green and brown plant on water

กสิณธาตุทั้ง 4

เวลาอ่าน : 5 นาที

 เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”  

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม  2566

เรื่อง กสิณธาตุทั้ง 4

 โดย อาจารย์ คณานันท์  ทวีโภค

กำหนดสติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั่วร่างกาย กำหนดตั้งใจปลดปล่อย ปล่อยวางเรื่องราวในจิตใจ รวมทั้งผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนทั่วร่างกาย ผ่อนคลายปล่อยวางทั่วร่างกาย กำหนดรู้ว่าเป็นการตัดความห่วงใยสนใจ เป็นการตัดร่างกายขันธ์ 5 ผ่อนคลายปล่อยวาง จนเหลือแต่ลมหายใจที่ละเอียดเบา จดจ่อกำหนดรู้อยู่กับลมสบายใจสบาย เห็นลมหายใจของเรา รู้สึกถึงลมหายใจของเราที่ละเอียดเป็นเหมือนกับแพรวไหมระยิบระยับละเอียดอ่อน ยิ่งลมหายใจละเอียดมากเท่าไหร่ จิตเรายิ่งสงบระงับเข้าสู่ฌานสมาธิในระดับที่สูงขึ้น ลมหายใจหยาบและละเอียดนั้น เป็นตัวชี้วัดบ่งบอกระดับของฌานสมาธิ กำหนดรู้ทั้งความหยาบ ความหนัก ความเบา ความละเอียดอ่อนของลมหายใจ พร้อมทั้งกำหนดรู้ในอารมณ์ใจของเรา กำหนดรู้อย่างชัดเจนชัดแจ้งว่าเมื่อลมหายใจของเรา เข้าถึงลมสบาย ลมหายใจที่ละเอียดอารมณ์ใจเราพลอยมีความสบาย มีความสงบตามไปด้วย อารมณ์ที่เราเสวยในขณะที่จิตเราเจริญสมาธิ เรียกว่าเวทนาเวทนานั้นอันที่จริงมีทั้งสุขเวทนาและทุกขเวทนา แต่คำว่าเวทนาในการปฏิบัติและภาษาคำอธิบายความเข้าใจส่วนใหญ่ของคนจะเข้าใจกันว่า พูดถึงเวทนาเราคิดถึงความรู้สึกที่มันเป็นทุกข์ แต่อันที่จริงเวทนานั้นก็มีสุขเวทนา ลมหายใจสบายมันก็มีความสุข ลมหายใจละเอียดมันก็มีความสุข เรากำหนดรู้ว่าเมื่อไหร่จิตเราสงบเข้าสู่สมาธิแล้วจิตเรามีความสุข มีความสบายจากความสงบ เมื่อชัดเจนตรงจุดนี้เมื่อไหร่ ใจก็จะเริ่มเกิดธรรมฉันทะ การทำสมาธิเป็นความสุขเป็นความสบายของจิต ใจเราก็รู้สึกว่าเราอยากปฏิบัติ ถึงเวลาถ้าเข้าถึงสมาธิอย่างแท้จริง เวลาที่เราอยู่นิ่งๆเช่นนั่งพักนั่งรอหรืออยู่ในสถานที่ที่มันมีความสบาย หรือแม้แต่จดจ่อเช่นเวลาที่เราขับรถ จิตจะรวมตัวเป็นสมาธิได้เองโดยอัตโนมัติ จิตจะเข้าฌานของเราเองได้ เพียงแต่เรามีสติกำหนดรู้ทันว่าจิตเราสงบแล้ว เข้าสู่ลมสบายแล้ว เข้าสู่สภาวะที่จิตจดจ่อเป็นสมาธิแล้วหรือไม่เท่านั้น สำหรับบางคนที่เริ่มมีประสบการณ์ตรงนี้ ก็จงกำหนดรู้ไว้ว่า นี่คือจุดที่เราสามารถทำสมาธิได้เสมอทุกที่ทุกครั้งทุกเวลา ลืมตาหลับตาที่จริงก็ทำได้ทั้งหมด

