green and brown plant on water

เคล็ดลับในการใช้วิปัสสนาญาณดับอวิชชา

เวลาอ่าน : 3 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน” 

วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม 2567

เรื่อง เคล็ดลับในการใช้วิปัสสนาญาณดับอวิชชา

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

กำหนดสติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม สติอยู่ในกายคตามหาสติปัฏฐานสี่  รู้กาย รู้ปล่อยวางร่างกาย ผ่อนคลายร่างกายกล้ามเนื้อทั่วทุกส่วน กำหนดรู้กาย เพื่อละกาย เพื่อวางอารมณ์ความรู้สึกที่เกาะเกี่ยวในขันธ์ 5 ร่างกายทั้งหมด ผ่อนคลายปล่อยวางร่างกาย ผ่อนคลายปล่อยวาง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนทั่วร่าง ปล่อยวางกายแล้วจึงปล่อยวางใจ ปล่อยวางความกังวลทั้งหลาย ภาระทั้งหลาย กิจทั้งหลาย ความห่วงทั้งหลาย ความผูกพันทั้งหลาย ปล่อยวางออกไปจากจิตใจของเราให้หมด ไร้ห่วง ไร้กังวล จดจ่ออยู่กับลมหายใจ กำหนดจับลมหายใจ จินตภาพว่าลมหายใจของเราเป็นเหมือนกับแพรวไหม เป็นกระแสของปราณ พลังชีวิตไหลเวียนต่อเนื่อง ราบรื่นปลอดโปร่ง ตลอดสายตลอดทั้งกองลมนั้นไหลเวียนต่อเนื่องเข้าออกตลอดสาย จดจ่ออยู่กับลมหายใจตลอดสายนั้น  ลมหายใจยิ่งละเอียดจิตยิ่งสงบสู่สมาธิ    จดจ่ออยู่กับลมหายใจ ยิ่งเบา ยิ่งประณีต ยิ่งสงบ ลมปราณลมหายใจสัมพันธ์กับจิตใจสัมพันธ์กับสมาธิ ยิ่งลมหายใจละเอียด จิตยิ่งเข้าถึงความสงบเข้าถึงความร่มเย็น จิตสงบนิ่ง  ลมหายใจละเอียดเบา  รู้สึกสัมผัสถึงลมหายใจผ่านเข้าออกหมุนเวียนในร่างกาย กระแสลมหายใจที่ละเอียดสงบเบา

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป  เพื่อให้จิตเข้าถึงจิตอันเป็นประภัสสร กำหนดน้อมนึกให้เห็นจิตที่เปล่งประกายเจิดจ้านั้น กลายเป็นเพชรระยิบระยับ ที่เปล่งประกายพร้อมกับมีแสงสว่างรัศมี  ที่กระจายออกมาจากดวงจิตของเรา เป็นรุ้งเจ็ดสี เป็นประกายพรึกเปล่งประกายสว่าง ทรงสภาวะทรงอารมณ์ทรงภาพนิมิตทรงสภาวะที่จิตเป็นจิตประภัสสร    เปล่งประกายเป็นปฏิภาคนิมิต  มีรัศมีฉัพพรรณรังสีเปล่งประกายนั้นออกมา

จากนั้นกำหนดจิต จดจ่ออยู่กับลมหายใจที่สงบ จิตนิ่งหยุดเป็นเอกัตคตาอารมณ์ หยุดจิต หยุดการปรุงแต่ง  อุเบกขาในสิ่งที่มากระทบทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ กำหนดจิตที่นิ่งสงบ จากนั้นในความนิ่งในความสงบ เรากำหนดน้อมนึกให้เห็นในความหยุดความนิ่งนั้น  ขอจงปรากฏเป็นดวงแก้วใส “จิตคือกสิณ  กสิณคือดวงจิต” ภาพกสิณเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว กับดวงจิตของเรา จิตของเราที่เป็นดวงแก้วค่อยๆใสสว่างขึ้น เปล่งประกายมากขึ้น จนจิตของเรานั้นเป็นแก้วที่เปล่งประกายเจิดจรัสที่สุด

การทรงอารมณ์ การทรงสภาวะ การทรงภาพนิมิตนั้น การทรงไว้ให้นานที่สุด  เท่าที่จะนานได้  เป็นการฝึกให้เราทรงสมาบัติเป็นฌาน  คือมีความชิน กำลังของสมาธิกำลังของสมถะ  กำลังของฌานจะได้มีความทรงตัว ไม่มีอาการขึ้นๆลงๆ ตกฌาน สามารถทรงสภาวะความสงบนิ่ง ทรงสภาวะต่างๆ ได้ตลอดเวลา ทรงอารมณ์ไว้ด้วยความรู้สึกที่จิตของเรานั้น สว่าง สะอาด สงบ จิตมีความผ่องใส จิตมีความเบิกบานเต็มกำลัง แสงสว่างรัศมีของจิตแผ่ออกมาพร้อมกับความรู้สึกของความอิ่มใจสุขใจ   แผ่กระแสของจิตออกมา   พร้อมกับความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา   ความสงบ ความร่มเย็น ความสันติสุข เปล่งประกายแสงสว่างของจิต ให้จิตชินกับอารมณ์แห่งพระกรรมฐาน คือพรหมวิหาร 4 ความผ่องใส ความเบิกบาน

