เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 13 สิงหาคม 2566
เรื่อง การพิจารณาตัดสังโยชน์สาม
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดสติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลายร่างกายปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางขันธ์ห้า
กำหนดรู้ที่จะปล่อยวาง ความวิตกกังวลทั้งหลาย ภาระทางใจทั้งหลาย ความห่วงทั้งหลาย ออกไปจากจิตใจของเราให้หมด เหลือแต่เพียงความสงบ ความรู้ตื่น ในลมหายใจ จดจ่ออยู่กับลมหายใจที่เป็นเหมือนกับแพรวไหม กำหนดรู้ตลอดทั้งสายตลอดทั้งกองลม
ลมหายใจผ่านเข้าออก สติเป็นผู้ติดตามดูติดตามรู้ในลมหายใจ ลมหายใจละเอียดก็รู้ว่าละเอียด ลมหายใจมันมีความเบาเราก็รู้ว่ามีความเบา
เมื่อกำหนดรู้ในลม รู้ในลมสบาย สติก็กำหนดรู้ ในเวทนาคือความรู้สึกว่าลมยิ่งละเอียดเบามากเท่าไหร่ อารมณ์ใจหรือเวทนานั้นก็พลอยมีความเบาพลอยมีความสบายตามไปด้วย ลมปราณหรือลมหายใจสัมพันธ์กับจิตใจของเรา ลมหายใจยิ่งเบายิ่งละเอียด ใจเรายิ่งเบา ยิ่งสบาย ยิ่งมีความสุข
กำหนดจดจ่อติดตามดูติดตามรู้ในลมหายใจ อยู่กับลมสบาย สติที่สำคัญหรือพรหมวิหารสี่ก็อยู่กับลมหายใจของเรา ลมหายใจของเรา มีความเมตตา มีความอ่อนโยน มีความละเอียด อยู่กับลมหายใจ อยู่กับใจที่เบาสบาย ลมหายใจของเรามีกระแสของความเมตตา ความสุขความปรารถนาดี
ทรงอารมณ์ความรู้สึกของสมาธิ ความเบา ความละเอียด ความสุข ความสงบ จดจ่ออยู่กับความเบาความสงบ ให้จิตของเราได้พักจากการปรุงแต่ง พักจากความวุ่นวายสับสน พักจากอารมณ์ที่เข้ามากระทบ อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากการปรุงแต่ง พักจิตของเราอยู่กับความสงบเบาสบาย
ความสงบเบาละเอียดของใจปรากฏขึ้น ความสงบปรากฏขึ้น ยิ่งปล่อยวางจากร่างกายมากเท่าไหร่ ปล่อยวางจากห่วงจากความทุกข์ จากความกังวลได้มากเท่าไหร่ จิตก็ยิ่งรวมตัวเป็นสมาธิ เกิดจิตตานุภาพ เกิดกำลังที่อยู่เหนือสรรพกิเลส
เมื่อใจของเราเบาสบายสงบเย็นแล้ว ความเบาจากสมาธิในอานาปานสติเกิดขึ้น เราเดินจิตในสมถะต่อ
ในความเบาความละเอียดความสงบ เรากำหนดจินตภาพเป็นภาพนิมิต เป็นดวงแก้วเชื่อมโยงกับดวงจิตของเรา ดวงแก้วยิ่งใสมากเท่าไหร่ สว่างมากเท่าไหร่ อารมณ์ใจเรายิ่งเป็นสุข ภาพนิมิตสัมพันธ์จิตใจเช่นกัน
เคล็ดลับในการฝึกสมาธิ อานาปานสติ ลมปราณสัมพันธ์จิตใจ
กสิณก็คือ การกำหนดภาพจินตภาพกัน การกำหนดการนึกภาพ ภาพที่ปรากฏ ภาพที่เรานึก สัมพันธ์กับอารมณ์ใจของเราเช่นกัน ภาพนิมิตสัมพันธ์จิตใจ ยิ่งสว่างยิ่งใส ถ้าพูดภาษาง่ายๆก็คือ ยิ่งภาพนิมิตมีความสวยงามสวยสดงดงามแพรวพราวมากเท่าไหร่ ใจเรายิ่งมีกำลัง ใจเรายิ่งมีความสุข จิตมีแสงสว่างมากเท่าไหร่ ความเป็นทิพย์ยิ่งเพิ่มพูนยิ่งปรากฏ
ดังที่ทราบกันว่าในสภาวะของโลกทิพย์หรือกายทิพย์กายทิพย์ใดดวงจิตใดมีรัศมีกายสว่างมากเท่าไหร่ รัศมีกายที่สว่างมากนั้นบ่งบอกแสดงถึงเจ้าของดวงจิตนั้นกายทิพย์นั้นมีบุญบารมีมากกว่ากายทิพย์ที่มีแสงสว่างน้อยกว่า
