green and brown plant on water

จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน

เวลาอ่าน : 3 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน” 

วันอาทิตย์ที่ 23 กฏกราคม 2566

เรื่อง จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

กำหนดความรู้สึกทั่วร่างกายในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม สติกำหนดรู้ รู้กายเพื่อผ่อนคลายปล่อยวาง รู้สึกสัมผัสได้ถึงทุกส่วนของร่างกาย กล้ามเนื้อทุกส่วนทุกมัดกล้าม คลาย ปล่อยวาง กำหนดรู้ว่าการผ่อนคลายคือการปล่อยวาง การปล่อยวางร่างกายคือการตัดขันธ์ห้า ทำความรู้สึกปลดปล่อยความเกาะในความรู้สึกทั่วร่างกายออกไปจนหมด ยิ่งปล่อยวางยิ่งรู้สึกสัมผัสได้ถึงความเบากาย รู้สึกสัมผัสได้ถึงความสบาย ปล่อยวางร่างกายเข้าสู่ความสงบ

กำหนดรู้ว่ายิ่งปล่อยวางได้มากเท่าไหร่ ใจเราจิตเราหรือแม้แต่กายของเรายิ่งรู้สึกสัมผัสได้ถึงความเบา ความสบาย ความสุข ปล่อยวางร่างกายขันธ์ห้า  ปล่อยวางเรื่องราวในจิตใจ คือความกังวล ความทุกข์ ความคิด ความตระหนักหรือแม้แต่ความอาฆาตพยาบาททั้งปวง ผ่อนคลายปล่อยวางจิตใจออกไปจนหมด สัมผัสได้ถึงความเบา ความสงบ ยิ่งวาง จิต กาย ยิ่งเบา เข้าสู่สภาวะแห่งความสงบของจิต

กำหนดรู้ จดจ่ออยู่ในความสงบ สติรู้ตื่นอยู่ จากนั้นกำหนดลมหายใจ ในความเบาละเอียดของลม หายใจเข้าละเอียด ช้า ลึก ยาวอย่างยิ่ง ความรู้สึกว่ายิ่งช้ายิ่งกำหนดรู้ในลมหายใจที่ละเอียดอย่างยิ่ง ยิ่งเข้าถึงการกลั่นลมหายใจให้กลายเป็นปราณ เป็นธาตุพลังชีวิต เป็นอนุภาคของปราณที่มีความละเอียดอย่างยิ่ง จดจ่อกำหนดรู้อยู่กับลมหายใจที่ละเอียด ช้า ลึก ยาว เป็นปราณที่ละเอียดอย่างยิ่ง

อยู่กับลมหายใจปราณที่ละเอียดนั้น รู้สึกสัมผัสได้ว่าลมนั้นมันเบาอย่างยิ่ง ละเอียดอย่างยิ่ง จิตสงบและตั้งมั่นอย่างยิ่ง

ทรงอารมณ์จดจ่อในลมหายใจ ปราณที่ละเอียด ความตั้งมั่น ความสงบ โดยที่จิตยังดำรงคงความรู้ตื่น  สงบนิ่ง ผ่องใส

เมื่อจิตเข้าสู่สภาวะความสงบในอานาปานสติ เรากำหนดจิตต่อไป ทรงอารมณ์ในกสิณ

กำหนดน้อมนึกจินตภาพจินตนาการให้เห็นดวงจิตของเราอยู่กลางอก เป็นเพชรลูกสว่างเจียระไนละเอียดระยิบระยับสว่างผ่องใส จิตเป็นปฏิภาคนิมิต ปรากฏสภาวะความสว่างออกมาจากดวงจิต  แสงสว่าง ความอิ่ม ความสุข ธรรมารมณ์หรืออาหารแห่งจิต หรือเรียกง่ายๆว่าพลังงานของจิต เกิดขึ้นจากสภาวะที่จิตนั้นมีความสุข มีความอิ่ม จากบุญกุศล และจากกำลังแห่งฌานสมาบัติ หรือกำลังตบะของสมาธิคือตัวสมถะ

สิ่งที่ลดกำลังของจิตคือความเศร้าหมอง ยิ่งจิตเศร้าหมองจิตยิ่งเสียกำลังไปกับความคิด ไปกับความฟุ้งซ่าน ไปกับกิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอาฆาตพยาบาท ความโกรธ การจองเวร ยิ่งเป็นเหมือนกับเพลิงที่เผาใจตน สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้จิตเราเสียพลัง หรือความรู้สึกในอารมณ์ที่น้อยเนื้อต่ำใจ ความรู้สึกที่ซึมเศร้า อารมณ์จิตต่างๆเหล่านี้ก็เป็นตัวลดพลังจิตหรือจิตตานุภาพของเราลงเช่นกัน ยิ่งเศร้าหมองยิ่งซึมเศร้า พลังจิตเรายิ่งลดน้อยถอยลง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรานึกถึงในบุญกุศล นึกถึงในอนุสติสิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตที่ตั้งมั่นรำลึกนึกถึงในจิตตานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพุทธานุสสติ จิตเรายิ่งเกิดกำลังขึ้น