ตอนนี้ให้เราจดจ่อต่อไป อยู่กับลมสบาย อารมณ์สบาย ใจที่สงบ จิตที่เป็นสุข ยิ่งลมมันละเอียดจนนิ่งสงบแทบจะหายหรือหยุดนิ่งไปเลยก็ยิ่งดี กำหนดรู้ว่าจิตเข้าถึงความสงบแห่งสมาธิ ใจเราช่างมีความสุขความสบาย จิตเราได้พักจากความวุ่นวาย ความฟุ้งปรุงแต่งไปในสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆบนโลก เรื่องราวต่างๆในบ้านเมือง เราพักจิตอยู่กับสมาธิความสงบ นิ่งสงบ ลมหายใจละเอียด เบาสบาย ไปจนกระทั่งถึงลมหายใจนิ่งหยุดสงบระงับ หยุดอยู่กับความสงบนิ่งนั้น สำหรับในวันนี้เราจะปฏิบัติ ในการปฏิบัติเพื่อปรับพื้นฐานของจิต ในส่วนของสมถกรรมฐาน วันนี้เราจะเรียนกันเรื่องกสิณ เราทำความเข้าใจว่าสมถะนั้นคือ การทำสมาธิมุ่งหมายให้จิตสงบ จนเกิดจิตตานุภาพ ความสงบที่เรียกว่าฌานเรียกว่าสมาบัติ วิธีการหลักๆใหญ่ๆของการฝึกสมถะนั้นประกอบไปด้วย อานาปานสติกรรมฐานคือการกำหนดรู้ลมหายใจ สติกำหนดในลมหายใจ จุดนี้เราก็เข้าถึงความสงบ เข้าถึงฌาน โดยใช้ความรู้สึกสติกำหนดอยู่กับลม คราวนี้สิ่งต่อมาที่เป็นกรรมฐาน ที่เป็นบาทฐานทำให้เกิดสมาธิความสงบเช่นเดียวกัน แล้วก็เป็นกรรมฐานสำคัญที่เป็นบาทฐานของการได้อภิญญาจิต รวมไปถึงอภิญญาใหญ่ คืออิทธิวิธีก็ดี อภิญญาต่างๆที่ปรากฏนั้น มีอาทิเช่นเจโตปริยญาณคำว่าอภิญญานี้ทำความเข้าใจก่อนว่า อภิญญานั้นแปลว่าความรู้อย่างยิ่ง ถ้าตามความหมายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสอภิญญาที่เป็นความรู้อย่างยิ่ง มีนับเนื่องได้ตั้งแต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เกิดความสามารถพิเศษต่างจากคนทั่วไปที่มีความรู้น้อยกว่า เช่นถ้าเราย้อนกลับไปในอดีตประมาณสัก 500 ปีหรือพันปีก่อน เรามีไฟแช็ค เราจุดไฟแช็คให้คนในยุคสมัยเมื่อพันปีก่อนดู คนเมื่อพันปีก่อนเขาก็มองว่าเรามีเครื่องมือพิเศษ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นอภิญญา ความรู้แม้แต่ความรู้เช่นใช้ความรู้ทางวิศวกรรมทำเครื่องบินแล้วบินขึ้นไปบนอากาศได้ นี่ก็ถือว่าเป็นอภิญญา อันนี้คืออภิญญาที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเชิงวัตถุ แต่ความหมายส่วนใหญ่ที่คนอ้างอิงถึงในการปฏิบัติหรือผู้ปฏิบัติธรรม มักจะพูดถึงก็คืออภิญญาจิต คือสิ่งที่เป็นฤทธิ์ เป็นความสามารถ เป็นศักยภาพพิเศษ ที่เกิดขึ้นจากจิต จากการฝึกฝน จากสมาธิจิตเรียกว่าอภิญญา

