green and brown plant on water

การวางอารมณ์ในการฝึกสมาธิ

เวลาอ่าน : 5 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน” 

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน 2565

เรื่อง การวางอารมณ์ในการฝึกสมาธิ

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

อานาปานสติกรรมฐานอันที่จริงนั้นก็คือ    การกำหนดลมหายใจ   สติจดจ่อ   กำหนดรู้อยู่กับลมหายใจ ติดตามรู้ในลมหายใจ แต่ในส่วนของการฝึก ในเมตตาสมาธิเรา เราจะมีการเสริมในส่วนของการกำหนดสมาธิ กำหนดลมหายใจในรูปแบบของปราณนะครับ ซึ่งปราณก็คือ ลมหายใจนี่แหละ เพียงแต่เป็นลมหายใจที่เรากลั่น นำพลังชีวิตไหลเวียนถ่ายทอดลงมาสู่กาย สู่จิตของเรา และในการกำหนดในลมหายใจเราใช้อุบายในการปฏิบัติจุดหนึ่ง ก็คือการกำหนดเห็นด้วยจิตว่า ลมหายใจนั้นเป็นเหมือนกับแพรวไหม พริ้วผ่านเข้าออกภายในกายของเรา นั่นก็คือการกำหนดใช้กำลังของกสิณลม ในการกลั่นให้อากาศธาตุนั้นปรากฏกลายเป็นปราณ เป็นพลังชีวิต

ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราเข้าถึงในกระแสปราณ เรากำหนดในอาณาปานสติเนี่ยจริง พอเวลาเราจะเข้าสู่ฌานได้เร็วขึ้นมากกว่าคนปกติทั่วไป ส่วนพิเศษที่ สอง ก็ปราณเนี่ยแหละมันจะมาช่วยฟอกธาตุขันธ์ เพิ่มพลังกาย พลังชีวิตให้กับร่างกาย ธาตุขันธ์ และก็จิตของเรา เป็นกำลังภายใน พลังจิต เสริมกับกายไปด้วยโดยตรง

ดังนั้นไหนๆ การที่เราจะต้องกำหนดสมาธิ กำหนดรู้ลมหายใจแล้ว จะดีกว่าไหมที่การปฏิบัติของเรา ในการกำหนดรู้ลมในหายใจ ลมหายใจนั้นมาช่วยบำบัดสุขภาพร่างกายเรา   มาเพิ่มพลังชีวิตให้เรา  ลมหายใจนั้นเพิ่มพลังจิตให้กับเราไปพร้อมกัน  อันนี้ก็จะเป็นคำถาม ซึ่งในเวลาที่เรามาฝึกในเมตตาสมาธินั่น  แนวคิดสำคัญในการปฏิบัติข้อหนึ่งก็คือ เราปฏิบัติน้อย แต่ให้ผลในการปฏิบัติสูง เราจะทำยังไงให้เกิดเช่นนั้น เหตุหรือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผล อะไรคือเหตุสำคัญที่ทำน้อยและเกิดผลมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันจะเป็นข้อแตกต่าง เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาพิจารณาในการปฏิบัติควบผนวกไปกับการปฏิบัติ

ในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นยุคของข่าวสารข้อมูล แนวทางการปฏิบัติก็อาจจะต้องมีการเสริม เป็นความรู้ความเข้าใจ ว่าแต่ละจุดที่เราปฏิบัติ ที่เราฝึกกัน เราทำทำไม ด้วยเหตุใด มีเหตุผลอะไรบ้าง จะต่างกันกลับยุคของเดิม แต่ก่อนที่ปฏิบัติไป ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องถามอะไรทั้งสิ้น ปฏิบัติไป ทำตามกัน    พอถึงยุคที่เป็นยุคข่าวสารข้อมูลแบบนี้ การที่เราปฏิบัติโดยที่มีความเข้าใจด้วยว่า แต่ละจุดนั้นเกิดประโยชน์อะไร  ทำทำไม  เพราะอะไร  มันทำให้มันตอบโจทย์  ตอบคำถาม  หมดความวิจิกิจฉา    หมดความสงสัยได้มากขึ้นกว่าการที่เราจะปฏิบัติด้วยความไม่รู้  ปฏิบัติไปเรื่อยๆ

ดังนั้นในเบื้องต้นจุดสำคัญที่สุด จากประสบการณ์การสอนสมาธิของอาจารย์ หลักสำคัญในการที่คนฝึกสมาธิ ทำสมาธิได้ ไม่ได้  จุดแรกที่สุดคือ ความคิด Mindset ทัศนคติของแต่ละบุคคล ที่มีต่อสมาธิ ต่อการฝึกสมาธิ บางคนก็ล็อคตัวเองเรียบร้อย ขังตัวเองเรียบร้อย สร้างเงื่อนไขให้กับตัวเองเรียบร้อย ฉันเป็นคนไม่มีสมาธิ ฉันทำสมาธิไม่ได้ อันนี้ก็เรียบร้อย คำว่าเรียบร้อยก็คือปิดประตู ขังตัวเอง ไม่เปิดรับ อันที่จริงแล้วเนี่ยการที่เราไม่รู้สึก ว่าเราไม่มีสมาธิ เหตุผลของการที่เราทำสมาธิไม่ได้ ไม่มีสมาธิ ไม่ใช่เพราะว่าเราไม่มีสมาธิ แต่เราไม่เข้าใจความหมายของคำว่าสมาธิ ยังไม่เจออุบาย ยังไม่เจอครูบาอาจารย์ ยังไม่เจอวิธีการที่จะทำให้เราทำสมาธิได้ ทำสมาธิง่าย คือก็ทั้งทำได้ แล้วก็ทำง่าย ไปเจอฝึกยาก ไปเจอสอนยาก ไปเจอสอนให้ทำยากๆ ปุ๊บ กลายเป็นว่าทำสมาธิเป็นเรื่องยาก จนเกิดทัศนคติ กีดกั้น กีดกันตัวเองตั้งแต่แรก      

อันที่จริงแล้วสมาธิเป็นเรื่องไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตั้งแต่ต้นที่เราฝึกสมาธิ เราวางอารมณ์ใจของเราถูกก่อนครั้งแรก การฝึกสมาธิก็จะเรื่องง่าย เป็นเรื่องสบาย เกิดผลง่าย เกิดอานิสงค์สูง ที่ว่าวางอารมณ์ใจถูกตั้งแต่แรกคืออะไร วางอารมณ์ใจตอนแรกคือ ทำสมาธิบางคนคิดว่าต้องเคร่ง ต้องเกรง ต้องนั่งนิ่งๆ ไม่ขยับ คำถามก็คือว่า การฝึกสมาธิเราฝึกกาย หรือฝึกจิต ฝึกนั่งทน ทนนั่ง หรือจิตให้สงบจดจ่อ เป็นเอกัคคตารมณ์

