เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฏาคม 2567
เรื่อง พื้นฐานเบื้องต้นของสมถะในอานาปานสติ
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดสติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลายปล่อยวางร่างกายของเราให้เข้าถึงความสงบ ปล่อยวางความทุกข์ความกังวลทางจิตใจทั้งหลายออกไปจากจิตใจของเรา
เมื่อผ่อนคลายร่างกาย ปล่อยวางจิตใจของเราแล้ว เราจึงกำหนดที่จะน้อมจิต พิจารณาในธรรมะ พิจารณาในการปฏิบัติ วันนี้ก็จะเป็นโอกาสพิเศษที่จะเป็นการทบทวนในเรื่องของสมถะกรรมฐาน หวนย้อนคืนตั้งแต่พื้นฐานเบื้องต้น นั่นก็คือสมถะในอานาปานสติ อานาปานสตินั้นคือการทำสมาธิโดยจิตกำหนดรู้ผูกกับลมหายใจ ซึ่งการกำหนดใช้สติให้เป็นสมาธิอยู่กับลมหายใจนั้น ท่านหมั่นหมายเอาสติที่รู้ลมที่มากระทบจมูก ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก รวมไปถึงการใช้คำบริกรรมต่างๆกำกับภาวนาขณะที่เรารู้ลม รวมความก็เหมือนกับว่าเราใช้มือสองมือ คือสติ จับทั้งลมที่กระทบ จับทั้งคำบริกรรมที่เราภาวนา
โดยส่วนใหญ่คำบริกรรมมาตรฐานที่ใช้กันก็คือ พุท-โธ คือลมหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ การรู้ลมกระทบนั้นก็สามารถจำแนกได้ว่า กำหนดรู้ในลม 1 ฐาน ลม 1 ฐานก็กำหนดลมกระทบจมูก เข้ากำหนดรู้ ออกกำหนดรู้
ลม 3 ฐานคืออีกขั้นหนึ่งที่มีความละเอียดขึ้นก็คือ ลมกระทบจมูก กระทบอก กระทบท้อง ลมหายใจออกกระทบท้องกระทบอก กระทบจมูก แต่เวลาบริกรรมก็ใช้คำภาวนาเดิม
ส่วนอีกแนวทางหนึ่งก็คือการรู้ลมตลอดสาย ถ้าเราลองฝึกดูเราก็จะพบว่า การกำหนดรู้ในลมฐาน 1 หรือลม 3 ฐานนั้น บางครั้งจิตมันยังมีอาการสะดุด แต่พอกำหนดรู้ลมตลอดสาย เห็นลมหายใจเหมือนแพรวไหม พลิ้วผ่านเข้าออกในกาย เราจะพบว่าลมหายใจมันมีความราบรื่น ถ้าภาษาอังกฤษก็เรียกว่าลมหายใจมันมีความสมูท ราบรื่น เมื่อมันมีความราบรื่นไม่มีอาการสะดุด จิตก็รวมลงเป็นสมาธิได้ง่ายได้เร็วขึ้น อันนี้ก็เป็นเคล็ดลับส่วนหนึ่ง
หรือพอการที่เรากำหนดนึกภาพเห็นลมหายใจเป็นเหมือนกับแพรวไหม การที่เราเห็นลมหายใจเป็นประกายระยิบระยับเหมือนกับแพรวไหมก็คือเห็นมวลของอากาศเป็นประกายระยิบระยับ อันที่จริงการกำหนดเช่นนี้ก็กลายเป็นการเอา อานาปานสติมาผนวกกับกสิณลม คือเห็นลมนั้นเป็นประกายพรึกระยิบระยับแพรวพราว ดังนั้นจิตมันก็กลายเป็นว่า เราเกิดกำลังของสมาธิจากกสิณลมมาผนวกกับอานาปานสติ ดังนั้นกำลังมันก็สูงกว่าการที่กำหนดแค่การรู้สติรู้ในลมกระทบ อันนี้ก็เป็นอุบายของครูบาอาจารย์ที่สอน
คราวนี้นัยยะในการปฏิบัติ อันนี้อธิบายโดยพิสดาร
ถ้ากรรมฐานโบราณโดยที่โบราณอาจารย์ท่านสอน มีความพิสดารเพิ่มขึ้นไปอีก คือเป็นการกำหนดรู้ลมหายใจเข้า แยกรูจมูกซ้ายรูจมูกขวา เวลากำหนดจิต นึกภาพเป็นดวงอาทิตย์ปรากฏลอยอยู่เบื้องหน้า ดวงอาทิตย์เป็นทรงกลมเป็นลูกกลม สูดลมหายใจให้ดวงอาทิตย์เข้าทางรูจมูกขวา เรียกว่า “ลมหายใจสุริยะคาถา” ซึ่งการกำหนดจิตก็มีการอธิษฐาน มีคาถากำกับ มีการดึงพลังแห่งสุริยะเข้าไปในภาพนิมิต ลมหายใจนั้นก็ดึงเอาดวงสุริยะคือดวงตะวันสุริยะคาถาเคลื่อนไปตามจักระ เคลื่อนเข้าโพรงจมูกขึ้นไปแทงกั๊กศีรษะ เคลื่อนผ่านคอผ่านอกลงไปที่ท้อง ท้องอกผ่านออกไปทางจมูก อันนี้ว่ากันหนึ่งข้าง พออีกข้างหนึ่งก็กำหนดเป็นดวงจันทร์เรียกว่า “จันทรคาถา” ลมปราณลมหายใจจันทรคาถา ดึงพลังของดวงจันทร์หายใจเข้าผ่านเข้าทางรูจมูกเคลื่อนขึ้น ลงไปอยู่ที่ฐานที่ตั้งของจิตที่ท้อง หายใจออกดวงจันทร์ก็ลอยเคลื่อนคล้อยออกมา
