เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม 2567
เรื่อง รู้เท่าทันธรรมชาติของจิต
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดสติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลายร่างกายกล้ามเนื้อทุกส่วนพร้อมกับความรู้สึกของจิตที่ปล่อยวางร่างกายขันธ์ห้า ผัสสะความรู้สึก อารมณ์ความเกาะเกี่ยวในร่างกายออกไปจากจิตใจของเราให้หมด แยกรูปนามแยกกายเนื้อและจิต ปล่อยวางความกังวลความฟุ้งซ่านความห่วงความอาลัยทั้งหลาย ปล่อยวางทั้งกายปล่อยวางทั้งจิต
จากนั้นจึงจดจ่ออยู่กับความสงบ อยู่กับลมหายใจสบาย จินตภาพเห็นลมหายใจเป็นเหมือนกับแพรวไหมพลิ้วผ่านเข้าออกในกาย สติติดตามดูติดตามรู้ในลมหายใจ ลมหายใจที่เหมือนกับแพรวไหมพลิ้วผ่านเข้าออกต่อเนื่องราบรื่นลื่นไหล ลมหายใจยิ่งละเอียดสงบเบา จิตเรายิ่งเข้าถึงความสงบความสุขของสมาธิ ประคับประคองสติให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจสบาย เห็นลมตลอดสายตลอดทั้งกองลม สติไม่คลาดไปจากลมหายใจ สติไม่คลาดไปจากอารมณ์ใจที่เบาสบายสงบ ทรงอารมณ์ทรงสภาวะที่สติรู้ในลมหายใจ รู้ในอารมณ์แห่งความสงบไว้ สมาธิในอานาปานสติ เป็นเครื่องสงบระงับความฟุ้งซ่านความวุ่นวายของจิต ลมหายใจยิ่งราบรื่นปลอดโปร่งลื่นไหล อารมณ์จิตยิ่งมีความสงบปลอดโปร่งโล่งเบา ปราศจากสภาวะแห่งการติดขัดหรืออารมณ์ที่ขัดเคือง ลมหายใจราบรื่น ลมปราณสัมพันธ์กับอารมณ์ใจ ลมปราณสัมพันธ์จิตใจ ประคองสติประคับประคองความสงบ จิตสงบเบาสบาย
จากนั้นเราจึงกำหนดต่อไป เมื่อลมหายใจราบรื่นสงบดีแล้ว เราค่อยๆปรับอารมณ์ของเรา กำหนดสติ หยุดจิต หยุดการปรุงแต่ง เมื่อจิตนิ่งหยุด ลมหายใจก็พลอยสงบระงับ ลมหายใจก็พลอยหายไปด้วย กำหนดรู้ในสภาวะที่ความนิ่งความหยุดของจิต หยุดจากการปรุงแต่ง สติรู้แต่หยุดการปรุงแต่งทางอายตนะ เรียกว่า “อุเบกขารมณ์” ในขณะเดียวกัน จุดที่ลมหายใจหยุดนิ่ง จิตรวมเป็นเอกัคคตารมณ์คืออารมณ์จิตเป็นหนึ่ง นิ่งหยุดอยู่กับความนิ่งความหยุดนั้น เหมือนจุดนั้นกลายเป็นจุด จุดที่หยุดคือเอกัคคตารมณ์
เดินจิตในสมถะสูงขึ้นต่อไป จากจุดค่อยๆขยายวงขึ้นกลายเป็นดวงแก้วสว่าง ดวงแก้วสว่างก็คือกสิณ ควบรวมผนึกความรู้สึกว่าภาพนิมิตของดวงแก้วก็คือดวงจิตของเรา จิตคือกสิณ กสิณคือจิต กสิณมีกำลังของอภิญญาจิตตานุภาพเพียงใด กำหนดรู้ว่าจิตของเราในขณะที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับดวงกสิณ จิตของเรานั้นก็ก่อเกิดอภิญญาจิตจิตตานุภาพเฉกเช่นเดียวกันกับอานิสงส์ของการปฏิบัติการฝึกในกสิณด้วยเช่นกัน เอกัคคตารมณ์ในกสิณ จิตคือกสิณ กสิณคือจิตเป็นหนึ่งเดียวกัน จิตสว่างขึ้นใสขึ้น ดวงแก้วสว่างขึ้นใสขึ้น เป็นอุคคหนิมิต ขยายขึ้นสว่างขึ้น ใจมีความอิ่มมีความสุขที่จิตของเราสว่าง มีความสุขมีความอิ่ม เมื่อจิตของเราใส กำหนดรู้ในจิตเรียกว่าในขณะเดียวกันการปฏิบัติของเราก็ผนวกอยู่ในจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน จิตใสปราศจากมลทินดวงแก้วใสปราศจากมลทิน สติรู้ กสิณยิ่งใส ดวงแก้วยิ่งใส จิตยิ่งสะอาดจากสรรพกิเลส
จากนั้นกำหนดต่อไปจากอุคคหนิมิต ยกกำลังขึ้นเป็นปฏิภาคนิมิต คือดวงแก้วที่ใสสว่าง เปลี่ยนสภาวะมีความแพรวพราวกลายเป็นเพชรระยิบระยับเป็นเพชรรูป 360 องศา เจียระไนละเอียดมีความสว่างจากภายใน มีความระยิบระยับจากพื้นผิวและจากภายใน แผ่สว่างมีความเข้มข้นจนรัศมีที่เปล่งประกายออกมาจากจิตที่เป็นปฏิภาคนิมิต เกิดเป็นเส้นแสงคือเป็นเส้นเข้ม สีแต่ละเส้นของเส้นแสงเป็นสีรุ้งเรียกว่าประกายพรึก หรือฉัพพรรณรังสี แผ่สว่างกระจายเข้มข้นออกมาเป็นรัศมีของจิต พ้นจากรัศมีของจิตปรากฏสภาวะความเป็นทิพย์เป็นอาณาบริเวณเลยออกไปจากเส้นรัศมีของจิต มีสภาวะเป็นเหมือนกับบรรยากาศพร่างพรายด้วยกากเพชรระยิบระยับพร่างพรายเป็นประกาย ทรงสภาวะที่จิตเป็นปฏิภาคนิมิต เจิดจำรัสประภัสสรสว่างแพรวพราวเต็มที่ไว้ ประคองอารมณ์ความรู้สึก ภาพนิมิตอารมณ์กรรมฐานอารมณ์ความไปทิพย์ของจิตเต็มกำลัง ประคองไว้ทรงอารมณ์ทรงฌานไว้ทรงกสิณจิตไว้
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป เมื่อเราทรงอารมณ์ได้ผนวกควบในอารมณ์ของเมตตาพรหมวิหาร 4 กำหนดว่ารัศมีของจิตเราจิตผู้อื่นจะเป็นเช่นไรเราไม่สนใจ เราสนใจแต่ว่ารัศมีจิตของเราคือแสงสว่างที่แผ่ไปจากดวงจิตเรา ที่เป็นเพชรประกายพรึก เป็นกระแสของเมตตาสว่าง กระจายคลื่นของความสงบเย็นความปรารถนาดีความผ่องใส แผ่สว่างเป็นกระแสของเมตตาอันไม่มีประมาณออกไป ทรงอารมณ์ทรงสภาวะไว้ จิตเป็นเพชรประภัสสร จิตเป็นปฏิภาคนิมิต แต่รัศมีแสงสว่างจากจิตที่แผ่ออก เป็นกระแสของเมตตาไม่มีประมาณ มีความเย็นมีความเมตตามีความรักมีความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ ทรงอารมณ์ทรงสภาวะไว้เช่นนี้ ตั้งจิตอธิษฐานปรารถนาให้กระแสแสงสว่างหรือรัศมีของจิตที่เป็นรัศมีของความเมตตานี้ ขอจงปรับเปลี่ยนจิตใจเราจนกระทั่งกลายเป็นธรรมชาติ กลายเป็นปกติของจิตเรา ที่มีเมตตาอันไม่มีประมาณแผ่กระจายสว่างเป็นปกติ ทรงอารมณ์ทรงสภาวะทรงฌาน จิตร่มเย็นสงบเมตตา แผ่สว่างจากใจของเรา ความอิ่มความปิติสุขก่อเกิดจากภายในใจของเรา
