เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน 2566
เรื่อง ยกจิตเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ความรู้สึกทั่วถึงทั้งร่างกาย ตลอดตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงปลายเท้า ความรู้สึกถึงร่างกายอวัยวะและกล้ามเนื้อทุกส่วน สติเมื่อกำหนดในกาย ในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เรากำหนดรู้เพื่อผ่อนคลาย ความรู้สึกที่เราผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายความเกร็ง ความตึง ความหนัก ผ่อนคลายร่างกายมากเท่าไหร่ ควบผนวกกับความรู้สึก ที่เราละวาง ความเกาะ ความยึดในร่างกายขันธ์ 5 ของเรา ไปพร้อมกับความรู้สึกผ่อนคลายทั่วร่างกาย ยิ่งผ่อนคลายร่างกายละเอียด ไปจนถึงระดับเซลล์ ร่างกายเรา ถูกปล่อยวาง เรายิ่งเข้าสู่ความสบาย ความสุขสงบ การแยกกาย แยกจิต แยกรูป แยกนาม แยกขันธ์ 5 ออกไปได้ง่ายเพียงนั้นเช่นกัน
ผ่อนคลาย ปล่อยวางร่างกาย พร้อมกับความรู้สึกที่เรา ปล่อยวาง ความห่วง ความเกาะ ความยึด ความกังวลทั้งหลาย จากจิตใจของเรา ฝึกฝนจนกระทั่ง การที่เราผ่อนคลายร่างกายทั่วร่าง คือปล่อยวางทั้งร่างกายและจิตใจ ปล่อยวางภาระของใจ ปล่อยวางความห่วง ความกังวลทั้งปวง ผ่อนคลายปล่อยวางร่างกายขันธ์ 5 เหลือแต่ความเบา ความสงบ แล้วจึงจับลมหายใจ เราจะพบได้ทันที ว่าลมหายใจของเรานั้น มีความเบา มีความละเอียด มีความสบายความสงบ จดจ่ออยู่กับความละเอียดของลม ความสบายของอารมณ์ใจ คือเวทนา ความรู้สึกสบาย ความรู้สึกผ่อนคลาย ความรู้สึกเป็นสุข ปัญญาในธรรมกำหนดรู้ ว่ายิ่งเราผ่อนคลาย ยิ่งเราปล่อยวาง จิตเรายิ่งเข้าถึงความสงบสุข จำไว้ว่ายิ่งปล่อยวาง ยิ่งเป็นสุข ยิ่งเข้าถึงความสงบ จิตวุ่นวาย จิตไม่เป็นสมาธิ จิตซัดส่าย ก็เพราะความเครียด ความทุกข์ ความเกาะ ความยึดมั่นถือมั่นและความกังวลทั้งปวง
เพียงผ่อนคลายร่างกายเพียงอย่างเดียว จิตเราเปลื้อง เราปลดภาระของกายและใจออกไปจนหมด หากอุปมาเป็นเหมือนกับวิทยายุทธ์ เพียงกระบี่เดียว สามารถเอาชนะจิตใจ ที่เคยแบก เคยยึด ทั้งร่างกาย ทั้งความเกาะยึดในความกังวล และความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย เพียงผ่อนคลายปล่อยวางร่างกายอย่างเดียว จิตเราเบา เข้าถึงความสงบเย็น ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ผ่อนคลายปล่อยวาง สงบ ร่มเย็น ลมละเอียดเบา จดจ่อทรงอารมณ์อยู่ในสภาวะที่ ลมหายใจของเราละเอียดเบา จากการที่เราปล่อยวางผ่อนคลาย ตัดกาย ตัดกังวลทั้งปวง ความรู้สึกอารมณ์จิตที่เราผ่อนคลายปล่อยวางร่างกาย ตัดร่างกาย ภาษาธรรมก็เรียกว่าตัดขันธ์ 5 ตัดความเกาะ ความห่วง ความยึด ความจดจ่อ ความเพ่งอยู่กับกาย ความไปเพ่งในเวทนา อาการเจ็บ อาการปวดในร่างกาย ไปเพ่งอยู่กับอาการของปีติจากการฝึกสมาธิ ก็ยังถือว่าเกาะร่างกาย ตัดร่างกายขันธ์ 5 ความสนใจในร่างกายทั้งหมด ถือว่าการตัดขันธ์ 5 อยู่ในส่วนของการเจริญวิปัสสนาญาณ ส่วนการที่เราปล่อยวางความกังวล ความยึดมั่นถือมั่น ความห่วง ความอาลัยทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลทั้งปวง ภาษาในการปฏิบัติธรรมท่านเรียกว่า ปลิโพธ
ดังนั้นเมื่อเราปลดเปลื้อง ความเกาะ ความห่วง ความยึดทั้งหลายออกไปจนหมด ความหนักของใจเราถูกเปลื้อง ถูกปลด ถูกวางภาระทั้งหลาย ของกายและใจลง จิตก็ถึงความเบา ความสบาย ความสงบได้โดยง่าย ปัญญาเข้าใจหยั่งรู้ ยิ่งเราปล่อยวางฝึกที่จะปล่อยวางได้มากเท่าไหร่ ทำซ้ำมากเท่าไหร่ ชินกับการปล่อยวางได้มากเท่าไหร่ คำว่าชิน ได้ภาษาการปฏิบัติ ก็คือทำจนเป็นความชำนาญ ทำจนเป็นการทรงฌาน ทำจนเป็นวสี ความเชี่ยวชาญชำนาญ วางจนรู้สึกว่าการวางการเปลื้องภาระ ความหนักของกายและใจนั้น เป็นเรื่องง่ายดายสำหรับเรา ในขณะที่บุคคลที่ไม่เคยฝึกจิต ไม่เคยเจริญสมาธิ ไม่เคยเจริญกรรมฐาน หรือฝึกปฏิบัติ ในหนทางที่ไม่ได้เส้นลัดตัดตรง การปล่อยวางสำหรับบุคคลเหล่านั้น อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ยากในทัศนคติในความคิดของเขา แต่ยิ่งไม่ฝึกวาง ไม่เคยว่างและไม่ยอมวาง การปล่อยวาง ก็ยังคงยากสำหรับเขา แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามเราฝึกจนการปล่อยวาง ผ่อนคลายร่างกายของเราเพียงอย่างเดียว ปลดเปลื้องปล่อยวางได้ทั้งกายและจิตแต่แรก การปฏิบัติของเราก็ยิ่งเร่งรัดเข้าสู่ฌานสมาบัติเข้าสู่ความสบาย สู่ความสุขสู่ ความสงบของจิต ยิ่งปล่อยวางมากเท่าไหร่จนจิตเราเกิดปัญญา ปัญญาเกิดขึ้น อวิชาก็ดับ อวิชาดับ ปัญญาเกิด เกิดความรู้ที่ว่า เราไปโง่แบกขันธ์ 5 แบกความทุกข์ แบกความห่วง แบบความกังวลทั้งหลายมามาก ทั้งในชาตินี้เราแบกมาเท่าไหร่ แบกมากี่เรื่อง ถ้านับย้อนหลังกลับไป เราแบกความทุกข์ทั้งหลาย แบกขันธ์ 5 แบบภาระ แบกความห่วงความอาลัย แบกหน้าที่ แบกสมมุติ แบกหัวโขน แบกมาแล้วกี่ภพกี่ชาติ