จากนั้นก็กำหนดรู้ทั้งลมหายใจเข้าแยกซ้ายขวา ปรากฏเป็นสุริยันจันทรา ซี่งการที่ปรากฏแยกละเอียดเข้าไปอีก มีพลังของสุริยันจันทรา ถ้าเปรียบเทียบกับศาสตร์ทางของจีน สุริยะก็คือดวงอาทิตย์เป็นธาตุร้อน จันทราก็เป็นแสงสว่างของธาตุเย็น ก็กลายเป็นเกิดพลังความสมดุลของหยินหยาง พลังของดวงสุริยะพลังของดวงตะวันก็รวมลงสู่กายของเรา อันนี้คือโดยพิสดาร
หรือบางครั้งครูบาอาจารย์ท่านสอนบางองค์ท่านก็สอนให้เห็นเป็นดวงแก้ว หายใจเข้าเป็นดวงแก้วลอยอยู่เบื้องหน้าจมูก หายใจเข้าดวงแก้วเคลื่อนลงไปที่ฐานที่ตั้งของจิต หายใจออกลมพร้อมกับดวงแก้วก็ลอยเคลื่อนออกมา คือแทนที่กำหนดเป็นลมก็กำหนดเป็นดวงแก้วเคลื่อนไหวตามลมหายใจ อันนี้สรุปว่าครูบาอาจารย์ท่านก็สอดแทรกเอาวิชาที่สูงเข้ามารวมตัวด้วย ซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นว่าบุคคลทั้งหลายที่มาฝึกโดยมีนัยยะโดยกำหนดเป็นดวงแก้วพร้อมกับอานา กลับกลายเป็นว่าจิตเป็นสมาธิได้ง่ายกว่าดีกว่า รวมถึงกลายเป็นได้กสิณไปในตัว อันนี้ก็เป็นนัยยะที่อธิบายโดยพิสดาร แต่ถ้าโดยทั่วไปเรากำหนดรู้ กำหนดรู้ว่าอันที่จริงอานาปานสติเป้าหมายวัตถุประสงค์คือเพื่อสงบระงับความฟุ้งซ่านของจิต ให้จิตสงบระงับลง เข้าถึงลมหายใจสบาย ลมหายใจสบายและอารมณ์จิตสบายสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน พอใจสบายใจสงบลง เราก็เดินจิตเข้าสู่กรรมฐานที่สูงขึ้นไล่ขึ้นไปตามลำดับ
คราวนี้กลับมาย้อนทวนถึงอานาปานสติ อานาปานสตินั้นการที่เราจะฝึกได้ จะมีเคล็ดลับเรียกว่าเป็นเคล็ดวิชาที่ทำให้ลัดเร็วขึ้นอีก 2 อย่าง 2 ส่วนที่อาจารย์เรียนมาจากครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิเช่นพระอาจารย์มหาถาวร วัดปทุม หรือแม้แต่คำสอนในบางบทของหลวงพ่อฤาษีพระราชพรหมยานก็กล่าวไว้ คือการที่จะเข้าสู่อานาปานสติที่เป็นลมละเอียด เราก็มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดจิตหรือฝึกที่จะล้างลมหยาบ
การล้างลมหยาบเพื่อเข้าถึงลมละเอียดก็มีเทคนิคง่ายๆ ซึ่งสักครู่ก็จะให้เราฝึกทำตามไปพร้อมกัน สำหรับบางคนที่มาฝึกในภายหลังซึ่งอาจารย์อาจจะข้ามขั้นตอนนี้ไป เราก็จะได้ทบทวน เราก็จะได้ฝึก
เริ่มต้นฝึกการล้างลมหยาบเพื่อให้เข้าถึงลมละเอียด ทางที่ดีที่ได้จากประสบการณ์ในการสอนที่พบว่าทำให้ได้ฌานสี่เร็วที่สุดในอานาปานสติ คือการกำหนดรู้ลมตลอดสาย เห็นลมหายใจเหมือนแพรวไหมเป็นประกายระยิบระยับพลิ้วผ่าน อันนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานที่ควรทำได้ ซึ่งก็จะเป็นการแถมกสิณลมไปในตัว
คราวนี้ให้เรากำหนดจิตล้างลมหยาบเพื่อให้เข้าถึงลมละเอียด หายใจเข้า ช้า ลึก ยาว พอลมหายใจลงไปที่ท้องจนเต็ม กำหนดหยุดจิตที่ฐานที่ตั้งของจิตที่ท้องที่ตันเถียน จากนั้นบริการพุทโธ ธัมโม สังโฆ1 พุทโธ ธัมโม สังโฆ2 พุทโธ ธัมโม สังโฆ3 เริ่มต้นกำลังไม่ไหวก็เอาแค่ 3 จบ จากนั้นหายใจออก ช้า ลึก ยาว จนท้องแฟบไปจนสุด
จากนั้นหายใจเข้าอีกครั้งหนึ่ง ช้า ลึก ยาว กักลม หยุดจิต นิ่งหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายที่ท้อง บริกรรม พุทโธ ธัมโม สังโฆ1 พุทโธ ธัมโม สังโฆ2 พุทโธ ธัมโม สังโฆ3 พุทโธ ธัมโม สังโฆ4 หายใจออก
หายใจเข้ากักลมไว้ที่ท้อง พุทโธธัมโมสังโฆ1 พุทโธธัมโมสังโฆ2 พุทโธธัมโมสังโฆ3 พุทโธธัมโมสังโฆ4 หายใจออก
