green and brown plant on water

สัมมาทิฏฐิ  มิจฉาทิฏฐิ และความแตกต่างของมิจฉาทิฏฐิกับวิจิกิจฉา

เวลาอ่าน : 4 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน” 

วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม 2565

เรื่อง สัมมาทิฏฐิ  มิจฉาทิฏฐิ และความแตกต่างของมิจฉาทิฏฐิกับวิจิกิจฉา

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

เดี๋ยวรอเพื่อนๆ อีกสักครู่นึงนะครับ ตอนนี้กำลังทยอยเข้ามากัน 6 ท่านแล้วนะครับ ท่านที่เข้ามาแล้วก็ขอให้ น้อมจิต อยู่ในสมาธิ วางอารมณ์ใจของเราสบายๆ วางอารมณ์จิตของเราให้ผ่องใส กำหนดใจของเราอยู่กับลมหายใจสบายๆ สำหรับท่านที่เคยฝึกมา มีความคล่องตัวดีแล้ว ก็ขอให้เรากำหนด ทรงอารมณ์ ทรงกำลังสมถะสมาธิ กำลังฌานสมาบัติ ในกำลังสูงสุดที่เราแต่ละท่านทำได้ วางอารมณ์ใจสบายๆ วางอารมณ์จิตให้ผ่องใสไว้ เมื่อเราน้อมจิตอยู่กับสมาธิ อารมณ์จิตผ่องใส นั่นก็หมายความว่า จิตของเราในขณะนี้ควรแก่การ คือควรแก่การใช้งานการปฏิบัติ อารมณ์ที่มีความเป็นทิพย์ อารมณ์ที่มีความเบา มีความสบาย มีความสงบ สงัด ปลอดจากความกังวลทั้งหลาย ปลอดจากการปรุงแต่งทั้งหลาย ปลอดจากนิวรณ์ 5 ประการ จิตของเรามีความผ่องใส มีความสงบ ปัญญาย่อมสามารถปรากฏขึ้นได้โดยง่าย ซึ่งปัญญาในที่นี้ หมายถึงปัญญาในธรรม ปัญญาในการพิจารณา ในวิปัสสนาญาณ ปัญญาที่เราพิจารณา เห็นธรรมะ เห็นมรรค เห็นผล เห็นทางปฏิบัติที่เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน 

ให้เราตอนนี้กำหนดน้อมสำรวมจิตของเรา ให้มีความอ่อนโยน ให้จิตของเรามีความผ่องใส ใจมีความสบาย มีความสงบสุขเป็นพื้น เป็นปกติของใจเรา ตั้งกำลังใจของเรานับตั้งแต่บัดนี้ว่า ไม่ว่าเราจะทรงสมาธิอยู่ หรืออยู่ในสภาวะที่เราทำกิจการงานใดๆก็ตาม ดำเนินกิจวัตรประจำวัน เดินเที่ยว เดินเล่น หรือทำกิจการงานใดๆก็ตาม เราทรงความผ่องใสของจิต ความสุข ความสงบของจิตเป็นปกติ กำหนดจิตของเรา ว่าเราเป็นผู้ที่ปราศจากการเบียดเบียนกับผู้อื่น ปราศจากการกระทบกระทั่งกับผู้อื่น วางอารมณ์ใจของเราให้ผ่องใสเป็นปกติ

เมื่ออารมณ์ใจเราผ่องใสดีแล้ว เรากำหนดจิตอยู่กับลมหายใจสบายๆ กำหนดจินตนาการว่า ลมหายใจเป็นเหมือนกับแพรไหม พลิ้วผ่านเข้าออกจากกายของเรา รู้ลมตลอดสาย ว่าลมหายใจที่ผ่านเข้า ผ่านโพรงจมูก ผ่านคอ ผ่านอก ลงไปถึงท้อง ม้วนตลบ กลับขึ้นมาสู่ท้อง อก คอ จมูก และผ่านมาเบื้องหน้า กำหนดรู้ในลมตลอดทั้งสายทั้งกองลมนั้น ลมหายใจมีความละเอียด เบา อารมณ์จิตเรามีความละเอียด มีความสุข มีความผ่องใสตาม ลมหายใจสัมพันธ์กับอารมณ์ของจิตใจ ลมปราณสัมพันธ์จิตใจ รู้สึกสัมผัสได้ว่าลมหายใจในอานาปานสติที่เรากำหนดจับ มีกระแสพลังแห่งปราณ พลังชีวิต ผ่านเข้าออก เยียวยาร่างกายเราไปพร้อมๆกัน อยู่กับลมสบายๆ 

เมื่อลมหายใจเรามีความสบายแล้ว กำหนดสงบ หยุดการปรุงแต่ง เป็นผู้ติดตามรู้ ติดตามดูในลมหายใจ เป็นผู้ติดตามดูติดตามรู้ในอารมณ์ใจ อยู่กับลมหายใจสบายๆ  ลมหายใจยิ่งเบา ยิ่งละเอียด จิตเรายิ่งเข้าถึงความสงบที่ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น คือ อยู่ในระดับของฌานที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ลมหายใจยิ่งละเอียด ยิ่งสงบ ยิ่งเบา จิตยิ่งเป็นสุข จิตยิ่งเข้าสู่ความสงบในระดับฌาน 

กำหนดรู้ในลม กำหนดรู้ในอารมณ์จิต  กำหนดหยุดจิต จากความคิดการปรุงแต่งทั้งปวง จากนั้นในสภาวะแห่งความหยุดของลม กำหนดความรู้สึกเบื้องหน้าเรา ในระหว่างกลาง คือ ระหว่างปลายจมูกและระหว่างกึ่งกลางระหว่างคิ้วตาที่สาม กำหนดน้อมนึกให้เห็นดวงจิตเป็นดวงแก้วใส กำหนดนิ่งหยุดอยู่กับดวงแก้วใสนั้น ที่ลอยอยู่เบื้องหน้ากึ่งกลางระหว่างปลายจมูก และกึ่งกลางระหว่างตาที่ 3 หรือกึ่งกลางคิ้วนั้น 