คราวนี้เมื่อเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปล่อยวางไปเรื่อยๆ เราเริ่มเห็นผลลัพธ์ของการปล่อยวาง ยิ่งปล่อยวางยิ่งเบา ยิ่งปล่อยวางยิ่งเป็นสุข ยิ่งปล่อยวางยิ่งเข้าถึงความสงบ เราก็จะมีจิต ที่เคยชินกับการปล่อยวางและเข้าใจว่าทำไมถึงต้องปล่อยวาง การวางก็เป็นเรื่องง่ายสำหรับเรา ปัญญาตอนนี้หลายคนปรากฏขึ้น ฝึกการผ่อนคลายแล้วปล่อยวาง ให้สำเร็จเบ็ดเสร็จ ทั้งการปล่อยวางร่างกายและปล่อยวางจิต ฝึกจนกระทั่งเราปล่อยวางได้เป็นปกติ วางได้เร็ว ปล่อยวางได้รวดเร็วเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว ผ่อนคลายปล่อยวาง จนผ่อนคลายปล่อยวาง ผ่อนคลายร่างกายปุ๊บ จิตเข้าสู่ฌาน 4 ในอานาปานสติได้ทันที ความเบา ความสบาย ทั้งกายและจิต เกิดขึ้นเต็มกำลัง เต็มอัตรา สงบนิ่ง เบา
เมื่อจิตสงบ ทรงไว้ในอารมณ์ของความสงบ ความสบาย อารมณ์สบาย อารมณ์สงบระงับ ใจแย้มยิ้มเบิกบานเป็นสุข ดื่มด่ำอยู่กับความสงบของฌาน 4 ในอานาปานสติ จนจิตเข้าถึงเอกัคตารมณ์ เอกัคตารมณ์คือ อารมณ์จิตที่รวมเป็นหนึ่ง นิ่งหยุด อยู่กับความสบาย ความสงบ อยู่กับลมที่ดับ ที่นิ่ง ที่หยุด เข้าถึงอุเบกขารมณ์
อุเบกขารมณ์คือ เมื่อเราเข้าสู่ความสงบ ยินดีในความสงบ ยินดีในอุเบกขารมณ์ แต่ยังมีสติกำหนดรู้ ในสิ่งที่มากระทบทางอายตนะภายนอก มากระทบอายตนะภายใน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้แต่เข้ามากระทบจิต แต่ปัญญาที่เราเกิดทำให้เกิดอุเบกขารมณ์ คือไม่อยากไปยุ่ง ไม่อยากไปปรุงแต่ง ไม่อยากไปคิดต่อ จิตเกิดความวางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบในอายตนะทั้ง 5 จึงเกิดอุเบกขารมณ์ขึ้น ได้ยินแต่จิตวางเฉย เห็นรูป จิตวางเฉย กายสัมผัสความเย็น ร้อนอ่อน แข็ง ทั้งหลาย แต่จิตวางเฉย อยากอยู่กับความสงบ
อันที่จริงอุเบกขารมณ์ในฌาน 4 พลิกมานิดเดียว ก็สามารถเข้าถึงอรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สัมผัสมาทางอายตนะ แต่ใจเราไม่ปรุงแต่ง เรารู้สึกว่ามันเป็นความว่าง พลิกขึ้นมาอีกนิดเดียวในอุเบกขารมณ์ในฌาน 4 ก็กลายเป็นอรูปสมบัติ อารมณ์จิตของเรา หากมีปัญญาเกิดขึ้น จิตสามารถเดินเข้าสู่ฌานขั้นสูงได้ คิดพิจารณาไว้เสมอ
คราวนี้จากอุเบกขารมณ์ เอกัคตารมณ์ในตัวหยุด ตัวนิ่งของจิต ของลมหายใจที่สงบระงับ จุดที่ลม นิ่ง หยุด เรากำหนดนิมิตขึ้นเป็นดวงแก้ว ดวงแก้วเรากำหนดรู้ว่าเป็นนิมิตของจิต ดวงจิตที่กำหนดในสภาวะ เห็นจิตเป็นดวงแก้วใส เห็นดวงจิตเป็นดวงแก้วใสสว่าง เป็นดวงแก้วเฉยๆ ก็นับว่าจิตเข้าสู่กสิณในอุคหนิมิต
แต่เมื่อไหร่ที่เรากำหนดต่อ นึกภาพเห็นจิตของเรา เป็นเพชรระยิบระยับแพรวพราวสว่างจากภายใน มีเส้น มีรัศมี เปล่งประกายประภัสสรออกมา สภาวะที่จิตทรงภาพนิมิต คือสภาวะที่เรานึก และทรงภาพที่เรานึกไว้ได้อย่างเสถียร คือมีความต่อเนื่องตั้งมั่นอยู่ในจิต ไม่แว๊บวับ ไม่ขึ้นลง ไม่หาย แต่ทรงนิ่งอยู่ได้ สภาวะนั้นก็คือการที่เราทรงฌาน ทรงฌานในสภาวะของปฏิภาคนิมิต คือสภาวะที่จิตเป็นเพชรประกายผลึก ซึ่งนับว่าเป็นฌาน 4 ในกสิณ เราก็กำหนดให้ดวงจิตนั่นแหละ นิมิตนั่นแหละ ก็คือแทนจิตของเรา ในยามที่เราเห็นจิตเป็นเพชรประกายพรึกเป็นปฏิภาคคณิต สภาวะที่จิตเป็นปฏิภาคนิมิตนั้น จิตจะสะอาดจากกิเลส คือความโลภ โกรธ หลง ทั้งปวง ในขณะเดียวกันจิตยิ่งมีความสว่างมากเท่าไหร่ อารมณ์จิต ภาพนิมิตมีความเป็นเพชรแพรวพราวระยิบระยับ มีรัศมีแสงสว่างมากเท่าไหร่ อารมณ์กรรมฐานอารมณ์สมาธิมีความสุข สัมพันธ์กับแสงสว่างที่เปล่งประกายมากเท่าไหร่ สภาวะความเป็นทิพย์ของจิตอภิญญา ก็ยิ่งปรากฏมากขึ้นเพียงนี้ ยิ่งสว่างยิ่งเป็นสุข ยิ่งเป็นสุขยิ่งเปี่ยมความเป็นทิพย์ ยิ่งเปี่ยมความเป็นทิพย์ ยิ่งเกิดผลแห่งอภิญญาสมาบัติ นึกอธิษฐานกำหนดจิต ปรากฏในความสมปรารถนา ในสิ่งที่เราตั้งจิตไว้ในสิ่งที่เรา ชอบด้วยกุศลด้วยความดี
ดังนั้น ยิ่งเราทรงอารมณ์ เห็นจิตเราเป็นเพชรประกายพรึก อยู่ตลอดเวลามากเท่าไหร่ เรากำลังเพาะบ่มตบะเดชะ จิตรานุภาพของจิตเราให้เกิดขึ้น สะสมรวมตัว ตั้งมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเรากำหนดรู้ในประโยชน์ ในสิ่งที่ปฏิบัติเราก็ทรงอารมณ์ไว้ ภายในยิ้มมากที่สุด เป็นสุขมากที่สุด แสงสว่างมากที่สุด จิตเป็นประกายระยิบระยับแพรวพราวสว่างไสวออกไปมากที่สุด จนกระทั่งรัศมีของจิตทะลุกายเนื้อ ทั้งกายเนื้อ กายทิพย์และดวงจิต เป็นเพชรประกายพรึกสว่างมีรัศมี ฉัพพรรณรังสีแสงสีรุ้ง พร่างพรายออกมาจากจิต ออกมาจากกาย ออกมาจากกายเนื้อ ออกมาจากเซลล์ทุกเซลล์ ทั่วร่างกายของเรา