จากนั้นกำหนดต่อไปว่าเราเข้าถึงความดีความสุขความสงบ เข้าถึงสมาธิได้ก็ด้วยพระคุณขององค์สมเด็จพระจอมไตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระคุณแห่งกระแสธรรม ด้วยบุญคุณแห่งครูบาอาจารย์ พระอริยเจ้า พระอริยสงฆ์ รวมเป็นพระรัตนตรัย กำหนดน้อมจิตในดวงจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกนั้น ขอจงปรากฏภาพองค์พระสว่างผ่องใสอยู่ภายในจิตของเรา ขออาราธนาบารมี ขอองค์พระในจิตนี้มีกำลังแห่งพุทธานุภาพ กำลังแห่งพุทธคุณ ภาพองค์พระประดุจพระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับอยู่กลางจิตกลางใจของเราทุกคน กำหนดทรงภาพองค์พระในดวงจิตของเราสว่าง กระแสแสงสว่างของจิต กระแสของเมตตาที่แผ่ออก ยิ่งสว่างขึ้นไปอีก ยิ่งกระจายขึ้นไปอีก ทรงอารมณ์ทรงสภาวะที่ดวงจิตเราเป็นเพชรประกายพรึกมีองค์พระอยู่ภายใน
จากนั้นจึงกำหนดจิตอธิษฐาน เมื่อจิตเรามีคุณแห่งพระพุทธเจ้าเป็นสรณะสูงสุดที่พึ่งอาศัยแล้ว เราก็ขอน้อมจิตอาราธนาบารมีของพระพุทธองค์ทรงเมตตาสงเคราะห์ยกจิตของเราขึ้นไปบนพระนิพพาน ขอจงปรากฏสภาวะเป็นกายพระวิสุทธิเทพอยู่บนพระนิพพาน เบื้องหน้าขอจงปรากฏพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์ มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเมตตาเป็นประธาน ท่ามกลางมหาสมาคมบนพระนิพพานนั้น กำหนดให้กายพระวิสุทธิเทพของเราแต่ละคนน้อมกราบลง เมื่อน้อมกราบลงแล้วเราก็กำหนดจิตต่อไป ขออธิษฐานจิตฝึกปฏิบัติเจริญพระกรรมฐานอยู่บนพระนิพพาน ขอจงปรากฏรัตนบัลลังก์ดอกบัวแก้วเป็นอาสนะ ให้กายพระวิสุทธิเทพของเราได้นั่งขัดสมาธิเพชร กายทิพย์สว่างอยู่บนดอกบัวแก้ว ฝึกปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน กายทิพย์สว่างอยู่บนพระนิพพาน
จากนั้นกำหนดพิจารณา วันนี้เราก็จะฝึกปฏิบัติเจริญวิปัสสนาญาณเจริญปัญญาทำความเข้าใจในเรื่องของจิต ในสิ่งที่เป็นธรรมชาติของจิต ในสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านอุปมาอุปไมยในเรื่องจิตไว้ อย่าลืมว่าการปฏิบัติการเจริญพระกรรมฐานก็คือการฝึกจิตอบรมขัดเกลาจิตหรือพัฒนาจิต ถ้าจิตเรายังย่ำอยู่กับที่ก็ถือว่าจิตเรายังไม่พัฒนา และธรรมดาธรรมชาติของจิตมีธรรมชาติเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่รู้จักที่จะเรียนรู้ ก็ดังคำที่กล่าวไว้ว่า ถ้าเรารู้เขารู้เรารบร้อยครั้งก็ชนะ นี่เราจะฝึกจิตปฏิบัติจิตแต่เราไม่รู้จักธรรมชาติของจิต มันก็ยากที่จะปฏิบัติ
ถ้าจะอธิบายในเรื่องจิตให้ง่าย จิตนี่จริงๆมันถามว่าสำหรับคนที่ไม่เคยฝึกมาก่อนเลย พูดถึงเรื่องจิตมันก็เป็นเรื่องยาก 90% 99%มาฝึกมาเจริญพระกรรมฐานบอกว่า ฝึกสมาธิแล้วหยุดคิดทุกคนก็จะบอกแต่คำเดียวว่า หยุดความคิดมันไม่มีทางที่จะหยุดได้ มันทำยังไงให้หยุดคิดมันก็หยุดไม่ได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่คนที่ได้ฝึกจิต ปฏิบัติเจริญพระกรรมฐานจนถึงจุดที่ได้สมาธิ ได้ฌาน ได้เอกัคคตารมณ์ ได้ฌานสี่ การหยุดจิตหยุดความคิดมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินวิสัย
คราวนี้ธรรมชาติของจิตมันเป็นอย่างไรบ้าง อุปมาเอาสิ่งที่ 1 ครูบาอาจารย์ก็กล่าวถึงว่า จิตมันมีนิสัยเหมือนกับลิง ลิงมันมีอุปนิสัยอย่างไร จิตมันก็มีอุปนิสัยแบบนั้น มันก็หยุกหยิกมีสมาธิแป๊บหนึ่งก็ไปสนใจอย่างอื่น เดี๋ยวก็ไปจับอย่างนั้นเดี๋ยวก็ไปจับอย่างนี้ ในเมื่อจิตมันเป็นเหมือนลิง วิธีการฝึกมันจะทำยังไง จะให้ลิงมันนิ่งมันก็ผิดวิสัยของลิง แต่คราวนี้ถ้าจะฝึกให้ลิงนิ่ง เราก็ต้องเอาของมาล่อ ดังนั้นวิธีฝึกลิงเราก็เอาลูกท้อมาให้ลิงมันถือ ให้ลิงมันถือลูกท้อเอาของกินมาล่อ ตัวแรกจิตมันฟุ้ง มันชัดส่ายไปฟุ้งซ่านไปเหมือนลิง คิดเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้างวุ่นวาย ท่านก็เอาอาหารเอาผลไม้เอาลูกท้อมาล่อ ให้ลิงหรือจิตของเรามาอยู่กับอานาปานสติลมหายใจสบาย พอเราเริ่มเข้าถึงลมหายใจสบายได้ ลมหายใจสงบได้ มันมีความสบายมีความสุขของสมาธิเกิดขึ้น เริ่มเข้าใจความสุขของความสงบ พอเริ่มเข้าใจความสุขของความสงบ ไอ้นิสัยเดิมที่มันชอบหลุกหลิกเร่าร้อนปรุงแต่งวุ่นวาย เหนื่อยจากการวุ่นวายใจ เหนื่อยจากความเร่าร้อนของจิตมันมาพักจิตอยู่กับความสงบมันสบาย มันก็อยากมีเครื่องพัก จิตมันก็มาเสวยอารมณ์คือความสุขความสบายของความสงบในอานาปานสติ
ดังนั้นความหลุกหลิกความวุ่นวายการปรุงแต่ง จิตมันวุ่นวายก็ต้องมาจับให้มันอยู่กับอานาปานาสติ ลิงตอนนี้มันก็หายหลุกหลิกมันก็หยุดอยู่ได้ จิตมันก็หยุดความคิดหยุดการปรุงแต่งได้ อันนี้คืออุปมาที่ 1 ว่าจิตเหมือนกับลิง คราวนี้ต่อมาคำอุปมาในเรื่องจิตหรืออุปนิสัยของจิตก็คือ จิตมันเหมือนกับม้า ม้านี่มันมีความคึกคะนอง มันเผ่นโผนมันทะยานมันพุ่งทะยาน เราเป็นคนมีเชือกอยู่เส้นเดียวจะดึงม้าบางทีแรงเราก็ดึงไม่ไหว