ดังนั้น เรากำหนดเกิดปัญญาพิจารณา  “จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน”

นอกเหนือจากการรู้จิต คือ รู้ว่าจิตเศร้าหมองก็รู้ว่าจิตเศร้าหมอง จิตผ่องใสก็รู้ว่าจิตผ่องใส จิตเป็นฌานสมาธิก็รู้ว่าจิตเป็นฌานสมาธิ จิตมีกิเลสก็รู้ว่าจิตมีกิเลส เมื่อสติมารู้ทัน ไม่ใช่แค่รู้ สิ่งสำคัญคือรู้เพื่อที่จะประคับประคองให้จิตของเรายังดำรงคงความผ่องใส รู้รักษาให้จิตเรานั้นมีกำลังแห่งฌาน มีกำลังแห่งบุญ มีกำลังแห่งกุศล มีกำลังแห่งพุทธานุภาพ คือมีความสว่างผ่องใส มีกำลังอยู่ ไม่ยอมให้จิตตนอยู่ในสภาวะเศร้าหมอง อุปมาว่า เหมือนกับเราอาบน้ำทุกวัน กายของเรานั้นหากไม่อาบน้ำหนึ่งวันเราก็รู้สึกว่าเหนอะหนะ หากไม่ได้อาบน้ำสักเจ็ดวัน เราจะรู้สึกว่ามันมีผงมีฝุ่นมีคราบดำคราบไคลเปรอะเปื้อนตามตัว รู้สึกว่ามันสกปรก รู้สึกว่าทนไม่ได้ ยิ่งถ้าทิ้งไว้ไม่อาบน้ำอาบท่า หรือต้องไปคลุกขี้โคลน ไปอยู่ในที่มีฝุ่น หนึ่งเดือนผ่านไปเรายิ่งรู้สึกว่าตัวเราสกปรก ผมก็กลายเป็นสังกะตัง มีความสกปรกจนรู้สึกว่าทนตัวเองไม่ได้ฉันใด เรากำหนดจิตต่อไป จิตเราเราคิดเอาว่าในยามที่จิตเรามีความเศร้าหมองมันก็เหมือนฝุ่นที่มาเกาะ ในอารมณ์จิตที่เรามีความโกรธ มีความอาฆาตพยาบาท มันก็ยิ่งเหมือนกับมีสภาวะที่มีคราบโคลนที่หนาหนักอย่างยิ่งมาพอก จากจิตที่เกิดเคยเป็นเพชรประกายพรึกเป็นเพชรระยิบระยับน้ำใสแวววาวระยิบระยับ ดูเมื่อไหร่ที่จิตมันมีกิเลสเข้ามาห่อหุ้ม จากจิตที่เป็นเพชรรูปสว่าง มีแสงเปล่งประกายออกมา มันก็กลายเป็นก้อนดินก้อนโคลนกลมกลม ไม่มีแสง ไม่มีความสวยงาม มีแต่ความสกปรก

ดังนั้นเราระมัดระวังกายไม่ให้เป็นที่สกปรกเช่นใด เราเป็นผู้ที่ฝึกจิตปฏิบัติธรรมพัฒนาจิต เราต้องมีความรู้สึกว่าเมื่อไหร่ก็ตามจิตเรามีมลทินเครื่องเศร้าหมอง เราพึงที่ต้องชำระล้างใจของเราด้วยกระแสแห่งธรรม คือพิจารณาให้เห็นโทษของความเศร้าหมอง พิจารณาให้รู้เท่าทันสภาวะ และจดจำไว้ว่าไส้ในจริงๆของจิต พระพุทธองค์ทรงตรัสเอาไว้ว่า  “จิตเดิมแท้ล้วนเป็นจิตอันประภัสสร แต่ครั้นกิเลสจรเข้ามาจับ ทำให้จิตของเราเศร้าหมอง” ดังนั้นความผ่องใสก็ดี ความเป็นประกายพรึกก็ดี ความเป็นประภัสสรแห่งจิตนั้นอยู่กับใจของเราอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราเผลอเลอ ปล่อยปละละเลยให้ความเศร้าหมอง โคลนตม ธุลีละอองแห่งสรรพกิเลสมาพอกมาจับ ดังนั้นการที่เราปฏิบัติธรรมฝึกฝนจิตเจริญวิปัสสนาญาณ ก็เหมือนเราได้ชำระล้างใจของเรา แต่ลองคิดเอาว่า ยังมีบุคคลอีกมากมาย ตลอดชีวิตไม่เคยพิจารณา ปล่อยให้คราบโคลนความสกปรก เมื่อความสกปรกแห่งสรรพกิเลสเกาะกุมไปตลอดชีวิต ตลอดชีวิตไม่เคยชำระล้างดวงจิตเราด้วยกระแสธรรมหรือการพิจารณาธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐานเลยแม้แต่น้อย จิตดวงนั้นจะมีสภาพเช่นไร จิตอันประภัสสรไม่เคยที่จะปรากฏผุดให้เห็นแสงสว่างเล็ดลอดออกมาจากจิตดวงนั้นเลย มีวับวับแวมแวมเล็กน้อยก็ต่อเมื่อได้ทำทานบ้าง เมื่อเราพิจารณาได้ดังนี้แล้ว ก็จงทำความเข้าใจให้รู้ว่า ทำไมจึงต้องทรงสภาวะให้จิตเข้าถึงความเป็นปฏิภาคนิมิต จิตอันเป็นประภัสสรไว้เสมอ

