green and brown plant on water

วรรณกสิณ อาโลกสิณ อากาศกสิณ

เวลาอ่าน : 3 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน” 

วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566

เรื่อง วรรณกสิณ อาโลกสิณ อากาศกสิณ

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

กำหนดสติ ทรงสมาธิ กำหนดใจของเราให้ผ่องใส ใช้สติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วร่างกาย ผ่อนคลายทั่วร่างกาย ปลดปล่อยความห่วงความเกาะความยึดในขันธ์ห้าร่างกาย และกำหนดสติอยู่กับอารมณ์จิตที่เบาสบาย อารมณ์จิตที่ผ่องใส สงบ

เมื่อจิตของเราเข้าถึงความสงบความเบาความสบายของจิต ให้เราจำอารมณ์นี้ไว้ ว่าอารมณ์จิตนี้คืออารมณ์จิตที่เรียกว่าอุปจารสมาธิ อารมณ์จิตมีความเบามีความสบาย ในความเบาในความสบายนี้ เป็นช่วงเป็นย่านของอารมณ์จิตที่ญาณเครื่องรู้ตัวรู้จะผุดรู้ปรากฏขึ้น ความเป็นทิพย์ปรากฏขึ้น

เมื่อกำหนดรู้แล้วก็ฝึกที่จะทรงอารมณ์ อารมณ์กรรมฐาน อารมณ์สมาธิที่เราสามารถประคับประคองระดับของสมาธิได้ในแต่ละระดับได้ยาวนานตั้งมั่น ไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีการขึ้นลง นั่นก็ถือว่าเราฝึกตบะของสมาธิจนกระทั่งเกิดวสี เกิดความชำนาญกลายเป็นกำลังกรรมฐานที่ถือว่าเป็นสมาบัติ ทรงอารมณ์ ความสงบ ความเบา ความละเอียด สงบ สบาย เมื่อทรงอารมณ์จนจิตเกิดความสงบสบายแล้ว เราก็มากำหนดจิตจดจ่ออยู่กับสมาธิที่เรียกว่า “กสิณ”

กำหนดกสิณจิตเป็นแก้วใสสว่าง กำหนดจิต “จิตคือกสิณ กสิณคือจิต” ทรงอารมณ์ ทรงภาพนิมิต ภาพดวงแก้วดวงจิตของเราที่ใสสะอาด ภาพนิมิตสัมพันธ์จิตใจ ดวงจิตเรายิ่งใสใจเรายิ่งใส คือสะอาด สว่าง สงบ ระงับจากกิเลสทั้งปวง ทรงอารมณ์ ทรงสภาวะที่จิตเป็นแก้วใสสว่าง

กำหนดรู้ เรียกว่า “อุคหนิมิต” ทรงอารมณ์ในอุคหนิมิตในช่วงขณะช่วงเวลาหนึ่ง 

จากนั้นจึงเคลื่อนจิตเข้าสู่สภาวะของกสิณที่มีอารมณ์สูงขึ้น กำหนดภาพของดวงจิตที่เป็นแก้วใสเปลี่ยนสภาวะให้กลายเป็นเพชรลูกขนาดใหญ่ที่มีการเจียระไนเป็นประกายระยิบระยับ จิตที่เป็นประกายระยิบระยับเป็นเพชรประกายพรึก มีแสงรัศมีเป็นสีรุ้งส่องสว่างแพรวพราวแผ่มาจากจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกสว่างเจิดจ้านั้น กำหนดจิตพิจารณาว่าอารมณ์จิตเราทรงในสภาวะที่เรียกว่า “ปฏิภาคนิมิต” ปฏิภาคนิมิตนี้ถือว่าเป็นฌานสี่ของกสิณ การทรงภาพ การทรงอารมณ์ ภาพที่เป็นเพชรสว่างแผ่รัศมี จิตมีความเอิบอิ่มเป็นสุขอย่างยิ่ง อารมณ์จิตนี้คืออารมณ์ของอภิญญาจิต คืออารมณ์ของฌานสี่ในกสิณ 

ทรงสภาวะแห่งจิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง 

ทรงอารมณ์สภาวะที่จิตเป็นเพชรประกายพรึกนั้น  ใจแย้มยิ้มเบิกบาน

จากนั้นวันนี้เราจะฝึกสมาธิกันต่อ ในภาคของการฝึกในบทที่เรียกว่า “วรรณกสิณ” คือ กสิณสีทั้งสี่ กสิณสีทั้งสี่นี้เรียกว่า “วรรณกสิณ” ตัววรรณกสิณนั้น มีสีซึ่งอาจจะไม่ได้เรียงตามลำดับ แต่มีครบถ้วนตามวรรณะตามสีที่กำหนดไว้ในกรรมฐานสี่สิบกอง คัมภีร์วิสุทธิมรรค

กสิณสีขาว กำหนดให้เห็นลูกแก้วที่เป็นสีขาว สีขาวทึบถือว่าเป็นกสิณต้นของกสิณสีขาว จากกสิณสีขาวก็กำหนดจิตให้สว่างขึ้น ใสขึ้น ใสจนกลายเป็นเพชรประกายพรึก 