จากนั้นสิ่งสำคัญในเมื่อจิตมันเป็นเหมือนม้าที่ควบตะบึงไป ควบตะบึงบางทีมันก็ไม่มีทิศมีทาง ดังนั้นวิธีการมันก็คือต้องกระโดดขึ้นหลังม้า ค่อยๆบังคับควบคุมม้า บังคับไปซ้าย บังคับไปขวา บังคับเร่งความเร็วขึ้น บังคับให้รอชะลอลงคราวนี้ถ้าจิตมันมีกำลังผาดโผนมาก วิธีฝึกก็คือ เรากำหนดจิตเป็นดวงกสิณ มันวุ่นวายไปคิดอย่างอื่น ก็ให้มันมาอยู่กับภาพนิมิตของกสิณ คราวนี้บังคับควบคุมทิศทางต่างๆ เราก็กำหนดภาพกสิณใหญ่บ้างเล็กบ้าง สว่างบ้างหรือเอาแค่ใสบ้าง หรือเป็นประกายพรึกบ้าง เลื่อนไปทางขวาบ้าง เลื่อนไปทางซ้ายบ้าง เลื่อนให้เล็กให้ใหญ่ได้ตามใจนึก เปลี่ยนให้เป็นอุคคหนิมิต เปลี่ยนให้เป็นปฏิภาคนิมิตได้ตามใจนึก เปลี่ยนให้เป็นกสิณดิน เปลี่ยนให้เป็นกสิณน้ำ ลม ไฟ สีวรรณกสิณ เปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ดังใจนึก พอเราบังคับควบคุมจิตของเราด้วยการฝึกแบบกสิณ จิตเราที่เหมือนกับม้าเราก็ควบคุมได้ดังใจ ควบคุมให้กำหนดอยู่กับเป็นดวงแก้วสว่าง จะให้มีขนาดเท่าไหร่ก็ทำได้ดังใจ เหมือนเราก็บังคับม้าที่เราควบขี่อยู่นั้น ให้ไปทางซ้าย ไปทางขวา เร็วช้าอย่างไร ก็สามารถบังคับได้ดังใจทั้งหมด
ดังนั้นเมื่อไหร่ที่เราฝึกกสิณได้ เราก็ต้องกำหนดรู้ว่าเรามีกำลังของจิตตานุภาพอยู่เหนือจิตของเรา คือเราควบคุมจิตของเราได้ แตกต่างจากคนที่เขาไม่เคยฝึกจิต สำหรับคนที่เขาไม่เคยฝึกจิต ม้าหรือจิตนั้นมันควบออกไปด้วยแรงของความโลภโกรธหลง ความโกรธมันเกิดขึ้นแล้วอารมณ์มันเกิดขึ้นแล้ว อารมณ์ของม้านั้นก็จะควบทะยานไปด้วยความเร็ว เราก็หยุด หยุดความโกรธไม่ได้ หยุดความโลภไม่ได้ หยุดความหลงไม่ได้ แต่เมื่อไหร่เราฝึกกสิณจนควบคุมจิตได้ เราควบคุมจิตเป็นกสิณเมื่อไหร่ จำไว้ว่าเมื่อจิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง คือ เป็นปฏิภาคนิมิตเต็มกำลัง จิตในขณะนั้นปราศจากความโลภโกรธหลง อันนี้ก็คือมาอยู่ในฌาน ใช้กำลังของฌาน ใช้กำลังของตบะของฌาน คุมกิเลสที่มันลากพาไป ท่านหลวงตาบัว ท่านกล่าว ท่านก็จะเรียกว่ากิเลสมันลากหัวลากหางของเราถูลู่ถูกังลากไปเหมือนม้า ก็คือกิเลสควบตะบึง แล้วมันก็มีเชือกที่เราจับ แต่ม้ามันลากเราไป เราดึงเราบังคับม้าไม่ได้ แต่ถูกม้าลากก็คือถูกกิเลสมันลากไป
ดังนั้นเรามาอยู่กับกสิณ เรามาอยู่กับภาพพระ อยู่กับภาพพระเมื่อไหร่ เรากำหนดว่าจิตของเราอยู่กับกุศล อยู่กับความดี จิตเราทรงภาพพระ จิตเราไม่มีกิเลส จิตเราเข้าถึงในไตรสรณคมน์ ดังนั้นจิตที่เป็นม้าเราก็ควบคุมได้
คราวนี้ต่อมา อุปมาอุปนิสัยธรรมชาติของจิตที่จะกล่าวถึงต่อไปก็คือ จิตนั้นมีธรรมชาติที่ไหลลงที่ต่ำ อันนี้เป็นธรรมชาติดังนั้นคือเหตุผลว่าจิตเราถึงเวลาที่เราทรงอารมณ์เฉยๆ ไม่นานมันก็จะคล้อยต่ำไปสู่สภาวะที่จิตเรามันเศร้าหมองบ้างซึมเศร้าบ้าง หรือปรุงแต่งไปในเรื่องที่เป็นเรื่องที่คิดลบ เป็นเรื่องที่คิดอกุศลบ้าง อันนี้คือธรรมชาติจิตเหมือนกับน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำ ดังนั้นวิธีการก็คือต้องมีสติประคับประคองไม่ให้จิตของเราเศร้าหมอง คือบังคับควบคุมโดยการฝึกการทรงฌาน ให้ฌานสมาบัติสมาธิเราประคับประคองตัว ทรงตัวอยู่กับสภาวะที่จิตผ่องใสให้ได้ตลอดเวลาให้มากที่สุดหรือสม่ำเสมอให้มากที่สุด คือยินยอมให้จิตของเราหรืออารมณ์จิตของเรานั้น อย่างน้อยที่สุดอยู่กับอุเบกขาแล้วก็มีความผ่องใสของจิตเป็นปกติ อันนี้ก็คือเพื่อการแก้อาการที่ธรรมชาติของจิตมักจะคล้อยไปสู่ที่ต่ำเสมอ
ส่วนธรรมชาติต่อไปของจิตนั้น ให้เราสังเกตดูว่าการปฏิบัติจิต เรารวมจิตให้เป็นหนึ่งเดียวคือเอกัคคตารมณ์ อันนี้มันก็มีธรรมชาติหนึ่งที่จะมาอธิบายเรื่อง เมื่อไหร่ที่เรารวมจิตได้แล้วทำไมเกิดกำลังของอภิญญาหรือจิตตานุภาพ อันนี้สำหรับคนหลายคน คนในหลายวัยบางคนอาจจะไม่เคยเรียน หรืออาจจะไม่เคยทดลอง หรืออาจจะไม่เคยทำ แต่ตัวอาจารย์ที่เคยเรียนเคยฝึกมา อันนี้จากวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์นี้ท่านให้รวมว่าเอาเลนส์ขยายมา 1 อัน เสร็จแล้วก็รวมแสง รวมแสงของดวงอาทิตย์ แสงของดวงอาทิตย์ธรรมดาธรรมชาติเราก็รู้สึกว่าพอทนได้ แต่คราวนี้เวลาที่เราทดลองวิทยาศาสตร์การรวมแสงก็คือ เอาเลนส์ขยายคือแว่นขยายมา จากนั้นเรากำหนดให้เห็นแสงในการที่เราขยับแว่นขยายเวลาที่เรารวมแสง เขาเรียกว่าการรวมแสง ให้แสงจากแว่นขยายมันเล็กมากที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ กลายเป็นจุดจุดเดียวได้ พอกลายเป็นจุดจุดเดียวได้ปุ๊บเมื่อไหร่ เราไปส่องส่วนที่เป็นใบไม้ส่วนที่เป็นกระดาษ มันก็จะลุกเป็นไฟขึ้นมาได้ อันนี้เรียกว่าการรวมแสง อันนี้อาจารย์เล่นเป็นปกติจนพึ่งมานึกได้ว่า อันที่จริงมันก็คืออาโลกกสิณ เห็นแสงสว่างและกำหนดให้แสงสว่างนั้นรวมตัวเข้มข้น จนกระทั่งกลายเป็นจิตตานุภาพ กลายเป็นไฟ กลายเป็นความร้อน กลายเป็นแสงที่มีความเข้มข้น นั่นก็คือจิตเราเมื่อขยายขอบเขต จากเมื่อก่อน มันขยายบานออกอยู่กับความฟุ้งซ่าน เราสลายความฟุ้งซ่านไปรวมจิตเป็นหนึ่ง รวมจิตเล็กลงเล็กลง จนกระทั่งเกิดความเข้มข้นสูงสุด จุดที่เล็กที่สุดเกิดพลังที่รวมตัวเป็นเอกัคคตารมณ์เข้มข้น พลังจิตมันก็จะเพิ่มทวีคูณขึ้น
