green and brown plant on water

ความคล่องตัวในมโนมยิทธิ

เวลาอ่าน : 5 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน” 

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566

เรื่อง ความคล่องตัวในมโนมยิทธิ

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

ครับสวัสดีนะครับทุกคน เมื่อเข้ามาในห้องแล้วก็กำหนดจิต ทรงอารมณ์ อยู่กับความสงบผ่องใส  กำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกาย ความรู้สึกทั่วร่างกายทั้งหมด เมื่อกำหนดรู้ในความรู้สึกทั่วร่างกายแล้ว จึงกำหนด       ผ่อนคลายร่างกาย  ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ทั่วทั้งกายผ่อนคลายปล่อยวาง ปล่อยวางความสนใจในร่างกายทั้งหมดออกไป ทิ้งกาย ทิ้งอาการที่เกาะ  ที่สนใจในร่างกายออกไปให้หมด  มาจดจ่ออยู่กับลมหายใจ  จดจ่ออยู่กับลมหายใจละเอียด จินตนาการเห็นลมหายใจเราเป็นเหมือนกับแพรวไหม พลิ้วผ่านเข้าออกในกาย การที่เราจินตนาการวัดลมหายใจเราเป็นเหมือนกับแพรวไหมนั้น   เป็นการกลั่นลมหายใจ  จากลมหายใจปกติก็กลายเป็นลมปราณ   ลมหายใจที่เป็นแพรวไหมเป็นประกายพรึกระยิบระยับ ก็กลายเป็นกสิณลม  อานาปานสติควบกันกับกสินลม หายใจเข้าออก กำหนดรู้ โดยใช้สติติดตามดู  ติดตามรู้ในลมหายใจ  กำกับพร้อมไปด้วยจินตภาพ   ที่เห็นลมหายใจเป็นแพรวไหมระยิบระยับเป็นแก้วละเอียด

สติที่กำหนดรู้ในลมหายใจ เรากำหนดติดตาม เพื่อดูว่าลมหายใจนั้น มันมีความละเอียดไหม มีความเบาไหม การปฏิบัติที่เราต้องการ ก็คือลมหายใจที่มีความละเอียดเบา ยิ่งลมหายใจละเอียดเบามากเท่าไหร่  นั่นก็คือลมหายใจนั้น  เข้าถึงฌานสมาธิในระดับที่สูง  เราใช้ลมหายใจเป็นตัวชี้วัด ระดับของฌานสมาธิ ลมหายใจยิ่งเบาละเอียด อารมณ์จิตยิ่งมีความเบา  ยิ่งมีความสบาย  ทรงอารมณ์ในความเบาสบาย   พร้อมกันกับการกำหนดรู้ในลมหายใจ ลมหายใจละเอียด อารมณ์จิตยิ่งเบา ยิ่งเป็นสุข  ลมปราณสัมพันธ์จิตใจ  เบาสบาย  ละเอียดผ่องใส  วางอารมณ์จิต  ให้จิตของเราแย้มยิ้มเบิกบานเป็นสุข  ลมยิงละเอียด  อารมณ์จิตยิ่งเบา  ลมหายใจเมื่อละเอียด  จนกระทั่งเข้าสู่สภาวะที่ลมหายใจ สงบระงับ นิ่ง  หยุด   กำหนดพิจารณาสติรู้  เข้าถึงความสงบ    เมื่อไหร่ที่ก้าวเข้าสู่ความสงบของจิต    ความคิด   การปรุงแต่ง มันจะเบาบางลง  สงบระงับลง ความฟุ้งซ่าน  ความวุ่นวาย ความคิด ความซัดส่ายของจิต จะสงบระงับลง สงบนิ่ง ผ่องใส  อยู่กับความสงบ   ความสุขของความสงบ ความสุขของสมาธิ   ก็คือสภาวะที่จิตได้พักจากความวุ่นวายความฟุ้งซ่านความกังวล   ความสับสนทั้งปวง อยู่กับความสงบนิ่ง   อยู่กับความผ่องใส

ธรรมชาติของจิตต่างจากกาย    ร่างกายยิ่งออกกำลังยิ่งขยับเขยื้อน   ยิ่งใช้แรงยิ่งมีความแข็งแรง    ตรงกันข้ามกับจิต    จิตยิ่งสงบนิ่ง   ยิ่งปล่อยวาง ยิ่งผ่องใส   จิตยิ่งมีจิตตานุภาพสูงขึ้นมากขึ้น   พักจิตจากความวุ่นวายฟุ้งปรุงแต่งทั้งปวง  จนจิตนิ่งสงบ  เห็นตัวนิ่งตัวหยุดของจิต  เห็นเอกัตคตารมณ์  เห็นสภาวะแห่งอุเบกขารมณ์   คือใจเราวางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบทั้งปวง  วางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบทางอายตนะทั้งห้า  นิ่ง  หยุด  สงบ  เป็นสุข  จดจ่อทรงอารมณ์ในความนิ่ง ความหยุดไว้ จากนั้นเดินจิตต่อไป  กำหนดจิต จินตภาพเห็นในความนิ่ง   ความหยุด  ตำแหน่งที่ลมหายใจหยุด กำหนดจิตจินตภาพเห็นดวงแก้ว เชื่อมนิมิต ภาพที่จินตภาพ เชื่อมโยงกับดวงจิตของเรา ภาพนิมิตที่เป็นดวงแก้ว  ก็คือจิตของเรา  เห็นจิตของเราเป็นแก้วใส   ในขณะที่เห็นดวงจิตของเราเป็นแก้วใส