จากนั้นจึงกำหนดจิต จากจิตที่เป็นเพชรประภัสสร ทรงเป็นภาพองค์พระ เมื่อมาถึงการทรงอารมณ์จิตในพุทธานุสติกรรมฐาน เรากำหนดจิต เมื่อไหร่ก็ตาม เราตั้งกำลังใจไว้ว่า เรานึกถึงภาพพุทธนิมิตก็ดี หรือการที่เราไปไหว้พระ ไปกราบไหว้พระพุทธรูปเห็นภาพพระพุทธรูป จิตเราถึงพระพุทธองค์ จิตเราเชื่อมกระแสกับพระพุทธองค์บนพระนิพพาน เรากำหนดจิตพุทธนิมิตในดวงจิตของเรา องค์พระอยู่ภายในกายกลางอก องค์พระเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง พุทธบารมีของพระพุทธเจ้าสถิตอยู่ในกายของเรา เป็นพุทธานุภาพเต็มกำลั  งประดุจพระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับอยู่ภายในกายของเราทุกคน นิมิตองค์พระของเรา  เป็นกำลังของพุทธานุภาพ   เราได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าเข้ามาไว้ในกายในขันธ์และทวารของเรา กำหนดจิตภาพองค์พระสว่างเป็นเพชร จิตเราถึงพระรัตนตรัย จิตเราถึงพระพุทธเจ้า จิตเราถึงพระพุทธองค์บนพระนิพพาน นึกถึงพระพุทธองค์ด้วยความเคารพ นึกถึงพระพุทธองค์ด้วยความนอบน้อม  ความเคารพรักสุดหัวจิตหัวใจ

เมื่อทรงภาพพระจนมีความคล่องตัวแล้ว  ทรงอารมณ์ดีแล้วเวลาที่เรายกจิต   จากการทรงภาพพระขึ้นสู่กำลังของมโนมยิทธิ  เราก็ตั้งจิต  รำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า   ตั้งจิตอาราธนาบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์   ขอเมตตายกอาทิสมานกายของข้าพเจ้า  ขึ้นไปบนพระนิพพาน  ขึ้นไปกราบพระพุทธองค์ รวมถึงพระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆ พระองค์ มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน  ท่ามกลางพระพุทธเจ้า  ทุกท่านที่บรรลุเข้าถึงซึ่งพระนิพพานแล้วด้วยเทอญ

จากนั้นก็กำหนดจิตในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ  น้อมจิตกราบทุกท่านทุกๆพระองค์ แยกอาทิสมานกายเป็นจำนวนมากมายมหาศาล กราบพระด้วยความนอบน้อม กำหนดน้อมว่าพระที่ท่านเข้าถึงพระนิพพานแล้ว  ล้วนแต่สิ้นสรรพกิเลส ความรักโลภ โกรธ หลง ตัดชาติภพ ตัดสังโยชน์ทั้งสิบ  จิตเราน้อมยินดีมีความเคารพในพระทุกพระองค์บนพระนิพพาน มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน แล้วจิตเราก็ตั้งอธิษฐานในการที่จะปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด ตายเมื่อไหร่ขอเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

จากนั้นทรงอารมณ์จิตต่อไป ขอบารมีพระท่านทรงสงเคราะห์ ขอให้อาทิสมานกายข้าพเจ้านั่งปฏิบัติเจริญพระกรรมฐานอยู่บนพระนิพพา น นั่งอยู่บนรัตนะบัลลังก์ดอกบัวแก้วอยู่บนพระนิพพาน  จากนั้นพิจารณาธรรมต่อไป เริ่มพิจารณาธรรมด้วยตัวเราเองด้วย พิจารณาว่าสิ่งใด บุคคลใด วัตถุใด ที่เราเป็นห่วง ความเป็นห่วงนั้นก็คือความห่วงหาอาวรณ์ ความอาลัยทั้งหลาย ความติดความยึดทั้งหลาย ให้เรายกขึ้นมาพิจารณาวางพิจารณาตัดในสิ่งที่เรารักที่สุดห่วงใยที่สุด หวงแหนที่สุด รู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ที่สุด เราพิจารณาว่าเมื่อเราอยู่บนพระนิพพานแล้ว ถ้าหากเราตายไป เราอยู่บนพระนิพพาน เราจะตัดในสิ่งใดบุคคลในเรื่องราวทั้งหลายเหล่านั้นได้ไหม พิจารณาโดยพิจารณาเอามรณานุสติเป็นที่ตั้ง โดยพิจารณาว่า เมื่อตายไปแล้วสมมติทั้งหลาย หน้าที่ทั้งหลาย ภาระทั้งหลาย มันก็เสร็จ มันก็จบ มันก็สิ้นจากสมมุติ เราวางได้หรือเรายังติดห่วง ถ้ายังติดห่วงก็ยังต้องเกิดแต่ถ้าตัดห่วงได้หมด ตัดเยื่อใย ตัดอาลัย ตัดภาระได้หมด เราก็เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน กำหนดน้อมพิจารณาเป็นปัจจัตตัง ธรรมที่รู้โดยเฉพาะเจาะจงในจิตของเรา สิ่งที่เราเกาะที่สุด ห่วงที่สุด หวงแหนที่สุด บุคคลที่รักที่สุด ให้ยกสิ่งต่างๆเหล่านี้ขึ้นมาตัดเป็นเรื่องเฉพาะตน จากนั้นพิจารณาต่อไปว่า ในเมื่อสิ่งที่เรารักที่สุด หวงแหนและยึดติดที่สุดแล้ว ตัดได้ ดังนั้นทุกสิ่งเราก็ตัดได้ สังโยชน์ทั้งสิบ เราก็ตั้งใจตัดได้ ในเมื่อตายจากชาตินี้เราขอให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่เราจะเกิด เราขอเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน อยู่กับพระพุทธองค์ อยู่กับครูบาอาจารย์พระอรหันต์ทั้งหลายบนพระนิพพาน จากนี้จะให้เวลาพิจารณา สงบโดยดำรงทรงความรู้สึกในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ นั่งอยู่บนบัลลังก์ดอกบัวแก้วหน้าพระพุทธองค์บนพระนิพพาน และพิจารณาตัดของแต่ละบุคคล