หายใจเข้ากักลมไว้ที่ท้อง นิ่งหยุดสบายๆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ หายใจออก
หายใจเข้า กักลมไว้ ใจสบายๆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ หายใจออก
หายใจเข้า กักลมไว้ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ หายใจออก
หายใจเข้า กักลมไว้ ช้า ลึก ยาว พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ พุทโธธัมโมสังโฆ หายใจออก
จากนั้นปล่อยลมหายใจตามปกติ เรากำหนดจิตเพียงเห็นลมหายใจเป็นแพรวไหม ปล่อยให้ร่างกายเขาหายใจสั้นยาวละเอียดไปตามธรรมชาติ เราไม่ต้องบังคับลมหายใจ เราเป็นผู้ติดตามดูติดตามรู้ลมหายใจตลอดสายตลอดทั้งกองลม แล้วเราสังเกตดู เราจะเห็นว่าลมหายใจนั้นมันค่อยๆเบาลง ละเอียดลง สงบลง อยู่กับลมหายใจสบาย สงบ ไม่ช้าลมหายใจก็สงบระงับ นิ่งหยุด ลมหายดับเป็นเอกัตคตารมณ์
ตอนนี้หยุดจิต สงบนิ่ง นิ่งหยุด เบาสบาย ทรงอารมณ์ความนิ่งความหยุดของสมาธิ เอกัตคตารมณ์อุเบกขารมณ์ไว้
จากนั้นน้อมจิตมาพิจารณาฟังธรรมต่อไป
ในการฝึกล้างลมหยาบเพื่อเข้าถึงลมละเอียด เทคนิคที่ฝึกที่ปฏิบัตินี้สมัยก่อนช่วงที่อาจารย์สอนสมาธิใหม่ๆ ก่อนที่จะพาเข้าฌานสี่เพียงลัดนิ้วมือเดียว ก็มักจะใช้กระบวนการนี้ในการแนะนำสมาธิเสมอ จนกระทั่งจิตตานุภาพเพาะบ่มสมาธิ ฌาน ญาณ ของการปฏิบัติของผู้สอนสูงขึ้น กระแสจิตในการส่งกระแสแห่งความสงบมันก็รวดเร็วขึ้นจนบางครั้งมันไม่จำเป็นที่จะต้องพาให้ใช้เทคนิคการล้างลมหยาบเพื่อให้ถึงลมละเอียด แต่การล้างลมหยาบให้เข้าถึงลมละเอียดมีประโยชน์ก็คือ มันเป็นการฝึกเป็นการสะสมลมปราณไปด้วยในตัวอันนี้เป็นข้อที่ 1
ข้อที่ 2 บางครั้งจิตมันมีความวุ่นวายสับสนมากจนหยุดจิตไม่ได้ แล้วเราอยู่คนเดียวไม่มีคนพาคนนำสมาธิ ไม่มีอาจารย์พาทำ เราก็สามารถใช้เทคนิคในการล้างลมหยาบเพื่อให้เข้าถึงลมละเอียดในการที่จะให้เราเข้าสู่สมาธิด้วยตัวเองได้เร็วได้ง่ายขึ้น อันนี้ก็เป็นเทคนิคสำคัญตัวหนึ่ง หรือสำหรับคนที่ไปเป็นครูสมาธิหรือไปแนะนำสมาธิ แต่พลังจิตตานุภาพที่จะดึงจิตให้คนเข้าถึงความสงบในกลุ่มคนหมู่มาก เรายังมีกำลังไม่พอ เราก็อาศัยพาทำในเทคนิคล้างลมหยาบให้เข้าถึงลมละเอียดนี้เพื่อให้คนเข้าถึงลมหายใจที่มันสงบระงับ ฌานสี่ในอานาปานสติได้ อันนี้ผ่านไปกระบวนการที่หนึ่ง
กระบวนการที่สอง ก็คือ เทคนิคของการผ่อนคลายคือตัดวางร่างกาย อันนี้ถ้าตามลำดับของการปฏิบัติธรรมปกติก็คือเราต้องทำฌานให้ได้ก่อน สมาธิจิตสงบแล้วเราถึงตัดขันธ์ห้า แต่คราวนี้เราตัดสลับ คือ ผ่อนคลาย เทคนิคการผ่อนคลาย พอผ่อนคลายก่อนให้การผ่อนคลายปรับให้กลายเป็นการตัดขันธ์ห้า พอตัดร่างกายขันธ์ห้าจากการผ่อนคลายกล้ามเนื้อผ่อนคลายร่างกาย มันก็จะกลายเป็นทำให้จิตเราเข้าสู่ฌานสี่ได้เลย เดี๋ยวสักครู่ก็จะพาทำโดยเทคนิค เทคนิคที่ว่าก็คือเราจำเป็นที่เราจะต้องรู้ประโยชน์ของการผ่อนคลายก็จากการที่เราทำกายให้มันเกร็งให้มันหนัก ซึ่งเทคนิคของการผ่อนคลายร่างกายเข้าสู่ฌานเลย เวลาถ้าเราฝึกเต็มรูปแบบ คือมาฝึกเกร็งฝึกผ่อนคลาย ฝึกเกร็งฝึกผ่อนคลาย ประโยชน์ที่ได้ก็คือ เมื่อไรที่เราฝึกเกร็ง มันเป็นการฝึกเพื่อดึงพลังดึงพลังปราณดึงพลังจิตดึงพลังความเข้มแข็งของกายของจิตใจ พอผ่อนคลายก็ฝึกที่จะปล่อยวาง พูดง่ายๆว่าเทคนิคนี้ประโยชน์ก็คือ ดึงจิตตานุภาพดึงพลังในตัวเราขึ้นมา เวลาที่เราต้องใช้กำลังใจ เวลาที่เราต้องใช้พลังทางกายพลังปราณ เวลาผ่อนคลายก็ฝึกปล่อยวางถึงที่สุด ดังนั้นเทคนิคนี้ก็จะทำให้เราสามารถที่จะบูทพลัง คือดึงศักยภาพทางกาย ดึงพลังจิตดึงพลังใจ เรียกพลังใจเราขึ้นมา ในขณะเดียวกันเราก็ฝึกที่จะปล่อยวางได้อย่างถึงที่สุด