กำหนดรู้ว่าทรงภาพ คือการจินตภาพถึงภาพจิตที่เป็นดวงแก้วนั้น  เมื่อไหร่ที่เป็นแก้วใสเฉยๆ ในส่วนที่เรียกว่ากสิณ  กรรมฐานที่เรียกว่ากสิณ ดวงแก้วใสนั้น จัดว่าเป็นอุคหนิมิตของกสิณ   กสิณจิตเป็นแก้วใส จากแก้วใสกำหนดจิต ให้สว่างขึ้น ดวงแก้วแจกใสให้สว่าง จากสว่างขึ้น   กำหนดจิตจินตภาพให้เห็น จิต ที่สว่างกลายเป็นเพชร ผิวของดวงแก้วที่กลมกลมกลายเป็นเพชรที่มีการเจียระไนน้ำงาม  เป็นประกายแพรวพราวระยิบระยับสว่างอย่างยิ่ง รัศมีของดวงจิตที่กลายเป็นเพชรประกายพรึก  มีรัศมีสีรุ้ง  กระจายออกรายรอบ จิตกลายเป็นเพชรประกายพรึก   สว่าง   รัศมีแผ่ปกคลุมกว้างใหญ่ คุมกายเนื้อเราไว้ทั้งหมด  จิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง    ความสัมพันธ์ระหว่างภาพนิมิต     แสงสว่างของภาพนิมิต และอารมณ์ใจก็คือ  ยิ่งเห็นจิตเป็นเพชรประกายพรึก  จิตยิ่งมีความสุข จิตยิ่งมีความยินดี เจอเพชร เจอแก้วประกายพรึก เจอจิต อันเป็นสารพัดนึก  จิตอันเป็นทิพย์ จิตอันเป็นอภิญญาจิต  ใจเกิดความยินดี  ความอิ่มใจ  ความสุขอย่างยิ่ง รัศมีแสงสว่าง ยิ่งสว่างมากเท่าไหร่  จิตยิ่งมีความสุขผ่องใสอย่างยิ่ง    ความสัมพันธ์ ระหว่างภาพนิมิตของกสิณ   ความสัมพันธ์ของแสงสว่างของภาพนิมิตกสิณ   อารมณ์จิตและความเป็นทิพย์  สัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว กำหนดจิตเห็นจิตเป็นเพชร   ใจเป็นสุขสว่างเอิบอิ่มอย่างยิ่ง ผ่องใสอย่างยิ่ง     ทรงสภาวะที่เห็นจิตเป็นประกายพรึก จิตประภัสสร กำหนดรู้ว่าเราเข้ากับคืน รู้ตื่นสู่จิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสร  ในขณะที่จิตเป็นประกายพรึกประภัสสรเป็นเพชรระยิบระยับ แผ่รัศมี   ก็กำหนดรู้ต่อไปว่าจิตในขณะที่ทรงอารมณ์เช่นนี้  จิตของเราปราศจากความโลภ  ความโกรธคว้าโปร จิตปราศจากกิเลส  จิตปราศจากนิวรณ์ 5 ประการ   จิต  มีอารมณ์ความรู้สึก แห่งความผ่องใสเต็มกำลัง ทรงงภาพ  ทรงอารมณ์ไว้

กำหนดรู้พิจารณาต่อไปว่า  การเจริญจิต การเจริญสมาธิ  ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า   เกิดแสงสว่างเพียงแค่ปลายหัวไม้ขีด  ก็มีบุญมีอานิสงส์มากกว่าตักบาตร   ทุกวันจนกระทั่งขันลงหินสึกจนก้นทะลุ การที่เราทรงจิตเป็นประกายพรึกประภัสสรนี้ ทรงอารมณ์ผ่องใสได้เต็มกำลัง   กำลังแห่งฌานสมาธิที่ปรากฏนั้น    อานิสงค์หาประมาณไม่ได้   เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเจริญ  ความก้าวหน้า   การพัฒนาจิตที่สูงขึ้น   ไม่ว่าจะเป็นทางโลก   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอภิญญาสมาธิ   ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมรรคผลพระนิพพาน  ในการทรงจิตเป็นประภัสสรประกายพรึก   จิตมีความสุขมีความผ่องใสเต็มกำลัง สภาวะ  รัศมีของจิตทิพย์แผ่สว่างชัดเจนเป็นสีรุ้งนั้น    จิตเข้าสู่ความเป็นทิพย์ จิตเข้าสู่ความเป็นทิพย์นั้น  หมายถึง   การนึกคิดสิ่งใด   ก็กลายเป็นแรงอธิษฐานไปโดยอัตโนมัติ     แต่ขณะที่เรานึกคิดอธิษฐานในสภาวะที่จิตเป็นเพชรประกายพรึกความเป็นทิพย์ของจิตเกิด ความเป็นทิพย์ของจิตที่เกิดขึ้นกลายเป็นอภิญญาจิต ยิ่งจิตเป็นสุขเท่าไหร่  ผ่องใสเท่าไหร่  สว่างเท่าไหร่เป็นแสงรัศมีประกายระยิบระยับเท่าไหร่  นั่นก็คือความเป็นทิพย์ปรากฏ ความเป็นทิพย์เมื่อปรากฏแล้ว ก่อให้เกิดทิพยจักษุญาณ

ทิพยจักษุญาณ ญาณเครื่องรู้ต่างๆ  ก็เข้ามา หากปรารถนาในเรื่องของ มรรคผลพระนิพพาน ในสภาวะของความเป็นทิพย์ หากจิตเจริญในวิปัสสนาญาณ ธรรมอันเป็นเครื่องรู้  ก็ผุดรู้ขึ้นมาในจิต   รู้วาระจิตของเราขึ้นมา ในสภาวะที่จิตเราเกิดความเป็นทิพย์  จิตมีความเอิบอิ่มผ่องใส   ญาณโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจโตปริยญาณก็เกิดขึ้น   บางครั้งใครนึกคิดสิ่งใด   สิ่งนั้นก็ผุดรู้ขึ้นมาในจิต  หรือบางครั้งเราคิดขึ้นมาในจิต ในสภาวะที่จิตเราเป็นทิพย์ คนอื่นเขาก็ตอบสนอง ตอบในสิ่งที่เรานึกอยู่ในใจ  โดยที่เค้าก็ไม่ทันรู้สึกตัว   เรายังไม่ได้พูดอะไร แต่กลายเป็นว่าเขารู้ ด้วยความคิดของเรามันกลายเป็นความทิพย์   จิตที่เป็นทิพย์ ส่งไปถึงดวงจิตของบุคคลอื่นได้  อันนี้เป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติ แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าอภิญญาจิตของผู้ที่ปฏิบัติ   ที่มีมากกว่าปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ได้สมาธิจิต ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติ   ที่เข้าไม่ถึงความเป็นธรรม เราสามารถกำหนดรู้กำหนดใช้ได้

คราวนี้ต่อไปเราฝึก จากจิตอันเป็นทิพย์เริ่มเข้าสู่ การฝึก เข้าสู่กำลังของมโนมยิทธิ กำลังของมโนมยิทธิ เรียนให้ง่าย  สอนให้ง่ายก็คือ   การที่เราน้อมอาราธนาบารมี   กำลังของพุทธานุภาพ   คือกำลังของพระพุทธเจ้า อาราธนาขอให้ท่านเมตตาสงเคราะห์  จากจิตที่เป็นเพชรประกายพรึก  เราก็กำหนดจิตต่อไป ทรงภาพองค์พระ  นึกภาพพระพุทธรูปขึ้น จำไว้ว่าในเรื่องของกสิณ ในเรื่องของพุทธานุสติ  การทรงภาพพระ จำไว้ว่าการกำหนดนิมิต มีการเชื่อมโยงด้วยกันทั้งสิ้น    ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กันไปหมด    กสิณเชื่อมโยงกับจิต จิตเราเป็นกสิณไฟ   กสิณลม  กสิณน้ำ กสิณดิน  กสิณสี  กสิณแสงสว่าง  เชื่อมโยงกสิณกับจิต   เชื่อมโยงลมหายใจกับปราณและอารมณ์จิต   และในยามที่เรากำหนดนึกภาพพระพุทธรูป    เราน้อมกระแสเชื่อมโยงภาพนิมิต   พุทธนิมิต     เชื่อมโยงกับกำลังแห่งพุทธานุภาพของพระพุทธองค์ ภาพพุทธนิมิตของพระพุทธองค์เป็นหนึ่งเดียวกับ กระแสของพระพุทธเจ้าที่เสด็จมา เป็นหนึ่งเดียวกับพุทธนิมิตในดวงจิตของเราเสมอ   กำลังใจของคนในการทรงภาพพระพุทธรูป   หรือกำลังพุทธคุณ  ที่เรากำหนดนั้นมีความแตกต่างกัน   บุคคลที่มีกำลัง เวลาที่ส่งภาพพระ บุคคลนั้นจะรู้สึกเสมอว่า ถ้าพุทธนิมิตภาพพระที่ทรงไว้นั่นคือพระพุทธเจ้าจริงๆ  ไม่มีความลังเลสงสัย   ไม่มีวิจิกิจฉา

