เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 2565
เรื่อง ความสำคัญในการแยกรูปแยกนาม
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
สวัสดีนะครับเสียงสัญญาณชัดเจนดีได้ยินชัดเจนทุกคนนะครับ ท่านที่เข้ามาในกลุ่มฝึกสมาธิเรียบร้อยแล้วก็กำหนดจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจสบาย น้อมกระแสความสงบ ลมปราณลมหายใจสัมพันธ์กับอารมณ์จิตใจ ลมหายใจยิ่งสงบ ละเอียด จิตยิ่งเบาสบาย จิตยิ่งเบาสบาย กายยิ่งปลอดโปร่งโล่ง ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งหมด
กำหนดรู้ในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ในความรู้สึกทั่วร่างกาย ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั้น คือการที่เรากำหนดผ่อนคลายร่างกายทั้งร่าง ยิ่งผ่อนคลายมากเท่าไหร่ กำหนดความรู้สึกเชื่อมโยง ว่ายิ่งผ่อนคลายคือการที่เรายิ่งปล่อยวางร่างกายขันธ์ 5 จากความรู้สึก จากความเกาะ จากความสนใจ ผ่อนคลายร่างกายคือปล่อยวางร่างกาย ให้ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับร่างกายนั้นปล่อยวางออกไป
เหตุผลของการปล่อยวางร่างกาย หรือการตัดขันธ์ห้า ไม่ว่าจะโดยวิธีการที่เราเจริญในวิปัสสนาญาณ ไม่ว่าเราจะพิจารณากาย ทั้งในส่วนของพิจารณาในความเป็นธาตุทั้งสี่ พิจารณาในอสุภสัญญา พิจารณาในอาการสามสิบสอง การพิจารณาทั้งหมดก็เพื่อปล่อยวางร่างกาย แต่วิธีที่หากเราพัฒนาฝึกฝนการตัด การปล่อยวางร่างกาย ก็จะรวดเร็ว ง่าย ลัด ทำให้การปฏิบัติธรรมของเราเข้าสู่ฌาน เข้าสู่ความสงบ เข้าสู่มรรคผลได้เร็วยิ่งขึ้น
ผ่อนคลายคือตัด คือปล่อยวางร่างกาย และเหตุผลที่สำคัญในการที่เราตัดหรือปล่อยวางร่างกายก็คือเพื่อการแยกรูปแยกนาม แยกกายแยกจิต แยกกายเนื้อจากกายทิพย์ แยกอาทิสมานกายออก เหตุผลที่จำเป็นต้องแยกรูปแยกนาม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่จิตเรายังเกาะร่างกาย นามรูปคือทั้งรูปและนามยังไม่แยกออกจากกัน การเจริญวิปัสสนาญาณที่จะเข้าไปตระหนักรู้ถึงว่า เราไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่ใช่เรา เราคือกายทิพย์ หรืออาทิสมานกายที่มาอาศัยกายเนื้อนี้อยู่ การแยกรูปแยกนามนั้น ทำให้การเจริญวิปัสสนาญาณในระดับขั้นของเรื่องของการกำหนดจิตสุดท้ายก่อนตายก็ดี การกำหนดในเรื่องการตัดสังโยชน์รวมถึงการกำหนดในการตัดภพภูมิ การกำหนดใช้พลังของกายทิพย์หรืออาทิสมานกาย การใช้กำลังของมโนมยิทธิ หากยังแยกรูปแยกนามไม่ได้ แยกกายเนื้อกายทิพย์ไม่ได้ ธรรมที่จะปฏิบัติในขั้นสูงก็ไม่สามารถเข้าถึง
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นสำคัญที่การแยกรูปแยกนามยิ่งพิจารณาชัดเจนมากเท่าไหร่ วิปัสสนาญาณของเรายิ่งมีความลึกซึ้ง ญาณความเป็นทิพย์เครื่องรู้ที่เชื่อมโยงกับสภาวะความเป็นทิพย์ของจิตก็สามารถที่จะเชื่อมต่อลงมายังจิตเราได้มากขึ้นเพียงนั้น หากเรายังติดร่างกาย เกี่ยวข้องกับร่างกาย การปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นการเจริญวิปัสสนาญาณ หรือการใช้กำลังของมโนมยิทธิก็จะไม่ไปถึงไหน จะขาดความก้าวหน้า เอาแค่ในส่วนของการเจริญวิปัสสนาญาณ เมื่อจิตของเรายังแยกรูปแยกนามไม่ได้ก็แปลว่าจิตเรายังมีความเกาะในร่างกายอย่างยิ่ง ในเมื่อจิตเรามีความเกาะในร่างกายอย่างยิ่ง ปัญญาที่จะเจริญวิปัสสนาญาณตัดสังโยชน์ข้อสำคัญคือสักยะทิฐิ ความสัมพันธ์มั่นหมายว่าร่างกายนี้ไม่ใช่กายของเรา เราคืออาทิสมานกาย ก็ไม่อาจขาดสะบั้นลงไปได้
ในเมื่อสักยะทิฐิเรายังตัดไม่ได้ สังโยชน์ข้อแรก เราก็ยังตัดไม่ได้ ดังนั้นเรื่องของความเป็นพระอริยะเจ้านี้ยังไม่ต้องไปพูดถึง จุดนี้เป็นจุดที่ง่ายที่สุด เป็นจุดที่จะต้องผ่านให้ได้