กำหนดน้อมให้ดวงจิตที่เรากำหนดเป็นดวงแก้วค่อยๆ สว่างขึ้น เรืองรองขึ้น มีรัศมีสว่างมากขึ้น จากดวงแก้วดวงจิตที่เป็นแสงสว่าง เป็นดวงแก้วใส ซึ่งหากอธิบายในการปฏิบัติ ในกสิณแสงสว่าง จิตที่เป็นดวงแก้วใสสว่างขณะนี้ ก็เป็นอุคหนิมิตในกสิณ กำหนดต่อไปว่าจากแสงสว่างเจิดจ้า สว่างมากขึ้น สว่างจนกระทั่งผิวของดวงแก้วดวงจิต ที่เป็นลักษณะใสๆ เรียบๆ มีสภาวะ มีความละเอียด เป็นเพชรที่ถูกเจียระไนมาอย่างละเอียดสวยงาม มีความระยิบระยับแพรวพราว แสงสว่างและภาพดวงจิตที่เป็นเพชรยิ่งมีแสงสว่างเจิดจ้า คมจัดขึ้น สว่างจัด สว่างจ้าขึ้น จนมีแสงรัศมีออกมาเป็นเส้นรุ้ง ที่เรียกว่าประกายพรึก แสงรัศมีจากดวงจิตที่เป็นเพชรประกายพรึก มีฉัพพรรณรังสี สว่างเป็นเส้นรุ้งออกมาโดยรอบ สว่างเจิดจ้าคลุมกายของเราทั้งหมด 

กำหนดจิตหยุดนิ่ง จดจ่ออยู่กับสภาวะที่จิตเราเป็นเพชรประกายพรึกนั้น ทรงอารมณ์ประคับประคองภาพนิมิตของจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกนั่นไว้ สภาวะที่จิตเราทรงภาพดวงจิตดวงกสิณเป็นเพชรประกายพรึก หากอธิบายในแนวทางของกสิณ ภาพนิมิตที่ปรากฏนี้ก็คือปฏิภาคนิมิตของกสิณ เรากำหนดหมายมั่นเอาว่า ดวงกสิณที่ปรากฏ ก็คือดวงจิตของเรา กำลังของปฏิภาคนิมิตก็คือฌาน 4 ของกสิณ เราทรงอารมณ์ฌาน๔ ในกสิณ ซึ่งเป็นบาทฐานของอภิญญาสมาบัติ ประคับประคองอารมณ์ น้อมนำให้อารมณ์จิต ภาพสัมพันธ์กับอารมณ์ของสมาธิกรรมฐาน อารมณ์และภาพที่สัมพันธ์กันก็คือ ยิ่งภาพแสงสว่าง ดวงจิตมีความเป็นเพชรประกายพรึกสวยงามระยิบระยับมากเพียงใด ยิ่งสวยยิ่งสว่างมากเพียงใด จิตของเรายิ่งมีความสุขมากเพียงนั้น อารมณ์เหมือนกับเด็กอันไร้เดียงสา จิตมีความบริสุทธิ์ เห็นภาพของดวงกสิณดวงนิมิตที่สวยงามเป็นประกายพรึก จิตมีความชื่นชม มีความยินดี มีความสุขอย่างยิ่งกับภาพที่ปรากฏ ซึ่งอารมณ์จิตตรงนี้ ทำให้ใจของเราสะอาด สงบ สงัดจากกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งหลาย จิตมาจดจ่ออยู่กับความเป็นประกายพรึก ความผ่องใสของจิต ในสภาวะของกสิณนิมิต ให้จิตเราทรงอารมณ์ในปฏิภาคนิมิตของกสิณนี้เต็มกำลัง คือ จิตมีความแย้มยิ้ม เอิบอิ่ม เป็นสุข ผ่องใส ภาพนิมิตยิ่งมีความแสงสว่างเจิดจ้า คมจัด สว่างจัด มีความสวยงาม เหลี่ยมมุมของดวงจิตที่เป็นเพชรก็ยิ่งแพรวพราวระยิบระยับเพียงนั้น จนรัศมีความสว่างแพรวพราวของดวงกสิณนั้น คลุมกายของเราทั้งหมด แสงสว่างรัศมี ฉัพพรรณรังสี  เส้นรัศมีของดวงจิต สว่างคลุมกายเลยจากร่างกายขันธ์ 5 กายเนื้อของเราไปประมาณ 1 วาโดยรอบ กำหนดกำลังของดวงจิตมีกำลังความเข้มแข็ง มีความเจิดจ้าเจิดจรัส กำลังของจิตเรามีกำลัง ทรงอารมณ์นี้ไว้

เมื่อเราทรงอารมณ์ของฌาน๔ ในกสิณ ในปฏิภาคนิมิตของอาโลกสิณของกสิณจิตเราเรียบร้อยแล้ว เรากำหนดจิตต่อไป เพิก ภาพดวงจิตที่เป็นเพชรออก สลาย กลายเป็นความว่าง กำหนดว่าร่างกายก็ดี ภาพนิมิตก็ดี สลายกลายเป็นความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า กำหนดรู้ในสภาวะที่เห็นทุกสรรพสิ่งว่าง โล่ง ขาว โล่ง ว่าง ห่างไกลไปตลอดสุดสายตา ไม่มีพื้น ไม่มีผนัง ไม่มีเพดาน ขาว โล่ง ว่าง สว่างตลอด กำหนด เพิกรูปวัตถุ แม้แต่ร่างกายของเรา ภาพนิมิตสลายกลายเป็นความว่าง อารมณ์จิตที่เห็นสภาวะความว่าง โล่ง ไม่มีรูปให้ยึด สลายรูปทั้งปวง เป็นกำลังแห่งอรูปสมาบัติ กำหนดจิตสลายรูปทั้งหลาย ความเกาะ ความยึด ความห่วง ความติด ในกสิณ ในรูปแห่งกสิณ ในร่างกาย ในวัตถุธาตุทั้งหลาย ขันธ์ 5 ทั้งหลาย สัญญาความจำทั้งหลาย สิ่งที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น สิ่งที่กระทบทางอายตนะทั้ง 5 ทั้งหลาย ทุกสรรพสิ่ง โลก จักรวาล สลายกลายเป็นความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ โล่ง ว่างไปจนหมด กำหนดว่าจิตเราปล่อยวาง จากความเกาะ ความยึดของทุกสรรพสิ่ง เมื่อเพิกจนเกิดกำลังแห่งอรูปสมาบัติเต็มแล้ว ใจเราวาง ว่าง โล่ง ในทุกสิ่งแล้ว สลายความจำ ความทุกข์ ทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งหลาย สลาย โล่ง ว่าง ปล่อยวางเรื่องราวทุกสิ่งทุกอย่างออกไปจนหมด ทุกอย่างสลาย โล่ง ว่าง ความอัดอั้นตันใจ ความวิตกกังวล ความทุกข์ทั้งหลาย สลายกลายเป็นความว่าง โล่ง ปล่อยวางด้วยอารมณ์แห่งอรูป สลายล้างกลายเป็นความว่าง 