ในทางปฏิบัติในส่วนของวิชชาที่เป็นภาคของวิทยายุทธกำลังภายใน คนที่ดึงปราณดึงพลังบูทพลังขึ้นมาได้สูงก็มีพลังปราณพลังภายในมากกว่าคนที่เขาดึงพลังมาได้ต่ำกว่า ในขณะเดียวกัน เคล็ดลับของการฝึกกำลังภายในขั้นสูง จะมีคัมภีร์ที่กล่าวถึงการผ่อนคลายขั้นสูงอยู่ 7 กระบวนการด้วยกัน ดังนั้นจะดึงพลังภายในดึงพลังจิตออกมาได้ เคล็ดลับสูงสุดซึ่งอาจารย์ก็เคยย้ำอยู่เสมอก็คือ ยิ่งผ่อนคลายยิ่งปล่อยวางได้ ยิ่งดึงพลังออกมาได้มาก เราไปคิดว่าเราผ่อนคลายมากคือไม่มีพลัง แต่กลายเป็นว่าเมื่อไรก็ตามที่เราผ่อนคลายถึงที่สุดจนผัสสะเราแยกจากร่างกาย ตัดความสนใจ ตัดความเกาะ ตัดผัสสะทางกายออกไป คือตัดขันธ์ห้าความสนใจในร่างกายออกไปจนหมด กลายเป็นว่าเราสามารถที่จะดึงพลังจิตพลังสมาธิออกมาได้สูงกว่าคนที่ห่วง ซึ่งการผ่อนคลายตัดร่างกายตัดได้มากเท่าไร สายโยงใยของจิตเวลาที่เราฝึกมโนมยิทธิ จิตมันตัดกายได้มากเท่าไร กำลังของมโนมยิทธิก็มีความคล่องตัวมากเท่านั้น เกาะกายห่วงกายยังมีสายใยของจิตที่ผูกพันกับร่างกายเป็นขนาดใหญ่มากเท่าไร กำลังมโนมยิทธิก็ลดน้อยถอยลง มีอาการขึ้นขึ้นลงลง ดังนั้นประโยชน์ของการฝึกตรงนี้ก็สามารถต่อยอดแตกแขนงไปได้อีกมากมายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการฝึกให้ใจเรามีกำลังจิตกำลังใจในทางโลกในการสู้ชีวิต ดึงพลังดึงพลังปราณดึงพลังร่างกายออกมา หรือปล่อยวางผ่อนคลาย ทั้งตัดร่างกายทั้งปล่อยวางจิตใจ
เมื่อทราบประโยชน์เมื่อทราบอรรถาธิบายในคำอธิบายนัยยะในการปฏิบัติจนเห็นคุณค่าดีแล้ว ในลำดับต่อไปเราก็จะเริ่มฝึก แต่สำหรับการฝึก คนที่มีอาการเจ็บป่วยอยู่ คนที่เป็นผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคหัวใจ เราก็ผ่อนไปตามกายสังขารตามกำลังของเรา คนไหนที่ร่างกายมีความแข็งแรงรู้กำลังของเรา เราก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่เต็มกำลัง เคล็ดลับในการเกร็งในการผ่อนคลาย มีสิ่งอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นนัยยะ คือเมื่อไรเราเกร็งร่างกายทั่วร่าง มันจะทำให้เรามีสติส่งไปรู้ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า จากปลายเท้าจรดศีรษะ ซึ่งนั่นก็คือทำให้เราสามารถกำหนดรู้ในกายได้ทั่วทั้งร่างกาย
ซึ่งภาษาการปฏิบัติเรียกว่า “มีจิตมีสติในการกำหนดในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม” ตรงนี้ถือว่าเป็นแกนสำคัญในการปฏิบัติในกายคตามหาสติปัฏฐาน 4
ตอนนี้ก็จะให้เริ่มต้นทำตาม ตามจังหวะในขณะที่เกร็งให้หายใจตามปกติไม่ต้องกลั้นหายใจ คราวนี้เริ่มเกร็งทั่วร่างกาย มือกำ เท้าเกร็ง กล้ามเนื้อทุกส่วนตั้งแต่ใบหน้า ศีรษะ คาง คอ แขน ทั่วร่างกาย อก เอว ท้อง สะโพก น่องขา ต้นเท้าจนถึงปลายนิ้วเท้าเกร็ง ในขณะที่เกร็งก็กำหนดพลังกายของเราเพิ่มพูนขึ้น พลังทั่วร่างกายเพิ่มพูนขึ้น กล้ามเนื้อเพิ่มพูนขึ้นเป็นมัดมัด กายเรามีพลัง กายเรามีพลัง เกร็งชั่วครู่หนึ่ง จากนั้นผ่อนคลายทั่วร่างกาย คลายฝ่ามือ คลายปลายเท้า คลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ใบหน้า กล้ามเนื้อใบหน้า อก เอว ลำตัวทั่วร่างกายคลาย พอคลายรู้สึกว่าเราทิ้งกายเราตัดกาย เราตัดความสนใจในกาย พอทิ้งกายผ่อนคลายมีแต่ความสบาย ลองดูซิตอนนี้อยู่กับความสบาย ครั้งแรกใครลมหายใจดับแล้วบ้าง แต่คราวนี้ยังนะยังต้องฝึกจนกระทั่งเราผ่อนคลายได้ถึงที่สุด