ดังนั้น การเจริญวิปัสสนาญาณจึงมีเป้าหมายประการที่หนึ่ง ที่มีความสำคัญก็คือการแยกนามรูป คือแยกรูปแยกนาม แยกกายเนื้อกายทิพย์ ซึ่งการที่เราจะแยกได้ก็คือจิตยอมรับตามความเป็นจริงว่าเราไม่ใช่ร่างกาย ขันธ์ 5 นี้ไม่ใช่ตัวเราของเรา เราไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่ใช่เรา เราคือ อาทิสมานกายที่มาอาศัยขันธ์ห้านี้ตามวาระ ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามแรงวิบาก ตามแรงกรรมหรือตามสิ่งที่อธิษฐานบารมีลงมา ถึงเวลาทิ้งร่างกาย ทิ้งสังขารให้เป็นอสุภเน่าเปื่อยอยู่กับโลกมนุษย์ จิตก็เดินทางต่อไปในสังสารวัฏบ้าง หรือเข้าถึงซึ่งพระนิพพานในจิตสุดท้ายก่อนตายบ้าง ตามเหตุตามปัจจัยของเรา
ตอนนี้เราก็พิจารณาตามแล้ว มีความเข้าใจแล้ว พิจารณาตัดร่างกาย ยิ่งตัดกายมากเท่าไหร่พิจารณาร่างกายมากเท่าไหร่ จิตก็ยิ่งมีความบริสุทธิ์ จิตก็ยิ่งเกิดปัญญาญาณ แยกรูปแยกนามมากขึ้น อารมณ์จิตในความห่วงความเกาะในร่างกายก็จะค่อยๆคลายลง เบาลง
ในช่วงต้นของการฝึกการปฏิบัติ สำหรับคนที่เพิ่งฝึก คนที่พึ่งมาใหม่ ถึงแม้ว่าพิจารณา แต่อารมณ์ในส่วนลึกก็ยังมีความเกาะ ยังมีความห่วง ความเกาะความห่วงในร่างกาย ความกลัวตายต่างๆนั้นมันฝังรากลึกลงไปในระดับที่เรียกว่าสัญชาตญาณ แต่ที่เมื่อไหร่การที่เราฝึกการที่เราพิจารณาบ่อยเข้าซ้ำเข้า พิจารณานานๆเข้า อุปมาเหมือนกับมีรากไม้ซึ่งมีความเหนียวอย่างยิ่ง มันไม่ใช่เป็นว่าเราพิจารณาครั้งเดียวมันจะขาดสะบั้นไปได้ เหมือนกับถึงเราจะมีทั้งมีดที่มีความคมคือปัญญาในวิปัสสนา หรือแรงคือกำลังของฌาน แต่การที่จะตัดรากไม้ที่มันมีความเหนียวแน่น คือฝังลึกลงไปในระดับของจิตใต้สำนึกและสัญชาตญาณของเรา มันก็มีความจำเป็นที่จะต้องเถือเข้าเถือออก เถือครั้งแล้วครั้งเล่า ทำซ้ำฝึกซ้ำเจริญซ้ำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในที่สุดรากไม้ที่มีความเหนียวอันได้แก่สังโยชน์ความเกาะเกี่ยวในร่างกายนั้น ความเกาะยึดในขันธ์ห้านั้น มันค่อยๆคลาย ค่อยๆเบา ค่อยๆขาดไปในที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ตามอันที่จริงกำลังใจในการตัดสักยะทิฐิ ตัดขันธ์ห้า อารมณ์ในระดับของพระอริยะเจ้าเบื้องต้น คืออารมณ์ของพระโสดาบัน อารมณ์ตัดสักยะทิฐิมีเบาๆ เพียงแค่ยอมรับว่าเรานี้ชีวิตนี้ของเราต้องมีความตายไปในที่สุด ความตายที่ว่านั้นเราหนีไม่พ้นแน่นอน ความทุรนทุรายฝืนอารมณ์ขัดขวางไม่ยอมรับว่าฉันไม่ตาย มันเบาบางลงไปกว่าปุถุชนคนทั่วไป
หากพิจารณาดูอารมณ์ของผู้ที่เข้าถึงอารมณ์ความเป็นพระอริยะเจ้าเบื้องต้นคือความเป็นพระโสดาบัน ตั้งอารมณ์ใจตั้งอารมณ์จิตไว้ว่าตายเมื่อไหร่เราไปพระนิพพาน ความรู้สึกของอารมณ์จิตเช่นนี้ หากถึงเวลาวาระ มีบุคคลมาบอกว่าวันรุ่งขึ้นหรืออีกเจ็ดวัน สามวัน เจ็ดวันเราจะต้องถึงแก่ความตาย ถ้าเป็นปุถุชนวิสัยก็จะเกิดความกลัวอย่างยิ่ง ความหวาดความตายอย่างยิ่ง มีความทุรนทุรายกลัวความตายอย่างยิ่ง อารมณ์ของความกลัวตายนี้เป็นธรรมดา ปุถุชนนั้นความกลัวตายเกิดขึ้นจากอวิชชาคือความไม่รู้ ความไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปไหน ตายแล้วจะเป็นยังไง สภาวะความตายนั้น มันน่ากลัวแค่ไหน และอีกอย่างหนึ่งก็คือยังมีความห่วงความเกาะในกิจการงาน ทรัพย์สมบัติบุคคลอันเป็นที่รัก สมมุติทั้งหลายที่ปรากฏ ห่วงบ้าน ห่วงทรัพย์สิน ห่วงเงินทอง ห่วงหน้าที่ ห่วงหัวโขน อารมณ์ใจก็จะมีความแตกต่างกันกับบุคคลที่เคยฝึกเคยปฏิบัติเคยเจริญพระกรรมฐาน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถึงแม้ว่าเคยเจริญพระกรรมฐานมา แต่อารมณ์ความวางความเบา