green and brown plant on water

จิตประภัสสร

เวลาอ่าน : 5 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”  

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม  2565

เรื่อง จิตประภัสสร

 โดย อาจารย์ คณานันท์  ทวีโภค

กำหนดจิตของเราอยู่กับสมาธิ         อยู่กับลมหายใจสบาย ผ่อนคลาย ปล่อยวางความรู้สึกในร่างกายทั้งหมด ฝึกจนกระทั่งทุกครั้งที่เราผ่อนคลายร่างกาย ใจของเรามีความรู้สึกตัดวางขันธ์ 5 ตัดวางร่างกายของเราไปพร้อมกัน ยิ่งผ่อนคลาย ยิ่งปล่อยวาง คำว่าปล่อยวางก็คือ การที่จิตปล่อยวางความห่วง ความรู้สึก ความกังวล ความเกาะเกี่ยว ในร่างกายทั้งหมดออกไป จิตยิ่งเกาะกายมากเท่าไหร่ จิตยิ่งห่วงร่างกายมากเท่าไหร่ ก็คือสภาวะที่จิตเรายึดมั่นถือมั่น ในร่างกายขันธ์ 5 มากขึ้นเท่านั้น ยิ่งยึดมั่นถือมั่นในร่างกายมากเท่าไหร่ จิตเกาะเกี่ยวในร่างกายมากขึ้นเท่าไหร่ ตัวเกาะก็ก่อให้เกิดการเกิด ก่อให้เกิดการเกิดมาเป็นมนุษย์ เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏมากเท่านั้น ยิ่งเกาะยิ่งเกี่ยวยิ่งห่วงยิ่งพะวงในร่างกายมากเท่าไหร่ ระดับความรู้สึกของความทุกข์ อันเนื่องมาจากร่างกายก็มากขึ้นเพียงนั้น ยิ่งฝึก ปล่อยวางจากร่างกายมากเท่าไหร่ ความทุกข์ในการมีขันธ์ 5  ในการมีชีวิตก็ลดลงมากเท่านั้น ยิ่งฝึกผ่อนคลาย และปล่อยวางจากร่างกายมากเท่าไหร่ ระดับความรู้สึกในความเจ็บ คือความทุกข์จากผัสสะอันเกิดจากร่างกายก็ลดลง กว่าบุคคลทั่วไปมากเท่านั้น จำไว้เสมอว่า ร่างกายยิ่งเราไปเกาะ ยิ่งเราไปเพ่ง ความทุกข์ความเจ็บมันยิ่งชัดเจน ยิ่งเราปล่อยวาง ยิ่งเราไม่สนใจ ความรู้สึกนั้นมันก็จะลดน้อยถอยลงไป ตรงจุดนี้ก็จะอธิบายให้เราได้มีความเข้าใจกัน เช่นการฉีดยา เป็นธรรมชาติของการฉีดยานั้น คนทั่วไปเขาจะรู้สึกว่ามีความเกรงกลัวหรือมีความรู้สึกเจ็บ แต่ที่จริงนั้น หากเราคิดให้ดี เข็มมันมีขนาดเพียงเล็กนิดเดียวเท่านั้น จิ้มลงไปเป็นจุดเดียวเท่านั้น เวลาถอนเข็มที่ฉีดยาออก เลือดก็เป็นเพียงแค่จุดขึ้นมาจุดเดียวเท่านั้น เราลองคิดพิจารณาดู เวลาที่เรากำลังจะถูกฉีดยา ตาเราไปจดจ้อง ตาเราไปดู ความรู้สึกมันเกิดการปรุงแต่ง ยิ่งเกาะ ยิ่งเพ่ง ยิ่งสนใจ ยิ่งปรุงแต่ง ความกลัวเกิดขึ้น กลัวเจ็บเกิดขึ้น ปรุงแต่งเกิดขึ้น สมมุติว่าการฉีดยานั้น มันมีระดับความเจ็บอยู่ประมาณแค่ 2 ยิ่งเราเพ่ง ยิ่งเรากลัวมากเท่าไหร่ ความเจ็บปวด ความรู้สึกที่เราปรุงแต่งว่าเจ็บปวดบวกเข้าไป ความเจ็บปวดกลายเป็น 10 แต่ในขณะเดียวกัน หากเราไม่ไปสนใจมัน เอาความสนใจนั้นออกไป ผ่อนคลายปล่อยวางความรู้สึก ไม่ไปดู ไม่ไปสนใจ ถึงเวลาที่ฉีดยาไป ความเจ็บจาก 2 ซึ่งเป็นระดับความเจ็บที่แท้จริง อาจจะเหลือเพียงแค่หนึ่งหรือไม่รู้สึกเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้นอันที่จริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่การปรุงแต่งของใจเรา ยิ่งยึดมั่นถือมั่นมากเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างกาย ความทุกข์ ความเจ็บปวดมันก็ยิ่งเกิดขึ้น มีขนาดมีการขยายขนาดรุนแรงขึ้นเท่านั้น ดังนั้นอันที่จริงหากเรา มีความฉลาด หมั่นสังเกตทำความเข้าใจจุดนี้ ยิ่งผ่อนคลายร่างกาย ยิ่งปล่อยวางร่างกายมากเท่าไหร่ ความทุกข์ อันเนื่องมาจากกายเนื้อ เวทนาจากความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย มันก็จะมีความลดลงไปมากกว่าบุคคลทั่วไป ให้เรา พิจารณากำหนดรู้ ให้ครอบรอบให้ทั่ว เห็นประโยชน์แห่งการปล่อยวางร่างกาย ผ่อนคลายร่างกาย คือปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางความสนใจในร่างกาย ทั่วร่างกายไม่เกร็ง ไม่เพ่ง ปล่อยวาง ผ่อนคลาย จนจิตรวมเข้าสู่ความสงบ ลมหายใจละเอียดเบา นิ่ง หยุด เมื่อจิตนิ่งหยุดจนเป็นเอกัคคตารมณ์ จนเป็นอุเบกขารมณ์ ทรงอารมณ์นั้นไว้ เพื่อให้จิตชินกับอารมณ์ ชินกับการทรงอารมณ์ มีกำลังในการประคับประคองสมาธิให้มีความตั้งมั่น สงบนิ่งหยุด วางอารมณ์จิตให้ผ่องใส ใจสบายๆ ภายในจิตของเรา แย้มยิ้มเบิกบาน ในความนิ่ง ในความหยุด ในความสงบเย็น นิ่ง สงบ เย็นไว้ เมื่อใจเรานิ่งสงบเย็น กำหนดรู้ว่าคือสมถะในอานาปานสติกรรมฐาน หยุดจิต