ดังนั้นการเจริญพระกรรมฐานก็คือการปฏิบัติในสมถะ การฝึกกสิณ เป็นการฝึกการปฏิบัติที่ทำให้จิตเราก่อเกิดฝึกฝนก่อเกิดให้เกิดแสงสว่างหรือรัศมีของจิต ยิ่งฝึกมากเท่าไหร่ ยิ่งทรงอารมณ์ได้มากเท่าไหร่ มีความตั้งมั่นมากเท่าไหร่ กายทิพย์ของเราก็เป็นกายทิพย์มีที่มีบุญ มีบุญญาธิการจากการปฏิบัติมากขึ้นสูงขึ้นเพียงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแสงสว่างรัศมีจิตของเราเป็นแสงสว่างจากอารมณ์ที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส เป็นความบริสุทธิ์ เป็นความสว่าง จากอารมณ์ของการเข้าถึงการตัดสังโยชน์ คืออารมณ์พระอริยะเจ้า ด้วย แสงสว่างรัศมีของจิตเรายิ่งสว่างยิ่งเกิดความบริสุทธิ์มากกว่าดวงจิตที่เป็นปุถุชนที่ยังมีความหนาแน่นด้วยกิเลส หรือแม้แต่สมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิก็ยังไม่เทียบเท่าความบริสุทธิ์ของจิตที่สะอาดจากกิเลสทั้งหลาย
ดังนั้นการฝึกการปฏิบัติ กสิณจึงมีความสำคัญ เรากำหนดรู้ว่าแสงสว่าง จิตเรายิ่งแผ่สว่างมากเท่าไหร่ อารมณ์ใจของเรายิ่งเป็นสุข ยิ่งสว่างขึ้น แสงสว่างเพิ่มพูนขึ้น สว่างชัดเจนขึ้น แสงมีความเข้มข้นเจิดจ้าเจิดจรัสขึ้น ดวงจิตของเราตอนนี้กลายเป็นเพชรประกายพรึกแพรวพราวเป็นเพชรระยิบระยับละเอียดสว่าง นั่นก็คือจิตเราในกสิณจิต เราทรงสภาวะในความเป็นปฏิภาคนิมิตหรือฌานสี่ของกสิณ
ทรงอารมณ์ที่จิตเราเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง มีรัศมีเจิดจ้าเจิดจรัส ความรู้สึกของจิตมีความสุข มีความอิ่ม มีความรู้สึกเปี่ยมพลัง ทรงอารมณ์ไว้ ความเป็นทิพย์ปรากฏ ความเป็นทิพย์ของจิตปรากฏ แสงสว่างรัศมีของจิตปรากฏ จิตตานุภาพแห่งจิตรวมตัวเปล่งประกายส่องสว่าง จิตของเราตอนนี้เป็นประดุจดวงอาทิตย์อันเจิดจ้าเจิดจรัส ทรงอารมณ์ ทรงนิมิต ทรงสภาวะไว้ให้ได้มากที่สุด นานที่สุด ตั้งมั่นอยู่กับดวงจิตอันเป็นประภัสสรเป็นประกายพรึก
กำหนดรู้พิจารณาว่าในขณะที่ทรงอารมณ์อยู่นี้ จิตของเราสะอาดปราศจากความโลภโกรธหลงทั้งปวงความปรารถนาความทะยานอยากทั้งปวง อารมณ์จิตของเราเปล่งประกายเจิดจรัสสว่างตั้งมั่น รู้สึกถึงความเป็นหนึ่ง รู้สึกถึงความตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว รู้สึกถึงสภาวะที่จิตเราเปี่ยมพลัง ความสุข ความรู้สึกว่าจิตเราผ่องใสปรากฏชัดเจน ภายในจิตของเราแย้มยิ้มเป็นสุขเบิกบาน ทรงอารมณ์ ทรงสภาวะที่จิตเป็นประกายพรึก สว่างประดุจดวงอาทิตย์ ทรงอารมณ์ไว้ ใจสบายๆ
ทรงอารมณ์ความรู้สึกความผ่องใสไว้ ความรู้ตื่นเข้าถึงความเป็นพุทธะในจิต เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ภาพนิมิตดวงจิตเป็นเพชรระยิบระยับสว่างแพรวพราว จิตเป็นประภัสสร จิตเป็นเพชรประกายพรึก จิตปรากฏความเป็นแก้วสารพัดนึก
กำหนดรู้ในจิต การได้มรรคผลก็ปรากฏขึ้นที่จิต บุญเกิดที่จิต บาปเกิดขึ้นที่จิต เจตนาทั้งหลายคือกรรมก็เกิดขึ้นที่จิตก่อนเป็นจุดแรก กำหนดรู้ว่าจิตคือพุทธะ เมื่อจิตตั้งเจตนารมณ์ปรารถนาเป็นพระพุทธองค์ในอนาคต จิตก็รู้ตื่นขึ้นสู่ความเป็นพุทธะ จิตเมื่อกำหนดรู้พิจารณาเห็นโทษภัยในสังสารวัฏจนปล่อยวาง ละวาง รู้ตื่นขึ้น ปรารถนาที่จะเข้าถึงพระนิพพาน จิตดวงนี้ก็เคลื่อนเข้าสู่ความเป็นอริยมรรคอริยผลหรือแม้แต่พระนิพพานก็ดี ไปถึงพระนิพพาน เข้าถึงพระนิพพานก็เข้าถึงด้วยจิต เข้าถึงด้วยสภาวะจิตอันสะอาดจากกิเลส