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป กำหนดน้อมนึกในกสิณสีแดง กำหนดให้เห็นลูกแก้วที่เป็นลูกแก้วสีทึบสีแดง นึกให้เหมือนกับลูกบิลเลียด คือลูกกลมสีแดงเงาวาว สีนั้นทึบอยู่ จากนั้นค่อยๆเปลี่ยนสีที่ทึบให้กลายเป็นสีแดงใสขึ้น แดงใสขึ้นกลายเป็นแก้วใสสีแดง จากแก้วใสสีแดงกลายเป็นแก้วใสสะอาดบริสุทธิ์ ไร้สี มีแสงสว่าง จากแก้วใสไร้สีกลายเป็นเพชรประกายพรึก 

จากนั้นกำหนดจิตต่อไปในกสิณสีเขียว ที่เรียกว่า “นิลกสิณ” กสิณสีเขียวนั้นท่านหมั่นหมายเอาสีเข้ม คือเขียวเข้มไปจนกระทั่งถึงสีดำ สีเขียวเข้มนั้น กำหนดจิตให้เห็นเป็นลูกกลมสีเขียวเข้ม จะสีเขียวขี้ม้าทึบๆ หรือเข้มในโทนอื่นก็ได้ จากนั้นจากลูกกลมสีเขียวเข้มหรือเป็นสีดำ อันนี้ให้กำหนดได้ตามอัธยาศัย ลูกกลมสีเข้มนั้นค่อยๆกลายเป็นเขียวใสขึ้น สว่างขึ้นจนเป็นแก้วใสบริสุทธิ์ จากแก้วใสบริสุทธิ์กลายเป็นเพชรประกายพรึก สว่าง 

จากเพชรประกายพรึกที่สว่าง กำหนดจิตในกสิณกองต่อไป คือกสิณสีเหลืองหรือกสิณสีทอง ซึ่งใช้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลดีก็ให้ฝึกกำหนดเป็นกสิณสีทอง เป็นลูกกลมสีทองเป็นทองคำทึบตันบริสุทธิ์ กำหนดจิตนึกภาพลูกกลมสีทองสว่าง จากทองนั้นค่อยๆใสประกายแกมทองไป ประกายแกมทองปรากฏขึ้นเพิ่มขึ้น ประกายแกมทองที่ปรากฏขึ้นค่อยๆใสสว่างขึ้น สีสว่างประกายแกมทองนั้น นัยยะอีกนัยหนึ่งเป็นรัศมีแสงรัศมีกายสีรัศมีกายของพรหม แก้วประกายทองสว่างขึ้นใสขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง จิตยิ่งมีความเอิบอิ่มมีความผ่องใส เอาเป็นว่าขณะนี้ การที่เราเจริญจิตภาวนาฝึกกรรมฐานในกสิณที่เรียกว่า “วรรณกสิณ”นั้น เราครบทั้งสี่กองเรียบร้อยแล้ว

**คราวนี้จากสัปดาห์ที่ผ่านมา เราฝึกในกสิณธาตุทั้งสี่ ในเรื่องของกสิณดินน้ำลมไฟ ฝึกตั้งธาตุ ปลุกธาตุ รวมธาตุ คราวนี้ก็ยังเหลือกสิณอีกสองกอง เราก็ฝึกให้จบ

กสิณที่เหลืออยู่ก็ปรากฏว่าเป็นกสิณที่เรียกว่า “อาโลกสิณ” คือ กสิณแสงสว่าง

และกสิณอีกกองก็คือ “อากาศกสิณ” คือกสิณที่เป็นความว่าง คือเป็นที่ว่างโล่งๆ ไม่มีสิ่งใด 

วิธีการที่จะกำหนดก็คือ กำหนดอาโลกสิณ ก็กำหนดเลยว่าเป็นลูกแก้วแสงสว่าง ลูกแก้วที่เป็นแสงสว่าง ถ้าเป็นนัยยะในการฝึกปฏิบัติตามคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านก็จะให้กำหนดเจาะรูจากใบไม้บ้าง เจาะรูจากฝาบ้าง หรือมองแสงที่ลอดผ่านทะลุฝาทะลุใบไม้เป็นลำแสงทะลุลงมาให้เห็นลำแสงที่ทะลุนั้นชัดเจน พอจดจำภาพลำแสงที่ชัดเจนก็ค่อยมากำหนดเป็นแก้วใสสว่าง ค่อยๆกำหนดกลายเป็นประกายพรึก

ตอนนี้ก็ให้เรากำหนดภาพแสงหรือลูกกลมที่เป็นแสงให้กลายเป็นประกายพรึก มีแฉก มีรัศมี มีประกายรุ้งแผ่สว่างกระจายออกมา พอทรงอารมณ์นี้ได้ก็ถือว่าเราสำเร็จ ทรงอารมณ์ได้ในอาโลกสิณคือกสิณแสงสว่าง 