จากนั้นเรากำหนด ให้จิตของเราจิตภาพกลายเป็นเพชรประภัสสร สว่างระยิบระยับแพรวพราว จิตทรงไว้เป็น ภาพนิมิต เป็นกสิณจิต กลางอกของเรากลายเป็นเพชรประภัสสร คือเพชรที่เจียระไนระยิบระยับละเอียด มีแสงสว่าง มีรัศมีกระจายออกไปโดยรอบ ความรู้สึก อารมณ์จิตของเรามีความสุข ยิ่งจิตเรามีแสงสว่างมากเท่าไหร่ จิตเรายิ่งเป็นสุข กำหนดทรงอารมณ์ความเป็นเพชรชัดเจน รู้สึกเห็นสัมผัสอยู่ในจิตในใจ เพชรประกายพรึกของดวงจิต อยู่ภายในอก ของเรา กำหนดจิต เปล่งประกายแสงสว่างจากจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกนั้น สภาวะที่จิตเป็นเพชรประกายพรึกมีความผ่องใส อันที่จริงก็เป็นหนึ่งเดียวกับจิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร คือจิตแต่เดิมนั้น มีความประภัสสร มีความผ่องใส มีความสุข มีความอิ่มเอมใจ แต่ครั้นถูกกิเลสจรเข้ามาพอก เข้ามาฉาบ เข้ามาทาทับ จนเกิดมลทินเครื่องเศร้าหมอง เป็นเมือก เป็นคราบไคลพอกมาเป็นก้อนดิน เป็นความสกปรก บดบังความผ่องใส ความสุขของเรา สิ่งที่มาพอก มาฉาบ มาทา จิตอันเป็นเพชรประภัสสรให้เศร้าหมองไปนั้น ก็คือความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่มาพอก มาฉาบ มาทา จิตที่ประภัสสรนั่นก็คือ ความคิด การปรุงแต่ง ความกังวลไปในเรื่องต่างๆ เรากำหนด พิจารณารู้เท่าทันในจิตของเรา เมื่อรู้เท่าทันในจิตของเรา ว่าจิตเราเป็นเหมือนกับเพชร

จิตเราเป็นเพชรประภัสสร เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุด มากยิ่งกว่าเปลือกคือกายเนื้อภายนอก มากยิ่งกว่า เปลือกที่เป็นขันธ์ 5 สังขารร่างกาย ที่ว่าหล่อ ที่ว่างาม ที่ว่าสวย จิตอันประภัสสร มีคุณค่ายิ่งกว่าเปลือก ที่เป็นเกียรติยศ ยศศักดิ์ เงินทอง ชาติตระกูล สมมุติต่างๆ จิตอันเป็นประภัสสรนั้น คือจิตที่แท้จริงอันสะสมประกอบไปด้วยบุญความดี ที่เราสะสมบำเพ็ญมาในแต่ละชาติ บารมีทั้ง 30 ทัศทั้งหลาย ก็รวมตัวอยู่ในดวงจิตอันเป็นประภัสสรนี้ ทาน ศีล ภาวนาทั้งหลาย ก็รวมตัวอยู่ในจิตอันเป็นประภัสสรนี้ รัศมีแห่งจิตที่แผ่กระจายออกมา ก็ก่อเกิดขึ้นจากกำลังแห่งบุญ ที่เราสร้าง ที่เราสะสม ที่เราเพาะบ่ม ที่เราบำเพ็ญมา นับอนันต์ เป็นหมื่นเป็นแสนชาติ เป็นกัป เป็นมหากัป สิ่งที่สะสมไปพร้อมกับจิต ในยามที่เราท่องเที่ยวเดินทางไปในสังสารวัฏ เวียนว่ายตายเกิด ข้ามภพข้ามชาติ มากมายมหาศาลนั้น ก็คือบุญกรรม บุญคือความสุข ความอิ่มใจในสิ่งที่เป็นกุศล ยิ่งสะสมบุญมากเท่าไหร่ จิตก็เกิดรัศมี ที่เรียกว่ารัศมีกาย รัศมีจิต ผู้ที่มีบุญมากก็คือสะสมเพาะบ่มบุญบารมีมามาก ในอดีตชาติจนมาถึงปัจจุบัน รัศมีกาย รัศมีของดวงจิต ก็ย่อมมีมากกว่าบุคคลที่บำเพ็ญมาน้อยกว่า มีความประมาทในการสร้างกุศล สร้างบุญ สร้างบารมี  ดังนั้นรัศมีกายของแต่ละบุคคลนั้น ก็มีความแตกต่างกัน รัศมีจากบุญเกิดจากการที่เราให้ทานสะสม ครั้งแล้วครั้งเล่าไป ศีลที่เรารักษาแต่ละครั้ง จนจิตมีความเอิบอิ่มในกุศลแห่งการรักษา  ในการงดเว้น บาปกรรมต่างๆ การเบียดเบียนต่างๆ ส่วนกำลังบุญใหญ่ที่มันเกิดขึ้น เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ จากการฝึก จากการภาวนา จากเจริญจิตสมาธิ จิตสงบ เกิดฌาน เกิดสมาบัติแต่ละครั้ง กำลังบุญก็ก่อเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามากมายมหาศาล ยิ่งกว่าการให้ทาน หรือการรักษาศีล จิตที่ฝึกสมาธิ มีความสงบ เกิดแสงสว่างเป็นโอภาส คือแสงสว่างวาบขึ้นมาให้เห็น สว่างเรืองขึ้นมาให้เห็น แสงสว่างที่ปรากฏที่เรียกว่าโอภาสนั้น

อันที่จริงก็เกิดจากแสงของจิต แสงของบุญกุศล ก่อให้เกิดเป็นโอภาส ยิ่งจิตของเรากำหนด จนเกิดเป็นแสงที่เป็นฉัพพรรณรังสี คือสว่างแพรวพราวระยิบระยับ มีรุ้ง มีความเป็นประกาย พรึกได้ ทรงอารมณ์อยู่ในฌาน 4 ในกสิณ กำลังของบุญที่สะสมเพาะบ่มลงในจิต ก็มีเพิ่มพูนเพิ่มขึ้นอย่าง มากมายมหาศาล ยิ่งกว่าการเกิดโอภาสคือแสงสว่างวูบวาบไปมา ยิ่งจิตของเราทรงอารมณ์จากที่มีรัศมีแสง ประกายพรึก แต่ยกขึ้นสู่การเจริญพรหมวิหาร 4 แผ่เมตตาออกไปในทิศ ทุกทิศอย่างไม่มีประมาณ แผ่เมตตาออกไป ในทุกภพทุกภูมิ ที่เรียกว่าเมตตาอัปมาณฌาน จิตยกระดับภูมิจิตของเราขึ้น ตัดอคติทั้งปวง ตัดความอาฆาต พยาบาทจองเวรทั้งปวง ตัดความคิดแบ่งแยกเราเขา คิดพิจารณาเพียงแต่ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลาย ล้วนแต่เป็น เพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมด ตัดมานะทิ้งออกไป ไม่มีความรู้สึกว่า เราดีกว่า ด้อยกว่า รู้สึกว่าเสมอกัน ไปหมด มานะก็ถูกตัด อคติก็ถูกตัด อภัยทานก็เกิดขึ้น อโหสิกรรมก็เกิดขึ้น  เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่จิตมันยัง มีความรู้สึกว่าฉันจะไม่ให้ ฉันจะไม่ให้บุญคนนั้น ไม่ให้บุญคนนี้ คนนี้ฉันไม่ชอบฉันไม่แผ่เมตตา ผู้ที่แผ่เมตตาอัปมาณฌาน จะไม่มีกำลังตรงนี้ จะไม่มีความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งไปตรงนี้ รู้สึกเพียงแต่ว่าแผ่เมตตาให้กับทุกดวงจิต ไม่เลือกที่รัก ไม่มักที่ชัง นั่นก็คือจิตให้อภัยทานต่อบุคคลที่เราอาจจะเคยโกรธ เคยเกลียด บุคคลที่อาจจะเคยกระทำไม่ดีต่อเรา ไม่เช่นนั้นจิตก็ไม่สามารถแผ่ออกไปอย่างไม่มีประมาณได้ แสงสว่างแห่งการแผ่เมตตาอันไม่มีประมาณนั้น จึงมีกำลัง มากกว่า การแผ่เมตตาเพียงน้อยๆเพียงปรกติหรือแผ่เมตตาแบบท่องไป ขอไปที แต่กระแสไม่ปรากฏ ไม่แผ่ออกจากจิตของเรา