เกร็งกำลังครั้งที่ 2 เริ่มค่อยๆเกร็งช้าๆไม่ต้องรีบ ค่อยๆกำ ค่อยๆเกร็งทั่วร่างกาย กำหนดความรู้สึกว่าเมื่อเราเกร็งร่างกาย กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น พลังในตัวถูกดึงถูกบูทขึ้นมา พลังทั่วร่างกายพลังใจพลังกายเพิ่มพูนขึ้น ความมั่นใจความเด็ดเดี่ยวของใจเพิ่มพูนขึ้น พลังทั่วร่างกายเต็มเปี่ยม จากนั้นผ่อนคลายช้าๆ คลายช้าๆ รู้สึกตัวทั่วพร้อมในการผ่อนคลายทั่วร่างกายช้าๆสบายๆ คลายกล้ามเนื้อทุกส่วนให้หมดจด ใจแย้มยิ้มสงบ ผ่อนคลายปล่อยวางกาย จนลมหายใจเขาดับ อยู่กับความสงบ
จากนั้นกำหนดก็เกร็งกำลังครั้งที่ 3 เริ่ม ค่อยๆกำค่อยๆเกร็งกล้ามเนื้อทั่วร่างกายทุกส่วน ดึงพลังใจดึงพลังจิตดึงพลังปราณกล้ามเนื้อทุกส่วนเปล่งประกาย ไอพลังของปราณกรุ่นออกมาทั่วรูขุมขนทั่วร่างกาย พลังปราณพลังจิตเพิ่มพูนขึ้นเต็มที่ ความมั่นใจความเด็ดเดี่ยวกำลังใจกำลังกายเพิ่มพูนบูทขึ้นเต็มที่ กล้ามเนื้อทุกส่วนแข็งแรงทั่วร่างกาย มีมัดกล้ามมีความแข็งแรงแข็งแกร่ง เปี่ยมพลังทั้งจิตทั้งกำลังร่างกาย จากนั้นค่อยๆผ่อนคลายปล่อยวางกาย คลายกล้ามเนื้อทุกส่วนให้หมดทุกมัด ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมผ่อนคลาย ในกล้ามเนื้อ ในกาย ในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ปล่อยวาง จนลมหายใจเบาบางนิ่งสงบ ใจแย้มยิ้ม สงบ ปล่อยวาง
จากนั้นเกร็งกำลังครั้งต่อไป ช้าๆค่อยๆเกร็งช้าๆ ค่อยๆดึงพลังทั่วร่างกายกล้ามเนื้อทุกส่วน เกร็งกำลัง กายจิตเกิดพลังจิตเกิดพลังใจเกิดพลังปราณ กล้ามเนื้อทุกส่วน ร่างกายในเซลล์ทุกเซลล์เปี่ยมพลังเต็มที่ ดึงพลังทั่วร่างกายจนกายนี้มีไอแห่งปราณไอแห่งพลังแผ่ซ่านออกมาจากรูขุมขนทั่วกาย รู้สึกได้ถึงไอระอุอุ่นแห่งพลังที่ประจุแน่นอยู่ในกายของเรา เราไม่เคยรู้สึกว่ากายของเราจิตของเราเปี่ยมพลังเช่นนี้มาก่อน นิ่งเกร็งชั่วขณะหนึ่ง จากนั้นผ่อนคลายปล่อยวาง ฝ่ามือแบคลาย กล้ามเนื้อทั่วร่างกายผ่อนคลาย ผ่อนคลายตั้งแต่ศีรษะ ใบหน้า ลำคอ อก เอว สะโพก ต้นขา หัวเข่า น่อง ข้อเท้า เท้า ปลายเท้า ผ่อนคลาย จากนั้นอยู่กับความรู้สึกที่สงบ ปล่อยวางกาย ทิ้งกายตัดกาย อยู่กับอารมณ์สบายจากการปล่อยวางกาย นิ่งอยู่กับความสงบของสมาธิ อยู่กับความสบายของจิตจากการปล่อยวาง ให้จิตเกิดปัญญา รู้ ในยามที่เราเกร็งก็เหมือนกับการที่เราแบกภาระ แบกภาระของใจไว้ เมื่อไรที่เราผ่อนคลายเราปล่อยวาง เราปล่อยวางขันธ์ห้า เราปล่อยวางภาระของใจ วางแล้วจิตสบายไหม ใช้การเกร็งการผ่อนคลายปล่อยวางเพื่อสอนจิตให้รู้จักคุณค่าและความสุขว่าวางแล้วมันเบา วางแล้วมันสบาย วางแล้วมันเป็นสุข ปัญญาวิปัสสนาญาณก็เกิดในขั้นตอนนี้พร้อมกับความสงบของจิต พร้อมกับสมถะสมาธิ
จากนั้นตอนนี้ก็ให้เราอยู่กับความสงบนี้ ปล่อยวางกาย นิ่งสงบ ลมหายใจบางคนสงบระงับดับก็กำหนดรู้ บางคนลมหายใจละเอียดเบาอย่างยิ่งก็กำหนดรู้ ทรงอารมณ์ไว้ อธิษฐานให้จิตเกิดความจดจำเรียนรู้ว่านับแต่นี้เมื่อไรที่เราผ่อนคลายร่างกาย เราปล่อยวางผัสสะ ปล่อยวางความเกาะในขันธ์ห้า คือเป็นการตัดขันธ์ห้าพร้อมกับอาการที่เราผ่อนคลายทิ้งกาย ตัดกายตัดขันธ์ห้า ตัดวางภาระ เพื่อรวมจิตเข้าสู่สมาธิ ถ้าลมหายใจเขาจะหยุดดับนิ่งไปในทันที นั่นก็คือเราเข้าสู่ฌานสี่ในอานาปานสติ จากการทิ้งกายตัดกาย สัมผัสถึงความสงบของใจ นิ่งสงบ จำไว้ว่ายิ่งปล่อยวางยิ่งสงบ