ส่วนกสิณกองสุดท้ายคือกสิณที่เรียกว่าอากาศกสิณ คือกสิณที่เป็นที่ว่าง ก็กำหนดจิตนึกภาพทรงกลมขึ้นมาหนึ่ง เป็นลูกบอลทรงกลมซึ่งเมื่อไปกระทบสิ่งของวัตถุใด วัตถุสิ่งของที่เป็นของทึบตันก็จะเว้าแหว่งกลายเป็นที่ว่างที่โล่ง หากเอาลูกกลมทรงกลมที่เรากำหนดเป็นที่ว่างนั้นทะลุกำแพง กำแพงนั้นก็จะทะลุเป็นที่โล่งที่ว่างทะลุไปได้ พอเลื่อนลูกกลมออก กำแพงก็กลับมาเนื้อเต็มเหมือนเดิม สรุปว่าลูกทรงกลมที่เป็นที่ว่างนั้นเมื่อไปสัมผัสเมื่อไปเคลื่อนทัพเมื่อไปผ่านในสิ่งใด สิ่งนั้นก็กลายเป็นที่ว่างที่โล่งทะลุไปได้ อันนี้คือวิธีกำหนดภาพของกสิณที่เป็นอากาศกสิณ คือกสิณที่ว่าง พอกำหนดได้แล้วก็กำหนดให้ลูกทรงกลมที่เป็นที่ว่างที่โล่งนั้นที่ปรากฏในนิมิตของจิตกลายเป็นแก้วใสสว่าง จากแก้วใสสว่างอุคหนิมิตก็กลายเป็นเพชรประกายพรึก เพชรประกายพรึกสว่างผ่องใส 

กำหนดจิตให้เป็นเพชรระยิบระยับละเอียด ทรงอารมณ์ไว้

จากนั้นจึงอธิษฐานจิต ขอบารมีพระท่านสงเคราะห์ ขอให้กรรมฐานทั้งสิบกองนั้นคือกสิณที่เป็นกสิณธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ วรรณกสิณทั้งสี่ คือสีขาว สีดำ สีเหลือง สีแดง อากาศกสิณ คือกสิณที่ว่างๆ อาโลกสิณคือกสิณแสงสว่าง กสิณทั้งสิบลูกสิบกองรวมกันเป็นหนึ่งในจิตของข้าพเจ้า จิตคือกสิณ กสิณคือจิต จิตเป็นประกายพรึกรวมกำลังอำนาจกำลังอภิญญาจิต อำนาจแห่งกสิณจิต จิตตานุภาพอยู่เหนือกสิณ จิตตานุภาพอยู่เหนือธาตุทั้งสี่ กำหนดให้กำลังแห่งกสิณทั้งสิบรวมอยู่ในดวงแก้วคือจิตของเราและอยู่ในอก สว่างเป็นเพชรประกายพรึก ทรงอารมณ์เห็นร่างกายนั้นเป็นโพรง กลางอกของกายที่เป็นโพรงนั้น ปรากฏกสิณรวมทั้งสิบกองสว่างเป็นเพชรระยิบระยับ ละเอียด ประณีต ใจมีความเต็ม มีความเอิบอิ่มเป็นสุขอย่างยิ่ง ทรงอารมณ์ไว้

จากนั้นเพื่อให้เกิดประโยชน์และเราก็จะเป็นการฝึกต่อวิชาซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันกับวรรณกสิณ คือกสิณสีทั้งสี่ วิชชาที่จะฝึกต่อนี้เป็นวิชชาสายวัชรยาน เป็นวิชชาฝ่ายมหายาน คือสายพระโพธิสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสายทิเบต วิชชาที่ว่าคือวิชชากายรุ้ง 

วิชชากายรุ้งนั้นเป็นวิชาลับของสายวัชรยานซึ่งไม่ได้ถ่ายทอดทั่วไป ถ่ายทอดในลามะชั้นสูง ซึ่งวิชชานี้ หลักการก็จะเป็นหลักการของการฝึกในส่วนของกายทิพย์ ในส่วนของกสิณ ในส่วนของการฝึกให้จิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งกายนั้นเปล่งประกายแสงสว่างออกมาเป็นสีรุ้งไล่สีแต่ละสี ซึ่งเมื่อฝึกแล้วผลก็คือเมื่อเรามีความคล่องตัวในกายรุ้ง พลังของกายทิพย์จะมีเพิ่มพูนขึ้น ในเวลาที่เราใช้กำลังของมโนมยิทธิ ความชัดเจนของญาณเครื่องรู้ต่างๆก็จะมีเพิ่มพูนขึ้น

