เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน 2567
เรื่อง ความหยาบความละเอียดของจิต
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดสติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลายร่างกายทุกส่วน ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน พร้อมกับความรู้สึกว่าเราตัดความเกาะเกี่ยวความสนใจในร่างกายขันธ์ 5 ไปพร้อมกับความรู้สึกที่เราปลดปล่อยผ่อนคลายนั้น ปล่อยวางร่างกาย
จากนั้นกำหนด พิจารณา วางความคิด ความวิตกกังวล ความฟุ้งซ่าน ความซัดส่ายออกของจิตใจทั้งหลายออกไปให้หมด ปล่อยวางทั้งร่างกายและจิตใจ
จากนั้นจึงมาจดจ่ออยู่กับลมหายใจ จินตภาพเห็นลมหายใจเป็นเหมือนกับแพรวไหมพลิ้วผ่านเข้าออกในกาย ลมหายใจละเอียด เบา สบาย จินตภาพเห็นลมหายใจตลอดทั้งสายทั้งกองลม พลิ้วผ่านเข้าออก ลมหายใจสัมพันธ์กับอารมณ์ใจ ลมปราณสัมพันธ์จิตใจ ยิ่งลมหายใจละเอียด เบา จิตยิ่งเข้าสู่ความสงบ ความโล่ง ปลอดโปร่ง เบา สบาย คือความสุข ความสงบของจิตใจ
จดจ่อติดตามอยู่กับลมหายใจตลอดทั้งสายทั้งกองลมนั้น จิตทรงสมาธิอยู่กับลมหายใจสบาย ลมหายใจที่ละเอียดเบา สงบ
ทรงอารมณ์ทรงความรู้สึกในความเบาความละเอียดของลมหายใจ
กำหนดรู้ว่าขณะนี้เรามีอานาปานสติเป็นวิหารธรรม คือธรรมอันเป็นเครื่องอยู่ของจิต ลมหายใจละเอียด เบา สบาย ระงับความวุ่นวาย ความวิตก ความฟุ้งซ่านของจิต สุข สงบ เบา สบาย
ลมหายใจยิ่งละเอียด ยิ่งสงบระงับ จิตเรายิ่งสงบเข้าถึงระดับของฌานที่สูงขึ้นตามลำดับ
จากนั้นกำหนดจิต นิ่ง หยุด หยุดจากการปรุงแต่ง หยุดจากความวุ่นวาย หยุด จนเข้าถึงอุเบกขารมณ์และเอกัคคตารมณ์
จากนั้นจึงจินตภาพว่าในเอกัคคตารมณ์นั้น จุดที่หยุด จุดที่นิ่ง จุดที่ลมดับ เรากำหนดน้อมนึกให้เห็นเป็นดวงแก้วสว่างขึ้น ขยายใหญ่ขึ้น มีความผ่องใสเจิดจ้ามากขึ้น
กำหนดรู้ว่าเราเดินจิต จากอานาปานสติขึ้นสู่กำลังของสมถะที่สูงขึ้น คือ เป็นกำลังจิตของกสิณ
เคล็ดลับในการปฏิบัติของกสิณก็คือ กำหนดน้อมนึกให้ภาพนิมิตกสิณเป็นหนึ่งเดียวกับจิตของเรา กสิณคือจิต จิตคือกสิณ ภาพของกสิณสัมพันธ์กับอารมณ์จิตและระดับสมาธิ รวมถึงกำลังอภิญญาจิตจิตตานุภาพจากอำนาจของกสิณสัมพันธ์กับความรู้สึกแสงสว่างความชัดเจน
กำหนดจุดแรกเห็นดวงจิตเราเป็นแก้วใสสว่าง ยิ่งสว่างยิ่งมีความรู้สึกว่าแสงรัศมีที่เปล่งประกายออกมาจากดวงจิตเรา มีกำลัง มีความสว่าง มีความสุข ยิ่งแผ่แสงสว่างจากจิตออกมาได้มากเท่าไหร่ เปล่งประกายออกมามากเท่าไหร่ กำลังของจิตตานุภาพได้เพิ่มพูนได้เพาะบ่มขึ้น ยิ่งสว่างจิตยิ่งเป็นสุข จุดที่จิตเป็นดวงแก้วใสสว่าง เรียกว่า “อุคคหนิมิต”
จากนั้นเดินจิตขึ้นไปจากอุคคหนิมิต ดวงแก้วใสเฉยๆ เรากำหนดเห็นเป็นเพชร ดวงแก้วใสกลายเป็นเพชรลูกเจียรนัยโดยรอบ 360 องศา เหลี่ยมมุมละเอียดระยิบระยับชัดเจน คราวนี้แสงสว่างยิ่งเปล่งประกาย แสงสว่างจากดวงจิตที่เป็นปฏิภาคนิมิตกลายเป็นเส้นแสงสีรุ้งเรียกว่า “ฉัพพรรณรังสี” คือรัศมีแห่งแสงทั้ง 7 สี แผ่กระจายไปจากดวงจิต ยิ่งส่องสว่างยิ่งเข้มข้นชัดเจน จิตยิ่งเกิดจิตตานุภาพที่แผ่ความเป็นทิพย์ออกมาจากดวงจิต จิตเข้าถึงปฏิภาคนิมิต จิตเข้าถึงจิตอันเป็นประภัสสร ทรงสภาวะจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกไว้ เป็นวสีเป็นการทรงฌานทรงอารมณ์แห่งกสิณ แสงสว่างยิ่งแผ่ยิ่งรู้สึกถึงความเป็นทิพย์ที่เปล่งประกายออกมาจากจิต ทรงอารมณ์ทรงสภาวะทรงความผ่องใสแห่งจิตอันเป็นประภัสสรนี้
เมื่อทรงภาพทรงสภาวะที่จิตสามารถทรงตัวอยู่ในอารมณ์ของฌาน 4 ในกสิณ คือปฏิภาคนิมิตได้แล้ว เราก็กำหนดจิต เดินจิตเข้าสู่กรรมฐานที่สูงขึ้น คือการควบกอง อธิษฐานจิตน้อมรำลึกนึกถึง พุทธานุภาพพุทธบารมีของพระพุทธองค์ ตั้งจิตอาราธนาบารมี คือนึกภาพองค์พระปรากฏอยู่ภายในดวงแก้วที่เป็นเพชรประกายพรึกนั้น เห็นกลางดวงจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกมีองค์พระที่เป็นเพชรประกายพรึกทั้งองค์อยู่ภายในดวงแก้ว องค์พระยิ่งสว่าง จิตในการทรงอารมณ์ในพุทธานุสติ คือรำลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พุทธบารมีของพระพุทธองค์ ความรู้สึกเคล็ดลับก็คือน้อมนึกว่า พุทธานุภาพพุทธบารมี ภาพนิมิตของพระพุทธองค์ ประดุจพระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาประทับอยู่กลางจิตกลางใจของเรา ในยามที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ก็ดี ในยามที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จประทับอยู่ในพระนิพพานก็ดี เราน้อมอาราธนา ว่าภาพของพระพุทธรูปที่เราพบเห็นในที่ใดก็ตาม พระพุทธรูปที่เราทรงนิมิตอยู่กลางจิตกลางใจของเราก็ตาม ภาพองค์พระพุทธรูปที่เราอาราธนาอยู่ 3 ฐาน คือเหนือเศียรเกล้าในศีรษะในร่างกายในอกของเราก็ตาม มีพุทธานุภาพประดุจพระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับอยู่ ณ สถานที่นั้นทุกครั้ง
คนที่น้อมนึกถึงในกำลังของพุทธานุภาพที่แตกต่างกัน คือระหว่างนึกถึงภาพพระเฉยๆ กับ นึกว่าพระพุทธองค์พุทธานุภาพของพระพุทธองค์อันไม่มีประมาณ พระพุทธองค์ทรงเสด็จมาประทับอยู่กลางจิตกลางใจของเรา
คนที่น้อมนึกในกำลังใจที่สูงว่าพระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ในจิตเรา กำลังและกำลังของพุทธานุภาพผลแห่งการปฏิบัตินั้นย่อมมีสูงกว่าแค่นึกแล้วเฉย ๆ อันนี้ก็จะพิจารณาละเอียดต่อไปในเรื่องของการพิจารณาการเจริญในพุทธานุสติ ซึ่งถือว่าในกรรมฐาน 40 กองนี้ พุทธานุสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานสำคัญที่อยู่ในหมวดของอนุสติ 10 แต่ถือว่าเป็นกรรมฐานที่สำคัญสูงสุด สำหรับบุคคลที่ปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน ปฏิบัติในเขตพระพุทธศาสนา
ในเรื่องของพุทธานุสติกรรมฐานนั้น การเข้าถึงกำลังแห่งพุทธานุภาพของบุคคลผู้ปฏิบัติในแต่ละบุคคลนั้นมีความแตกต่างกัน นับตั้งแต่
ข้อแรก คือระดับความละเอียด ความละเอียดความหยาบของจิต ความหยาบของจิตก็อาทิเช่น ในภาพภาพเดียวกัน ในวัตถุธาตุสิ่งเดียวกัน แต่ละคนยลเห็นแตกต่างกัน ด้วยความลึกซึ้งที่แตกต่างกันออกไป คนเห็นพระพุทธรูป 1 องค์ เห็นว่าเป็นพระอิฐพระปูน เห็นว่าเป็นเพียงแค่โลหะ ความหยาบความละเอียดบางครั้งก็บอกว่า ตนเองเป็นผู้ปล่อยวางได้ วัตถุก็เป็นเพียงแค่สมมุติ ดังนั้นพระอิฐพระปูนกับกำแพงหรือเสาก็ไม่ได้แตกต่างกัน บางคนกลับมีความสำคัญผิดเช่นนั้น คือคิดว่าปล่อยวางได้ มองเห็นว่าทุกสิ่งไม่ต่างกัน หรือบางคนก็มองว่าการกราบไหว้พระพุทธรูปนั้นเป็นสิ่งที่งมงาย เป็นสิ่งที่ไร้สาระ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความหยาบความละเอียดของแต่ละบุคคล
คราวนี้บุคคลที่มีความละเอียดสูงขึ้นมาอีก ก็พิจารณามองเห็น ว่ายามที่เราพบเห็นพระพุทธเจ้านี้ เรานึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า คือ พระเมตตาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ ส่วนบุคคลที่มีความละเอียดสูงขึ้นไปอีก มีกำลังจิต มีความเข้าถึงความเป็นทิพย์ มีกำลังของมโนมยิทธิ เวลาที่เห็นพระพุทธรูปที่ใดก็ตาม ก็นึกว่าเราเห็นพระพุทธองค์มาเสด็จอยู่ ณ สถานที่นั้น ณ จุดนั้น ยามที่กราบพระก็ไม่ใช่ว่ากราบพระอิฐพระปูน ยามเห็นพระพุทธรูป กราบพระพุทธรูป ไหว้พระพุทธรูป เรากราบถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ดังนั้นกำลัง ผลในการปฏิบัติในการเข้าถึงในการที่เราเห็นภาพพระก็มีความแตกต่างกัน อันนี้คือสิ่งที่เป็นประการสำคัญในเรื่องความหยาบความละเอียดของจิต
ในเคล็ดเรื่องความหยาบความละเอียดของจิต จำไว้อย่างหนึ่งว่า คนที่หยาบย่อมไม่เห็นความละเอียด แต่บุคคลที่มีจิตละเอียดนั้นย่อมมองเห็นความหยาบครอบคลุมไป ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราละเอียด กราบพระเรากราบถึงพระพุทธองค์บนพระนิพพาน เราจะเห็นได้ว่าบุคคลที่เขามีความหยาบ เขาจะมีความสำคัญผิดไล่เรียงลำดับขึ้นมา มีความเข้าใจแตกต่างกันขึ้นมา อันนี้คือประการที่ 1 ความละเอียดความหยาบของจิต
ดังนั้นในเรื่องของพุทธานุสติกรรมฐาน จำไว้ว่าเมื่อนึกภาพพระแล้ว เรานึกถึงว่าคือพระพุทธองค์ในนิมิตที่เรากำหนดไว้ ยามกราบพระเรากราบถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ทำเช่นนี้ทุกครั้งจนเป็นปกติ คนอื่นเขาทำไม่ถึงก็เป็นความหยาบของเขา เรากราบถึงพระพุทธองค์บนพระนิพพานได้ เป็นความละเอียดของเรา
ส่วนประการต่อมาก็คือเรื่องของ การพิจารณาในเรื่องของพุทธานุสสติ ในเรื่องของพุทธานุสตินั้นแบ่งออกเป็น