ตรงจุดนี้ก็คือเคล็ดลับหนึ่งของวิชามโนมยิทธิด้วยเช่นกัน      ภาพองค์พระเป็นหนึ่งเดียวกับพระพุทธองค์   ในเมื่อภาพองค์พระเป็นหนึ่งเดียวกับพระพุทธองค์   คำว่าพุทโธอัปปมาโณ   คุณแห่งพระพุทธเจ้าไม่มีที่สุด  ไม่มีประมาณ กำลังพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ได้ทุกอย่าง   อาราธนาขอบารมีพระท่านให้ยกจิต   อาทิสมานกายของเราขึ้นไปบนพระนิพพาน     พระพุทธเจ้าท่านทรงเสด็จดับขันปรินิพพาน     อยู่บนพระนิพพานมีสภาวะเช่นดี    เราน้อมจิตอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้า  ขอยกอาทิสมานกายของเราขึ้นไปบนพระนิพพาน  กำหนดขอให้กายเราจงปรากฏ เป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพ   ปรากฏเครื่องทรงเครื่องประดับ      รัศมีกายอันเป็นเพชรสว่างแพรวพราวระยิบระยับ  แผ่รัศมีกายฉัพพรรณรังสี  รัศมีเป็นสีรุ้ง  เป็นประกายพรึกสว่าง

เมื่อขึ้นไปแล้ว  ก็กำหนดจิตกราบพระพุทธเจ้า กำหนดจิตกราบสมเด็จองค์ปฐม กราบพระพุทธองค์    กราบครูบาอาจารย์ทั้งหลาย    ครูบาอาจารย์ที่ท่านเมตตามาปรากฏ   ปรากฏในความรู้สึก     ปรากฏในจิตมีท่านใดบ้าง    เราก็กำหนดใช้อาทิสมานกายกราบ ความรู้สึกเราอยู่กับกายที่เป็นกายพระวิสุทธิเทพ    อยู่บนพระนิพพาน   ไม่ต้องไปสนใจร่างกายที่เป็นกายหยาบกาย ตอนนี้เราแยกกายทิพย์     แยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน

คราวนี้ให้เราลองกำหนดดูนะ   อธิษฐานว่าขอครูบาอาจารย์ พระอริยเจ้า   พระอรหันต์   พระองค์ใดที่ท่าน เมตตา   มาปรากฏนอกเหนือจากพระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า   มีครูบาอาจารย์ท่านใดปรากฏ    เรากำหนดรู้     กำหนดกราบ   อย่างวันนี้ก็ปรากฏ  หลวงพ่อฤาษีลิงดำ  ท่านเมตตามาปรากฏ  เราก็กราบท่าน วันนี้ที่มีพิเศษก็มี หลวงพี่อนันต์ท่าน อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดท่าซุงองค์ก่อน เรากำหนดจิตกราบท่าน วันนี้ครบรอบวันมรณภาพห้าปี   ของหลวงพี่อนันต์ท่านพอดี เรากำหนดจิตกราบ ท่านก็เมตตา  หลายองค์ท่านก็เมตตา   ดีใจที่ลูกหลานปฏิบัติ   คนยังพาทำ  พากันปฏิบัติ   พากันยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพานได้มากขึ้นกว่าเดิม   ท่านก็เมตตา โมทนาสาธุด้วย ทรงอารมณ์ใจของเราให้ผ่องใส

เมื่อกราบพระจนใจของเรา   มีความอิ่ม   ความชุ่มฉ่ำ    มีความชุ่มเย็นแล้ว    ก็กำหนด      ในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ  กำหนดดู  กำหนดรู้   ยกมือ  ยกแขน  ก้มดูเครื่องประดับ  เครื่องทรงต่างๆ  การกำหนด เพื่อให้จิตเรากำหนดรู้ในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ เอื้อมมือจับยอดมงกุฎ  ยอดชฎาที่สวมใส่ จับที่ข้อมือดู  ว่ามีเครื่องประดับ แหวน ใส่อยู่ครบทั้งสิบนิ้ว   ที่หน้าอกมีทับทรวง    เราก็จับ ใช้มือที่เป็นกายทิพย์   กายพระวิสุทธิเทพจับ  คลำ ในกาย  ในเครื่องประดับ   สัมผัสได้ว่า  สัมผัสเครื่องประดับเป็นแก้ว ใสรายละเอียดอย่างแท้จริง   กำหนดรู้พิจารณาว่ากายพระสุทธิเทพที่ปรากฏของเรานี้  ไม่มีมลทินใดทั้งสิ้น  ใส   ละเอียด ไม่มีริ้ว ไม่มีรอย  ไม่มีแครก คือรอยร้าว   ภายในกาย สว่าง จะกำหนดให้ใสมองทะลุ หรือกำหนดเป็นแสงสว่าง   เจิดจ้าจนมองไม่เห็น   ทะลุไปก็ได้   แสงสว่างที่ปรากฏจากรัศมีกาย  สว่าง ใจเราเป็นสุข   อันนี้คือการฝึกพิจารณากายพระวิสุทธิเทพ   ตระหนักรู้ถึงความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ

เมื่อกำหนดรู้ในกายแห่งพระวิสุทธิเทพแล้ว  ก็มากำหนดจิตพิจารณาในอารมณ์พระนิพพาน การพิจารณาในอารมณ์พระนิพพาน   ถือว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาญาณซ้ำเข้าไปอีก ซ้ำเข้าไป   ก็คือคิดพิจารณา  ว่าเรายกจิตมาบน พระนิพพานเพื่ออะไร จิตของเราในขณะที่ยกมาที่พระนิพพาน พิจารณาไว้เสมอว่า ความปรารถนาในภพภูมิต่างๆ    ไม่ว่าจะการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี     การเกิดเป็นเทวดา    การเกิดเป็นพรหม    หรือแม้กระทั่ง  ไม่ต้องไปพูดภพที่เป็นทุคติภูมิ   ไม่ว่าจะการไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรตอสูรกาย  เป็นสัตว์นรกเรายิ่งไม่ปรารถนา จิตเราเกิดปัญญารู้เห็นเข้าใจ  เห็นความทุกข์  เห็นโทษภัยในสังสารวัฏ  เราเข็ดการเกิด  เข็ดการตาย เราปรารถนาพระนิพพานเพียงจุดเดียว อารมณ์ที่พิจารณา   คืออารมณ์ที่ตัดภพตัดชาติ   เพื่อความสิ้นภพจบชาติ พิจารณาจนกระทั่งจิตเราเกาะ ตั้งมั่น รักในพระนิพพานเพียงจุดเดียว  ความรู้สึกว่าพระนิพพาน เป็นบ้านหลังสุดท้ายที่เราจะกลับมา