เมื่อกำลังแห่งอรูปปรากฏเต็มกำลังแล้ว เราจึงน้อมกำหนดจิตว่าเราใช้กำลังแห่งอรูปสมาบัติ เป็นกำลังแห่งสมถะสูงสุด เพื่อเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาญาณ จากนั้นน้อมจิตว่า ที่พึ่งอื่น สรณะอื่นในการปฏิบัติ เพื่อมรรคผลพระนิพพานของเราไม่มี เรามีคุณแห่งพระรัตนตรัย คือคุณแห่งพระพุทธเจ้า คุณแห่งพระธรรม คุณแห่งพระอริยสงฆ์ผู้เป็นสัมมาปฏิบัติ สัมมาสมาธิเป็นที่สุด น้อมจิตน้อมใจกำหนดภาพสมเด็จองค์ปฐม ภาพพุทธองค์ปรากฏขึ้นท่ามกลางความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่าแห่งอรูปนั้น องค์พระปรากฏแย้มยิ้ม ภาพพระพักตร์ของพระพุทธองค์ปรากฏ มีกระแสแห่งพระพุทธเมตตาแย้มยิ้มโดยตรง ส่งถึงจิตเรา เชื่อมกระแสกับจิตของเราโดยตรง ภาพสมเด็จองค์ปฐมชัดเจน กระแส ข่ายพระญาณ กระแสรัศมีแห่งพระพุทธองค์ชัดเจนตรงส่งถึงจิตเรา 

จากนั้นกำหนดจิตอธิษฐานว่า ขออาราธนาบารมี  ขออาราธนาคุณแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรมะเจ้า พระอริยเจ้า ครูบาอาจารย์เจ้าทั้งหลายที่สืบต่อกันมา มีหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค มีหลวงพ่อพระราชพรหมญาณ วัดท่าซุงเป็นที่สุด ขออาราธนาบารมีขอให้จิตของข้าพเจ้าจงปรากฏสภาวะแห่งความเป็นอาทิสมานกาย เป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพ และขอให้กายทิพย์ของข้าพเจ้านี้ ได้ปรากฏขึ้นไปอยู่เบื้องหน้า พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอริยสงฆ์ทุกๆพระองค์บนพระนิพพานด้วยเถิด 

จากนั้นกำหนดจิตต่อไปอธิษฐาน ขอให้เห็นอาทิสมานกายของเราที่อยู่ท่ามกลางมหาสมาคมที่มีพระพุทธเจ้าสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ขอให้เห็นอาทิสมานกายของเรานั่งขัดสมาธิอยู่บนรัตนบัลลังก์ดอกบัวแก้วที่บานรองรับสว่างอยู่ กายพระวิสุทธิเทพของเรา อยู่ในท่าขัดสมาธิ เพื่อเตรียมพร้อม ในการปฏิบัติและฟังธรรม เจริญจิต เจริญวิปัสสนาญาณต่อไป 

กำหนดรู้ ดวงจิต อาทิสมานกายของเพื่อนๆ  ของกัลยาณมิตรที่ร่วมปฏิบัติขณะนี้ ลอยอยู่เบื้องหน้า สมเด็จองค์ปฐม และพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์บนพระนิพพาน กำหนดจิตอธิษฐาน พิจารณาธรรม น้อมนำธรรมะของพระพุทธองค์รวมลงสู่ใจของเรา 

ในวันนี้เราพิจารณา ในเรื่องของ สัมมาทิฏฐิ  มิจฉาทิฏฐิ รวมทั้งเรื่องของความแตกต่างระหว่างมิจฉาทิฏฐิ กับวิจิกิจฉา

สองสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราบุคคลสามารถก้าวเข้าสู่ธรรมะในระดับของมรรคผลพระนิพพานได้หรือไม่ ธรรมะคือความดีของพระพุทธเจ้านั้น หากเราพิจารณาให้ถี่ถ้วนลึกซึ้ง ธรรมะมีความละเอียด มีความลึกอยู่ในหลายมิติหลายชั้น ธรรมที่เป็นฆราวาสธรรม  ธรรมสำหรับปุถุชนคนธรรมดาทั่วๆไป ธรรมที่ทำให้บุคคลนั้นเข้าถึงความดี จุติยังภพของกามาวจรสวรรค์ คือไปเกิด ไปจุติเป็นเทวดา หรือธรรมที่เป็นเครื่องปฏิบัติของพรหม ความดีทั้งหลายนั้นเป็นความดีที่ทำให้ส่งผลกับดวงจิต   ได้เข้าถึงสวรรค์สมบัติบ้าง พรหมสมบัติบ้าง หรือเข้าถึงซึ่งมนุษย์สมบัติบ้าง แต่ธรรมที่เป็นปัญญา เป็นคุณธรรม เป็นข้อมรรคปฏิบัติ ที่จะส่งผลให้เราออกจากสังสารวัฏคือเข้าถึงซึ่งพระนิพพานนั้น ธรรมที่เป็นมรรคผล มีความละเอียดมากกว่า บุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่หากทำความดีสร้างกุศลอาทิเช่น มีการให้ทาน มีการทำความดี หรือมีการรักษาศีลแม้ไม่ครบ แต่รักษาได้แค่บางข้อ ข้อนี้ก็ยังเป็นความดีที่ทำให้บุคคลนั้นสามารถเกิดหรือมาจุติ กลับมาเป็นมนุษย์ได้อีกครั้ง หรือคุณความดีของเขาในบางข้อก็สามารถทำให้จุติเป็นเทวดา หรืออยู่ในภพต่างๆได้เช่นกัน ความดีที่ว่านั้นก็มีตั้งแต่ทานและศีล แต่ในส่วนของการปฏิบัติที่สูงขึ้น ครูบาอาจารย์ท่านถึงได้สอนเสมอว่า อานิสงส์ของการภาวนานั้น มีอานิสงส์สูงอย่างยิ่ง อาทิเช่น ภาวนาเพียงแค่มีแสงสว่างแวบเดียว เท่ากับปลายหัวไม้ขีด แค่ขณะเดียวเท่านั้น บุญก็ยังมากกว่าใส่บาตรทุกวัน จนขันลงหินที่มีความหนานั้นทะลุ เนื่องจาก ทัพพีที่ตักบาตร ตักขูด ตัดขูดเนื้อโลหะจนกระทั่งขันลงหินนั้นทะลุ นั่นก็หมายความว่าฝึกสมาธิเพียงแค่นิดเดียว หรืออีกนัยยะกล่าวไว้ว่า เพียงช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น เพียงแวบเดียวเท่านั้น อานิสงส์ก็มีสูงมาก เหตุผลแห่งการภาวนานั้น อย่างที่บอกว่าแสงสว่างที่ปรากฏ เวลา ระยะเวลาแค่ช้างกระดิกหู งูแลบลิ้นหรือความสว่างของจิตปรากฏเพียงแค่ปลายหัวไม้ขีด อานิสงส์ก็สูงแล้ว หากเราสามารถทรงฌานได้เต็มกำลังในแต่ละครั้ง อานิสงส์ของการที่เราทรงฌานเต็มกำลังได้ ทรงกำลังในฌาน 4 ได้ อารมณ์จิต กำลังบุญแห่งฌานนั้น สามารถส่งผลให้เราจุติไปยังพรหมโลกได้ ยิ่งความเข้มข้นคือระดับของฌานสูงเท่าไหร่ ส่งผลกับชั้นของฌาน ชั้นของความเป็นพรหมมากเพียงนั้น พรหมทั้งหมดที่เป็นรูปพรหม คือผู้ที่สำเร็จในฌานทั้ง 4 มีทั้งหมด พรหมโลกมี 16 ชั้น อารมณ์จิตของเรา หากเข้าถึงฌาน 4 ได้ และเป็นฌาน 4 ละเอียด ชั้นของพรหมเราก็สูงขึ้น ยิ่งเป็นพรหมที่ทรงอารมณ์ในพรหมวิหาร 4 ด้วย ทรงกำลังสูงสุดในฌาน 4 และก็พรหมวิหาร 4 ควบกัน ยิ่งเข้าถึงเมตตาอัปปันนาณฌาน ก็สามารถที่จะเข้าถึงความเป็นพรหมในชั้นสูงสุดคือพรหมชั้นที่ 16   