ดังนั้นอันที่จริงแล้วเนี่ย การปฏิบัติ การขยับ การขับเคลื่อนกาย กับการฝึกสมาธินั้น การทำสมาธิเราสามารถขยับกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝึกไปถึงขั้นที่ขั้นสูง ร่างกายเคลื่อนไหวแต่จิตสงบนิ่ง อันนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ เดินจงกรมอยู่แต่จิตนิ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ทำได้ เดินจงกรมอยู่แต่สามารถที่จะยกจิตใช้กำลังอภิญญา ใช้กำลังมโนมยิทธิยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานได้ ลืมตาทำสมาธิ หลับตาลืมตาก็สงบนิ่งเป็นเป็นเอกัคคตารมณ์ได้ ลืมตาหลับตาก็สามารถกำหนดจิตในลมหายใจ เห็นลมหายใจเป็นแพรวไหมทั้งหลับตา ลืมตาได้  กำหนดจิตเป็นดวงกสิณหรือทรงภาพพระ ก็ลืมตาหลับตาทรงภาพพระได้ เดินจงกรมก็ทรงภาพพระอยู่เหนือเศียรเกล้า ไปพร้อมกับการที่เราเดินขยับขาได้

ดังนั้นจะบอกว่านั่งนิ่งๆ ห้ามขยับ ขยับกายไม่ได้ แล้วถึงจะเป็นสมาธิ จริงๆ แล้วก็เป็นความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนไป นอกจากจะบำเพ็ญตบะในเรื่องของการไม่ขยับกาย เพื่อป้องกันเจอกับเวทนา เวทนาที่ว่านี่ก็คือเวทนาของกายที่ว่าไม่ขยับ เจออาการปวด อาการเมื่อย เพื่อให้จิตมันเข็ดกับการมีร่างกาย อันนี้ก็เป็นอุบายอีกอุบายหนึ่ง แต่ก็ค่อนข้างที่จะต้องใช้กำลังใจสูง ต้องบำเพ็ญ ใช้ความอดทนสูง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ถ้าทำได้ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะทำให้เกิดความเข็ดในการทำสมาธิ ฝึกสมาธิในการต่อๆ ไป 

ดังนั้นถ้าเรามุ่งหวังผลของการฝึกสมาธิ อันที่จริงไม่ต้องไปปฏิบัติจนมันลำบากยากเย็นจนเกินไป ปฏิบัติด้วยความสบาย อันที่จริงครูบาอาจารย์ทางสายอภิญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายหลวงปู่เทพอุดร อาจารย์ชม สุคันธรัต       พันเอกชม สุคันธรัต  ที่สอนอาจารย์มาก็สอนว่า อันที่จริงแล้ว ความสบายเป็นเหตุอันใกล้ให้เกิดสมาธิ เหตุอันใกล้นั่นหมายความว่า เมื่อไหร่ที่กายสบาย จิตกลับสงบ ความสบายนั้นมันคือความสบายระดับหนึ่ง ที่เราไม่ถึงขนาดที่เราติดสุข แต่สบายคือมันไม่เกร็ง ไม่หนัก ไม่เครียด ไม่ร้อน อารมณ์เบา สบาย

ดังนั้นอันที่จริง หากเมื่อไหร่ที่เราวางอารมณ์เบาสบายเป็นแล้ว เบาสบาย ตอนนี้ก็ถ่ายทอดกระแสไปให้เราเข้าถึงอารมณ์นะ เบาสบาย จิตเวลาที่เราปฏิบัติ เวลาที่เราน้อมจิตตาม น้อมอารมณ์ตาม น้อมจากกระแสคลื่นความสงบ กระแสความเย็น กระแสเมตตา น้อมแล้วตาม ถ้าเราน้อมจิตได้การปฏิบัติของเราก็เร็วลัดขึ้น เพราะเท่ากับครูอาจารย์ผู้สอน ถ่ายทอดกระแสให้เราก็อปปี้ ให้เราน้อมจิตตามกระแสนั้นแล้ว เชื่อมกระแสนั้นแล้ว วางอารมณ์เบาสบาย สงบ นิ่ง ผ่องใส แล้วตอนนี้ให้เราดูจิตของเรา จิตของเราเบาไหม ลมหายใจละเอียดไหม จิตสงบไหม ความสบายคือเวทนา  เสวยอารมณ์เวทนาคืออารมณ์จิตที่สบาย ทรงอารมณ์จิตที่สบาย ลมหายใจสบายและผ่องใส

จากนั้น     ทำความเข้าใจเชื่อมโยง     ความสบาย      ความผ่องใสเกิดขึ้น         เวทนาคืออารมณ์        เวทนาคือเวทนามหาสติปัฏฐาน ในเวทนาคือความสบายที่ปรากฏ ใจสบาย จิตสงบ ยิ่งจิตปรากฏสภาวะความผ่องใส คือเป็นดวงแก้วสว่าง มีความสบาย มีความสุขมากเท่าไหร่ อารมณ์ของกรรมฐาน ระดับฌานของสมาธิยิ่งสูงขึ้นตามลำดับ ความสัมพันธ์ระหว่างลมหายใจ คือลมปราณสัมพันธ์จิตใจ ลมปราณ ลมหายใจละเอียด เบา มากเท่าไหร่ จิตใจเรายิ่งสบาย ยิ่งสงบ จิตเข้าสู่ฌานที่ละเอียดขึ้น ลึกขึ้น ตามความเบา ความละเอียดของลมหายใจ ภาพกสิณ ภาพนิมิต สัมพันธ์กับจิตใจเช่นกัน ยิ่งจิตเห็นจิตเป็นดวงแก้วสว่างใส เป็นดวงจิตกสินที่ใสสว่างมากเท่าไหร่ ผ่องใสมากเท่าไหร่ อารมณ์ความสุขของใจก็ยิ่งปรากฏ กำลังฌานในกสินก็ยิ่งสูงขึ้นตามลำดับ  จิตตานุภาพก็ยิ่งปรากฏเพิ่มพูนขึ้นตามลำดับ

ภาพนิมิตสัมพันธ์กับจิตและฌานสมาธิอภิญญา ภาพดวงจิตให้เรากำหนดตามเลยนะ พูดตาม อาจารย์พูด  เราก็กำหนดเห็นตาม เห็นจิตของเราเป็นดวงเพชรประกายพรึก สว่างระยิบระยับ มีความสบาย มีความผ่องใส รัศมีของจิตยิ่งแผ่กระจายมากเท่าไหร่ ใจเรายิ่งเป็นสุข ภายในจิตเราเย็น ภายในจิตเรายิ้ม ภายในจิตเราสว่างผ่องใส กำหนดรู้ในจิต ว่าจิตเราเป็นประกายพรึก    มีความสว่าง มีกำลัง มีความสุข มีความสงบ มีสภาวะความเป็นทิพย์ปรากฏ จิตสงบก็รู้ว่าสงบ จิตผ่องใสก็รู้ว่าผ่องใส   จิตมีความละเอียดก็รู้ว่ามีความละเอียด    