1 การกำหนดภาพพระ
2 เป็นการพิจารณา คือแนวทางของวิปัสสนาญาณ คราวนี้ส่วนหนึ่ง วิสัยของการปฏิบัติธรรม ดังที่เราได้ทราบได้เรียนได้ฝึกได้ทำความเข้าใจกันมา
วิสัยของการบรรลุธรรมประเภทที่ 1 ก็คือ สุขวิปัสสโก คือต้องใช้การพิจารณา ไม่มีความเป็นทิพย์ ไม่มีทิพยจักษุญาณ ไม่มีกำลังของมโนมยิทธิไม่มีกำลังของปฏิสัมภิทาญาณ ดังนั้นบุคคลที่เป็นสุขวิปัสสโกเวลาที่จะพิจารณาในเรื่องของพระพุทธเจ้าหรือพุทธานุสติกรรมฐาน ก็ต้องนึกพิจารณาว่าคุณของพระพุทธเจ้านั้นมีประการใด พระโพธิสัตว์ทรง บำเพ็ญบารมีทั้ง 30 ทัศ เหนื่อยยากนับตั้งแต่ 4 อสงไขย 8 อสงไขย 16 อสงไขยกำไรแสนกัป เกิดครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า นำธรรมะมาโปรดมาสั่งสอนมวลหมู่เวไนยสัตว์ให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน หากเราไม่พบพระพุทธเจ้า ไม่พบพระพุทธศาสนา เราก็คงหลงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในยุคมืดบ้าง ยุคที่เป็นสุญญกัป คือไม่มีพระพุทธเจ้าบ้าง ในยุคที่ไม่มีศีลธรรมไม่มีคุณธรรม เป็นยุคมืดเป็นความเสื่อม เมื่อมาเกิดแล้ว ก็มีแต่เวรมีแต่กรรม มีแต่พาหลงให้ไปจุติไปเสวยผลกรรมยังในนรก เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง อสูรกายบ้าง เพราะไม่มีคุณธรรม ไม่มีศีลธรรม ไม่มีศาสนา อันนี้เราก็ต้องพิจารณา พิจารณาถึงความดีของพระ พุทธเจ้า พิจารณาว่าพระพุทธองค์ทรงสั่งสอนอย่างไร และเราใช้ธรรมะนั้นดับทุกข์ได้อย่างไร อุปมาเหมือนบุคคลที่มองไม่เห็น ต้องพิจารณา
แต่คราวนี้บุคคลในวิสัยต่อมาคือ ได้ทิพยจักษุญาณ พอได้ทิพจักษุญาณ เราเห็นด้วยความเป็นทิพย์ เห็นด้วยจิต ญาณเครื่องรู้ก็มีบ้างพอสมควร เห็นภพภูมิต่างๆได้บ้าง แต่ญาณเครื่องรู้ก็ยังไม่เต็มทั้ง 8 มีญาณบางญาณ ก็พิจารณาธรรมพิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า พิจารณาเห็นภาพพระเห็นองค์พระได้ จริงๆอย่างสุขวิปัสสโกนี้บางครั้งให้เขานึกภาพองค์พระ เขาจะนึกไม่ออกถ้าเป็นสุขวิปัสสโกแท้ ๆ กำหนดนิมิตไม่ได้ ฌานฝึกมีความเข้าใจหรือทำได้เพียงอานาปานสติ เพราะถ้าทำกสิณได้ มันก็จะเป็นเหตุที่ทำให้ได้ทิพย์จักษุญาณ ถ้าได้ทิพย์จักษุญาณก็ถือว่าเข้าเขตวิชชา 3
ดังนั้นจริงๆแล้วสุขวิปัสสโกนี้ คือได้แค่อานาปาเต็มที่ ส่วนภาคของวิชชา 3 ได้ทิพย์จักษุ ญาณก็ถือว่าได้กสิณบ้างเล็กน้อย ไม่ได้สำเร็จวิชชาที่เป็นกสิณธาตุทั้ง 4 ก็พิจารณาเห็นภาพองค์พระได้ พิจารณาความดีของพระพุทธองค์ได้
แต่คราวนี้พอถึงฉฬภิญโญหรืออภิญญแปด อภิญญา 8 ฉฬภิญโญนี้ความสามารถก็คือเข้าเขตของอภิญญาใหญ่ การที่เราได้มโนมยิทธินี่ถือว่าได้เป็น ฉฬภิญโญขึ้นไป ระหว่างทิพย์จักษุญาณกับอภิญญาใหญ่ก็คือ ทิพจักษุญาณมองเห็น เช่นมองเห็นเทวดา มองเห็นพรหม มองเห็นพระพุทธองค์ แต่เห็นจากกายเนื้อแต่ไปเห็นในความเป็นทิพย์ แต่กำลังมโนมยิทธิก็คือใช้กายทิพย์ขึ้นไปอยู่ในสถานที่นั้น รวมถึงครอบคลุมว่า ถึงกายเนื้อเราอยู่บนโลกจิตเราอยู่บนโลกยังไม่ถอดออกไป แต่ก็สามารถเห็นในภพภูมิต่างๆที่ไล่สูงขึ้นไปได้ แต่ข้อพิเศษก็คือยกกายไปยังภพนั้นภูมินั้นได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดและก็ถือว่าเป็นอาวุธลับที่สุดของฉฬภิญโญหรือบุคคลที่ได้มโนมยิทธิก็คือ ถ้าเราปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด สิ่งสำคัญคือการที่เรายกกายทิพย์ ยกอาทิสมานกายขึ้นไปบนพระนิพพาน ขึ้นไปกราบแทบเบื้องพระบาทของพระพุทธองค์ให้ได้ ถ้าเราทำได้ตรงนี้แล้วเข้าใจว่าทำไม สำคัญอย่างไร การที่เราตั้งกำลังใจว่าตายเมื่อไหร่ เข้าถึงพระนิพพานในขณะที่จิตสุดท้ายก่อนตาย มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินวิสัย
ดังนั้นการที่เราปฏิบัติจนเข้าถึงกำลังของมโนมยิทธิ เราไปกราบถึงพระพุทธองค์บนพระนิพพาน จิตเราก็ถึงพระพุทธองค์มากกว่าบุคคลที่เขาเข้าถึงในกำลังของสุขวิปัสสโกหรือวิชชา 3 อันนี้ก็ให้พิสูจน์จากใจของเราเองว่า สมัยก่อนเราปฏิบัติยังไม่ได้กำลังของมโนมยิทธิที่เรายกจิตมากราบพระพุทธองค์ยังไม่ได้ ความรู้สึกผูกพัน ความรู้สึกนอบน้อม ความรู้สึกรู้คุณ ในคุณของพระพุทธเจ้า หลังจากที่เราได้มโนมยิทธิแล้วมันมีความต่างกันไหม กับสมัยก่อนที่เรายังไม่สามารถกราบพระได้ อันนี้ก็คือเรื่องของวิสัยในการปฏิบัติในพุทธานุสติในแต่ละวิสัย จนถึงขั้นสุดท้ายคือบุคคลที่ได้ในกำลังของปฏิสัมภิทาญาณ พอกำลังของปฏิสัมภิทาญาณมีสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบุคคลใดมีความแนบอยู่กับองค์พระมากเท่าไหร่ จะมีความรู้สึกเหมือนกับพระพุทธองค์ท่านทรงเสด็จประทับอยู่กับเรา หรือเราอยู่กับพระท่านตลอดเวลา ญาณเครื่องรู้ต่าง ๆ สิ่งที่มากระทบต่างๆ เราผุดรู้ขึ้น กระทบปุ๊บ มีกระแสธรรมตอบมาปั๊บตลอดเวลา คือปัญญาญาณธรรมทั้งหลายกระจ่างแจ้ง สูงละเอียดขึ้นไปอีก อันนี้ก็คือเป็นกำลังเป็นวิสัยของปฏิสัมภิทาญาณ ด้วยเหตุนี้ที่บอกว่าปฏิสัมภิทาญาณนั้นทรงพระไตรปิฎกได้หมดก็เพราะว่าอยู่กับพระพุทธองค์ ถึงเวลาธรรมะหลั่งไหลตรงมาจากพระพุทธองค์ แล้วก็เป็นสิ่งสำคัญในยามสังคายนาพระไตรปิฎก ลองคิดเอาว่าถ้าสังคายนาพระ ไตรปิฎก ระหว่างพระที่สังคยนานั้นท่านเป็นพระปฏิสัมภิทาญาณทั้งหมดอย่างสมัยพุทธกาล กับระหว่างพระที่เป็นพระปริยัติ คิดพิจารณาเอาตามปัญญาตน ธรรมะจะผิดเพี้ยนไปเพียงใด ดังนั้นการที่ปฏิบัติจนเข้าถึงปฏิสัมภิทาญาณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง มีผลกับอายุของพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง มีความสำคัญกับการดำรงอยู่ของมรรคผล
อย่างเราโชคดีพบครูบาอาจารย์คือหลวงพ่อพระราชพรหมญาณที่ทรงในปฏิสัมภิทาญาณและเป็นพระโพธิสัตว์ที่ลาพุทธภูมิ ท่านก็สอนเราเต็ม อัตรา
คราวนี้ก็ขอเสริมอีกนิดหนึ่ง ในเรื่องของพุทธานุสติ ในอีกวิสัยหนึ่งคือวิสัยของพุทธภูมิหรือพระโพธิสัตว์ จากสิ่งที่เป็นข้อสังเกตในเรื่องของพุทธภูมิหรือพระโพธิสัตว์ มีพุทธประเพณีที่ค่อนข้างสำคัญ ส่วนใหญ่พระโพธิสัตว์ มักจะเป็นท่านที่มีความยินดีในการสร้างบารมีในการสร้างพระ ดูประมาณ 99% หรือเกือบ 100% ทุกท่านทุกองค์ต้องเคยสร้างพระ แล้วก็สร้างเป็นจำนวนไม่น้อย หลวงปู่ปานท่านสร้างพระมากไหม หลวงพ่อฤาษีท่านสร้างพระทั้งพระเครื่องทั้งพระพุทธรูปมากไหม หรือแม้แต่พระมหาโพธิสัตว์ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
ถ้าใครเคยทราบประวัติ ท่านก็สร้างพระเครื่องคือพระสมเด็จจิตรลดา โดยรวบรวมดิน ผงธูป จากวัดวาอารามต่างๆที่สำคัญทั่วประเทศ น้ำมนต์จากวัดต่างๆทั่วประเทศ และมวลสารสำคัญอีกอย่างก็คือ ดอกไม้จากพวงมาลัยที่ท่านบูชาพระในยามสวดมนต์ในยามเจริญพระกรรมฐาน มาอบแห้งเป็นมวลสาร รวมว่าสิ่งที่เป็นของดีของขลังทั่วแผ่นดิน รวมมาสร้างอยู่ พระองค์ทรงแกะพิมพ์ด้วยตัวพระองค์เอง กดพิมพ์ปั๊มองค์พระด้วยพระองค์เอง ส่วนพระที่เป็นพระพุทธรูปที่พระราชทานตามวัดวาอารามสถานที่ราชการสำคัญต่าง ๆ ก็คือพระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปที่ผสมระหว่าง พระพุทธรูปสุโขทัยและอยุธยา พระราชทานไปในที่ต่างๆหลายแห่ง อันนี้ถ้าเราสังเกตดู พระโพธิสัตว์ท่านมีความยินดีในการสร้างเป็นพุทธบูชา สร้างพระพุทธรูปคือสร้างเป็นพุทธบูชา ทุกคนท่านสร้างพระทั้งหมด อันนี้คือวิสัยของพระโพธิสัตว์
ในเรื่องของพุทธานุสติกรรมฐานต่อมาที่สำคัญ ตอนนี้ก็ให้เรายกกำลังใจ ทรงภาพองค์พระในจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกสว่าง กำหนดใจของเราว่าใจของเราเข้าถึงไตรสรณคมน์ จิตของเรามีความนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้า หัวใจสำคัญหรือเคล็ดของการปฏิบัติในพุทธานุสติกรรมฐานก็คือ จิตเราถึงพระพุทธเจ้าไหม จิตเรามีความนอบน้อมต่อพระพุทธองค์มากน้อยแค่ไหน ยิ่งนอบน้อมอ่อนโยนถ่อมใจเรา สลายมานะทิฐิความกระด้างกระเดื่องทั้งหลายต่อพระพุทธเจ้าได้มากเท่าไหร่ พุทธานุภาพพุทธบารมีของพระพุทธองค์ยิ่งรวมลงสู่จิตของเราได้มากเพียงนั้น และความนอบน้อมความเคารพ ความรักในพระพุทธองค์นั้น มีผลสำคัญอย่างยิ่ง บุคคลที่บอกว่าเราเข้าถึงไตรสรณคมน์คือ มีพระพุทธเจ้า มีพระธรรม มีพระอริยสงฆ์เป็นสรณะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเป็นตัวตัดสังโยชน์ ไตรสรณคมบางคนบอกว่าเราเคยทำพิธีพุทธมามกะแล้ว พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ จน ตะติยัมปิ ครบหมดแล้วแต่ถึงเวลาถ้าใจเราไม่น้อมศรัทธาไม่น้อมเคารพเลื่อมใสสุดหัวจิตหัวใจ เราก็ยังเข้าไม่ถึงไตรสรณคมน์ ยิ่งบอกว่าพระพุทธรูปไม่ต้องกราบไหว้เป็นแค่พระอิฐพระปูน นั่นถือว่าห่างจากคำว่าไตรสรณคมอย่างยิ่ง ในเมื่อห่างจากคำว่าไตรสรณคมน์ก็ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลพระนิพพาน
ดังนั้นสิ่งสำคัญให้เราสำรวจใจของ เราตอนนี้ เราเคยเห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพรักในพระพุทธเจ้า อย่างหลวงพ่อพระราชพรหมญาณเวลากล่าวถึงพระพุทธเจ้าท่านก็กล่าวถึงด้วยความนอบน้อม ด้วยอัครนามอันวิจิตบรรจงไพเราะ “องค์สมเด็จพระจอมไตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระประทีปแก้ว องค์พระศรีสรรเพชญ์” ท่านกล่าวถึงพระพุทธองค์ด้วยความนอบน้อม เคารพหรือครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิพระอาจารย์โนรี ท่านจิตโต เวลากล่าวถึงพระพุทธองค์ท่านก็จะยกมือวันทาไหว้โดยจิต ท่านน้อมถึงพระพุทธเจ้าอันนี้ก็คือสิ่งที่เราเห็นเราพิจารณาและเรากำหนดรู้เดินตามรอยครูบาอาจารย์ ถ้าเราเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งว่าท่านทำทำไม เพราะอะไร ท่านยกมือไหว้ จิตท่านไหว้ถึงพระพุทธองค์ เวลากราบท่านกราบถึงพระพุทธองค์ด้วยความ นอบน้อม ถ้าเราทำโดยไม่ใช่สักแต่ว่าทำตาม เห็นว่ากล่าวถึงพระพุทธเจ้าก็ยกมือตามเราก็ยกมือแต่ใจเราไม่ได้ถึง จิตการเชื่อมโยงเชื่อมกระแสถึงพระพุทธองค์หรือกำลังพุทธานุภาพก็ปรากฏประจักษ์กับเราได้ไม่เต็มกำลัง
ดังนั้นพอเราเข้าใจหัวใจตรงนี้แล้ว เราก็ปรับใจของเรา พิจารณาใจของเราว่าความเคารพนอบน้อมต่อพระพุทธองค์มีเพียงใด ถ้าหากว่าเรากราบแทบเบื้องพระบาท ยกฝ่าพระบาทของพระพุทธองค์เช็ดลงกับผมกับศีรษะคือเศียรเกล้าของเราได้ไหม
เราลองดูความเคารพอาทิเช่น พุทธศาสนิกชนที่พม่า ผู้หญิงสยายผมให้พระสงฆ์เหยียบเพื่อเช็ดธุลีจากเท้าจากบาท อันนี้เป็นการแสดงความนอบน้อมความเคารพสูงสุด
ของเราในความเป็นทิพย์ตอนนี้ เราสามารถที่จะกราบแทบเบื้องพระบาทของพระพุทธเจ้ายกพระบาทของพระพุทธองค์ ประทับลงบนศีรษะเราได้ไหม ในขณะที่ทำเช่นนั้นก็กำหนดใจของเราว่า ใจของเรามีความเคารพนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าได้สุดหัวจิตหัวใจไหม เราทำเช่นนี้เรารู้สึกต่อพระพุทธเจ้าเช่นนี้ตลอดได้ไหมทุกครั้งตลอดไป ตัดมานะทิฐิในตนออกไป นอบน้อมอย่างถึง ที่สุด เมื่อนอบน้อมอย่างถึงที่สุด จิตเราก็จะกลายเป็นประดุจภาชนะที่เปิดกว้างรับกระแสแห่งพุทธานุภาพ รับกระแสแห่งธรรมะจากพระพุทธองค์ลงสู่จิตเราได้มากกว่าคนที่มีมานะทิฐิ มีความกระด้างกระเดื่องถือดี มีความรู้สึกตนว่าตนนี้ดีตนนี้เก่งตนนี้สูง
ดังนั้นหัวใจของพุทธานุสติกรรมฐานก็คือ จิตอันเข้าถึงไตรสรคมน์ จิตอันมีความนอบน้อมอ่อนโยน จิตอันเชื่อมกระแสแห่ง พุทธานุภาพของพระพุทธองค์ได้อย่างเต็มกำลัง
ตอนนี้เรากำหนดใจของเรา อาราธนาบารมีพระพุทธองค์ เสด็จนำพาจิตของเรา กายทิพย์ของเราขึ้นไปบนพระนิพพานอยู่ท่ามกลางมหาสมาคม มีพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรม พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย กายทิพย์เราปรากฏสว่างเป็นกายพระวิสุทธิเทพ จากนั้นบรรจงกราบ กราบด้วยความรู้สึกว่า ถึงซึ่ง ไตรสรณคมน์ สลายสิ้นซึ่งมานะทิฐิ เคารพนอบน้อมอย่างสุดหัวจิตหัวใจ อารมณ์จิตนี้ในยามที่เราอยู่บนโลกมนุษย์ กายเนื้อเรากราบพระ จงอย่ากราบเป็นพิธี กราบด้วยความรู้สึกว่าเรากราบถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน กราบด้วยความรู้สึกนอบน้อมสลายมานะจนสิ้น กราบด้วยความรู้สึกว่าเราเคารพรักพระพุทธเจ้าสุดหัวจิตหัวใจ การกระทำการปฏิบัติของเราแค่ตรงจุดนี้ เราคิดว่าพระพุทธองค์ท่านทรงรู้จิตเราไหม อันนี้ก็เช่นเดียวกันกับการที่เราไปกราบครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระสุปฏิปันโน แค่กราบคิดว่าท่านสัมผัสใจเราได้ไหม พอทำได้ความละเอียดของจิตเราก็จะสูงขึ้น เข้าถึงธรรรมได้มากขึ้น จำไว้ว่าเรามีกำลังของมโนมยิทธิ จงใช้กำลังของมโนมยิทธิให้เป็นประโยชน์สูงสุดและก็จงใช้กำลังของมโนมยิทธิให้ถูก ทางอย่าไปใช้แล้วก่อให้เกิดความเสื่อม
