์ น้อมใจถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ถวายบูชาคุณ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ ถวายบูชาเป็นบุญถึงพ่อแม่ทั้งชาติปัจจุบัน อดีตชาติ และเป็นกระแสบุญที่เราปฏิบัติบูชา ให้กับเทพพรหมเทวา ท่านผู้มีพระคุณที่ปกปักษ์รักษาคุ้มครองดูแลเราอยู่เสมอ
เมื่อกราบแล้ว ก็กำหนดจิตขอให้ข้าพเจ้า ทรงอารมณ์พระนิพพานได้อย่างง่ายดาย ทรงอารมณ์ฌาน ทรงอภิญญาสมาบัติ ได้อย่างง่ายดาย ทรงภาพพระ 3 ฐาน ได้อย่างง่ายดาย เข้าถึงสภาวะธรรม อันละเอียดประณีตลึกซึ้งทั้งปวงได้อย่างง่ายดาย ขอให้นับแต่นี้ ความคล่องตัวทางโลก กระแสทรัพย์ กระแสสายสมบัติ จงหลั่งไหลเข้ามาสู่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้อย่างง่ายดาย คล่องตัวเช่นกัน
เมื่อกราบลาพระพุทธองค์เรียบร้อยแล้ว ก็หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ 3 ครั้ง
หายใจเข้าครั้งที่ 1 พุท ออกโธ
ครั้งที่ 2 หายใจเข้า ธัม หายใจออก โม
หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ ครั้งที่ 3 สัง หายใจออก โฆ
จากนั้นกำหนดจิต ให้มีความเอิบอิ่มผ่องใสภายใน ใจปิติสุข ใจชื่นบาน โมทนาบุญกับเพื่อนๆ ที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน โมธนาบุญกับผู้ที่มาฟังไฟล์ และฝึกปฏิบัติตามในภายหลังทุกคน ตั้งใจว่าเราเป็นสุข ทุกคนเข้าถึงความดี เข้าถึงความสุข เข้าถึงพระนิพพาน ใจเราปิติตาม ใจเราเป็นสุขตาม เราเป็นสุขทั้งในยามปฏิบัติ เป็นสุขทั้งที่อยู่ในสมาธิและเป็นสุขทั้งยามออกจากสมาธิ
จากนั้นกำหนดจิต ถึงถอนจิตจะฌาน จากสมาธิแล้ว ก็ให้ยังทรงอารมณ์ ทรงความรู้สึก ว่าพระทั้ง 3 ฐานยังประดิษฐานอยู่ทั้งเหนือเกล้ากระหม่อม อยู่เหนือศีรษะ อยู่ในสมองศีรษะ และอยู่ภายในกายของเราเป็นปกติ รัศมีกายมีความสว่างออกไปจากดวงจิตที่เป็นประกายพรึกเป็นปกติ มีประกาย มีสนามพลังความเป็นทิพย์ รายรอบเป็นประกายระยิบระยับ กากเพชรแพรวพราว พรั่งพรูลงมาเป็นปกติ จิตมีความผ่องใส มีความเป็นทิพย์ ทรงไว้ในกำลังอภิญญาสมาบัติ
สำหรับวันนี้ก็ขออนุโมทนากับทุกท่าน และขอให้ทรงกำลัง ทรงฌาน ทรงสมาบัติไว้ ทรงกำลังใจเต็มกำลังให้ได้เป็นปกติ การปฏิบัติธรรมอันที่จริง ไม่ใช่เรื่องยากเกินวิสัย การปฏิบัติในขั้นละเอียดขั้นสูง เมื่อเราค่อย ๆ ฝึกไปจากง่ายไล่ขึ้นไป ก็ไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องมีกำลังใจในการประคองรักษาความดี รักษาฌานสมาบัติ ให้ยังคงอยู่ตั้งมั่นในจิตเรา ให้มีความคล่องตัวในการฝึก ในการปฏิบัติ ในทุกจุดที่เราเคยฝึกได้ รักษากรรมฐานไว้ เป็นประดุจอัญมณีเป็นอริยะทรัพย์อันมีค่า รักษากรรมฐานเป็นประดุจทรัพย์สินอันมีค่านะ สำหรับวันนี้ก็ฝากไว้กับทุกคน แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า ขอให้มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติต่อไป สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณสิริญาณี แลบัว