นั่นคือการที่เราทรงในจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน 4 แก่นของมหาสติปัฏฐานทั้ง 4 ประการ คือ กายคตา กาย เวทนา จิต ธรรม กายคตามหาสติปัฏฐาน 4 หากเข้าสู่การปฏิบัติก็คือ การรู้ตัวทั่วพร้อม คือรู้กายเพื่อตัดกาย      แยกรูป แยกนาม เวทนาคือรู้อารมณ์ คือรู้ที่จะรักษา มีสติที่จะรู้รักษาอารมณ์จิตให้มีความผ่องแผ้ว เป็นสุข เบิกบาน       เวทนาคือความสุข ความเบิกบาน รู้รักษา และก็จะเชื่อมโยงต่อมาว่า เมื่อจิตมีความสุข ความผ่องแผ้ว เบิกบาน จิตก็มีความผ่องใสเป็นประกายพรึก มีความเป็นทิพย์ มีความเป็นเพชรระยิบระยับ ดังนั้นคำสั้นๆ ที่บอกว่ารักษาจิตให้ผ่องใสนั่นก็คือเราทรงอารมณ์อยู่ในจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน  ไม่ใช่เพียงแค่เห็นจิต แต่สิ่งสำคัญคือ รู้รักษาจิต รู้รักษากาย รู้ละร่างกาย เพื่อแยกกาย แยกจิต เวทนา กำหนดสติรู้เพื่อรักษาอารมณ์ความผ่องแผ้ว จิตรู้รักษาจิตให้ผ่องใส เบิกบาน เป็นประกายเพชรประกายพรึก คือเป็นจิตที่มีความทิพย์ ที่มีกำลัง และท้ายที่สุดธัมมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน ก็คือน้อมนำเอาธรรมะ เอาข้อการเจริญในธรรมวิปัสสนาญาณ มาประหัตประหารกิเลสให้เป็นสมุทเฉทประหาร

ดังนั้นแก่นทางลัดของมหาสติปัฏฐาน 4 ก็คือประกอบไปด้วยทั้ง 4 ตัว กายคือรู้กายเพื่อตัดร่างกาย คือการตัดขันธ์ 5 เวทนาคือรักษาจิตให้เป็นสุข เบา ผ่องแผ้ว มีความสบาย จิตคือมีสติรู้รักษาจิต ให้เป็นประกายพรึก ให้ผ่องใส    ให้จิตนั้นมีความเป็นทิพย์   มีกำลัง   ธรรมก็คือ น้อมนำให้ธรรมหลั่งไหลมาสอนในทุกครั้งที่มีกระทบ  และน้อมนำธรรมมาเจริญเป็นวิปัสสนาญาณ เพื่อตัดสังโยชน์ 10 เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในที่สุด

ดังนั้นหากเราเข้าใจ ธรรมะที่ยาก ก็กลายเป็นง่าย เข้าใจง่าย เข้าใจให้รู้ว่าจะรักษา จะทำยังไง เพื่ออะไร ถ้ามัวแต่ดูไปๆ อย่างเดียว ก็ดูกาย ดูกายก็ไม่จบอยู่นั่น ดูเวทนา ดูปวดหนอ ดูไปก็ไม่จบอยู่นั่น ดูจิต ก็เห็นจิต แต่ก็ไม่รู้รักษาจิต ไม่ปรับแก้จิต ไม่ขัดเกลาจิต ก็ดูกันไปอยู่นั่น ท้ายที่สุดหากมีปัญญารู้ พิจารณามหาสติปัฏฐาน 4  7 วัน 7 เดือน 7 ปี หากเข้าใจให้มันง่าย ให้ตรงจุดตรงประเด็น การปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลัง

เมื่อเราเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติ และลำดับต่อไป ก็ให้กำหนดจิตในกำลังกรรมฐานในส่วนของสมถะเต็มกำลัง กำหนดจิตให้ผ่องใสเป็นเพชรประกายพรึก สว่างแพรวพราวที่สุด ใจอารมณ์ สมบูรณ์แบบ เอิบอิ่ม แช่มชื่น ปรีเปรมภายในจิต อิ่มเอม จิตเป็นสุขอย่างที่สุด จิตสว่างอย่างยิ่ง ผ่องใสอย่างยิ่ง รัศมีกาย อาทิสมานกาย จิตสว่างเป็นเพชรอย่างยิ่ง  กำหนดจิตต่อไป เมื่อกำลังของเราเต็มที่แล้วก็ กำหนดน้อมอาราธนาบารมีสมเด็จองค์ปฐม ปรากฎขึ้นเป็นพุทธนิมิตในจิตของเรา ในส่วนของการฝึกในพุทธานุสติกรรมฐาน หรือทรงภาพพระ กำลังใจในการปฏิบัติไม่ใช่เพียงเห็นภาพพระ นึกและทรงภาพพระได้ในจิต สิ่งสำคัญคือความรู้สึกเชื่อมโยงกระแสว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทรงภาพพระ เห็นพระพุทธรูป เห็นพุทธนิมิต จิตของเราเชื่อมถึง กราบถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพานเป็น กำลังใจที่เพิ่มมาตรงจุดนี้ ทำให้ผลอานิสงส์ในการปฏิบัติมันสูงขึ้นอย่างมาก ตามอย่าง ตามแบบอย่าง  ตามกำลังใจของการปฏิบัติของแต่ละบุคคล

อันที่จริงการฝึก การปฏิบัติ ในส่วนของพุทธานุสติกรรมฐาน หากเรานึกภาพพระพุทธรูปขึ้นเฉยๆ ในจิต ภาพชัดบ้าง เลือนบ้าง  กำลังยังไม่ตั้งมั่นเป็นณาน หากตายไปในขณะที่นึกภาพพระพุทธรูป โดยที่เรานึกว่าเป็นพระพุทธรูปนึกว่าภาพนั้นคือพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง มีนิวรณ์เข้ามาแทรก เห็นชัด เห็นไม่ชัด พร่าเลือนบ้าง หลุดบ้าง จิตยังไม่ทรงตั้งมั่นเป็นกำลังณานสมบูรณ์ ตายไปขณะนั้นอานิสงส์ก็ส่งผลให้ไปจุติยังกามาวจรสวรรค์ คือสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่งใน 6 ชั้น

หากกำลังจิตเวลาที่เราเจริญในพุทธานุสสติกรรมฐาน ภาพองค์พระพุทธรูปชัดเจน มั่นคง จิตทรงกำลังเป็นฌานสมาบัติ นิ่ง ภาพพระชัดเจน นึกว่าเราทรงงภาพพุทธเจ้า ทรงภาพพระพุทธรูปไว้เฉยๆ  จิตตั้งมั่นเป็นฌาน ตายไปในอารมณ์จิตที่ทรงภาพพระอย่างนั้น เราก็ไปจุติเป็นพรหมด้วยกำลังของฌานสมาบัติความตั้งมั่นในสติ  แต่หากจิตของเราตั้งกำลังใจไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่เราทรงภาพพุทธนิมิต จิตของเราถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ภาพพุทธนิมิตก็ตาม ภาพพระพุทธรูปที่เรากราบตามวัดวาอารามต่างๆ กายกราบพระพุทธรูป จิตกราบถึงพระพุทธองค์ เหมือนกับตาเห็นรูป จิตเห็นนาม เรากราบถึงพระพุทธเจ้า หากตายไปในอารมณ์จิตนั้น  ว่าเรากราบพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ตายไปในอารมณ์จิตนั้น เราก็ถึงซึ่งพระนิพพาน