ดังนั้นธรรมทั้งหลายรวมลงสู่จิต จิตคือพุทธะ จิตคือผู้บรรลุเข้าถึงพระนิพพาน แต่ละวินาทีจิตก็มีการแปรเปลี่ยนอารมณ์ หากเราพิจารณาเห็นว่าจิตนั้นเป็นดวงแก้วเป็นแสงสว่าง ขณะหนึ่งที่อารมณ์โกรธเกิดขึ้น จิตก็มีความเศร้าหมองเป็นสีแดงจัด จิตเมื่อไหร่ก็ตามมีความซึมเศร้ามีความทุกข์มีความเครียดมีความกังวล จิตก็มีความเศร้าหมองมีสีคล้ำ เมื่อไหร่ก็ตามจิตเป็นกุศลก็เกิดความสว่าง รอยยิ้มที่เกิดขึ้นจากใจ รอยยิ้มที่เกิดขึ้นจากความรู้สึก ก็ทำให้ดวงจิตของเรานั้นสว่างขึ้น ใสขึ้นตามไปด้วย ยามกุศลเกิด แสงสว่างก็ปรากฏในจิต ยามเจริญเมตตาแผ่เมตตาอัปปันนาณฌาน แสงสว่างก็แผ่ออกไปจากจิต ทุกอย่างอยู่ที่จิต จิตคือพุทธะ
เมื่อกำหนดรู้แล้วเราก็จะมีความเข้าใจว่า การปฏิบัติการเจริญพระกรรมฐานมีความสำคัญยิ่ง ก็ด้วยเหตุว่าทำให้เรารู้จักจิตของเราเอง การฝึกสติก็ล้วนแต่เป็นไปเพื่อให้เรารู้เท่าทันจิต จุดสำคัญในมหาสติปัฏฐานสี่ก็คือ มีสติที่จะรำลึกรู้ว่าจิตของเราขณะนี้ทรงอารมณ์อย่างไรมีสภาวะเช่นอะไร จิตต้องทรงให้อยู่ในกุศลให้มากที่สุด หากเราไม่มีสติในจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน จิตก็ไหลไปตามกิเลส ไหลเป็นแรงกระทบ ไหลไปตามแรงขับเคลื่อน ดังนั้นการที่เราฝึกสติ รู้รักษาจิต รู้รักษาที่จะทรงอารมณ์ การที่เราทรงอารมณ์ทรงความผ่องใส มันเป็นการฝึกตบะ สร้างตบะเดชะให้เรามีจิตตานุภาพในการที่จะประคับประคองจิตให้อยู่ในสภาวะอันเป็นกุศลผ่องใสสว่าง ไม่ถูกกิเลสลากถูไป ดึงไปในอารมณ์ที่เศร้าหมอง ดึงไปในอารมณ์ที่เป็นความโลภ ดึงไปในอารมณ์ที่เป็นความรักความหลง ดึงไปในอารมณ์ที่ปรุงแต่งในความโกรธ ในความอาฆาตแค้น ในความพยาบาท ในการจองเวร
จิตเราตอนนี้ผ่องใสไหม กำหนดรู้ดูของเราเอง จิตของเราสว่างเป็นเพชรประกายพรึกไหม ปัญญาในการเจริญวิปัสสนาญาณกำหนดรู้ในเรื่องแห่งจิต เรารู้ตื่นขึ้นไหม
ทรงอารมณ์ที่จิตเป็นเพชรประกายพรึก สว่าง
กำหนดอธิษฐานให้กลางจิตที่เป็นเพชรประกายพรึกปรากฏองค์พระอยู่ภายใน เมื่อองค์พระปรากฏ ใจเรายิ่งรู้สึกมีกำลังใจ มีความสุข มีแสงสว่างยิ่งขึ้น กำลังแห่งพุทธานุภาพมาสถิตรักษาอยู่ในจิตของเรา ทรงอารมณ์ทรงสภาวะที่เห็นจิตของเรานี้เป็นเพชรประกายพรึกสว่าง แผ่รัศมีพร้อมกับมีองค์พระสมเด็จองค์ปฐมปรากฏชัดเจนเป็นเพชรอยู่กลางจิต กำหนดน้อมว่าพุทธนิมิตนี้ผนึกอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับจิตของข้าพเจ้า นั่นหมายถึงว่าจิตของเรานั้นทรงในไตรสรณคมน์ มีความเคารพ มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะสูงสุด องค์พระที่อยู่ในจิตสว่าง ทรงอารมณ์ ทรงสภาวะ ทรงนิมิตที่เห็นพระพุทธองค์ทรงไว้ในจิต อารมณ์ใจของเราไม่ใช่สักแต่ว่าเห็นภาพนึกภาพเห็นภาพองค์พระ แต่ใจเรามีความนอบน้อมมั่นคง เข้าถึงคำว่า “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ” อย่างแท้จริง มีคุณพระพุทธเจ้าอันไม่มีประมาณเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งอาศัยของจิตข้าพเจ้า ทรงอารมณ์ในพุทธานุสติ ทรงอารมณ์ในสภาวะที่จิตเป็นเพชรประกายพรึกเป็นประภัสสรนี้ มีองค์พระอยู่ภายใน ทรงภาพนิมิต ทรงอารมณ์ ประคับประคองจิตที่มีองค์พระสว่างนี้ไว้ สวดมนต์สวดคาถาบทพระจักรพรรดิ สวดคาถาชินบัญชร สวดคาถาเงินล้าน ก็อธิษฐานจิต สวดจากดวงจิตที่มีองค์พระ จิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่างเต็มกำลัง อานิสงส์ก็มากกว่าการที่เราไม่ได้กำหนด กำลังจิตตานุภาพก็เพิ่มพูนสูงกว่า
ตอนนี้ให้เราทรงอารมณ์ไว้ ทรงภาพนิมิต ทรงสภาวะ ทรงภาพพระไว้