ส่วนการจำแนกแยกแยะอรรถาธิบายในวิชชานี้ วิชานี้ก็คือวิชชาของกสิณแสงสว่าง กสิณสีวรรณะ แต่มีการผนวกนำเอา อสุภกรรมฐาน กายคตา มาผนวกควบกองกันกับการฝึกกสิณ การฝึกนั้นก็คือให้เห็นกาย จากกายเนื้อค่อยๆกลายเป็นใส กลายเป็นแสงสว่าง กลายเป็นสี สีแต่ละสีที่ปรากฏแผ่สว่างกระจายออกไป การแผ่กระจายของแสงแต่ละสีที่ปรากฏตามสเปกตรัมของสีของสีรุ้งตามที่เราพอจะมีความรู้สำหรับบางคนที่เคยเรียนวิทยาศาสตร์ เราจะพบว่าเมื่อนำแสงสีขาวเช่นแสงอาทิตย์ส่องผ่านแท่งปริซึมก็คือผลึกแก้วผลึกเพชร เมื่อแสงส่องผ่านผลึกเพชร แสงจะแตกแยกสเปกตรัมออกมาเป็นสีรุ้งทั้งเจ็ดสี ดังนั้นเมื่อไรที่ธาตุของเรานั้นกลายเป็นผลึกเพชร แสงที่เปล่งออกมาจากกายก็กลายเป็นฉัพพรรณรังสี คือรัศมีสีรุ้งแพรวพราวระยิบระยับ ดังนั้นจะเห็นว่าทุกอย่างนั้น การปฏิบัติจริงๆแล้ว สุดท้ายก็สามารถเชื่อมโยงเป็นวิทยาศาสตร์ได้ เมื่อธาตุในกายนั้นเปลี่ยนเป็นผลึกเพชร แสงรัศมีที่ปรากฏก็กลายเป็นประกายพรึกที่เรียกว่าฉัพพรรณรังสีรัศมีที่แพรวพราวส่องออกมา นั่นก็ถือเป็นผลจากการฝึกจิต ฝึกนิมิต ฝึกกสิณ 

คราวนี้สิ่งที่ฝึกต่อจากการที่กายของเราเปล่งประกายแสงออกมาทีละสี ทีละสเปกตรัม  สิ่งที่เสริมเพิ่มขึ้นมาก็คือการกำหนดมองเห็นลึกลงไปในกายจนกระทั่งถึงโครงกระดูก เห็นโครงกระดูกกลายเป็นแก้วใสในสีนั้น และสีนั้นก็เปล่งประกายแผ่แสงสว่างออกไป แผ่แสงสว่างจากกายจากโครงกระดูกของกายนั้น แผ่สว่างไปทั่วอนันตจักรวาล 

ซึ่งการแผ่แสงสว่างออกไปทั่วอนันตจักรวาลนั้น คือการฝึกรัศมีกายของกายทิพย์ ดังที่เราทราบว่าในโลกของกายทิพย์หรืออาทิสมานกายนั้น บุคคลใดมีรัศมีกายส่องสว่างไกลมากเท่าไร บุคคลที่มีรัศมีกายส่องสว่างกว้างไกลมีบุญมากกว่าผู้ที่มีรัศมีกายส่องสว่างไกลน้อยกว่า ซึ่งการฝึกตรงนี้ก็เป็นการฝึกกรรมฐาน ฝึกสมาธิจิต จนรัศมีกายนั้นแผ่สว่าง เฉกเช่นคล้ายคลึงกันกับการแผ่เมตตาอันไม่มีประมาณ เมตตาอัปปันนาณฌาน วิชชานั้นก็ถือว่าเป็นการฝึกเป็นการปฏิบัติเป็นการบำเพ็ญบารมีเพิ่มรัศมีกายทิพย์ของเราให้มันมีความสว่างมีความกว้างไกล

คราวนี้ในแต่ละสีของกายรุ้งสีของกายรุ้งก็ตามที่เราทราบ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ไล่อนุโลมปฏิโลม

  สำหรับคนที่จะฝึกจนกระทั่งมีความคล่องตัว     เราก็ไล่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง   แล้วก็ไล่ย้อนกลับ แดง แสด เหลือง เขียว คราม น้ำเงิน ม่วง   ไล่อนุโลมปฏิโลมไป

อันนี้พอเราทำความเข้าใจแล้ว เราก็จะเริ่มตั้งใจฝึก 

ให้เรากำหนดสมาธิ กำหนดรู้ในกาย กายของเราขณะนี้อยู่ในท่าจะเป็นนอนหรือนั่งสมาธิก็ตาม กำหนดให้เห็นภาพกายของเราอยู่ในท่านั่งสมาธิ กายเนื้อของเรานั่งสมาธิ กายเราค่อยๆขาว ใส สว่าง กายทั้งกายใสสว่าง โครงกระดูกใสสว่าง ทรงอารมณ์แผ่เมตตาเป็นแสงสีขาวสว่างออกไปทั่วจักรวาล โครงกระดูกแผ่แสงสว่างเปล่งประกายเหมือนกับโครงกระดูกทั่วกายของเรานั้นกลายเป็นแหล่งกำเนิดแสงสว่าง เป็นไส้หลอดสีขาวเปล่งแสงสว่างกระจายออกไปทั่วอนันตจักรวาล รู้สึกว่าทั้งกายโครงกระดูกเปล่งแสงสว่างออกไปทั่วอนันตจักรวาล

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป เริ่มเข้าสู่การปฏิบัติกายสายรุ้ง กำหนดจิตอธิษฐาน ขอบารมีของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่เข้าถึงบรรลุถึงวิชชากายสายรุ้ง ขอท่านเมตตามาประสิทธิ์ประสาทกับข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด 

จากนั้นกำหนดเริ่มต้นจากกายสีม่วง เห็นกายทั้งหมดเป็นแก้วใสสีม่วง โครงกระดูกเป็นแก้วใสสีม่วง กายและโครงกระดูกเปล่งแสงสว่างเป็นแสงสีม่วง สีม่วงเข้มแห่งสมาธิจิตแผ่สว่างกระจายไปทั่วทั้งอนันตจักรวาล สีม่วงแสงรัศมีสีม่วง คลื่นของแสงสีม่วง แผ่สว่างกระจายไปทั่วทั้งอนันตจักรวาล กายเป็นแก้วสีม่วง กำหนดเห็นกายของเรากระดูกของเรากลายเป็นอัญมณี เป็นอเมทิสสีม่วง ใส สว่าง เปล่งประกาย