ดังนั้นอานิสงส์ของการปฏิบัตินั้นมีความสูงอย่างยิ่ง อายุของพรหมเอง ก็มีอายุในการเสวยบุญยาวนานอย่างยิ่ง หากไม่นับอรูปพรหมแล้ว พรหมโลก ผู้ที่เข้าถึงความเป็นพรหมก็มีอายุในการเสวยวิมุติ ความสุขในฐานะของพรหมนั้นยาวนานที่สุด กว่าที่จะหมดบุญ มาเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีก อันนี้คือเรื่องของธรรมะในการปฏิบัติที่มีความแตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราสังเกตดู บุคคลที่อยู่ในเขตของพระพุทธศาสนา แต่มีความเข้าใจและเข้าถึงธรรม ในระดับความละเอียดของพระพุทธศาสนานั้นแตกต่างกัน บุคคลบางบุคคลมีสิ่งที่เรียกว่าทิฏฐิ ความคิด ความเชื่อความยึดถือของตน ปัญญาในการพิจารณา เข้าใจในธรรมแตกต่างกัน หลายคนที่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ อยู่ในเขตพระพุทธศาสนาจริง แต่เข้าใจธรรมะลึกซึ้งแตกต่างกันไป บางคนมีความเชื่อว่า เป็นคนดีคือการที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นก็พอแล้ว ทานก็อาจจะทำบ้างไม่ทำบ้าง ศีลก็อาจจะรักษาบ้างไม่รักษาบ้าง ไม่ต้องพูดถึงเรื่องของการปฏิบัติภาวนา และก็ความเชื่อที่เรียกว่าทิฏฐิ ถึงแม้ว่าเป็นชาวพุทธเอง หลายคนก็ไม่เชื่อเรื่องภพภูมิต่างๆ ไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่เชื่อในเรื่องของวัฏสงสาร เมื่อจิตมีทิฏฐิความไม่เชื่อในเรื่องของวัฏสงสาร ฐานปัญญาความรู้ ความเชื่อ ตรงจุดนี้เป็นจุดที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐินั้นอยู่ในมรรคมีองค์ 8 เป็นสิ่งสำคัญข้อแรกที่จะทำให้ได้มรรคผลพระนิพพาน ถ้าไม่เชื่อเรื่องสวรรค์นรก ไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่เชื่อเรื่องวัฏสงสาร ถ้าไม่เชื่อสิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องมรรคผลพระนิพพาน เพราะไม่เชื่อเรื่องวัฏสงสารก็ไม่รู้จะออกจากวัฏสงสารไปเพื่ออะไร ด้วยทิฏฐิความเชื่อของบุคคลนั้นเป็นเช่นนี้ 

ดังนั้นให้เราลองพิจารณาดูว่า ในโลกนี้ ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า จำนวนคนทั้งหลายมีมากเหมือนกับจำนวนของขนโค แต่บุคคล จำนวนบุคคลที่สามารถเข้าถึงมรรคผลพระนิพพานได้มีจำนวนน้อยเท่ากับ เขาของโค คือโค 1 ตัวมีเขาแค่ 2 เขา แต่มีขนเป็นสิบล้านเส้น ร้อยล้านเส้นทั่วร่างกาย นั่นก็แปลว่า บุคคลที่จะมีปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ มีปัญญาเข้าใจในเรื่องของวัฏสงสาร มีความมุ่งหมายมั่น ที่จะปฏิบัติ เพื่อมรรคผลพระนิพพาน มีจำนวนน้อยมากอย่างยิ่ง ให้เราพิจารณาดูว่า เพราะสิ่งใดทำให้บุคคลเหล่านั้นเป็นเช่นนี้ ทิฏฐิที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ หลายคนอยู่ในเขตพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นอยู่ในชุดของฆราวาสหรืออยู่ในผ้าเหลืองก็ตาม  บางท่านอยู่ในผ้าเหลือง แต่ความเชื่อ ความคิดในเรื่องของสัมมาทิฏฐิก็ยังไม่มี สัมมาทิฏฐินั้น มีประกอบไปด้วยสิ่งใด ประกอบไปด้วยความเชื่อ ความศรัทธาในเรื่องของกรรมและผลของกรรม ว่ากรรมนั้นมันมีผล ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว 

ให้เราน้อมพิจารณาดูจิตของเราในขณะนี้ว่า จิตของเรามีความเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรมหรือไม่ จากนั้นพิจารณาต่อไป สวรรค์นรกมีจริงไหม ให้เราพิจารณาดู แต่หากที่เราปฏิบัติมาในเรื่องของมโนมยิทธิ อันนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างสัมมาทิฏฐิโดยตรง เพราะเป็นการพิสูจน์เรื่องสวรรค์นรกมีจริง ภพภูมิทั้งหลายมีจริง พระนิพพานมีจริง ดังนั้นเมื่อเราปฏิบัติมาถึงจุดนี้แล้ว ก็แทบไม่ต้องถามว่า สิ่งต่างๆที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ คือความเชื่อเรื่องความเวียนว่ายตายเกิด สังสารวัฏ มีในจิตเราไหม ความเชื่อเรื่องกฎของกรรมมีในจิตเราไหม นรกสวรรค์มีจริง ผลของการทำดีทำชั่ว ทำให้เกิดไปจุติรับผลบุญ ผลบาป ในนรก สวรรค์ มีจริงไหม จิตของเรามีความเชื่อ มีความศรัทธา ไม่มีความสงสัยใดๆ และในขณะเดียวกัน ให้เราพิจารณาต่อไปว่า เราศรัทธาในคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ไหม จิตเราเข้าถึงซึ่งไตรสรณคมน์อย่างแท้จริงไหม  

