green and brown plant on water

การตัดสังโยชน์ 3 ประการเบื้องต้นละเอียด

เวลาอ่าน : 4 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน” 

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567

เรื่อง การตัดสังโยชน์ 3 ประการเบื้องต้นละเอียด

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

กำหนดสติ อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วทั้งร่างกายของเรา จากนั้นค่อยๆกำหนด การผ่อนคลาย ร่างกายกล้ามเนื้อทุกส่วน พร้อมกับความรู้สึกปล่อยวางร่างกาย ตัดร่างกายตัดความสนใจในกายทั้งหมดออกไป  เมื่อปล่อยวางร่างกายได้แล้ว เราก็กำหนด ในการปล่อยวางความคิด ความฟุ้งการปรุงแต่งทั้งหลาย ความวุ่นวายใจทั้งหลาย ภาระของใจออกไปจากดวงจิตของเรา ปล่อยวางทุกสิ่ง ทั้งกายและจิต จดจ่ออยู่กับใจที่สงบ ละเอียดเบาสบาย จินตภาพเห็นลมหายใจเป็นเหมือนกับแพรวไหม พลิ้วผ่านเข้าออกในกายของเรา ลมหายใจสบาย อารมณ์จิตเบาสบายละเอียด  ทรงอารมณ์สมาธิความสงบ จิตเสวยอารมณ์ในความสุขของสมาธิ ความสุขของสมาธิคือความสุขที่จิตเราได้พักจากความฟุ้งปรุงแต่งทั้งหลาย  ความคิดวนเวียนอยู่กับสิ่งที่เราวิตกกังวล เมื่อสงบลงได้ นิวรณ์ทั้ง 5 ประการก็พลอยสงบระงับลงจากจิตของเรา ความคิดที่ปรุงไปในเรื่อง กามคุณ กามฉันทะ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความฟุ้งซ่าน ความวุ่นวายใจ ความง่วงเหงาหาวนอน อารมณ์ความรู้สึกทั้งหลายที่ทำให้จิตของเรา ซึมเศร้าเฉยชา ฟุ้งซ่านเวิ่นเว้อ วุ่นวายหนักอกหนักใจ เราปล่อยวางออกไปจากใจของเราให้หมด  ฝึกที่จะวางลงจากจิตจากใจของเราให้ง่าย ให้เร็วที่สุด 

ฝึกที่จะปล่อยวางจากการถูกกระทบทางรูป รส กลิ่น เสียงสัมผัส ปล่อยวางจากความขัดเคืองใจให้ได้ง่ายให้ได้เร็วที่สุด 

ความก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรมการปฏิบัติจิต คือ “จิต” ยากต่อการถูกกระทบ มีการกระทบ ปฏิฆะของเราเกิดยากเกิดช้า ไม่ใช่ถูกกระทบนิดถูกกระทบหน่อยบางครั้งไม่เป็นเรื่องที่จะทำให้เราควรจะต้องโกรธด้วยซ้ำเราก็โกรธ หงุดหงิดง่ายมากเท่าไรนั้น แปลว่าจิตของเราหยาบมากเพียงนั้น ถูกกระตุ้นให้โกรธให้หงุดหงิดให้ขัดเคืองใจง่ายเท่าไร แปลว่าจิตของเรายังถือว่าเป็นจิตที่มีคุณภาพต่ำ  

จิตที่มีคุณภาพสูง คือจิตที่ปล่อยวางได้เร็ว อุเบกขาทรงอารมณ์อยู่ตลอดเวลา คือถูกกระทบก็วางเฉยก็เฉย ไม่สะดุ้งไม่สะทกสะท้านต่อสิ่งที่มากระทบ นั่นคือจิตของเรามันมีความแข็งแกร่ง แตกต่างจากคนหรือดวงจิตที่ถูกกระทบแล้วเกิดความรู้สึกหงุดหงิดปฏิฆะ อารมณ์ขึ้นพุ่งพล่านได้ง่าย อันที่จริงแปลว่าจิตอ่อนแอ อันที่จริงคนที่โกรธคือแสดงอาการโกรธเกรี้ยวแสดงอารมณ์รุนแรงไม่ใช่ความแข็งแกร่ง แต่เป็นสภาวะที่จิตของบุคคลคนนั้นอ่อนแอ แพ้ต่อความโกรธ แพ้ต่อกิเลส จึงแสดงออกมาเป็นความโกรธความเกรี้ยวกราดเสียงดังความหงุดหงิด 

ดังนั้น จิตที่ปฏิบัติจิตที่ฝึกมาดีแล้วนั้น ย่อมรักษาความสงบนิ่งสว่างผ่องใส ถูกกระทบเราก็ไม่โกรธ สิ่งสำคัญที่เมื่อไรเราปฏิบัติจนจิตของเราเป็นผู้ที่ไม่โกรธ คือเบามากจางมากจากความโกรธ คนที่เขาโกรธเรากลับถูกแรงของจิตที่ตั้งมั่นเอาชนะกิเลสได้นั้น กลายเป็นมหาสะท้อนโดยอัตโนมัติ จริงๆไม่ต้องไปสวดคาถาใดแต่เป็นธรรมชาติของจิตที่ผ่องใส แผ่เมตตาตลอดเวลา จิตที่ทนต่อการถูกกระทบกระทั่ง จิตนั้นก็มีพลังคือจิตตานุภาพมหาสะท้อนนั้นเกิดขึ้นเอง 