ใจสบายๆ ความรู้สึก การทรงภาพองค์พระ กสิณจิตที่มีองค์พระอยู่ภายในมั่นคง
จากนั้นให้เราพิจารณาในการตัดสังโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังโยชน์สามอันเป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน ทรงสภาวะที่จิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่างมีองค์พระภายในนั้น และพิจารณาว่า สักกายะทิฐิ ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายขันธ์ห้า ความสำคัญหลงในร่างกายคิดว่าเราจะไม่ตายไม่มีในจิตของเรา สักกายะทิฐินั้นอารมณ์ใจของเราคิดพิจารณาเสมอว่าวันหนึ่งเราต้องตาย ไม่ประมาทในความตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระโสดาบันนั้นมีเป้าหมายคือการปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน อารมณ์ใจของพระโสดาบันที่เป็นเอกพีชีคือเป็นชาติสุดท้ายตายเมื่อไหร่ก็ไปพระนิพพาน ถ้าย่อลงมา กำลังใจต่ำลงมาก็เกิดเป็นมนุษย์อีกเพียงชาติเดียว ถ้ากำลังใจหย่อนลงมาอีกก็เกิดเป็นมนุษย์อีกสามชาติ ถ้ากำลังหย่อนมากมีความห่วงมีความเกาะมากก็เกิดเป็นมนุษย์อีกเจ็ดชาติแล้วจึงบรรลุธรรม แต่การปฏิบัติถ้าหากเรามีความเข้าใจในเรื่องจิตสุดท้ายก่อนตาย การปฏิบัติของเราในอารมณ์ที่ตัดสังโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสักกายะทิฐิ เราก็กำหนดพิจารณาว่าตายเมื่อไหร่เราขอไปพระนิพพานเพียงจุดเดียวเท่านั้น ไม่ห่วงไม่อาลัยใครทั้งสิ้น ปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด อันนี้คืออารมณ์ในการตัดสักกายะทิฐิในอารมณ์ของพระโสดาบัน ตายเมื่อไหร่ไปพระนิพพาน จริงๆสรุปรวมก็สั้นๆ
สังโยชน์ข้อต่อมา วิจิกิจฉาความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยคือสงสัยหรือเปล่าว่ากรรมและกฎของกรรมมีจริงไหม พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ มีคุณจริงไหม มรรคผลพระนิพพานมีจริงไหม การปฏิบัติเพื่อพระนิพพานมีจริงไหม หากเรายังคลางแคลงสงสัยยังมีความหวั่นไหวอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิจิกิจฉานี้ ความเป็นมิจฉาทิฐิก็ถือว่าเป็นวิจิกิจฉา เพราะเท่ากับการที่เรามีทิฐิที่ผิดไปแต่ต้น ก็ไม่ต้องไปพูดถึงความลังเลสงสัย บางคนที่เป็นมิจฉาทิฐิมีความเด็ดเดี่ยวห้าวหาญในความเชื่อของตนมาก แต่เป็นความเชื่อผิดๆ เชื่อว่านรกสวรรค์ไม่มี เป็นเรื่องแต่งขึ้น คุณพระพุทธเจ้าไม่มี บาปกรรมไม่มี ภพชาติไม่มี ตายไปเมื่อไหร่ก็จบสิ้นกัน ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด ทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นในจิตเป็นเรื่องของสารเคมีในสมอง ถ้ามีความคิดความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าเช่นนั้น ก็ถือว่ามีทิฐิที่หนาแน่น ยากที่จะโปรด ยากที่จะปฏิบัติต่อให้ได้มรรคผลพระนิพพาน เรียกว่าถ้าเป็นมิจฉาทิฐิปุ๊บ โอกาสที่จะปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพานนั้นห่างไกลอย่างยิ่ง