ความสามารถพิเศษต่างๆของจิตที่เรียกว่าอภิญญาจิตนั้น มีนับเนื่องตั้งแต่ถ้าในเชิงที่เป็นโลกียอภิญญาก็มีตั้งแต่เจโตปริยญาณ เจโตปริยญาณก็คือการรู้วาระจิตของบุคคลอื่น อันที่จริงเจโตปริยญาณนี้จริงๆยังไม่ทันได้กสิณ ตั้งแต่จิตสงบ หยุดจิตได้ จิตนิ่งหยุด เกิดอุเบกขารมณ์ในอานาปานสติกรรมฐาน คือฌาน 4 ในอานาปานสติ เจโตปริยญาณก็เกิดขึ้น อันนี้จากการปฏิบัติจริง อาจจะไม่ตรงตามตำรา เหตุผลที่เราสามารถทำความเข้าใจได้ว่า อุปมาเหมือนจิตของคนทั่วไป เป็นจิตที่เหมือนน้ำที่มีตะกอน ตะกอนยังลอยตัวอยู่ปะปนในน้ำ ทำให้น้ำขุ่น พอน้ำขุ่น น้ำมันก็ไม่มีความใส มองทะลุลงไปถึงก้นก็ไม่ได้ ถ้าเอาน้ำขุ่นมีตะกอนข้นมากเท่าไหร่ เอามาใส่แก้วใสๆ เราก็มองทะลุไปอีกด้านนึงไม่ได้ฉันใด แต่เมื่อไหร่ก็ตาม จิตเราสงบลง ความขุ่นของตะกอนค่อยๆตกตะกอนนอนก้นลง จนน้ำค่อยๆใส หากเป็น โลกียอภิญญานั้นก็คือ ตะกอนนั้นหายไปหรือไม่ ยังไม่หาย เพียงแต่มันนอนก้นลง จากการที่เราสงบ คือไม่ไปกวนไม่ไปกวนน้ำ ไม่ไปแกว่งน้ำ ไม่ไปคนน้ำ ให้ตะกอนมันฟุ้ง น้ำมันก็ค่อยๆใสลง ตะกอนนอนก้นอยู่ข้างล่าง แต่คนทั่วไปเขาคิดวุ่นวายสับสน  คิดวนเวียน คิดวุ่นวาย คิดฟุ้งซ่านก็เหมือนกับเอาไม้ไปคนให้น้ำมันขุ่น พอไปกวนให้น้ำมันขุ่นปุ๊บ ใจมันก็มองไม่ใสไม่ทะลุ แต่เมื่อไหร่เราสงบจนจิตมันตกตะกอน ก็คือความวุ่นวายมันตกตะกอน มันก็ใสจนกระทั่งมองทะลุใจ รู้วาระจิตคนอื่นได้ฉันนั้น อันนี้ก็ทำความเข้าใจเพื่อให้ทราบเป็นวิทยาศาสตร์มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่คราวนี้สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างโลกียอภิญญากับโลกุตระอภิญญาที่อธิบายเปรียบเทียบก็คือ โลกียะนั้นเราหยุดกวนน้ำ หยุดทำให้น้ำมันขุ่นตะกอนนอนก้นอยู่ข้างล่างไม่ได้หายไปไหน คือกิเลสไม่ได้ลดลง แต่สงบระงับ แต่เมื่อไหร่ที่เป็นโลกุตระอภิญญา ความเป็นพระอริยเจ้า หรือปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอริยเจ้า เราค่อยๆบรรจงช้อนกรองเอาตะกอนนั้นออก ด้วยวิปัสสนาญาณ คือถอดความวุ่นวาย ถอนความเกาะ ความสนใจในความวุ่นวายในความฟุ้งซ่าน ในความรัก โลภ โกรธ หลง ในความอาฆาตพยาบาท ค่อยๆช้อนออกไปจากน้ำ ตะกอนลดลงมากเท่าไหร่ น้ำก็ยิ่งใสจนกระทั่งน้ำกลายเป็นน้ำกลั่นใสบริสุทธิ์ด้วยวิปัสสนาญาณ ตรงนี้เราก็จะเข้าใจมากขึ้น ผ่านไปจากเจโตปริยญาณคือการรู้วาระจิต