จากนั้นกำหนดจิตให้กายกลับมาใสเป็นแก้ว เคลื่อนเข้าสู่กายรุ้งกายต่อไป

กำหนดจิตเห็นกายเป็นสีน้ำเงินครามคือสีน้ำเงินเข้มเหมือนกับสีไพลินเข้ม เข้มออกโทนดำเล็กน้อยกลายเป็นสีครามเข้มไปจนกระทั่งถึงกระดูกเปล่งประกายแสงสว่างออกไปทั่วอนันตจักรวาล กายเป็นผลึกของไพลิน แผ่สว่างใส รัสมีสีน้ำเงินครามน้ำเงินเข้มครามแผ่สว่างออกไป

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป กลับมาเป็นกายแก้วสว่างใส แก้วขาวใสสว่าง กายเป็นแก้วใสไปจนถึงโครงกระดูก เปล่งแสงสว่างรัศมีกลายเป็นเพชร 

จากนั้นเคลื่อนเข้าสู่กายสายรุ้งกายต่อไป คือกายสีน้ำเงินอ่อนออกเป็นสีฟ้า กายสีฟ้าสีน้ำเงินอ่อน อความารีนกายเป็นสีฟ้า แสงสีฟ้าเปล่งประกายออกจากโครงกระดูก เปล่งประกายรัศมีแสงสีฟ้าออกไปทั่วอนันตจักรวาล กายเป็นผลึก อวามารีนเปล่งประกายสว่าง

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป กายกลับมาเป็นเพชรสว่าง เห็นกายเป็นผลึกเพชรเจียระไน กายเนื้อของเราเป็นผลึกเพชรเจียระไนละเอียด โครงกระดูกภายในเป็นเพชรใสละเอียดลึกเห็นชัดละเอียดขึ้น

ใครฝึกถึงจุดนี้จะสังเกตได้ว่า พอเรากลับมาเป็นแก้วใส กายเป็นเพชร การกำหนดภาพกายเป็นเพชรมันง่ายขึ้นชัดเจนขึ้น 

คราวนี้เคลื่อนเข้าสู่กายสายรุ้งต่อไป เป็นกายสีเขียวมรกต กำหนดจิตเห็นกายของเรานั้นเป็นมรกต ใส ละเอียด นึกถึงโครงกระดูกก็เป็นมรกต เปล่งประกายแสงสว่างสีเขียว แผ่สว่าง รัศมีแสงสว่างสีเขียวออกไปทั่วอนันตจักรวาล เห็นกายเป็นผลึกมรกต ทรงอารมณ์ไว้พร้อมกับพิจารณา มีครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์ไทยมีอยู่รูปหนึ่งที่ท่านอยู่จังหวัดทางภาคอีสาน เมื่อมรณภาพแล้วปรากฏกายเป็นกายสีมรกตทั้งองค์ ซากคืออสุภ ร่างของท่านนั้นไม่เน่าไม่เปื่อยและกลายเป็นมรกตทั้งองค์ ท่านได้รับฉายาว่าพระอรหันต์กายมรกต อันนี้ก็เกิดขึ้นจากวาระบุญเก่าบารมีเก่าของท่านที่ท่านเคยฝึกเคยปฏิบัติ แล้วมีอีกองค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงก็คือหลวงปู่ดาบส เมื่อท่านมรณภาพและทำพิธีฌาปนกิจแล้ว หัวใจท่านกลายเป็นก้อนมรกต เราก็กำหนดรู้ ฟังเกร็ดวิชา ฟังเรื่อง แล้วก็กำหนดจิตต่อไป ให้เห็นกายของเราเป็นแก้วมรกตเปล่งประกายสว่างแผ่ไปทั่วจักรวาล รู้สึกถึงความเป็นผลึกของมรกต

จากนั้นน้อมจิตต่อไป อธิษฐานขอกายนี้กลับมาเป็นกายเพชรประกายพรึกอีกครั้งหนึ่ง เป็นแก้วใสสว่างเป็นเพชรประกายพรึก ผลึกอนุภาคทั่วกายของเรากลายเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง รู้สึกได้ถึงแสงสว่างรัศมีกายที่แผ่ออกมาจากทุกรูขุมขนทั่วกาย กายที่เป็นเพชรสว่าง

จากนั้นกำหนดต่อไป เริ่มเข้าสู่กายที่เป็นกายสีเหลือง บุษราคัม กายสีเหลืองแก้วสีเหลืองบุษราคัมเปล่งประกายสว่าง โครงกระดูกเป็นสีเหลืองสว่างเปล่งประกายแสงสว่างรัศมีกายจากกายและโครงกระดูก แผ่สว่างออกไปทั่วอนันตจักรวาล อารมณ์จิตมีความเบามีความสบาย