เมื่อพิจารณาแล้ว เราถามจิต แล้วก็ตอบจิตของตัวเราเอง ในความห่วงทั้งหลาย ในความรักทั้งหลาย ในความผูกพันทั้งหลาย เราตัดเราวางจากจิตเราได้ไหม การพิจารณาด้วยปัญญา ที่เรียกว่า การใช้วิปัสสนาญาณในการตัดสรรพกิเลส ตัดสังโยชน์สิบ ตัดภพจบชาติ สุดท้ายที่สุดก็คือดับอวิชชา ความไม่รู้ ความหลง ความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวงออกไปจากใจ สังโยชน์ทั้งสิบเป็นเครื่องร้อยรัดจิตของเราไว้กับสังสารวัฏในแต่ละภพภูมิ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ความรักความผูกพัน กามฉันทะ ความรักระหว่างเพศตรงข้าม ดึงดูดเราไว้กับภพของมนุษย์รวมถึงภพของความเป็นเทวดาขึ้นไปจนถึงกามาวจรสวรรค์ก็คืออากาศเทวดาทั้งหมด ความยึดความเกาะที่ทำให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิด อีกอย่างก็คือความพยาบาทจองเวร ความรัก ดึงดูดให้เราปรารถนาที่จะเกิดมาพบคนรักเราทุกชาติทุกภพ พิจารณาว่าจิตของเราตอนนี้ มันเบา มันจาง มันละ มันตัด มันตัดเยื่อใยความอาลัยอาวรณ์ในบุพเพสันนิวาสในแรงอธิษฐานในการเกิดเป็นคู่อีกหรือไม่ ความอาฆาตพยาบาทจองเวรที่มีความโกรธ นำพาให้เราอยากมาเจอ มาฆ่าฟันมาประหัตประหารมาแก้แค้นมาจองเวรกัน รวมความว่าความพยาบาทนั้นเป็นตัวสร้างเจ้ากรรมนายเวรให้กับตัวเรา จิตของเราก็ตามมาเกิดเป็นเจ้ากรรมนายเวรของคนอื่น ตัดความพยาบาทได้หมด อภัยทานได้มาก เราก็หมดคุณสมบัติที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้หนึ่งผู้ใด

กำหนดใจของเรา ตัด ละ วาง ความเป็นเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ความพยาบาททั้งหลาย กำหนดใจว่าเราพร้อมที่จะให้อภัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อใจของเราสบายแล้ว ใจของเราสงบ พิจารณาว่าอารมณ์ใจอารมณ์จิตของเรา มีความยินดีในพระนิพพานมากเพียงใด  พิจารณาให้เห็นความทุกข์ที่ผ่านมาในการเกิดมาเป็นมนุษย์ เอาเฉพาะในชาตินี้ แล้วค่อยๆ ไล่ไป ในแต่ละภพ แต่ละชาติ ตลอดการเวียนว่ายตายเกิด  ในสังสารวัฏอันยาวนาน อวิชชาที่ดับลง  ก็คือเมื่อเลิกโง่เมื่อไหร่  ก็เลิกเกิดเมื่อนั้น เลิกยึดเมื่อไหร่ก็เลิกเกิดเมื่อนั้น ดับอวิชชาให้หมด มีปัญญาเห็นทุกข์ในการเกิดเห็นทุกข์ในสังสารวัฏ

พิจารณาง่ายๆ ว่า ทารก เมื่อเกิดขึ้น แรกเกิดขึ้น คลอดออกมาจากท้องแม่ สิ่งแรกที่ทำก็คือร้อง ร้องไห้อุแว้ออกมา เป็นเครื่องสอนเครื่องบอกเป็นครูของเรา ว่าเกิดมา เมื่อร้องเกิดมาออกมาจากท้องแม่ปุ๊บ ก็ร้องไห้  ก็แปลว่าเกิดมันเป็นทุกข์ เมื่อเกิดมันเป็นทุกข์แล้วก็ดูต่อไป พอเป็นวัยเด็กปรารถนาไม่สมหวัง เด็กด้วยความซื่อใสบริสุทธิ์ก็แหกปากตะเบ็งเสียง ด้วยความทุกข์ความขัดเคือง สิ่งต่างๆเหล่านี้เด็กเขาก็สอน ว่าชีวิตจริงๆมันเป็นทุกข์ เกิดมาก็เป็นทุกข์ ปรารถนาไม่สมหวังก็ทุกข์ หิวนมก็ทุกข์ ร้อนไปก็ทุกข์ เหนื่อยไปก็ทุกข์ ธรรมะในวันเด็กช่วงวันเด็กนี้ก็คือ เกิดเป็นทุกข์ ถ้าอยากจะไม่ทุกข์ก็ต้องไม่เกิด โตมาก็เป็นทุกข์อีกในการเหน็ดเหนื่อยในการเรียนหนังสือ พอเรียนจบก็ทุกข์ในการหางาน สรุปว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นทุกข์ 