ทรงสภาวะ ใจเป็นสุข เอิบอิ่มสว่างเป็นเพชร ความเป็นทิพย์ แพรวพราวรายรอบ แผ่รัศมีแห่งจิต จิตรานุภาพเพิ่มพูนขึ้น สะสมเพาะบ่มรวมตัวขึ้น จิตเกิดธรรมฉันทะความพึงพอใจ ในการปฏิบัติจิต ในการเจริญสมาธิมากขึ้น สูงขึ้น แสงสว่างของจิต เป็นรุ้งประกายพรึก ทั้ง 7 สี ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง เป็นเส้นแสงแผ่สว่างทั่วร่าง จิตเป็นเพชรละเอียด กาย ทั้งกายเนื้อและกายทิพย์สว่างเป็นเพชร จิตสว่างไสวแพรวพราว สงบเย็นเป็นสุข จดจ่อทรงอารมณ์ กำหนดรู้ในจิต ให้จิตมีความเสถียร มีอารมณ์กรรมฐานที่ตั้งมั่น มีฌานสมาบัติที่ตั้งมั่น มีความผ่องใสสว่างของจิต ที่เข้าถึงความตั้งมั่นอย่างแท้จริง จนรู้สึกได้ถึงว่าเราสามารถ ที่จะทรงอารมณ์ความผ่องใส ความสว่าง ความเป็นเพชรประกายพรึกนี้ได้ นานเท่านานเท่าที่เราต้องการ
จากนั้นกำหนดจิตต่อไปในขณะที่ ดวงจิตเรามีความเป็นเพชร สว่างพร่างพราย เรากำหนดต่อไป ว่าสิ่งใดที่เป็นรูป เป็นวัตถุ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เป็นวัตถุ ไม่ใช่นามธรรมเช่นจิต กายเนื้อ กายหยาบของเรา เป็นวัตถุ เป็นรูป วัตถุสิ่งของ โลก จักรวาล ทั้งหลายเป็นวัตถุ เรากำหนดเพิก คือสลาย เห็นภาพกายเนื้อขันธ์ 5 สลายกลายเป็นผุยผงออกไป โลก บ้านเมือง ข้าวของวัตถุ จักรวาลดวงดาวทั้งหลาย สลายตัวกลายเป็นผุยผงออกไปจนหมด เหลือเพียงจิต และอาทิสมานกายของเราที่เป็นแก้วสว่างเป็นเพชร ลอยโดดเด่นอยู่ท่ามกลางความว่างเวิ้งว้าง สุดขอบเขตไม่มีประมาณ ไม่มีพื้น ไม่มีผนัง ไม่มีเพดาน ขาว โล่ง ว่าง เป็นอนันตกาล มีเพียงจิตเราสว่าง กายทิพย์ของเราเป็นเพชรสว่างลอยอยู่
กำหนดว่า สิ่งทั้งหลาย วัตถุทั้งหลาย รูป รส กลิ่น เสียง ทั้งหลาย สลายกลายเป็นความว่างทั้งหมด เราเข้าถึงจิตตวิเวก สภาวะรายรอบล้วนเป็นความว่าง กำหนดความรู้สึกเช่นนี้ว่า ขอให้ข้าพเจ้าเข้าถึงจิตตวิเวก แม้อยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่านมากมายสักประกันใด เพียงเรากำหนด จิตตวิเวก จิตตวิเวก จิตตวิเวก สภาวะรอบกายเราก็เหมือนปราศจากผู้คน เหลือเพียงจิต เหลือเพียงความสงบของใจเรา ความตั้งมั่นของจิต อยู่ท่ามกลางความเวิ้งว้าง ความว่างความสงบ ความสงัดของใจ ความอึกกระทึก ความวุ่นวาย ไม่อาจกล้ำกลาย ฌานสมาบัติอันตั้งมั่นและแก่กล้าของจิตเราไปได้ จิตตวิเวก จิตตวิเวก จิตตวิเวก
จากนั้นเรากำหนดจิต รู้ว่าจิตกำลังทรงอยู่ในอรูปฌาน อรูปสมาบัติ เราเป็นผู้มีปัญญาฉลาด อาศัยกำลังแห่งอรูปสมาบัติ มาเจริญวิปัสสนาญาณ เพื่อต่อกำลังไปสู่การเจริญจิต เข้าสู่วิปัสสนาภูมิต่อไป พิจารณาตว่าในความว่าง เวิ้งว้างที่เรากำหนด สลายรู ป วัตถุ สิ่งของ หรือแม้แต่ร่างกายขันธ์ 5 เรากำหนดพิจารณาว่า ที่เรากำหนดเพิกรูป วัตถุสิ่งของทั้งหลาย เพิกสัญญา ความจำทั้งหลาย เพิกสิ่งที่มากระทบทางอายตนะทั้งหลาย เรากำหนดเพิก คือละ คืองดเว้น คือสลายออกไปจากจิต เพราะรูปทั้งหลาย ขันธ์ 5 ร่างกายทั้งหลาย เป็นสิ่งที่เราเมื่อไปยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ก่อให้เกิดความทุกข์ เกาะร่างกายตนเองมากเกินไป ห่วง หวงร่างกายตัวเองมากเท่าไหร่ ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 มากเท่าไหร่ ความทุกข์จากสภาวะความแปรปรวนของร่างกายขันธ์ 5 ก็พาให้จิตเราเกิดความทุกข์ เห็นบุคคลที่รักของเรา เจ็บป่วยเจ็บไข้ไม่สบายหรือตาย เราไปยึด ถึงเวลานั้นจิตมันก็เกิดความทุกข์ การมีร่างกายขันธ์ 5 ถึงเวลาที่ร่างกายนั้นมันป่วย เราก็ทุกข์ ร่างกายนี้เกิดเวทนาที่เป็นทุกขเวทนา คือร้อนไปบ้าง เมื่อยไปบ้าง หนาวไปบ้าง ถูกทุบตี ถูกทรมานบ้าง นั่งนานเกินไปบ้าง ยืนนานเกินไปบ้าง เกิดความเมื่อย ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก็มีเหตุมาจากร่างกายขันธ์ 5 หรือแม้แต่ร่างกายขันธ์ 5 ของบุคคลที่เป็นเพศตรงข้าม ที่นำพาความพึ่งพอใจมาให้เรา เป็นความพึงพอใจอันเนื่องมาจากกามคุณ 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความสวยงามในเพศตรงข้าม วาจา น้ำเสียงออดอ้อนไพเราะของเพศตรงข้าม กลิ่นหอมรวยรินจากเพศตรงข้าม ล้วนแต่เป็นเหตุที่ทำให้เราติดอยู่ในกามาวจรภูมิ คือภพที่เสวยความสุข จากเบญจกามคุณทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันได้แก่ ภพของความเป็นสัตว์เดรัจฉาน ภพของความเป็นมนุษย์ ภพของเทวดาในบางชั้น บางภพ บางภูมิ