จากนั้นทรงอารมณ์จิตกลับมาที่กายที่เป็นเพชรประกายพรึก กำหนดเห็นกายที่เป็นเพชรประกายพรึกสว่างแผ่รัศมีสว่างไปทั่วจักรวาล จากนั้นเคลื่อนเข้าสู่กายสายรุ้งกายต่อไป 

กำหนดกายเป็นแสงสีแสดสีส้มสว่าง กายสีส้มโครงกระดูกสีส้มเปล่งแสงสว่างสีส้มเข้ม แผ่สว่างไปทั่วจักรวาล

จากนั้นกำหนดจิตให้กายกลับมาเป็นเพชรประกายพรึกสว่างใส ลึกไปถึงโครงกระดูกก็เป็นเพชร แผ่รัศมีสว่างไปทั่วจักรวาล อนันตจักรวาล จากนั้นจึงกำหนดจิตต่อไป 

กำหนดจิตดึงกายกลับมาเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง รัศมีสว่างกระจายออกไป จากนั้นเคลื่อนกายเข้าสู่กายที่เจ็ด กายเป็นรัศมีแสงสว่างสีแดง กายเป็นผลึกทับทิมสีแดง สีแดงเข้มสว่าง โครงกระดูกก็เป็นสีแดง กายทั้งหมดเปล่งประกายแสงสว่างสีแดง แสงสีแดงเปล่งประกายสว่างไปทั่วอนันตจักรวาล ทรงอารมณ์ทรงความรู้สึกในการแผ่รัศมีของกายเป็นรัศมีกายสีแดงสว่างออกไป ร่างกายปรับเปลี่ยนผลึกธาตุ ผลึกสีแดงปรากฏขึ้น 

จากนั้นกำหนดจิตย้อนกลับมาเป็นกายแก้วใสเป็นประกายพรึกสว่างเป็นเพชรระยิบระยับ เมื่อกายเป็นเพชรประกายพรึกแล้ว กำหนดจิตกายที่เป็นเพชรเจียระไนละเอียดระยิบระยับในขณะนี้ยังเนื่องอยู่กับกายเนื้อ ยังเนื่องอยู่กับภาคของมนุษย์

กำหนดจิตอาราธนาบารมีพระ ขอภาพนิมิตแห่งพระพุทธองค์ทรงปรากฏกลางอกของกายที่เป็นเพชรนี้ องค์พระขอจงปรากฏเป็นองค์พระที่เป็นเพชรประกายพรึก เจียระไนละเอียดระยิบระยับ เปล่งประกายเจิดจ้าออกมา

จากนั้นกำหนดจิตอธิษฐานขอบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ขอยกกายเนื้อที่เป็นเพชรประกายพรึกนี้ ขอจงปรับเปลี่ยนผลึกธาตุ จากธาตุหยาบกายเนื้อจงเป็นธาตุธรรม จากอารมณ์จิตของปุถุชนจงเป็นอารมณ์จิตแห่งพระอริยะเจ้า  จากนั้นพุ่งกายที่เป็นผลึกเพชรทั้งหมดนี้ขึ้นไปบนพระนิพพาน พร้อมกับอธิษฐาน ขอให้แปลงรูปสภาวะของกายที่เป็นเพชรนั้นจงกลายเป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพที่เป็นเพชรระยิบระยับ ประกอบไปด้วยเครื่องทรงที่ครบพร้อมพรั่งสมบูรณ์  เป็นเพชรระยิบระยับในกายพระวิสุทธิเทพ เปล่งฉัพพรรณรังสีรัศมีของกายออกมา กายพระวิสุทธิเทพอยู่บนพระนิพพานเปล่งประกายสว่างออกมา อารมณ์จิต อารมณ์วิปัสสนาญาณในการพิจารณาน้อมจิตพิจารณาว่าจิตเราตัดกายทิ้งกายทิ้งความเป็นกายเนื้อ จิตตัดภพจบชาติ ไม่ปรารถนาในความเกิดในการเป็นมนุษย์ ไม่ปรารถนาในการเกิดในการเป็นเทวดา ไม่ปรารถนาในการเกิดเป็นพรหมหรืออรูปพรหม จิตเราตัดไว้จุดเดียวจดจ่อตั้งมั่นไว้อยู่จุดเดียวคือพระนิพพาน พร้อมกับการกำหนดสภาวะความรู้สึกในความเป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพชัดเจน ปรากฏกายสว่างผ่องใส