เมื่อทรงอารมณ์พระนิพพาน พิจารณาตัดภพตัดชาติแล้ว   ก็พิจารณาต่อไป ทำความเข้าใจในเรื่องของสังโยชน์ทั้ง 10 ประการ  สังโยชน์เป็นเครื่องร้อยรัด  ร้อยรัดอะไร  ร้อยรัดจิต  ให้เกาะอยู่กับภพภูมิต่างๆ  สังโยชน์ 10 ในแต่ละข้อ อย่างเช่น กามคุณ 5 ก็ดี ร้อยรัดให้เรา มาเกิดเป็นมนุษย์  เกิดเป็นเทวดา สีลัพพตปรามาส การไม่รักษาศีล ก็เป็นเครื่องรัด ทำให้เราไปเกิดเป็นเปรตอสูรกาย  สัตว์นรก อยู่ในทุคติภูมิ   สังโยชน์ข้อที่เป็นพยาบาล ก็นำพาให้จิตเรา ตามไปแก้แค้น  ตามไปจองเวร  ตามเกิด กับบุคคลที่เราชัง  ที่เราเกลียด  ที่เราอาฆาตแค้น เป็นตัวพาให้เราไปเกิด สังโยชน์ทั้ง 10 ร้อยรัดเราไว้ในสังสารวัฏ  รูปราคะ ความพึงพอใจในอารมณ์แห่งฌานสมาบัติ   ความพึงพอใจในการจุติเป็นพรหม ก็ร้อยรัดเราไว้กับภพแห่งพรหม   อรูปราคะ   ความหลง  ความเข้าใจว่าความว่าง เป็นที่สุด  เป็นพระนิพพาน ก็หลอกล่อรอยรัดเราไว้กับความเป็นอรูปพรหม

ดังนั้น สังโยชน์ทั้ง 10  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ข้อสุดท้ายอวิชา  ความโง่   ความไม่รู้   ความหลง   หลอกลวงว่าสังสารวัฎนี้ดี  การเกิดนี้ดี หลงว่าสังสารวัฎหรือภพนั้น  ภูมิดี   เป็นความสุข หลงว่านี่เป็นบ้าน หลงว่าเราจะต้องกลับไปเกิดในภพนี้  ภูมินี้อีก  สังโยชน์ทั้ง 10  ถูกสลาย ทลาย  ตัดสะบั้นไปด้วยปัญญาคือวิชา รู้เท่าทันในสังโยชน์ทั้ง 10 ความสุขในกามคุณ 5  เป็นเครื่องล่อ เป็นเครื่องหลอกลวงให้เราเห็นว่า การเกิดมา มีความสุข เราลืมนึกไปว่า ในชาติที่เราเกิดมา มีครบบริบูรณ์ทุกอย่าง ปรารถนาสมหวังทุกอย่าง อยากได้อะไร สมปรารถนาในทุกสิ่ง  อันนั้นก็ถือว่าเป็นความสุข แต่ความสุขนั้นไม่เที่ยง บางชาติมันไม่ใช่เช่นนั้น  เมื่อไหร่วาระกรรมมาตัดรอน  สิ่งใดที่เราเคยครอบครองมันก็ไม่กลับเป็นของเรา เกียรติยศตำแหน่งต่างๆ  ที่เราเคยเป็น เคยได้ เคยมี มันก็ไม่เป็น อย่างเช่นเคยเป็นไปทุกภพทุกชาติ และเวลาของการเสวยสุข มันก็มีข้อจำกัด  มีกำหนดเวลา มันไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นสุขไปชั่วนิจนิรันดร์

พิจารณาดู   ว่าสุดท้ายก็ต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจ   แม้กระทั่งพรหม     พรหมมีอายุยืนยาวนานอย่างยิ่ง หลายกัปป์ หลายแสนกัปป์   พรหมบางท่านมีอายุ ที่พระพุทธเจ้าปรากฏขึ้นแล้ว เป็นสิบ เป็นร้อยพระองค์ผ่านไป บุญของพรหมท่านนั้น ยังไม่หมดเลย แต่ในที่สุด ระยะเวลาของความเป็นพรหมก็หมด แม้ว่าจะอายุยาวขนาดไหนก็ตาม ยิ่งอรูปพรหม  ยิ่งมีอายุยาวนานอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าผ่านไปแล้วหลายพระองค์ก็ปิดอยู่  อยู่ในความเป็นอรูป ใช้บุญทั้งหมดที่สะสมมาจนหมด แล้วก็ร่วงมาเสวยผลกรรมในส่วนที่เป็นวิบากกรรมที่เป็นทุคติ

ดังนั้นกลายเป็นว่าสูงสุดร่วงลงต่ำสุดทันที     อันนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่น่าระมัดระวังหรือพิจารณา     แต่ส่วนใหญ่บุคคลที่มีความเพลิดในโลก เพราะไม่เคยฟัง ไม่เคยพิจารณา ไม่เคยตระหนักรู้ว่า ทุกสรรพสิ่ง ในโลกในจักรวาล ล้วนแล้วอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์  คือเกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไป ทุกสิ่งที่สวยงามอลังการ ตระการตา ในที่สุดก็ต้องพัง  ก็ต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด    ดังนั้นบุคคลผู้มีปัญญารู้แจ้ง   เห็นโทษทุกข์ภัยในสังสารวัฏ   จึงเห็นคุณแห่งพระนิพพาน

เรากำหนดจิต ดูใจของเราแต่ละบุคคล ทรงสภาวะในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพอยู่บนพระนิพพาน ว่าจิตของเราปรารถนาพระนิพพานหรือไม่ มีธรรมฉันทะ ความรักในพระนิพพานหรือไม่ มีความมั่นคงในพระนิพพานหรือไม่ กำหนดพิจารณาจิตของเรา ทรงอารมณ์ไว้เช่น  ถามจิต   ตอบจิตของเรา ชาตินี้ละจากอัตภาพ  คือขันธ์ 5 ร่างกายนี้เมื่อไหร่ เราจะมาพระนิพพานไหม เราพึงพอใจ เราตั้งจิต เรารักพระนิพพานเพียงใด  คำว่ารักพระนิพพานนั้น   คือธรรมฉันทะในพระนิพพาน     เมื่อใดที่มีธรรมฉันทะในพระนิพพาน   มีความรักในพระนิพพาน    ก็อุปมาเหมือนเรานึกถึงคนรัก  นึกถึงทุกลมหายใจ  นึกถึงเสมอ  นึกถึงทุกวัน   นึกถึงทุกเช้าค่ำ  บุคคลทางโลกถูกความรัก    ถูกความหลงครอบงำ ใจประหวัดคิดถึงคนรักทุกเช้าค่ำฉันใด   บุคคลผู้ละอวิชา ความหลง มีความพึงพอใจปรารถนาในพระนิพพานนึกถึงพระนิพพานทุกเช้าค่ำ ทุกลมหายใจฉันนั้น