สิ่งแรกในการที่จะเข้าถึงความเป็นพระอริยะเจ้าได้ จำเป็นต้องมีสัมมาทิฐิ ต้องมีความดำริชอบ มีความเห็นชอบ มีปัญญาชอบ เห็นภัยในสังสารวัฏ เมื่อไหร่เราถึงจะอยากไปพระนิพพาน ถ้าเมื่อไหร่ที่นรกก็ไม่มีสวรรค์ก็ไม่มี ตายแล้วมันก็จบสิ้นกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว มันก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปพระนิพพาน เพราะตายแล้วมันก็จบ ตายแล้วก็สูญ ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นภูมิปัญญาเป็นสัจธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา ตายไปแล้วมันมีการเวียนว่ายตายเกิด ภพภูมิมีจริง สามภพสามภูมิหลัก คือสุคติภูมิ ภพกลางภพมนุษย์ แล้วก็ทุคติภูมิ เวียนว่ายตายเกิดหมุนเวียนอยู่ เป็นทะเลทุกข์ที่ไม่เห็นฝั่ง เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจตรงจุดนี้ เราจะยิ่งปรารถนาพระนิพพาน ไม่งั้นเราก็ต้องเกิดมา มาเหนื่อย มาเรียนหนังสือใหม่ มาเป็นเด็กเล็กใหม่ มาเรียนหนังสือ มาฝึกฝนวิชาอาชีพ เหนื่อยทำมาหาเลี้ยงชีพ มีครอบครัว ป่วย เจ็บ แก่ แล้วก็ตายไปในที่สุด เวียนว่ายอยู่เช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้นบุคคลที่มีญาณ มีอตีตังสญาณก็ดี บุพเพนิวาสานุสติญาณก็ดีสามารถรำลึกรู้รำลึกอดีตรำลึกชาติได้ ไปดูไปรู้เห็นอดีตชาติ เราเกิดมามากมายแค่ไหน ความเบื่อหน่ายในการเกิดมันก็เกิดขึ้นในจิต การระลึกชาติก็ดี ญาณทั้งแปดก็ดี ญาณเครื่องรู้ทั้งหลายมีไว้ก็เพื่อนำมาพิจารณา เพื่อให้เห็นธรรม เพื่อให้เห็นทุกข์ เพื่อให้เห็นการเวียนว่ายตายเกิด จนกระทั่งจิตเกิดปัญญา จิตเกิดวิปัสสนาในสังขารุเปกขาญาณบ้าง นิพพิทาญาณบ้าง
สังขารุเปกขาญาณแปลว่าญาณเครื่องรู้ที่ทำให้เกิดความวางเฉยในปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของขันธ์ห้า คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย
นิพพิทาญาณแปลว่าญาณที่ทำให้เราเกิดความเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายการเวียนว่ายตายเกิด เบื่อหน่ายการเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่มีที่สิ้นสุดนั้น อารมณ์ใจนี้เป็นอารมณ์ของพระอริยะเจ้าซึ่งจะตรงกันข้ามกับปุถุชน ปุถุชนยังอยากเที่ยว ยังอยากเกิด ยังอยากเพลิดเพลินในการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ อารมณ์จิตก็จะมีความต่างกัน ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่เราฝึกมโนมยิทธิ ถ้าอารมณ์ยังเป็นปุถุชนมาก เราเอะอะก็จะขออยากให้อาจารย์พาไปเที่ยว ไปเที่ยวป่าหิมพานต์ ไปเที่ยวเมืองบาดาล ไปเที่ยวดาวดวงอื่น ไปดูอดีต ยังเพลิดเพลินอยู่กับเรื่องแบบนี้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่อารมณ์เข้าถึงความพระอริยะเจ้ามากขึ้น ใกล้ขึ้น ลึกขึ้น กำลังของมโนมยิทธิที่เราได้ เราจะปรารถนาที่จะใช้เดินทางไปจุดเดียว ก็คือยกจิตขึ้นไปอยู่กับพระพุทธองค์บนพระนิพพานเป็นหลัก ไม่อยากเที่ยวไปภพใดภูมิใด เพราะจิตหรือใจมันจืดจางจากการเวียนว่ายตายเกิด จืดจางจากภพอื่นภูมิใดทั้งหลายทั้งปวงไปหมด ดังนั้นจุดนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราสามารถดูอารมณ์ใจของเรา ความสนใจ ความอยากรู้อยากเห็นเรายังมีมาก หรือใจมันรู้สึกวาง รู้สึกเบื่อ รู้สึกที่จะปรารถนาจะไปพระนิพพาน พึงพอใจเกิดธรรมฉันทะอยู่กับพระนิพพานเพียงจุดเดียวไหม ถ้าอารมณ์ใจของเราเกิดขึ้นเช่นนี้ก็ถือว่าเราก้าวหน้า ก้าวเข้าใกล้ความเป็นพระอริยะเจ้ามากขึ้นสูงขึ้น จิตยิ่งอยู่กับพระนิพพานจนแนบกับพระนิพพานมากเท่าไหร่ นั่นก็ยิ่งใกล้ความเป็นพระอริยะเจ้า มรรคผลก็ยิ่งชัดเจนขึ้นสูงขึ้น แต่ถ้าใจของเราไม่มีความที่เรียกว่าธรรมฉันทะ ความแนบกับพระนิพพาน ใจมันอยากไปที่อื่น อยากไปเรื่องโลกๆ อยากไปเรื่องที่เป็นวัตถุ อยากจะไปภพใดภูมิใดที่ยังอยู่ในสังสารวัฏ เรื่องราวพวกนี้มันก็แปลว่าจิตของเรายังมีความเป็นปุถุชนอยู่อีกมาก