การรู้วาระจิตนี้มันจะเป็นลักษณะที่ผุดขึ้นมาในใจ รู้ว่าคนอื่นกำลังคิดอะไรอยู่ในใจ บางคนบอกว่าน่ากลัว อย่างอาจารย์นี้น่ากลัว ถ้ามาอยู่ใกล้ๆหรือมาเจอแล้วเดี๋ยวรู้หมดว่า เรากำลังคิดอะไรอยู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่คิด แต่คนที่เขาได้เจโตปริยญาณจริงๆ เวลาที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ เกิดขึ้นเองตามวาระ ตามเหตุตามปัจจัย อย่างมีครั้งล่าสุดที่ปรากฏขึ้นก็คือไปทานข้าวกับลูกศิษย์หลายคน คนที่นั่งข้างๆนั่งทานอาหาร ในขณะเดียวกันในจิตเขาก็คิด ว่าอาหารที่ทานในที่สุดมันก็กลายเป็นอุจจาระ ปัสสาวะ จริงๆมันก็เป็นความวุ่นวาย เป็นความเหนื่อยยาก ที่ต้องหาอาหารมาดูแลขันธ์ 5 ร่างกายนี้ กระแสจิตที่เขาคิดพิจารณา บังเอิญเขาคิดดังไปหน่อย อาจารย์ก็ทักไปว่า กำลังพิจารณาอยู่เช่นนี้ใช่ไหม เขาก็บอกว่าใช่ ยิ้มน้อยๆเราก็บอกไปใช่ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า บังเอิญกระแสความคิด เจโตปริยญาณมันปรากฏมาตรงคลื่นสัญญาณกัน จูนกันตรง การที่เราบอกในสิ่งที่เขาพิจารณาในวิปัสสนาญาณ แล้วถูกต้อง เราทักไปมันก็เป็นกำลังใจในการปฏิบัติของเขา เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกศิษย์คนนี้ เขาตั้งใจที่จะยกกำลังใจเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบัน ดังนั้นจริงๆแล้วเวลาที่เกิดเจโตปริยญาณ มันไม่ได้เกิดพร่ำเพรือหรือแบบก็รู้ไปหมดทุกอย่างตลอดเวลา มันมีเหตุมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเวลามาเจออาจารย์ก็ไม่ต้องกลัว คิดในสิ่งที่เป็นกุศลไว้ ถึงเวลาก็รู้เอง หรือแม้แต่วาระต่างๆเช่น เวลาที่เราน้อมจิตฟังธรรมะ อันนี้พูดบ่อยเจโตปริยญาณเกิดขึ้น  ของลูกศิษย์ก็เกิดเจโตปริยญาณกับอาจารย์ อาจารย์นิ่งหยุด ในขณะที่นิ่งหยุดเพราะบางทีอาจารย์กำลังฟังธรรมจากพระท่านว่าจะให้สอนอะไรต่อ จะพูดคำใดต่อ จะอธิบายเรื่องใดต่อ หลายคนที่น้อมจิตตามอย่างแนบอย่างจดจ่อเป็นสมาธิ ก็จะพลอยรับคลื่น รู้ว่าคำต่อไปหรือสิ่งต่อไปหรือหัวข้อต่อไป เรื่องต่อไปที่อาจารย์จะพูดจะกล่าว อาจารย์กำลังจะพูดคำว่าอะไร ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นเจโตปริยญาณและก็ถือว่าเป็นเครื่องหมาย เครื่องวัดว่าจิตเรานอบน้อม จิตเราแนบ จิตเราติดตาม ตามติดการพิจารณาธรรมได้ ไม่ขาดไม่ตกหล่น ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นความดี เป็นความสามารถแล้วก็มาใช้ประโยชน์ในเรื่องของทางธรรม