เรากำหนดรู้แล้ว เราจึงเพิก เห็นโทษของความเกาะยึดในร่างกายขันธ์ 5 เราจึงพิจารณาสลายร่างกายขันธ์ 5ทั้งของเราและบุคคลเพศตรงข้าม บุคคลที่เราห่วง ที่เราอาลัย กลายเป็นความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า พิจารณาว่าในที่สุดเราก็ต้องปล่อยวาง จากความยึด จากห่วง จากสมมุติ เวลาที่เราตาย เราก็ต้องพลัดพรากจากร่างกาย พลัดพรากจากบุคคลทั้งหลาย พลัดพรากจากทรัพย์สมบัติ พลัดพรากจากเกียรติยศ ตำแหน่งสมมุติ ที่เขาสมมติให้เรา
กำหนดสลายทั้งหมด รูป สัญญา สมมติ ออกไปจากจิตของเราไปจนหมด จิตเรามีแต่ความว่าง สว่าง กายทิพย์ยิ่งสว่างขึ้น จิตไม่เกาะในความพยาบาท ไม่เกาะในสัญญาความจำ ไม่เกาะในความห่วง ความอาลัยทั้งปวง ไม่เกาะในสมมุติทั้งหลาย จิตว่าง สว่าง ว่างเบา รู้สึกว่าจิตเราเป็นเพชร อาทิสมานกายเป็นเพชรสว่าง ท่ามกลางความว่าง ขาวว่าง เบา ยิ่งเบา ยิ่งละเอียด ยิ่งวางลง ในกำลังที่เบาขึ้นไปอีก ละเอียดขึ้นไปอีก ยิ่งกว่าอารมณ์ที่เราทรงในฌานสมาบัติ ของอานาปานสติหรือกสิณเพียงอย่างเดียว วางจนเบาจนละเอียดขึ้นไป ค่อยๆ ปรับ ความละเอียดของจิตให้สามารถแยกแยะ ความเบา ความละเอียด ของการเจริญในสมถะกรรมฐาน ในแต่ละภูมิขึ้นไป จากอานาปานสติขึ้นมาสู่ฌาน 4 ในกสิณ คือปฏิภาคนิมิต จากปฏิภาคนิมิต ขึ้นมาสู่สภาวะแห่งอรูปสมาบัติ ในแต่ละขั้นมีความละเอียดขึ้น มีความเบาขึ้น ความละเอียดต่างกัน ไล่ขึ้นไปตามลำดับ กำหนดในว่าง สว่าง กายทิพย์ยิ่งสว่างขึ้น
จากนั้นกำหนดจิตต่อไป กำหนดว่ากำลังแห่งอรูปสมาบัติ เราเจริญไว้เพื่อเป็นกำลังแห่งสมถะในการเจริญจิตเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า อรูปสมาบัตินั้นยังไม่ใช่พระนิพพาน ความว่างยังไม่ใช่พระนิพพาน กำหนดจิตต่อไปว่าเรา มีความเคารพ มีความนอบน้อม มีความกตัญญู ในคุณแห่งพระรัตนตรัย คือคุณแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ กำหนดจิตต่อไป ขอภาพพุทธนิมิต พุทธบารมีของพระพุทธองค์ ขอจงปรากฏขึ้นในจิต ภาพองค์พระสว่างชัดเจน กำหนดอธิษฐาน ขออาราธนาบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ขอยกอาทิสมานกายของข้าพเจ้า ขึ้นสู่ความเป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพ ยกขึ้นไปบนพระนิพพาน กำหนดจิตอธิษฐานขึ้นไปที่วิมานของสมเด็จองค์ปฐม ขออาราธนาบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ขอเมตตาอาราธนา ปรากฏมหาสมาคม ภายในวิมานของสมเด็จองค์ปฐม ขอจงปรากฏพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอรหันต์ทุกๆ พระองค์ บนพระนิพพาน ปรากฏพร้อมกัน บนวิมานของสมเด็จองค์ปฐม อาทิสมานกายของเรา อยู่ในสภาวะกายพระวิสุทธิเทพ ห้อมล้อมรายรอบด้วยทุกท่าน ทุกๆพระองค์
จากนั้นเรากำหนด ใช้กายแห่งพระวิสุทธิเทพ แยกอาทิสมานกายกราบทุกท่านทุกๆพระองค์ น้อมกราบด้วยอารมณ์จิตที่ละเอียด น้อมกราบด้วยอารมณ์จิตที่ปราณี ด้วยความเบา ด้วยความละเอียด ยิ่งกราบด้วยความนอบน้อมใจยิ่งเอิบอิ่ม ยิ่งเป็นสุข ยิ่งดื่มด่ำ เข้าถึงอารมณ์จิต ที่มีความปลื้มปิติในความนอบน้อม เคารพรักในพระพุทธเจ้า ยิ่งนอบน้อมเคารพรัก ในพระพุทธเจ้ามากเท่าไหร่ พุทธบารมีกำลังของมโนยิทธิยิ่งเชื่อมโยง กำลังของพระท่านยิ่งโปรด ยิ่งสงเคราะห์เราได้มากขึ้น เต็มกำลังมากขึ้น อารมณ์จิตยิ่งละเอียด กำลังความเป็นทิพย์ของจิตยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อารมณ์จิต เข้าถึงความละเอียด กระแสแห่งธรรม กระแสแห่งเครื่องรู้ กระแสของครูบาอาจารย์ที่เป็นกายทิพย์ ยิ่งปรากฏขึ้นมาในจิต อารมณ์ที่เราแนบในวิปัสสนาญาณ อารมณ์ที่เราแนบในพระนิพพาน ยิ่งทำให้ธรรมเครื่องรู้ปรากฏมากขึ้น ธรรมเครื่องรู้ที่ปรากฏขึ้นในจิตจะปรากฏขึ้นได้ ในยามที่จิตเรามีความเบา มีความเป็นทิพย์ มีความละเอียดอยู่ในฌานสมาบัติ มีความผ่องใส กระแสธรรมเครื่องรู้ต่างๆ ผุดรู้ขึ้นมาในจิต ปรากฏขึ้นมาในจิต ทันต่อสิ่งที่มากระทบ ทั้งสิ่งที่กระทบเป็นกุศลและอกุศล
กระแสธรรมเครื่องรู้ที่ปรากฏขึ้นตลอดเวลา ถือว่าเราบรรลุเข้าถึง ธัมมานุปัสสนามหาสติปัฐาน กระแสธรรม ธรรมตัวรู้ ธรรมเครื่องรู้ กระแสธรรมที่ครูบาจารย์ ที่เป็นกายทิพย์ กระแสธรรมที่พระพุทธเจ้า กระแสธรรมที่พระอริยสงฆ์ ท่านเมตตาสั่งสอน เมตตาถ่ายทอดจากจิตสู่จิต ปรากฏผุดรู้ขึ้นมาในใจ อารมณ์นี้ถ้าทรงได้ตลอดเวลา แนบตลอดเวลา อารมณ์ผ่องใส เบา วางอารมณ์ใจถูก พิจารณาโดยละเอียด 7 วัน บารมีสูง 7 วันบรรลุธรรม ขั้นกลาง 7 เดือนบรรลุธรรม สภาวธรรมผุดขึ้นมาบ้าง ไม่ผุดขึ้นมาบ้างอารมณ์จิตวูบวาบ กำลังบารมีน้อย แต่มั่นปรากฎขึ้น พิจารณา กำลังปัญญาอาจจะน้อย กว่าจะเข้าใจ หรือกว่าจะขบในธรรมที่ลึกซึ้ง ก็ใช้เวลา 7 ปี บรรลุธรรม