ดังคำที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า การที่บุคคลไปประทุษร้ายบุคคลที่ไม่ประทุษร้ายบุคคลอื่น คนที่ไปประทุษร้ายบุคคลที่เป็นผู้มีปกติ อันมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ปล่อยวาง ละกิเลสไว้ดีแล้ว บุคคลผู้ประทุษร้ายผู้ไม่เบียดเบียนผู้อื่นย่อมได้รับผล การที่เราทราบแบบนี้แล้ว เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมของเรา เราก็ลองพิจารณาดูว่า จิตเรามีความอุเบกขา มีความตั้งมั่น จิตเราดื้อด้านต่อการถูกกระทบไหม ยิ่งดื้อด้านคือถูกกระทบถูกด่าถูกว่าถูกกระทบใจถูกโมโหใส่ ใจเราก็ยังนิ่ง และในขณะเดียวกันก็ให้เราสังเกตดู เราไปหงุดหงิดใส่คนที่เขาไม่หงุดหงิด เขายังสงบ เขายังยิ้มได้ เขายังเฉยได้ จริงๆนั่นคืออันตรายเกิดขึ้นกับเรา หรือการที่เราไปดุด่า ไปว่า ไปตำหนิ ไปใช้บุคคลที่เขาตัดสังโยชน์เข้าสู่ความเป็นพระอริยเจ้า อันนี้ก็ถือว่าจริงๆแล้ว มันเป็นวิบาก มันเป็นกรรม อันนี้คนที่ยังปฏิบัติยังไม่สูงมากไม่ถึงมากก็จะรู้สึกว่าทำไมคนที่ปฏิบัติธรรมถึงได้เหมือนกับถือนั่นถือนี่เยอะไปหมดแต่ความเป็นจริงก็คือ มีความละเอียด ความละเอียดก็อาทิเช่น ถ้าเราไปในที่ที่ท่านมีการปฏิบัติธรรมปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพานมีความเคารพพระรัตนตรัยสูง หนังสือธรรมะที่มีรูปพระหรือหนังสือธรรมะเฉยๆจะมีรูปพระไม่มีรูปพระ ท่านจะระวังไม่ให้วางกับพื้น ไม่ให้ใครก้าวข้ามไปข้ามมาเด็ดขาด ตรงนี้ก็คือเพราะท่านเคารพในพระรัตนตรัย หรือแม้แต่บางครั้งเราทำความดี อาทิเช่น เราไปปิดทองพระ แต่บางทีเราปีนขึ้นนั่งร้าน เราไปสูงเราไปข้ามเราไปอยู่เหนือพระ อันนี้เราก็ต้องระมัดระวัง เมื่อกระทำการเสร็จหรือระหว่างที่ทำการปิดทองเราก็มีความจำเป็นจะต้องกราบขอขมาพระรัตนตรัยทั้งก่อนและหลัง กระทำด้วยความนอบน้อม เรื่องต่างๆเหล่านี้เมื่อปฏิบัติธรรมละเอียดขึ้นสูงขึ้น ความละเอียดแบบนี้ก็มีความจำเป็น จำเป็นเช่นไร จำเป็นที่ว่า เวลาที่เราปฏิบัติเจริญวิปัสสนาญาณตัดสังโยชน์ 10 ตัดสังโยชน์เอา 3 ประการเบื้องต้น มีคนอยากให้กล่าวซ้ำเหมือนกับที่สอนในห้องครูเมตตาสมาธิเมื่อวาน เนื่องจากมีการอรรถาธิบายในส่วนของการตัดสังโยชน์ 3 ค่อนข้างละเอียด ตอนนี้สำหรับถ้าท่านใดเป็นผู้ที่มาใหม่ก็ขอให้น้อมจิต สงบ เป็นสมาธิ กำหนดจิตให้ผ่องใสวางอารมณ์ใจสบายๆเบาๆ น้อมจิตพิจารณากระแสธรรมตามไป เกณฑ์ของการปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอริยเจ้านั้น ท่านหมายมั่น เอาการตัดสังโยชน์ทั้ง 10 ประการ มาเป็นขอบเขตเครื่องวัดกำลังใจ เครื่องวัดความสะอาดบริสุทธิ์ของจิต

สังโยชน์สามประการเบื้องต้นนั้นได้แก่สักกายะทิฐิความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ความไม่ประมาทว่าเราจะไม่ตาย มีความตั้งจิตตั้งใจในการปฏิบัติที่จะตัดร่างกายขันธ์ห้าออกไปจากจิตให้มากที่สุด อันนี้คือเรื่องสักกายะทิฐิ คือเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งแล้วว่า ร่างกายเนื้อนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่ร่างกายเนื้อ ร่างกายเนื้อขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเราของเรา เราคือจิตอาทิสมานกายที่มาอาศัยร่างกายขันธ์ 5 นี้อยู่เท่านั้น อันนี้คือเรื่องสักกายะทิฐิ ทุกคนเคยได้ยินเคยได้ฟังมาแล้ว เดี๋ยวจะไล่ครบสามข้อก่อนแล้วจึงเข้าไปอธิบายโดยละเอียดในแต่ละจุด

ข้อที่สองก็คือวิจิกิจฉา วิจิกิจฉาแปลว่าความลังเลสงสัย ซึ่งความลังเลสงสัยนั้นมีความครอบคลุม ครอบคลุมไปถึง ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติ ความลังเลสงสัยในคุณแห่งพระรัตนตรัย ความลังเลสงสัยว่าเราจะปฏิบัติได้ไม่ได้อันนี้พูดโดยกว้างไว้ก่อน 

ส่วนสังโยชน์ข้อที่ 3 ก็คือสีลัพพตปรามาส ความเป็นพระโสดาบันนั้นเป็นอธิศีลสิกขา ตั้งจิตในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์มั่นคงเต็มที่ อันนี้คือสังโยชน์ 3 ประการเบื้องต้น

ซึ่งผู้ที่ตัดสังโยชน์สามประการได้อย่างเด็ดขาดถาวรจากอนุสัยจากดวงจิตอย่างสิ้นเชิงแล้ว จึงจะเข้าสู่ความเป็น พระโสดาบัน สำหรับบุคคลที่ตั้งจิตมุ่งมาดปรารถนาว่าปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน อยู่ในช่วงปฏิบัติแต่ยังไม่ได้อริยผลคือความเป็นพระโสดาบัน ระหว่างที่ปฏิบัตินี้ก็ถือว่าเป็นพระโสดาปัตติมรรค มีความปรารถนาในพระนิพพาน ซึ่งเมื่อไรเห็นคุณของพระนิพพานปรารถนาในพระนิพพาน เมื่อนั้นจริงๆก็ถือว่าได้ดวงตาเห็นธรรม แต่ระหว่างนั้นก็ยังเดินอยู่ในมรรคคือปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอริยเจ้า เพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินวิสัย

คราวนี้เรามาพิจารณาละเอียด ถึงเรื่องของการตัดสังโยชน์ทั้ง3 ประการเบื้องต้น

เริ่มต้นจากข้อที่ 1 สักกายะทิฐิ ตอนนี้ก็ให้เราก่อนที่จะพิจารณาน้อมจิตรำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าตั้งใจว่าทุกครั้งนับแต่นี้เป็นต้นไป การปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้าการพิจารณาในสมถะ ทรงสมาธิ หรือพิจารณาด้วยปัญญาคือเจริญวิปัสสนาญาณ เรากำหนดว่าเราปฏิบัติอยู่เบื้องหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะเป็นพระองค์ใดพระองค์หนึ่งหรือทุกพระองค์มีสมเด็จองค์ปฐมทรงเป็นประธาน ตั้งกำลังใจว่าเห็นกายทิพย์เรานั่งปฏิบัติอยู่เบื้องหน้าพระพุทธองค์เสมอทุกครั้ง รักษากำลังใจเช่นนี้ให้เต็มกำลังไว้เป็นปกติ ในระหว่างที่เราพิจารณาก็กำหนดจิตทรงภาพพระรูปโฉมของพระพุทธองค์และน้อมจิตตาม จิตสงบผ่องใส พิจารณาธรรม พิจารณาว่าสักกายะทิฐิ จิตเราแยกรูปแยกนาม แยกอาทิสมานกาย กายพระวิสุทธิเทพออกมาอยู่หน้าพระได้แล้ว ดังนั้นข้อนี้เราทำได้อยู่ในระดับหนึ่ง แต่คราวนี้การตัดร่างกายขันธ์ 5 นั้น ถ้าเราฝึกในเรื่องของความเป็นกายทิพย์คือใช้กำลังของมโนมยิทธิก็ดี ใช้กำลังของการแยกกายแยกจิตแยกรูปแยกนามก็ดี ในภาคของกายทิพย์นั้นเมื่อไรที่เราแยกกายทิพย์ออกมาจากกายเนื้อ มันจะมีสายโยงใยของจิต คนที่ตัดแยกรูปนามได้มาก สายโยงใยของจิตมันก็จะบางก็จะเล็ก แต่หากเรายังตัดได้น้อยยังห่วงกายมากยังกลัวตายมาก สายโยงใยของจิตมันก็จะหนามันก็จะใหญ่ และบางครั้งการแยกจิตออกมาไปที่ใดด้วยกำลังมโนมยิทธิก็ดี มันก็จะมีอาการขึ้นลงๆ คือถูกอาการที่เราห่วงกายพะวงกาย ดึงกลับไปกลับมาอยู่ อันนี้ก็ถือว่าสักกายะทิฐิของเรามันยังไม่แยกในกำลังของความละเอียดได้เต็มที่ หรือแม้แต่สภาวะความรู้สึกกลัวตาย ยิ่งกลัวตายมากเท่าไรนี่แปลว่า สักกายะทิฐิมันยังขาดน้อย แต่เรื่องนี้ไม่เป็นไร บางครั้งมันเป็นกำลังของสัญชาตญาณ คืออยู่ในระดับของจิตใต้สำนึก มันเป็นปฏิกิริยาอัตโนมัติของจิตใต้สำนึกที่เป็นไป ท่านที่ตัดความกลัวตายจนสิ้นได้นั้น มี 5 บุคคลคือได้แก่พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระมหาจักรพรรดิราช แล้วก็ม้าอาชาไนยที่มีความห้าวหาญไม่กลัวความตาย แต่คราวนี้เราเป็นปุถุชน เราปฏิบัติธรรม มันก็อาจจะยังมีความหวั่นไหวในความตายบ้าง แต่เราปลงในความตายได้เร็วแค่ไหนได้มากแค่ไหน ตัดห่วงตัดความกังวลในเรื่องความตายได้มากแค่ไหน 