ต่อมาในเรื่องของอภิญญา ญาณต่างๆ ญาณทั้ง 8 อันนี้เป็นเรื่องของญาณ ญาณแปลว่าเครื่องรู้ เครื่องรู้ของจิต เครื่องรู้ของจิตที่ปรากฏขึ้นก็มีตั้งแต่ทิพยจักษุญาณ สามารถเห็นสภาวะของภพภูมิต่างๆ เช่นจิตวิญญาณ รุกขเทวดา ภูมิเทวดา อากาศเทวดา เห็นในจิต เห็นสัมผัสด้วยความรู้สึกของจิต ไม่ได้เห็นด้วยลูกตา จำไว้นะ ไม่ได้เห็นด้วยตาเนื้อ นอกจากบางคน บางเหตุการณ์ บางวาระ ถึงจะเห็นด้วยตาเนื้อ แต่โดยทั่วไปเป็นการสัมผัสด้วยจิต ด้วยความรู้สึก ตัวอย่างของการที่ได้ทิพยจักษุญาณ ก็เป็นกำลังของมโนมยิทธิ อย่างคนที่ได้มโนมยิทธิ ก็ถือว่าได้ทิพยจักษุญาณด้วย เห็นในภพภูมิต่างๆ เห็นสถานที่ที่ห่างไกลออกไป เห็นของที่ถูกปิดถูกบัง ญาณต่อๆมาก็มีอาทิเช่น อตีตังสญาณก็คือไปเห็นในอดีต ไปเห็นในอดีตต่างๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วในอดีต จะร้อยปีพันปีหรือชาติอื่นชาติใด อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณคือเห็นในปัจจุบัน ในที่ปัจจุบัน ที่ที่ไกลออกไป อนาคตังสญาณก็คือเห็นไปในอนาคต จิตรู้เห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าไปในอนาคต แต่เหตุการณ์ล่วงหน้าไปในอนาคตนี้บอกกันตามตรงว่า ทุกเหตุการณ์มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ คือณเวลานั้นเราเห็นอนาคตมันเป็นไปตามนั้น เรื่องนี้ยกตัวอย่างเช่นเรื่องภัยพิบัติต่างๆ ที่คนมีความสนใจกันเมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน ว่าจะเกิดภัยพิบัติ ครูบาอาจารย์หลายท่านหลายรูปก็บอกว่าเกิดภัยพิบัติแน่นอน แต่แล้วเหตุการณ์มันเปลี่ยนได้อนาคต ด้วยเหตุที่ทุกคนร่วมใจกันทำบุญมากขึ้น ถวายสังฆทานมากขึ้น สร้างพระพุทธรูปมากขึ้น ตอนนั้นก็ไปวางเหรียญทำน้ำมนต์ตามที่ต่างๆ วางลูกแก้วจักรพรรดิ ปรับภพภูมิตามที่ต่างๆช่วยกัน ช่วยกันทุกสายบุญ พอบุญมาเสริมก็กลายเป็นว่าเหตุการณ์มันไม่เกิด  คลาดเคลื่อนไป บรรเทาไป ดังนั้นอนาคตอันที่จริงแล้วมันเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ดังนั้นที่จริงแล้วเราก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับญาณต่างๆมากจนเกินไป สิ่งต่อๆมาที่เรียกว่าเป็นญาณ ก็คือปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณที่ทำให้หยั่งรู้ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายจะไปเกิดยังภพใด ภูมิใด และญาณต่อมาก็คือญาณที่หยั่งรู้ว่าบุคคลนี้มาจากภพใดภูมิใดขึ้นมาเกิด ญาณทั้งหลายเป็นญาณที่ประกอบเพื่อให้จิตเรามีความเข้าใจในเรื่องของกฎของกรรม เห็นโทษของบาปบุญคุณโทษ ก่อให้เกิดหิริโอตัปปะ ก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ เราพิจารณาเพื่อใช้ ส่วนญาณที่สำคัญที่สุดก็คือญาณเครื่องรู้ว่ากิเลสทั้งหลายถอดถอนออกไปจากใจของเราแล้ว อันนี้ถือว่าเป็นญาณที่สำคัญที่สุด รู้ว่าจิตของเรามันสะอาดขึ้นไหม กิเลสเบาบางลงไหม ความพยาบาทมันบางจนหมดไปจากใจเราไหม ความอาฆาตแค้นมันเบามันหมดไปจากใจไหม ตรงนี้สำคัญกว่า ญาณทั้ง 8 จบไป เรื่องของอภิญญาต่อมาก็คือเรื่องของอิทธิวิธี