เมื่อพิจารณาดูแล้ว บุคคลที่เจริญเมตตาได้อย่างยอดเยี่ยม ได้อย่างมีความรู้สึกละเอียดปราณีต ดื่มดำในจิต จนจิตเราเป็นสุขจากการให้ จากการแผ่เมตตา จากส่วนลึกที่สุดของใจเราอย่างแท้จริง รัศมีแสงสว่างของจิตเรา สามารถ แผ่ออกไปอย่างไม่มีอาณาเขต นั่นก็แปลว่า รัศมีจิตของเรานั้น รัศมีกายของเรานั้น ก็แผ่ออกไปได้อย่าง ไม่มีอาณาเขตด้วยเช่นกัน ซึ่งปกติในเรื่องของโลกทิพย์ ในภพภูมิของผู้ที่อยู่ในกายทิพย์ ไม่มีกายเนื้อ ไม่มีกายหยาบ ไม่มีขันธ์ 5 ดวงจิต อทิสมานกายของท่านใด มีแสงสว่างหรือรัศมีกาย มีความสว่างมาก ก็แปลว่าเป็นจิต เป็นกายทิพย์ อันมีบุญ มีบารมีมาก ถ้าไม่มีบุญ ไม่มีบารมีมาก ไม่สามารถที่จะแผ่กระแส ไม่สามารถที่จะเปล่งประกายแสงสว่างออกไปได้ ดังนั้นยิ่งปฏิบัติ ยิ่งเจริญเมตตาฌาน ด้วยอารมณ์ที่มันละเอียดลึกซึ้งเป็นสุข เข้าถึงอารมณ์สูงสุดมากเท่าไหร่ นั่นก็แปลว่า กายทิพย์ของเรานั้น ยิ่งมีกำลังมากขึ้น รัศมีกาย อทิสมานกายเราก็มีกำลังมากขึ้นเพียงนั้น เมื่ออทิสมานกายเรามีกำลังมากขึ้น สะสม ทำบ่อยขึ้น นานขึ้น วสีความชำนาญก่อเกิด

การเข้าถึงอารมณ์แนบแน่น ตั้งมั่น ในจิตของเราเป็นปกติ จิตก็เกิดการพัฒนายกระดับขึ้น เพราะอย่าลืมว่าพรหมวิหาร 4 นั้นมีอานิสงส์สูงในการปฏิบัติ ในการเจริญพระกรรมฐาน พรหมวิหาร 4 เป็นเครื่องเลี้ยงศีลให้อ้วน คือเลี้ยงให้ศีลนั้น เป็นศีลของพระอริยเจ้า เมื่อไหร่ที่ เรามีพรหมวิหาร 4 เรามีเมตตาอย่างไม่มีประมาณ เมื่อเรารัก เมื่อเราเมตตาใครแล้ว เราก็ไม่มีจิตคิดจะไปทำร้าย ไม่มีจิตคิดจะไปเบียดเบียนเขา มีแต่ความรัก มีแต่ความปรารถนาดีให้เขาเป็นสุข มีแต่ความรักความปรารถนาดีให้เขา พ้นทุกข์ เมื่อเราไม่เบียดเบียนผู้อื่น ศีล 5 ของเราก็บริสุทธิ์ ศีลก็เป็นไปโดยเนื้อของจิต เมื่อพื้นของจิตเรามีพรหมวิหาร 4 เต็มครบถ้วน ความเร่าร้อนของใจไม่มี ความสงบความตั้งมั่นของจิต เกิดขึ้นเป็นปกติ ฌานสมาบัติก็มีความตั้งมั่น ให้เราสังเกตดูว่า เมื่อไหร่เราทรงอารมณ์สมาธินิ่งๆแห้งๆ เราจะไม่สามารถทรงอารมณ์สมาธิได้นาน เพราะไม่มีอาหาร ของจิต ไม่มีธรรมารมณ์คือความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ ไม่มีธรรมารมณ์ที่เป็นความสุข หล่อเลี้ยงฌานสมาบัติ แต่เมื่อไหร่ก็ตาม เราทรงอารมณ์สมาธิ มีความอิ่มใจ มีความผ่องใส ใจเรามีความยิ้ม มีความสุขอยู่ภายใน สมาธินั้น ก็จะแนบแน่นตั้งมั่น ทรงอารมณ์ได้นาน

ดังนั้นอารมณ์เมตตา อารมณ์ที่เป็นสุขจากการให้การแผ่เมตตานั้น เป็นอาหาร หล่อเลี้ยงฌานสมาบัติให้ตั้งมั่น เมื่อฌานสมาบัตินั้นตั้งมั่น พื้นจิต มีความบริสุทธิ์ ศีลปรากฏขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น อภัยทานปรากฏขึ้น โทสะ โมหะทั้งหลายไม่มี การพิจารณาธรรมต่อไป ในมรรคผลพระนิพพานก็เป็นเรื่องไม่ยาก เพราะ อย่าลืมว่าการที่เราเจริญเมตตาอันไม่มีประมาณในทุกภพ ทุกภูมิ นั่นแปลว่าสัมมาทิฐิ ในการพิจารณาเห็นทุกข์ใน สังสารวัฏ มันมีถึงพร้อมในจิตของเราอยู่แล้ว เห็นว่าภพของเทวดาเป็นทุกข์ เห็นว่าภพของเทวดานั้น ก็มีวันหมดอายุ ยังปรารถนาความสุข ยังโมทนาบุญ ยังปรารถนาบุญกุศล มาต่ออายุความเป็นทิพย์ในภพแห่งตน เราแผ่เมตตาไป ยังสรรพสัตว์ เพราะเห็นว่าเขาทุกข์ ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ แผ่เมตตาไปยังทุคติภูมิอันได้แก่สัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรกทั้งหลาย เพราะเห็นว่าเขาทุกข์ รวมความว่าเมื่อไหร่แผ่เมตตาไปในทิศไม่มีประมาณ เราแผ่เพราะ ปรารถนาให้เขาพ้นจากความทุกข์ เพราะเราเห็นทุกข์ ว่าทุกภพนั้นเป็นทุกข์อยู่แล้ว เราพิจารณาตามอีกเพียงนิด เดียวว่า เหตุนี้เราจึงแผ่เมตตา ปรารถนาให้เขาพ้นจากความทุกข์ รวมถึงแผ่เมตตาปรารถนาให้ตัวเราพ้นจากความทุกข์ ในจุดสำคัญที่สุดคือทุกข์แห่งสังสารวัฏ พ้นจากภัยจากวัฏสงสาร นั่นก็คือปรารถนาให้จิตตนนั้น ยกขึ้นสู่พระนิพพาน ได้ในที่สุด