อย่างตอนนี้ให้เราพิจารณาดูว่าถ้าเราตายในขณะจิตนี้ลมหายใจนี้ เราวางห่วงทั้งหลายได้ไหม ห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงสามี ห่วงภรรยา ห่วงพ่อแม่ ห่วงพี่ ห่วงน้อง ห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงบ้านเรือน ห่วงภาระหน้าที่ แม้ว่าหน้าที่นั้นจะเป็นไปเพื่อส่วนรวมก็ตาม เราวางลงไหม ลองกำหนดจิตถามใจของเราวางได้ไหม ปล่อยวางได้ไหม ซึ่งการฝึกนี้ก็จำเป็นต้องฝึกทุกวัน ทุกวันก่อนนอนก็ฝึกตาย ฝึกวางห่วง ฝึกวางสิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นมากที่สุด ตอนนี้ให้เราแต่ละบุคคลพิจารณาปล่อยวางความห่วง สิ่งใดที่รักที่สุดห่วงที่สุดยึดที่สุด ฝึกที่จะวาง วางแล้วก็กำหนดให้จิตเรายิ่งวางยิ่งเบา วางแล้วจิตวางห่วง วางความหนัก วางความยึดมั่นถือมั่น ยิ่งปล่อยวางได้มากเท่าไร จิตยิ่งเบา ยิ่งปล่อยวางได้มากเท่าไร จิตยิ่งใสสว่าง 

เมื่อปล่อยวางได้แล้ว เราเข้าถึงความสงบ คราวนี้สิ่งต่อมาที่เป็นตัวชี้วัดในเรื่องของการปล่อยวาง จากสักกายะทิฐิ ตัดสักกายะทิฐิ เราฝึกวาง จนกระทั่งจิตเรามั่นคง แนบอยู่กับพระนิพพาน อาการขึ้นลงวูบวาบกำลังใจตกไม่มี ความเสถียรในการทรงอารมณ์บนพระนิพพานมีสูงกว่าแต่เดิม จิตตั้งมั่นอยู่บนพระนิพพานได้อย่างสงบ ตอนนี้ให้เราทุกคนแต่ละบุคคลกำหนดในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพทรงอารมณ์อยู่บนพระนิพพาน อยู่เบื้องหน้าพระ กำหนดจิตด้วยความผ่องใส ปล่อยวางโลก ปล่อยวางกายเนื้อ ปล่อยวางห่วงทั้งหลาย กายสว่างผ่องใสอย่างยิ่ง กายทิพย์ของเราพูดถึงกายทิพย์ มีแต่ความเป็นกายทิพย์ จิตตระหนักรู้อยู่แต่ว่าเรานี้คือกายพระวิสุทธิเทพคือกายทิพย์ แยกจากกายเนื้ออย่างสิ้นเชิง เมื่อจิตกำหนดรู้ตระหนักรู้ในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ ปล่อยวางจากร่างกายขันธ์ 5 ที่เป็นกายเนื้อแล้ว

เราก็กำหนด การปฏิบัติการฝึกเพื่อตัดสักกายะทิฐิคือ 1 พิจารณาในความเป็นอสุภสัญญา พิจารณาในความไม่เที่ยง พิจารณาแยกรูปนามออกเป็นอาการ 32  พิจารณาแยกรูปขันธ์ 5 ออกเป็นธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตัวที่ทำให้เราตัดสักกายะทิฐิในร่างกายได้มากที่สุดก็ คือ อสุภกรรมฐาน เราก็พิจารณาหรือกำหนดจิตอันนี้ก็ถือว่าเป็นอรูปฌานควบกันกับกายคตา กำหนดเห็นกายเนื้อระเบิดออก ระเบิด เวลาที่กายเนื้อระเบิดออกสลายตัวออกก็กลายเป็นความว่าง กำหนดว่าเมื่อไรเราเกาะเราติดในร่างกาย เราเห็นภาพนิมิต คือนึกขึ้นมา ระเบิดกายที่เป็นขันธ์ 5 ทิ้ง กำหนดจิตฝึกแบบนี้ อันนี้ถือว่าเป็นวิชชาของทางครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านสอน อาทิเช่น หลวงปู่หนุน พระอาจารย์หนุน วัดพุทธโมกข์ ท่านก็ใช้คำว่า “พุทโธระเบิด” คือระเบิดกายทิ้ง ตัดขันธ์ 5 ระเบิดกายทิ้ง เป็นกำลังของอรูปควบกายคตาควบอสุภ พอระเบิดทิ้งแล้วก็เหลือแต่จิตเหลือแต่อาทิสมานกายสว่าง พอติดปุ๊บก็ระเบิดกายเนื้อกายหยาบทิ้งอีก

ฝึกจนกระทั่งจิตของเรานั้น มันไม่เกาะในร่างกายที่เป็นกายหยาบขันธ์5 “เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา” เราคืออาทิสมานกายที่มาอาศัยในขันธ์ 5 นี้ด้วยวาระแห่งบุญและกรรม อันนี้คือการฝึกการตัดในเรื่องของสักกายะทิฐิ จิตแยกรูปแยกนาม แยกกายเนื้อกายทิพย์ชัดเจน พยายามฝึกพยายามน้อมไปพิจารณา 

ข้อต่อมาก็คือวิจิกิจฉา วิจิกิจฉานั้นได้แก่ความลังเลสงสัย จุดแรกที่สุดที่เกิดความลังเลสงสัยก็คือ นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหม ซึ่งอันนี้มันจะไปครอบคลุมรวมกว้างไปถึงความหมายของคำว่าสัมมาทิฐิ ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิปุ๊บ การพิจารณาตัดสังโยชน์พิจารณาเพื่อความเป็นพระอริยเจ้าไม่มีวันสำเร็จ ถ้าคิดว่านรกสวรรค์ไม่มีจริง ก็ไม่จำเป็นต้องมีนิพพาน ดังนั้นทุกอย่างมันเป็นปัญญาที่มันครอบคลุมมาแล้วเติมมาแล้ว สัมมาทิฐิเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง 