กำหนดใจของเราตอนนี้ ทรงอารมณ์ให้จิตรู้ตื่นขึ้นสู่กุศล สู่ความสงบ กำลังแห่งฌานสมาบัติปรากฏ จิตเป็นประภัสสรสว่าง ทรงอารมณ์ในสภาวะที่จิตเป็นประภัสสรนั้น

เมื่อจิตปรากฏความเป็นประภัสสรแล้วก็พิจารณาต่อไป คำสอนของหลวงปู่ดุลย์ อนาลโย จิต คือ พุทธะ      จิต คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน กำหนดน้อมให้กลางจิตของเราปรากฏองค์พระขึ้นในใจ ดวงจิตที่เป็นเพชรประภัสสรนั้นมีองค์พระสว่าง ใจเรายิ่งรู้สึกถึงความสงบชุ่มเย็นตั้งมั่น ความนอบน้อมความเคารพในพระพุทธเจ้า ทรงอารมณ์อยู่ในสภาวะที่จิตมีองค์พระ กำหนดน้อมว่าจิตนี้ จิตคือพุทธะ คือทรงอารมณ์แห่งความเป็นผู้รู้ รู้ว่าสิ่งใดเป็นบุญเป็นบาป สิ่งใดที่เป็นสัมมาทิฐิ สิ่งใดที่เป็นมิจฉาทิฐิ นั่นได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ รู้ที่สำคัญยิ่ง คือ รู้เห็นภัยในสังสารวัฏ รู้ที่สำคัญยิ่ง คือ รู้ในกฎไตรลักษณ์ ว่าทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป  รู้ที่สำคัญยิ่ง คือ รู้ในมรรคผลและพระนิพพาน

จากนั้นกำหนดพิจารณาต่อไปว่า จิตเป็นผู้ตื่น ตื่นขึ้นสู่กุศล ตื่นขึ้นสู่มรรคผล ตื่นขึ้นสู่ความเป็นจิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร จิตเราตื่นขึ้นในธรรม

กำหนดพิจารณาต่อไปว่า เมื่อจิตเราได้รู้ตื่นขึ้น เมื่อตื่นขึ้นในธรรมแล้ว จิตย่อมเบิกบานในธรรม ยิ่งวางได้มากเท่าไหร่ จิตเรายิ่งเบิกบาน ยิ่งสะอาดจากสรรพกิเลส คือความโลภ โกรธ หลงมากเท่าไหร่ จิตเรายิ่งเบิกบาน จิตละวางจากขันธ์ห้าได้มากเท่าไหร่ ละวางจากสมมุติทั้งหลายในโลก ละวางจากโลกธรรมแปดได้มากเท่าไหร่ จิตเรายิ่งเบิกบาน ว่าง วาง เบา

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป ว่าเมื่อเราเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ภายในดวงจิตเราทรงภาพองค์พระชัดเจน องค์พระมีความสว่างผ่องใสอย่างยิ่ง จิตเรานับแต่นี้น้อมใจไว้ว่าภาพพระที่เห็นทางตาก็ดี พุทธนิมิตในดวงจิตของเราก็ดี จิตเราน้อม จิตเราแนบ จิตเราถึงพระพุทธองค์ ประดุจพระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ จิตเราถึงพระ น้อมจิตอธิษฐานขอบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ขอยกจิตของข้าพเจ้า อาทิสมานกายจงปรากฏในกายพระวิสุทธิเทพขึ้นไปอยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์บนพระนิพพานด้วยเถิด ขอจงปรากฏขึ้น ความชัดเจนปรากฏ

ค่อยๆกำหนดสภาวะในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ ทำความรู้สึก พิจารณาเห็นในสภาวะว่าเครื่องทรงเครื่องประดับรูปพรรณสัณฐานของกายเราขณะนี้มีสภาวะมีรูปลักษณ์เป็นเช่นไร

กำหนดจิตน้อมรำลึกนึกถึงบุญกุศล อธิษฐานจิตว่า ทานทั้งหลายที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาดีแล้ว นับตั้งแต่อดีตชาติ ปัจจุบันและอนาคต ขอจงรวมตัวเป็นปัจจัยเพื่อพระนิพพานเพียงจุดเดียว

ศีลที่ข้าพเจ้ารักษานับแต่อดีตปัจจุบันอนาคต ขอตั้งจิตอธิษฐานจงเป็นปัจจัยเพื่อพระนิพพานเพียงจุดเดียว

กรรมฐานที่ข้าพเจ้าเคยเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนา นับตั้งแต่อดีตชาติ ปัจจุบันชาติและอนาคตกาล ขอจงรวมตัวกันเพื่อพระนิพพานเพียงจุดเดียว บารมีทั้งสามสิบทัศที่ข้าพเจ้าเคยบำเพ็ญมาในอดีตชาติอันหาประมาณไม่ได้ ขอจงสะสมรวมตัวกัน เพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด

กำหนดน้อมให้เห็นกายพระวิสุทธิเทพของเรายิ่งสว่างขึ้นผ่องใสขึ้น กายพระวิสุทธิเทพยิ่งสว่าง ความอิ่ม ความสุข อารมณ์วิมุตติสุขในอารมณ์พระนิพพานยิ่งปรากฏ จิตของเราพิจารณาทบทวนว่าใจเรายังพอใจ ยังหลง ยังติด ยังยึด  ยังห่วงอยู่ในภพอื่นภูมิใด อาทิเช่น ภพแห่งความเป็นมนุษย์ ภพแห่งความเป็นเทวดา ภพแห่งความเป็นพรหม มีในจิตเราไหม ความรำลึกนึกถึงสถานที่ต่างๆ บ้านเรือนเคหะสถาน ประเทศที่เคยอยู่ ใจเรายังมีความห่วง มีความยึดหรือปล่อยวางได้ จิตเราพึงพอใจในพระนิพพานจุดเดียว อารมณ์จิตนี้มีเพื่อสิ้นภพจบชาติ คือตัดความผูกพันเยื่อใยที่ห่วงที่เกาะที่ยึดในภพภูมิทั้งปวง คือสังสารวัฏนั้น สิ่งที่ยึดนั้นมีสังสารวัฏคือภพ คือบุคคล คือภาระของจิต หน้าที่ คำสัญญา คำสาบาน หรือแม้แต่ฝ่ายอกุศลก็คือแรงอาฆาตพยาบาท เป็นเหมือนเชือกมัดเราไว้กับบุคคลที่เราจองเวร แรงมัดแรงอาฆาต แรงผูกพยาบาทผูกเวรผูกกรรมให้พบเจอกันหลายหมื่นหลายแสนชาติ เมื่อตัดพยาบาทไปได้ ชาติภพก็สั้นลง เชือกที่รัดมัดเราไว้กับบุคคลที่เราอาฆาตแค้นก็ถูกตัด ถูกปลดปล่อย สุดท้ายใจของเรานั่นแหละเป็นผู้ปลดปล่อยจิตของตนให้เป็นอิสระ

หากเราพิจารณาในความเป็นทิพย์ เห็นดวงจิตดวงวิญญาณหนึ่งดวง ขอบารมีพระท่านดูให้เห็นภาพของสายโยงใยแห่งจิต ซึ่งอุปมาเหมือนกับเชือกที่ผูกที่มัดเราไว้ ทั้งสิ่งที่เป็นกุศลก็ยังเป็นเครื่องผูก ทั้งสิ่งที่เป็นอกุศลก็ยิ่งเป็นเครื่องผูก เพียงแต่ว่าเครื่องผูกที่เป็นฝ่ายกุศลนั้นยังผูกดึงมาให้พบมาเจอแต่สิ่งที่ดี แต่อกุศลที่ผูกไว้นั้นมันดึงมาพบกันก็มาก่อเวรก่อกรรมมาใช้เวรใช้กรรมกัน ถ้าเราดูแล้วจิตของเราดวงเดิม เอาแค่เราอาฆาตพยาบาทคนหนึ่งคน เราก็ต้องไปพบเจอเขาหลายหมื่นหลายแสนชาติ ตลอดชีวิตหนึ่งชีวิต เราคิดว่าเรามีโจทย์สักกี่คน มีเข้มๆอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าสิบคน มีแบบประเดี๋ยวประด๋าวเคยเจอเคยกระทบกัน รถเคยไปเฉี่ยวกัน ตะโกนด่ากัน เหยียบเท้ากันอารมณ์ขึ้น อันนี้ก็ยังต้องไปเจอกับเขา นอกจากเราอโหสิกรรม ดังนั้นลองคิดเอา ว่าการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนั้น เรายังต้องไปพบไปเจอกับสิ่งต่างๆกับเรื่องต่างๆอีกมากแค่ไหน หรือแม้แต่ชีวิตของเราในชาตินี้ที่เราพบเจอสิ่งต่างๆ ทั้งดีทั้งเลว ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุอันเกิดขึ้นแต่กรรมที่เราทำมาในบางก่อน สิ่งที่เราพบที่ที่เราเจอมาในปางก่อนทั้งนั้น สิ่งที่คนอื่นกระทำต่อเรา จำไว้ว่าสิ่งนั้นเราเคยกระทำต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น **เมื่อเราปฏิบัติธรรมในสภาวะที่สูงขึ้นละเอียดขึ้น สิ่งใดที่เราถูกกระทำ เราก็จงจำว่าข้อที่หนึ่ง สิ่งนี้เราเคยทำเขามา อโหสิกรรมทันที ให้เป็นโมฆะกรรมทันที ว่าเราขอตั้งจิตตั้งใจ ดับที่เรา เบาที่สุด ให้เป็นโมฆะกรรม อโหสิกรรมอันนี้คือข้อที่หนึ่ง