พิจารณาต่อไปในความเป็นสัมมาทิฏฐิว่า เรามีความเชื่อว่ามรรคผลยังมีจริงไหม คำนี้พิจารณาได้จากคำสอนของครูบาอาจารย์ ที่ท่านสอนว่า ตราบใดที่โลกนี้ยังมีผู้ปฏิบัติ มีผู้เจริญพระกรรมฐาน ตราบนั้นโลกนี้ย่อมไม่สิ้นจากพระอริยเจ้า ในขณะเดียวกัน ในบางยุคบางสมัยก็มีผู้ที่สอนบอกว่า ยุคสมัยนี้ไม่มีพระอริยเจ้าแล้ว ยุคสมัยนี้ไม่มีพระอรหันต์แล้ว ซึ่งบุคคลนั้น ยิ่งกล่าวออกไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนหมดกำลังใจ หมดศรัทธาในการปฏิบัติธรรม เลยยิ่งห่าง ยิ่งหายจากพระนิพพาน ซึ่งผลกรรม อานิสงส์ก็ไม่ต้องพูดถึง แต่บุคคลที่ให้กำลังใจบุคคลทั้งหลายในการปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน อานิสงส์ในการส่งเสริมให้บุคคล เข้าสู่ธรรม เข้าสู่พระนิพพานก็ไม่ต้องพูดถึงเช่นกัน คิดเอาง่ายๆว่าเราทำบุญกับครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอริยเจ้ามากเท่าไหร่ เหตุผลในการที่เราตั้งใจในการทำบุญกับพระอริยเจ้า ก็ตามคำสอนที่บอกว่า เวลาทำบุญ สร้างกุศล ทำทาน จงเลือกเนื้อนาบุญ นั่นก็หมายความว่าเราทำบุญกับพระผู้ที่ปฏิบัติ และเข้าถึงความบริสุทธิ์ของจิต คือความเป็นพระอริยเจ้าก็ดี เราทำบุญกับครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแม้อยู่ในมรรค แต่เป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อปรารถนาในการทำพระนิพพานให้แจ้งก็ดี อานิสงส์ก็ยิ่งมากมายมหาศาลเช่นกัน เพราะเหตุผลว่าเราส่งเสริม สนับสนุน ดูแลท่านที่ปฏิบัติ เพื่อพระนิพพาน ผลอานิสงค์เกิดขึ้นตรงจุดนี้ และในขณะเดียวกัน กระแสธรรม กระแสความดีทั้งหลาย ที่นำพาให้บุคคลเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้โดยง่าย อานิสงส์ตรงนี้ก็มากมายมหาศาลเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ คำว่าการให้ธรรมะทานจึงเป็นทานสูงสุด มีอานิสงส์สูงสุด ด้วยเหตุประการละฉะนี้ ก็ให้เราแต่ละคนน้อมจิตพิจารณา ดูจิตของเราในขณะนี้ กำหนดสภาวะในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ จิตของเรามีความเป็นสัมมาทิฏฐิสมบูรณ์พร้อมหรือไม่ เมื่อจิตเรามีความเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ในพื้นฐานของธรรมะ คือธรรมชาติแห่งสังสารวัฏแล้ว ก็พิจารณาต่อไปว่า วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยหมายความว่า ในความเป็นสัมมาทิฏฐินั้น ความมั่นคงในความเป็นสัมมาทิฏฐิมีในจิตของเรา หรือจิตเรายังมีความคลอนแคลนสงสัย ลังเลสงสัย 

วิจิกิจฉา แปลว่า ความลังเลสงสัย เป็นเครื่องร้อยรัดในสังโยชน์ทั้ง 10 ประการ เป็นสังโยชน์ข้อสำคัญที่ทำให้เป็นเครื่องขัดขวางมรรคผลพระนิพพาน วิจิกิจฉาที่ว่าในจุดที่ชี้เป็นจุดสำคัญ

วิจิกิจฉาคือบางคนฝึกกรรมฐานไปแล้ว ฝึกมโนมยิทธิไปแล้ว ตรงนี้เกิดบ่อย เรียกว่าเกิดประมาณ 6-70 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ฝึก มีหลายคนมากที่เมื่อปฏิบัติได้มโนมยิทธิแล้ว แต่ท้ายที่สุด จิตเกิดมารเข้ามาแทรก เข้ามาลวงใจให้เราเกิดความสงสัย เกิดคิดปรามาสพระรัตนตรัย ปรามาสครูบาอาจารย์ว่า สรุปว่าไอ้ที่เราเห็น ที่เรารู้ขึ้นมาด้วยความเป็นทิพย์ของจิต มันจริงหรือไม่จริง ซึ่งหากเราคิดเช่นนี้ สงสัยเช่นนี้ วิจิกิจฉาก่อตัว พอกตัว มากเข้า มากเข้า มากเข้า ในที่สุด สิ่งต่างๆที่ทำให้เราเริ่มลังเลสงสัย เห็นว่าง่ายเกินไปบ้าง เห็นว่าเร็วเกินไปบ้าง จนในที่สุดกลายเป็นว่า คิดว่าเราคิดไปเอง มโนไปเอง เป็นของไม่จริงเป็นของเก๊ ในเมื่อมาเจอของจริงแล้วก็คิดว่าเป็นของเก๊ เจอของเก๊แล้วกลับคิดว่าเป็นของจริง ทิฏฐิก็เกิด การพลิกกลับ จิตก็เกิดความเสื่อมจากความดี ในที่สุดมโนมยิทธิก็หาย 