เมื่อเราเข้าใจลึกซึ้งพิจารณาเห็น พิจารณาโดยแยบคายดีแล้ว เราก็ตั้งจิต น้อมรำลึกถึงองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระพุทธเมตตาอันไม่มีประมาณ เมตตาที่พระองค์ทรงมีต่อมวลหมู่เวไนยสัตว์ นั้น มีมากมายมหาศาลเหลือคณานับ ขอให้เราน้อมจิตหยั่งลง ซาบซึ้ง เข้าถึงกระแสแห่งพระพุทธเมตตาแห่ง พระพุทธองค์ด้วยเถิด ไม่เช่นนั้นพระองค์ก็คงจะไม่ทรงบำเพ็ญบารมีทั้ง 30 ทัศ 4 อสงไขยกำไรแสนกัป ในการรื้อขน มวลสรรพสัตว์ให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ไม่ต้องมาเหนื่อย มายาก มาขุด มาเข็น มาดึง มาลาก รื้อขน สรรพสัตว์ใดเป็นบัวเหล่าที่ 4 มีบุญบารมีถึงพร้อม ก็ว่าง่าย สอนง่าย บรรลุธรรมง่าย บุคคลที่เป็นบัวเหล่าที่ 2 บัวเหล่าที่ 3 ที่ใกล้บรรลุธรรมแล้ว สะกิดเพียงเล็กน้อย ดึงอธิบายให้เข้าใจชัดแจ้งอีกหน่อย ก็มีดวงตาเห็นธรรม เข้าถึงธรรม ได้โดยง่าย บัวเหล่าต่อมาที่อยู่ลึกลงไป ก็ต้องฉุดกระชากลากถูกัน ต้องดึง ต้องช่วย ต้องยื้อ ต้องยุด ต้องเหนื่อย ต้องยาก ในการที่จะช่วยเขาให้พ้นจากภัยของสังสารวัฏ จนกระทั่งถึงบัวเหล่าสุดท้าย ส่วนบัวเหล่าสุดท้ายนั้น พระพุทธองค์ก็ยัง ทรงอุเบกขาว่า ปล่อยให้เป็นอาหารของเต่า ปลา ปล่อยให้นรกเป็นเครื่องสอน เป็นบุคคลที่ไม่อาจสามารถสอนได้ ว่ากล่าวได้ เป็นมิจฉาทิฐิเต็มอัตรา ซึ่งปัจจุบันบุคคลประเภทนี้ ได้ขึ้นมาเกิดบนโลกมนุษย์ ได้ขึ้นมาเกิดบน แผ่นดินเป็นจำนวนมาก เราก็จงกำหนดรู้ จงอุเบกขา พึ่งช่วย พึ่งอยู่ในหมู่ของสาธุชน อยู่ในหมู่ของกัลยาณชน

ยุคนี้เริ่มเข้าสู่ยุค ที่เป็นยุคแห่งการคัดกรอง กวาดล้างก่อน เข้าสู่ยุคแห่งชาววิไล เราจะเห็นได้ว่าบุคคล ที่เป็นพาลชน บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฐิ ก็จะแสดงตัวออก ปรากฏตัวออก แสดงพฤติกรรมออกให้เห็น บุคคลที่เป็น กัลยาณชน จิตประกอบชอบด้วยบุญ ชอบด้วยกุศล ก็จะมีความตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อยู่ในธรรม อยู่ในความดี ดังนั้นตัวเราก็จงตระหนักรู้ไว้ ว่าเราปรารถนาในความดี ปรารถนาในกุศล ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระพุทธองค์ว่า ขอให้ข้าพเจ้า จงอยู่ท่ามกลางหมู่กัลยาณมิตร กัลยาณชน อยู่กับผู้ใฝ่ธรรม อยู่กับผู้ที่เป็นสัมมาทิฐิ บุคคลที่เป็นพาลชน บุคคลที่เป็นมิจฉาทิฐิ บุคคลที่เป็นคนพาล ที่จะนำไปสู่อกุศล ดึงเราลงต่ำ ก็ขอให้แคล้วคลาด พลัดพราก ห่างหาย ออกไปจากชีวิตของเรา ดึงดูดมาแต่ผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร ผู้ที่ใฝ่ในบุญ ในกุศล  ครูบาอาจารย์ก็ขอให้พบเจอ แต่ครูบาอาจารย์ที่เป็นสัมมาทิฐิ ครูบาอาจารย์ที่มีบุญ มีบารมีเกี่ยวเนื่อง เกี่ยวพันกับเรา สามารถแนะนำถ่ายทอด สั่งสอนให้ตัวเราเข้าถึงธรรม เข้าถึงศีล เข้าถึงฌานสมาบัติ เข้าถึงอภิญญาสมาบัติ ตราบจนเข้าถึงซึ่งมรรคผล พระนิพพานได้โดยง่าย โดยพลัน