แต่ในขณะเดียวกันโลกและสังสารวัฏนั้นเขาก็มีเครื่องล่อ เครื่องล่อให้เราเพลิดเพลิน มีความสุขบ้าง แต่ที่จริงพิจารณาให้ดีมันก็มีแต่ความทุกข์ เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตเราแนบในธรรมมากขึ้นปัญญาแนบในธรรมมากขึ้น อารมณ์จิต เราจะมองข้ามความสุขที่เป็นเครื่องล่อ ความสุขต่างๆนั้นที่มีเครื่องล่อเขาเรียกว่าความสุขที่เจือไปด้วยอามิส คือจะต้องมีเงื่อนไข มีเงินมีทองมีวัตถุมีสิ่งของมีอาหาร ถ้าไม่มีก็ทุกข์ขาดก็ทุกข์อยากได้ก็ทุกข์  อันนี้เรียกว่าสุขที่เจอไปได้อามิส คือมีเครื่องล่อมีของล่อใจมีวัตถุ แต่หากสุขที่ไม่เจอไปด้วยอามิส ก็ประกอบไปด้วยความสุขจากความสงบ ความสุขจากสมาธิ ความสุขจากสภาวะที่จิตเราสะอาดจากสรรพกิเลส และสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส เป็นสุขที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญที่สุดก็คือ สุขในอารมณ์แห่งพระนิพพานคืออารมณ์นั้นสงบสงัดจากความโลภโกรธหลง สงบ สงัด จากเครื่องร้อยรักในสังสารวัฏ สุขจากสภาวะที่จิตพ้นจากแรงดึงดูดของชาติภพสังสารวัฏทั้งปวง คือสิ้นภพชาติ ภาระทั้งหลายสิ้นแล้ว กิจทั้งหลายในพระพุทธศาสนาจบกิจแล้ว จิตเราเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นเอกบรมสุข อันนี้ถึงจะเป็นความสุขโดยปรมัตถ์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึง ส่วนสุขอื่นนั้นเป็นสุขเทียมที่ล่อลวงเราไว้ในสังสารวัฏ ให้เรากำหนดรู้กำหนดพิจารณาอยู่บนพระนิพพานนี้ พิจารณาว่าจริงไหม พิจารณาว่าที่ผ่านมา จิตเราหลงจิตเราเกาะอยู่กับสิ่งใด เราวางได้ไหม เรามีปัญญาค่อยๆรู้เห็นเข้าใจมากขึ้นไหม ยิ่งสละ ยิ่งละวาง จิตยิ่งเบา ยิ่งพ้นจากสังสารวัฏ ยิ่งวางได้ ยิ่งเบา ยิ่งผ่องใส

จากนั้นตั้งจิตฟังเคล็ดลับสำคัญจากอาจารย์ ย้ำไว้ในจิตย้ำไว้ในใจของเรา ให้คำของอาจารย์นั้นอยู่ในจิตของเราไว้ตลอด สมถะเข้าฌานรวดเร็ว วิปัสสนาปล่อยวางรวดเร็ว

ให้พิจารณาต่อไปนะ เข้าฌานรวดเร็วเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียวเราทำได้ไหม เริ่มทำได้คล่องตัวหรือยัง ดึงกำลังของฌานสมาบัติที่เราเข้าได้อย่างรวดเร็ว มาตั้งจิตอธิษฐานว่านับแต่นี้สิ่งที่กระทบเราปล่อยวางได้เร็ว เมตตาได้เร็ว ปล่อยวางได้หมดอภัยให้หมดจนไม่เหลือในจิต เมื่อวางได้เร็วมากเท่าไหร่ อภัยได้เร็วมากเท่าไหร่ ปล่อยวางได้เร็วมากเท่าไหร่ จิตเราก็ยิ่งสะอาดขึ้นมากขึ้น จิตอันไร้ภาระความรักความกังวลความทุกข์การปล่อยวางได้มากขึ้น

ปล่อยวางเมื่อไหร่ใจก็หยุดปรุง นับแต่นี้สิ่งใดมากระทบ วางให้หมด เรื่องราวใดๆที่เรารับรู้รับทราบที่เป็นเรื่องอกุศลที่เป็นเรื่องไม่ดีปล่อยวางให้หมด

กำหนดอธิษฐานต่อหน้าสมเด็จองค์ปฐมพระพุทธเจ้าทุกพระองค์บนพระนิพพาน ข้าพเจ้าขอปล่อยวาง เมตตาอภัย ให้กับสรรพสัตว์ ปล่อยวางความทุกข์ที่เคยแบกที่เคยหนักในใจ ปล่อยวางภาระที่เคยกังวลไว้ในใจ ขอปล่อยวางออกไปจากใจให้หมด ให้จิตของข้าพเจ้ายิ่งเบายิ่งใส ใจสบายๆ กำหนดรู้ดูจิตของเราเองว่าจิตของเราเบาขึ้นไหม ปล่อยวางได้มากขึ้นไหม

กำหนดพิจารณาในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ กำหนดรู้ในความใสในความสว่างในรัศมีกายและความเบาแห่งจิต เราเข้าถึงสภาวธรรมแห่งพระนิพพานได้อย่างลึกซึ้งแท้จริงหรือไม่ ปล่อยวางเป็นอิสระจากภพชาติจากสังสารวัฏ มีความเบา มีความสงบเย็นมีความเอิบอิ่ม