คราวนี้กำหนดจิต เรานั่งอยู่ท่ามกลางพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน กำหนดพิจารณาว่าข้าพเจ้าขอถึงซึ่งไตรสรณคมน์มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์เป็นสรณะตลอดชีวิตตราบเท่าเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ตั้งจิตขอพระพุทธองค์ทรงเป็นพระบรมครูถ่ายทอดธรรมะโดยตรงยังจิตของข้าพเจ้า ขอธรรมทั้งหลายให้จิตข้าพเจ้าจงได้รู้แจ้งแทางตลอดในธรรมทั้งปวงอันเป็น วิมุตติ ธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ธรรมอันเป็นเครื่องสละวางจากสรรพกิเลสทั้งปวง
พออธิษฐานแล้วเราก็นั่งขัดสมาธิ ปฏิบัติธรรมอยู่บนพระนิพพาน ท่ามกลางพระพุทธองค์ พิจารณาว่าเราโชคดีได้มาพบครูบาอาจารย์ที่เป็นสัมมาทิฐิ
อธิษฐานจิตต่อไป ขอบารมีพระพุทธองค์ทรงเมตตาสงเคราะห์ให้ข้าพเจ้าได้ปรากฏญาณเครื่องรู้ เห็นเรื่องราวต่าง ๆ ขอย้อนอดีตไปในสมัยพุทธกาล กำหนดจิตให้เห็นบุคคลที่พบเจอครูบาอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิฐิ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้เราได้รู้ อธิษฐานขอให้เห็นภาพสภาวะของพระเทวทัตซึ่งหาทางที่จะยึดอำนาจของพระพุทธองค์
อธิษฐานจิตต่อไปขอบารมีพระพุทธองค์ทรงเมตตาสงเคราะห์ให้ข้าพเจ้าได้ปรากฏญาณเครื่องรู้ เห็นเรื่องราวต่างๆ ขอย้อนอดีตไปในสมัยพุทธกาล กำหนดจิตให้เห็นบุคคลที่พบเจอครูบาอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิฐิ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้เราได้รู้อธิษฐาน ขอให้เห็นภาพสภาวะของพระเทวทัต ซึ่งหาทางที่จะยึดอำนาจของพระพุทธองค์ พระเทวทัตเห็นว่าพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นกษัตริย์ที่มีกำลัง คือมีกำลังแสนยานุภาพ มีกำลังรบ มีกองทัพอันเกรียงไกร มีบารมีอำนาจมากในยุคสมัยนั้น
พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นเป็นบุตรชายของพระเจ้าพิมพิสารซึ่งบรรลุเป็นพระโสดาบันในสมัยนั้นแล้ว เมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็จึงได้มอบราชบัลลังก์ให้กับพระเจ้าอชาตศัตรู พระเทวทัตเห็นว่าพระเจ้าศัตรูนั้นเป็นกษัตริย์หนุ่ม ยังอายุน้อย ในช่วงนั้นพระเทวทัตก็เริ่มสะสมศรัทธากำลังคน มีสาวกมีผู้มาเลื่อมใสจำนวนมาก มีกำลังฤทธิ์อภิญญา
วันหนึ่งเมื่อเล็งเห็นว่าจะดึงพระเจ้าอชาตศัตรูมาเป็นพวก ก็ใช้อภิญญาหายตัวไปปรากฏต่อเบื้องหน้าพระเจ้าอชาตศัตรูและแสดงฤทธิ์อภิญญาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เสกงูพิษขนาดใหญ่ 2 ตัว แสดงความน่ากลัวน่าหวาดหวั่นและควบคุมงูพิษนั้นไว้ พระเจ้าอชาตศัตรูก็เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใส จากนั้นก็เลยนับถือพระเทวทัตเป็นอาจารย์ของตนแทนที่จะนับถือพระพุทธเจ้า ตัวพระเทวทัตก็ล่อหลอกพระเจ้าอชาตศัตรูในเรื่องต่างๆ อาศัยอำนาจของพระเจ้าอชาตศัตรูในการทำร้ายพระพุทธเจ้าในหลายครั้ง ตามที่เราได้อ่านในพุทธประวัติก็ดี จนกระทั่งในที่สุด ผลของการที่พบคนพาล พระเทวทัตก็ยุแยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูสังหารพ่อของตนเอง คือพระเจ้าพิมพิสาร
ตัวพระเจ้าอชาตศัตรูก็ยังแข็งใจ ยังไม่สามารถที่จะหักห้ามใจประหารโดยตรงได้ก็จับเอาพระเจ้าพิมพิสารนั้นมาขังไว้แล้วก็ให้อดอาหาร ปรากฏว่าถึงเวลาผ่านไปพระเจ้าพิมพิสารก็ยังไม่สวรรคต ด้วยเหตุที่ว่าท่านทรงเสวยธรรมปิติจากการเดินจงกรม อยู่ในคุกถูกขังอยู่ก็เดินจงกรม ไม่มีอาหารให้กินก็เดินจงกรม เสวยธรรมปิติ ก็มีอายุยืนนานอยู่ได้ ถึงเวลาพระเจ้าอชาตศัตรูก็ไปถามว่าพ่อตายหรือยัง คนคุมคุกก็บอกว่ายังไม่ตาย ทำไมถึงยังไม่ตาย เพราะเดินจงกรม พระเจ้าอชาตศัตรูก็เลยสั่งให้คนเอามีดมากรีดเท้าเพื่อจะได้ไม่ต้องเดินจงกลม ซึ่งจุดนี้ก็เป็นบุพกรรมเก่าของพระเจ้าพิมพิสารที่เคยเดินสวมรองเท้าเข้าไปในเขตของพระเจดีย์
อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านก็เลยเตือน บอกว่าเวลาเดินเข้าเขตเสมา เขตเสมาคือพระอุโบสถหรือรอบพระเจดีย์ ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องพยายามถอดรองเท้า ไม่สวม อันนี้ก็ถือว่าเป็นการให้ความเคารพสถานที่