เมื่อเราตั้งจิตไว้แล้ว ก็กำหนดรำลึกถึงพระพุทธองค์ น้อมอาราธนาบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ขอให้จิตอันเป็นประภัสสรของข้าพเจ้า จงพุ่งขึ้นสู่พระนิพพาน และปรากฏแสงสว่างแห่งจิตนั้น จงปรากฏรูปกาย จากดวงจิตดวงแก้ว ประภัสสรจงก่อรูปขึ้น เป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพ กายแห่งพระวิสุทธิเทพนั้น จงเป็นเพชร สว่างระยิบระยับ จิตอันประภัสสรเป็นเพชรระยิบระยับชัดเจนคมเพียงใด ขอให้กายพระวิสุทธิเทพนั้น จงเป็นเพชร ใสละเอียดลึกสว่างแพรวพราวชัดเจน มีรัศมีจิตสว่างไกลออกไปมากเพียงนั้นด้วยเถิด เมื่อยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน แล้ว ก็น้อมกราบพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ อธิษฐานให้เราอยู่ห้อมล้อมท่ามกลางพระพุทธองค์ สมเด็จองค์ปฐม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระสาวกของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทั้งหลาย ขอจงปรากฏทั้งหมด กำหนดจิตของเราแยกอทิสมานกายน้อมกราบทุกท่าน จิตมีความเคารพนอบน้อม จิตรู้สึกว่าเราเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับพระนิพพาน จากนั้นกำหนดขอให้      อาทิสมานกายของเรา อยู่ในสภาวะขัดสมาธิ อยู่บนรัตนบัลลังก์ดอกบัวแก้ว บานรองเป็นอาสนะ กำหนดอยู่ใน ท่าเจริญสมาธิ ประสานมือไว้ที่หน้าตักทั้งสองข้าง รัศมีของกายพระวิสุทธิเทพเราสว่างอย่างยิ่ง กำหนดจิตทรงอารมณ์ พระนิพพาน ทบทวนอารมณ์ว่าจิตเราขึ้นมาบนพระนิพพาน เราตัดห่วงในร่างกาย เราตัดห่วงความปรารถนา ความเกี่ยวพัน ในบุคคลทั้งหลาย จิตเราตัดความห่วงในภพภูมิทั้งปวง ตัดภพจบชาติทั้งหลาย ไม่ปรารถนาซึ่งการเกิด ไม่ปรารถนา ซึ่งการเวียนว่ายตายเกิดทั้งปวง ห่วงทั้งหลายอันเป็นภาระ คนรัก พ่อแม่ ลูก สามีภรรยา สินทรัพย์ ทรัพย์สิน สมบัติทั้งปวง จิตเราตัดออกไปจากความห่วง เหลือเพียงความว่าง ความเบาของจิต วางทุกสิ่งทุกอย่างออกไปจากใจของเรา จิตตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพานเพียงจุดเดียว ทรงอารมณ์ของเราให้สว่างผ่องใส เข้าสู่อารมณ์ของพระนิพพาน   

ภาวนา นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

ยิ่งอารมณ์จิตเป็นสุขมากเท่าไหร่ กายพระวิสุทธิเทพ ของเรายิ่งสว่าง แผ่รัศมีออกไปมากขึ้นเพียงนั้น ทรงอารมณ์แห่งพระนิพพานพร้อมบริกรรมไว้ ตั้งจิตว่า ตายเมื่อไหร่ ข้าพเจ้าขอเข้าถึงซึ่งพระนิพพานชาตินี้อย่างง่ายดาย ทรงอารมณ์พระนิพพาน เจริญไว้ กำหนดว่าเรา ฝึกสมาธิอยู่บนพระนิพพาน  น้อมใจว่าในขณะที่เราภาวนา เรากำหนดความรู้สึก จิตเป็นสุขอย่างที่สุด เอิบอิ่มสว่างอย่างที่สุด จิตเบาละเอียดอย่างที่สุด  กำหนดน้อม ขออาราธนาบารมีพระ ให้สภาวะพระนิพพานสว่างกระจ่างแจ้งชัดเจน สามารถรู้สึกสัมผัสด้วยความเป็นทิพย์  ไกลไปสุดลูกหูลูกตา เห็นวิมานของทุกท่าน ทุกพระองค์สว่างไกลออกไป ใจเรา ยิ่งเป็นสุข ใจเรายิ่งผ่องใส จิตเรายิ่งซาบซึ้งรู้สึกได้ว่า เราเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับบนพระนิพพานนี้ เป็นหนึ่งเดียวอยู่กับ ทุกท่าน บนพระนิพพาน จิตเกิดธรรมฉันทะพึงพอใจในพระนิพพาน

อารมณ์พระนิพพานผ่องใส เบา ละเอียด ความสว่าง ความชัดเจน ความแพรวพราวบนพระนิพพาน กระจ่างชัดอย่างยิ่ง กำหนดพิจารณา ทบทวนในการตัดสังโยชน์ทั้ง 10 ประการ จิตตัดวางความห่วงในร่างกายทั้งหมด ขันธ์ 5 ร่างกายที่เป็นกายเนื้อ จิตเราเกิดปัญญาเห็นจริง ว่ามีความเสื่อม มีความแก่ มีความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบาย และมีความตายไปในที่สุด เมื่อตายแล้วสภาพสังขารนี้ ก็เน่าเปื่อยผุพัง กลายเป็นอสุภะ คือมีความไม่น่าดูน่าชม  เน่าเปื่อยผุพัง จนกลายเป็นโครงกระดูก จนกลายเป็นผงธุลี สลายกลายเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ จิตเราเห็นจริง ยอมรับตามความเป็นจริง จิตไม่ห่วง ไม่เกาะ  ไม่ยึดในขันธ์ 5 ร่างกาย พิจารณาต่อไปว่า เราไม่สงสัย ในการปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน  ยิ่งการที่เรา ฝึกมโนมยิทธิ ยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพานได้แล้ว ความสงสัยว่าพระนิพพานมีจริงไม่มีจริง ไม่มีในจิตของเรา ความ สงสัยว่าชาตินี้ จะมานิพพานได้หรือไม่ได้ ไม่มีในจิตเรา เพราะเรามีความเพียรในการปฏิบัติ ในการยกจิตขึ้นมาทุกวัน ทำเหตุอันคู่ควรกับผลแห่งการได้ การเข้าถึง ฝึกทุกวัน มาทุกวัน ยกจิตขึ้นมาทุกวัน

พิจารณาตัด ทรงไว้ในอารมณ์ พระนิพพานทุกวัน ตัดร่างกาย ตัดสังโยชน์ทุกวัน ตัดภพจบชาติทุกวัน เราทำเหตุอันควรกับผล  คือพระนิพพาน ชาตินี้แล้ว ความสงสัยไม่มีในจิตของเราอีก พิจารณาตัดกามฉันทะ ความสุขในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้งหลาย ทั้งอันเนื่องด้วยกายเนื้อ และผัสสะอันเป็นทิพย์ ปล่อยวางความสุข ที่เจือด้วยอามิส คือต้องมีวัตถุ ต้องมีความเป็นทิพย์ ต้องมีของหยาบมาตอบสนอง หากไม่มีวัตถุ ไม่มีสิ่งที่มาปรนเปรอ ในการกระทบทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความสุขก็ไม่เกิดขึ้น นั่นก็คือต้องมีอามิส ต้องมีวัตถุ ต้องมีความเป็นทิพย์ ต้องมีสิ่งของ ต้องมีเงื่อนไข ถ้าไม่มีเงื่อนไข ก็ไม่มีความสุข ถ้าไม่ได้รับความเป็นทิพย์ ไม่มีทิพยสมบัติ ก็ไม่มีความสุข ไม่มีเงิน ไม่มีทรัพย์สินในทางโลกวัตถุ ก็ไม่มีความสุข อันนี้ก็คือความสุขที่เรียกว่าต้องมีอามิส แต่ความสุขที่ไม่ต้องมีอามิส ก็คือความสุขจากความสงบของจิต ความสุขจากการเจริญเมตตาพรหมวิหาร ความสุขจากความสงบของฌานสมาบัติ ที่สงบระงับจากนิวรณ์ 5 ความสุข ที่สูงที่สุดก็คือ ความสุขจากสภาวะอารมณ์ใจที่ดับเชื้อไม่เหลือเศษแห่งความโลภ โกรธ หลง ในจิต จิตเสวยวิมุตติสุข คืออารมณ์แห่งพระนิพพาน