อิทธิวิธีนั้นคือการที่อธิษฐานจิต อันนี้จะเริ่มเป็นเรื่องของอภิญญาใหญ่ อภิญญาใหญ่ก็คืออภิญญา 6 หรือฉฬภิญโญ การแสดงอิทธิวิธีก็คือต้นตอหรือเหตุที่ทำให้ได้อิทธิวิธี  อภิญญาใหญ่แสดงฤทธิ์ได้นั่นก็คือ ต้องสำเร็จธาตุกสิณธาตุ กสิณธาตุก็คือกสิณธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เรียกว่ากสิณธาตุทั้ง 4 เมื่อจิตตานุภาพเรามีกำลังอยู่เหนือธาตุทั้ง 4 สามารถบังคับควบคุมธาตุ คือดิน น้ำ ลม ไฟ ได้ เราก็สามารถตั้งธาตุ แปลงธาตุ เปลี่ยนธาตุ เดินธาตุ ให้ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟนั้น มันเปลี่ยนสภาวะไปตามใจนึกของเราเช่น เปลี่ยนอากาศให้เป็นของแข็งเหมือนมีดินลอยอยู่ ให้เราก้าวเหยียบ ถ้าเราก้าวเหยียบบนดินที่เราเห็นในจิต ดินที่ลอยอยู่ในอากาศ เราเหยียบแล้วยืนขึ้นไปมันก็กลายเป็นว่าเรายืน ยืนอยู่บนอากาศได้ อันนี้คือตามนัยยะที่หนังสือทิพยอำนาจ ท่านเขียนท่านอธิบายท่านสอนไว้ว่า เวลาใช้อภิญญานั้นใช้ยังไง หรือเดินน้ำ ก็คือเห็น กำหนดว่าน้ำนั้นกลายเป็นของแข็ง เหยียบน้ำ ถ้าในเรื่องเล่าที่หลวงพ่อฤาษีท่านเล่า เวลาท่านตอนแรกอธิษฐานก็อธิษฐานขอให้น้ำ ทั้งแม่น้ำหรือคลองกลายเป็นของแข็งทั้งหมด แต่หลวงปู่ปานท่านก็ทักบอกว่าไม่ได้ ชาวบ้านเขาจะเดือดร้อน ไม่สามารถสัญจรไปได้ เวลาอธิษฐานก็เฉพาะเท้าที่แตะเหยียบไปบนน้ำนั้นกลายเป็นของแข็งให้เราเหยียบแล้วเดินบนน้ำได้ ท่านก็ให้กำหนดแบบนั้น นี่คือตัวอย่าง หรือบางครั้งเวลาที่เราใช้อิทธิวิธี มันมีกำแพงทึบอยู่ เรากำหนดเป็นความว่าง เห็นสิ่งที่ทึบตันกลายเป็นความว่าง ที่ว่างแล้วก็เดินทะลุไปได้ ตรงนี้ก็เป็นอิทธิวิธี ส่วนโดยทั่วไปที่ปีกย่อย

ส่วนใหญ่อภิญญาที่มันผิดมนุษย์มนาคือเดินน้ำ เหินเดินอากาศ อะไรสิ่งต่างๆเหล่านี้ ส่วนใหญ่เวลานี้พระท่านก็ยังไม่อนุญาตให้ใช้เป็นอภิญญาสาธารณะเต็มที่ เหตุผลเพราะว่าหากได้กัน ฝึกกันได้กัน มานะทิฐิกำเริบ ความบ้าฤทธิ์บ้าเดช มันจะเกิดขึ้น พอทำได้แล้ว ความเก่งความถือดีแข่งดีมันจะเกิดขึ้น มันจะกลายเป็นโทษกับคนที่ได้ซะมากกว่า สุดท้ายก็เป็นการลองฤทธิ์ เล่นฤทธิ์ประลองยุทธ์กัน กลายเป็นสงครามพลังจิต เกิดโทษ ดังนั้นกว่าจะเข้าสู่ยุคอภิญญาใหญ่ได้ พระท่านสั่งว่าอย่างน้อยต้องปลูกจิตให้ได้เมตตาฌาน จิตมีเมตตาเป็นพื้น ใช้ก็ใช้เพื่อเกื้อกูล เพื่อสงเคราะห์ รวมไปถึง การจะได้ก็คือต้องได้ความเข้าถึงในความเป็นพระอริยเจ้าคือความเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไปก่อน เพื่อที่ว่าสติ ความยับยั้งและความเป็นพระอริยเจ้านั้น จะมีความปราณีตละเอียดของจิต ระมัดระวังในการฝึก ในการใช้อภิญญา จะใช้ก็ต้องถามพระท่านก่อนเสมอ อันนี้ก็เล่าอธิบายให้ฟัง ว่ากว่ายุคอภิญญาใหญ่จะเกิดขึ้น เมตตายังไม่ปรากฏจนกระทั่งเป็นพื้นจิตของคนส่วนใหญ่ ยังทำงานไม่บรรลุเป้าประสงค์ หรือแม้แต่ความเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ก็ยังไม่เข้าบรรลุเป้าประสงค์คือจำนวนก็ยังถือว่ามีน้อยกว่าที่ควรจะเป็นตามเป้าหมายที่พระท่านสั่งมา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อาจารย์พยายามจะขยายทำให้เราได้ ทำให้เราถึง การที่ฝึกสมถะ ทำสมถะที่สอนให้ง่ายดาย เหลือเพียงแค่เราขยันในการปฏิบัติในการเจริญวิปัสสนาและก็มีความตั้งมั่นว่าจะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ความเป็นพระอริยเจ้ากันให้ได้ เมื่อไหร่ที่มนุษย์จำนวนหนึ่งบนโลกมนุษย์ เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าเพิ่มจำนวนขึ้น กระแสบุญมหาศาลปรากฏขึ้น โลกก็จะค่อยๆดีขึ้น