ตอนนี้ก็ให้เราทำ อันนี้คือเหตุผลหนึ่งที่สำคัญว่าทำไมเวลาฝึกกสิณต้องย่อเล็กขยายใหญ่ แล้วเวลาย่อเล็กที่สุดก็ต้องย่อเล็กที่สุดจนเหลือเพียงแค่เข็มหมุดแค่ปลาย ส่วนแหลมที่สุดของเข็มหมุด อันนี้ก็คือการผลักการรวมจิตของเรา ฝึกที่จะรวมจิตรวมจิตได้มากเท่าไหร่ก็กลายเป็นอภิญญา อันนี้ก็มีประสบการณ์อยู่ประสบการณ์หนึ่งที่เป็นเรื่องแปลก ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อาจารย์ไปปฏิบัติไปฝึกอยู่ที่ถ้ำวัวแดง แล้วก็มีเหตุการณ์ที่มีความจำเป็นที่ต้องลงมาอาศัยนั่งอยู่บนรถเพื่อนรถของคนที่ปฏิบัติธรรมบางคนก็จะเอาลูกแก้วมาวางไว้ ลูกแก้วข้างในมีพระบ้างหรือเป็นลูกแก้วใสๆบ้าง วางอยู่บนคอนโซลหน้ารถ แต่คราวนี้การปฏิบัติช่วงนั้นมันค่อนข้างเข้มข้นหน่อย ปรากฏว่าลูกแก้วที่อยู่หน้ารถนั้นมันมีปรากฏการณ์เกิดขึ้น คือมันมีการรวมแสงขึ้นจนกระทั่งคอนโซลหน้ารถมันเกิดควันเกิดไฟไหม้ขึ้นมา จนกระทั่งต้องหยิบเอาลูกแก้วออก แต่เท่าที่เคยสังเกตดูเจ้าของรถก็บอกปรากฏการณ์นี้มันไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น หรือรถคนอื่นที่เอาลูกแก้วมาวางบนรถก็ไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเช่นกัน มันก็เลยเป็นเรื่องแปลกแบบหนึ่ง พอเราทรงอารมณ์ทรงสมาธิมีความเข้มข้นเต็มที่ เผลอมองไปที่ลูกแก้วมันก็มีไฟเกิดขึ้นไหม้ขึ้นมาจริง ๆ
คราวนี้จากธรรมชาติจากอุปนิสัย พอเราเข้าใจเราก็จะเริ่มเข้าใจหลักการเหตุผลว่าทำไมต้องฝึกทำไมต้องปฏิบัติในแต่ละจุดของการเจริญพระกรรมฐาน ตอนนี้ก็ให้เราลองรวมจิตดูบนพระนิพพาน จิตของเราให้ใหญ่ กว้างใหญ่ ใหญ่จนคลุมโลก ใหญ่จนคลุมจักรวาล จากนั้นในขณะเดียวกัน จิตเราค่อยๆรวมตัวลง ดวงแก้วดวงจิตของเราค่อยๆรวมตัวลงจากใหญ่คลุมจักรวาลค่อยๆเล็กลง ในขณะเล็กลงก็มีลักษณะของความควบแน่น มวลแน่นลงแน่นขึ้น อันนี้จริงๆก็ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเรารู้หลักการเข้าใจในเรื่องของหลุมดำ หลุมดำนั้นบางแห่งบางรูปมีขนาดเล็กอย่างยิ่ง แต่มีมวลมหาศาลมันเกิดขึ้นจากการดึงดูดแสงสว่าง ดูดดึงดึงดูดดวงดาว ดึงดูดเอกภพหรือจักรวาลบางระบบจักรวาลพลังงานแรงดึงดูดมันรวมจนกระทั่งทุกอย่างรวมอยู่ในตัวของมัน พอมันรวมอยู่ในตัวของมัน มันเหลือเล็กแต่มวลมันมากกว่าดวงดาว มากกว่าดวงอาทิตย์ทั้งดวง เพราะมันดูดรวมเอาจักรวาลทั้งหมดมาอยู่ในขนาดเพียงแค่กำปั้นหรือแค่เพียงแค่ปลายเข็มหมุด จิตของเราก็เหมือนกันเมื่อขยายแล้วรวมยิ่งย่อเล็กเราต้องรู้สึกถึงมวลที่มันควบแน่น ยิ่งหดเข้า หดเข้า เล็กลงเล็กลง แต่ควบแน่นขึ้น เข้มข้นขึ้น จนกระทั่งจิตของเรามีจิตตานุภาพสงบนิ่ง แต่เล็กเหลือเพียงแค่ปลายเข็ม นิ่งหยุดอยู่กับความเข้มข้นของจิตที่เหมือนกับปลายเข็มนั้น นิ่งหยุดจิตนิ่งจิตหยุดจิตเข้มข้นเต็มที่ ปลายเข็มที่เห็นก็สว่างเหมือนเป็นเพชร จิตของเราก่อเกิดพลังงานมากมายมหาศาล เป็นเหมือนกับปฏิสสาร จิตเรารวมเป็นพลังงานอันไม่มีประมาณ จิตเราสลายล้างความผูกความยึดในสังสารวัฏไว้ สลายออกไปจนหมดด้วยจิตที่ตั้งมั่นเล็กเพียงแค่ปลายเข็มหมุดนี้ นิ่งหยุดอยู่กับจิตที่รวมควบแน่นนิ่ง กำหนดอธิษฐานนิ่งหยุด จิตที่เข้มข้นเปี่ยมพลังเกิดจิตตานุภาพ นิ่งหยุดอยู่กับพระนิพพาน อธิษฐานตัดภพจบชาติ กำลังของจิตตานุภาพเป็นเครื่องประหัตประหารสรรพกิเลสทั้งหลาย จิตตานุภาพที่เข้มข้นตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว มีความเข้มข้นของจิตอย่างถึงที่สุด ตัดสังโยชน์ทั้ง 10 เป็นสมุจเฉทปหาน ชาติภพทั้งหลายสลายตัวลงไปจนหมด ความเกาะความยึดในขันธ์ 5 ร่างกายปล่อยวางไปจนหมด กำหนดจิตหยุดอยู่กับพระนิพพาน
จากนั้นพิจารณาในธรรมชาติของจิตต่อไป ธรรมชาติของจิตในข้อต่อไปก็คือ จิตนั้นจำเป็นที่ต้องเสวยอารมณ์ คือจิตก็มีอาหารของจิต อาหารของจิตก็คืออารมณ์ อารมณ์ที่เราป้อนให้กับจิต สิ่งใดที่เราป้อนให้กับจิต จิตเราก็จะมีสภาวะเช่นนั้น ถ้าจิตเอร็ดอร่อยไปกับอาหาร อาหารที่ว่าอารมณ์ พอเป็นอาหารของจิตก็เรียกว่าธรรมารมณ์ ถ้าเราเอาอารมณ์ความโกรธไปป้อนให้จิตมากเข้ามากเข้า จิตเราก็เปลี่ยนเป็นจิตของคนที่มีความขี้โกรธ โกรธได้เร็ว โกรธได้ง่าย โกรธแล้วดึงดัน ไม่สามารถที่จะสงบระงับดับความโกรธลงได้ง่าย เอาธรรมารมณ์คือความเมตตาให้กับจิตเป็นอาหารให้จิตเกิดความชุ่มเย็น เกิดความยินดี เกิดความอ่อนโยน จิตเราก็แปรสภาวะเป็นจิตอันเปี่ยมไปด้วยเมตตาอ่อนโยน