ดังนั้นการฝึก การปฏิบัติในกรรมฐาน ในจุดคล้ายกัน เหมือนกัน แต่กำลังใจต่างกันเพียงแค่นิดเดียว การกำหนดจิตต่างกันเพียงเเค่นิดเดียว ผลอานิสงส์ในการฝึก ในการปฏิบัติ มันมีความแตกต่างอย่างยิ่ง อย่างที่พิจารณาให้ฟังก็เหมือนฟ้ากับเหว จากแทนที่จะได้แค่สวรรค์ ก็กลายเป็นสามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้

ดังนั้นเวลาที่เราฝึก เรามาฝึกในเมตตาสมาธิกรรมฐาน ให้เราเริ่มตั้งกำลังใจไว้ตั้งแต่ต้น สำหรับคนเก่าก็ย้ำทวนอารมณ์จิต กำลังใจของเดิม เรากราบพระในที่ใด  เราไปปฏิบัติในสำนักใด เราก็กำหนดจิตตามที่บอก ที่อาจารย์สอน ไปกราบพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก กราบปุ๊บกราบถึงสมเด็จองค์ปฐมบนพระนิพพาน ไปกราบพระแก้วมรกตในวัดพระแก้ว ก็กราบถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน  แม้แต่กราบพระพุทธรูปในห้องพระที่บ้านของเรา กราบก็กราบถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน กำลังใจของเราไม่มีความรู้สึกว่า กราบพระที่นั่นศักดิ์สิทธิ์กว่าที่นี่ เพราะอารมณ์จิตของเรากราบพระที่ไหนก็ถึงพระนิพพาน

ดังนั้นสำคัญที่ความศักดิ์สิทธิ์ของใคร ใจที่ศักดิ์สิทธิ์ของเรา ใจที่ถึงพระรัตนตรัยของเรา ใจที่ถึงพระพุทธเจ้าของเรา ใจที่ถึงพระนิพพานของเรา ท้ายที่สุดการปฏิบัติ ปฏิบัติที่ไหน ปฏิบัติที่ใจ คนที่เขาไปได้ คนที่เขาเข้าถึงพระนิพพาน ความแตกต่างมันอยู่ที่ใจ

ดังนั้นก็ขอให้เราตั้งกำลังใจใหม่ตั้งแต่ต้น คนที่เผลอ คนที่พลาด ก็ฝึกว่านับแต่นี้กำลังใจเราเป็นเช่นนี้ กำลังใจคนอื่นเขาจะเป็นยังไง กราบพระแต่เพียงอาการ กราบพระแต่เพียงประเพณี กับกราบก้มๆ แบๆ มือ หรือเราน้อมจิตกราจนถึงพระบาทองค์พระศาสดาบนพระนิพพาน ความปราณีต ความละเอียด ความลึกซึ้ง กำลังใจมีความแตกต่างกันออกไป ก็ให้เราน้อมพิจารณาดูว่า ที่อาจารย์แนะนำ ที่อาจารย์บอก เคล็ดลับที่สอน ที่พูด ที่บอก ที่แนะนำนั้น มันมีเหตุ มีผล พิจารณาแล้วเห็นจริงตามคำสั่งสอนไปหรือไม่ หากรู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องไร้สาระ ไร้ประโยชน์ ก็จงวาง ไม่ต้องไปทำ ก็เป็นประเภทที่ปฏิบัติไปตามประเพณีบ้าง ไหว้กราบไปเพียงอาการบ้าง ไปตามนั้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาในการพิจารณาของแต่ละบุคคล เห็นว่าเป็นประโยชน์ก็น้อมนำไปปฏิบัติ เห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องไร้สาระ เราก็ไม่ต้องไปสนใจ อันนี้ก็เป็นเรื่องของกำลังใจในการปฏิบัติ

พอกำลังใจเราสูงแล้ว ตอนนี้ก็ให้เราทรงภาพ องค์พระสว่างเป็นเพชรประกายพรึก จิตเราน้อมอธิษฐานขอบารมีพระพุทธเจ้า สิ่งใดที่ข้าพเจ้าเคยประมาท พลาดพลั้ง ล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย   ข้าพเจ้าขอน้อมจิตกราบขมาต่อพระรัตนตรัย

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต

            กรรมใด วิบากใด อกุศลใดที่ข้าพเจ้าพลาดพลั้ง ล่วงเกินต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์   เทพพรหมเทวา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย วาจา ใจ คำนินทาว่าร้าย คำกล่าว  คำพูดลับหลังใดๆ ก็ตาม เราขอกราบขมาลาโทษต่อท่าน ขอบาปอกุศลทั้งหลาย วิบากทั้งหลาย จงบรรเทาเบาบาง จงสลายสิ้น สิ่งที่มาขัดขวางการปฏิบัติ ความเจริญก้าวหน้าในธรรมของข้าพเจ้า จงสลายไป สิ้นไป นับตั้งแต่บัดนี้ ตราบเท่าเข้าถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเทอญ

จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานนะ เราตั้งจิตยกไว้บนพระนิพพาน อธิษฐานให้เกิดธูปแพ เทียนแพแก้ว อันเป็นเพชรระยิบระยับแพรวพราว ยกถวายสมเด็จองค์ปฐมบนพระนิพพาน จิตมีความเบา มีความสบาย มีความผ่องใส

 จากนั้นกำหนดจิตพิจารณา กำหนดในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพที่อยู่เบื้องหน้าสมเด็จองค์ปฐมบนพระนิพพาน กำหนดว่าเราตัดวางร่างกาย ขันธ์ 5 พิจารณาโทษภัยในภพภูมิในสังสารวัฏ จิตเราน้อมเห็นพระคุณพระนิพพาน ที่นำพาให้ข้าพเจ้าพ้นจากความโลภ โกรธ หลงทั้งปวง พ้นจากความทุกข์ พ้นจากการเบียดเบียน พ้นจากกระแสแห่งวิบากกรรมทั้งหลาย ตราบใดที่ยังอยู่ในสังสารวัฏ กระแสกรรม กระแสวิบากกรรมก็ยังตามวนเวียนส่งผลให้กับเรา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าถึงซึ่งพระนิพพานแล้ว วิบากทั้งหลาย กรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว กรรมดีที่ว่าคือกรรมที่ทำให้เราไปเสวยผลบุญ ไปเป็นเทวดา ไปเป็นพรหม ไปเป็นมนุษย์ ผู้มีรูป มีทรัพย์ มีเงิน มีทอง มีเกียรติ        มีศักดิ์ตระกูลสูง    กรรมทั้งหลาย   ทั้งกรรมดี  กรรมชั่ว  ก็ไม่อาจส่งผลให้เราได้รับอีก จิต อาทิสมานกายไปอยู่บนพระนิพพาน เป็นสภาวะความเป็นทิพย์พิเศษ พ้นจากแรงดึงดูดของภพ ของความปรารถนา ความอยาก ความผูกพันทั้งปวง สมมุติทั้งปวงจบสิ้นลง เป็นเพียงจิต อาทิสมานกายอันเป็นวิสุทธิ์ คำว่าวิสุทธิเทพ พระวิสุทธิเทพคือเทพผู้มีจิตอันวิสุทธิ์หมดจด ปราศจากกองกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลงทั้งปวง ความปรารถนาทั้งปวง ความยึดติดในสมมุติทั้งปวง สังโยชน์ทั้ง 10 สลายสิ้นจากอนุสัยจิตของทุกท่าน จิตท่านบริสุทธิ์จากความปรารถนา ความโลภ โกรธ หลงทั้งหลาย