ดังนั้นจากการสอน จากประสบการณ์ของอาจารย์ที่พบ ก็จะพบว่าคนส่วนใหญ่เวลาที่ฝึกมโนมยิทธิ หลายๆคนครั้งแรกฝึกได้ง่าย แต่ในที่สุดเมื่อไม่เห็นค่า หรือคิดว่าเป็นของเก๊ คิดว่าไม่ใช่ คิดว่าในที่สุดเราคิดไปเอง วิจิกิจฉาตรงนี้ มันจะทำให้เสื่อม จากความดี และต่อมาเมื่อทบทวนคิดตริตรองแล้ว เกิดอยากกลับมาฝึก กลับกลายเป็นว่า คราวนี้การฝึกการปฏิบัติ การที่จะทรงอารมณ์กลับมาคล่องตัวแบบเดิม กลับเป็นเรื่องที่ยากกว่าการฝึกครั้งแรกมากมายนัก ดังนั้น หากบุคคลใดที่รักษาความดีไว้ได้ ทรงอารมณ์จิต ทรงอารมณ์ของมโนมยิทธิไว้ได้แล้ว ก็พึงเก็บรักษา พึงฝึกที่จะทรงอารมณ์ไว้ให้ได้เป็นปกติ ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง จุดนี้คือจุดหนึ่งที่เป็นวิจิกิจฉา อย่าคิดว่าเป็นของเก๊ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องมโนไปเอง กำหนดจิต มั่นคงในคุณของพระรัตนตรัย เมื่อเรายกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานได้ ก็มั่นใจว่าภาพพุทธนิมิตที่เรากำหนดรู้ กำหนดกราบ กำหนดเห็น เรากำลังกราบพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน จิตปราศจากความลังเลสงสัยทั้งปวง ความลังเลสงสัยที่เกิดขึ้น ความคิดที่ว่ามันเก๊หรือจริง อยู่ที่จิตของเรา  จิตของเรามีความหวั่นไหวมากเท่าไหร่ นิมิตก็กลายเป็นของเก๊ จิตเรายิ่งมีความมั่นคงในพระรัตนตรัยมากเท่าไหร่ นิมิตก็เป็นของจริง จิตมีปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง ใคร่ครวญพิจารณาตัดกิเลส จิตมีความสงบ สงัด จากกิเลสนิวรณ์ 5 มากเท่าไหร่ จิตมีความสะอาด บริสุทธิ์ จากการตัดขันธ์ 5 ได้มากเท่าไหร่ ข้อธรรม ธรรมะที่เราซึมซับรับมาจากนิมิต จากกรรมฐานก็ยิ่งถูกต้องแม่นยำมากขึ้นเพียงนั้น ดังนั้น จะจริงจะเก๊ จะเท็จจะลวง อยู่ที่จิตของเรา อยู่ที่ความมั่นคงในจิตของเรา อยู่ที่ความบริสุทธิ์ของจิต ในการตัดกิเลสของเรานั่นเอง ดังนั้นวิจิกิจฉา อยู่ที่เราเป็นข้อ เป็นจุด ที่เราต้องพึงแก้ไข มีปัญญารู้เท่าทัน 

ส่วนวิจิกิจฉาอีกข้อหนึ่ง ที่เป็นข้อสำคัญ ในการปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพานก็คือ ความลังเลสงสัยในตัวเราเอง ความลังเลสงสัยที่ว่าก็ว่าที่เจอเยอะพบบ่อยก็คือ เราคิดว่าเราบุญน้อยเราไม่มีบุญ เราไม่ได้สร้างความดีมา เราไม่มีบุญจะไปพระนิพพานได้หรอก หรือมีทิฏฐิความคิดว่าจะต้องยาก จะต้องปฏิบัติยากๆ เหนื่อยๆหน่อย ซึ่งอันที่จริงแล้วการปฏิบัติ อยู่ ขึ้นอยู่กับวิสัยของเรา ขึ้นอยู่กับคำอธิษฐานของเรา ขึ้นอยู่กับการสร้างบารมีที่ผ่านมาของเรา จะง่ายจะยาก อยู่ที่การฝึกฝนของเรา ทุกสิ่งที่ว่ายาก ล้วนแต่เริ่มต้นที่เราต้องฝึก จากง่ายๆขึ้นมาก่อน ถ้าเราฉลาด เราค่อยๆฝึกไล่อารมณ์ขึ้นมาทีละน้อย หรือฝึกวางอารมณ์จิตให้ถูกต้องแต่แรก การปฏิบัติที่ยากก็ง่าย หรือการปฏิบัติธรรมนั้นหากเราเริ่มต้นในจุดที่ถูกต้องแต่แรก เช่น เราเริ่มต้นฝึกกรรมฐาน เราเริ่มตั้งแต่เมตตาจิต เริ่มตั้งแต่พรหมวิหาร 4 เราเริ่มในจุดที่เป็นจุดสูง แต่ทำได้ง่าย อานิสงส์ทำได้ง่าย ฝึกง่าย พอเราฝึกในจุดที่มีกำลังของสมาธิสูง มีผล มีอานิสงส์สูง การที่จะถอดธรรมะต่อไป ในระดับต่อๆไป มันก็กลับกลายเป็นของง่าย โดยส่วนใหญ่ทั่วไปแล้ว บุคคลทั้งหลาย เริ่มต้นจากการปฏิบัติ จากอานาปานสติเป็นจุดแรก แล้วจึงค่อยๆไล่ไป เป็นกสิณบ้าง อยู่กับกสิณตั้งนานกว่าจะเข้าถึงเมตตาพรหมวิหาร 4 แต่หากอารมณ์จิตของเรา ฝึกจนเข้าถึงพรหมวิหาร 4 ซึ่งเป็นอารมณ์สูง ลมเริ่มละเอียดมาก อารมณ์ปล่อยวาง อารมณ์มีความเข้าใจในสังสารวัฏแต่แรก จิตเราก็มีฐาน สามารถปูพื้น เข้าสู่วิปัสสนาญาณได้ง่ายขึ้น ได้เร็วขึ้นกว่าปกติ จุดนี้ก็เป็นจุดที่เป็นเรื่องของธรรมะ ธรรมะนั้นความเข้าใจของแต่ละบุคคล หากมีปัญญาพิจารณาใคร่ครวญละเอียดลึกซึ้ง การปฏิบัติธรรมก็รวดเร็วกว่าบุคคลที่ขาดการใคร่ครวญพิจารณา ภาษาในการปฏิบัติเรียกว่าการพิจารณาโดยแยบคาย โยนิโสมนสิการ น้อมนำมาพิจารณาใคร่ครวญเสมอว่าธรรมทั้งหลายนั้น เกิดผลเช่นไร ปฏิบัติแล้วเกิดอานิสงส์แห่งการปฏิบัติอย่างไรบ้าง ยิ่งเราใคร่ครวญโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน โดยแยบคายมากเท่าไหร่ ปัญญาในการปฏิบัติของเราก็ยิ่งลึกล้ำ ยิ่งก้าวหน้า ยิ่งลุ่มลึกมากขึ้นเพียงนั้นด้วยเช่นกัน 