ดังนั้นอารมณ์จิตบางคนชอบพึงพอใจกับอารมณ์นินทาว่าร้าย เอร็ดอร่อยกับการนินทาว่าร้ายเราก็ป้อนอาหารให้กับจิตคืออารมณ์ของการนินทาว่าร้าย จิตเราก็กลายเป็นจิตของคนเช่นนั้นไป ดังนั้นจำไว้ว่าอาหารของจิตคือธรรมารมณ์ ถ้าเราป้อนธรรมะ ป้อนวิปัสสนาญาณ ป้อนอารมณ์ใจของเมตตา ป้อนอารมณ์ที่เป็นกุศลให้กับจิตของเรา จนจิตเรายินดีมีความพึงพอใจเช่น อารมณ์ใจที่เราได้ไปวัด มีความสุขที่เราไปวัด เราก็กลายเป็นคนชอบวัดติดวัด ไม่ชอบความสุขจากความวุ่นวาย จากความเร่าร้อน จากสถานบันเทิงต่างๆ ถ้าเราป้อนอาหารให้จิต จิตก็จะเป็นดังอาหารที่เราป้อน ดังนั้นตรงนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า จงละอกุศลทั้งหลาย ก็คือไม่ป้อนอาหารที่เป็นอกุศลให้กับจิตของเรา ยังกุศลให้ถึงพร้อมคือป้อนสิ่งที่เป็นกุศลให้กับใจของเรา สุดท้ายจิตของเราก็จะกลายเป็นจิตที่มีความผ่องใส คือจิตที่มีความประภัสสรเป็นปกติ อันนี้พอเข้าใจแล้ว เราก็เลิกที่จะป้อนอาหารที่เป็นอกุศลจิต สิ่งที่เป็นเรื่องร้าย สิ่งที่เป็นเรื่องลบให้กับใจของเรา
มาตัวสุดท้ายที่เป็นธรรมชาติของจิตก็คือ จิตต้องมีเครื่องอยู่ ต้องมีเครื่องเกาะ ต้องมีเครื่องยึด คำว่าเครื่องเกาะเครื่องยึดนั้น ถ้าประสาธรรมะก็เรียกว่า สรณะคือที่ยึดเหนี่ยว สรณะเครื่องยึดเหนี่ยวก็คือ ถ้าเราไปยึดเหนี่ยวกับอกุศลคือพึ่งพาสิ่งที่เป็นอวิชชาหรือสิ่งที่เป็นคุณไสย หรือสิ่งที่เป็นเรื่องที่เป็นอกุศล มันก็จะยึดแต่สิ่งที่เป็นสิ่งต่างๆเหล่านั้น สิ่งที่เป็นมิจฉาทิฐิ เราไปยึดเราก็ไปเกาะอยู่กับสิ่งนั้น เกาะสิ่งใดสิ่งนั้นที่เราไปเกาะเขาไปที่ไหนเราก็ไปที่นั้น ถ้าเราเกาะพระพระ ท่านอยู่พระนิพพานเราก็ไปพระนิพพาน เกาะความดีเราก็ไปในที่ที่เป็นสุคติภูมิ ดังนั้นบอกเลยว่า ถ้าใครทักว่าเราติดยึดมั่นถือมั่นบอกใช่ เรายึดมั่นถือมั่นในคุณพระรัตนตรัย เรายึดมั่นถือมั่นเราเกาะพระนิพพาน
ดังนั้นจิตจำเป็นที่ต้องมีเครื่องเกาะ ขนาดเวลาที่บวช ผู้หญิงบวชไม่ได้ พระท่านยังบอกด้วยซ้ำว่า เวลาที่แม่มีลูกชายบวชพระก็ได้เกาะผ้าเหลืองไปสวรรค์ ดังนั้นจริงๆก็คือจิตเราเกาะ เกาะบุญที่ลูกบวช โมทนาบุญที่ลูกบวช ปลื้มปีติใจที่ลูกบวช เราก็พลอยได้อานิสงส์ของการบวชของลูกก็ไปสวรรค์
ดังนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าจิตต้องมีที่เกาะ ถ้าไม่มีที่เกาะเลยเราบอกว่าเราเก่งมากเราปล่อยวางได้ทั้งหมด ไม่มีที่เกาะเลยแต่ถ้าเราเกิดหรือยังต้องเกิดอีก พอจิตเราไม่มีที่เกาะถึงเวลาก็เคว้งคว้างไม่มีที่เกาะเลย สุดท้ายกลายเป็นอะไร กลายเป็นโอปปาติกะสัมภเวสีเคว้งคว้าง ถ้าเราเกาะบุญก็ไปสวรรค์ เกาะบาปก็ไปนรก เกาะพระก็ไปพระนิพพาน เกาะเมตตาก็ไปพรหม คราวนี้คนที่เขาไม่เกาะอะไร เขาอาจจะหลุดไปจากพระพุทธศาสนา เราอย่าประมาท เราเกาะพระ เราเกาะครูบาอาจารย์ เราเกาะพระนิพพาน เกาะให้ดีที่สุดก็คือเกาะพระพุทธองค์เกาะพระพุทธเจ้า เกาะพระพุทธเจ้าตั้งใจว่าพระพุทธองค์อยู่ที่ไหน อยู่บนพระนิพพานเราขอไปพระนิพพานด้วย
ดังนั้นจิตต้องมีที่เกาะคือสรณะที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยว ต่อมาที่เป็นเรื่องคาบเกี่ยวใกล้เคียงกันก็คือจิตต้องมีที่พักอาศัย ก็คือมีที่พักใจ มีศาลาพักใจ พักใจจากความทุกข์พักใจจากความเร่าร้อน ดังนั้นธรรมชาติของที่พักของจิต เขาก็เรียกว่าวิหารธรรม คำว่าวิหารธรรมก็มีเคยพูดไปบ่อยแล้ว ก็คือสิ่งใดที่มีคำว่าวิหารอยู่
อานาปานสติวิหาร ก็คือพักจิตอยู่กับอานาปา พักจิตอยู่กับลมหายใจสบาย อันนี้ก็คือที่พักของจิต
ต่อมามีวิหารธรรมอยู่ในพรหมวิหารสี่ ก็พักจิตของเราอยู่ในความเป็นพรหม คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ดังนั้นธรรมเหล่านี้เขาเรียกว่าวิหารธรรม คือที่พักของใจ ถ้าสังเกตดูที่พักของใจที่พักของจิต ล้วนแล้วแต่มีอานิสงส์เป็นพรหมทั้งสิ้น ถ้าเข้าถึงวิหารธรรมนั่นก็คือจิตเราทรงฌาน คำว่าพักก็คือไปพักในฌาน ดังนั้นตั้งแต่อานาปาเราพักจิตอยู่กับอานาปา จิตเราก็ทรงฌาน พักอยู่ในพรหมวิหารสี่ จิตเราก็ทรงฌานในพรหมวิหารสี่ ซึ่งอานิสงส์ก็คือพรหมทั้งคู่ แต่พรหมก็มีความสูงต่างกัน พรหมจากฌานกับพรหมจากพรหมวิหาร
พรหมจากพรหมวิหาร จะอยู่ในสภาวะของภพที่สูงกว่า เพราะมีอารมณ์ละเอียดกว่า มีอารมณ์ใกล้เคียงกับความเป็นสัมมาทิฐิมากกว่า แต่พรหมอันเกิดขึ้นจากฌานสมาบัติ อันนี้เล่าเสริมไปพรหมที่เป็นมิจฉาทิฐิก็มี หรือพรหมที่มีกำลังตบะเดชะของฌานแต่เป็นฌานที่เป็นมิจฉาสมาธิก็มี ดังนั้นก็จะมีหลายรูปแบบ แต่พรหมที่เป็นพรหมในระดับที่สูงขึ้นไปมักจะเป็นพรหมจากพรหมวิหารสี่ จากอานิสงส์ของการทรงในพรหมวิหารสี่ อันนี้ก็เล่าเป็นเกร็ดให้ฟัง แต่ของเราปฏิบัติกัน เราได้ทั้งฌาน ฌานสี่ในอานาปาเราก็ได้ ฌานสี่ในกสิณเราก็ได้ อรูปเราก็ได้ พรหมวิหารสี่เราก็ได้ ทรงอารมณ์พระนิพพานเราก็ได้ สุดท้ายวิหารธรรมขั้นสูงที่สุดเราคิดว่าเราจะไปพักที่ไหนดี พักในอานาปาพักในพรหมวิหารสี่ ไปพักในความเป็นพรหม หรือเราอยากจะใช้ปัญญาอีกนิดเดียวไปพักที่พระนิพพาน ถ้าเราพักอยู่กับพระนิพพานตายเมื่อไหร่เราก็ไปพระนิพพานได้ง่ายกว่าเผลอไปพักที่อื่น