ดังนั้นเทคนิคที่เราใช้ในการผ่อนคลาย จึงเป็นเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้เข้าถึงสภาวะจิตของความสงบขั้นสูงได้โดยง่ายโดยเร็ว พอเรากำหนดรู้แล้ว เราก็ฉลาดที่จะใช้วิธีการในการปฏิบัติ อย่างในช่วงหลังๆที่อาจารย์สอนทุกครั้ง ก่อนที่จะพาทำสมาธิ เริ่มต้นปุ๊บอาจารย์ก็หลังๆก็จะมักจะใช้วิธีนี้ คือกำหนดให้ผ่อนคลาย กำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลายปล่อยวาง เพื่อให้เข้าสู่ความสงบ แล้วจึงเดินจิตเข้าไปสู่สมถะกรรมฐานที่สูงขึ้นในลำดับต่อไปก็คือ “กสิณ” ไล่ขึ้นไป “การทรงภาพพระ” ไล่ขึ้นไป “อรูป” ขึ้นไป “มโนมยิทธิ” อันนี้ก็ไล่ขึ้นไป
อันนี้สำหรับวันนี้ก็เนื่องจากต้องการที่จะบันทึกในเรื่องของการวางพื้นฐานในการฝึกปูพื้นฐานใหม่ตั้งต้น ก็เลยอธิบายในเรื่องของอานาปานสติโดยพิสดารขึ้น
คราวนี้เคล็ดลับอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในภาคของอานาปานสติ ก็คือ เมื่อไรก็ตามที่เราเข้าสู่อารมณ์กรรมฐานในจุดนั้นแล้ว จำไว้ว่าจงอธิษฐานวสี คือ เข้าสู่อารมณ์นี้ อย่างตอนนี้เราได้ฌาน 4 ตอนนี้ให้เราหยุดจิต นิ่ง สงบ ลมหายใจสงบระงับ เข้าถึงเอกัตคตารมณ์อุเบกขารมณ์ นิ่ง หยุด จิตผ่องใส อธิษฐานว่า “ขอให้ข้าพเจ้าจดจำอารมณ์พระกรรมฐาน ฌานสี่ ในอานาปานสติ จิตที่เข้าถึงในความสงบจากการปล่อยวาง จากการผ่อนคลายปล่อยวางกาย และทรงอารมณ์นี้ได้โดยง่ายโดยพลันทุกครั้งที่ผ่อนคลายปล่อยวางร่างกาย ทุกครั้งที่เจริญอานาปานสติ หยุดจิต เข้าถึงเอกัตคตารมณ์อุเบกขารมณ์ ได้ทุกครั้งทุกเวลาทุกสถานที่ทุกอิริยาบถ ยืนเดินนั่งนอน ลืมตาหลับตา ก็ขอให้เข้าสู่สภาวะแห่งความสงบในธรรมในสมถะนี้ได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว อันนี้ก็เรียกว่า “การอธิษฐานวสี”
และก็ขอให้ข้าพเจ้าจดจำอารมณ์นี้ได้ตลอดชีวิต ได้ตลอดตราบเท่าที่ข้าพเจ้าจะเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน และขอให้สมาธิที่บันทึกลงในจิต ยังดำรงคงอยู่หากแม้นข้าพเจ้ายังเกิดอีกก็ตาม สำหรับคนที่ยังไม่ไปนิพพาน คนที่เป็นพุทธภูมิ ก็ขอให้วิชชาต่างๆมันฟื้นกลับคืนมาในอนาคตได้” อันนี้ก็คืออธิษฐานวสี
ที่จริงก็ควรจะต้องอธิษฐาน 3 ครั้ง คือเข้าในอารมณ์ความสงบ หยุดจิต พอจิตรวมสงบแล้วเราก็อธิษฐาน อธิษฐานเสร็จไปแล้วเราก็เข้าสู่อารมณ์หยุดจิต พอหยุดจิตได้ ก็อธิษฐานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ก็คือ เข้าฌานอธิษฐาน ออกมา เข้าฌานอีกครั้งหนึ่งแล้วก็อธิษฐาน ทำซ้ำ 3 ครั้ง
จำไว้ว่าทำไมถึงมีการย้ำ ทุติยัมปิ ตะติยัมปิ นะโม ทำไมต้อง 3 จบ จำไว้ว่าจิตนั้นมีสภาพจำ การที่เราอธิษฐานย้ำ 3 ครั้งนั้น เป็นการย้ำลงไปในจิต ถ้าภาษาอังกฤษทางจิตวิทยาเขาเรียก “anchoring” คือโยนสมอหรือปักหมุด ย้ำลงไปในจิต ย้ำลงไปในจิต ย้ำลงไปในจิต ให้จิตใจมันจดจำอารมณ์พระกรรมฐาน จดจำสภาวธรรม จดจำอารมณ์ได้ อันนี้คือเหตุ คือทำไมต้องทำ อันนี้เข้าใจแล้วนะ การอธิษฐานก็เป็นไปตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน คือ เข้าฌาน เข้าเสร็จอธิษฐาน จากนั้นเข้าฌานอีกครั้ง แล้วอธิษฐานซ้ำไป 3 ครั้ง ตรงนี้ในเรื่องของอธิษฐานวสีเราได้เข้าใจ เราได้ทำ