คราวนี้พอพระเจ้าพิมพิสารโดนกรีดเท้าไม่สามารถที่จะเดินจงกรมได้ ประกอบกับทุกขเวทนาจากแผลจากการอดอาหารจากความเจ็บปวด จากแผลที่เน่าเปื่อยจากความสกปรกที่อยู่ในคุก สุขภาพร่างกายก็ทรุดโทรมลง เรียกว่าป่วยใกล้ตายเต็มที คราวนี้ถึงวาระ ในวันที่ก่อนพระเจ้าพิมพิสารจะเสด็จสวรรคต วันนั้นก็เป็นวันที่มเหสีของพระเจ้าอชาตศัตรูได้คลอดพระราชบุตร คือลูกของพระเจ้าอชาตศัตรู พระมเหสีคลอดปุ๊บพระเจ้าอชาตศัตรูก็ไปดูลูก พออุ้มลูกกอดลูกปุ๊บ อารมณ์จิต ตอนนี้ก็ให้เราดูอารมณ์ใจ เข้าไปดูอารมณ์จิต พอเห็นหน้าลูกที่เพิ่งคลอด กอดลูก หัวอกพ่อ น้ำใจที่รักลูกมันปรากฏ คราวนี้บุญกุศลก็เข้ามาส่งผล เกิดความนึกถึงพ่อสุดหัวจิตหัวใจ นึกถึงพ่อคือพระเจ้าพิมพิสารสุดหัวจิตหัวใจ น้ำตาไหลออกมา ก็รีบสั่งให้คนไปดูว่าพ่อเป็นอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าถึงเวลา คนคุกไปดู ก็บอกว่าพระเจ้าพิมพิสารสวรรคต คือตายไปแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูก็เสียพระทัยอย่างหนัก เนื่องจากเป็นคนที่สั่ง ถือว่าทำปิตุฆาตคือฆ่าพ่อของตนเอง อันนี้ทั้งหมด ทั้งหมดทั้งปวงเป็นไปเพราะว่ากรรมมันให้พ้น อกุศลกรรมเข้า ก็เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นผิดเป็นถูก
ดังนั้นในระยะเวลานี้บุคคลทั้งหลายที่เห็นครูบาอาจารย์หรือคนที่เขามาสอนเป็นมิจฉาทิฐิแต่เห็นว่าถูก มันก็เป็นกรรมบังคับเป็นเรื่องปกติ คราวนี้ ก็ถึงเวลาที่อกุศลกรรมมันคลายตัว คือหัวอกพ่อมันปรากฏ ความสำนึกรู้คุณเห็นความดีของพ่อมันหลั่งไหลเข้ามาสู่ใจของพระเจ้าอชาตศัตรู ก็รู้ทันทีว่าอาจารย์ของเราผิดเสียแล้ว ก็ตัดสินใจที่จะเลิกนับถือพระเทวทัตเป็นอาจารย์อีกต่อไป ไม่ให้พระราชอำนาจคุ้มครองอีกต่อไป ไม่ถวายอาหารลาภสักการะต่างๆก็ไม่ให้ พอพระองค์ทรงเลิกจากการอุปัฏฐาก พระเทวทัตก็สู่ช่วงขาลงอย่างเห็นชัด มีความเสื่อม เสื่อมจากลาภสักการะ เสื่อมจากอภิญญาสมาบัติ ลูกศิษย์ก็ค่อยๆหายออกไปเรื่อยๆจนหมด จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายก็คือถูกธรณีสูบ
ส่วนพระเจ้าอชาตศัตรูก็กลับใจมานับถือพระพุทธเจ้า แล้วก็ใช้พระราชอำนาจในการเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งอันที่จริงแล้วพระเจ้าอชาตศัตรูนี้ถือว่าเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในพันปีที่ หนึ่งของพระพุทธศาสนา ท่านก็ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปเพื่อไถ่ความผิด แต่วาระกรรมก็ยังพาให้ท่านยังต้องไปเสวยวิบากกรรมในอเวจีมหานรก เนื่องจากกระทำปิตุฆาต เป็นอนันตริยกรรมอยู่ดี อันนี้ก็คือเหตุแห่งการคบคนผิด คบอาจารย์ที่เป็นมิจฉาทิฐิ เหมือนน้อยแต่มาก
ดังนั้นใครก็ตามที่เขามาสอนให้เราไม่ต้องเคารพไม่ต้องกราบไหว้พ่อแม่ไม่ต้องกราบไหว้พระพุทธรูป อันนี้ก็ทำใจได้เลย ถ้าเราเชื่อถ้าเราเห็นดีเห็นงามด้วย กรรมมันก็ค่อนข้างแรง ทั้งปรามาสพระรัตนตรัย ทั้งอกตัญญู กรรมพวกนี้มันก็เป็นกรรมใหญ่ กรรมหนัก เป็นวิบากกรรมที่ขัดขวางมรรคผลพระนิพพาน
จำไว้ว่าเมื่อเราปรามาสพระรัตนตรัยแล้วเราจะเอาดีในการปฏิบัติธรรมหรือพระพุทธศาสนาได้หรือ ในเมื่อเราปรามาสพ่อของเราคือพระพุทธองค์ จำไว้ว่าเมื่อเราอยู่ในพระพุทธศาสนา เราถือว่าเป็นพุทธบุตร ถ้าภาษาที่สวยๆก็เรียกว่าพุทธชิโนรส คือลูกของพระพุทธองค์
ดังนั้นจำไว้ว่าการกราบพระพุทธรูปไม่ใช่เป็นการกราบพระอิฐพระปูน แต่จิตเรากราบถึงพระพุทธองค์บนพระนิพพาน กราบถึงธรรมความดี กราบถึงความบริสุทธิ์สิ้นอาสวะกิเลสของพระพุทธเจ้า กราบด้วยความนอบน้อม ก็ขอให้จิตของเราทุกดวงนั้นเข้าถึงไตรสรณคมน์ เข้าถึงพุทธานุภาพของพระพุทธองค์กันทุกดวงจิตอย่างแท้จริง
คราวนี้สมควรกับเวลาก็ให้เราตั้งจิตอธิษฐานกับพระว่าขอให้พบเจอแต่ครูบาอาจารย์ที่เป็นสัมมาทิฐิ ขอให้ธรรมนี้ตรงต่อมรรคผลพระนิพพาน ขออย่าได้หวั่นไหวไปกับกระแสโลก ถึงแม้ว่าจะมีกระแสคือความมีชื่อเสียงมีพวกมากลากไป แต่ก็ขอให้จิตใจข้าพเจ้ามั่นคงแน่วแน่อยู่กับสัมมาทิฐิอยู่กับมรรคมีองค์ 8 อยู่กับไตรสรณคมน์ อยู่กับมรรคผลพระนิพพาน ไม่มีเสื่อมไม่มีถอยไม่มีคลายออกไป