อารมณ์ใจที่มีความตัดในการเจริญวิปัสสนานั้นก็ยังมีกำลังไม่เท่ากัน บางคนฟังธรรมพิจารณาเพียงไม่นานก็ยอมรับตามความเป็นจริง จิตก็ไม่เกิดความทุรนทุรายกลัวตายขนาดนั้นแต่บางคนถึงฝึกมาแล้วปฏิบัติมาแล้ว แต่ส่วนลึกในระดับของจิตใต้สำนึก ในระดับของอนุสัยจิตยังมีความกลัวตายอย่างยิ่ง ยังมีความเกาะอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าปฏิบัติมานานก็อาจจะมีอารมณ์วาง อารมณ์ตัด เบา ไม่เท่ากับคนที่เขาฝึกมาในเวลาไม่นานมาก่อนก็เป็นได้ ซึ่งแล้วแต่วาระจิตของแต่ละคน แต่ละบุคคลมีความยึดมั่นถือมั่นหนักเบาไม่เท่ากัน มีปัญญาญาณในวิปัสสนาเข้มแข็งชัดเจนแตกต่างกัน มีอารมณ์ความรู้สึกปล่อยวางเข้มข้นเบาบางแตกต่างกัน เป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลพึ่งจะพิจารณา พึงจะใคร่ครวญดูในจิตของตนเองว่าเราวางไว้แค่ไหน เราเข้าใจได้แค่ไหน เรายอมรับความเป็นจริง คือมรณานุสติ ยอมรับความเป็นจริงว่าเราไม่ใช่ร่างกายได้แค่ไหน
พิจารณาจนเกิดปัญญามีความเข้าใจแล้ว เราก็กำหนดปล่อยวางร่างกายตัดร่างกาย ถ้าสำหรับบางคนพอตัดปล่อยวางร่างกายปุ๊บจิตรวมเข้าสู่ฌานได้ทันที การตัดร่างกายนำจิตเข้าสู่ความนิ่งความสงบเข้าสู่ฌานสี่ในอานาปานสติได้ทันที สำหรับคนไหนเข้าถึง รู้สึกได้ถึงความดับ ความสงบระงับของลมหายใจ ก็ให้กำหนดรู้ สงบนิ่งปล่อยวาง ตัดร่างกาย
ประคองความนิ่ง ความหยุด ความสงบ กำหนดรู้อยู่กับจิตเพียงอย่างเดียว
ให้จิตชิน ให้จิตทรงกำลังของความสงบ
สงบนิ่ง ประคับประคองความนิ่ง ความสงบ ความรู้สึกที่เราปล่อยวางตัดร่างกายไปแล้ว อยู่กับความสงบ ความผ่องใส ความเบาของจิต
ประคองอารมณ์ฌาน อารมณ์ความสงบของจิตไว้ จนรู้สึกได้ว่าจิตของเราสงบระงับ ตั้งมั่นเป็นเอกัคคตารมณ์อย่างยิ่ง พยายามฝึกจนจิตของเราพัฒนาถึงระดับที่ว่า เมื่อผ่อนคลายร่างกายเมื่อไหร่ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม พร้อมกับผ่อนคลายทั่วร่างกายเมื่อไหร่ เป็นการตัดร่างกายทิ้งกายทั้งหมด เป็นเทคนิคในการฝึกในการปฏิบัติที่ทำให้เข้าสู่ฌานได้เร็ว เข้าสู่กำลังของมโนมยิทธิได้เร็ว ฝึกทิ้งกาย ฝึกตัดกาย
สงบ นิ่ง หยุด ในความนิ่งในความสงบ ในความผ่องใสความเบาของจิต ตัวรู้เราก็จะมีสติกำหนดตัวรู้ในความสงบนิ่ง หยุดจากการปรุงแต่งทั้งหลาย หยุดจากสภาวะที่จิตเราซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆ สงบนิ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์และเป็นอุเบกขารมณ์
เมื่อจิตเราหยุดนิ่งแล้ว มีกำลังประคับประคองความสงบ คือทรงฌานมาในระดับช่วงเวลาหนึ่ง จิตเกิดกำลังของความสงบ เรายกกำลังของฌานสี่ในอานาปานสติต่อมาขึ้นมาเป็น กำหนดให้เห็นจิตคือจิตของเรานั้นสว่างใสเป็นเพชรประกายพรึก คือพรึบขึ้นมาจากอุคคหนิมิต คือแก้วใสเฉยๆหรือสว่างเรือง ๆ มาเป็นเพชรเม็ดงามทรงกลมเจียระไนระยิบระยับ มีสี เป็นสีรุ้งฉัพพรรณรังสี เป็นเส้นออกมาจากจิตของเราโดยรอบ 360 องศา กำหนดเห็นจิตเป็นเพชรประกายพรึก สว่าง เป็นกำลังของฌานสี่ในกสิณ
กำหนดจิตว่าเมื่อไหร่ที่เรากำหนดอันนี้ก็คือการตั้งกำลังใจเป็นเทคนิคที่ทำให้เร็วขึ้น เมื่อเราทรงในกสิณจิต จิตของเราในขณะที่กำหนดเป็นเพชรประกายพรึก เป็นการควบกองของกสิณทั้งสิบกอง อันได้แก่ กสิณดิน น้ำ ลม ไฟ กสิณสี วรรณะกสิณทั้งสี่ และกสิณที่เป็นกสิณแสงสว่าง กสิณที่เป็นอากาศกสิณคือกสิณความว่าง กำหนดจิตว่า กสิณทั้งสิบรวมอยู่ในกสิณจิตของเรา
เมื่อเรากำหนดว่าเมื่อไหร่กสิณรวมทั้งสิบกองพร้อมกัน นั่นก็คือถึงพร้อมซึ่งกสิณทั้งธาตุ เจริญเดินธาตุทั้ง 4 ครบทั้งหมด อันเป็นบาทฐานของอภิญญา กำหนดว่าจิตที่เป็นเพชรประกายพรึก เป็นการรวมกองกสิณทั้งหมดสิบกองพร้อมกัน กำหนดทรงอารมณ์ คือทรงฌาน ทรงอารมณ์ให้ชินให้เกิดความตั้งมั่น กำหนดว่าจิตอันเป็นกสิณจิต นั่นก็คือแก้วสารพัดนึกในการที่เราเจริญฌานทรงอารมณ์ ทรงความผ่องใสสูงสุด ทรงอารมณ์จิตที่เป็นสุขที่สุด