สวรรค์นรกมีจริง บุญบาปมีจริง กฎของกรรมมีจริง อันนี้ถือว่าเขตของสัมมาทิฐิ พระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ พระรัตนตรัยนั้นมีจริง มรรคผลยังมีจริง มรรคผลยังมีจริงนั้น บางครั้งบางคนสับสน เกิดวิจิกิจฉา เพราะบางครั้งก็บังเอิญไปฟังคำพูดบางท่านกล่าวไว้ ในยุคนี้ไม่มีพระอริยเจ้า พอพันปีหนึ่งก็หายลงไปเรื่อยๆ กล่าวไว้แบบนั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วยังมีพระอรหันต์สืบต่อมาจนตอนนี้เข้าเขตกึ่งพุทธกาลเลยกึ่งพุทธกาลก้าวเข้าสู่จะเข้าครบ 3000 ปี บอกว่าพระอริยเจ้าหดหายไปพันปีที่หนึ่ง  ไม่มีพระอรหันต์ ไม่มีพันปีต่อมา ไม่มีอนาคามีพันปีต่อมา ไม่มีพระสกิทาคามี อันพวกนี้ไม่จริง

พระอริยเจ้ายังปรากฏอยู่ พระอรหันต์ก็ยังปรากฏอยู่ ดังนั้นข้อนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ใจเราเกิดวิจิกิจฉา เราไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ตราบที่ยังมีผู้ปฏิบัติธรรมตราบนั้นโลกไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์โลกไม่ว่างเว้นจากพระอริยเจ้า ถ้าตราบยังมีผู้ปฏิบัติ

ตอนนี้ถามว่ามีผู้ปฏิบัติไหม มีผู้ปฏิบัติ จริงๆมากกว่าเมื่อสัก 20_30 ปีก่อนไหม ขอตอบว่ามากกว่า กำลังใจสูงขึ้นเข้มข้นขึ้นไหม สมัย 20_30 ปีก่อนแค่การปฏิบัติก็สับสนมาก คำภาวนาอย่างไรดี ตอนนี้ก้าวข้ามคำภาวนากันไปหมด

สมัยก่อน 30_40ปีก่อน ใครกล่าวเป็นฆราวาสมาพูดเรื่องนิพพาน ถูกหาว่าบ้า ถูกหาว่าเป็นเรื่องเกินตัว ปัจจุบันนี้ทุกคนประกาศเอ่ยออกปากอธิษฐาน พิมพ์โพสต์ไปเป็นเรื่องปกติ ปรารถนาพระนิพพานชาตินี้ ดังนั้นกำลังใจความเข้มข้นสูงขึ้น เมื่อปฏิบัติมากขึ้นกำลังใจสูงขึ้น คิดว่าจะมีพระอริยเจ้าเพิ่มขึ้นไหม อันนี้พิจารณาง่ายๆโดยตรรกะ ดังนั้นเราไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีพระอริยเจ้า แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าเราจะปฏิบัติไม่ถึงพระนิพพาน ถ้าเราปฏิบัติทุกวันสม่ำเสมอ ปฏิบัติด้วยความเพียรพยายาม รับรองว่าเราสามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้แน่นอน

ลองคิดเอาง่ายๆว่าอย่างเราทำบุญร่วมบุญเล็กๆน้อยๆ รวมก็รวมสามัคคีธรรมที่ทั้งกลุ่มทั้งหมู่คณะร่วมกัน ใช้เวลาไม่กี่ปี ยังได้ปัจจัยถวายมหาสังฆทานกำลังจะครบล้านบาท เราลองคิด เราทำนิดๆหน่อยๆแต่รวมคือใช้กำลังใจใหญ่ร่วมบุญกัน อันนี้ก็เหมือนกันเราทำภาวนา ตามที่หลวงพ่อท่านบอกว่าทำแบบกระจุ๋มกระจิ๋มเล็กๆน้อยๆเก็บไปแต่สม่ำเสมอ ทุกครั้งที่ทำกะจุ๋มกะจิ๋มคือใช้เวลาไม่มาก แต่เราดึงกำลังใจสูงสุดคือความผ่องใสสูงสุด กำลังที่ทำ คนอื่นเขาทำสมาธิทั่วไป เรายกจิตขึ้นไปอยู่กับพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ทรงอารมณ์ว่าเราปฏิบัติเราทรงอารมณ์อยู่บนพระนิพพาน ดังนั้นเวลาอาจจะน้อยแต่กำลังมันสุดคือสุดกำลัง จำนวนน้อยแต่คุณภาพสูง คุณภาพของจิตสูง คุณภาพของกรรมฐานสูง คุณภาพที่เราตัดกิเลสสูง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นมันก็ย่อมสูง ทำให้บารมีเต็มเร็วด้วยเช่นกัน คนอื่นเขาใช้ช้อนชาตัก ของเราใช้ถัง 200 ถัง 200 ลิตรตัก แล้วคิดว่าอย่างไหนจะเต็มเร็วกว่ากัน เราใช้กำลังสูงสุดคือกรรมฐานเต็มกำลังมาช่วย ใช้ความรวดเร็วของวสีที่เราฝึกคือเข้าฌาน 4 ง่ายดายแค่ลัดนิ้วมือเดียวมาช่วย ในขณะที่เราไปถึงฌาน4  เข้าถึงกสิณปฏิภาคนิมิต กสิณจิตเต็มกำลัง ผ่องใสเต็มกำลัง กายทิพย์เรายกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานสว่างเต็มกำลัง ในขณะที่คนอื่นเขายังมานั่งปั้นจับลมหายใจอยู่ ยังมาแก้อารมณ์ที่ความฟุ้งซ่านเกิดอยู่ เราไปถึงไหนถึงไหนแล้ว ตรงนี้มันก็ถือว่า เป็นการปฏิบัติเป็นความเข้มข้นเป็นคุณภาพของจิต ผลของการฝึกปฏิบัติที่มันแตกต่างกัน ผลลัพธ์ก็ต่างกันตามไปด้วย ตรงนี้ก็คือการปฏิบัติที่ว่าเราเน้นคุณภาพ 