แต่อันที่จริงเมื่อไหร่ที่อารมณ์เข้าถึงสภาวะ ที่แนบ เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดธรรมเครื่องรู้ขุดขึ้นมาในจิต จุดนี้เราควรจะต้องใช้สติ กำหนดพยายามที่จะทรงอารมณ์ความแนบนี้ไว้ โดยที่ระมัดระวัง อย่าให้การปฏิบัติหรืออารมณ์ของเรานั้น มันตึง มันหนักจนเกินไป อย่าไปปฏิบัติเคร่งจนเกินไป ให้เน้นจดจ่ออยู่กับความเบา ความสบายของจิต จำไว้เสมอว่าญาณเครื่องรู้ต่างๆ ความเป็นทิพย์ต่างๆ ตัวรู้ทั้งหลาย จะปรากฏผุดรู้ขึ้นเมื่อใจเราเบา ใจเราสบาย ถ้าเราไปเพ่ง ไปเค้น ไปเคร่งเครียด อารมณ์มันจะค่อยๆ หนัก กลายเป็นอัตถกริยานุโยค หากเราไปเพ่งหรือไปฝึก จนอารมณ์มันหนัก เค้นให้มันขุด ให้มันรู้ มันจะกลายเป็นว่า มันเกิดความอยาก อารมณ์จิตมันไมใช่ทางสายกลาง มันไปอยาก โดยที่มันละเอียดจนเราไม่รู้ทัน
คราวนี้ญาณเครื่องรู้มันก็จะยาน คือยานกลายเป็นเพี้ยน กลายเป็นเผือไปในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องยิ่งระมัดระวังในยามที่มีญาณผุดรู้ และเรารู้ว่าเราเข้าสู่ความแนบของการเจริญวิปัสสนา เรายิ่งฝึกให้เบา หากมันมีความหนักความไม่สบาย มีความตึง เราต้องผ่อนคลาย ต้องปล่อยวาง ต้องพัก แล้วก็ทรงอารมณ์ความเป็นทิพย์ การพักก็คือ พักเข้าสู่ฌานบ้าง หลับในสมาธิบ้าง หลับในความผ่องใส พักอยู่กับความสงบของใจ พักอยู่กับอารมณ์ที่เราเสวยวิมุตติในอารมณ์พระนิพพาน คือทรงอารมณ์พระนิพพานเข้าถึงสภาวะ
นิพพานัง ปะระมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ปล่อยวางจากเรื่องราวทั้งปวง ปล่อยวางจากภาระทั้งปวง เข้าสู่อารมณ์จิต ที่ความรู้สึกของใจเรารู้สึกได้ว่า กิจทั้งหลายจบแล้ว ภาระทั้งหลายสิ้นแล้ว เสวยวิมุตติสุขในอารมณ์พระนิพพาน จนกระทั่งใจเรามีกำลังจากการพักของจิต แล้วจึงค่อยๆ หาเวลาที่เราจะย้อนกลับมาเจริญวิปัสสนาญาณอีกครั้ง
ตอนนี้ก็ให้เราพัก อยู่กับอารมณ์ของพระนิพพาน นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง นิพพานัง ปะระมัง สุขัง ทรงอารมณ์ที่สว่างผ่องใส หมดภาระทั้งปวง จบสิ้นจากกรรมวิบากทั้งปวง วิบากอกุศลทั้งหลาย หรือแม้แต่กรรมฝ่ายกุศลก็ไม่อาจจะดึงดูดให้เราไปเกิด ไม่อาจจะดึงดูดให้เราไปเสวยผลบุญผลกรรมทั้งหลาย จิตเราหลุดพ้นจากสังสารวัฏจิตเราเสวยอารมณ์วิมุตติอยู่จุดเดียวบนพระนิพพาน เมื่อไหร่ที่เราเข้าถึงสภาวะ ที่ดื่มด่ำอยู่กับสภาวะวิมุตติในพระนิพพาน เราก็จะไม่ปรารถนาที่จะไปท่องเที่ยว จะไปภพอื่น ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่อีกต่อไป จิตจะเริ่มจดจ่อตั้งมั่น อยู่กับพระนิพพานเพียงจุดเดียว ความลังเลสงสัยว่า ตายไปแล้ว หรือจะยังไม่นิพพาน ไปอยู่ดาวดึงส์ก่อนบ้าง พรหมโลกก่อนบ้าง ยามาก่อนบ้าง จะไม่มีในจิต อารมณ์จิตจะไม่สนใจละ ภพอื่น ภูมิอื่น จิตจะตั้งมั่นเพียงจุดเดียวคือ จุดสุดท้ายคือพระนิพพานเป็นที่สุด
เราน้อมพิจารณาตรวจสอบในอารมณ์ของเรา ใจเรายินดีในพระนิพพานไหม พอใจเพียงพระนิพพานจุดเดียวไหม อารมณ์จิตเราเด็ดเดี่ยวที่จะเข้าถึง ซึ่งความเป็นพระโสดาบันในชาตินี้ หากอารมณ์จิตของเรา ปรารถนาพระนิพพาน แต่สังโยชน์ทั้ง 3 ประการเบื้องต้น คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส เรายังติด เรายังมีอยู่ ในจุดเล็กๆ น้อยๆ เรายังไม่ตัดสินใจเด็ดขาด ที่จะเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน แต่เราเห็นคุณของพระนิพพาน เราเห็นภัยในสังสารวัฏ จิตเราเกิดนิพพิทาญาณ อารมณ์จิตที่เราเริ่มปรารถนาพระนิพพาน ก็เรียกว่าเราก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโสดาปฏิมรรค เกิดสภาวะที่เรียกว่าดวงตาเห็นธรรม คือเห็นทุกข์ เห็นภัย ในสังสารวัฏ เห็นธรรม คือเห็นพระนิพพาน เห็นคุณของพระนิพพาน อันนี้ก็ถือว่าเริ่มเข้าสู่ เริ่มก้าว เริ่มขยับ เริ่มหยั่งเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า
แต่ถ้าหากเมื่อไหร่ ที่เราก้าวเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน ก็คือตัดสินใจเด็ดขาดที่จะปิดอบายภูมิ รักษาศีล 5 ให้เกิดความละเอียดมั่นคง มีความเคารพพระรัตนตรัย จิตไม่มีความสงสัยในตนเอง ไม่มีความสงสัยในพระนิพพาน ไม่มีความสงสัยในการปฏิบัติ อารมณ์จิตเด็ดเดี่ยวว่าตัด เข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน จิตก็เข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน หากเอาเกณฑ์ของศีล ความเป็นพระโสดาบันนั้น รักษาศีล 5
รักษาศีลเป็นอธิจิตตสิกขา ศีลยิ่งชีพ ศีลด้วยเมตตา ศีลด้วยอารมณ์ใจ ว่าเราไม่ปรารถนาที่จะเป็นผู้เบียดเบียนผู้อื่น ศีลที่มาจากพรหมวิหาร 4 เต็ม ศีลที่มาจากใจที่ปรารถนาปิดอบายภูมิของตน ศีล 5 นั้นบริสุทธิ์ หากเมื่อไหร่ ก้าวเข้าสู่อารมณ์แห่งพระสกิทาคามี ศีล 5 ก็จะละเอียด ยกระดับผนวกควบอยู่กับกุศลกรรมบถ 10 กุศลกรรมบถ 10 ก็คือละเอียดในความคิดในวาจา ในการกระทำซึ่งมันละเอียด ต้องใช้สติในการกำหนดรู้เท่าทัน มากขึ้นกว่าเพียงแค่ ศีล 5