คราวนี้เราฝึกกันต่อไป เข้าสู่เรื่องเนื้อหาที่เราจะฝึกกสิณ คือการทำสมาธิโดยการกำหนดภาพ การกำหนดภาพก็คือการนึกภาพขึ้นในจิต ภาพคือสิ่งที่เรานึกเห็นในจิต ภาพที่เกิดขึ้นนั้น มันมีผล ภาพในมโนความคิด ก่อให้เกิดผลในมิติของโลกแห่งความจริง คือโลกทางวัตถุได้ แต่การที่จะเกิดผลตรงนี้ได้ ขึ้นอยู่กับจิต พลังงานของจิตของบุคคลนั้นๆ นึกภาพบอกว่าเรานึกภาพลูกแก้วเหมือนกัน แต่พลังของการนึกของแต่ละคนแตกต่างกัน ถ้าเราเข้าใจแก่นหัวใจของการฝึกกสิณและสมาธิจิต เราจะเข้าใจได้ว่า กำลังที่มันเพิ่มขึ้นต่างกันจะต้องทำยังไงบ้าง

 1. จิตเรามีความตั้งมั่นสักเพียงใด

 2. ภาพที่ปรากฏขึ้นในความคิดของจิตมันมีความชัดเจนเพียงใด

 3. อารมณ์ความรู้สึกคืออารมณ์จิต มันมีกำลังเท่ากันไหม ขึ้นนึกภาพนิ่งๆแห้งๆเฉยๆหรือนึกภาพแล้ว จิตเรารู้สึกเปี่ยมพลัง เอิบอิ่มเป็นสุขสว่างผ่องใส รู้สึกถึงรัศมี รู้สึกถึงกำลังแห่งธาตุนั้นปรากฏ รู้สึกถึงกำลังแห่งความประภัสสร ปรากฏ รู้สึกถึงความสุข คือความเป็นทิพย์ของจิตปรากฏ

ถ้าเราจับประเด็นทั้ง 3 อย่างได้ ทำเต็มกำลัง จิตตานุภาพแห่งกสิณก็ปรากฏขึ้น คราวนี้เราเริ่มต้นก่อน เอาง่ายที่สุด ปกติธรรมดานั้นเวลาที่ฝึกกสิณแต่ดั้งเดิมเขาจะเห็นภาพเป็น 2 มิติ 2 มิติคือกำหนดโดยใช้ผ้าสะดึงขึงเป็นวงกลม ผ้าสะดึงก็คือเป็นกรอบไม้ไผ่ แล้วก็ผ้ามาไว้ตรงกลาง สะดึงที่เอาไว้ปัก ไว้ปักปักลายต่างๆก็ใช้สะดึงขึงกับผ้า สะดึงที่เป็นทรงกลมนั้นก็เป็นเหมือนดวงกสิณ