ข้อที่สอง คือเมื่อเราถูกกระทำอย่างไร เราพิจารณาว่า ต่อไปเราจะไม่กระทำเช่นนี้ ปฏิบัติเช่นนี้ ใช้วาจาเช่นนี้กับบุคคลอื่น

ข้อต่อไปที่เราพิจารณา คือทุกสิ่งที่เราพบที่เราเจอ จะเป็นวาระ จะเป็นวิบากก็ตาม บททดสอบก็ตาม สิ่งใดก็ตาม ตามแต่ชื่อเรียก จำไว้ว่าเรามีปัญญากำกับ อย่าเจ็บฟรี อย่าโดนฟรี พิจารณาไว้ด้วยว่า เราได้เรียนรู้สิ่งนี้แล้ว เราได้ปัญญาจากสิ่งที่เราได้พบได้เจอได้ประสบ ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เรารู้เท่าทันได้ง่ายขึ้น ปล่อยวางได้ง่ายขึ้น สอบผ่านได้เร็วขึ้น เมื่อใจเราปล่อยวางได้เร็ว ความทุกข์มันก็ไม่ขังอยู่ในจิตของเรา ยิ่งปล่อยวางได้เร็ว ความทุกข์มันก็น้อยกว่าบุคคลธรรมดาสามัญที่ไม่เคยฝึกไม่เคยปฏิบัติไม่เคยปล่อยวาง

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมเมื่อมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น เจริญวิปัสสนาญาณเจริญปัญญาแล้ว ปัญญาที่สำคัญที่สุดคือ รู้จักที่จะใช้ปัญญาวางให้เร็วที่สุด วางทุกเรื่อง วางทุกสิ่งที่ทำให้จิตของเราเป็นทุกข์ ในขณะที่เราพิจารณาวางเราก็กำหนดใช้ปัญญากำกับต่อไปว่า การวางก็ไม่ใช่ว่าเราปล่อยวางประพฤติคือปล่อยวางมันไปหมด เราพิจารณาให้เห็นธรรม พิจารณาให้เห็นว่าการปล่อยวางนั้นมันเกิดคุณหรือเกิดโทษไหม เราให้อภัยปล่อยวางที่ใจของเรา แต่สิ่งใดที่เรากำหนดรำลึกคิดถึงได้ว่า ถ้าการปล่อยวางกับการปล่อยปละละเลยนั้นมันแตกต่างกัน ความปล่อยปละละเลยเช่น หากมีคนที่เขาทำอันตรายต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่เราบอกว่าเราปล่อยวาง เราไม่สนใจ จะเป็นยังไงก็ช่าง อันนี้เรียกว่าปล่อยปละละเลย

แต่เมื่อไหร่ก็ตามเรากำหนดพิจารณาว่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แผ่นดิน บ้านเมือง เราจำเป็นต้องใช้สติปัญญาช่วยกันทำนุบำรุงประคับประคองทํานุบํารุงพระพุทธศาสนา ความปล่อยวางที่เกิดขึ้นคือปล่อยวางต่อความชั่วของคนที่เขาทำ เขาคิดไม่ได้ ความชั่วที่เขาทำ ถ้าเขากลับตัวไม่ได้ นรกก็จะเป็นผู้สอนเขา แต่ตัวเราเองนั้น ต้องเป็นคนที่ช่วยกันทำนุบำรุงประคับประคองชาติบ้านเมือง ศาสนา พระมหากษัตริย์

ขอยกเอาศีลของพระแล้วก็เป็นปฏิปทาของหลวงพ่อพระราชพรหมญาณ เช่นของสงฆ์ หากมีของสงฆ์ที่เสียหายถูกวางทิ้งไว้ตากแดดตากฝนเกิดความเสียหาย เราอย่าไปพิจารณาว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วางไว้มันก็ต้องเสื่อม ต้องแตก ต้องดับ แล้วเราก็ปล่อยปละละเลยไม่สนใจ ปล่อยทิ้งไว้จนของสงฆ์เสียหาย อันนี้สำหรับพระสงฆ์ถือว่ามีอาบัติ ผ่านไปหนึ่งครั้งไม่ขยับ ไม่ดูแล อาบัติหนึ่งครั้ง ผ่านไปครั้งที่สองก็ยังไม่ดูแล อาบัติครั้งที่สอง ซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขยับดูแลของสงฆ์นั้นอยู่ในที่อันควร แต่ถ้าเห็นแล้วดำเนินการดูแลของสงฆ์ให้เรียบร้อยก็ถือว่าไม่อาบัติ เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างเช่นกัน การปล่อยวางนั้นปล่อยวางต่อเมื่อ สิ่งต่างๆนั้นสุดกำลัง เป็นไปจนกระทั่งเราไม่สามารถจะช่วยเหลืออะไรได้ แต่หากสิ่งใดที่เราช่วยได้ดูแลได้ จะเล็กจะน้อยสักประการใดเราก็ทำ สร้างความตระหนักรู้ให้คนเข้าถึงกุศลเข้าถึงธรรม ทำให้คนเกิดความสามัคคีของคนในชาติ เป็นแรงบันดาลใจให้คนช่วยกันทำนุบำรุงชาติให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เกิดความสามัคคี อันนี้เราทุกคนจริงๆจะมากจะน้อยก็สามารถทำได้ทุกคน อย่าไปคิดว่าเราเป็นคนธรรมดาตัวเล็กๆ คนตัวเล็กๆแต่รวมกันก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านบวก ด้านที่เป็นสิ่งที่ดีงามได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น การปล่อยวางไม่ใช่การปล่อยปละละเลย ปลงไม่ใช่เพียงแค่เราไม่สนใจ ปลงนั้นเป็นอารมณ์ที่เราต้องพิจารณาธรรมจนกระทั่งวางลง ที่เรียกว่าปลงจากการที่จิตเกิดปัญญาพิจารณาธรรมแล้วจึงเห็นธรรมเห็นทุกข์ แล้ววางทุกข์นั้นลงได้ ให้เรากำหนดจิตใช้ปัญญากำกับในการปฏิบัติ ใช้ปัญญากำกับในการพิจารณาธรรม ใช้ปัญญากำกับในการดำรงตนในการดำรงชีวิตในขณะที่มีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ใบนี้