จากนั้นจึงอธิษฐานกับจิตที่เป็นแก้วสารพัดนึก จิตที่เป็นทิพย์ จิตที่มีกำลังแห่งฌาน ยิ่งความสว่าง ยิ่งความใส ยิ่งความแพรวพราว ยิ่งความสุขเต็มล้น เอิบอิ่มดื่มด่ำในจิตมากเท่าไหร่ กำลังความเป็นทิพย์ กำลังความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์จากดวงจิตคือกสิณจิตก็ยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นเท่านั้น ความสัมพันธ์ของการฝึกกสิณก็คือ แสงสว่างความชัดเจนความระยิบระยับแพรวพราว กระแสอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นสุขอย่างยิ่งสัมพันธ์กับกำลังแห่งฌานสมาบัติ ยิ่งชัดยิ่งสว่างยิ่งเป็นสุข ความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ของกสิณจิตยิ่งปรากฏชัดเจนเพียงนั้น
เมื่อเราเข้าใจความสัมพันธ์ทุกส่วน เราก็ย่อมมีปัญญาความฉลาดที่จะรู้ประคับประคองระมัดระวังรักษาประคองนิมิตแห่งกสิณให้อยู่ในสภาวะที่ยอดเยี่ยมที่สุดดีที่สุดเต็มกำลังที่สุดได้ เมื่อเข้าใจจุดนี้ การปฏิบัติก็ย่อมก้าวหน้ากว่าผู้ที่ยังไม่เข้าใจ กะพ่องกะแพ่ง ติดๆดับๆ อุปมาเหมือนหลอดไฟที่ติดๆดับๆ ไม่มีความสว่าง ไม่มีความเสถียร กำลังของฌาน กำลังของจิตยังไม่มีความตั้งมั่น
กำหนดความสว่างของจิต ความผ่องใสของจิต ความเป็นสุขความระยิบระยับแพรวพราวชัดเจน ยิ่งเห็นจิตเป็นเพชรระยิบระยับสวยงามล้ำค่ามีความเป็นทิพย์อย่างยิ่ง สว่างอย่างยิ่ง จิตของเราก็ยิ่งเป็นสุขอย่างยิ่ง
กำหนดจิตให้เกิดความสว่างแพรวพราวระยิบระยับ ทรงอารมณ์ไว้ ความแพรวพราว ความสว่าง ความสุข ความเอิบอิ่ม ความผ่องใสชัดเจน กสิณจิตของเราสว่างแพรวพราวชัดเจน ประคองอารมณ์ไว้ เสริมในส่วนของการฝึกกสิณจิต การฝึกกสิณจิตนั้น สำหรับบางคน กำหนดให้จดจ่อนิ่งๆนานๆไม่สามารถทำได้ เทคนิคในการฝึกกสิณก็คือจงเล่นกับกสิณ คือทำความรู้สึกย่อเล็กขยายใหญ่เลื่อนซ้ายเลื่อนขวาแต่จิตเราล็อคเป้าอยู่กับดวงกสิณนั้นไว้ตลอดเวลา การที่เราขยับไปขยับมา ขยาย ย่อ เลื่อนขวาเลื่อนซ้าย ขึ้นบนลงล่าง วนรอบกาย 360 องศา เล่นให้มันครอบคลุม เป็นเพชรคลุมโลกทั้งโลก คลุมจักรวาลทั้งจักรวาล คลุมภพทั้งภพ กำหนดเล่นไปเรื่อยๆ ในขณะที่เราเล่น ขณะที่เราจดจ่ออยู่กับการกำหนดกสิณก็เท่ากับจิตเรายังทรงในอารมณ์กสิณอยู่ไม่คลาด ยิ่งเล่นนานเท่าไหร่ เล่นกำหนดไปสิบนาที ยี่สิบนาที หนึ่งชั่วโมง การทรงฌาน
การทรงอารมณ์กสิณก็ยิ่งเพลิดเพลินรวมทั้งกำลังของกสิณ ยิ่งขยับยิ่งย้ายยิ่งเคลื่อนตัวยิ่งบังคับได้ดั่งใจ ไอ้อาการที่เราบังคับนิมิตกสิณ ย่อเล็กขยายใหญ่เลื่อนซ้ายเลื่อนขวาได้ดั่งใจ มันเป็นตัวเชื่อมโยงผูกพันโดยตรงกับการอธิษฐานฤทธิ์ ทำให้เกิดผล เพราะอารมณ์จิตที่เราเคลื่อนดวงกสิณ สั่งย่อเล็กขยายใหญ่ได้ดังใจนึก อารมณ์นั้นก็คือจิตเรามีกำลังแห่งจิตตานุภาพอยู่เหนือดวงกสิณ บังคับได้ดั่งใจ เมื่อกำลังจิตมันเกิดกำลังในการบังคับนิมิตกสิณได้ ในที่สุดในภาคของอภิญญาใหญ่ก็คือจิตเราเกิดกำลังในการบังคับให้เกิดอภิญญา คือความเป็นไปดังใจคิดทุกอย่างได้ กำหนดคิดให้ดวงกสิณเป็นดวงใหญ่มีความแข็ง บังคับให้ใหญ่ขึ้นได้ บังคับให้โปร่งใสเหมือนความว่างได้ บังคับให้เป็นแสงสว่างได้ ในที่สุดก็บังคับสภาวะกำแพงให้มันว่างกลายเป็นความว่างได้ การบังคับเล่นกสิณคือบังคับให้ดวงกสิณเป็นไปดั่งใจนึกนั้น ตัวนี้คือตัวฝึกพลังจิตที่จะเชื่อมโยงนำพาไปสู่อภิญญาใหญ่