เรามาพูดต่อว่าคราวนี้วิจิกิจฉาที่เราลังเลสงสัยว่าเราจะไปพระนิพพานได้ไม่ได้ เราลองถามตัวเราดูว่า เรามั่นใจไหมว่าเราจะไปได้ อันนี้มันจะสะท้อนย้อนกลับมานะ ถ้าเราปฏิบัติธรรม หรือเราฝึกมโนมยิทธิแล้วถามคนนู้นคนนี้ เห็นกายทิพย์ฉันบนพระนิพพานไหม ถ้าถามเมื่อไรก็แปลว่า เรามีวิจิกิจฉา ความมั่นใจของเรามันไม่เต็มที่ ถ้ามั่นใจย่อมไม่ถาม ความรู้สึกของจิตว่าเราอยู่กับพระพุทธเจ้าอย่างจริงแท้แน่นอน เราเชื่อมั่นมั่นคงเราก็จะไม่ถามคนนู้นคนนี้ว่า เห็นกายทิพย์ฉันไหมบนพระนิพพาน กายทิพย์ฉันออกได้หรือไม่ได้ ถ้าออกได้ความเชื่อมั่นก็คือคิดว่าไปได้ เอาง่ายๆตั้งแต่เริ่มต้นตามที่อาจารย์สอนคือ จิตเรารู้สึกว่าเรากราบถึงพระบาทของพระพุทธองค์ได้ไหม กายเนื้อกราบพระพุทธรูปบนโลกมนุษย์ จิตเรากราบถึงแทบเบื้องพระบาทของพระพุทธองค์บนพระนิพพานได้ไหม ความสงสัยว่าถึงไม่ถึงมีไหม ถวายมหาสังฆทานกายเนื้อถวายพระสงฆ์ กายทิพย์เรายกถวายพระพุทธองค์สมเด็จองค์ปฐมบนพระนิพพาน เรารู้สึกว่าเราถวายตรงถึงพระพุทธองค์ท่าน เราสงสัยไหมว่าถวายถึงไม่ถึง ยังต้องมาถามไหม ดังนั้นจุดนี้ก็คือ ยิ่งวิจิกิจฉาจางมากเท่าไรสิ้นมากเท่าไร ความมั่นคงในพระรัตนตรัย ความละเอียดในพระรัตนตรัยเราจะสูงขึ้น มากขึ้นกว่าคนที่เป็นปุถุชนคนธรรมดา ดังนั้นครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นพระอริยเจ้า เวลาท่านกล่าวถึงพระพุทธองค์ กล่าวถึงพระนิพพานท่านจะว่าท่านจะประนมมือท่านจะจบบรรจงด้วยความนอบน้อม หรือครูบาอาจารย์ อาทิเช่นครูบาบุญชุ่ม เวลาที่เราถวายพระธาตุพระบรมสารีริกธาตุ ท่านรับท่านจะทูลอยู่เหนือกระหม่อม ทูลอยู่เหนือศีรษะ คือถือว่าเคารพพระพุทธเจ้าอยู่เหนือเศียรเกล้า อันนี้เป็นศัพท์ที่มาจากกำลังใจภายใน เทิดทูนบูชาพระพุทธองค์อยู่เหนือเศียรเกล้า อันนี้ให้เราตั้งกำลังใจให้ได้ถามจิตของเราตอนนี้ ความละเอียดความเคารพในพระรัตนตรัยของเรา ตอนนี้เราอยู่ประมาณสักเบอร์สมมุติว่ามี 10 เบอร์ 10 คือเต็มกำลังละเอียดลึกซึ้งเต็มกำลัง ทั้งรักทั้งเคารพ ทั้งนอบน้อม อารมณ์ต่ำที่สุดหรือหยาบที่สุด ที่ไม่เข้าเลยก็คือ เห็นพระพุทธรูปก็คิดว่าเราปลงได้ เห็นสักแต่ว่าเห็น เห็นพระพุทธรูปก็เหมือนกับพระอิฐพระปูนไม่ได้รู้สึก ถึงกระแสของพุทธานุภาพของพระพุทธองค์ที่อยู่กับพระพุทธรูปที่อยู่เบื้องหน้า อันนี้คือหยาบที่สุด บางคนก็บอกว่าฉันเห็นสักแต่ว่าเห็นแต่ว่ามันไม่ใช่เรื่อง จริงๆ ตาเห็นรูปจิตเห็นนาม ก็คือ ตาเห็นพระพุทธรูปจิตเห็นพระพุทธองค์ ตาเห็นพระพุทธรูปจิตเข้าถึงธรรมของพระพุทธองค์ ดังนั้นความเข้มข้นตรงนี้เราจะลองตรวจสอบดูใจของเราเองได้ไหมว่า ปัจจุบันมันมีความหยาบความละเอียดเพียงใด รูปพระวางกับพื้นเรายกขึ้นไหม เราก้าวข้ามไหมหรือเราเฉยๆ หรืออุ๊บไม่ได้นะมีรูปพระมีรูปครูบาอาจารย์เราต้องไว้ที่สูง ก้าวข้ามเผลอก้าวข้ามจริงๆก็คือปรามาสพระรัตนตรัย อาจจะไม่เจตนาก่อนแต่ก็เรียบร้อยแล้วก็คือปรามาส 

ดังนั้นยิ่งละเอียดในธรรม ยิ่งละเอียดระมัดระวังในเรื่องการปรามาสพระรัตนตรัย เห็นภาพคนทำภาพล้อเลียนพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ บางทีถึงภาพเป็นภาพน่ารัก แต่อารมณ์เราหัวเราะ ในอารมณ์ที่เยาะเย้ยหรืออารมณ์ที่รู้สึกหัวเราะโดยอารมณ์จิตว่าเหมือนกับว่า พระหรือรูปพระที่ถูกตกแต่งขึ้นนั้น มีความด้อยหรือมีความต่ำลง คือมีความน่าเอ็นดู จะเป็นรูปเด็กหรือเป็นรูปอะไรที่เรารู้สึกเอ็นดู รู้สึกว่าเราเป็นผู้ใหญ่เอ็นดูเด็กแค่นี้จริงก็ปรามาสแล้ว เพราะจริงๆก็คือพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ เราต้องเทิดทูนอยู่เหนือเศียรเกล้า เทิดทูนอยู่เบื้องบนด้วยความเคารพ ดังนั้นถ้าละเอียดจริงๆนี้ก็เรียบร้อยเช่นกัน อย่างคนโบราณนี้เขาละเอียดกังวลกันแม้แต่กระทั่งกระดาษใดที่มีตัวอักษรไทย อักษรขอม อักษรบาลี เขาจะไม่ทิ้งไม่เผาไม่ก้าวข้ามไม่เหยียบ ถือว่ามีกำลังของครู คือ แรงประสิทธิ์ประสาท ของครูบาอาจารย์ที่ผูกตัวอักษร พ่อขุนรามคำแหงท่านผูกตัวอักษรพยัญชนะไทยไว้ อักษรบาลีเป็นอักษรจารทำไว้ อักษรขอมเป็นอักขระลงมนต์ลงความศักดิ์สิทธิ์ไว้ 

ดังนั้นคนโบราณเขาจะถือยิ่งเยอะมากกว่าเราก็มี ของเราตอนนี้ เราก็ค่อยๆพิจารณา ทำความเข้าใจว่า ถ้าหากใครมาเตือนเราในเรื่องเหล่านี้เราก็ทำความเข้าใจว่า บางทีก็เห็นเขาห่วงเขากลัวว่าเราจะปรามาสพระรัตนตรัยเขาก็เลยเตือน อันนี้คือเรื่องของวิจิกิจฉา มันจะสัมพันธ์กันกับเรื่องความเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัย แล้วคราวนี้ความเคารพนอบน้อมในพระรัตนตรัยคือไตรสรณคมน์นั้น เราท่องเฉยๆ คือ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ จริงๆอันนี้ถือว่าเป็นคำกล่าว ในการอธิษฐานจิต ปฏิญญาในความเป็นพุทธมามกะคือข้าพเจ้าเป็นบุคคลที่นับถือพระพุทธศาสนา อันนี้โดยทั่วไปก็ท่องกันเฉยๆ เขาให้ท่องก็ท่อง 3 จบ พุทธัง ทุติยัง ตติยัง พุทธังไป แต่คราวนี้กำลังใจของคนที่ปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน กำลังใจที่มีความมั่นคงในไตรสรณคมน์ ถึงเวลาต้องเพิ่มระดับ คือ คนอื่นเขาพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งอาศัย ของเราก็ต้องภาวนา หรือหลายคนเมื่อฟังอาจารย์สอนแล้วก็ตั้งใจตั้งกำลังใจใหม่  เพิ่มความเข้มข้นของคำอธิษฐาน พุทธังไม่ใช่แค่สะระณัง “พุทธัง ชีวิตังยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ” ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต มีพระพุทธเจ้าเป็นสะระณะที่พึ่งที่อาศัยเพื่อพระนิพพานตลอดไปตราบเท่าเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน 