วันนี้เราอยู่เบื้องหน้าพระ น้อมจิตอธิษฐาน ขอดวงปัญญาจงหลั่งไหลด้วยพุทธบารมี ลงสู่จิต ลงสู่ใจ ลงสู่อาทิสมานกายของข้าพเจ้าด้วยเทอญ   “นัตถิ ปัญญาสมา อาภา”  แสงสว่างเสมอด้วยปัญญานั้นไม่มี

นับแต่นี้ขอให้ดวงจิตของเธอทุกดวงจงเกิดดวงปัญญารู้แจ้งแทงตลอดทั้งทางโลกทางธรรม รู้ในสิ่งอะไรควรไม่ควร รู้ผิดชอบชั่วดี รู้กาลรู้อนาคต มีวิสัยที่พิจารณาเห็นไปในอนาคตกาลว่าเหตุนี้จะส่งผลเกิดผลลัพธ์ต่อตน ต่อส่วนรวม ต่อพระพุทธศาสนาในจุดต่างๆสิ่งใดบ้างได้โดยละเอียด ขอดวงปัญญา กำหนดจิตเห็นอาทิสมานกายเรานั่งอยู่เบื้องหน้าพระ ขอบารมีพระเมตตาเปล่งแสงแห่งปัญญา แผ่ส่องตรงลงมายังจิตของเรา จนรู้สึกว่ามีแสงสว่างเจิดจ้าปรากฏอยู่เบื้องหน้า ใจเราสว่าง ปัญญาสว่างรู้แจ้ง จิตเรารู้ตื่น ปัญญาปรากฏเต็ม จนรู้สึกได้ว่ากายพระวิสุทธิเทพสว่างด้วยแสงแห่งปัญญา พุทธปัญญาปรากฏซึมซาบลงสู่จิต

ทรงอารมณ์ ทรงสภาวะบนพระนิพพาน กายพระวิสุทธิเทพอยู่เบื้องหน้าพระบนพระนิพพานพร้อมกับน้อมกำหนดซึมซับรับกระแสแสงแห่งปัญญา ปัญญาจงก่อเกิดในจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาแห่งปฏิสัมภิทาญาณจงปรากฏขึ้นในจิต  ปัญญาในธรรมจงปรากฏขึ้น รู้สึกสัมผัสได้ว่ากายทิพย์อาทิสมานกายของเราสว่างด้วยแสงแห่งพุทธะปัญญา

น้อมกระแสกำหนดเห็นจิตเราสว่าง กายทิพย์กายพระวิสุทธิเทพสว่างอยู่บนพระนิพพาน ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์โทษภัยในสังสารวัฏกระจ่างแจ้ง ปัญญาเข้าใจในธรรม ในนัยยะ ในความพิสดารลึกซึ้งในธรรมทั้งหลายสว่างกระจ่างแจ้ง จิตยินดีในธรรม ยินดีในปัญญาที่ปรากฏขึ้น สมาธิก่อเกิดปัญญาอันบริสุทธิ์ ปัญญาอันบริสุทธิ์ ตื่นขึ้นในจิตของเรา สว่างขึ้น เพิ่มขึ้น เพิ่มพูนขึ้น

สังโยชน์ข้อที่สิบคืออวิชชา อวิชชาแปลว่าความไม่รู้ ความโง่ ความเขลา เมื่อแสงสว่างแห่งปัญญาปรากฏคือวิชา อวิชชาก็ดับลง ดับอวิชชาตัวเดียวก็เข้าถึงซึ่งการตัดสังโยชน์ทั้งสิบ ปัญญาแสงสว่างแห่งปัญญารู้ตื่นรู้แจ้งในจิตของเรา กายพระวิสุทธิเทพยิ่งสว่างขึ้น ปัญญาเห็นคุณแห่งพระนิพพานชัดเจนชัดแจ้ง แสงสว่างสว่างเจิดจ้า แสงแห่งปัญญาสว่างอย่างไม่มีประมาณ กายทิพย์สว่าง