ดังนั้น ตอนนี้ก็ให้เราตั้งจิตอธิษฐานบารมี กำหนดในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพอยู่บนพระนิพพาน เมื่อปัญญาบารมีเราพิจารณาเข้าใจในวิหารธรรม และเราก็ตั้งจิตปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด เราก็อธิษฐานว่านับแต่นี้วิหารธรรมของข้าพเจ้าที่พักใจของข้าพเจ้าก็คือวิมานของข้าพเจ้าบนพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นวิหารธรรมอันประเสริฐสูงสุดเป็นปรมัตถ์ด้วยเทอญ ขอพระพุทธองค์เมตตามีพุทธานุญาตให้ข้าพเจ้ายกจิตมาพักมีพระนิพพานเป็นวิหารธรรมอันวิมุตติอันบริสุทธิ์สูงสุดด้วยเทอญ
เมื่อทรงอารมณ์และเกิดปัญญาญาณเข้าใจตรงนี้แล้ว เราก็รู้ธรรมชาติของจิตได้มากขึ้นกว่าเดิม เข้าใจหลัก เข้าใจเหตุเข้าใจผล เข้าใจกุศโลบาย เข้าใจอุบายในการปฏิบัติมากขึ้น สุดท้ายการปฏิบัติที่มันเรียบง่ายลึกซึ้งสูงที่สุด ก็คือฝึกพิชิตในดาบเดียว หรือพิชิตในหมัดเดียว กรรมฐานทำให้ดีที่สุดกองเดียวก็คือยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน ก็คืออุปมานุสตินี่แหละ พอเราขึ้นมาเรากำหนดจิตควบทั้งพุทธานุสติไปพร้อมกันว่า เราอยู่กับพระพุทธองค์ อยู่กับพระอริยเจ้า อยู่กับพระอริยสงฆ์ ก็ครบทั้งไตรสรณคมน์ ครบทั้งอารมณ์พระนิพพาน
สำหรับวันนี้ เราก็ตั้งใจปฏิบัติจนเข้าใจดีแล้วในเรื่องจิต เราก็แผ่เมตตาน้อมกระแสจากพระนิพพานแผ่เมตตาลงมาถือว่าการปฏิบัติของเรายังประโยชน์ต่อโลก ยังประโยชน์ต่อสังสารวัฏ ยังประโยชน์ต่อมวลสรรพสัตว์ การปฏิบัติของเราเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา การปฏิบัติของเราเพื่อแก่นคือพระนิพพานเป็นที่สุด อารมณ์ใจกำลังใจเราถึงที่สุดในทุกข้อในทุกภาค แผ่เมตตาลงไปยังภพของอรูปพรหมทั้ง 4 ขอทุกท่านเข้าถึงความสุข เข้าถึงธรรมอันเป็นวิมุตติ คือพระนิพพาน แผ่เมตตาลงไปยังพรหมโลกทั้ง 16 ชั้น ขอกระแสความเป็นสัมมาทิฐิ กระแสพระนิพพานจงถึงทุกท่านทุกรูปทุกนาม แผ่เมตตาไปยังอากาศเทวดาทั้ง 6 ชั้น ขอความเป็นสัมมาทิฐิ ขอกระแสของบุญกุศลมรรคผลจงถึงทุกท่านทุกรูปทุกนาม แผ่เมตตาลงไปยังภพของรุกขเทวดาภุมเทวดา ขอความเป็นทิพย์ขอวิมานทั้งหลายจงปรากฏต่อท่านขอกระแสธรรมความสงบร่มเย็นจงปรากฏต่อท่านทุกรูปทุกนาม แผ่เมตตาลงไปยังภพของมนุษย์และสัตว์ที่มีขันธ์ 5กายเนื้อทั้งหลาย ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุข เข้าถึงความสุข เข้าถึงมนุษย์สมบัติ แผ่เมตตาต่อไปยังภพของโอปปาติกะสัมภเวสีดวงจิตดวงวิญญาณที่เร่ร่อน ภพที่ทับซ้อน จักรวาลที่ทับซ้อน ขอจงเป็นสุข ขอมีบุญกุศล ขอความสงบชุ่มเย็นจนเกิดขึ้น ความเป็นทิพย์จงปรากฏ ขอจงโมทนาบุญและปรับภพภูมิ แผ่เมตตาต่อไปยังเปรตอสุรกายทั้งหลายขอจงมีความสุขความเจริญปรับภพภูมิพ้นจากความทุกข์ แผ่เมตตาลงไปยังภพของนรกภูมิทุกขุมลึกลงไปที่สุดจนถึงโลกันตนรก ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงพ้นจากความทุกข์ พ้นจากบาปกรรมเวรกรรม เมื่อพ้นทุกข์พ้นโทษหมดเวรหมดกรรม จงดับร้อนเสวยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าทั้งหลายแผ่อุทิศให้ด้วยเทอญ
เมื่อแผ่เมตตาดีแล้วก็ตั้งใจอธิษฐาน ขอน้อมกระแสแห่งพระนิพพานลงมายังโลก ลงมายังแผ่นดินประเทศไทย ลงมายังดินแดนสุวรรณภูมิ ขอความสุขสงบสันติจงปรากฏ ขอภัยพิบัติทั้งหลายจงสลายคลายตัวลงด้วยอำนาจแห่งบุญกุศล ที่ข้าพเจ้าทั้งหลายปฏิบัติไว้ดีแล้ว ขอความสุขสงบสันติความร่มเย็นยุคแห่งชาววิไลจงปรากฏขึ้นต่อโลกใบนี้ ขอความอุดมสมบูรณ์สันติสุขร่มเย็นจงปรากฏขึ้น แผ่เมตตาต่อไป ขอกระแสแห่งพระนิพพานชำระล้างเขตแห่งพระพุทธศาสนาให้มีความบริสุทธิ์วิมุตติหมดจด ขอกระแสแห่งสัมมาทิฐิ กระแสแห่งมรรคผลพระนิพพาน จงหลั่งไหลลงมาชำระล้างสิ่งที่เป็นมิจฉาทิฐิ สิ่งที่เป็นความเข้าใจประมาทคาดเคลื่อนทั้งหลายในธรรมในการปฏิบัติ ขอกรรมฐานทั้งหลายจงสมบูรณ์เต็มรอบ ขอผู้คนทั้งหลายพุทธบริษัททั้งหลาย จงกระจ่างแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง เข้าใจเหตุผลแห่งการปฏิบัติเข้าใจในพระพุทธประสงค์ของพระพุทธองค์ในการแสดงธรรม เข้าใจพระพุทธประสงค์ในกิจการงานในเขตพระพุทธศาสนา และสิ่งที่เป็นพระพุทธบัญชาให้ตรงให้พระพุทธศาสนาเกิดความมั่นคงเจริญรุ่งเรืองดั่งสมัยพุทธกาลสืบต่อไปปรากฏขึ้นโดยพลันด้วยเทอญ
จากนั้นน้อมกระแสบุญกุศลจากพระนิพพาน กระแสแห่งการปฏิบัติ กระแสทานศีลภาวนาลงมา น้อมถวายต่อพระสยามเทวาธิราช น้อมถวายเทวดาผู้รักษาพระชนมวาร รักษาพระเศวตฉัตร เทวดาผู้พิทักษ์รักษาอภิบาลพระบรมมหาราชวังพระราชวัง พระตำหนักทุกแห่ง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ขอกระแสบุญกุศล ขอน้อมถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ตลอดรวมไปจนถึงบุคคลที่เสียสละ มีเจตนาดีในการช่วยเหลือพัฒนาบ้านเมืองให้เกิดสันติสุขความร่มเย็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ขอผู้ที่มีบุญมีจิตเจตนารมณ์อันเป็นกุศลได้ขึ้นมามีอำนาจ ได้ขึ้นมาบริหารประเทศชาติบ้านเมือง ขอกระแสบุญจงเกิดผลอย่างอัศจรรย์ด้วยเทอญ รวมจิตให้เป็นหนึ่งเล็กที่สุด เข้มข้นที่สุด เป็นหนึ่งที่สุด