ทรงอารมณ์พระนิพพานไว้ให้จิตผ่องใสที่สุด หัวใจสำคัญของอารมณ์พระนิพพานคือ เมื่อเราใช้กำลังของมโนมยิทธิ ยกอาทิสมานกายขึ้นมาบนพระนิพพาน ยิ่งพิจารณาจิตชำระล้างสรรพกิเลสให้สะอาดหมดจดโดยละเอียด ตลอดเวลาทุกนาทีที่เราทรงอารมณ์บนพระนิพพาน จิตเราก็มีความชินคือ ทรงฌานในอารมณ์พระนิพพาน จิตก็ยิ่งเพิ่มความตั้งมั่น ความแนบ ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระนิพพานมากขึ้นเพียงนั้น เมื่อจิตชินกับอารมณ์พระนิพพานมากเท่าไหร่ เมื่อถึงเวลาที่เราละจากร่างกายขันธ์ห้านี้ จิตเราก็มาถึงซึ่งพระนิพพานโดยธรรมชาติโดยความเคยชินที่เราอธิษฐานจิตไว้ ตายเมื่อไหร่เราขอถึงซึ่งพระนิพพานในชาตินี้

ดังนั้นในการปฏิบัติ ยิ่งทรงอารมณ์บนพระนิพพานนานเท่าไหร่ ชินกับอารมณ์แห่งอรหัตผล คืออารมณ์แห่งพระนิพพานได้นานเท่าไหร่ กำลังใจเราก็ทรงความบริสุทธิ์สูงสุดในกำลังพระกรรมฐาน ถือว่าเราทรงกำลังของสมาธิเต็มกำลังเต็มอัตราแล้ว หรือแม้แต่กระทั่งการที่เราเจริญพระกรรมฐานในแต่ละกองในแต่ละการพิจารณา เช่น พิจารณาในกรรมฐาน 40 กอง เวลาพระท่านสอนท่านไม่ได้สอนให้หยุดเพียงแค่สมถะ คือทรงในอารมณ์ของกรรมฐานกองใดกองหนึ่งนั้น หรือทั้ง 40 กองนั้นจนถึงซึ่งฌาน 4 หรือสมาบัติ 8 แต่อันที่จริงถ้าจะปฏิบัติให้ได้ผลดีที่สุด ท่านบอกให้พิจารณาธรรมต่อจากข้อของกรรมฐานในแต่ละกองนั้น จนสุดที่อารมณ์พระนิพพานเสมอทุกกอง เมื่อไหร่ก็ตามที่กรรมฐานทุกกอง สิ่งที่กระทบทุกอย่าง เราพิจารณาจนจบในอารมณ์พระนิพพานได้ทั้งหมด อารมณ์จิตเราก็จะมีความคล่องตัวมีความแนบในวิปัสสนาญาณอย่างยิ่ง เห็นใบไม้ร่วง 1 ใบก็นำมาพิจารณาโดยปัญญาให้เห็นอนิจลักษณะ ความเกิด ดับ แล้วก็ไปจบที่พระนิพพานได้ เห็นนกกระยางกินปลา ปลาเกิดใหม่มากินนกกระยาง เวียนว่ายตายเกิด เห็นทุกข์ เห็นการเวียนว่ายตายเกิด เห็นกฎของกรรมเห็นความอาฆาตพยาบาท พิจารณาต่อว่า วงเวียนแห่งความพยาบาทการจองเวรนั้น จะหลุดจากวงจรนั้นได้ก็มีเพียงอโหสิกรรมให้อภัย ตราบไม่อโหสิกรรมต่อกัน ก็ผลัดกันฆ่า ผลัดกันกิน กินไปกินมา จนกระทั่งหาที่สิ้นสุดของสังสารวัฏไม่ได้ ร้อยชาติพันชาติหมื่นชาติแสนชาติ

มีพระภิกษุรูปหนึ่งนั่งพิจารณาปฏิบัติธรรม เห็นนกกระยางกินปลา บรรลุอรหันต์ ด้วยการพิจารณาดังนี้ เห็นทุกข์จากการเบียดเบียน เห็นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด เห็นทุกแห่งวงจรของกฎแห่งกรรม ออกจากวงจรของกฎแห่งกรรม คือการไม่เกิด ดังนั้นก็ปรารถนาพระนิพพาน ดับความพยาบาท ดับความจองเวร ดับสังสารวัฏ ดับอวิชชาความโง่ที่ทำให้หลงเกิดหลงฆ่ากันหลงพยาบาทกัน ท่านก็บรรลุอรหันต์ด้วยการเห็นด้วยการภาวนาว่า “นกกระยางกินปลา” อันนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก ต่อมาก็จะเล่าให้ฟังถึงกรณีแบบอย่างของท่านที่ปฏิบัติ อย่างหลายคนถ้าเป็นคนรุ่นเก่าที่ทันหลวงพ่อ มาพบหลวงพ่อ มากกว่า 30 ปีขึ้นไป 20 กว่าปีขึ้นไปก็จะทัน ไวยาวัจกรก็คือ ท่านที่เป็นคนสนิทของหลวงพ่อ ท่านหนึ่งที่ชื่อว่าลุงยกทรง ที่ลุงยกทรงมีชื่อว่าลุงยกทรงนี้เพราะว่าแต่เดิมอาชีพของแก ขายเครื่องชุดชั้นในอยู่ที่ตลาดประตูน้ำ แล้วก็เป็นหน้าที่ที่ท่านต้องมารับใช้เป็นไวยาวัจกรถามตอบธรรมะกับหลวงพ่อท่าน ก็มีเหตุที่ทำให้ร้านต้องปิดต้องเลิกและหลวงพ่อก็เมตตาเลี้ยงดูว่า ให้มาอยู่กับท่านเดี๋ยวท่านเลี้ยงเอง ลุงยกทรงเขาทำหน้าที่ไวยาวัจกร ให้กับหลวงพ่อมาตลอดแม้หลวงพ่อมรณภาพแล้ว ซึ่งก็มีโอกาสมีจังหวะที่อาจารย์ได้พบกับลุงยกทรงนี้ค่อนข้างบ่อยโดยเฉพาะช่วงแรกที่มาปฏิบัติที่วัดท่าซุง ความสำคัญของลุงยกทรงอย่างหนึ่งที่มีกับทางอาจารย์ก็คือ ทุกครั้งที่อาจารย์ไปที่วัดท่าซุง แกจะทักเสียงดังมาแต่ไกล บอกว่าจอมยุทธมาแล้ว จอมยุทธมาแล้ว จอมยุทธมาแล้ว ทักอย่างนี้ทุกครั้งจนกระทั่งอาจารย์เอะใจก็เลยค่อยๆฝึก ค่อยๆสาว ค่อยๆดึงวิชาเก่า ดังนั้นส่วนหนึ่งแกก็มีพระคุณในฐานะผู้ที่สะกิด ผู้ที่ปลุกของเก่าบางอย่างหลายๆวิชาของอาจารย์ขึ้นมา ดังนั้นแนวทางบางครั้งที่อาจารย์สอน ก็จะมีแนวทางของในเรื่องของศาสตร์ ในเรื่องของปราณ ในเรื่องของของเก่าที่อาจารย์เคยได้ ในชาติที่ไปเกิดบำเพ็ญบารมี ในสายมหายานในประเทศจีนบ้าง ในประเทศญี่ปุ่นบ้าง