เรากำหนด ตอนนี้อารมณ์ใจเราทรงไว้ในความเป็นพระวิสุทธิเทพ แม้เพียงชั่วคราวในขณะเจริญพระกรรมฐาน แต่อารมณ์ใจเราตั้งใจไว้ว่า อารมณ์ใจเราจะทรงเช่นเดียวกับพระอรหันต์ทุกพระองค์บนพระนิพพาน นับเนื่องตั้งแต่สมเด็จองค์ปฐมลงมายันพระอรหันต์ทุกๆ พระองค์ อารมณ์จิตของเราฝึกละวาง ตัดห่วง ตัดอาลัยทั้งปวง ทรงอารมณ์ในความเป็นพระวิสุทธิเทพ ตั้งจิตอธิษฐานขอกายพระวิสุทธิเทพ จงปรากฏในท่าขัดสมาธิอยู่บนรัตนบัลลังก์ดอกบัวแก้ว เจริญพระกรรมฐานอยู่เบื้องหน้าสมเด็จองค์ปฐมและพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์

กำหนดจิตพิจารณาฝึกตัดวาง กำหนดว่าในทุกคืนที่เรา ก่อนจะนอนหลับลง เราฝึกจิตของเราให้เป็นปกติ เป็นการซักซ้อม ปัญญาวิปัสสนาณาน เป็นการซักซ้อมอารมณ์พระนิพพานไว้ พิจารณาแรกก็คือความกังวล ฝึกเพื่อให้วางให้ลงปลงให้เร็ว ตัดความกังวลเรื่องงานทั้งหลายออกไป พิจารณาหากแต่ว่าเราตายไปแล้ว กิจการงานทั้งหลายก็หมดสิ้น ความรับผิดชอบทั้งหลายก็หมดสิ้น แม้จะเป็นภาระกิจหน้าที่อันยิ่งใหญ่เพียงใดก็ตาม หากเราตายไปแล้ว เราไม่ต้องมาพะวง ไม่ต้องมาห่วง เพราะเราไม่อาจสามารถกระทำการ ทำภารกิจนั้นได้สำเร็จ หรือกระทำได้อีกต่อไป เพราะเราตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึงกิจการงานเล็กๆ น้อยๆ ใดๆ เป็นภาระในครอบครัว เป็นภาระในหน้าที่การงาน ภาระในกิจการธุรกิจ หากตายแล้ว ภาระทั้งหลายสิ้นลง

พิจารณาต่อไปว่า แม้สมมุติในความเป็นรูป ในความเป็นพ่อ ในความเป็นแม่ ในความผูกพันกับบุคคลในครอบครัวทั้งหลาย คนรักของเราตายไปแล้ว สมมุติต่างๆ ก็สิ้นลง กำหนดพิจารณาว่าเราวางลงไหม ความเป็นแม่ ความเป็นลูก ไม่ว่าความที่เราเป็นแม่แล้วผูกพันห่วงใยกับลูก หรือสภาวะที่เราเป็นลูกแล้วห่วงใยกับพ่อกับแม่ ตายไปแล้ว ห่วง สมมุติทั้งหลายเราวางลงนะ กำหนดถามจิต แล้วก็ตอบจิตของตัวเอง เราวางลงสมมุติลงไหม เราปรารถนาพระนิพพานหรือปรารถนาที่จะมาเกิด มาพบ มาเจอกับบุคคลอันเป็นสมมุตินี้  อารมณ์จิตยิ่งมีความรู้สึกผูกพันมากเท่าไหร่ความผูกพันนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นอารมณ์เชิงบวก ในแง่ของความผูกพันกับบุคคลที่เรารัก กับผู้มีพระคุณ  แต่ความผูกพันนั้นก็เป็นห่วงผูกจิตเราอยู่กับสังสารวัฏ ขอให้เกิดเป็นแม่ลูก เป็นพ่อลูกกันทุกชาติ ทุกภพ นั่นก็แปลว่าเราไปผูก ไปโยงทำสัญญาไว้ แล้วทุกชาติ ทุกภพ มันอีกกี่หมื่น กี่แสนล้าน กี่ล้าน กี่พันล้านชาติ ตราบที่ไม่ตัดสัญญา ตราบที่ยังไม่ตัดความผูกพัน คำอธิษฐานหรือสายโยงใยของความสัมพันธ์ ความห่วง มันก็ลากจูงเราไปเกิดอยู่ในสังสารวัฎ  ชาติแล้วชาติเล่า ภพแล้วภพเล่า ไม่มีที่สิ้นสุด 

หากจิตเราเกิดปัญญารู้เท่าทันความเป็นไปในสังสารวัฏ เห็นเส้นใยสายโยงใยของกรรม สายโยงใยของการผูกโยง เชื่อมโยงระหว่างจิตกับจิต  ผูกโยงระหว่างตัวเรากับภพชาติ เราจะเห็นว่าเส้นโยงใยของกรรมของบุคคลที่เราเชื่อมโยง มันไม่ใช่มีเพียงเส้นเดียว แต่มันมีเส้นโยงใยมากมายนับไม่ถ้วน มหาศาลเต็มไปหมด

ให้เราลองพิจารณาดูว่า เราสามารถตัดได้ไหม อยู่บนพระนิพพานแล้ว ตัดห่วง ตัดความกังวล ตัดความสัมพันธ์ทั้งหลายได้ไหม เราขอไม่เกิด ไม่พบ ไม่เจอกับบุคคลทั้งหลายอีกต่อไป แต่เมื่อไหร่ที่เราอยู่บนพระนิพพาน   เราสามารถเล็งณานกำหนดรู้ แต่จิตไม่มีความห่วงที่เป็นอารมณ์หนัก มีแต่ความเมตตาและอุเบกขา สงเคราะห์ช่วยเหลือ ตามเหตุตามปัจจัย โดยที่จิตไม่มีความหนัก ไม่มีความรู้สึกว่าอยากไปเกิด ไปเจอกับเขาอีกต่อไป  ตัด แต่เราก็ช่วยในเขต ในอารมณ์ของความเป็นอรหันต์อยู่บนพระนิพพาน ให้เราคิดพิจารณาว่าเราตัดได้ไหม ความผูกพันทั้งหลาย  ห่วง สายโยงใยที่เราห่วงมากที่สุดคือใคร พิจารณาจนจิตเราวางได้ จนรู้สึกว่ามันเบา วางง่าย  ไม่มีความดึง ไม่มีความกังวล         