หากเมื่อไหร่อารมณ์ใจเริ่มมีความจืด ความสุขในกามคุณ 5 ลดลง ความรักระหว่างเพศ กามคุณทั้งหลายลดลง ใจเริ่มปลีกวิเวก ปรารถนาที่จะออกจากเรือน ออกจากกามคุณ อารมณ์ก็จะเริ่มก้าวเข้าสู่อารมณ์ของพระอนาคามี
แล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่อารมณ์จิต เกิดปัญญารู้ทัน ตัดทั้งหมดตัดสังโยชน์ครบทั้ง 10 ศีลมีความละเอียดขึ้นไปอีก ใจมีความวาง มีความวางเฉย ในทุกสิ่งเห็นธรรมดาในทุกสิ่งของโลก เห็นความแปรปรวน เห็นความไม่เที่ยง ทุกสิ่งที่มากระทบในอานตยะ เห็นแต่ในสิ่งที่เป็นอนิจจลักษณะ (อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์) ญาณมันเกิดขึ้นตลอดเวลา คือเห็นสิ่งใดก็เห็นความไม่เที่ยง เห็นสิ่งใดก็เห็นความพลัดพลาก เห็นทุกสิ่ง สัมผัสทุกสิ่ง รู้สึกได้ถึงความไม่เที่ยง จิตจดจ่ออยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด ไม่ปรารถนาจุดอื่นอย่างสิ้นเชิง อารมณ์จิตก็เข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ เห็นในความเป็นธรรมดา ธรรมดาของกายขันธ์ 5 ตน เห็นความเป็นธรรมดาในกายขันธ์ 5 คนอื่น เห็นความไม่เที่ยง เห็นอนิจจลักษณะในทุกสรรพสิ่ง ปัญญาเกิดความรู้แจ้ง ความหลง อวิชาทั้งหลายสลายไปจนหมด
เราก็น้อมจิตพิจารณา ว่าในขณะที่เราขึ้นมาบนพระนิพพาน เราฝึกจิตในอารมณ์แห่งอรหันตผล ฝึกในอารมณ์พระนิพพาน อารมณ์จิตเห็นความไม่เที่ยงของโลก ของภพ ของจักรวาล ของสรรพสิ่งทั้งปวง อารมณ์ปรารถนาเพียงพระนิพพานจุดเดียว กำหนดใจของเราสภาวะความเป็นกายพระสุทธิเทพ ยิ่งสว่างยิ่งชัดเจนขึ้น กำหนดว่าจิตเราขณะนี้ ทรงในอารมณ์พระนิพพาน ทรงในอารมณ์พระอรหันต์ กายพระสุทธิเทพยิ่งสว่างผ่องใส ทรงอารมณ์ไว้ ทรงอารมณ์จิตไว้ ถามจิตเราว่า เรายังอยากไปเที่ยวภพอื่น ภูมิอื่นอีกไหม กำลังมโนมยิทธิของเราตอนนี้ อยากไปเที่ยวเมืองบาดาลก็ได้ ไปพบพญานาคก็ได้ ไปเที่ยวป่าหิมพานต์ก็ได้ ไปสุดขอบเขตจักรวาล ไปเที่ยวดาวดวงอื่นก็ได้ เเต่เรายังอยากไปไหม่ หรือเห็นว่าทุกอย่างมันเป็นเพียงแค่ความไม่เที่ยง ความทุกข์ เห็นในความเพลิดเพลินหลงใหลว่าโลกนี้เป็นความเพลิดเพลิน เป็นความสุข ยังอยากเที่ยว ยังอยากเกิด ยังอยากไปสัมผัส หรือเบื่อ เห็นทุกข์ เห็นการเกิดดับ เห็นความไม่เที่ยง จนจิตเราปรารถนาแนบเกาะ มั่นคงอยู่กับพระนิพพานเพียงจุดเดียว เรากำหนดรู้ในจิตของเรา
กำหนดรู้ต่อไปนะ ตอนนี้พระท่านมีพุทธบัญชาให้ทุกสายการปฏิบัติ เร่งรัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฆราวาสให้เข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน เข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้ากันให้เยอะ พุทธบัญชานี้ตรงกันกับ ทุกสายครูบาจารย์ทั้งสายผ้าป่า สายหลวงพ่อฤาษีฯ ทุกสายท่านบอกมาตรงกันหมดนะ ดังนั้นช่วงนี้เราก็ปฏิบัติตามพุทธบัญชา ตามคำสั่งของพระ เร่งรัดการปฏิบัติ คนไหนที่ปฏิบัติแล้วปรารถนาพระนิพพานอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องยั้งตัว มุ่งเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน กำหนดพิจารณาใคร่ครวญว่าเรายังติดขัดตรงไหน นอบน้อม อ่อนโยน ในพระรัตนตรัย ละเอียดยิ่งขึ้นไปกว่านี้ได้มั้ย อารมณ์จิตปล่อยวาง ความห่วงได้มากกว่านี้ได้ไหม อารมณ์จิต ตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะรักษาศีล ตั้งใจว่านับแต่นี้ชีวิต ของข้าพเจ้าตราบเท่าเข้าพระนิพพาน เราจะเป็นผู้ที่ปราศจากความเบียดเบียน เป็นผู้ที่เปี่ยมในพรหมวิหาร 4 อย่างไม่มีประมาณได้ไหม เหลือเพียงแค่ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ว่าวันนี้ นาทีนี้เราจะเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน ตั้งใจ ถ้าตั้งใจแล้วทำ จนสำเร็จ อารมณ์จิตแนบในพระนิพพาน แนบในกุศลความดี ก้าวข้ามเข้าสู่ พ้นจากโคตรภูญาณ ในความเป็นปุถุชน เข้าสู่อริยภูมิ อริยบุคคล เบื้องต้นในพระพุทธศาสนา บุคคลใดที่ตั้งใจเด็ดเดี่ยว ก้าวข้ามเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า เทวดาพรหมทั้งหลาย พระท่านคือ พระพุทธเจ้า คือพระอรหันต์ ท่านก็ล้วนแล้วแต่โมทนาสาธุกาล เพียงก้าวข้าม เพียงตั้งมั่น จิตข้ามเข้าสู่ความเป็นอริยเจ้า ไม่ย้อนกลับคืนมา