จากนั้นน้อมจิตอธิษฐานว่าการปฏิบัติตัดกายแยกกาย ขอการปฏิบัติที่ข้าพเจ้าตัดกายแยกกายทิ้งกายยกกำลังจิตด้วยกำลังของมโนมยิทธิขึ้นมาบนพระนิพพาน เพื่อตัดสรรพกิเลสทั้งปวง คือความรักโลภโกรธหลงทั้งหลาย ตัดสังโยชน์ทั้งสิบประการ เครื่องร้อยรัดจิตไว้กับภพภูมิทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอน้อมให้ผลแห่งการปฏิบัตินี้เป็นปฏิบัติบูชา บูชาคุณพระรัตนตรัย บูชาคุณพ่อแม่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ท่านผู้มีพระคุณทั้งหลาย บูชาคุณพระโพธิสัตว์พระมหาโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย บูชาคุณบูรพมหากษัตราธิราชทุกๆพระองค์ทุกราชวงศ์ บรรพบุรุษบรรพชนทั้งหลายที่เสียสละเลือดเนื้อรักษาชาติบ้านเมืองแผ่นดิน นอบน้อมต่อท่านผู้มีพระคุณทั้งปวงดังที่กล่าวมา เทพพรหมเทวดาผู้พิทักษ์รักษาข้าพเจ้า รักษาพระพุทธศาสนา เทพพรหมเทวดาที่รักษาพระเศวตฉัตรพระสยามเทวาธิราช เทวดาพรหมผู้พิทักษ์รักษาผู้ปฏิบัติผู้เจริญพระกรรมฐานรวมถึงที่ท่านกำลังเมตตาคุ้มครองปกปักรักษาข้าพเจ้าทั้งหลายในขณะนี้ ข้าพเจ้าขอน้อมถวายเป็นปฏิบัติบูชา ขอแสงสว่างแห่งกายพระวิสุทธิเทพเปล่งประกายแผ่ไปถึงทุกท่าน เป็นอนุภาคกระแสแสงสว่างแห่งบุญอันละเอียดปราณีตระยิบระยับส่องสว่างเอิบอิ่มเป็นสุข

เราจะสังเกตได้ว่าการแผ่รัศมีกาย การแผ่เมตตา แสงรัศมีที่เราแผ่ออกจากกายพระวิสุทธิเทพก็ดี จากกายทิพย์ก็ดี มีความชัดเจนขึ้น มีความละเอียด มีความรู้สึกเกี่ยวเนื่องกับกระแสที่แผ่ออกไปมากขึ้นกว่าเดิม

กำหนดน้อมจิต เมื่อแผ่เมตตา เมื่ออุทิศบุญกุศลถึงทุกท่านทุกรูปทุกนามแล้ว เราก็อธิษฐานจิต เมื่อขึ้นมาบนพระนิพพานแล้ว ขอเมตตาปรากฏมหาสมาคมอันประกอบไปด้วยพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ที่บรรลุเข้าถึงซึ่งพระนิพพานแล้วโดยทั้งหมด ปรากฏองค์สมเด็จพระบรมไตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสมเด็จองค์ปฐมพระสิขีทศพลที่หนึ่ง เมตตาเป็นประธาน ให้ญาณเครื่องรู้ของข้าพเจ้าได้รับรู้ผุดรู้สัมผัสถึงทุกท่านทุกๆพระองค์บนพระนิพพาน น้อมรับกระแสเชื่อมกระแสกับทุกท่านทุกๆพระองค์บนพระนิพพานได้ด้วยเถิด

จากนั้นกำหนดให้เห็นกายทิพย์ของเราค่อยๆแยกเป็นจำนวนมากมายมหาศาล น้อมจิตกราบแทบเบื้องพระบาทของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ที่ปรากฏนั้น แยกจิต แยกอาทิสมานกาย 

จากนั้นกำหนดจิตฝึกต่อไป และขอแยกอาทิสมานกายของข้าพเจ้าออกไปเป็นจำนวนมากมายมหาศาลไม่ถ้วน ที่ใดจุดใดที่มีบุญมีกุศล ขอให้กายของข้าพเจ้าที่แยกภาคออกไป ขอจงไปปรากฏและอนุโมทนาสาธุ แยกกายทิพย์ออกไปโมทนาบุญกับทุกบุญกุศลทุกความดีที่ปรากฏ งานบุญงานกุศลในทุกที่แยกอาทิสมานกายของเราไปโมทนา

จากนั้นฝึกแยกอาทิสมานกายต่อไป ที่ใดบนโลกมนุษย์ที่ปรากฏพระอริยะเจ้า นับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนกระทั่งถึงพระอรหันต์ ที่ใดในเทวโลก พรหมโลก ที่ปรากฏพระอริยะเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงกระทั่งถึงพระอนาคามี ข้าพเจ้าแยกอาทิสมานกายเป็นจำนวนมากมายมหาศาล แยกไปกราบทุกท่านทุกๆพระองค์ ไม่ว่าท่านจะเป็นมนุษย์ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในเพศฆราวาส หรือบรรพชิตคือพระสงฆ์ หรือแม่ชีก็ตาม ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภพใดภูมิใด ภูมิเทวดาที่ท่านเป็นพระอริยะเจ้าก็ดีไปจนกระทั่งถึงท่านท้าวสหัมบดีพรหมผู้ทรงไว้ในความเป็นพระอนาคามีผลก็ดี ข้าพเจ้าแยกจิตแยกอาทิสมานกายไปกราบทุกท่านทุกๆพระองค์ ขอกระแสมรรคผลพระนิพพาน ธรรมที่ท่านเข้าถึงแล้ว ขอน้อมรวมลงสู่กายทิพย์ที่ข้าพเจ้าแยกอาทิสมานกายไปกราบ

จากนั้นจึงกำหนดจิตอธิษฐานให้กายทั้งหลายที่แยกออกไปเป็นจำนวนมากมายทั้งที่กราบพระ ทั้งที่ไปโมทนาบุญกับบุญกุศล ทั้งที่ไปกราบพระอริยะเจ้าในภพภูมิต่างๆทุกภพ สามไตรภูมิจำนวนมากมายมหาศาลเพียงใด จงกลับมารวมที่อาทิสมานกาย กายพระวิสุทธิเทพบนพระนิพพานเป็นหนึ่งเช่นเดิม