แล้วก็มาพิจารณาในส่วนที่เป็นร่างกาย พิจารณาว่าหากเราตายไปแล้ว เรายังห่วง เรายังเกาะในร่างกายไหม ร่างกายนี้เราเสียดายไหม แต่สำหรับบุคคลที่เคยฝึกได้กำลังของมโนมยิทธิ ยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน พอเห็นกายทิพย์ รู้สภาวะกายทิพย์ รู้สภาวะกายของเทวดา กายของพรหม กายของพระวิสุทธิเทพแล้ว ความเสียดาย ความเกาะในความเป็นกายเนื้อ  มันจะบรรเทาเบาบางกว่าบุคคลที่ไม่ได้กำลังของมโนมยิทธิ เนื่องจากเมื่อไหร่ก็ตามที่เราทรงอารมณ์ของมโนมยิทธิ คือแยกอาทิสมานกายออกได้ นั่นแปลว่าเราเข้าสู่สภาวะการปฏิบัติธรรมในขั้นสูง คือการแยกกาย แยกจิต แยกจิตอาทิสมานกายออกจากกายเนื้อ ซึ่งเป็นสภาวะสำคัญในการปฏิบัติในส่วนของสมถะกรรมฐาน ฝึกสมถะกรรมฐานเพื่อแยกกาย   แยกจิต   แยกรูป   แยกนาม  มโนมยิทธิเมื่อฝึกปุ๊บ  เราแยกรูป  แยกนาม  แยกกายออกมาได้    ความเข้าใจในเรื่องความยึดติดในขันธ์ 5 ร่างกาย มันก็เลยมีสูงมากกว่าบุคคลที่ไม่ได้ในขั้นนี้ เพราะความรู้สึกในการเกาะกับร่างกายมันยังมีอยู่มาก หากการเกาะในร่างกายมีมากเท่าไหร่ ความชัดเจนผ่องใสของมโนมยิทธิ ก็น้อยลงเพียงนั้นหากความรู้สึก  ความผ่องใสชัดเจน   รัศมีกาย   ความละเอียด    ความชัดของความเป็นกายทิพย์   ปรากฏชัดมากเท่าไหร่   ก็หมายความว่า ความเกาะ ความติด ความห่วงในร่างกายเราน้อยลงมากเพียงเท่านี้เช่นกัน

 หากเรามีความเข้าใจในความสัมพันธ์ของการปฏิบัติในทุกจุด  การปฏิบัติธรรมของเราก็จะมีความก้าวหน้าขึ้น ณ เวลานี้อารมณ์จิตเราทรงสภาวะความเป็นอาทิสมานกายอยู่บนพระนิพพาน อารมณ์จิตพิจารณาตัดห่วง ตัดความกังวล ความสัมพันธ์ สายโยงใยแห่งชาติภพและบุคคล ดวงจิตทั้งหลายสลายลงไปจนหมด ก็พิจารณาในสังสารวัฎ ในภพว่า เรายินดีในภพความเป็นมนุษย์ เรายินดีในภพของความเป็นเทวดาไหม เรายินดีในภพของความเป็นพรหม อรูปพรหมไหม ซึ่งข้อการพิจารณาต่าง ๆ เหล่านี้  เรียงร้อยอยู่กับการพิจารณาการตัดสังโยชน์ทั้ง 10 

สังโยชน์ทั้ง  10  ใน  3 ข้อ  4 ข้อ  5 ข้อแรก เป็นเรื่องของการตัดภพของความเป็นมนุษย์         ไม่ว่าเป็นเบญจกามคุณ 5 ความสุขในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันนี้มันเป็นความสุขของมนุษย์ และในระดับความสุขของเทวดาส่วนสังโยชน์ ข้อ 6 ก็คือรูปราคะ   ความพึงพอใจในความเป็นพรหม นั่นก็คือสังโยชน์ สังโยชน์ข้อที่ 7 อรูปราคะ คือความพึงพอใจ หรือความหลง เข้าใจว่าอรูปพรหมเป็นพระนิพพานบ้าง มีความเข้าใจ ความพึงพอใจกับความสุขในอารมณ์อรูปสมาบัติบ้าง อารมณ์จิตหากใจเราไม่ปรารถนาความเป็นพรหม อรูปพรหม จิตพิจารณาจนเกิดปัญญา เห็นโทษภัยในสังสารวัฏ  เห็นคุณในพระนิพพานอย่างบริสุทธิ์    อย่างแท้จริง    นั่นก็คือดับอวิชาทั้งปวง    อารมณ์จิตของเราตั้งมั่นจดจ่ออยู่กับพระนิพพาน นั่นก็หมายความว่าสังโยชน์ทั้ง 10 ในอารมณ์จิตขนาดนี้ มันขาด มันไม่มี มันสลายไปหมด  

พอเราทรงงอารมณ์ ตัดความเกาะเกี่ยว ความกังวลในภพ คือสังโยชน์ทั้ง 10 ออกไปแล้ว อารมณ์จิตเราก็กำหนดเสวยในอารมณ์พระนิพพาน พิจารณาเป็นธรรมอุทานว่า

นิพพานัง ปรมัง สุญญัง พระนิพพานเป็นความว่างจากกิจทั้งหลาย

กิจทั้งหลายจบสิ้นแล้ว พรหมจรรย์นี้บริสุทธิ์และจบสิ้นกิจแห่งพระพุทธศาสนาแล้ว  นิพพานเป็นความว่างจากความโลภ โกรธ หลงอย่างยิ่ง ภาระทั้งปวงจบแล้ว วิบากทั้งหลายสิ้นแล้ว กรรมทั้งหลาย อารมณ์ความทุกข์ทั้งหลาย ไม่อาจกระทำย่ำยีเบียดเบียนเราได้อีกแล้ว  เป็นความว่างอย่างยิ่ง จากนั้นจึงเข้าถึงอารมณ์ความสุข ที่เรียกว่าการเสวยวิมุติสุข คือภาวนาบริกรรม เป็นธรรมอุทาน

นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

ในอารมณ์ที่ครูบาอาจารย์ ที่ท่านเข้านิโรธสมาบัติ นิโรธสมาบัติ คือ เข้าไปพักจิต อยู่ในอารมณ์ที่เสวยในความเป็นพระอริยเจ้า  ความสุขในอารมณ์พระอริยเจ้า  โดยที่ท่านทรงเข้าสู่สมาบัติ คือกำลังสมาธิสูง ละเอียด เรียกว่าเข้าสู่นิโรธสมาบัติ  

นั่นก็คือเสวยอารมณ์ เช่น อารมณ์แห่งพระอนาคามีผล ขึ้นไปจนกระทั่งถึงอารมณ์แห่งพระอรหันตผล   หากอารมณ์จิตเราทรงอารมณ์ เสวยอารมณ์ความสุขอยู่กับพระนิพพาน อยู่กับอารมณ์ความสุข ความผ่องใสกับพระนิพพานนานเท่าไหร่ อารมณ์จิตที่เราทรงนี้ก็เป็นอารมณ์ คล้าย ขอเน้นคำว่าคล้าย ใกล้เคียง เป็นอารมณ์ชั่วคราวกับอารมณ์แห่งนิโรธสมาบัติ ขึ้นกับการทรงอารมณ์ที่แน่วแน่ ที่ตั้งมั่น ที่บริสุทธิ์ ที่จดจ่อของเราในการปฏิบัติ  ทรงอารมณ์อยู่บนพระนิพพาน ทรงสภาวะแสงสว่าง ความสุข ความเบา  เสวยวิมุตติสุขในอารมณ์พระนิพพานว่า  หากเราตายแล้ว  เข้าถึงซึ่งพระนิพพานแล้ว จิตเราจะสว่างผ่องใส เป็นสุข ดื่มด่ำอยู่กับอารมณ์พระนิพพานเช่นนี้ตลอดชั่วอนันตกาล  ไม่ลงมาเกิดอีกต่อไป