ให้เราน้อมจิตกำหนดในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ สว่าง ผ่องใส ขอสลายวิจิกิจฉาทั้งปวง กำหนดจิต ให้อาทิสมานกายของเราประนมมือ สว่าง ผ่องใส ขอวิจิกิจฉาทั้งหลายจงสลายสิ้นออกไปจากจิตของข้าพเจ้า ความสงสัยในคุณของพระรัตนตรัย ไม่มีความสงสัยทั้งปวง ความสงสัยว่าพระนิพพานมีจริงหรือไม่ สลาย ไม่มีความสงสัยทั้งปวง ความเชื่อ ความศรัทธา ว่าการปฏิบัติมรรคของข้าพเจ้า ที่ข้าพเจ้ายกจิตมาบนพระนิพพานเช่นนี้ จะทำให้ข้าพเจ้าเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้หรือไม่ ไม่มีความสงสัยทั้งปวง  อันที่จริงถ้าพิจารณาให้ง่ายๆก็คือ จิตสุดท้ายก่อนตายนั้น หากจิตรำลึกถึงสิ่งใด จิตย่อมไปเสวยผลอานิสงส์ตามภพ ตามภูมินั้นๆ  ดังนั้นเมื่อจิตสุดท้ายของเรา เรายกอาทิสมานกายอยู่กับพระพุทธองค์บนพระนิพพาน ตายไปในขณะจิตนั้น จิตเราก็อยู่บนพระนิพพานเลย จริงๆมันก็ตรงไปตรงมา ไม่ได้ยากไม่ได้เย็นอะไรมากมาย จุดสำคัญมันมีเพียงแค่ เราทำเหตุให้สมกับผลอานิสงส์ที่จะพึงได้รับหรือไม่ ตั้งจิตว่าชาตินี้จะมานิพพานให้ได้ แล้วเราก็ไม่เคยมาอีกเลยนับตั้งแต่ปฏิบัติ กะว่าตายเมื่อไหร่ค่อยว่ากัน เหตุนี้ก็คือเรายังทำเหตุไม่สมกับผล จิตยังไม่ได้มีความปรารถนาในพระนิพพานอย่างแท้จริง แต่หากจิตเรามีความปรารถนาในพระนิพพานอย่างแท้จริง อุปมาเหมือนชายหนุ่มรักหญิงสาว เฝ้าคิดถึงทุกวันทุกคืน ไปเฝ้าหน้าบ้าน ดูประตู ดูหน้าต่าง หวังว่าจะเห็นหญิงคนรักโผล่หน้ามาเพียงแวบเดียว โผล่หน้าไปทุกวัน ทุกเช้า ทุกเย็น อุปมาก็เช่นกันกับ อารมณ์ที่เรามีความรักในพระนิพพาน  หากเราปรารถนาพระนิพพานอย่างแท้จริง เรายกจิตมาอยู่บนพระนิพพานทุกเช้าค่ำ ทุกเช้าเย็น นึกถึงเมื่อไหร่เรายกจิตมาอยู่บนพระนิพพาน ว่างเมื่อไหร่ เราทรงอารมณ์ อุปมานุสสติกรรมฐาน “นิพพานัง ปรมังสุขัง”

ดื่มด่ำ เสวยวิมุติในอารมณ์แห่งพระนิพพานเป็นปกติ หากจิตเราทรงอารมณ์ไว้เช่นนี้ไว้ทุกเช้าค่ำ ตลอดชีวิต ถึงเวลาบทจะตายขึ้นมา อารมณ์จิตก็จะเกิดความชินที่เป็นฌาน คือชินกับการที่ยกจิตมาเสมอ ชินกับสภาวะที่เราตั้งไว้เสมอว่า ตายเมื่อไหร่ ขอเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้โดยง่ายโดยพลัน  จิตก็จะรวมลงเข้าสู่อารมณ์เดิม คืออารมณ์พระนิพพาน 

“นิพพานัง ปรมังสุขัง”  

ดังนั้นการปฏิบัติเพื่อพระนิพพานในแบบของฆราวาสอย่างเรา อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องที่มันพิสดารซับซ้อนอะไร แค่มีจิต มีธรรมะ ฉันทะ เจริญอารมณ์พระนิพพานจนเกิดเป็นอิทธิบาท 4 ทุกเช้าเย็น ทุกเช้าค่ำ ด้วยอารมณ์ผ่องใส  ทำทุกครั้งทุกวัน ถ้าไม่ได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานก็ให้มันรู้ไป ดังนั้นจุดนี้เป็นเรื่องที่มันไม่ยากเกินกำลัง ให้เราแต่ละคนตั้งจิตไว้ อาทิสมานกายกายพระวิสุทธิเทพของเรา สว่าง ผ่องใส ทรงอารมณ์พระนิพพาน บริกรรม น้อมนำอารมณ์ “นิพพานัง ปรมังสุขัง” ภพอื่น ภูมิอื่นเราไม่ปรารถนา ตัดภพ จบชาติ  ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ความเป็นเทวดาก็ดี ความเป็นพรหมก็ดี ความเป็นมนุษย์ การมามีร่างกาย มีความทุกข์ เกิดการกระทบกระทั่งกัน เห็นความวุ่นวายของความเป็นมนุษย์ เห็นความวุ่นวายของโลก เห็นความวุ่นวายของสังสารวัฏ เห็นความวุ่นวายของการพยาบาทจองเวรจองกรรมซึ่งกันและกัน พิจารณาจนจิตวาง ละ  จากความวุ่นวายทั้งหลาย นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ไม่ต้องมาเกิด ไม่ต้องมาพบเจอกับความวุ่นวายทั้งปวง ไม่ต้องมาพบเจอกับความเหนื่อยยากทั้งปวง น้อมใจของเราอยู่กับพระพุทธองค์บนพระนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงเสด็จเข้าถึงพระปรินิพพาน พระนิพพานมีสภาวะเป็นเช่นไรก็ตาม เราขอตามเสด็จพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์เข้าสู่พระนิพพาน ในลักษณะเดียวกัน  ในสภาวธรรมเดียวกัน จิตปลอดโปร่ง โล่ง เบา ว่าง ปล่อยวางอย่างยิ่ง ปล่อยวางจากสังสารวัฏทั้งปวง ปล่อยวางจากความทุกข์ ความวุ่นวายทั้งปวง พิจารณาดับทุกข์ ปรากฏมีแต่เพียงวิมุตติสุข น้อมจิตให้อาทิสมานกายกายพระวิสุทธิเทพของเราแต่ละบุคคล อยู่ในสภาวะแสงสว่างเจิดจ้า เกิดฉัพพรรณรังสี สว่าง น้อมจิตว่าเราทรงอารมณ์พระนิพพาน เพื่อเสวยวิมุตติสุข ใจเอิบอิ่ม สว่างผ่องใส รัศมีกายสว่างชัดเจน รู้สึกถึงกระแสพลังที่ปรากฏเต็ม อาทิสมานกายสว่างเจิดจ้า วิมานของเราปรากฏ สว่างเจิดจ้า บุญทานทั้งหลาย ศีลทั้งหลาย ภาวนาทั้งหลาย รวมกัน บารมีทั้ง 30 ทัศ รวมตัวกันในอาทิสมานกายและวิมานของเรา เกิดพระนิพพานสมบัติเต็มกำลัง สว่างอย่างยิ่ง เจิดจ้าอย่างยิ่ง พระนิพพานสมบัติเต็มกำลัง สังเกตดูว่า กายของเรามีความสว่าง มีความละเอียดขึ้นไหม เครื่องประดับต่างๆของเรายิ่งมีรัศมีแสงสว่างมากขึ้นไหม กำหนดน้อมทรงอารมณ์เสวยวิมุตติสุขนี้ไว้ 