ดังนั้นเราก็พิจารณาว่าถ้าเราตั้งใจเด็ดเดี่ยวเพื่อพระนิพพานในชาตินี้อย่างแท้จริง เราก็จำเป็นที่จะต้องฝึกหรือไปจนกระทั่งใจมันแนบมันรักในพระนิพพานโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องฝืนใจ คำว่าธรรมฉันทะนั้นคือความพึงพอใจในธรรม พึงพอใจในพระนิพพาน อุปมาท่านว่าเหมือนกับชายหนุ่มมีความรักใคร่ในหนึ่งสาว ลืมตาก็เห็นหน้าเธอ หลับตาก็เห็นหน้าเธอ นึกถึงอยู่แทบจะทุกลมหายใจ จดจ่อใคร่ครวญรำลึกนึกถึงว่าเธอจะเป็นอย่างไรบ้าง อารมณ์ของผู้ที่มีธรรมฉันทะ อารมณ์ของบุคคลที่มีความแนบในพระนิพพานก็เช่นเดียวกัน นึกถึงแต่พระพุทธเจ้า นึกถึงแต่พระนิพพาน ว่างเมื่อไหร่ก็อยากที่ยกจิตไปถึงพระนิพพาน
ถ้าอารมณ์เราเป็นเช่นนี้ได้เมื่อไหร่ นั่นก็แปลว่าใกล้ แต่ถ้าเมื่อไหร่อารมณ์มันจืดไปจางไป รู้สึกเบื่อ รู้สึกอิ่มตัว รู้สึกไม่ค่อยอยากขึ้นมา นั่นแปลว่ากำลังใจเราถอย ถ้าอารมณ์ใจเราปรารถนาพระนิพพานจริงๆ อารมณ์จิตมันจะไม่ถอย ความเป็นพระอริยะเจ้านั้นอันที่จริงแล้วไม่มีความเสื่อม ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนั้น ความคิดว่าไม่เอาดีกว่า ไม่อยากไปพระนิพพานแล้ว มันจะไม่มีในจิตของบุคคลที่เข้าถึงความเป็นพระโสดาบันหรือความเป็นพระอริยะเจ้า มีแต่อารมณ์จะค่อยๆแน่นขึ้น ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น เข้าสู่อารมณ์แห่งความเป็นพระอริยะเจ้าขั้นสูงขึ้น แต่ความถอยความเสื่อมจากพระนิพพานจะไม่มีในจิต อันนี้ทำความเข้าใจให้ตรงกันนะ
ดังนั้นเหตุผลข้อนี้จึงเชื่อมโยงต่อมาว่าอภิญญาจิตก็เช่นกัน อภิญญาของบุคคลที่เป็นปุถุชนมีความเสื่อมได้ แต่จิตของความเป็นพระอริยะเจ้ามีความมั่นคงในพระนิพพาน มั่นคงในพระรัตนตรัยแล้ว อภิญญาจิตที่เกิดขึ้นก็ไม่เสื่อมตามไปด้วย เพราะความมั่นคงในพระรัตนตรัยเป็นหัวใจหลักของการที่เกิดการใช้อภิญญาได้ อภิญญาจิตปรากฏขึ้นด้วยกำลังแห่งพุทธานุภาพ เมื่อจิตมั่นคงในพระพุทธองค์ มั่นคงในพระธรรม มั่นคงในพระอริยะสงฆ์ จิตเชื่อมโยงกระแสได้เต็ม ได้ชัดเจน กำลังอภิญญาสมาบัติก็ปรากฏมั่นคงชัดเจน
ดังนั้นโลกียอภิญญากับอริยะอภิญญาจึงมีความแตกต่างกัน
เรามั่นคงในพระรัตนตรัยมากเท่าไหร่ จิตตานุภาพ อภิญญาสมาบัติ ก็ยิ่งมั่นคงเพิ่มพูนขึ้นตามขอบเขตที่พระท่านมีอนุญาต มีพุทธานุญาตให้
ดังนั้นความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยที่เรียกว่าวิจิกิจฉา ความแนบในอารมณ์พระนิพพานนั้น จะยิ่งเป็นตัวเสริมที่ทำให้ความมั่นคงในพระรัตนตรัยนั้นยิ่งชัดเจนปักลึกแน่นขึ้นตามไปด้วย
พิจารณาในจิตของเราแต่ละคน เรามีความลังเลสงสัยในไตรสรณคมน์ไหม ลังเลสงสัยในพระนิพพานไหม พิจารณากำหนดรู้ด้วยจิตของเรา