กำหนดให้เห็นอาทิสมานกายของเราขณะนี้ กำหนดในความสว่างเป็นเพชร อารมณ์จิตมีความผ่องใสเต็มกำลัง ความสว่างอย่างยิ่ง ว่างจำโลภ โกรธ หลง ภาระทั้งหลายอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งใดให้คิด ไม่มีสิ่งใดให้กังวล ไม่มีภาระใดๆ ไม่มีความผูกพันใดๆ ไม่มีสัญญาใดๆ เป็นความว่าง ความสุข ความสว่างอย่างยิ่ง กำหนดทรงอารมณ์เอาไว้ กำหนดจิตเสวยวิมุตติสุขในอารมณ์พระนิพพานไว้

นิพพานัง ปรมัง สุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

อารมณ์จิต เบา ละเอียด  สว่าง สะอาด สงบเย็น ภาวนาบริกรรมไว้

พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปรมัง สุขัง

จิตละเอียด เบา สว่าง ความโลภ โกรธ หลง ไม่มีในจิตของเรา

ความห่วง ความอาลัย ในภพทั้งหลาย ไม่มีในจิตของเรา

จิตของเราเป็นผู้รู้ตื่น รู้แจ้ง กระจ่างในพระนิพพาน กระจ่างในการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ

ดับสังสารวัฏ การเวียนว่ายตายเกิดทั้งปวงจากจิตของเรา

นิพพานัง ปรมัง สุขัง

จิตผ่องใสอย่างยิ่ง สว่างอย่างยิ่ง

อาทิสมานกาย รัศมีกายของอาทิสมานกาย สว่างแพรวพราวเป็นเพชรอย่างยิ่ง

จิตบริสุทธิ์ เป็นกระแสจิตของพระวิสุทธิเทพ ละเอียด บริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงอารมณ์สว่างที่สุดไว้

ในขณะที่อารมณ์สวยวิมุตติสุข ก็ให้เราน้อมในอารมณ์ใจ ว่าจิตของเรานี้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระจอมไตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จองค์ปฐม จนมาถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน สำนึกในพระคุณแห่งพระธรรม สำนึกคุณพระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ที่สอนสืบต่อ  จนธรรมะน้อมรวมลงจนถึงเรา อารมณ์จิตมีความลึกซึ้ง สำนึก มีความแนบอยู่กับพระนิพพานอย่างยิ่ง มีความรัก มีความมั่นคงอยู่กับพระนิพพานอย่างยิ่ง อารมณ์จิตเรารู้สึกว่าเรานี้คือส่วนหนึ่งกับพระนิพพาน  สถานที่ใด ภพใด ภูมิใด เราไม่รู้สึกผูกพันเท่ากับพระนิพพานอีกต่อไป ไม่รู้สึกว่าบ้านมีความผูกพันกับเรา วัดใดวัดหนึ่งบนโลกมนุษย์ เราไม่รู้สึกว่าสถานที่บนโลกมนุษย์มีความผูกพันกับเรา  วิมานของเราที่เราเคยอยู่บนสวรรค์ชั้นใดก็ตาม วิมานที่มีปรากฏบนพรหมโลกชั้นใดก็ตาม ไม่ได้มีความผูกพัน สำคัญกับเราเท่ากับวิมานบนพระนิพพาน จิตอยู่จดจ่อกับพระนิพพานเพียงจุดเดียวอย่างแท้จริง

ดังนั้นอารมณ์จิตของผู้ที่ปฏิบัติในสภาวะที่สูงขึ้น อารมณ์จิตมีความละเอียดขึ้น แนบกับพระนิพพานมากขึ้น คือขั้นหนึ่งความรู้สึกว่าอยากไปเที่ยวภพนั้น ภูมินี้ ป่าหิมพานต์ เมืองบาดาล พญานาค สวรรค์ชั้นนี้ ดาวดวงนั้น มันจะไม่มีจิตของท่านที่แนบจดจ่ออยู่กับพระนิพพานอย่างแท้จริง จุดเดียวที่จะมาก็คือพระนิพพานเท่านั้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของอารมณ์ใจ ความตั้งมั่นของอารมณ์จิต

เมื่อทรงอารมณ์ได้ดังนี้แล้ว ก็น้อมจิตอธิษฐาน ขอผลอานิสงส์พละสมาบัติ ความผ่องใสของจิต อารมณ์พระนิพพาน ขอพละสมาบัตินี้จงเป็นกำลังปรากฏเป็นปฏิบัติบูชา บูชาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ พ่อแม่ ท่านผู้มีพระคุณ ทุกชาติภพ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ทุกชาติภพ เทพพรหมเทวา ผู้พิทักษ์ศาลในทุกชาติภพ รวมถึงน้อมจิตน้อมกระแสจากพระนิพพาน เป็นเมตตาแผ่ลงมา   ขอกระแสบุญ ความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรือง จงแผ่ลงมายังอรูปพรหม พรหมโลก สวรรค์ทุกชั้น ภูมิแห่งรุกขเทวดา สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วอนันตจักรวาล   มนุษย์ทั้งหลาย   ทุกดวงดาวทั่วอนันตจักรวาล  ดวงจิต ดวงวิญญาน โอปปาติกะ สัมพเวสี ทุกภพ ทุกภูมิ ทั่วจักรวาล ทั่วทุกมิติ ทั่วทุกภพทับซ้อน       บังบท ลับแส  แผ่เมตตาไปยังเมืองบาดาล พญานาคนคร ทุกนคร ทุกเขตแดน แผ่เมตตาไปยังภพของเปรต อสูรกายทั้งหลาย แผ่เมตตาลงไปยังนรกภูมิทุกขุม น้อมจิตขอกระแสเมตตาจากพระนิพพาน แผ่ปกลงไปทั่วทั้ง 3 ภพ 3 ภูมิ กระแสบุญ กระแสจากพระนิพพาน แผ่ สว่าง ทั่วทุก 3 ภพภูมิ จิตสว่างผ่องใส บุญสำเร็จประโยชน์ จิตเราได้น้อมกระแสบุญถึงยังทุกดวงจิต