เรากำลังเสวยความสุขอันปราณีตอยู่ ในอารมณ์แห่งพระนิพพานนั้น หากเรายกจิตขึ้น มาบนพระนิพพานแล้ว จิตไม่เข้าถึงความสุข นั่นก็แปลว่าอารมณ์ใจเรายังวางไว้ยังไม่ละเอียด ยังไม่ลึกซึ้ง ยังไม่เข้าถึง อารมณ์พระนิพพานอย่างแท้จริง เพราะพระพุทธวจนะที่พระพุทธองค์ทรงอุทานไว้ว่า ทรงตรัส นิพพานัง ปรมังสุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หากอารมณ์ใจเราเข้าไม่ถึงปรมัตถสุขนี้ จิตเราก็ยังวางไว้ ยังไม่ถูกที่ น้อมใจของเราให้ เป็นสุขที่สุด สว่างที่สุด ผ่องใสที่สุด ทรงอารมณ์ให้ผ่องใสสว่าง โดยไม่ต้องอาศัยทิพยสมบัติใด โดยไม่ต้องอาศัย วัตถุธาตุใดๆ ให้เป็นความสุข สุขจากอารมณ์ที่เราทรงไว้บนพระนิพพาน สุขจากอารมณ์จิตที่พ้นจาก ว่างจาก ความโลภ  ความโกรธ ความหลง อย่างสิ้นเชิง จิตเป็นสุขอย่างยิ่ง ทรงอารมณ์นี้ให้ได้เป็นปกติ

จากนั้นพิจารณาตัดสังโยชน์ต่อไป และอารมณ์ใจเราก็ตัด ความอาฆาตพยาบาทการจองเวรทั้งปวง กิเลสสลาย โทสะ ที่ทำให้เราไปจองเวร ตามเกิดตามผูกเวรเป็นเจ้ากรรมนายเวร ไม่มีในจิตเราอีกต่อไป ใครเคยทำอะไรไว้ ก็ปล่อย เขา เราให้อภัยทั้งหมด เพราะเราจะไปพระนิพพาน ไม่เป็นเจ้ากรรมนายเวรใคร ไม่อาฆาตมาดร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร ใจเรายิ่งสูงขึ้น กำลังบุญ กำลังมหาสะท้อนเกิดขึ้น จิตผู้ใดนั้นเป็นผู้ที่ปราศจากเวรภัย จิตดวงใดเป็นดวงจิต อันปราศจาก การก่อเวร จิตดวงใดอันปราศจากความอาฆาตมาดร้ายพยาบาทจองเวรทั้งปวง จิตอันบริสุทธิ์เช่นนี้ บุคคลใดที่คิด ทำร้าย กระแสแรงสะท้อนของกรรม ที่ไปพึ่งประทุษร้ายต่อบุคคลที่ไม่ประทุษร้ายต่อบุคคลอื่น ก็จะเกิด กำลังหรือแรง แห่งมหาสะท้อนปรากฏขึ้น เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ เป็นกฏของกรรม Action Reaction ดวงจิตของบุคคล นั้นไม่ได้คิดร้าย คิดเอาคืนหรือคิดว่าจะสะท้อนใส่บุคคลใดที่คิดร้ายต่อตน แต่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ผู้ประทุษร้าย ต่อบุคคลผู้ไม่ประทุษร้ายผู้อื่น แรงสะท้อนนั้นก็ย่อมปรากฏ ย่อมมีความรุนแรง มากกว่า บุคคลที่ยังมีความโกรธ มีความอาฆาต มีความพยาบาทอยู่

เมื่อพิจารณาจนจิตตัดความอาฆาตพยาบาท ตัดสังโยชน์ ไปครบ 5 ข้อแล้ว ก็พิจารณาต่อไป ตัดความพึงพอใจ ความหลงในความสุขของรูปสมาบัติ อารมณ์เป็นสุข ในฌานสมาธิที่เป็นรูปฌาน ตัดความหลงในความสุขของอรูปสมาบัติ คือความสุขจากสมาธิในอรูปฌานนั้น ตัดความหลง เข้าใจว่าความว่างคือ พระนิพพาน จิตของเราตัดสังโยชน์ต่อไป พิจารณาตัดความฟุ้งซ่านทั้งปวง ความวุ่นวาย การปรุงแต่งทั้งปวง จิตตั้งมั่น รู้ เห็นทุกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่งเกิน พิจารณาทุกอย่าง ด้วยอุเบกขารมณ์ ความฟุ้งซ่าน ความเวิ่นเว้อ การปรุงแต่ง ความทุกข์ ความกังวล สลายตัวลง เบาตัวลง ออกไปจากจิตของเรา พิจารณาต่อไป ตัดมานะ ความถือตัวถือตน ความรู้สึกว่าเราเหนือกว่าผู้อื่น ความรู้สึกว่า เราด้อยกว่าผู้อื่น ความรู้สึกว่าเราเป็นผู้ที่ไม่มีบุญ ไม่มีบารมี เราทำไม่ได้ อารมณ์จิตทั้งหลายเหล่านี้ ถือว่าเป็นมานะทิฐิทั้งหมด สลายทิ้งออกไปให้หมด พิจารณา เพียงแต่ว่า ทุกดวงจิตนั้น อันที่จริงแล้ว ก็มีความเสมอเหมือนเดียวกัน คือล้วนแต่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ต้องเวียนว่าย เวียนเกิด เวียนตายในสังสารวัฏเหมือนกัน ไม่ต่างกัน และในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ที่มีบุญมาก บุญน้อย เมื่อปฏิบัติจนถึงจุดที่เข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน ทุกดวงจิตนั้นก็เข้าถึงซึ่งพระนิพพานเสมอกัน

คำว่าเสมอกันนั้นก็คือทุกคน ได้ถึงพระนิพพาน ไม่ว่าจะบำเพ็ญบารมี พระพุทธองค์ จะเป็นพระพุทธองค์ที่บำเพ็ญบารมีวิริยาธิกะก็ดี ศรัทธาธิกะก็ดี ปัญญาธิกะก็ดี จะเป็นท่านที่บำเพ็ญบารมีในความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี บำเพ็ญบารมีในความเป็นสาวกภูมิก็ดี เป็นพระอสีติมหาสาวกก็ดี พระอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวาก็ดี ความเสมอ เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือ ทุกท่านถ้วนล้วนแต่เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ดังนั้นใจของเรา เมื่อตั้งใจเข้าสู่พระนิพพานแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ปราศจากสภาวะแห่งการเปรียบเทียบทั้งปวง มีแต่สภาวะความเป็นหนึ่ง หนึ่งเดียวคือเอกภาวะ หนึ่งเดียวกับพระนิพพาน จิตของเราเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด

กำหนดพิจารณา ตัดมานะทั้งปวง ตัดอวิชชาทั้งปวง ความโง่ ความหลง ที่ทำให้เราหลงเกิด หลงตาย เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ เราทิ้งไปให้หมด กำหนดรู้อย่างเดียวคือ จุดเดียวที่เราปรารถนาก็คือพระนิพพานเป็นที่สุด ทรงอารมณ์พระนิพพานให้สว่างผ่องใสไว้ กำหนดในความเป็นกายพระวิสุทฺธิเทพ สว่างผ่องใสอย่างที่สุด เป็นสุขในอารมณ์แห่งวิมุต อารมณ์วิมุตก็คือสภาวะที่ จิตเสวยความสุขแห่งอารมณ์ ที่ว่างจากความโลภ ความโกรธ ความหลงทั้งปวง เสวยอารมณ์ วิมุตแห่งอารมณ์ พระนิพพาน เมื่อขึ้น ยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน ไม่ใช่ขึ้นมาเฉยๆ จงกำหนดจิตทรงอารมณ์สูงสุด เสวยวิมุตติสุข บนพระนิพพานไว้ ยิ่งเสวยวิมุตติสุขบนพระนิพพานนานเท่าไหร่ กายทิพย์ของเราก็มีความเอิบอิ่ม มีกำลัง มีกระแส แห่งพระนิพพานฝังอยู่ในจิต

ยิ่งทรงอารมณ์จนเกิดความชิน จนเกิดธรรมฉันทะความพึงพอใจมากเท่าไหร่ ความตั้งมั่น ในพระนิพพานก็ยิ่งก่อเกิดมากขึ้น จนกระทั่งการปฏิบัติเพื่อพระนิพพานนั้น เป็นเรื่องง่ายไม่เป็นเรื่องยากเกินวิสัย เข้าถึงอารมณ์อย่างละเอียดปราณีตอย่างถึงที่สุด หากบุคคลใดเป็นผู้ที่ชอบสวดมนต์ ก็ยกจิตทรงอารมณ์เสวย วิมุตติสุข บนพระนิพพาน แล้วก็จึงสวดมนต์ออกไป แผ่สว่างกระแสแห่งการสวดออกไป จากพระนิพพาน จะเป็นคาถาเงินล้านก็ดี จะเป็นคาถาบทพระจักรพรรดิก็ดี จะเป็นคาถาบทใดก็ตาม บทสวดมนต์ใดก็ตาม ทรงอารมณ์สูงสุด และสวดจากบน พระนิพพาน กำลังจิต กำลังสมาธิ กำลังบุญ กำลังบารมี ก็จะเกิดการรวมตัวเกิดผลสูงสุด กำหนดใจของเรา เป็นสุขเสวยวิมุตติสุขบนพระนิพพานไว้ สว่างผ่องใสอย่างยิ่ง อทิสมานกายสว่างละเอียดระยิบระยับ เครื่องทรงทุกอย่าง แพรวพราวละเอียดส่องสว่าง กำหนดทรงอารมณ์ไว้  

จากนั้นเราจึงกำหนดจิต น้อมกระแส เชื่อมกระแสจากพระนิพพาน กระแสจากพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์บนพระนิพพาน เป็นกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์ น้อมแผ่ผนวกกับ กำลังแห่งพระพุทธเมตตาของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ กำลังเมตตาแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ กำลังเมตตา แห่งพระอรหันตเจ้าทุกๆพระองค์

  • แผ่เมตตาลงไปยังอรูปพรหมทั้ง 4 ชั้น
  • แผ่เมตตากระแสบุญ กระแสจากพระนิพพาน ลงไปยังพรหมโลกทั้ง 16 ชั้น มีท่านท้าวสหัมบดีพรหม เป็นประธาน
  • แผ่เมตตาลงไปยังสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น
  • แผ่เมตตาลงไปยังภพของรุกขเทวดาทั้งปวง ภุมมเทวดาทั้งปวง เทวดารักษาเขต พระภูมิเจ้าที่ พระหลักเมือง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เทพพรหมเทวาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยดาอารักษ์ผู้พิทักษ์ สถานที่ พระสยามเทวาธิราช เทวดาผู้รักษาประเทศไทย เทวดาผู้รักษาพระพุทธศาสนา พ่อธาตุ แม่ธาตุทั้ง 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่พระธรณี
  • แผ่เมตตาต่อไปยังมนุษย์ทั้งหลายที่มีกายเนื้อ ทั่วโลก ทั่วจักรวาล สรรพสัตว์ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ที่มีกายเนื้อทั่วโลก ทั่วจักรวาล ดวงจิต ดวงวิญญาณ โอปปาติกะ สัมภเวสีทั้งหลาย ทั่วทุกภพ ทั่วทุกมิติ
  • แผ่เมตตาต่อไป ยังเปรต อสุรกายทั้งหลาย ดวงจิต ดวงวิญญาณทั้งหลาย
  • แผ่เมตตาต่อไปยังนรกทุกขุม ขอพญายมราช นายนิรยบาลเป็นประธาน ในการรับบุญกุศล กระแส กุศล แทนสัตว์นรกทั้งปวง

กำหนดจิตแผ่เมตตาพร้อมกันทุกภพ ทุกภูมิอย่างไม่มีประมาณ ลงมาจากพระนิพพาน กำหนดว่า จิตเรา เป็นกุศล จิตของเราเป็นบุญ จิตของเราเป็นผู้ที่ปราศจาก ความคิดประทุษร้ายต่อผู้ใด จิตของเราเป็นผู้ที่ปราศจากเวรภัย น้อมใจของเราให้สว่าง อทิสมานกายสว่างอย่างยิ่ง ใจของเราใสบริสุทธิ์ กำหนดจิตให้มหาอภัย คือให้อภัยทานต่อ ทุกดวงจิต สรรพสัตว์ใด ดวงจิตใด เคยประมาท พลาดพลั้งล่วงเกิน เบียดเบียนเราทางกาย วาจา ใจ เคยกระทำ ด้วยวาจา เคยทำร้ายประทุษร้ายใส่ความ เคยประหัตประหารร่างกายชีวิตของเรา เคยทรมานทรกรรมตัวเรา หรือบุคคล ครอบครัวบุคคลอันเป็นที่รัก ตัวเราขอให้มหาอภัย ให้อภัยทานต่อทุกดวงจิต ไม่ว่าจะอยู่ในชาติใด ภพใด สลายสัญญา ความจำในความอาฆาตพยาบาทจองเวรทั้งปวง สลายสัญญาความเป็นเจ้ากรรมนายเวร สลายสัญญาในการผูกโกรธ อาฆาตพยาบาททั้งปวง