ธัมมัง ชีวิตังยาวะ  นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ

ว่าไปทุติยัมปิ ตติยัมปิ นั่นก็คือกำลังใจเรา ปฏิบัติด้วยกำลังที่เข้มข้น มอบกายถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัยอย่างไม่ลังเลสงสัยว่าตายไปชาตินี้แล้วจะไปพระนิพพานได้หรือไม่ ตรงนี้เราฟังมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นไหม ถ้าเพิ่มขึ้นเราก็ยกระดับกำลังใจเราขึ้น มีความละเอียดขึ้น มีความนอบน้อมขึ้น มีความมั่นคง จนกระทั่งวิจิกิจฉามันจางมันจืด คราวนี้สิ่งที่มันเป็นผลลัพธ์ของการที่จิตมั่นคงในพระรัตนตรัย คราวนี้เวลาที่เราใช้อภิญญาก็ดี เวลาที่เราอาราธนาบารมีพระก็ดี เวลาที่เราน้อมอาราธนากระแสคือกำลังพุทธานุภาพลงมา ไม่ว่าจะอธิษฐานจิตลงมาเพื่อปลุกเสกทำน้ำมนต์ก็ดี ลงมาคุ้มครองกายของเราก็ดี ลงมายังวัตถุมงคลทั้งหลายก็ดี คนที่มีความมั่นคงเด็ดเดี่ยวในพระรัตนตรัย ก็จะอาราธนา กำลังพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ กระแสบุญ กระแสจากพระนิพพาน กระแสของพระโพธิสัตว์ น้อมและเชื่อมกระแสได้อย่างเกิดความอัศจรรย์ เกิดความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าคนที่ไม่มั่นคงไม่เชื่อ ยังมีวิจิกิจฉาสูง น้ำมนต์ใครจะศักดิ์สิทธิ์ไม่ศักดิ์สิทธิ์ก็อยู่ที่กำลังจิตอยู่ที่ความมั่นคงในพระรัตนตรัย อยู่ที่สามารถน้อมจิตถึงพระพุทธเจ้าได้อย่างตรงและเข้มข้นแค่ไหน ตรงนี้เราเข้าใจเพิ่มขึ้นไหม อันนี้ก็คือเคล็ดลับ แต่ละบุคคลมีความเข้มข้นมีความมั่นคงไม่เท่ากัน แต่เราสามารถปฏิบัติธรรม สะสมประสบการณ์ สะสมกำลังใจตั้งกำลังใจของเราจนกระทั่งจิตเรามีความเด็ดเดี่ยวมั่นคงในพระรัตนตรัย เราเข้าฌาน 4 ลัดเร็วเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียวได้ เราฝึกจนเป็นวสีได้ เราก็ฝึกกราบจนถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน กายเนื้อกราบจิตถึงพระพุทธองค์ ฝึกรวดเร็วถึงทันทีถึงทุกครั้งโดยที่จิตไม่มีวิจิกิจฉา ทำมากเข้าบ่อยเข้าทำจนจิตเราไม่มีความลังเลสงสัยแล้วว่า เราน้อมจิตเชื่อมกระแสกับพระพุทธองค์ได้หรือไม่ได้ ไม่ต้องให้ใครเข้ามาเชื่อมจิตให้ เรานี่แหละจริงๆเป็นผู้ที่ใช้จิตของตนน้อมกราบน้อมเชื่อมกับพระพุทธองค์เอง ไม่ต้องให้ใครเขามาเชื่อมจิต ตราบที่ยังต้องให้คนอื่นเขามาเชื่อมจิตมันก็แปลว่าเรายังอ่อนในการปฏิบัติธรรม ยังอ่อนในปัญญาที่จะพิจารณาว่าอะไรใช่ไม่ใช่ จริงไม่จริง สุดท้ายอย่าลืมว่าธรรมะเป็นปัจจัตตัง รู้ได้ด้วยตัวเอง ฝึกจนกระทั่งจิตเราไม่มีความลังเลสงสัย กราบทุกครั้งถึงพระพุทธองค์ทุกครั้ง อาราธนาทุกครั้งพระพุทธองค์ทรงเมตตา พุทธานุภาพลงมาเต็มกำลังทุกครั้งเช่นกัน

จำไว้เสมอว่าเมื่อเราเต็มกำลัง พระท่านก็ย่อมเมตตาเราเต็มกำลังด้วยเช่นกัน แต่หากเราเหยาะแหยะ เราไม่เอาจริงเอาจัง เราไม่สม่ำเสมอ พระท่านก็เมตตาเราได้ไม่เต็มกำลัง สุดท้ายทุกสิ่งเป็นไปตามกรรม ยิ่งเราเพียรมากขยันมาก จิตมั่นคงมาก นอบน้อมต่อพระรัตนตรัยมาก พระท่านสงเคราะห์ได้มาก ลังเลสงสัยมากก็เหมือนกับอุปมาเหมือนการเชื่อมต่อสัญญาณ มันตะกุกตะกัก มันขรุมันขระ มันติดๆดับๆ ต่างกับคนที่การเชื่อมต่อเรียบเนียนเสถียรมั่นคง สัญญาณก็คือกระแสที่ท่านอาราธนาบารมีพระก็ดี กราบพระก็ดี น้อมจิตถึงก็ดี มันมีความมั่นคง มันมีความเสถียรสัญญาณมันไม่มีหลุดไม่มีติดขัด นั่นก็อุปมาเหมือนจิตที่มีวิจิกิจฉากับจิตที่ไม่มีวิจิกิจฉา ตรงนี้เข้าใจนะ ทำไมอาจารย์ถึงพยายามสอน ทำไมถึงพยายามเน้น อันนี้จะเป็นจุดที่หาฟังที่ไหนไม่ได้ ดังนั้นพอเราประเมินสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านี้แล้ว เราจะเริ่มเข้าใจได้เลยว่า ที่เราคิดว่าเราตัดสังโยชน์ 3 ทำไมมันยังไม่ไปไหนเท่าไร พยายามยกระดับกำลังใจของเราขึ้นนะตรงนี้นะ