จากนั้นอธิษฐาน เมื่อเราน้อมกระแสลงมาสงเคราะห์เกื้อกูลโลกใบนี้แล้ว เราก็น้อมจิตกราบลาพระพุทธเจ้า พระธรรมพระอริยสงฆ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ น้อมจิตอธิษฐานขอให้ท่านทั้งหลายที่เป็นเทวดาพรหม ท่านที่เป็นผู้มีพระคุณ พ่อแม่ในอดีตชาติ บูรพมหากษัตราธิราชเจ้าในอดีต ท่านที่ผูกพันเกี่ยวพันกับข้าพเจ้า ขอเมตตาปรากฏกายทิพย์อยู่เบื้องหน้าข้าพระพุทธเจ้าด้วยเทอญ
จากนั้นใช้กายทิพย์น้อมกราบ ถวายดอกบัวแก้วแห่งกุศล ตั้งใจว่าบุญจากการปฏิบัติบุญจากทานศีลภาวนา เราถวายทุกท่าน ที่เป็นผู้มีพระคุณทุกพระองค์ ครูบาอาจารย์ที่เคยมาโปรดมาสงเคราะห์ในสมาธิ ครูบาอาจารย์ที่เคยมาสอนในยามที่ท่านมีชีวิตอยู่ก็ขอให้มาปรากฏ ให้กุศลทั้งหลายเหล่านี้ถึงทุกท่านทุกรูปทุกนาม และก็ขอให้ท่านเมตตาสงเคราะห์เราเกื้อกูลเรา ให้เรามีความคล่องตัวในทางโลก ในขณะที่มีชีวิตอยู่ปัดเป่าแคล้วคลาดจากภยันอันตราย จากภัยพิบัติจากบาปเคราะห์ จากวิบากอกุศลทั้งปวง และในขณะเดียวกันก็ขอให้จิตข้าพเจ้ามีกำลังใจในการปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน
จากนั้นกราบด้วยความเคารพนอบน้อม แล้วก็น้อมอธิษฐานกราบลาลงมายังโลกมนุษย์ พุ่งจิตของเราเป็นแสงสว่างเป็นเส้นลงมายังกายเนื้อ กายเนื้อสว่าง น้อมอธิษฐาน กระแสแห่งพระนิพพานกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพานจงส่องตรงลงมา ชำระล้างเป็นธาตุธรรมชำระล้างกายเนื้อธาตุขันธ์ ผมขนเล็บฟันหนังของเรากลายเป็นแก้วใสสว่าง โครงกระดูกทั่วร่างกายกลายเป็นแก้วใสสว่าง หลอดเลือดเส้นเอ็นกลายเป็นแก้วใสสว่าง กล้ามเนื้อ เซลล์ทุกเซลล์ อาการทั้ง 32 อวัยวะภายในทุกส่วนทั่วร่างกายกลายเป็นแก้วใสสว่าง อธิษฐานด้วยผลบุญกุศลที่ข้าพเจ้าถวายมหาสังฆทาน ขอจงเปิดสายบุญสายทรัพย์สายสมบัติสายบารมี ทิพยสมบัติพรหมสมบัติทั้งหลาย ในขณะที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่บนโลก ขอจงกลั่นสายทรัพย์สายสมบัติให้กลายเป็นมนุษย์สมบัติอันจับต้องได้ลงมา ณ ปัจจุบันขณะ เป็นเงินทอง เป็นโชคลาภเป็นโอกาส เป็นการเกื้อกูลสงเคราะห์ต่อชีวิตของข้าพเจ้าให้มีความคล่องตัว ขอให้ทรัพย์ทั้งหลายจงปรากฏจงผุดขึ้นขอปู่โสมเทวดาพรหมผู้เฝ้าพิทักษ์ทรัพย์ขุมทรัพย์ขุมสมบัติบารมีของข้าพเจ้า เมตตาเปิดสายบุญสายสมบัติ อนุญาตให้ปรากฏผุดขึ้นปรากฏขึ้นจะอยู่ในทิศใด ขุมทรัพย์ดวงบารมีข้าพเจ้าอยู่ในน้ำ อยู่บนบก อยู่ในอากาศ อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้าชั้นใด ก็ขอให้ผุด ขอให้จงเคลื่อนเข้ามาสู่ชีวิตของข้าพเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าพเจ้าทั้งหลายที่ปรารถนาพระนิพพานเป็นชาติที่สุดแห่งชีวิตนี้แล้ว ก็ขอให้กุศลมนุษย์สมบัติจงมาตอบสนองเกื้อกูลข้าพเจ้าเต็มกำลัง ให้ได้สร้างบุญสร้างบารมี สร้างมหาทานมหาบารมีทิ้งทวนในชาติสุดท้ายด้วยเทอญ ขอสายทรัพย์สายสมบัติจงพรั่งพรูลงมา ขอจงผุดขึ้นในดินในน้ำร่วงหล่นโปรยปรายลงมาในฟ้านภากาศ เทวดาทั้งหลายพรหมทั้งหลายขอจงเอ็นดูเมตตาโปรยปรายนำมนุษย์สมบัติมาให้ข้าพเจ้าทุกคนทุกรูปทุกนามที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อพระนิพพานด้วยเทอญ
จากนั้นเราก็น้อมจิต ใจเราเปิดรับ ใจเราสาธุ ใจเราสำนึกรู้ ขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทวดาพรหมทั้งหลาย ขอบคุณเต็มหัวจิตหัวใจ ขอจงมีความคล่องตัว ขอเทวดาพรหมท่านมีส่วนโมทนาในบุญในกุศลที่เราได้ทำได้ถวายทุกอย่างทุกประการ
จากนั้นก็โมทนาสาธุกับเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมด้วยกัน กัลยาณมิตรที่เจริญพระกรรมฐานด้วยกันวันนี้ กัลยาณมิตรที่ร่วมกันร่วมบุญถวายมหาสังฆทานกันในวันนี้ ขอบุญกุศลจงสำเร็จประโยชน์ต่อทุกท่าน ใจเรายินดี ใจเราอิ่ม ใจเราเป็นสุขกับทุกกุศลทุกความดี เพื่อนเราหรือตัวเราที่ตั้งใจไปนิพพานชาตินี้ แค่คนคนหนึ่งจะไปพระนิพพานชาตินี้ เราโมทนาบุญก็ได้บุญมหาศาล เพราะถือว่าบุคคลนั้นเป็นเนื้อนาบุญ ใจของคนที่ปรารถนาพระนิพพานก็ถือว่าใจเป็นพระ แม้ว่าไม่ได้ใส่เครื่องแบบ แต่จิตปรารถนาในอริยมรรคอริยผล ใจก็ถือว่าเป็นพระ
ดังนั้นเขาทำบุญก็ดีร่วมทำบุญกันก็ดี บุญก็แผ่ไพศาล ก่อเกิดจากคนที่มีจิตบริสุทธิ์ไปทำบุญสร้างกุศล เราโมทนาเราก็ได้บุญ มีส่วนร่วมในบุญจากการโมทนา บุคคลที่เราโมทนาก็ถือว่าเป็นเนื้อนาบุญที่เราไปโมทนาเขา
จากนั้นหายใจเข้าช้าๆลึกๆถอนจิตช้าๆจากสมาธิ หายใจเข้าพุทธออกโธ ครั้งที่ 2 ธรรมโมครั้งที่ 3 สังโฆ
จากนั้นกำหนดจิต ทรงอารมณ์ความผ่องใสความเบิกบานเต็มกำลัง และถอนจิตจากสมาธิ ใจเอิบอิ่มใบหน้าเอิบอิ่มยิ้มแย้มแช่มชื่นอิ่มใจ เสวยความปิติสุขจากการเจริญพระกรรมฐาน หล่อเลี้ยงร่างกายธาตุขันธ์ หล่อเลี้ยงจิต จิตเสวยธรรมปิติเป็นอารมณ์ ความเอิบอิ่มจากการเจริญพระกรรมฐานเป็นอาหารของจิต