จากนั้นน้อมจิต เชื่อมกระแสพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ กระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากทุกท่านทุกพระองค์บนพระนิพพาน แล้วจึงแผ่เมตตาลงมายังอรูปพรหมทั้งสี่ แผ่เมตตาสว่าง กระแสความสงบเย็น แผ่ลงมา พรหมโลกทั้งสิบหกชั้น สวรรค์ทั้งหกชั้น รุกขเทวดา ภุมมเทวดาทั่วอนันตจักรวาล สรรพสัตว์และมนุษย์ทั้งหลายที่มีกายเนื้อกายหยาบทั่วอนันตจักรวาล โอปปาติกะสัมภเวสีทั้งหลาย ชาวเมืองลับแลบังบดทั้งหลาย มิติที่ทับซ้อนทั้งหลาย เปรตอสุรกายทั้งหลาย สัตว์นรกในทุกขุม แผ่เมตตาเปิดโลกธาตุสามภพภูมิ สว่างจากบนพระนิพพาน เห็นสามภพภูมิ กระแสเมตตาแผ่ไปอย่างไม่มีประมาณ

จากนั้น น้อมจิตของเรา ยินดีในกระแสเมตตาอัปปันนาณฌาน จิตเราเมตตาประดุจดังพระโพธิสัตว์

จิตเรา เอิบอิ่ม ผ่องใส กายพระวิสุทธิเทพของเรายินดีในพระนิพพานเพียงจุดเดียว

จากนั้นน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาปกปักรักษาแผ่นดินไทย ประเทศไทยให้เกิดความสุขสงบร่มเย็น เกิดกระแสแห่งความสามัคคี กระแสจากบนพระนิพพานกระตุ้นเตือนกระตุ้นตื่น ให้ผู้คนได้มีกำลังใจจิตใจที่ปรารถนาจะช่วยกันทำนุบำรุงชาติให้เกิดความเจริญ เกิดความสามัคคี เกิดความรุ่งเรือง เกิดความภาคภูมิใจในผืนแผ่นดินตน

น้อมกระแสจากพระนิพพานเป็นกำลังบุญกำลังความเป็นทิพย์ลงมาพิทักษ์รักษาบุคคลผู้เป็นปิยะชน บุคคลผู้มีจิตคิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ผู้มีคุณูปการต่อบ้านเมือง ต่อชาติ ต่อแผ่นดิน

น้อมจิตต่อไป น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาทำนุบำรุงปกป้องขอบเขตแห่งพระพุทธศาสนา กระแสกุศล กระแสพุทธานุภาพขออาราธนาลงมายังวัดวาทั้งหลาย สถานปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พระบรมธาตุพระธาตุเจดีย์ทั้งหลาย ตลอดจนถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัตถุมงคล ขอเกิดกำลังความศักดิ์สิทธิ์ กระแสบุญ กระแสมรรคผล กระแสธรรมอันบริสุทธิ์ กระแสสัมมาทิฐิจงหลั่งไหลลงสู่ดวงจิตของผู้ที่ปฏิบัติธรรมพุทธบริษัทสี่ กระแสธรรมอันเป็นมรรคผลตรงต่อพระนิพพาน ขอธรรมและปัญญาจงปรากฏ ขอธรรมจักรจงหมุนเคลื่อนน้อมนำจิตเข้าสู่พระนิพพาน

จากนั้นน้อมจิตต่อไป น้อมกระแสจากพระนิพพาน กระแสบุญศักดิ์สิทธิ์ลงมาปกปักรักษาคุ้มครององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ พระเศวตฉัตร เครื่องราชกกุธภัณฑ์ รวมไปถึงดวงพระวิญญาณแห่งบูรพมหากษัตราธิราชทุกขอบเขต ทุกแว่นแคว้น ทุกราชวงศ์ทุกๆพระองค์

น้อมกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพานลงมายังพระสยามเทวาธิราช ลงมายังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ศาลหลักเมืองในทุกจังหวัด พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เทพยดาผู้พิทักษ์รักษาแผ่นดิน เทพยดาพรหมผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา  เทพยดาพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักทํานุบํารุงองค์พระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอจงเกิดกำลังแห่งกุศล มีกำลังแห่งบุญ มีความศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ มีเทพฤทธิ์ มีความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ด้วยเถิด

จากนั้นน้อมจิตให้จิตของเราเกิดความสว่างผ่องใส ใจของเราอยู่บนพระนิพพาน เราตั้งใจว่ากำลังบนพระนิพพานนั้น เรายกจิตขึ้นมาบนพระนิพพานเมื่อไหร่ และขณะนั้น อารมณ์ความบริสุทธิ์แห่งจิตเราก็เปรียบเสมือนประดุจดัง อารมณ์จิตแห่งพระอรหัตผล ความบริสุทธิ์แห่งจิตก็ดี เจตนาที่เรามีเจตนาดีมั่นคงต่อชาติบ้านเมืองส่วนรวมก็ดี เป็นกำลังบุญ เป็นกำลังแห่งความกตัญญูกตเวทิตา ด้วยคุณความดีที่เราทำนั้น ให้เรารู้สึกอิ่มใจ รู้สึกอุ่นใจในกุศลที่เราทำ สร้างด้วยกำลังแห่งกรรมฐาน กำลังแห่งพระกรรมฐานทั้งความบริสุทธิ์จากอารมณ์พระนิพพาน ทั้งกำลังแห่งฌานสมาบัติ ที่เราฝึกเพาะบ่นสะสมไว้ดีแล้ว ย่อมเกิดผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราฝึกสมาธิกัน มีผู้คนร่วมจิตร่วมใจเป็นหนึ่งเป็นจำนวนมากเป็นอภิจิต เป็นกำลังบุญใหญ่ ที่ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ เกิดความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นได้ จิตที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ยังความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์สำเร็จให้ปรากฏขึ้น ให้เราทุกคนนั้นมีความอิ่มใจในกุศลที่สร้างไว้