กำหนดคิด กำหนดพิจารณา กำหนดไตร่ตรอง ให้จิตเราเกิดการผุดรู้ การหยั่งรู้ การตระหนักรู้ สู่สภาวะ สู่การปฏิบัติ สู่การฝึกให้เกิดผล ตอนนี้ก็จะให้เวลา เราทุกคนกำหนดเล่นกสิณ บังคับควบคุม ย่อเล็กขยายใหญ่ เปลี่ยนเป็นกสิณดิน น้ำ ลม ไฟตามใจนึก ตามแต่เราจะคิด ตามแต่เราจะนึกของแต่ละบุคคล ความคล่องตัว ความชัดเจน ความว่องไว ความฉับไว กำหนดรู้ กำหนดเห็นนิมิต กำหนดเกิดทันใจ ทันทีทันใจ เราจะเห็นได้ว่าการเข้าฌานแค่ลัดนิ้วมือเดียวมันก็จะมาเชื่อมโยงกับเรื่องของกสิณ กำหนดกสิณคือต้องพรึบ เกิดดวงกสิณทันที ณ บัดนั้น กำหนดเล็กกำหนดใหญ่ต้องพรึบ ไม่ใช่อืดอาจยืดยาด กว่าจะเกิด กว่าจะเค้น ต้องพรึบ ต้องคล่องตัว ต้องรวดเร็ว
ตอนนี้ก็ให้เรากำหนด เห็นดวงกสิณ เล่นดวงกสิณไปของแต่ละบุคคล กำหนดด้วยความรู้สึก ด้วยความสนุก ด้วยความสบายใจ อารมณ์เล่นก็คืออารมณ์สนุก อารมณ์เพลิดเพลิน อารมณ์สบาย ไม่มีสภาวะความกดดัน ไม่มีสภาวะความเครียด ไม่มีความรู้สึกว่าถูกบีบบังคับให้ทำให้ฝึก ฝึกกสิณ เล่นกสิณ ภาษาโบราณในการปฏิบัติถึงใช้คำว่า “กีฬาสมาบัติ” กำหนดรู้ เคลื่อนที่เคลื่อนไหวรวดเร็วทันใจ ความสว่างแพรวพราวชัดเจน
กำหนดในดวงกสิณ บังคับควบคุมถึงจุดในระดับหนึ่งที่เราทำจนเกิดความคล่องตัว คราวนี้ต่อมาให้เรากำหนดเห็นจิตที่เป็นกสิณจิต เป็นเพชรละเอียดที่สุด สว่างที่สุด จิตเป็นสุขที่สุด จากนั้นอธิษฐานจิตเพิกภาพดวงจิตที่ใส กำหนดให้เป็นองค์พระพุทธรูปที่เป็นเพชร พิจารณาว่าเป็นเพชรที่ถูกเจียระไนระยิบระยับเป็นเพชรทั้งองค์ มีความละเอียด มีความสว่าง มีความแพรวพราว เห็นตั้งแต่ยอดพระเกตุ พระพักตร์ พระอุระขององค์พระ ทุกอย่างเป็นเพชรระยิบระยับ สว่างแพรวพราวละเอียดอย่างยิ่ง เราจะเห็นได้ว่ายิ่งกสิณมีความแพรวพราวเป็นเพชรมากเท่าไหร่ การกำหนดภาพองค์พระเราก็ยิ่งชัดเจนสว่างเป็นเพชรแพรวพราวมากขึ้นเพียงนั้น ทุกอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์ เรียงร้อยสืบต่อจนเกิดความก้าวหน้าของจิต
กำหนดน้อมจิตต่อไปว่าเราอาราธนาบารมีภาพพุทธนิมิตเป็นพุทธบารมีของพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน กำหนดอาราธนาบารมียกอาทิสมานกายข้าพเจ้าขึ้นไปบนพระนิพพานอยู่เบื้องหน้ามหาสมาคม คือมีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธานท่ามกลางพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกพระองค์บนพระนิพพาน
วันนี้มีพิเศษ หลวงพ่อวิริยังค์ท่านเมตตามาด้วยเป็นพิเศษ กำหนดนะคราวนี้กำหนดต่อไปนะ อาทิสมานกายกายพระวิสุทธิเทพของเราแต่ละบุคคลตอนนี้ กำหนดรู้สึกสัมผัสถึงความเป็นเพชรสว่างแพรวพราวชัดเจนอย่างยิ่ง กำลังใจกำลังฌานรวมตัวจนเกิดสภาวะจนกลายเป็นมโนมยิทธิเต็มกำลัง อาทิสมานกายกายพระวิสุทธิเทพสว่างแพรวพราวเป็นเพชรละเอียดยิบระยิบระยับ ละเอียดอย่างยิ่ง สว่างอย่างยิ่ง รู้สึกถึงได้ว่ากายพระวิสุทธิเทพของเรามีแสงสว่างมีรัศมีกายรุ่งโรจน์อย่างยิ่ง
กำหนดน้อมจิตในท่าคุกเข่ากราบเบญจางคประดิษฐ์ แยกอาทิสมานกายพรึบ เป็นจำนวนกายเท่ากับทุกท่านบนพระนิพพาน แยกอาทิสมานกาย กราบทุกท่านพร้อมกัน น้อมจิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้ว่าเราน้อมกราบส่งหลวงพ่อวิริยังค์ท่านถึงซึ่งพระนิพพาน ขอกระแสความดีที่หลวงพ่อท่านเมตตาทำหลักสูตรครูสมาธิ ยังประโยชน์ให้เกิดการปฏิบัติมากมายมหาศาลในหมู่พุทธบริษัททุกทั่วประเทศทั่วโลก ขออานิสงส์บารมีนี้ ธรรมทั้งหลายที่ท่านเข้าถึงขอให้ข้าพเจ้าเข้าถึงได้โดยง่ายโดยพลัน ขอกำลังกรรมฐานที่ข้าพเจ้าเจริญพระกรรมฐานตัดร่างกาย ตัดขันธ์ห้า เจริญจิตในสมถะ เจริญวิปัสสนาญาณ ขอจงเป็นปฏิบัติบูชา บูชาคุณของท่านด้วยเทอญ ในฐานะที่วันนี้เป็นวันที่ถวายเพลิงสรีระของท่าน น้อมจิตอธิษฐานให้เกิดพุ่มดอกไม้ธูปแพเทียนแพเพชร สว่าง น้อมถวายหลวงพ่อวิริยังค์ท่านเป็นพิเศษ เป็นวาระพิเศษ แล้วก็น้อมจิตดูนะว่าท่านยิ้มไหม ท่านยินดีไหม ท่านเมตตามากไหม