คราวนี้มาถึงข้อสุดท้ายคือสีลัพพตปรามาสนั้นก็คือการรักษาศีล การรักษาศีลนั้น สำหรับปุถุชนส่วนใหญ่ก็คือรักษาได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ให้พยายามให้เรามีศีลก็ดี ปุถุชนคนทั่วไปบางคนให้เราสังเกตดูว่าหรือตัวเราเองให้เราสังเกตดูว่า ถ้ายังต้องแข็งใจฝืนใจในการหักห้ามใจที่จะรักษาศีลคือต้องแข็งใจรักษา อันนี้ถือว่ากำลังใจมันยังต้องฝืนใจ มันยังไม่เป็นธรรมชาติ วิธีที่ให้เป็นธรรมชาติคือ แผ่เมตตาให้มากจนจิตเราเมตตา จิตเราเย็น จิตเราสลายความประทุษร้ายเบียดเบียนออกไปจากใจด้วยกำลังแห่งเมตตาฌาน เพราะเมตตามันมี ใจเราดีมากจนกระทั่งไม่อยากไปเบียดเบียนใครด้วยการทำร้าย ไปพรากชีวิต หรือทำร้ายร่างกาย ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คิดจะเบียดเบียนใคร เบียดเบียนทรัพย์ผู้อื่น ยักยอกทรัพย์ผู้อื่น ไม่ไปคิดฉ้อฉลหลอกลวงโกหก ไม่ไปด่าว่าให้เขาเสียน้ำใจเสียกำลังใจ ไม่ไปดุให้เขาขัดเคืองใจ อันนี้ละเอียดเพิ่มขึ้นมาจนถึงกรรมบถ 10  ไม่ไปเบียดเบียนละเมิดของรักบุคคลที่รักของบุคคลอื่น ไม่ทำลายสติของตนด้วยสุราอบายมุขยาเสพติดเครื่องดองของเมาทั้งหลาย เมื่อเรามีเมตตาทั้งต่อตัวเราและต่อบุคคลอื่น จนกระทั่งคิดว่าการไปละเมิดศีลเป็นเรื่องที่ฝืนใจบังคับฝืนใจ อย่างบางคนที่เขาไม่มีศีล หักคอปลาทุบหัวปลาหักคอไก่เป็นเรื่องที่ทำได้โดยไม่ต้องกระพริบตา บางคนบอกว่าเก่งดูหนังดูภาพยนตร์ สมัยนี้ เรียกว่าพระเอกไม่ได้ ตัวร้ายตัวเอกของเรื่องเป็นโจรเป็นผู้ร้ายเป็นนักฆ่ากันทั้งหมด เขาค่อยๆย้อมจิตให้เราชินกับบาป กับการละเมิด กับการผิดศีล ยิ่งฆ่าคนได้โดยไม่กระพริบตานี่ถือว่าเก่งมาก 

ดังนั้น ความเป็นจริงแล้วมันตรงกันข้ามไหม สำหรับเราโอ้โหเป็นคนใจอ่อน อ่อนแอเหลือเกิน จะให้ทุบหัวปลานี้ ทำไม่ได้ทำไม่ลงเป็นเรื่องยากเดินหนี ใครจะทำฉันไม่สนใจ คนจะด่าจะว่าเราอ่อน เราไม่สนใจ จริงๆแล้วจิตใจเราเข้มแข็งเกินกว่าจะทำชั่ว จริงๆทุกอย่างมันตรงกันข้ามกัน ไอ้สิ่งที่โลกเขาบอกว่าอ่อนแอ ความเป็นจริงนั้นก็กลายเป็นเราเข้มแข็งเกินกว่าจะไปทำชั่ว แต่เขาอ่อนแอเกินกว่าที่จะรักษาศีลได้ ดังนั้นเมื่อไรก็ตาม เมตตาเป็นปกติจนใจของเราละเอียดอ่อน เมตตาอย่างแท้จริง เราไม่ต้องไปบังคับฝืนใจที่จะรักษาศีล ศีลมันเป็นศีลที่ประกอบไปด้วยเมตตาพรหมวิหาร 4 เป็นศีลของพระอริยเจ้า เป็นศีลจากภายใน เป็นศีลจากความดีความบริสุทธิ์จากภายในใจของเรา

ตรงนี้ก็ฝากไว้ 3 ข้อ ทำความเข้าใจให้ละเอียดในสังโยชน์ทั้ง 3 ข้อ โดยพิจารณาดูจิตของเรา ตัดกายได้มากแค่ไหน ปล่อยวางกายได้มากแค่ไหน พิจารณาละกายที่เป็นขันธ์ 5 ได้มากแค่ไหน พิจารณาในไตรสรณคมน์มั่นคงมากแค่ไหน แล้วก็มีเมตตาจนจิตไม่ไปเบียดเบียนล่วงละเมิดผิดศีลรวมไปจนกระทั่งถึงกุศลกรรมบถทั้ง 10 การส่อเสียดยุแยง นินทาว่าร้ายกล่าวร้ายป้ายสี กล่าวโทษเพ้อเจ้อเหลวไหลทั้งหลายไม่มีในจิตไม่มีในวาจาไม่มีในใจของเรา แค่จิตเผลอคิดร้ายคิดลบคิดอกุศลเราวางเราดับทันที จิตเผลอคิดไม่ดีเราวางเราดับทันที ฝึกวางฝึกดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งดับอกุศลให้เร็วและมากเท่าไร เหมือนกับไม้ขีดไฟ 1 ก้าน เราดับให้มันดับ คือมันเกิดไฟขึ้นเกิดปฏิฆะเกิดความโมโหเกิดความขัดเคืองขึ้นเราดับให้เร็วที่สุดทันที แต่ถ้าหากเราปรุงแต่งต่อ คิดต่อ ปรุงต่อ มันกลายเป็นว่าไฟจากไม้ขีดไฟ 1 ก้าน มันอาจจะเผาป่า เผาป่าก็คือป่าทั้งป่าไหม้ด้วยไม้ขีดไฟก้านเดียวก็คือเรื่องที่เราขัดเคืองใจปฏิฆะโกรธแค่หน่อยเดียว แต่ปรุงต่อ จนกลายเป็นความอาฆาต กลายเป็นความพยาบาท กลายเป็นความจองเวร กลายจนกระทั่งเรากลายเป็นเจ้ากรรมนายเวรของผู้อื่นหรือดวงจิต ดังนั้นเราชิงดับแต่แรก อกุศลเกิดดับทันทีดับทันใจ อกุศลคิดไม่ดีเกิดดับทันที ฝึกจนกระทั่งมีแต่กุศล ฝึกจนกระทั่งมีแต่ความผ่องใส ฝึกจนกระทั่งใจของเรามีแต่พระอยู่ตลอดเวลา เมื่อนั้นเราก็ก้าวหน้าในธรรม 

สำหรับวันนี้ก็สมควรแก่เวลาก็ขอให้ธรรมะขององค์สมเด็จพระจอมไตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ชโลมล้างรดรินลงสู่ดวงจิตทั้งหลาย สลายตัดสังโยชน์ทั้ง 3 ออกไปจากจิต ก้าวข้ามจากปุถุชนวิสัยเข้าสู่อริยมรรคอริยผลอริยภูมิ อยู่ในกระแสแห่งโลกุตระธรรมได้โดยง่ายโดยเร็วโดยพลันทุกท่านทุกคนเทอญ 

จากนั้นน้อมจิตกราบพระพุทธองค์ กายทิพย์กราบพระพุทธเจ้า น้อมรับพร ตั้งใจปฏิบัติต่อพิจารณาต่อจนกระทั่งจิตเราสลายล้างสังโยชน์ทั้ง 10 จนจางจนจืดจนขาดสะบั้นไปในที่สุด เมื่อน้อมกราบแล้วก็อาราธนาแผ่เมตตาน้อมกระแสแผ่เมตตาไป 3 ภพภูมิ ขอกระแสบุญจากพระนิพพานแผ่ลงไปยังอรูปพรหม พรหมโลก อากาศเทวดาคือสวรรค์ทั้ง 6  รุกขเทวดาภูมิแห่งภูมิเทวดาภูมิ โลกอนันตจักรวาลมนุษย์และสัตว์ที่มีกายหยาบขันธ์ 5 ทั้งหลายทั่วอนันตจักรวาล แผ่เมตตาลงไปยังภพของเปรตอสุรกาย ลงไปยังโอปปาติกะสัมภเวสีทั้งหลาย แผ่เมตตาลงไปยังสัตว์นรกทุกขุม