จากนั้นกำหนดจิตพิจารณาต่อไป ในการตัดสังโยชน์ข้อที่สาม สีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาสนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง คือการที่อารมณ์ใจของเรามีความมั่นคงเด็ดเดี่ยวในศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นฐานสำคัญที่สุดก็คือศีลห้า ศีลห้านั้นคือการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดจาโกหกหลอกลวงฉ้อฉล ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่ประพฤติเล่นในอบายมุข ไม่ทำลายสติของตน ศีลทั้งห้าข้อนั้นมีความสำคัญคือเป็นเครื่องปิดอบายภูมิ ปิดนรก ด้วยเหตุนี้ความเป็นพระโสดาบันจึงไม่จำเป็นต้องตกนรกอีกต่อไปเนื่องจากปิดอบายภูมิเรียบร้อยจากศีล จากข้อการตัดสังโยชน์ในเรื่องของสีลัพพตปรามาส แล้วจะให้ดียิ่งขึ้นในอารมณ์ของความเป็นพระอริยะเจ้า ศีลที่เรารักษา หากมาพร้อมกับเมตตาพรหมวิหารสี่ การรักษาศีลเราก็จะเกิดขึ้นจากเมตตา จากการที่จิตเราละเอียดอ่อน เป็นผู้ไม่ปราศจากการที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่นผู้ใดให้มีความทุกข์ให้มีความเดือดร้อน ซึ่งอารมณ์ในการรักษาศีลนั้นอันที่จริงมีตั้งแต่ หนึ่ง มีความกลัวบาป คือหิริโอตตัปปะ กลัวบาป กลัวตกนรก กลัวตัวเองจะต้องไปเสวยกรรมเสวยความทุกข์จากผลของการละเมิดศีล อันนี้เรียกว่าความกลัวปรากฏ หิริโอตตัปปะกับการกลัวนรกทำให้รักษาศีล แต่ถ้าอารมณ์จิตประณีตขึ้นสูงขึ้น รักษาศีลเพราะใจเปี่ยมด้วยเมตตาพรหมวิหารสี่ ไม่มีความปรารถนาจะไปเบียดเบียนผู้ใด ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปละเมิดศีล
ตรงนี้ให้เราพิจารณา พิจารณาในจิตของเรา ว่าใจของเรานั้นรักษาศีลโดยอารมณ์เช่นไร อารมณ์ที่กลัวตกนรกมันก็ยังมีความเศร้าหมองเพราะมันมีความกลัว แต่อารมณ์เมตตาพรหมวิหารสี่จนศีลบริสุทธิ์ คืออารมณ์ใจที่มันมีความสะอาด มีความละเอียด มีความเมตตา
ให้เราน้อมพิจารณา ใช้ทั้งสองอย่าง ทั้งหิริโอตตัปปะความเกรงกลัวต่อบาป ละอายต่อบาป ความรู้สึกที่เรากลัวนรกและความรู้สึกที่ใจเราเปี่ยมเมตตาปราศจากการเบียดเบียน จนสีลัพพตปรามาสของเรานั้นสังโยชน์ข้อนี้ขาดสะบั้น ศีลของเราบริสุทธิ์ ควบกับเมตตาพรหมวิหารสี่อย่างแท้จริง
กำหนดน้อมจิตพิจารณาในการตัดสังโยชน์ทั้งสามประการของแต่ละบุคคลของเราเอง พิจารณาในจิต ทรงอารมณ์ความผ่องใสสว่าง พิจารณาในจิตว่าสังโยชน์สามประการของข้าพเจ้านี้ถูกตัดสังโยชน์ทั้งสามจนเป็นสมุจเฉทปหานหรือยัง มีติดในจุดใดอารมณ์ใดที่ติดอยู่ พิจารณาในใจของเรา
พิจารณาด้วยความเที่ยงตรงเที่ยงธรรม ไม่ลำเอียงเข้าข้างตัวเอง
เมื่อพิจารณาตัดสังโยชน์แล้ว หมั่นพิจารณาเสมอเสมอบ่อยๆจนกระทั่งอารมณ์ใจที่ตัดสังโยชน์สามเป็นอารมณ์ปกติ ใช้การตัดสังโยชน์ทั้งสามประการนี้เป็นวิปัสสนาญาณ พิจารณาใคร่ครวญในจิตของเรา
จากนั้นเมื่อเรากำหนดเจริญวิปัสสนาญาณในการตัดสังโยชน์สามแล้ว เราก็กำหนดกลับมาที่จิต เห็นจิตเป็นเพชรประกายพรึกองค์พระสว่าง กำหนดน้อมว่าขอพระกรรมฐานแก้วเจ้าดวงประเสริฐจงสถิตอยู่เหนือกระหม่อมจอมขวัญ ขอปัญญาในวิปัสสนาญาณ ในอริยมรรคอริยผลสืบต่อสืบเนื่องเดินจิต การปฏิบัติของข้าพเจ้าจงเริ่มต้นเชื่อมโยงต่อเนื่องก้าวหน้ารุดหน้า การปฏิบัติไม่ถอยหน้าถอยหลัง ปฏิบัติในวันต่อไปก็เชื่อมโยงต่อเนื่องก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ
จากนั้นกำหนดอธิษฐานให้เห็นสมเด็จองค์ปฐมพร้อมกับเรากำหนดขออาทิสมานกายเรากราบแทบเท้า เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นภาพพระพุทธองค์ กำหนดน้อมจิต ว่าเรากำลังกราบ เรากำลังอยู่กับพระพุทธองค์บนพระนิพพานไว้เสมอ น้อมจิตกราบพระ กราบด้วยความนอบน้อม กราบด้วยความอ่อนโยน