สำหรับวันนี้ก็ขอแจ้งให้ทราบใน 2-3 เรื่องก็คือ
1 ขอโมทนาบุญกับทุกคนที่ร่วมบุญถวายมหาสังฆทานด้วยกัน
2 ก็ขอแจ้งในเรื่องของการเขียนแผ่นทองสร้างพระเจ้าองค์แสนดวงจิตพระนิพพาน ตอนนี้ทางเจ้าภาพก็ได้จัดซื้อแผ่นทองเหลืองที่เราช่วยกันเขียน ตอนนี้จัดซื้อแล้วก็กระจายออกไปเป็นจำนวนทั้งหมด 130,000 แผ่น แต่ตอนนี้รวบรวมกลับมาได้ประมาณ เจ็ดหมื่นกว่าแผ่น เราจัดซื้อแผ่นทองไปเกินประมาณ 30,000 แผ่น ดังนั้นตอนนี้เป็นช่วงที่ขอประชาสัมพันธ์ให้บอกต่อกัน ให้เริ่มเร่งในการรวบรวมส่งแผ่นทองกลับคืนมาเพราะว่าช่วงนี้ก็จะเริ่มเป็นการช่วงนับ ตอนนี้ได้ 7 หมื่นกว่าแผ่นก็จะพยายามให้ถึงแสนแผ่นให้ได้ เพราะเดี๋ยวช่วงปลายปีอาจารย์ก็จะเดินทางไปกราบเรียนความคืบหน้าเรื่องจำนวนแผ่นทอง กำหนดต่างๆเรื่องราวรายละเอียดต่างๆในการสร้างพระพุทธรูปกับพระอาจารย์หนุนที่วัดพุทธโมกข์จังหวัดสกลนคร
ดังนั้นตอนนี้ก็คนไหนที่แผ่นทองยังอยู่กับตัวหรือว่าไปกระจายไปส่งต่อให้เพื่อน ไปให้เพื่อนเขียนแล้วก็ฝากช่วยรวบรวมกลับมาด้วย ถ้าเป็นไปได้รวบรวมแล้วก็นับจำนวนเขียนรวมจำนวนคร่าวๆมาให้ เพื่อให้ทีมงานที่นับแผ่นทองก็จะได้ทำงานง่ายขึ้นสะดวกขึ้นครับ แล้วก็ตอนนี้ก็จะพยายามเป็นช่วงรวบรวมแผ่นทองแต่จะไม่ซื้อแผ่นทองเพิ่มแล้วก็ยังพอมีแจกได้อีกประมาณ 10,000 แผ่น
อันนี้ก็ขอเล่าขอโมทนากับบางคนตั้งจิตอธิษฐาน บางคนเขียนแผ่นทองไปแล้วเป็นพันแผ่น บางคนเขียนแผ่นทองคนเดียวไปแล้ว คือตั้งจิตยกจิตขึ้นพระนิพพานแล้วก็เขียน บางคนก็ 500 แผ่นบ้าง 1,000 แผ่นบ้าง บางคน 3-4 พันแผ่นดังนั้นการที่เราฝึกปฏิบัติด้วยความเข้มข้น อุปมาเหมือนการฝึกกายเหมือนกัน เราฝึกที่จะทำอะไรซ้ำๆจนกระทั่งจิตชินเป็นปกติ เราทำได้ 10 ครั้งถือว่าพอรู้ ทำได้ร้อยครั้งเริ่มมีความชำนาญ ทำ 1,000 ครั้งเริ่มเป็นอาจารย์ ทำหนึ่งหมื่นครั้งกลายเป็นปรมาจารย์ นั่นก็คือเมื่อไหร่ที่เราฝึกยกจิตขึ้นไปพระนิพพาน จนทำได้ทั้งหมดตลอดชีวิตเป็นหมื่นครั้ง แล้วถามว่าถ้าเราทำถึง 10,000 ครั้งนี่ ยังไงชาตินี้ใจเราจะไม่มีความมั่นใจหรือว่าชาตินี้เราจะไปพระนิพพานไม่ได้ ยังไงก็ต้องไปได้ ถึงเผลอไปยังไงพระท่านก็สงเคราะห์ว่ามันมีความเพียรขนาดนี้แล้วแต่มีความเผลอไปยังไงท่านก็มารับ
ในเรื่องของพระมารับนี่ขอยืนยันในทั้งสายของหลวงพ่อฤาษี ของสายหลวงพ่อฤาษีเรื่องราวที่พระท่านมารับที่ปรากฏชัดเจนเป็นหลักฐานอยู่ก็คือ พระองค์เจ้าหญิงวิภาวดีรังสิตก่อนที่ท่านจะสิ้นพระชนม์ ท่านตัดกล่าวเลยว่าเห็นพระพุทธองค์มารับ กับอีกคนหนึ่งที่อาจารย์ได้ยินเรื่องราวที่เป็นเหตุการณ์ก็คือ เป็นรุ่นพี่ของเพื่อนอาจารย์เองที่ปฏิบัติธรรมในสายหลวงพ่อฤาษี อาจารย์ก็แนะนำให้มาปฏิบัติ พอปฏิบัติแล้วทั้งคู่ทั้งพี่ทั้งน้องก็เป็นมะเร็งทั้งคู่ สุดท้ายน้องสาวคือเพื่อนอาจารย์ตายก่อน พี่สาวตายทีหลัง ก่อนตายก็เล่าให้พ่อฟังบอกว่า พ่อหนูลาไปพระนิพพานแล้วนะคะ พระท่านมารับแล้วคือเห็นพระท่านมารับด้วยตาด้วยจิตของท่าน ดังนั้นก็ไม่น่าห่วงว่ายังไงก็ไปพระนิพพานได้ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของมหายาน ในมหายานสายไต้หวันนี้ท่านภาวนา อามิตตาพุทธ คือภาวนาถึงพระอามิตตา คือพระพุทธเจ้าถึงเวลาผู้ที่ภาวนาเขาก็มีความเชื่อว่าบุคคลผู้ภาวนาถึงพระพุทธเจ้าสม่ำเสมอ ถึงเวลาพระพุทธองค์จะมารับไปแดนสุขาวดี แล้วก็ปรากฏหลักฐานคือมีรูปถ่ายจำนวนมาก คือถ่ายคนที่สิ้นชีวิตตายไปด้วยรอยยิ้ม ใบหน้ายิ้มอิ่ม อารมณ์คือเห็นพระพุทธองค์มารับแล้วจิตเป็นสุขอย่างยิ่งแล้วตาย ตายไปในสภาวะที่ใจใบหน้าอิ่มยิ้มเต็มถ่ายมาเป็นสิบเป็นร้อยคน อันนี้ก็เป็นพยานยืนยันว่า ถ้าจิตเราตั้งอธิษฐานว่า เมื่อเรายกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานแล้วอธิษฐาน พุทโธ เราภาวนา นิพพานัง ปรมัง สุขัง เราอธิษฐานขอให้พระพุทธองค์ท่านทรงมารับ ยังไงท่านมารับแน่นอน อันนี้เป็นเครื่องยืนยัน
ดังนั้นเราจะปฏิบัติเอาง่ายที่สุด ลัดที่สุด ตรงที่สุด เราจะปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน เราก็ฝึกยกจิตไปพระนิพพานนี้แหละมันก็ตรงจุดที่สุดแล้ว ดังนั้นก็ขอให้เราทุกคนพยายามตั้งใจกัน ปฏิบัติให้ได้อันนี้ก็พูดเลยไป ก็อย่าลืมช่วยกันรวบรวมแผ่นทองทุกแผ่นมีราคามีมูลค่า เป็นของที่จะมาสร้างถวายเป็นพระพุทธรูป ก็ถือว่าเป็นของสงฆ์ ดังนั้นเราก็อย่าเก็บไว้เขียนแล้วก็พยายามส่ง พยายามรวบรวมไว้ให้ได้ ส่งมาได้แล้วนะครับ อันนี้ก็ฝากบอกมา ส่งมาที่ไหนก็ตามที่เราเคยได้รับมาจากคุณกฤติกา แล้วก็ส่งกลับมาที่คุณกฤติกา สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน ขอให้เราทุกคนมีปัญญากระจ่างแจ้งในธรรม มีความสุขความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม มีความคล่องตัวทุกประการ
สำหรับวันนี้สวัสดีพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
ถอดเสียงและเรียบเรียงโดย คุณรัตนา