ด้วยเหตุนี้พระอรหันต์ ท่านจึงไม่กลัวเกรงความตาย  เพราะตายเมื่อไหร่   ท่านจะได้เข้าถึงพระนิพพาน ท่านเป็นที่รักยิ่งฉันนั้น   อารมณ์ใจเรากำหนดรู้   เข้าถึงความละเอียดตรงนี้ให้ดี ธรรมฉันทะในพระนิพพาน  รักในพระนิพพาน เมื่อกำหนดจนจิตแนบอยู่กับพระนิพพานแล้ว   ก็กำหนดต่อไปพิจารณา ทรงอารมณ์  กำหนดบริกรรม

นิพพานัง ปรมัง  สุขัง   นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

กำหนด ทรงอารมณ์ ทรงสภาวะ เห็นกายพระวิสุทธิเทพสว่างผ่องใส  ยิ่งสว่างผ่องใสมากเท่าไหร่  รัศมีกายแผ่สว่างมากเท่าไหร่   อารมณ์จิตยิ่งเป็นสุข    พิจารณาว่าความสุข ของอารมณ์พระนิพพาน    ความสุขที่เรียกว่านิโรธะ สุข จากความหลุดพ้น สุขจากสภาวะ ที่กิจทั้งหลายจบแล้ว  สิ้นภพจบชาติแล้ว  หมดความทุกข์   หมดวาระที่กรรมทั้งหลายจะส่งผล  พันธะ  ความห่วงใย  ความหลง  หน้าที่ทุกอย่างมันจบสิ้น  มันไม่มีภาระใดของใจอีกต่อไป  การเกิด การรับกรรม ความหนักอกหนักใจทั้งหลายมันสิ้น ความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายมันสิ้น กิเลสทั้งหลายมันสิ้น  ใจเป็นอิสระอย่างยิ่ง ผ่องใสอย่างยิ่ง สว่างอย่างยิ่ง เบิกบานอย่างยิ่ง

ดังนั้นความผ่องใสสูงสุดของจิต ก็คือสภาวะที่จิตเข้าถึงความวิมุตติหลุดพ้นจากวัฏสงสาร  กำหนดจิตทรงอารมณ์เห็นกายพระวิสุทธิเทพของเรา ทรงสภาวะแห่งวิมุตติสุข  สว่างผ่องใสอย่างยิ่ง หลุดพ้นจากพันธนาการของสังโยชน์ทั้ง 10   หลุดพ้นจากสรรพกิเลส    คือความโลภ โกรธ    หลงทั้งปวง    อาทิสมานกายสว่างผ่องใสอย่างยิ่ง ทรงสภาวะไว้ จิตเป็นสุข ภายในยิ้มแย้มเป็นสุข รัศมีกาย มีเส้นแสงสว่างออกรอบกายทิพย์  รอบกายพระวิสุทธิเทพเป็นเส้นแสง  เป็นรุ้ง แต่ละสีทั้งเจ็ดสี แผ่สว่างเป็นเส้นกระจายออกไป  เห็นตนเองอยู่ในสภาวะกายพระวิสุทธิเทพนั่งห้อยพระบาท  ห้อยขา อยู่บนแท่น แสงรัศมีสว่าง  ความรู้สึกของเราเข้าถึงวิมุตติสุข ทรงอารมณ์  เสวยอารมณ์วิมุติสุขนี้ไว้  พ้นจากความทุกข์  พ้นจากภาระ พ้นจากวัฏสงสาร  อารมณ์เบา  จิตเบา ผ่องใส

เมื่อจิตผ่องใสสูงสุดแล้วต่อไป เราก็ฝึก ปฏิบัติต่อ ทำความเข้าใจในการปฏิบัติธรรม  ให้มีความลึกซึ้งขึ้น ต่อไปเป็นภาคการเจริญปัญญาความรู้  ในส่วนของเมตตาสมาธิ เคล็ดลับพิเศษ ที่เราฝึกในเมตตาสมาธิกรรมฐานกัน ส่วนแรกที่อยากเน้นให้เราทำได้ แต่ละจุดที่ทำได้และผลสูงสุด ประโยชน์สูงสุดแต่ละจุดที่อาจารย์สอน  อาจารย์แนะนำเป็นพิเศษก็คือ ในเรื่องของการกำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั้น อันจริงอยู่ในกายคตามหาสติปัฏฐาน 4  เมื่อกำหนดความรู้ตัวทั่วพร้อม  เรากำหนดรู้ไปเพื่อทิ้งกาย คำว่าทิ้งกายก็คือ ถือว่าเป็นการตัดขันธ์ 5

การตัดขันธ์ 5 ประกอบไปด้วยสองส่วน หนึ่งการพิจารณาตัดขันธ์ 5 เช่น การพิจารณาว่าร่างกายนี้ต้องมีความตายไปในที่สุด พิจารณาร่างกาย  ว่าเป็นธาตุทั้งสี่  พิจารณาร่างกายในสภาวะของอาการ  32 พิจารณาว่าร่างกายนี้เป็นอสุภสัญญา ร่างกายมีความสกปรก  ไม่สวยงาม สิ่งต่างๆ  เหล่านี้ก็คือการตัดขันธ์ 5 ตัดร่างกาย  ตัดร่างกายทำไม  ตัดร่างกายเพื่อแยกกาย แยกจิต แยกรูป แยกนาม แยกกายเนื้อ กายทิพย์ ยิ่งเราตัดกายได้มากเท่าไหร่ การแยกกายทิพย์  การใช้กำลังของมโนมยิทธิ  ยิ่งมีกำลังมากขึ้นเพียงนั้น อันนี้คือการใช้การพิจารณา ส่วนอีกอาการหนึ่งก็คือกำหนดความรู้สึก ทั่วร่างกายผ่อนคลายร่างกาย  ทิ้งกาย ทำความรู้สึกว่าเราทิ้งกาย ความรู้สึกที่ว่าเราทิ้งกายนั้น จุดสูงสุดที่เราทำได้ ผ่อนคลายร่างกายทั้งหมด พอผ่อนคลายร่างกายทั้งหมด  ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั้งหมด ทิ้งกายคือทิ้งความสนใจที่เกิดขึ้นกับกายทั้งหมด นั่นก็คือการแยกกาย  แยกจิตก็เกิดขึ้น