เมื่อกราบพระแล้วก็อธิษฐานจิต ว่าขอการปฏิบัติการเจริญพระกรรมฐานของเราวันนี้ ขอเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา บูชาคุณพ่อ บูชาคุณแม่ทั้งในชาติปัจจุบันและอดีตชาติ ครูอุปัชฌายะอาจาริยะบูชา บูชาคุณครูอุปัชฌาย์อาจารย์ บูชาท่านผู้มีพระคุณ บูชาเทพพรหมเทวาผู้เป็นสัมมาทิฐิที่พิทักษ์รักษาปกป้องคุ้มครองเรา บูชาคุณพระมหากษัตริย์ตราธิราชเจ้าทุกๆพระองค์ทุกราชวงศ์ ท่านผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง พระสยามเทวาธิราช พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พิทักษ์รักษาพระบวรพุทธศาสนา
กำหนดน้อมจิต ขอกุศลจงถึงทุกรูปทุกนามทุกท่านทุกๆพระองค์ ใจของเราสบายผ่องใส กระแสจิตกระแสบุญแผ่สว่าง กำหนดให้เห็นจิตของเรา แผ่กระแสของเมตตาออกไปทั้งสามภพสามภูมิ กุศลจากการเจริญพระกรรมฐาน กุศลจากการแผ่เมตตา กุศลจากการเจริญวิปัสสนาญาณ ความสงบเย็น เป็นบุญเป็นกุศล แผ่เมตตาความปรารถนาดีออกไปยังทุกดวงจิตทั่วทุกภพทุกภูมิ ใจเรายิ่งเบา ยิ่งสบาย ยิ่งผ่องใส
ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงประสบแต่ความสุข พ้นจากความทุกข์ พ้นภัยจากวัฏสงสาร เข้าถึงซึ่งพระนิพพานอันเป็นบรมสุขด้วยเถิด
กระแสความสงบเย็นแผ่ออกไป ใจยิ่งเป็นสุข ใจยิ่งยิ้ม
เมื่อแผ่กระแสเมตตาไปจนใจเราสงบเย็นแล้ว เราก็กำหนดจิตค่อยๆถอนจากสมาธิช้าๆโดยหายใจเข้าลึกๆ ช้า ยาว หายใจเข้าพุท ออกโธ ครั้งที่สอง ธัมโม ครั้งที่สาม สังโฆ แล้วจึงถอนจิตช้าๆออกจากสมาธิ ภายในจิตกำหนดภาพนิมิตเป็นดอกบัวค่อยๆแย้มบานในจิต พร้อมกับรอยยิ้ม พร้อมกับความสุข เปลือกตาค่อยๆลืมขึ้นช้าๆ ใบหน้าเปี่ยมรอยยิ้ม ใจตั้งจิตโมทนาสาธุกับกัลยาณมิตรทุกคนที่ปฏิบัติธรรมพร้อมกันด้วยจิตอันผ่องใสเป็นสุขในวันนี้ ผลอานิสงส์แห่งการปฏิบัติของเราทั้งหลาย ทุกลมหายใจทุกวินาทียิ่งใกล้พระนิพพาน ใจเอิบอิ่ม ปีติ เป็นสุข จิตเป็นสุขทั้งก่อนปฏิบัติสมาธิ จิตสบายเป็นสุขในระหว่างปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน ยามออกจากสมาธิ ใจเราก็อิ่มผ่องใสเป็นสุข งดงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด จิตใจของเราเป็นจิตใจที่ดีงาม จิตใจที่เปี่ยมกุศล จิตที่ก้าวเดินสู่ความเป็นจิตอริยะ ใจเราเอิบอิ่มเป็นสุข
สำหรับวันนี้ก็ขอให้ทุกคนมีความสุข มีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นช่วงของการปฏิบัติพระกรรมฐานในวันแม่ ก็ขอให้คุณแม่ทุกคนมีความสุขมีความเจริญ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน การที่เราจะตอบแทนพระคุณแม่ได้สูงที่สุดก็คือน้อมนำธรรมะ น้อมนำอริยะความเป็นพระอริยะเข้าสู่ดวงจิตของพ่อแม่ เราจะถึงตอบแทนพระคุณพ่อแม่ได้ครบถ้วน กระแสธรรมกระแสกุศลที่เราปฏิบัติ ก็ขอให้ถึงพ่อแม่ของเราทุกคนทั้งในอดีตชาติและปัจจุบัน
สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนากับทุกคน ขอให้มีความสุขความเจริญ มีความคล่องตัวทั้งทางโลกทางธรรมทุกด้าน
สำหรับวันนี้สวัสดี พบกันใหม่สัปดาห์หน้า
อย่าลืมเขียนแผ่นทองอธิษฐานพระนิพพาน แล้วก็หมั่นที่จะถวายมหาสังฆทานให้เป็นทานใหญ่ ให้เราทุกคนมีความคล่องตัว
สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
เรียบเรียงและถอดความโดย คุณ Be Vilawan