จากนั้นกำหนดจิตแผ่เมตตาจากพระนิพพาน ตั้งใจว่าการปฏิบัติของเราเป็นปฏิบัติบูชา เป็นการปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด ผลบุญอานิสงส์ เราขอน้อมแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั่วทั้งจักรวาล น้อมกระแสจากพระนิพพานแผ่ลงไปยังอรูปพระพรหมทั้ง 4 พรหมโลกทั้ง 16 ชั้น อากาศธาตุเทวดาทั้ง 6 รุกขเทวดาภูมิเทวดาทั่วอนันตจักรวาล แผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์มนุษย์และสัตว์อันมีขันธ์ 5 กายเนื้อทั่วอนันตจักรวาล แผ่เมตตาให้กับโอปปาติกะสัมภเวสีเมืองบังบดลับแลมิติที่ทับซ้อนทั้งหลายทั่วอนันตจักรวาล แผ่เมตตาให้กับบรรดาเปรตอสุรกายทั้งหลาย แผ่เมตตาให้กับบรรดาสัตว์นรกในทุกขุม อธิษฐานจิตแผ่เมตตาเปิดสามแดนโลกธาตุ สว่าง ด้วยบุญกุศล ด้วยกระแสแห่งมรรคผลพระนิพพาน
จากนั้นตั้งจิตอธิษฐานขออาราธนาบารมี กำลังพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ขอกระแสแห่งความเป็นสัมมาทิฐิ ธรรมอันบริสุทธิ์วิมุตหมดจดตรงต่อมรรคผลพระนิพพานจงหลั่งไหลลงมาสู่ดวงจิตของพุทธบริษัท 4 ทั้งปวง ขอกระแสพุทธานุภาพจงมาสถิตยังพระพุทธรูปทุกพระองค์ พระเครื่องทุกองค์ พระเจดีย์พระมหาธาตุเจดีย์ พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุพระบรมธาตุทั้งหลาย เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดผลเกิดอานิสงส์เกิดธรรมอันตรงต่อมรรคผลพระนิพพานด้วยเทอญ
เมื่อแผ่เมตตาแล้ว อุทิศส่วนกุศลแล้ว ก็ตั้งจิตกราบลาพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ครูบาอาจารย์ทุกๆพระองค์อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความนอบน้อมเคารพ จากนั้นพุ่งจิตลงมายังกายเนื้อพร้อมกับน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาเป็นกระแสธรรม กระแสบุญ กระแสมรรคผล ชำระล้างฟอกธาตุขันธ์ ขันธ์ห้าของเรา ผมขนเล็บฟันหนังเป็นแก้วใส โครงกระดูกเป็นแก้วใส เส้นเอ็นหลอดเลือดเป็นแก้วใส กล้ามเนื้อทุกส่วน เซลล์ทุกเซลล์ อาการ 32 กลายเป็นแก้วใส ธาตุธรรมฟอกชำระล้างเซลล์มะเร็งเซลล์เนื้องอก โรคภัยไข้เจ็บเชื้อโรคทั้งหลายอาพาธทั้งหลายจงสลายไป ด้วยกำลังแห่งพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ กระแสธรรมฟอกธาตุขันธ์ ร่างกายข้าพเจ้าจงเปล่งปลั่งแข็งแรงสมบูรณ์ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ มีกำลังบุญคอยคุ้มครองอยู่
จากนั้นน้อมกระแส ขอบุญกุศลเปิดสายบุญสายทรัพย์สายสมบัติ ขอให้ขณะที่ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มีความคล่องตัว มนุษย์สมบัติจงหลั่งไหลให้ข้าพเจ้าได้ใช้บำรุงตนบำรุงครอบครัว ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างทานบารมีมหาทานบารมี เป็นมหาอุบาสกอุบาสิกา มีจิตผ่องใสเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาด้วยใจอันบริสุทธิ์
กำหนดจิตเห็นกายเนื้อเราสว่าง กระแสบุญสว่างเต็มห้องที่เราฝึกสมาธิปฏิบัติกรรมฐาน จิตมีความอิ่มเป็นสุข จากนั้นโมทนาสาธุกับกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันในวันนี้ และที่มาฟังมาปฏิบัติในภายหลัง ขอกำลังแห่งพุทธานุภาพจากการฝึกการปฏิบัติในพุทธานุสติ จงปรากฏพุทธานุภาพเต็มกำลัง
จากนั้นหายใจเข้าช้าลึกยาว พุทโธ ธัมโม สังโฆ กำหนดด้วยใจที่เป็นสุข สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน
ประกาศประชาสัมพันธ์อีกนิดหนึ่ง เรื่องของขอเมตตาสมาธิครั้งที่ 6 ที่จุฬาสมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯ ตอนนี้ก็เหลือที่ประมาณไม่กี่สิบที่ ถ้าใครจะลงทะเบียนก็พยายามรีบลงได้นะครับ ลงแล้วก็พยายามไป อย่าให้เสียโอกาสกับคนอื่นที่เขาอยากไป แล้วก็อย่าลืมช่วยกันเขียนแผ่นทองอธิษฐานการสร้างพระเจ้าองค์แสนดวงจิตพระนิพพาน อันนี้ก็ยังจำเป็นต้องเขียนอีกหลายหมื่นแผ่น แต่ก็ใกล้ใกล้จะครบ … แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นความตั้งใจ เป็นความมุ่งมั่น เป็นความศรัทธาของทุกคนที่ช่วยกัน
สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน ให้เราทุกคนมีความสุขมีความเจริญเข้าถึงมรรคผลพระนิพพานได้ มีจิตใจที่มั่นคงอยู่ในสัมมาทิฐิ ไม่หวั่นไหวไปกับกระแส ไม่หวั่นไหวไปกับกระแสโลก ไม่หวั่นไหวไปกับเรื่องราวต่างๆ มั่นคงอยู่กับพระพุทธองค์
สำหรับวันนี้สวัสดี พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
ถอดเสียงและเรียบเรียงโดย คุณ Be Vilawan