คราวนี้ก็จะมาต่ออีกนิดหนึ่งในเรื่องสืบต่อจากอานาปานสติ ในเรื่องของการอธิษฐาน การอธิษฐานนั้นกำลังของแรงอธิษฐาน หรืออธิษฐานบารมี แต่ละคนแต่ละดวงจิตมันจะมีพลังที่มันแตกต่างกัน คนที่ไม่ได้ฝึกจิต ไม่ได้อธิษฐานจิต ไม่เคยปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน บางทีอธิษฐานคือตั้งความปรารถนาแต่จิตมันไม่เป็นสมาธิ จิตมีความฟุ้งซ่านบ้าง จิตมีความวุ่นวายบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ร้ายที่สุดก็คือจิตลังเลสงสัยว่าคำอธิษฐานนั้นมันจะเป็นจริงไหม อันนี้คือประเภทที่หนึ่ง คิดว่ามีกำลังมากหรือกำลังน้อย
ลำดับต่อมาก็คือคนที่เข้าฌานสี่หรือเข้าฌานในฌานลำดับใดลำดับหนึ่ง เช่น เข้าสมาธิที่เป็น “ขณิกสมาธิ” เข้าฌานหนึ่งบ้าง ฌานสองบ้าง ฌานสามบ้าง ถ้าเข้าฌานสี่ จิตเป็นเอกัตคตารมณ์ตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว นิ่งหยุด แล้วอธิษฐาน อธิษฐานในฌานสี่กำลังจะมากกว่าไหมให้เราคิดพิจารณา
คราวนี้ต่อไปบุคคลบางบุคคลได้กำลังสมถะที่สูงขึ้น อธิษฐานจิตในกำลังของกสิณ จิตเป็นปฏิภาคนิมิต จิตเป็นแก้วประภัสสร จิตมีความเอิบอิ่ม จิตมีความเป็นทิพย์เต็มที่เต็มกำลัง มีความสุข เอิบอิ่มเต็มกำลังแล้วอธิษฐาน คิดว่าใครจะมีกำลังหรือแรงอธิษฐานที่เกิดผลสัมฤทธิ์มากกว่ากัน
คราวนี้ต่อไป มีบุคคลต่อไป ทรงภาพพระเห็นภาพองค์พระเป็นเพชรในจิต องค์พระเป็นเพชรในจิตสว่างผ่องใสเป็นทิพย์เต็มที่ มีกำลังแห่งพุทธานุภาพอยู่เต็มที่ อ้างเอาองค์บารมีขององค์สมเด็จพระจอมไตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตั้งจิตอธิษฐาน คิดว่าบุคคลนี้กำลังอธิษฐานจะมีเพิ่มขึ้นไหม
คราวนี้ต่อไปสูงขึ้นไปอีก มีกำลังบุคคลที่มีกำลังของมโนมยิทธิยกจิตขึ้นพระนิพพาน พอยกจิตขึ้นสู่พระนิพพาน ตั้งกำลังใจตัดภพจบชาติ ตัดกิเลสแม้จะเพียงชั่วคราว แต่จิตสะอาดบริสุทธิ์ เป็นกำลังแห่งอรหัตผลชั่วคราว สิ้นภพจบชาติอารมณ์จิตในขณะนั้นไม่มีกิเลส พอไม่มีกิเลส จิตสะอาดบริสุทธิ์อยู่บนพระนิพพานเต็มที่ อธิษฐานจิตกับพระพุทธองค์โดยตรง อธิษฐานโดยตรง คิดว่าใครทั้งหมดที่กล่าวมาจะมีกำลังแห่งอธิษฐานสูงกว่ากัน
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าการใช้ธรรมวิจะยะพิจารณาจำแนกแยกแยะ หากำลังสูงสุด หาสิ่งที่ดีที่สุด ที่จะพึงเกิดขึ้น ที่จะเกิดผล ดังนั้นแต่ละบุคคลนั้นมีกำลังต่างกัน ผลลัพธ์ของจิตต่างกัน อันนี้เชื่อว่าทุกคนที่ได้ฟังที่ได้อ่าน จะสามารถใช้ปัญญาพิจารณาแยกแยะ เปรียบเทียบทำความเข้าใจ คือ ไตร่ตรองใคร่ครวญ พิจารณาโดยโยนิโสมนสิการ เห็นแจ้งเห็นจริงได้
ดังนั้นสำหรับวันนี้ก็ขออนุญาตที่จะจบการสอนสมาธิ การอธิบายในเรื่องของอานาปานสติโดยพิสดาร รวมไปถึงในเรื่องของการตั้งจิตตั้งกำลังใจในการอธิษฐานบารมี
ก่อนจบก็ขอให้เราแผ่เมตตาเป็นกระแส น้อมจิตรำลึกให้องค์พระอยู่ภายในจิตของเราอกของเรา แผ่เมตตาไปทั้งสามภพภูมิ ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายประสบแต่ความสุข พ้นจากความทุกข์ทั้ง 3 ไตรภูมิ ทั้งสุคติภูมิ ทั้งทุติยภูมิ สวรรค์ พรหมโลก อรูปพรหม น้อมถวายบนพระนิพพาน ภพกลางตั้งแต่โลกมนุษย์ สัตว์เดรัจฉานที่มีกายเนื้อลงไปถึงทุคติภูมิ อันได้แก่ภพของเปรตอสุรกาย สัตว์นรก โอปปาติกะสัมภเวสีทั้งปวง ขอบุญจากการปฏิบัติธรรม ความสงบ ปัญญาญาณที่เกิดในการปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้า จงส่งผลถึงทุกรูปทุกนาม ขอบุญจงส่งผล น้อมถวายบูชาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บ้านเมือง ขอน้อมถวายพระสยามเทวาธิราช ขอน้อมถวายพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ขอน้อมถวายเทวดาผู้รักษาพระเศวตฉัตร ขอทำนุบำรุงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยจิตอันสัตย์ซื่อมั่นคง ด้วยสัจจะวาจานี้ ก็ขอให้ความสุขความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมจงปรากฏต่อข้าพเจ้าทุกคนทุกรูปทุกนาม