กำหนดน้อมกระแสจากท่านน้อมรวมลงสู่จิตของเราทุกคน กระแสธรรม กระแสเมตตา กระแสมรรคผล ขอท่านเมตตาผ่านลงมาสู่อาทิสมานกายกายพระสุวิทธิเทพของเราทุกคน น้อมพิจารณาดูจิตของเราว่าจิตของเราเกิดความอิ่มเอิบ จิตของเราเกิดความเบิกบานผ่องใสไหม ท่านเมตตา ท่านยิ้มให้กับเรามากแค่ไหน
จากนั้นก็กำหนดต่อไป กำหนดในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพบนพระนิพพาน ทรงฌาน ทรงอารมณ์ในอารมณ์ของอุปมานุสติกรรมฐานคืออารมณ์พระนิพพาน กำหนดน้อมเห็นอาทิสมานกายอยู่ในท่าขัดสมาธิรัตนะบัลลังก์อยู่บนดอกบัวแก้วเป็นอาสนะ พิจารณาว่ากายทิพย์เรากำลังเจริญพระกรรมฐานอยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกพระองค์บนพระนิพพาน ขอน้อมกระแสจากดวงจิตของทุกท่าน กระแสมรรคผล กระแสญาณ กระแสวิปัสสนาญาณ ขอจงเป็นกระแสแห่งวิชชาที่ทำให้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง ขอจงหลั่งไหลรวมลงสู่ดวงจิตของข้าพเจ้า อารมณ์ที่พระอรหันต์บนพระนิพพานพิจารณาโลก พิจารณาในภพในภูมิ พิจารณาในการตัด ละ วาง จนวางแล้ว สิ้นเยื่อใยต่อโลก สิ้นเยื่อใยอาลัยต่อสังสารวัฏ ดับไม่เหลือเชื้อแห่งการเกิด สิ้นภพจบกิจทั้งปวง
ขออารมณ์แห่งพระนิพพานนี้จงรู้แจ้งแทงตลอดในจิตของข้าพเจ้า เป็นอารมณ์แห่งอรหัตผลในทุกครั้งที่ข้าพเจ้ายกจิตขึ้นมาบนพระนิพพานด้วยเถิด
ขอให้นับแต่นี้ทุกครั้งที่ข้าพเจ้ายกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน อารมณ์ใจข้าพเจ้าเข้าถึงอารมณ์แห่งอรหัตผลเต็มกำลัง แม้เพียงชั่วคราวแต่ขอให้อารมณ์จิตข้าพเจ้าทรงอารมณ์ได้ดีที่สุด ผ่องใสที่สุด จิตเข้าถึงความวิมุติหมดจดบริสุทธิ์ สิ้นดับเชื้อไม่เหลือเศษซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวงด้วยเถิด
กำหนดเห็นตัวเองทรงอารมณ์บนพระนิพพาน “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ภาวนาบริกรรมทรงอารมณ์พระนิพพานไว้ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ใจสบายผ่องใส ทรงความสงบไว้ สงบจากกิเลสทั้งปวง ดับจากความอาลัยทั้งหลาย ดับจากความเกาะในภพทั้งหลาย ไม่มีความอาลัยสนใจในร่างกายขันธ์ห้าอีกต่อไป
จากนั้นทรงอารมณ์ค่อยๆพิจารณาไปทีละน้อย ตั้งใจอยู่บนพระนิพพาน ตั้งจิตไว้อยู่บนพระนิพพาน พิจารณาสิ่งที่อยู่บนโลก ถามจิตตอบจิตของตนเองว่า หากเราตายไปในขณะจิตนี้ แล้วจิตเราถึงซึ่งพระนิพพาน ไม่กลับมาเกิด ร่างกายทั้งหมด ทรัพย์สินทั้งหมด บุคคลทั้งหลายบนโลก เราวางได้หรือไม่ หากขณะจิตนี้เราถึงอรหัตผลอยู่บนพระนิพพานเลย ความอาลัย ความห่วง เยื่อใยความกังวลในลูก ในสามี ในภรรยา ในพ่อ ในแม่ ในพี่น้อง ในกิจการงาน ในทรัพย์สิน ในสมบัติ ในภาระต่างๆที่คั่งค้างไว้ หรือแม้แต่ร่างกายของเรา เรามีความห่วง มีความอาลัยแต่ประการใดหรือไม่ ถามจิตตอบจิต รู้จิตของเรา พิจารณาจนเยื่อใยความอาลัยความห่วงนั้นสลายตัวไปจนหมด สายโยงใยความอาลัยความห่วงมันก็คือสิ่งที่เชื่อมโยงดึงดูดลากจูงผูกจิตเราไว้กับภพนั้นภูมินั้น ผูกเราไว้กับบุคคลนั้น ผูกเราไว้กับสถานที่นั้น ตัดห่วง ตัดอาลัย ตัดเยื่อใยทั้งหลาย จิตจึงจะเป็นอิสระจนเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ พิจารณาดู จิตแต่ละบุคคลก็มีความห่วงต่างกัน บางคนตัดได้ทุกอย่างแต่ตัดลูกไม่ได้ บางคนตัดได้ทุกอย่างแต่ตัดพ่อตัดแม่ไม่ได้ บางคนตัดได้ทุกอย่างแต่ยังห่วงภารกิจหน้าที่ ให้เราคิดพิจารณาทุกสิ่งเป็นสมมุติ เราทำหน้าที่ลูก เราทำหน้าที่สามี เราทำหน้าที่ภรรยา เราทำหน้าที่ของการเป็นพ่อเป็นแม่ แต่ถึงเวลาพอเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ สมมุติก็เปลี่ยน เรารำลึกนึกถึงบุญคุณความดี ความรัก ความเมตตาต่อกัน แต่จิตของเราปราศจากความเกาะความห่วงที่จะนำพากันไปเกิด หากเป็นปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปก็เป็นวิสัยปกติ แต่หากเราปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด การตัดที่สำคัญก็คือการตัดห่วงตัดอาลัยจากบุคคลทั้งหลาย ท้ายที่สุดค่อยไปพบกันบนพระนิพพาน แต่ในการปฏิบัตินั้นแต่ละคนต้องตัดห่วงตัดอาลัยตัดเยื่อใยของแต่ละบุคคล เราตัดได้ไหม บางคนมีลูกสาวกำลังน่ารัก ถึงเวลาถ้าเราจะต้องไปพระนิพพานเราตัดความอาลัยได้ไหม อารมณ์จิตของเราแต่ละบุคคลพิจารณาดูของเราเอง แต่ละคนติดในห่วงต่างกัน เกาะต่างกัน ยึดมั่นแน่นหนาแตกต่างกัน ความยึดมั่นถือมั่นยิ่งเบายิ่งดี จิตยิ่งคายจากความเกาะความยึดมากเท่าไหร่ การตัด การเจริญปัญญา การเจริญวิปัสสนาญาณก็ยิ่งเบายิ่งง่าย
กำหนดจิตพิจารณาปล่อยวาง ปล่อยห่วง จิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวมั่นคงอยู่กับพระนิพพาน จิตผ่องใสตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด อารมณ์ใจของเราเบา ใส สว่าง เมื่อตัดเมื่อวางแล้วยิ่งเบา กำหนดในความเป็นอาทิสมานกายยิ่งสว่างขึ้น ละเอียดขึ้น ความระยิบระยับแพรวพราวยิ่งสว่างขึ้น รัศมีกายยิ่งเปล่งประกายสว่างมากขึ้น อาทิสมานกายยิ่งเบายิ่งเป็นสุขขึ้น
ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ข้าพเจ้านี้เป็นหนึ่งเดียวตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพาน ตายเมื่อไหร่ นิพพานชาตินี้ ตายชาตินี้นิพพานชาตินี้ จิตพิจารณาในความมั่นคงในความแนบในความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับพระนิพพาน จนจิตไม่รู้สึกว่ามีที่อื่นที่ใดที่เราพึงพอใจไปกว่าพระนิพพานอีกต่อไป แม้ความรู้สึกของบ้านเรือนบนโลกมนุษย์ ความมีสัญชาตญาณของความเกาะในบ้าน ห่วงบ้าน รักบ้านไม่มีในจิตเรา จิตเรามีความแนบ ความมั่นคง ความเกาะ ความยึดอยู่กับพระนิพพานเพียงจุดเดียว
เมื่ออารมณ์จิตของเราทรงอารมณ์ในอารมณ์พระนิพพานแล้ว จิตมีความตั้งมั่นแล้ว ทรงอารมณ์ได้ถึงขั้นในระดับหนึ่งแล้ว เมื่อสมควรกับเวลา เราก็กำหนดจิต น้อมกระแสขออาราธนาบารมีพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระอริยะเจ้าแผ่กระแสเมตตาจากพระนิพพาน น้อมบุญของทุกท่าน บารมีของทุกท่านจากพระนิพพานเป็นกระแสเมตตาแผ่ลงมายังสามภพสามภูมิ โดยไล่ลงมานับตั้งแต่ภพของอรูปพรหมทั้งสี่ พรหมโลกทั้ง 16 ชั้นมีท่านท้าวสหัมบดีพรหมเป็นประธาน
สวรรค์ทั้ง 6 ชั้นมีพระอินทร์ องค์อัมรินทราธิราชเจ้าเป็นประธาน
- แผ่เมตตาลงมาจากอากาศเทวดาทั้ง 6 ชั้น ลงมาสู่รุกขเทวดาทั่วโลกทั่วจักรวาล
- แผ่เมตตาลงมายังภพของรุกขเทวดาสู่ภพของภูมิเทวดา พระภูมิเจ้าที่ เจ้าที่เจ้าทาง ทั่วโลกทั่วจักรวาล
- แผ่เมตตาลงมายังภพของมนุษย์และสัตว์ผู้มีกายหยาบ กายเนื้อขันธ์ห้าทั่วโลก ทั่วอนันตจักรวาล สรรพสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลาย ทั่วอนันตจักรวาล ขอกระแสบุญกระแสเมตตาขอจงเป็นสุข
- แผ่เมตตาลงไปยังภพของโอปปาติกะสัมภเวสี ดวงจิตดวงวิญญาณที่ติดที่หลงทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจอยู่ในภพภูมิต่างๆ ในมิติต่างๆ ในเมืองบังบดลับแลต่างๆ
- แผ่กระแสบุญกุศล ความสว่าง ความสงบเย็น ความเบา ทิพยสมบัติไปยังทุกดวงจิต
- แผ่เมตตาต่อไปลงมายังภพของเปรตอสูรกายทั้งหลายที่เสวยวิบากกรรม เสวยทุกขเวทนา ขอจงพ้นจากความทุกข์
- แผ่เมตตาต่อไปอย่างนรกภูมิทุกขุม มีท่านพระยายมราชและนายนิรยบาลทั้งหลายเป็นประธาน ขอกระแสบุญกระแสจากพระนิพพาน กระแสเมตตาเป็นกระแสบุญมารอมารับดวงจิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