หากเราทำถึงจุดสูงสุด  พอทิ้งกายปุ๊บ ลมหายใจดับเข้าฌาน 4 ได้ทันที ตรงนี้จะเป็นจุดสังเกตว่าทิ้งกาย  ผ่อนคลายสูงสุด  จิตจะเข้าสู่ฌาน 4  ในอานาปานสติได้ทันที มาต่อการทรงภาพ  หรือทรงสภาวะความเป็นกายทิพย์  หรือมาทรงกสิณจิตต่อได้ทันที  จุดต่อเชื่อมของการปฏิบัติ   ก็คือเมื่อเราเริ่มขึ้นด้วยอานาปานสติจับลม  ลมหายใจรายละเอียดเบาลง  จนกระทั่งเหลือนิดเดียว เข้าถึงฌาน 3   ลมหายใจจากละเอียด  เบาเหลือน้อย  ทิ้งช่วงห่าง จนกระทั่งนิ่งหยุด เมื่อไหร่ลมดับเข้าถึงฌาน 4 ในอานาปานสติ  เห็นตัวนิ่ง ตัวหยุด เห็นเอกัตคตารมณ์    รู้สึกถึงอุเบกขารมณ์   ก็มาทรงภาพกสิณ  เพราะไม่มีลมให้จับ เมื่อไม่มีลมให้จับแล้ว  ก็มากำหนดกสิณต่อ  ก็คือเดินจิตเข้าสู่กสิณ จากการเดินจิตเข้าสู่กสิณ ก็เดินจิตต่อเห็นจิต กลายเป็นแก้ว  เป็นอุคหนิมิต อุคหนิมิตกลายเป็นปฏิภาคนิมิต เข้าถึงความเป็นทิพย์ของจิต  คือเป็นประกายพรึก

เมื่อความเป็นทิพย์ของจิตเริ่มเกิด กำหนดทรงภาพพระ  คือพุทธานุสติ  ภาพพระเป็นเพชร ภาพพระเป็นเพชร  เป็นประกายสว่าง   เชื่อมกระแสพุทธานุภาพเป็นหนึ่งเดียวกับภาพพุทธนิมิต    อาราธนาบารมีพระพุทธองค์     ยกจิตขึ้นพระนิพพาน ฟังดูแล้วการปฏิบัติทั้งหมดก็เป็นเรื่องไม่ยาก  กำหนดว่าไม่ยาก  มันก็ไม่ยาก สุดท้ายที่มันไม่ได้ก็เพราะไปวุ่นวายเกาะกับร่างกาย เกาะกับอาการที่เกิดขึ้น จากปิติบ้าง ไปมัวรอสั่นบ้าง  ไม่ต้องรอสั่น   ไม่ต้องไปสนใจไม่ต้องไปสนใจอาการของปิติ ทิ้งกายไปตั้งแต่แรก กำหนดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทิ้งกายเข้าฌาน

ดังนั้นการปฏิบัติมันลัดเร็วได้ ลัดเร็วมีอะไรลัดเร็วได้อีก  ฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ฌาน 4 ในอานาปานสติ มันไม่ต้องไปไล่เกาะ  กำหนดปุ๊บเข้าฌาน  4 ปั๊บ  นิ่ง หยุด ดับ มันก็เข้าฌาน 4  ได้เลย เข้าฌาน 4 แค่ลัดนิ้วมือเดียว  มันก็ง่าย พอเข้าฌาน 4 ลัดนิ้วมือเดียวได้  กำหนดจิต จิตเราเข้าสู่ความเป็นทิพย์พรึ่บเดียว  กำหนดจิตเห็นจิตพรึ่บเป็นประกายพรึกสว่าง  ประกายพรึกสว่าง  เห็นกายทิพย์ เป็นกายพระวิสุทธิเทพสว่าง  แผ่ฉัพพรรณรังสีสว่างเต็มกำลังพรึ่บ มันก็ทำได้เลย   มันไม่ต้องไปตั้งท่งตั้งท่าอะไรให้เสียเวลา ยิ่งช้ายิ่งฟุ้งซ่าน  ยิ่งช้ายิ่งปรุงแต่ง   กำหนดจิตเร็ว กำหนดเข้าฌาน 4 ให้เร็ว กำหนดทรงจิตเป็นประกายพรึกให้เร็ว  กำหนดจิตยกจิต เป็นกายพระวิสุทธิเทพยกจิตขึ้นพระนิพพานให้เร็ว แต่ถึงภาควิปัสสนาญาณ   พิจารณาธรรม  พิจารณาให้ละเอียด   เหมือนกับเคี้ยวอาหาร   เคี้ยวแล้วเคี้ยวอีก   บดย่อย  ย่อยธรรมะให้ละเอียด  ปราณีตลึกซึ้งจนเป็นอนูธาตุ

ส่วนภาพที่เป็น การกำหนดในสมถะเดินจิตเร็ว เข้าใจว่าแต่ละจุดมีอะไร แต่ละจุดมีฌาน 4 ในอานาปานสติหยุดจิต นิ่งดับอุเบกขารมณ์ เอกัตคตารมณ์  กสิณจิตพรึ่บเป็นประกายพรึกสว่าง ทรงภาพพระ  เห็นภาพพระเป็นเพชรจิตเชื่อมโยงเชื่อมกระแสพุทธานุภาพ  ภาพพุทธนิมิตคือพระพุทธองค์ ความสงสัยไม่มีในจิต  วิจิกิจฉาไม่มีในจิต จบ จับหลักให้ได้ทุกอย่างง่ายดาย  ดังนั้น พยายามกลับไปฝึก ทำความเข้าใจว่าเราจะไปเสียเวลาเพื่อ แต่ละจุดทิ้งกายผ่อนคลายร่างกาย ทิ้งจนกระทั่ง เห็น เข้าถึง ฌาน 4 ในอาณาปานสติ เห็นกายทิพย์ปรากฏ ย้ายไปอยู่กับกายทิพย์  ไม่สนใจในร่างกายอีกต่อไป ตรงนี้ก็คือจุดที่ต้องทำให้ได้

จุดต่อมาที่ถือว่าเป็นซิกเนเจอร์  ของเมตตาสมาธิก็คือ   การแผ่เมตตาอัปปมานฌาน รัศมีกาย    กระแสอารมณ์จิต  ความรู้สึกที่แผ่ออกจากจิตหรือกายทิพย์    เป็นกระแสเมตตา   ต้องแผ่ออกไปทั่วอนันตจักรวาล   ทั่วทั้งสามภพสามภูมิให้ได้  อารมณ์จิตที่เข้าถึงเมตตาอัปปมานฌานอย่างแท้จริง  คือจิตเป็นสุขอย่างยิ่ง แผ่ออกไปมาก  ยิ่งแผ่ออกไป ยิ่งให้จิตยิ่งเป็นสุข จิตยิ่งเป็นสุขจิตยิ่งสว่าง  การที่เราแผ่เมตตาอัปปมานฌาน กลับกลายเป็นการฝึกให้กายทิพย์ของเรามีกำลังสูงขึ้น ยิ่งแผ่เมตตาอัปปมานฌาน มีความสว่างและจิตมีความสุขมากเท่าไหร่ กายทิพย์ยิ่งมีกำลัง ความเป็นทิพย์ยิ่งปรากฏ ความเป็นสุขจากเมตตายิ่งปรากฏ ความอัศจรรย์ของจิตยิ่งเพิ่มพูนขึ้นจากอัปปมานฌาน