จากนั้นกำหนดให้เห็นกายของเราสว่างเป็นเพชร จิตผ่องใสสงบเย็น บุญบารมีของจิตแต่ละดวงท่านวัดกันจากรัศมีกาย กำหนดให้แสงรัศมีกายเราแผ่ไปด้วยความรู้สึกสบายๆ แผ่ไปเรื่อยๆ ใจยิ่งแผ่ยิ่งเป็นสุข ยิ่งแผ่ออกไปยิ่งสว่าง ยิ่งแผ่ออกไป จิตยิ่งเกิดกำลัง แผ่ออกไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด กำหนดรู้ว่าจิตดวงนี้มีบุญหล่อเลี้ยง มีกุศลหล่อเลี้ยง มีกำลังแห่งฌานสมาบัติ กรรมฐานที่เราปฏิบัติด้วยความเพียร ด้วยจิตอันดำริชอบ จิตนี้มีกำลังแห่งบุญพระกรรมฐาน แสงสว่างแห่งกายทิพย์ปรากฏเป็นรัศมีกายสว่างออกไปอย่างไม่มีประมาณ ใจอิ่มบุญอิ่มกุศล
จากนั้นโมทนาสาธุกับกัลยาณมิตร เพื่อนๆของเราที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันทั้ง 70 กว่าคน ใจสบายสบาย
ขอให้บุญส่งผลทันใจ บุญใหญ่ส่งผลก่อน ใจสบายสบายปีติสุข
จากนั้นตั้งจิต ใช้กายที่เป็นกายแก้วสว่างกราบลาพระพุทธองค์
จากนั้นกำหนดน้อมเป็นแสงสว่างลงมาที่กายเนื้อ ขอกระแสแห่งธาตุธรรมการปฏิบัติชำระล้างฟอกธาตุขันธ์ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กลายเป็นแก้วใส โครงกระดูกกลายเป็นแก้วใส เส้นเอ็น หลอดเลือด สะอาดกลายเป็นแก้วใส อาการ 32 อวัยวะภายในทุกส่วนกลายเป็นแก้วใส กระแสบุญหล่อเลี้ยงให้ชีวิตของเรานี้มีมนุษย์สมบัติ คือ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากบุญกุศลที่เราทำไว้ดีแล้ว จงหลั่งไหลเป็นทรัพย์สิน เป็นมนุษย์สมบัติ อันจับต้องได้ หลั่งไหลเกิดความคล่องตัวลงมาไม่ขาดสาย แม้ยามที่โลกเกิดความทุกข์เข็ญเกิดความขาดแคลน แต่สายบุญสายทรัพย์สายสมบัติยังหลั่งไหลมาหล่อเลี้ยงด้วยกำลังบุญแห่งพระกรรมฐาน
น้อมจิตขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพพรหมเทวา น้อมจิตขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วสากลจักรวาล ขอให้การปฏิบัติธรรมนั้นเกิดประโยชน์ทั้งทางโลกทางธรรม เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกทางธรรม เกิดความสุขสงบแห่งชีวิต เกิดเมตตาที่ผู้คนมีความรักเมตตาเอ็นดู
จากนั้นหายใจเข้า ช้า ลึก ยาว หายใจเข้าพุท ออกโธ ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ
จากนั้นค่อยๆลืมตาขึ้นช้าๆจากสมาธิ ใจแย้มยิ้มเบิกบาน จิตเอิบอิ่มเป็นสุข
สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน ถ้าเป็นไปได้ก็อย่าลืมเขียนแผ่นทองอธิษฐานพระเจ้าองค์แสนพระนิพพาน
แล้วก็ช่วยส่ง comment มานิดหนึ่งว่า ในการปฏิบัติ ระหว่าง เทคนิคการล้างลมหยาบให้เข้าถึงลมละเอียด กักลม1 กับการกำหนดจิตผ่อนคลายปล่อยวางแล้วเข้าฌานสี่2 เรารู้สึกว่าถูกจริตหรือเกิดผลกับการปฏิบัติ 2 จุดนี้ในจุดไหนมากกว่ากัน อันนี้จะได้เป็นข้อมูลสำหรับนำไปใช้เสริมการปฏิบัติของอีกหลายคน จะได้เป็นประโยชน์
สำหรับวันนี้สวัสดี พบกันใหม่สัปดาห์หน้า โมทนาบุญกับทุกคน
เรียบเรียงและถอดความโดย : Be Vilawan