จากนั้นน้อมจิตกราบพระ กราบพระพุทธเจ้า กราบสมเด็จองค์ปฐม กราบพระอรหันต์ กราบพระปัจเจกพุทธเจ้า กราบครูบาอาจารย์ทุกท่านที่ปรากฏขึ้นเบื้องหน้าเราแต่ละคน  อารมณ์ใจสว่าง  กายทิพย์เราสว่าง

จากนั้นพุ่งจิตกลับมาที่กายเนื้อบนโลกมนุษย์ อธิษฐานจิต ขอกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพานส่องตรงลงมาชำระล้างฟอกธาตุขันธ์ ขันธ์ห้าของเราให้สะอาดบริสุทธิ์เป็นแก้วเป็นเพชรสว่าง ขอเปิดสายบุญสายทรัพย์สายสมบัติสายบารมีความดีทั้งหลายจงส่งผล บุญใหญ่จงส่งผลทันใจ เกิดความคล่องตัว เกิดความเจริญรุ่งเรืองอย่างอัศจรรย์รวดเร็ว

และสำหรับเมื่อวานนี้ใครหลายคนก็ได้ร่วมพิธีรับยันต์เกราะเพชร ตอนนี้ก็ให้เราน้อมจิตอธิษฐานปลุกยันต์เกราะเพชรขึ้น ขอยันต์เกราะเพชรที่ถูกอัญเชิญอาราธนาด้วยกำลังแห่งพุทธานุภาพไว้ดีแล้วนั้น ขอจงปรากฏส่องสว่างเป็นอักขระยันต์ ทั่วกายของเรานั้นจงเปล่งแสงสว่างเป็นเพชรสว่างออกมาจากผิวกาย ยันต์เกราะเพชรวงสว่างขึ้น กำลังแห่งพุทธานุภาพจงก่อบังเกิดขึ้นเต็มจิตเต็มใจของเรา ความตั้งมั่นเด็ดเดี่ยวเปี่ยมพลังจิตพลังใจจงเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งยันต์เกราะเพชร พลังแห่งความคุ้มครองปกป้องจงปรากฏขึ้นเต็มกำลังด้วยเถิด ด้วยกำลังแห่งพุทธานุภาพ ทำความรู้สึกว่ากระแสแสงสว่างจากอักขระยันต์เกราะเพชรทั่วกายส่องสว่างทั่วห้องที่เราฝึกกรรมฐาน ตอนนี้ก็ให้เราเชื่อมั่นได้ว่ายันต์เกราะเพชรอยู่กับเราแล้ว สิ่งสำคัญที่เป็นจุดพิเศษก็คือเราสามารถที่จะฝึกในการปลุกยันต์เกราะเพชรให้เกิดพลังอานุภาพความอัศจรรย์ได้เต็มกำลัง

สำหรับตอนนี้ก็ให้เราน้อมจิตอธิษฐาน ขอโมทนาสาธุกับเพื่อนกัลยาณมิตรที่ฝึกที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันทุกคน รวมทั้งที่มาฝึกมาปฏิบัติในภายหลัง ขอโมทนาสาธุกับบุญกุศลที่เราร่วมเจริญสมาธิจิตภาวนาทั้งเพื่อมรรคผลพระนิพพาน และเพื่อประโยชน์สุขของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขอคุณงามความดีนี้จงส่งผลให้เราทุกคนจงเกิดความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าเป็นมหาอุบาสกเป็นมหาอุบาสิกาผู้ใจบุญ ผู้มีความคล่องตัว ผู้มีสุข ผู้มีทรัพย์ ผู้มีปัญญาเต็ม เป็นปัญญาเลิศประเสริฐกว่าบุคคลทั้งหลาย

สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน อย่าลืมเขียนแผ่นทองอธิษฐานสร้างพระเจ้าองค์แสนจิตพระนิพพานด้วยกันทุกครั้งที่ยกจิตขึ้นพระนิพพานก็เขียน และช่วงนี้ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามร่วมกิจกรรมทำสมาธิถวายองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นกำลังพระราชหฤทัยให้พระองค์ท่านสามารถนำพาชาติบ้านเมืองผ่านเข้าสู่ยุคชาววิไลได้เร็วขึ้น

สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคนสวัสดี

เรียบเรียงและถอดความโดย คุณ Be Vilawan

คุณไม่สามารถคัดลอกเนื้อหานี้ได้