ดังนั้น จุดนี้ที่เราจะต้องก้าวให้ถึงก็คือ ทรงอารมณ์จนกระทั่งจิตเป็นสุขอย่างยิ่ง ใจเราเกิดกระแสของเมตตาออกมากลายเป็นธรรมชาติของจิต จนกระทั่งผู้คน สัตย์ หรือเด็กๆ  สามารถจับกระแสเมตตา  กระแสความสงบเย็นของเราได้ ความเมตตาแผ่ออกไปเป็นธรรมชาติของจิต แผ่เมตตาอัปปมานฌานได้มากเท่าไหร่ ราศีผิวพรรณวรรณะ  เรายิ่งผ่องใสหมดจด แผ่เมตตามากเท่าไหร่  ความอาฆาตพยาบาทจองเวร ดับ สลาย ออกไปจากจิตใจเราจนหมดสิ้น ตรงนี้กิเลสมันก็สิ้นไป ดับไปได้ เมตตาอัปปมานฌานต้องไปทำให้ได้ทุกคน เป็นฐานสำคัญของการปฏิบัติ จำไว้ว่าครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์ทุกพระองค์   ล้วนแต่เปี่ยมไปด้วยเมตตาบารมี

ดังนั้นเราจะเข้าถึงพระนิพพาน เมตตาเราก็ต้องเต็ม กระแสเมตตา  กระแสปัญญาบารมีต้องเต็ม ตรงจุดนี้ก็คือทำให้ได้  จิตเป็นสุขสว่าง รัศมีกายในขณะแผ่เมตตายิ่งสว่างขึ้น  ผ่องใสขึ้น จุดต่อมาก็ถือการเข้าฌาน 4 แค่ลัดนิ้วมือเดียว  อยากที่บอก  กำหนดจิต  นิ่ง หยุด ปุ๊บ  กำหนดจิต หยุดจิต เห็นเอกัตตารมณ์  เห็นตัวนิ่ง ตัวหยุด หยุดจิตเมื่อไหร่กำหนดดวงแก้วจิตสว่างใสเป็นประกายพรึก นิ่งหยุดอยู่กับจิตที่เป็นประกายพรึก ทรงอารมณ์เห็นจิตเป็นประกายพรึกสว่าง  พร้อมกับกระแสเมตตาแผ่สว่าง    ไปกับจิตที่เป็นประกายพรึกเป็นเพชรระยิบระยับนั้น ใจยิ่งสว่าง จิตยิ่งสว่าง กายทิพย์ยิ่งสว่าง   ยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพาน กำหนดจิต กำหนดรู้   ว่าตอนนี้กายพระวิสุทธิเทพเราอยู่บนพระนิพพาน กำหนดทบทวนอารมณ์ใจ

นิพพานัง ปรมัง  สุขัง   นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

กายทิพย์สว่างผ่องใสอย่างยิ่ง กายพระวิสุทธิเทพเป็นเพชรระยิบระยับอย่างยิ่ง จิตเป็นสุขอย่างยิ่ง เข้าถึงสภาวะจิตที่ผ่องใสผ่องแผ้วเบิกบานสูงสุด   คืออารมณ์พระนิพพาน อารมณ์จิตที่เข้าถึงนี้ถือว่าเป็นที่สุด ของการปฏิบัติทรงสภาวะในความเป็นพระนิพพาน   ในความเป็นพระวิสุทธิเทพ ความผ่องใสเต็มกำลัง ความผ่องใสเต็มกำลัง  ความสว่าง  ความชัดเจนก็กลายเป็นมโนมยิทธิเต็มกำลัง ทรงสภาวะไว้เช่นนี้

กำหนดพิจารณาอธิษฐานบนพระนิพพาน กำหนดน้อมอธิษฐานขอ พระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์  ครูบาอาจารย์ทุกพระองค์  เมตตาปรากฏ ห้อมล้อมลายรอบ   กายพระวิสุทธิเทพของเรา อธิษฐานจิตบนพระนิพพาน กายพระวิสุทธิเทพเราพนมมือตั้งจิตอธิษฐานกายสว่าง เป็นเพชรระยิบระยับสว่าง ขอนับแต่นี้ ให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีพระนิพพานเป็นที่สุด ขอความเจริญ ในพระศาสนาขององค์พระสมณะโคดม จงปรากฏขึ้น ขอปัญญาความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม จงปรากฏ ผุดรู้ขึ้นเป็นญาณสมาบัติ  ญาณเครื่องรู้อันประกอบ เพื่อความสำเร็จในมรรคผลพระนิพพาน และความสุขความเจริญ   ปัญญาในทางโลกในการดำรงชีวิต   ขณะที่ยังดำรงขันธ์5 อยู่

ขอนับแต่นี้การปฏิบัติของข้าพเจ้า    มุ่งลัดตัดตรงสู่มรรคผลพระนิพพาน เป็นการปฏิบัติที่ไม่อ้อมค้อม  ไม่เนิ่นนาน  ไม่นานช้า การติดปฏิบัติของข้าพเจ้าจงมีแต่ความเจริญขึ้นเพียงถ่ายเดียว ก้าวหน้าขึ้น  ใกล้พระนิพพานขึ้นทุกลมหายใจ ทุกเวลา  ทุกวินาที และขอน้อมจิตอธิษฐาน ขอให้การปฏิบัติทุกครั้งของข้าพเจ้านี้ เป็นไปเพื่อพระนิพพาน    การปฏิบัติของข้าพเจ้านี้   เป็นการปฏิบัติบูชา    บูชาคุณพระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  พระธรรม    พระอริยสงฆ์ พ่อแม่ท่านผู้มีพระคุณ ครูอุปัชฌาอาจารย์ ท่านทั้งหลายที่เคยเกื้อกูลสงเคราะห์ข้าพเจ้า   นับตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบัน เทพพรหมเทวาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยคุ้มครองรักษาอภิบาลข้าพเจ้า   ในยามทุกข์ยาก    ในยามมีเคราะห์ก็ตาม   ในยามที่ข้าพเจ้าเจริญพระกรรมฐาน   คอยเมตตาปกป้องคุ้มครองก็ตาม   ท่านทั้งหลายเทวดาพรหมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยเมตตาโมทนาสาธุกับทุกความดี  ทุกกุศล  ทาน ศีล ภาวนาของข้าพเจ้าก็ตาม ขอบุญกุศล จนถึงทุกท่าน ทุกรูป ทุกนาม และขอแผ่เมตตาอันไม่มีประมาณจากพระนิพพานนี้ ลงไปยัง สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั่วสังสารวัฎทั้ง3ทั่วอนันตจักรวาล ขอบุญกุศลจงปรากฏต่อทุกสรรพสัตว์ทุกดวงจิต ท่านที่เป็นสุขขอให้สุขยิ่งขึ้นไป  ท่านที่เป็นความทุกข์ถึงด้วยความทุกข์เสวยวิบากอกุศล ขอจงสลายวิบากอกุศล  จงคลายตัวพ้นจากความทุกข์ภัย ท่านที่เป็นมิจฉาทิฎฐิ ขอจงสลายกับกลายเป็นสัมมาทิฏฐิ ท่านที่มีสัมมาทิฏฐิอันชอบ ประกอบไปด้วยธรรมแล้ว  ขอจงรุ่งเรืองในธรรม