คราวนี้สิ่งที่จะเล่า ถือว่าเป็นกำลังใจของลุงยกทรงก็คือ   พอช่วงใกล้การมรณะของคุณลุงยกทรง อาจารย์ก็มีโอกาสไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลด้วยความที่รู้จักมักคุ้นเห็นหน้าเห็นตากัน ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลจังหวัดอุทัย  พอไปเยี่ยมปุ๊บก็เห็นเลย ลุงยกทรงก็ลืมตาขึ้นมานิดหนึ่ง แต่ทรงอารมณ์แน่นมาก อาจารย์ก็ทักถามจำได้ไหม นี่มาเยี่ยม แกก็ไม่พูดไม่ตอบไม่ทำอะไรทั้งสิ้น พยักหน้า ปิดตาแล้วพยักหน้าอย่างเดียว แต่จิตที่ดูก็คือ ก็รู้ว่าแกใกล้จะไป จิตแกยกขึ้นไปอยู่กับพระพุทธเจ้าตลอดเวลา เรียกว่ากอดพระบาทพระพุทธเจ้าแน่น ไม่ลงมาบนโลกมนุษย์ อาศัยมีคนทักมีคนเรียกก็แยกมานิดหนึ่ง แต่พยายาม ทรงอารมณ์จิตให้มั่นคง อาจารย์เห็นอย่างนั้นก็ สาธุ ทรงอารมณ์พระนิพพาน ตายเมื่อไหร่ นิพพานอย่างเดียว คือรู้ตัวตลอด มีสติรู้ตัวตลอด แต่สิ่งสำคัญก็คือ พยายามทรงอารมณ์จิต เกาะอยู่กับพระนิพพานตลอดเวลา  เรียกว่าตายไปวินาทีไหน ไปพระนิพพานทันที หลังจากไปเยี่ยมไม่นาน น่าจะประมาณไม่เกินเจ็ดวันก็ได้ข่าวว่าท่านเสียชีวิต ซึ่งท่านก็ไปถึงซึ่งพระนิพพานได้ตามที่ท่านตั้งจิตปรารถนา อันนี้ก็เป็นแบบอย่างสำคัญของท่านที่ปฏิบัติโดยทรงอารมณ์ในกำลังของมโนมยิทธิ   แล้วก็จิตเกาะพระนิพพาน   ในที่สุดท่านก็ไปพระนิพพานได้ ไหนๆ อ้างถึง ขอให้กายทิพย์ของท่านปรากฏ ขอให้ท่านเมตตาให้พรลูกหลาน ขอให้เราทุกคนมาพระนิพพานได้ เมื่อกี้พอเล่าถึงเอ่ยถึง เห็นท่านใส่ชุดขาวคือชุดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ห้อยพระหลวงพ่อเต็มคอชะเง้อมาไกลนะ อันนี้ก็เลยต้องอัญเชิญท่าน ขอให้ท่านเมตตามาโปรด ตอนนี้สบายไหม ท่านให้พรว่าขอให้พวกเรามานิพพานให้ได้ มาอยู่กับหลวงพ่อให้ได้ทุกคน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องราวประสบการณ์ของท่านที่ปฏิบัติ