กำหนดจิตของเราให้ผ่องใสเด็ดเดี่ยว พรหมวิหาร 4 เต็ม ศีลเต็มอยู่ในจิต ความนอบน้อมความกตัญญูต่อพระรัตนตรัย ความอ่อนโยนความประณีตของจิต รายละเอียดขึ้น เมื่อเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ปัญญาที่ละเอียดในธรรม ในข้อวัตรก็จะมีความละเอียดขึ้นไปอีก กำหนดใจของเรา ทรงภาพพระ อยู่กับพระพุทธเจ้า อยู่กับพระอรหันต์ อยู่กับครูบาอาจารย์ สำหรับคนที่ตั้งใจ ก็อธิษฐานในสภาวะกายพระวิสุทธิเทพนะ จะเด็ดเดี่ยวก้าวข้าม เข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าอย่างมั่นคงไหม เป็นการตัดสินใจ เป็นความมั่นคง เป็นความเด็ดเดี่ยว เป็นบารมีคือกำลังใจของเราเอง เวลาบนโลกมนุษย์มีน้อย เราไม่รู้ว่าเราจะตายเมื่อไหร่ แต่หากเมื่อเราตายในความเป็นพระอริยเจ้า คือก้าวเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าแล้วตาย ยังไงความมั่นคง ในการเข้าถึงพระนิพพานก็มีความมั่นคงมากกว่า ประตูอบายภูมิปิด เวรกรรมทั้งหลายไม่มีผล ยิ่งจิตเรามีความตั้งมั่นมาก ตายปุ๊บ จิตยกเข้าสู่ความเป็นอรหันตผล ตั้งจิตมั่นคงจุดเดียวคือพระนิพพาน
ทรงอารมณ์ไว้ กายทิพย์ กายพระวิสุทธิเทพยิ่งสว่าง กำหนดจิตน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมา ขอกระแสจากพระนิพพาน บารมีของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกพระองค์ แผ่ลงมายังโลก มายังวัดวาอารามสถานปฏิบัติธรรมทุกแห่งทั่วโลก ลงมายังพุทธบริษัท 4 ทั้งหลาย ลงมายังพระพุทธรูป พระธาตุ พระบรมธาตุเจดีย์ พระบรมสารีริกธาตุ พระเครื่อง วัตถุมงคล ผ้ายันต์ ประเจียด ตะกรุด เครื่องรางของขลังทั้งหลาย ขอจงมีกำลังในพุทธานุภาพ กำลังพระพุทธคุณ ขอกระแสธรรม กระแสมรรคผลพระนิพพาน กระแสบารมีทั้ง 30 ทัศ ขอจงหลั่งไหลลงมาสู่ทุกที่ทุกเขตในพระพุทธศาสนา ขอกระแสแห่งสัมมาทิฏฐิ จงหลั่งไหลลงสู่พุทธบริษัท 4 มีทิฐิที่ตรง ที่ตั้งมั่น มีความเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัย กลับจิตกลับใจ ขอขมาพระรัตนตรัยในสิ่งที่ปรามาสพลาดพลั้ง ล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย
เห็นกระแสแสงสว่างแผ่ลงมา เราอยู่บนพระนิพพาน ตอนนี้กำหนดขอบารมีพระ ขอให้เห็นแสงสว่างแห่งจิต ของบุคคลที่ตอนนี้กำลังเร่งรัดบารมี ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความเป็นอริยเจ้า ขอให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นเขตประเทศไทย หรือในต่างประเทศก็ดี ในเขตที่เป็นเขา เป็นป่า เป็นเขาลี้ลับ ในเขตที่เป็นบ้าน เป็นเมือง หรือแม้แต่ในวัดวาอารามสถานปฏิบัติทั้งหลาย ในต่างประเทศหรือในประเทศไทย ขอให้กำหนดรู้เห็นภาพโลกนี้และจุดแสงสว่าง ของดวงจิตที่กำลังยกสภาวะเข้าสู่ความเป็นอริยเจ้า เร่งรัดการปฏิบัติ และเราก็น้อมดูจิตเรา ว่าเราจะเป็นบุคคลเหล่านั้นที่จะเร่งรัดการปฏิบัติ เพื่อเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่
กำหนดน้อมว่า ขอให้อานิสงส์ทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อพระนิพพานสำหรับทุกดวงจิต สำหรับทุกท่าน และขอให้อานิสงส์แห่งการปฏิบัตินี้ รวมเป็นบุญใหญ่ นำพาโลกเข้าสู่ยุคชาววิไล ได้อย่างอัศจรรย์ด้วยเทอญ ขอให้กำลังแห่งการปฏิบัติของข้าพเจ้าทั้งหลาย เกิดกำลังบารมี รัศมีกำลังฤทธิ์ ด้วยกำลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ด้วยกำลังบารมีใหัพระโพธิสัตว์เจ้า จงปรากฏกระแสธรรม น้อมนำให้บุคคลรายรอบ รอบข้างที่อยู่ในวิสัย พลอยรู้ตื่นขึ้นสู่ธรรม เข้าสู่การปฏิบัติ เข้าสู่มรรคผลตามไปด้วย จนเกิดผลในการฟื้นคืนคุณธรรม ศีลธรรม กลับมาสู่โลกใบนี้ได้อย่างอัศจรรย์ เข้าสู่ยุคชาววิไลด้วยเทอญ
คนไหนที่น้อมเห็น ตอนนี้ก็มีหลายท่าน หลายสาย หลายที่ หลายแห่ง ที่ร่วมกันร่วมใจกัน ปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอริยเจ้า อารมณ์ใจเมื่อไหร่ก็ตามที่เราวางถูก ความอยากได้อภิญญา หรืออภิญญาใหญ่ ความอยากได้มโนมยิทธิชัดๆ มโนมยิทธิเต็มกำลังชัดๆ มันจะไม่มีในจิตของเรา ความปรารถนาในการปฏิบัติเพื่อมรรคผลจะมีเพิ่มมากกว่า สูงกว่า หรือแม้แต่กระทั่งวันนี้ในขณะที่ถวายมหาสังฆทาน พระท่านก็ยังสั่งด้วยซ้ำว่านับแต่นี้ เวลาที่ยกสังฆทานจนถึงชุดสุดท้าย สาธุ สาธุ เรียบร้อยแล้วก็ให้ เปล่งวาจากัน พร้อมกันว่า นิพพานะ ปัจจะโย โหตุฯ คือให้กำหนดว่านับแต่นี้ กำลังใจของทุกคนให้เป็นไปเพื่อมรรคผลพระนิพพาน เพื่อการปฏิบัติ เพื่อความเป็นพระอริยเจ้า เป็นสำคัญ ตรงนี้ก็ขอให้เราทุกคนโมทนา นับแต่นี้ จริงๆ ก็ตั้งแต่สังฆทานในชุดที่เราถวายกันในวันนี้ อาจารย์ก็อธิษฐานให้ทุกคนเรียบร้อยแล้ว เราก็ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความดี ตรงนี้ก็ถือว่าเราตอบแทน ความดีของพระพุทธศาสนา อย่างการตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า ต่อให้เราให้พ่อให้แม่นั่งบนบ่าสองข้าง ป้อนอาหาร ให้ขับถ่ายอาบน้ำอยู่บนไหล่ทั้งสองข้าง เป็นเวลาร้อยปี พันปี ก็ยังตอบแทนพระคุณไม่หมด เท่ากับทำให้ท่านได้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน เท่ากับทำให้ท่านเข้าถึงมรรคผลพระนิพพาน