แผ่เมตตาสว่างจากพระนิพพานลงไป เห็นโลก เห็นสังสารวัฏ ใจเราเป็นสุขสว่างผ่องใส น้อมกระแสจากพระนิพพานลงไปสู่สังสารวัฏ  น้อมการแสจากพระนิพพานลงมาสู่โลก ขอกระแสแห่งพระนิพพาน  ขอกระแสมรรคผล ขอกระแสแห่งบุญกุศลทั้งปวง  จงส่งผลให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคชาววิไลโดยเร็วด้วยพลันด้วยเทอญ   แผ่เมตตาสว่างออกไปนะ

จากนั้นน้อมจิต ตั้งกำลังใจ กราบทุกท่าน ทุกรูป ทุกนาม เห็นกายพระวิสุทธิเทพเราบรรจง คุกเข่า ประนมมือกราบเบญจางคประดิษฐ์ แทบเบื้องพระบาทของพระพุทธเจ้า แทบเปื้องพระบาทสมเด็จองค์ปฐม จิตสัมผัสได้ว่าฝ่ามือของกายพระวิสุทธิเทพสัมผัสลง ที่ฉลองพระบาท ปลายงอนของสมเด็จองค์ปฐม จิตมีความนอบน้อมอ่อนโยน มีความเคารพรักในพระพุทธองค์สุดหัวจิตหัวใจ อารมณ์นอบน้อม  อารมณ์ละเอียด   คือหัวใจของการปฏิบัติ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธานุสติ   นึกถึงแต่จิตกระด้างจิตแห่งๆ   กับจิตนอบน้อมอ่อนโยนที่สุด มีผลต่างกัน   ทรงอารมณ์ละเอียดสว่าง

เมื่อน้อมจิตกราบลาแล้ว  ก็กำหนดจิตเห็นแสงสว่างพุ่งจิตกลับมาที่โลกมนุษย์   พุ่งจิตกลับมาที่กายเนื้อ พร้อมกับน้อมนำกระแสแห่งพระนิพพาน กระแสธรรม ฟอกร่างกายธาตุขันธ์ ร่างกายธาตุขันธ์นี้มีกระแสธรรม  มีแสงสว่างฟอก   เซลล์ทุกเซลล์สะอาดต่อร่างกาย  โรคภัยไข้เจ็บสลายไปด้วยกำลังกระแสแห่งธรรม  กระแสพระนิพพานฟอกล้างชำระ เห็นว่าร่างกาย  เห็นโครงกระดูกใสเป็นแก้ว  เป็นเพชรสว่าง เซลล์ทุกเซลล์เป็นแก้วเป็นเพชรสว่าง กายเนื้อพลอยสว่าง  กลายเป็นแก้วกลายเป็นเพชร  กายทิพย์ที่มาทับซ้อนกับกายเนื้อสว่าง เป็นเพชรระยิบระยับ เห็นภาพรู้สึกถึงกายทั้งกายเนื้อกายทิพย์  ประสานและเป็นเพชรสว่างมีรัศมี  มีออร่า  มีราศีแห่งผู้ปฏิบัติธรรม  ผู้อิ่มในธรรมสว่าง

กระแสเมตตาแผ่ออกจากกายเนื้อกายทิพย์   จิตของเราเป็นปกติ รู้สึกสัมผัสได้ถึงกระแสบุญ กระแสแห่งกุศล ที่มาหล่อเลี้ยงร่างกายเนื้อ หล่อเลี้ยงชีวิต กำหนดอธิษฐานขอสายบุญสายทรัพย์  สายสมบัติ  สายบารมี  จงเปิดด้วยกำลังแห่งพระกรรมฐาน  ชีวิตมีแต่ความคล่องตัว  เป็นมหาอุบาสก  เป็นมหาอุบาสิกา เป็นกำลังของพระพุทธศาสนา เป็นกัลยาณชน   เป็นกัลยาณมิตร จิตยิ่งอิ่มผ่องใส เป็นสุข  ตั้งจิตโมทนาสาธุกับกัลยาณมิตรที่ฝึกสมาธิด้วยกัน ผู้ที่มาฟังมาฝึกภายหลัง   ใจเราเป็นสุข   เอิบอิ่ม สว่าง  กายจิตเราใสสว่างไปแก้ว จากนั้น

หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ  หายใจเข้าพุท ออกโธ

หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ ครั้งที่สอง  ธัมโม

หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ ครั้งที่สาม  สังโฆ

กำหนดจิตว่าเรามีคุณพระพุทธ   พระธรรม  พระสงฆ์      เป็นสรณะที่พึ่งที่อาศัย    กำหนดในญาณเครื่องรู้ ในความเป็นทิพย์ของจิตตอนนี้ เห็นในความเป็นทิพย์ ว่ากายเนื้อของเรามีพระ 3 ฐาน  คืออยู่เหนือศีรษะ  ในศีรษะ และภายในอก  กายเนื้อกายทิพย์ของเราตอนนี้ปรากฏ   มงกุฎพระพุทธเจ้า  ลายล้อมรอบกระหม่อม  รอบศีรษะของตัวเรา องค์พระพุทธรูปหันแปดทิศ ความเป็นทิพย์ เห็นได้ความเป็นทิพย์ในนิมิต นิมิตของจิตเกิดกำลังแห่งพุทธานุภาพ เกิดกำลังแห่งความเป็นทิพย์  ใจใสสว่าง    สรุปวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคนด้วยนะครับ  ขอให้มีความสุข  ความเจริญในธรรม มีความเพียร อย่าลืมกลับไปทบทวนในสิ่งที่อาจารย์สอนแนะนำ ในเคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้พื้นฐานการปฏิบัติของเราเร็วขึ้น ลัดขึ้น สำหรับวันนี้ก็ขอสวัสดี พบกันใหม่สัปดาห์หน้า

ถอดเสียงและเรียบเรียง โดย คุณ สิริญาณี แลบัว

You cannot copy content of this page