ดังนั้นการทรงอารมณ์พระนิพพานเป็นเรื่องสำคัญ การที่เราฝึกบ่อยมากเท่าไหร่ ทรงอารมณ์ได้มากเท่าไหร่ จิตเราก็จะยิ่งห่างจากสรรพกิเลสมากเท่านั้น  ตอนนี้ให้เราทุกคนก็ยังทรงความรู้สึกว่าเรายังอยู่บนพระนิพพานอยู่ พิจารณาว่าเมื่อไหร่ที่เราจบกิจ ภาระทั้งหลายก็หมด ความทุกข์ทั้งหลายก็หมด ชาตินี้ก็อีกเพียงนิดเดียวเท่านั้น เวลาในโลกทิพย์ ก่อนที่เราจะเข้าถึงซึ่งพระนิพพานก็ไม่นานเป็นเพียงเวลาแค่ไม่กี่อึดใจ ดังนั้นเราก็จงมีความอดทนมีความเพียรมีความขยันมีความตั้งมั่น ยิ่งแนบอยู่ในการปฏิบัติมากเท่าไหร่ ยิ่งแนบอยู่กับพระพุทธองค์มากเท่าไหร่ ยิ่งแนบกับพระนิพพานมากเท่าไหร่ จิตเราก็ไม่คลาดจากพระนิพพานไปถึงพระนิพพานได้แน่นอน

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป น้อมอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกๆพระองค์มีพระพุทธเจ้าสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ขอน้อมกระแสจากพระนิพพาน ขออาราธนากระแสบารมีของพระมหาโพธิสัตว์พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เทพพรหมเทวาสัมมาทิฐิทั้งหลาย บารมีแห่งพระสยามเทวาธิราช บารมีแห่งบูรพมหากษัตราธิราชเจ้าทุกๆ   พระองค์เทพพรหมเทวาสิ่งศักดิ์สิทธิ์   มีพระอินทร์  ท่านท้าวสหัมบดีพรหม    พญายมราช ท้าวมหาราชทั้ง 4 เป็นอาทิ

ขออาราธนาบารมีกระแสบุญแผ่ลงมายังโลกมนุษย์ ขอกำลังแห่งกุศลทั้งหลาย ผลบุญทั้งหลาย ที่สาธุชนคนดีได้กระทำบำเพ็ญ ในทาน ศีล ภาวนา จงถักทอเป็นกระแสบุญ คุ้มครองให้โลกใบนี้เปิดเข้าสู่ยุคชาววิไล ขอบุญจงส่งผล ขอบุญจงเปิดบารมี ขอบุญจงเปิด กระแสธรรม กระแสกุศล จงงอกงาม และขอให้เราทุกคน จงเปิดบุญเปิดบารมีของตนขึ้น กุศลทั้งหลายจงส่งผล ผลแห่งการเจริญพระกรรมฐานทั้งหลายจงส่งผล ทานทั้งหลายอันก่อให้เกิดมนุษย์สมบัติ จงเปิดสายบุญสายทรัพย์สายสมบัติของเราทุกคนขึ้นมา ขุมทรัพย์นับอนันต์ที่จะปรากฏผุดขึ้นในยุคชาววิไล ขอจงจ่อจงพร้อมรอเปิดให้เป็นกำลังสำหรับการทำงาน ในการสร้างสันติสุขสันติภาพความอุดมสมบูรณ์ให้กับโลกใบนี้ ขอให้ภาคทิพย์ทั้งหลาย ท่านผู้มีกายทิพย์ทั้งหลาย ได้มีกำลัง

ขอบุญทั้งหลายจงส่งผลถึงทุกท่านทุกๆพระองค์ ขอบารมีแห่งพระโพธิสัตว์พระมหาโพธิสัตว์ที่เมตตาลงมาจุติบนโลกมนุษย์ขณะนี้ ขอจงเชื่อมบารมี เชื่อมกระแส เชื่อมธรรม เพื่อยังประโยชน์สุขสานสันติสุขสันติภาพให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ ท่านที่จะเกิดมาในแต่ละสมมุติ ในเพศในภูมิต่างๆ ก็ขอจงเปิดบารมีขึ้นทุกท่านทุกๆพระองค์ ขอจงรู้ตื่นขึ้นบารมีปรากฏขึ้น กำลังใจหน้าที่ขอจงปรากฏกระจ่างแจ้งยังประโยชน์ต่อมวลหมู่สรรพสัตว์ด้วยเถิด ขอพระโพธิสัตว์พระมหาโพธิสัตว์ผู้อยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต ได้โปรดโมทนาสาธุและเป็นกำลังให้กับท่านทั้งหลายที่ทำงานถวายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผู้ที่ทำในปฏิปทาส่วนรวมเพื่อโลก เพื่อสันติสุข เพื่อมวลสรรพสัตว์ ขอกำลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพเทวดานุภาพจงปรากฏ ขอจิตขอกำลังใจข้าพเจ้านี้จงเป็นกำลังที่มั่นคงในหน้าที่ ในปฏิปทาสาธารณประโยชน์ ในขณะที่มีชีวิต ขอข้าพเจ้าได้ตอบแทน ชาติตอบแทนแผ่นดิน ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ยอยกสถาบันพระมหากษัตริย์ ตายเมื่อไหร่ข้าพเจ้าขอไปพระนิพพาน ในระหว่างที่มีชีวิตก็ยังประโยชน์สุขคุณค่าสูงสุดให้กับส่วนรวม ไปพระนิพพานอย่างสง่างาม ปราศจากความอาลัย สร้างบารมี สร้างความดี ทิ้งทวนไว้ให้กับโลกให้กับแผ่นดิน ขอให้เราทุกคน ไปพระนิพพานอย่างสง่างาม

จากนั้นก็กราบลาทุกท่านทุกๆพระองค์ แล้วก็น้อมจิตลงมาจากพระนิพพาน ลงมาที่กายเนื้อ น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมายังกายเนื้อ ฟอกธาตุขันธ์ เป็นลำแสงสว่างสีขาวเป็นประกายพรึกเป็นประกายรุ้ง ฟอกกายหยาบ ฟอกธาตุขันธ์ ผมขนเล็บฟันหนังขาวใสสะอาดเป็นแก้ว  โครงกระดูกเส้นเอ็นหลอดเลือดกล้ามเนื้อใสเป็นแก้ว  อาการทั้ง 32  ภายในร่างกายทั้งหมดใสเป็นแก้ว โรคภัยไข้เจ็บสลายหายไปจนหมด