จากนั้นอธิษฐานจิต จิตรวมเป็นหนึ่ง หนึ่งเดียวกับพระนิพพาน เอกัคคตารมณ์สูงสุดคือจิตเป็นหนึ่งเดียวกับพระนิพพาน

กำหนดจิตทรงสภาวะกายพระวิสุทธิเทพให้สว่างเจิดจ้าที่สุด ความเป็นกายพระวิสุทธิเทพประจักษ์แจ้งชัดเจนในจิตของเรา กายแห่งพระนิพพานคือกายในที่แท้จริงของเรา ตายเมื่อไร ขอเข้าถึงซึ่งพระนิพพานเพียงจุดเดียว

จากนั้นทรงอารมณ์ให้ผ่องใส ยินดีในพระนิพพาน พิจารณาว่าร่างกายนั้นที่เป็นกายหยาบขันธ์ห้าในที่สุดมันก็ไม่เที่ยงมันก็แตกสลาย กายที่เห็นก็เป็นเพียงมายาของแสงสี แสงสีทั้งหลาย สีม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง มันก็เป็นเพียงมายา กายทั้งหลายที่เป็นขันธ์ห้าก็เป็นเพียงธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ใจของเราไม่ติดไม่ยึดกับธาตุทั้งหลาย ไม่ติดไม่ยึดกับกาย ไม่ติดไม่ยึดกับภพทั้งปวง จิตเราปล่อยวางจากทุกสรรพสิ่งในสังสารวัฏ จากสมมติทั้งหลายในทางโลก จิตเรากำหนดรู้ว่าเราคือกายทิพย์อาทิสมานกาย เราไม่ใช่ร่างกายกายเนื้อกายหยาบ เมื่อตายจากร่างกายนี้แล้ว จุดหมายเดียวที่เราตั้งใจไว้ก็คือพระนิพพาน

เมื่อทรงอารมณ์แล้ว จิตเราอธิษฐานปักไว้กับพระนิพพานแล้ว ก็ได้เวลาวาระอันสมควรกับการปฏิบัติในวันนี้

กำหนดจิต อธิษฐาน ขอโมทนาสาธุกับเพื่อนกัลยาณมิตรทุกคนที่ปฏิบัติธรรมในวันนี้ ขอโมทนาสาธุกับบุญในการจัดพิธีบวงสรวงบูรพมหากษัตราธิราชเจ้าและเหล่าบรรพบุรุษพระสยามเทวาธิราชที่ปรากฏขึ้นในวันนี้ และขอน้อมบุญกุศลอุทิศให้กับสามีของญาติธรรมซึ่งเกิดอุบัติเหตุ มีชื่อว่าคุณศิริพงศ์ รักแก้ว ขอให้บุญกุศลแห่งการเจริญกรรมฐานของเราทุกคนนี้ ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ ให้คุณศิริพงศ์ รักแก้ว มีสุขภาพสมบูรณ์ ฟื้นตัวได้สติจากอาการบาดเจ็บในอุบัติเหตุ กระแสบุญกุศลส่งผลปรับธาตุปรับร่างกายให้ฟื้นกลับคืนมาได้ ขอกำลังแห่งบุญจงเป็นไป ขอจงแก้ไขให้บรรเทาเบาบางหากไม่เกินอำนาจกฎของกรรม ขอจงฟื้นตัว ขอจงได้สติด้วยเถิด

จากนั้นกำหนดใจของเราให้ผ่องใส ใจเราใส สว่าง หายใจเข้าลึกๆช้าๆ หายใจเข้าพุท ออกโท ครั้งที่สอง ธัมโม ครั้งที่สาม สังโฆ ถอนจิตช้าๆออกจากสมาธิ

จากนั้นก็โมทนาบุญกับเพื่อนกัลยาณมิตรทุกคนที่ปฏิบัติธรรม โมทนาบุญในกุศลทั้งหลายที่ทุกท่านได้ไปสร้างบำเพ็ญไว้ดีแล้ว แล้วก็กำหนดจิตได้อย่าลืมเขียนแผ่นทองอธิษฐานสร้างพระคำอธิษฐานเพื่อพระนิพพาน

แล้วก็วันที่ 9 มกราคมก็จะมีงานเจริญพระกรรมฐานก็อยากให้เราทุกคนถ้ามีโอกาสมีวาระมีความตั้งใจก็อยากให้ไปกัน ซึ่งจะประกาศในระยะเวลาต่อไป

สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคนด้วย ให้ทุกคนมีความสุขมีความเจริญมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง มีกำลังใจมั่นคงในการปฏิบัติธรรม  มีกำลังใจมั่นคงในความจงรักภักดีต่อชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ แล้วก็มีใจที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงในการดำรงตนให้เกิดความสุขความสวัสดี ความมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เจริญรุ่งเรืองทั้งทางโลกทางธรรม

สำหรับวันนี้สวัสดี

พบกันใหม่สัปดาห์หน้า

เรียบเรียงและถอดความโดย คุณ Be Vilawan

You cannot copy content of this page