ดังนั้น หากใครที่ทำให้พ่อแม่เข้าถึงทำความดี จริงๆ แล้ว แม้แต่ช่วยพ่อ ช่วยแม่ให้เข้าถึงสวรรค์ เข้าถึงสุคติภูมิได้ ก็ถือว่าตอบแทนพระคุณได้สูงในระดับ ช่วยพ่อแม่ขึ้นมาจากนรก ก็ถือว่าช่วยขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง แต่ช่วย ให้เกิดผลแน่นอนก็คือ ช่วยให้ท่านเข้าถึงมรรคผลนิพพาน
ดังนั้น สิ่งที่เราพาตนเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน เข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้าได้นั้น จริงๆ เป็นบุญที่มันใหญ่ มากกว่าทำทาน มากกว่าสร้างพระพุทธรูปเป็นร้อยๆ องค์ พันองค์ ทำคนหนึ่งคนจากปุถุชนให้เป็นพระอริยเจ้าได้นั่น ก็คือกลายเป็นพระอย่างแท้จริง มีอานิสงส์มากมายมหาศาล ให้เราคิดพิจารณาได้ง่ายๆ ว่า ถ้าบุคคลบุคคลนั้น ไม่เข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ยังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎอีกหมื่น อีกแสนล้านชาติ ไปทำวิบากกรรมเพิ่มไปอีกเท่าไหร่ ต้องเหนื่อย ต้องทุกข์ยากอยู่ในสังสารวัฎอีกเท่าไหร่ พลั้งพลาดหลุดไปจากเขตของพระพุทธศาสนา กว่าจะกลับมาอีกนานเท่าไหร่ จากการที่จิตดวงนั้นเขาพ้นจาก ความเป็นปุถุชนเข้าถึงพระนิพพาน สิ่งที่เป็นกรรมวิบาก ความพยาบาทอาฆาตแค้น ที่เขาจะต้องไปตามจองเวรกับบุคคลทั้งหลายมากมายมหาศาล มันจบมันสิ้นเป็นโมฆะกรรมไป ความทุกข์ ที่ลูกกรรม ลูกหนี้ที่เขาจะไปจองเวร ก็ปลดเปลื้องภาระที่จะต้องถูก แรงพยาบาทอาฆาตนั้นอีก กี่หมื่นกี่แสนดวงจิต
ดังนั้นในภาพรวมมหภาคของสังสารวัฎ การที่มีดวงจิตหนึ่งดวงเข้าถึงพระนิพพานได้นั้น ถือว่าเป็นบุญใหญ่ถือว่าเป็นกุศล ถือว่าก่อให้เกิดโมฆะกรรม มีความเบาบางของกรรมที่ลดลงอย่างมหาศาล พิจารณาจนปัญญาเกิด เห็นภาพรวมใหญ่แห่งสังสารวัฏ เห็นทุกข์ เห็นโทษแห่งสังสารวัฏอย่างชัดเจน
เมื่อเราน้อมกระแสจากพระนิพพานลง ให้เกิดประโยชน์ต่อโลกแล้ว เราก็น้อมจิตกราบลาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ น้อมจิตกราบลาด้วยความเคารพ ตั้งใจว่าเราปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน เพื่อความเป็นพระอริยเจ้า ถึงเวลา อภิญญาก็ดี ความถูกต้องชัดเจน คล่องตัวในมโนมยิทธิก็ดี มหาโภคทรัพย์ สายสมบัติทั้งหลายก็ดี เมื่อเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าแล้ว สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็กลับมาส่งผลกับเราเองเป็นธรรมชาติ เรากำหนดใจเราให้ผ่องใส กราบลาทุกท่าน ทุกๆ พระองค์ มีความปรีดาปราโมทย์ มีความสุข มีความอิ่มเอมในธรรม ในการปฏิบัติ ในปัญญาที่งอกงามในธรรมนี้ ในปัญญาที่เห็นการณ์ไกลในสังสารวัฎนี้
เมื่อกราบลาแล้ว ก็น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาอย่างกายเนื้อ ฟอกชำระล้างธาตุขันธ์ ขันธ์ 5 น้อมกระแสพระนิพพาน ให้กายจิต ละเอียด สว่าง กายเนื้อละเอียด สะอาด สว่างใส โครงกระดูกใสเป็นแก้ว อวัยวะอาการ 32 ใสสว่างเป็นแก้วเป็นเพชร จิตละเอียด สว่าง ราศีแผ่สว่าง จากใบหน้า จากรอยยิ้ม รัศมีกายสว่างผ่องใส
จากนั้นน้อมจิต โมทนาสาธุกับเพื่อนที่ปฏิบัติธรรม เจริญพระกรรมฐานด้วยกัน ทั้งปฏิบัติพร้อมกันและที่มาฟังมาปฏิบัติตามในภายหลัง โมทนาสาธุกับกัลยาณมิตรทุกท่าน ใจเราเบาละเอียด เป็นสุข
จากนั้นหายใจช้า ลึก ละเอียดเบายาว จนเรารู้สึกถึงลมหายใจนั้นเป็นอณูละเอียด
หายใจเข้าพุท ออกโธ ธัมโม สังโฆ
จากนั้นจึงถอนจิตช้าๆ จากสมาธิ สว่าง ยิ้มเป็นสุข เอิบอิ่ม กายจิต อิ่มเอมในบุญ ในกุศล อิ่มเอมในความผ่องใส อิ่มเอมในความเป็นทิพย์ ธรรมาพิสมัย ใจแนบเป็นสุข รักในธรรม รักในการปฏิบัติ บุญส่งผลทานใจ บุญใหญ่ส่งผลให้ก่อน บุญทั้งหลายจงเป็นปัจจัยเพื่อพระนิพพานในที่สุด สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคนด้วยนะครับ ให้จิตเราผ่องใส เป็นไปได้ก็พยายาม ยกจิตเข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า เข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน เพียงตั้งใจเด็ดเดี่ยวให้ทำได้ สำหรับคนไหนที่ตั้งใจก็ขอโมทนากับทุกคน สำหรับวันนี้สวัสดี พบกันใหม่สัปดาห์หน้า เดี๋ยวพรุ่งนี้อาจารย์ก็เดินทางไปทำบุญที่วัดท่าซุง ก็ขอโมทนาน้อมกุศลถึงเราทุกคนด้วย สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
ถอดเสียงและเรียบเรียง โดย คุณ สิริญาณี แลบัว