จากนั้นน้อมจิตอธิษฐาน เปิดสายบุญ สายทรัพย์ สายบารมี ขอจงเป็นมนุษย์สมบัติอันจับต้องได้ ให้ข้าพเจ้าใช้สร้างความดี ดูแลทำนุบํารุงตนเองครอบครัวส่วนรวม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาประเทศชาติแผ่นดิน ขอเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษา ทรัพย์สมบัติบารมีเก่าของข้าพเจ้าแต่ละบุคคล เมตตาอนุญาตเปิดสายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมีลงมาเต็มกำลังด้วยเถิด ให้ผลแห่งการปฏิบัตินี้ ดีต่อตน อาศัยกำลังแห่งสมาบัติที่รวมตัวกันเป็นอภิจิตนี้ เป็นกำลังบุญให้กับชาติ ให้กับแผ่นดิน ให้กับพระพุทธศาสนา ให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้การปฏิบัตินี้เป็นไปเพื่อมรรคผลพระนิพพานของเราแต่ละคน คุณประโยชน์ผลอานิสงส์แห่งการปฏิบัติของเรานั้น ก็บรรลุผลสูงสุด ให้เรามีความเข้าใจในการปฏิบัติอย่างลึกซึ้งชัดแจ้งชัดเจน ธรรมทั้งหลายกระจ่างประดุจลายฝ่ามือของเราเอง

จากนั้นหายใจเข้าลึกๆช้าๆ 3 ครั้ง หายใจเข้าพุทธ ออกโท พุทโธ ธัมโม สังโฆ จิตสงบ ผ่องใสแย้มยิ้มเบิกบาน โมทนาบุญกับเพื่อนกัลยาณมิตรทุกคนที่ปฏิบัติพร้อมกันในวันนี้ 68 ท่าน แล้วก็ที่ตามมาฟังภายหลังให้มีส่วนในบุญในกุศล ให้เทวดาพรหมที่ท่านมาปกปักรักษาในขณะที่เราเจริญพระกรรมฐานได้มีส่วนร่วมในบุญในกุศล ให้เทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ท่านเป็นผู้มีพระคุณของเรามีส่วนร่วมในบุญในกุศล พ่อแม่ทั้งชาติปัจจุบันอดีตชาติ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ผู้มีพระคุณ ขอบุญกุศลทั้งหลายถึงทุกท่านทุกรูปทุกนามด้วยเทอญ ขอบารมีจงเปิด ปีนี้ก็น่าจะเป็นปีที่มีงานเข้มข้นขึ้นในงานของส่วนรวม  ให้เราตั้งกำลังใจให้ดีๆ ยิ่งให้ยิ่งได้ ยิ่งทำให้ส่วนรวมมาก ยิ่งบรรลุธรรมเร็ว ยิ่งบารมีเต็มเร็ว แล้วก็อย่าลืมที่จะเขียนแผ่นทองอธิษฐานพระนิพพานไว้ ตั้งใจว่าเขียนให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 100 แผ่น ใครที่ยังไม่ได้แผ่นทองก็สามารถแจ้งขอมาได้

สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน แล้วก็ให้เราโมทนาบุญในงานบุญใหญ่ที่ผ่านมา ที่ลามะน้อยท่านเสด็จมาแสดงธรรมในประเทศไทยครั้งแรกและท่านก็เมตตาอำนวยพร ซึ่งต่อไปท่านก็จะปรากฏบารมีขึ้นเป็นพระโพธิสัตว์ที่ช่วยนำสันติสุขสันติภาพมาสู่โลกใบนี้ เป็นองค์สำคัญพระองค์หนึ่ง แล้วก็บุญกุศลที่เราได้ร่วมจัดงานนั้นก็ถือว่าเป็นงานสำคัญคือ เป็นงานที่เชื่อมกระแสธรรมสองแผ่นดินคือแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรภูฏาน

ส่วนพระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิเปิดโลกที่ถวาย พระองค์ก็ทรงโปรด ทรงตั้งจิตอธิษฐานในขณะรับ ค่อนข้างนานเป็นพิเศษ เราทุกคนก็ได้มีส่วนร่วมกัน ซึ่งความหมายของการถวายพระทรงเครื่องจักรพรรดิเปิดโลกก็คือ เพื่อถวายเป็นกำลังพระราชหฤทัยของท่านในการเปิดบารมี แล้วก็ให้บารมีของท่านช่วยยังประโยชน์ความผาสุขสันติสุขกับโลกใบนี้ ดังนั้นอานิสงส์ที่ถวายของที่ถวาย อันที่จริงมีความในความหมายลึกซึ้งในธรรมเสมอ บุญที่เราร่วมก็ได้อานิสงส์พร้อมกันทุกคน

สำหรับวันนี้ก็โมทนาบุญกับเราด้วยที่ตั้งใจปฏิบัติ มีความเพียร มีความสม่ำเสมอ เป็นความดีที่น่าชื่นชม 

สำหรับวันนี้ก็โมทนาบุญให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ  พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดี

ถอดเสียงและเรียบเรียงโดย : คุณ Ladda

คุณไม่สามารถคัดลอกเนื้อหานี้ได้