จากนั้นกำหนดพร้อมพรั่งทั่วทั้งสามภพภูมิ น้อมจิตแผ่เมตตาลงมา น้อมกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์จากพระนิพพานลงมายังสามภพสามภูมิ จิตแผ่เป็นเมตตาอัปปันนาณฌาน แผ่ลงมายังทุกดวงจิตทั้งสามภพภูมิพร้อมกัน จิตสว่างผ่องใส จิตเกิดกำลังอย่างยิ่ง ความเมตตา ความปรารถนาดีจากจิตของเราที่แผ่เมตตาสลายล้างอคติ และในการแผ่เมตตาในสามภพภูมิก็พิจารณาเป็นวิปัสสนาญาณว่า ในภพภูมิทั้งสามเวียนว่ายตายเกิด เปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิเปลี่ยนชาติ เวียนว่ายไม่มีที่สิ้นสุด แผ่เมตตาเพราะใจเราตอนนี้เห็นฝั่งพระนิพพาน เราอยู่บนฝั่ง แผ่กระแสบุญไปยังมวลสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังแหวกว่ายอยู่ในทะเลแห่งความทุกข์ คือทะเลแห่งสังสารวัฏ แต่เรานั้นเห็นทางเห็นฝั่งพระนิพพานแล้ว พิจารณาว่าแม้การแผ่เมตตาอัปปันนาณฌานก็เป็นการเจริญวิปัสสนาญาณให้เห็นทุกข์ภัยในสังสารวัฏนี้ จิตเรามีความเข้าใจลึกซึ้งดื่มด่ำในคุณแห่งพระนิพพานอย่างยิ่ง ใจสบาย ผ่องใส
จากนั้นเมื่อแผ่เมตตาแล้ว ปัญญาญาณเห็นภัยในสังสารวัฏกระจ่างแจ้งในจิตแล้ว กำหนดแยกอาทิสมานกายกราบลาทุกท่านทุกพระองค์บนพระนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ใจสว่างผ่องใส ใจมีความนอบน้อมเคารพในพระรัตนตรัยอย่างยิ่ง จิตน้อมกราบขอขมาในพระรัตนตรัย จิตมีความนอบน้อม เมื่อกราบลาแล้วตอนนี้เราจึงค่อย พุ่งอาทิสมานกายพุ่งจิตกลับมายังร่างกายที่เป็นกายเนื้อบนโลกมนุษย์ น้อมกระแสจากพระนิพพานส่งตรงลงมายังกายเนื้อ ส่งตรงลงมายังจิต ส่งลงมายังบ้านเรือนเคหะสถานที่ทำงาน ที่ทำมาหากินประกอบอาชีพของเราแต่ละบุคคล น้อมนำกำลังบุญจากพระนิพพานลงมา อาราธนาน้อมนำกำลังบุญกุศล กระแสจากพระนิพพานลงมายังวัดวาอารามทั้งหลาย สถานปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พระพุทธรูปทั้งหลาย พระบรม สารีริกธาตุทั้งหลาย ขอกำลังพุทธานุภาพจงลงมาสถิตประสิทธิสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา เกิดความศักดิ์สิทธิ์อัศจรรย์ ขอกระแสธรรมกระแสมรรคผลจากพระนิพพานโดยตรง ธรรมที่เป็นเครื่องวิมุตหมดจด เป็นสัมมาทิฐิ ขอจงหลั่งไหลลงมาสู่ดวงจิตของพุทธบริษัทสี่ให้เข้าถึงมรรคผลพระนิพพานได้โดยง่ายโดยพลัน เข้าสู่ยุคความเจริญของพระพุทธศาสนา เข้าสู่ยุคชาววิไลอย่างรวดเร็วอัศจรรย์ด้วยเถิด
น้อมจิตอธิษฐาน น้อมกระแสเห็นแสงสว่างเห็นลำแสงจากพระนิพพานส่องตรงลงมา จิตสบายผ่องใส กายจิตเอิบอิ่มผ่องใส
จากนั้นจึงหายใจเข้าลึก ๆ สามครั้ง หายใจเข้าพุท ออกโธ ใจสว่าง กายสว่าง หายใจเข้าลึก ๆ ครั้งที่สอง ธัมโม หายใจเข้าลึกๆ ครั้งที่สาม หายใจเข้าสัง หายใจออกโฆ กำหนดให้จิตเอิ่มอิ่มเป็นสุข โมทนาสาธุกับเพื่อนที่ปฏิบัติธรรม กัลยาณมิตรทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรมพร้อมกันกับเราทุกคน รวมถึงผู้ที่มาฝึก มาปฏิบัติตามหลัง ให้มีความเจริญก้าวหน้า เปิดสายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ ให้เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย เจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกทางธรรม สุขภาพสมบูรณ์พร้อมแข็งแรง ดีงามครบถ้วนประเสริฐในทุกสิ่ง จิตปีติเอิบอิ่มผ่องใส
สำหรับวันนี้ ก็ขอโมทนากับทุกคนนะครับ ให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกทางธรรม สำหรับวันนี้ก็จบการปฏิบัติแต่เพียงเท่านี้ พบกันใหม่ทุกวันอาทิตย์ 21:00 น.
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
ถอดเสียงและเรียบเรียงโดย คุณ Be Vilawan