ปลดปล่อยดวงจิตของข้าพเจ้า จากความทุกข์ จากความโกรธแค้น จากความเกลียดชังทั้งปวง ขอความเกลียดชัง โกรธแค้นทั้งหลาย จงสลายสิ้นออกไปจากจิตของข้าพเจ้า  ขอกระแสนิพพาน จงสลายความโกรธ ความเกลียดชัง ความอาฆาตพยาบาทจองเวรทั้งปวง สลายออกไปให้หมด จนจิตข้าพเจ้ายิ่งสะอาดขึ้น ใสขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น วิบากกรรมสลายตัวไปด้วยโมฆะกรรม ด้วยอภัยทาน ด้วยอโหสิกรรม ด้วยกำลังแห่งฌานสมาบัติ ด้วยกำลังแห่งกระแส ของพระนิพพาน นับแต่นี้ ชีวิตตราบที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ ขอจงยกขึ้น เจริญขึ้น รุ่งเรืองขึ้น สิ่งเหนี่ยวรั้ง ความเจริญรุ่งเรืองของจิตใจ ทั้งทางโลก ทางธรรม จงสลายตัวไป นับตั้งแต่บัดนี้ ชีวิตดีขึ้น สูงขึ้น คล่องตัวขึ้น ปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในธรรมมากขึ้น จิตเข้าถึงความละเอียดปราณีตสูงขึ้น ฌานสมาบัติมีความตั้งมั่น ใสบริสุทธิ์ เข้าถึงความสุขในแต่ละสภาวะ แห่งการเจริญพระกรรมฐานได้ละเอียดลึกซึ้งเพิ่มขึ้น กำหนดใจเราให้ใสสว่าง บุญเกิด แล้ว กำลังแห่งเมตตาฌานเกิดแล้ว อานิสงส์ทั้งหลายเกิดแล้ว บุญสำเร็จ ผลจงปรากฏ เหตุอันดี จงเกิดผลอันเป็นกุศล มหากุศล เปิดสายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมี กรรมฐานทั้งหลายจงรวมตัว ความดีทั้งหลาย จงส่งผลทันใจ ชีวิตมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ใจเราอิ่มเอมเอิบอิ่มผ่องใสสว่าง

จากนั้นเราจึงน้อมกราบพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุก พระองค์บนพระนิพพาน ตั้งจิตว่าการปฏิบัติของข้าพเจ้าเป็นปฏิบัติบูชา ความดี ความผ่องใส ความบริสุทธิ์ วิมุต หมดจดทั้งปวง เป็นกระแสบุญที่บูชาความดีของครูบาอาจารย์ทุกท่าน ที่สืบต่อกันมาจนถึงเรา มีพระพุทธองค์ สมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นพระบรมครู กระแสกุศลแห่งการปฏิบัติบูชา จงยิ่งนำพาจิตข้าพเจ้าให้เจริญรุ่งเรืองในธรรม มากขึ้น ในศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระสมณโคดมพระพุทธเจ้า เข้าถึงพระนิพพานในชาตินี้ได้โดยง่ายโดยพลันด้วยเถิด อารมณ์จิตเราใสสว่าง จากนั้นนะ โมทนาตั้งใจว่า เราโมทนาบุญกับเพื่อนกัลยาณมิตรทุกคน ตั้งใจว่ารวมจิตเป็นอภิจิต รวมกำลังบุญส่งผล ลงมายังประเทศชาติบ้านเมือง ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เป็น วัตถุธาตุในแผ่นดิน ขอจงมีกระแสแห่งพระนิพพาน กำลังแห่งพุทธานุภาพ มาประสิทธิ์ประสาท ให้เกิดความอัศจรรย์ ศักดิ์สิทธิ์ ขอกระแสบุญจากพระนิพพาน พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงคงอยู่ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และอาณาประชาราษฎร์สืบต่อไป

กำหนดใจของเราให้ใสสว่างไว้ จากนั้นพุ่งจิตกลับมาที่กายเนื้อ น้อมกระแสจากพระนิพพานเป็นแสงสว่าง  ฟอกชำระล้างร่างกายธาตุขันธ์เราให้สว่าง โรคภัยไข้เจ็บ สิ่งที่เป็นพิษ เป็นโทษ ขอจงสลายออกไปด้วยธาตุธรรม ธรรมธาตุ ธรรมโอสถ ความผ่องใสในอารมณ์วิมุตแห่งพระนิพพาน จงฟอกธาตุขันธ์ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อเอ็น กระดูก อวัยวะ อาการทั้ง 32 จงสะอาดผ่องใส โรคาพญาธิ จงสลายตัวไป มลทินเครื่องเศร้าหมอง สิ่งที่เป็นพิษ เป็นโทษ จงสลายตัวไป กาย จิต สว่างสะอาด สงบ เย็น จากนั้นหายใจเข้าลึกๆช้าๆ 3 ครั้ง ภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆ คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รักษาเราเสมอ

จากนั้นจึงค่อยๆ ถอดจิตช้าๆ จากสมาธิ จิตแย้มยิ้ม เอิบอิ่มเป็นสุข ในยามที่ออกจาก สมาธิ กำหนดใจว่าขอกุศลแห่งการปฏิบัติพระกรรมฐาน จงปรากฏความอัศจรรย์ ในสิ่งที่ข้าพเจ้าตั้งจิตอธิษฐานใน ทุกประการด้วยเถิด ขอความเป็นทิพย์ จงปรากฏปาฏิหาริย์ให้จิตข้าพเจ้า เกิดความศรัทธาในการปฏิบัติเพิ่มขึ้น ยิ่งขึ้นด้วยเถิด สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน ให้มีความสุข มีความเจริญ รุ่งเรือง วันนี้ก็ขอขอบคุณลูกศิษย์ หลายๆท่านที่มีความกตัญญูรู้คุณ ก็เชิญอาจารย์ไปทานข้าว แล้วก็ยังขยันมาฝึก มาปฏิบัติกันต่อ ก็ขอให้ความกตัญญู นั้น ส่งผลให้ยิ่งเจริญเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปในทุกด้านทุกคน สำหรับวันนี้ก็ขอยุติการสอนแต่เพียงเท่านี้ พบกันใหม่ สัปดาห์หน้า ขอให้มีความขยันหมั่นเพียร มีความวิริยะอุตสาหะในการปฏิบัติ จงเป็นผู้ที่มีพรแสวง คือแสวงหาธรรม ไม่รู้จักอิ่มในการเจริญจิต เจริญสมาธิกันทุกคนทุกท่านด้วยเถิด สำหรับวันนี้สวัสดีครับ

ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณวรรณภา

You cannot copy content of this page