น้อมจิตแผ่เมตตาจากการปฏิบัติธรรมเป็นปฏิบัติบูชา กุศลเกิดเต็มจิตเต็มใจของเราทุกลมหายใจ ทุกการปฏิบัติยิ่งใกล้พระนิพพาน จากนั้นจึงกำหนดจิต น้อมกระแสจากพระนิพพานลงมา เป็นกระแสบุญคุ้มครองรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ กระแสธรรมกระแสโลกุตระไหลรวมลงสู่ทุกวัดวาอารามทุกสถานปฏิบัติธรรม น้อมรวมลงสู่จิตทุกดวง บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ขอกระแสแห่งพระนิพพาน กระแสแห่งมรรคผล จงส่องตรงลงมาสู่ทุกดวงจิตให้เกิดความก้าวหน้าในธรรมเจริญในธรรมกันทุกรูปทุกนาม 

จากนั้นกำหนดจิต กราบลาพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกพระองค์ กราบด้วยความนอบน้อมโมทนาสาธุในบุญมหาสังฆทานที่เราร่วมทำบุญกัน อธิษฐานจิตขอให้เห็นผลแห่งมหาสังฆทานปรากฏในความเป็นทิพย์ วิมานในสวรรค์ชั้นใดก็ตาม พรหมชั้นใดก็ตามหรือแม้แต่วิมานของข้าพเจ้าบนพระนิพพาน จงปรากฏผลแห่งอานิสงส์แห่งมหาสังฆทานปรากฏด้วยเถิด กำหนดรู้ของเรานะ สิ่งที่เป็นทิพย์ปรากฏมากขึ้นไหม แล้วก็ในขณะเดียวกันอธิษฐาน ขอให้ผลอานิสงส์แห่งมหาสังฆทานที่ข้าพเจ้ากระทำด้วยกำลังใจ ด้วยกำลังฌานสมาบัติ ด้วยกำลังจิต ที่สูงสุดคือยกจิตขึ้นมาถวายตรงต่อพระพุทธองค์บนพระนิพพาน จิตถึงพระพุทธเจ้า ขอให้ผลอานิสงส์นี้ จงบังเกิดขึ้น แม้ในตราบที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ขอให้บุญบารมี จงปรากฏกลั่นเป็นสายสมบัติเป็นมนุษย์สมบัติอันจับต้องได้ ให้มีแต่ความคล่องตัว เงินทองหลั่งไหลให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ชาติ ศาสน์กษัตริย์ สืบต่อไป ขอทานนี้มหาสังฆทานทั้งหลายเหล่านี้จงสำเร็จเป็นมนุษย์สมบัติอันอัศจรรย์ บุญส่งผลทันใจบุญใหญ่ส่งผลก่อน 

จากนั้นกราบลาพระพุทธองค์ น้อมจิตอธิษฐานน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาฟอกธาตุขันธ์สลายล้างโรคภัยไข้เจ็บสุขภาพให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง กระแสพระนิพพานส่องตรงลงมาสลายผมขนเล็บฟันหนังกลายเป็นแก้วใสสะอาด โครงกระดูกหลอดเลือดเส้นเอ็นกลายเป็นแก้วใสสะอาด อาการ 32 ทั่วร่างกายกลายเป็นแก้วกลายเป็นเพชรใสสะอาด โรคภัยไข้เจ็บสลายออกไป จิตมีกระแสบุญหล่อเลี้ยงกุศลหล่อเลี้ยง กระแสแห่งพระนิพพานมรรคผลหล่อเลี้ยงธาตุทั้ง 4 ในกายนี้ อาการทั้ง 32 มีแต่บุญกุศลหล่อเลี้ยง ธาตุขันธ์มีแต่บุญกุศล พลังชีวิตพลังบุญหล่อเลี้ยงอยู่ 

จากนั้นน้อมจิตโมทนาสาธุกับกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ณ ขณะนี้มีทั้งหมด 77 ท่าน บุญกำหนดจากจิตอันเป็นกุศลบุญทั้งหลายสำเร็จแล้วยังจิตให้ผ่องใสปราณีตเอิบอิ่มเป็นสุข ทั้งเบื้องต้นคือก่อนที่จะปฏิบัติ  เอิบอิ่มผ่องใสอิ่มจิตอิ่มใจเป็นบุญกุศลในระหว่างปฏิบัติ และแม้ในภายหลังถอนจิตจากสมาธิแล้วใจเราก็ยังเป็นสุข รำลึกถึงกุศลเมื่อไรใจก็ยังอิ่มอกอิ่มใจได้เสมอ 

ค่อยๆหายใจเข้าช้าๆลึกๆ 3 ครั้ง หายใจเข้าพุธออกโท ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ ถอนจิตช้าๆ พร้อมกับจิตอันเบิกบานเอิบอิ่มแย้มยิ้มปราณีต จิตเป็นสุขดังดอกบัวบาน รับแสงแห่งธรรม 

สำหรับวันนี้ก็โมทนาสาธุกับทุกคนที่ตั้งใจปฏิบัติรวมถึงที่มาฟังในภายหลัง ก็ขอให้เราทุกคนมีความสุขความเจริญ ผลแห่งกุศลบุญทั้งหลาย ส่งผลรวดเร็วทันใจและเต็มกำลัง เราปฏิบัติจิตตั้งกำลังใจปฏิบัติพระกรรมฐานเต็มกำลังฉันใดก็ตามขอให้พระพุทธองค์เมตตา เทพพรหมทั้งหลายสงเคราะห์เมตตาเต็มกำลังต่อข้าพเจ้าทุกคนด้วยเช่นกัน 

สำหรับวันนี้ ก็ฝากอีก 2 เรื่องคือกำหนดในการปฏิบัติธรรมครั้งต่อไปเป็นวันที่ 21  กรกฎาคม ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าสำหรับใครที่ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะมาปฏิบัติ ก็ล็อคเวลาตัวเราเองให้เรียบร้อย ตั้งใจมั่นคงว่าต้องมาให้ได้ ถึงเวลาที่จะเปิดรับครั้งต่อไปคิดว่าแต่จะเปิดให้ลงทะเบียนก่อนเพียงแค่ 2 สัปดาห์ แต่ว่าเรารู้ล่วงหน้า เราก็ทำตัวให้ว่าง ตั้งใจ แล้วอีกประการหนึ่งก็คือ สำหรับเราที่ตั้งใจตั้งจิตปฏิบัติเพื่อพระนิพพานก็พยายามช่วยกันเขียนแผ่นทองอธิษฐานเพื่อพระนิพพาน โดยขอแผ่นทองตามแบบฟอร์มที่แจ้งไว้ได้ โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ อันนี้ช่วยกันเพราะต้องรวบรวมแผ่นทองให้ได้แสนแผ่น เพื่อหล่อพระพุทธรูปแสนคำอธิษฐานพระนิพพาน 

สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคน รับบุญจากการที่ไปถวายมหาสังฆทาน ทานบารมีเราเต็มแล้ว ศีลภาวนาเราตั้งกำลังใจเต็มแล้ว ดังนั้นเมื่อบารมีเราเต็ม การปฏิบัติเพื่อพระนิพพานของเราก็อยู่ในวิสัยที่สามารถเข้าถึงกันได้ทุกคน อย่าไปลดกำลังใจเราเอง มั่นคงไว้เสมอ 

สำหรับวันนี้โมทนาบุญกับทุกคน สวัสดีพบกันใหม่สัปดาห์หน้า

ถอดเสียงและเรียบเรียงโดย : คุณ Ladda

You cannot copy content of this page