จากนั้นอธิษฐานต่อไปว่า ขอน้อมอาราธนากระแสจากพระนิพพาน เป็นกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์ เป็นลำแสง สว่างเป็นกระแสแห่งพุทธคุณ ลงมายังวัดวาอารามทั้งหลาย สถานปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ธรรมเจดีย์ พระบรมธาตุเจดีย์ทั้งหลาย พระพุทธรูปทุกพระองค์ ทุกวัดวาอาราม องค์เล็ก องค์ใหญ่ พระพุทธรูปทุกองค์ ไม่ว่าจะพระพุทธรูปที่สาธุชนญาติโยมบูชา ขอจงเกิดความศักดิ์สิทธิ์ กำลังพุทธคุณ ขอกำลังพุทธคุณจงปรากฏความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ สร้างยังประโยชน์ศรัทธาขึ้น ต่อมวลหมู่มนุษย์บนโลกใบนี้ ขอกำลังกระแสจากพระนิพพาน กำลังพุทธคุณจงลงมาสู่พระเครื่อง วัตถุมงคลทั้งหลายที่มีผู้บูชา ขอกระแสกำลังพุทธคุณปาฏิหาริย์ พระธาตุจงเสด็จ น้อมเป็นกระแสพุทธคุณลงมายังพระบรมสารีริกธาตุทุกพระองค์ พระบรมธาตุ พระอรหันตธาตุ ขอจงเกิดความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์

ขอน้อมกระแสธรรมจากพระนิพพาน จงหลั่งไหลถ่ายทอดจากจิตสู่จิต ลงสู่ดวงจิตของพุทธบริษัท 4 ทั้งหลายทั้งท่านที่เป็นบรรพชิต ทั้งท่านที่เป็นฆารวาส ขอกระแสธรรมอันวิมุติบริสุทธิ์หมดจด กระแสธรรมส่งตรงจากพระนิพพาน จงหลั่งไหลลงมาจากจิตสู่จิต ขอบุคคลสาธุชนทั้งหลาย กัลยาณชนทั้งหลาย จงเข้าถึงธรรมที่เป็นสัมมาทิฐิ สัมมาสมาธิ สัมมาปัญญา  สัมมาปฏิบัติ เข้าถึงมรรคผลพระนิพพานได้โดยง่าย โดยพลัน เข้าสู่ยุคความเจริญแห่งพระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่งด้วยเทอญ

จากนั้นให้เรานะ ทรงอารมณ์อยู่บนพระนิพพาน สว่าง ผ่องใส อารมณ์วิมุต อารมณ์สว่างเป็นสุขเต็มกำลัง จากนั้นตั้งอธิษฐานนะ เอากำลังอธิษฐานของเรา พละสมาบัติ ผลแห่งการปฏิบัติ เจริญกำลังสูงสุดแห่งการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา   อารมณ์แห่งพระนิพพาน   อารมณ์ที่สะอาดจากสรรพกิเลสทั้งปวง อารมณ์อันเป็นสุข วิมุติ บริสุทธิ์อย่างยิ่ง

ขออธิษฐานให้พละสมาบัติของข้าพเจ้าแต่ละบุคคล จงเกิดผลอานิสงส์เป็นมหาโภคทรัพย์ ในขณะที่ข้าพเจ้ายังชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ ในความเป็นมนุษย์ ขอพละะสมาบัติจงส่งผลดลบันดาลให้เกิดความคล่องตัว เกิดมหาโภคทรัพย์  เกิดมหาลาภ เกิดสายสมบัติ เกิดความคล่องตัว มีความสุข มีความเจริญ มีกำลังอย่างยิ่ง ในการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ทะนุบำรุงรักษาดูแลครอบครัว ทำนุบำรุงรักษาชีวิตขันธ์ 5 ของตัวข้าพเจ้าแต่ละบุคคล ให้มีความเป็นสุข ให้มีความสัปปายะ ให้มีความสบาย ให้มีความพร้อมเต็มบริบูรณ์ในทุกสิ่ง ขอพละสมาบัติ ขอผลอานิสงค์แห่งการปฏิบัติ จงเกิดผลอัศจรรย์ทันใจ ณ บัดนี้ด้วยเทอญ

กำหนดน้อมให้กระแสจากพระนิพพาน จากกายพระวิสุทธิเทพของเรา ส่องตรงลงมายังกายเนื้อบนโลกมนุษย์ตรงลงมายังบ้านเคหะสถาน ส่งตรงลงมายังกิจการธุรกิจ สถานประกอบการของเรา ส่งตรงลงมายังบุคคลทั้งหลายที่เราดูแล ปิยะชนทั้งหลาย ญาติทั้งหลาย พ่อแม่ ท่านผู้มีคุณอันเป็นที่รัก แผ่กระแสลงมา  จิตยิ่งสว่างเป็นสุข บุญจงสำเร็จทันใจ กุศลจงก่อเกิด บุญจงสำเร็จทันใจ

จากนั้นจึงตั้งจิตใช้อาทิสมานกาย กายพระวิสุทธิเทพกราบลาพระพุทธเจ้าและทุกๆ ท่านบนพระนิพพาน
กราบลาจากการปฏิบัติพระกรรมฐานในวันนี้ กราบด้วยความเคารพ ด้วยความนอบน้อม ด้วยอารมณ์จิตที่มีความละเอียด มีความสุข มีความสว่างผ่องใส

จากนั้นจึงพุ่งอาทิสมานกายกลับมาที่กายเนื้อ ตั้งจิตอธิษฐานขอโมทนาสาธุกับผู้ที่ฝึกกรรมฐานด้วยกันในวันนี้ด้วยกันทุกคน ผู้ที่ฝึกตามในภายหลัง โมทนาสาธุบุญ ขอให้กระแสบุญจงสำเร็จประโยชน์ ทั้งความสุขความเจริญในขณะที่ข้าพเจ้าทั้งหลายมีชีวิต กัลยาณชน กัลยาณมิตร เพื่อนที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันกับเรา  ไม่ว่าจะอยู่ในเขตประเทศใดก็ตาม เทวดา พรหม ที่เมตตาสงเคราะห์มาปกปักษ์รักษาในขณะที่เราเจริญพระกรรมฐาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ครูบาอาจารย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบรมครูคือพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่เชื่อมกระแสพุทธบารมี น้อมจนถึงจิตของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอกราบโมทนา ขอน้อมกราบรำลึกถึงพระคุณทุกท่าน ครูบาอาจารย์ที่สืบต่อมาทุกท่าน ท่านที่มากำกับเมตตารักษาจิตของเรา จากนั้นจึงค่อยๆ หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ 3 ครั้ง

หายใจเข้าครั้งที่ 1 พุทธ ออก โธ  

ครั้งที่ 2 ธัมโม     

ครั้งที่ 3 สังโฆ

อารมณ์จิตผ่องใสเป็นสุขอย่างยิ่ง ออกจากสมาธิด้วยจิตอันเป็นสุข ใจยิ้ม กายยิ้ม จิตยิ้ม เมื่อจิตสบายแล้ว จิตผ่องใสดีแล้ว สำหรับวันนี้เราก็ปฏิบัติกันได้ดี ได้ก้าวหน้ากันหลายคน หลายท่านก็มีความเข้าใจในการปฏิบัติกระจ่างขึ้น ก็ขอโมทธนากับการปฏิบัติของทุกคนด้วย สำหรับในวันนี้ก็ได้ถวายมหาสังฆทานขอให้เราโมทนารวมกัน

ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณสิริญาณี แลบัว

You cannot copy content of this page