แล้วก็กำหนดจิตนะ ให้เราถึงเวลาทุกครั้งที่ขึ้นมาบนพระนิพพาน ทรงอารมณ์ที่เสวยวิมุตติสุขสูงสุดเต็มกำลัง พระนิพพานสมบัติเต็มกำลัง แล้วก็เขียนแผ่นทองอธิษฐานเขียนด้วยอารมณ์ที่มันเต็มกำลัง อานิสงส์ผลบุญก็ยิ่งปรากฏสว่างชัดเจน แล้วก็ตั้งจิตอธิษฐานต่อไปนะ ขอพรของหลวงพ่อพระราชพรหมญาณจงเป็นจริง รวยชาตินี้ นิพพานชาตินี้ ในระหว่างที่มีชีวิต ขอพระนิพพานสมบัติ จงปรากฏอานิสงส์เป็นมหาโภคทรัพย์ เกิดมนุษย์สมบัติอัศจรรย์ ฉับพลันรวดเร็ว รวยชาตินี้ นิพพานชาตินี้เป็นอัศจรรย์  เป็นกำลังใจต่อผู้คนในการปฏิบัติเพื่อพระนิพพานด้วยเถิด

ใจผ่องใส จากนั้นกำหนดจิตนะ แผ่เมตตาลงมาทั่วสังสารวัฏ แผ่ลงไปยัง อรูปพรหมทั้งหลาย  พรหมโลกทั้งหลาย สวรรค์ทั้ง 6 ชั้น รุกขเทวดา ภุมเทวดา มนุษย์ทั้งหลาย สุดขอบจักรวาล ทุกมิติ ทั่วอนันตจักรวาล แผ่เมตตาลงไปยังภพของโอปปาติกะ สัมภเวสีทั้งปวง แผ่เมตตาลงไปยังภพของสัตว์เดรัจฉาน  เปรต อสุรกายทั้งปวง แผ่เมตตาลงไปยังภพของนรกทุกขุม กำหนดกระแสแผ่เมตตาจากพระนิพพานลงมาทั่วสังสารวัฏ  ทุกดวงจิต  จิตเราเมตตาต่อสรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ ไม่เลือกที่รัก ไม่มักที่ชัง มีเมตตาต่อสรรพสัตว์เสมอกัน 

จากนั้นน้อมใจว่าขอผลอานิสงส์แห่งการปฏิบัติ น้อมเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา   บูชาคุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณทุกท่านทุกพระองค์ และก็ขอโมทนาสาธุกับกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน รวมถึงผู้ที่ได้มาฟัง ได้มาฝึกภายหลัง น้อมใจว่าอานิสงส์นี้ จงเกิดเป็นมหาโภคทรัพย์ เกิดเป็นทิพยสมบัติ พรหมสมบัติ พระนิพพานสมบัติ มนุษย์สมบัติ  อัศจรรย์กับทุกคน ทุกรูปทุกนามด้วยเถิด  

แผ่เมตตาสว่าง จากนั้นกำหนดจิต ใช้อาทิสมานกาย กราบพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ทุกท่านบนพระนิพพาน ครูบาอาจารย์ที่ท่านเมตตามาปรากฏ แล้วก็น้อมใจว่า ขอให้การปฏิบัติของข้าพเจ้าก้าวหน้า ขอให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งอัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ต่างๆ มาช่วยยืนยัน ว่าการปฏิบัติของข้าพเจ้านี้เป็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทิพย์โสตทั้งหลาย ปาฏิหาริย์แห่งพระบรมสารีริกธาตุ  ปาฏิหาริย์ต่างๆ เมตตามาเพื่อเป็นกำลังใจ จนจิตข้าพเจ้าสิ้นจากวิจิกิจฉา มั่นใจ มั่นคงในการปฏิบัติเพื่อพระนิพพานสืบต่อไปด้วยเถิด 

จากนั้นหายใจเข้าลึกๆช้าๆหายใจเข้าพุทออกโธ พระพุทธเจ้ามาคุ้มครองรักษาเป็นกำแพงแก้วเป็นมงกุฎพระพุทธเจ้า  

หายใจเข้าลึกๆครั้งที่ 2 ธัม-โม ขอกระแสธารแห่งธรรม หลั่งไหลรวมลงสู่จิต ให้ธรรมะของข้าพเจ้างอกงามขึ้น เจริญขึ้น 

หายใจเข้าครั้งที่ 3 สัง-โฆ ขอกำลังแห่งครูบาอาจารย์ แรงครูมาคุ้มครองให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์  เกิดเป็นมหาโภคทรัพย์อัศจรรย์ด้วยเถิด 

จากนั้นลืมตาขึ้นช้าๆด้วยจิตอันเป็นสุข จิตมีความผ่องใส ร่างกายขันธ์ 5 ซึมซับรับกระแสแห่งธรรม ฟอกธาตุขันธ์ร่างกาย สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง นับแต่นี้ อาจารย์ก็น้อมอธิษฐานให้ผู้ที่ปฏิบัติในเมตตาสมาธิทุกคน  เกิดอานิสงส์แห่งมหาโภคทรัพย์และเมตตามหาลาภัง เป็นมหาโภคทรัพย์ อัศจรรย์ให้ปรากฏขึ้นทุกคน ให้มีความคล่องตัวขึ้น เป็นกำลังใจ เป็นกำลังในการช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสืบต่อไป ก็ขอให้นับแต่นี้ ทุกคนเจริญรุ่งเรืองขึ้น ทั้งทางโลกทางธรรมนะครับ สำหรับวันนี้ก็สมควรแก่เวลา พบกันใหม่ครั้งหน้า สำหรับวันนี้โมทนากับทุกคนด้วย สวัสดีครับ 

ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณประสงค์ อมรนิมิต

You cannot copy content of this page