เวลาฝึกกสิณดิน ท่านก็เอาดินสีอรุณก็คือดินสีลูกรัง ดินสีลูกรังมาฉาบบนผิวสะดึง พอฉาบบนผิวสะดึงก็เห็นเป็นสีดินเป็นวงกลมสีดิน นึกภาพวงกลมสีดินนั้น แล้วก็มองสบายๆ จำไว้ในจิต ลืมตาเห็นหลับตา เวลาที่อธิบายแล้วก็ฝึกกันไปเลย แต่เดิมก็ฝึกกันแบบนี้ แต่คราวนี้ส่วนใหญ่จริงๆกสิณเวลาที่เขาฝึกก็จะมีการกำหนดเวลา การกำหนดเวลาก็ใช้ลูกสะกดก็คือลูกตะกั่วที่ปลุกเสกอธิษฐานจากครูบาอาจารย์ ติดบนเทียนสีผึ้งเป็นระยะ จริงๆถ้าพูดง่ายๆก็คือนาฬิกาจับเวลา แต่สมัยโบราณเขาต้องใส่เทียนด้วย แล้วก็เทียนเกาะบนขันน้ำมนต์ ลูกสะกดเกาะติดอยู่กับเทียน พอเทียนจุด จุดอธิษฐานเสกน้ำมนต์ เสกลูกสะกด ประสิทธิ์ประสาทวิชา พอเทียนมันไหม้ลงไปเรื่อยๆละลายถึงขั้นที่อยู่ในระดับของลูกสะกดลูกที่ 1 ติดไว้ ลูกสะกดเขาก็ตกลงไปในบาตรน้ำมนต์ดังเป้ง ก็ย้ายกองเช่นเปลี่ยนจากภาพนิมิตปกติกลายเป็นอุคคหนิมิต เปลี่ยนจากภาพปกติเป็น ปฏิภาคนิมิต ว่าไปตามลำดับ ตามลำดับขั้นของการฝึกหรือการฝึกได้อันนี้คือวิธีการฝึกแบบโบราณการของการฝึกกสิณ

คราวนี้สำหรับเราฝึก ปัจจุบันพระท่านให้สอน ในขั้นที่ก้าวหน้าขึ้นไปก็คือ เวลาที่นึกภาพกสิณ 2 มิติถือว่าง่ายไป ท่านให้นึกภาพเป็น 3 มิติ คือแทนที่เห็นเป็นแบนๆภาพวงกลม ท่านให้เห็นเป็นภาพดวงแก้ว เป็นภาพลูกบอล ก็คือลูกกลมๆนี่แหละ เป็นทรงกลมก็คือกลายเป็น 3 มิติ เช่นเวลาฝึกกสิณดิน ก็ให้นึกภาพก้อนดินกลม มันอาจจะมีผิวขรุขระก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของก้อนดินที่ปั้นกลม คราวนี้เราเริ่มฝึกกันเลย

ตั้งจิตอธิษฐานเริ่มฝึก รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เทพพรหมเทวา ตลอดรวมจนถึงพ่อธาตุ แม่ธาตุทั้ง 4 คือแม่พระธรณี แม่พระคงคา พ่อพระเพลิง พ่อพระพาย ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหลายมาประสิทธิ์ประสาท กสิณธาตุทั้ง 4 ในกายทวาร วจีทวาร มโนทวารของข้าพเจ้าทั้งหลาย นับตั้งแต่บัดนี้ ขอจงสามารถเกิดอภิญญาจิต มีอิทธิฤทธิ์เหนือธาตุทั้ง 4 ครูบาอาจารย์เมตตามาประสิทธิ์ประสาท นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปด้วยเถิด

คราวนี้เริ่มต้นให้เราเริ่มต้น กำหนดภาวนา ปฐวี กสิณัง ธาตุดินของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์  คาถานี้เป็นคาถาของครูบาอาจารย์ที่ท่านถ่ายทอดประสิทธิ์ประสาทมาคือ หลวงพ่อจำเนียร วัดถ้ำเสือ จังหวัดกระบี่ พอภาวนาเสร็จ กำหนดจิตนึกภาพก้อนดินทรงกลมขนาดเท่าผลส้มโอ ลอยอยู่เบื้องหน้า เห็นเป็นรูปทรงกลม กำหนดจิต รู้สึกสัมผัสจดจ่ออยู่กับภาพก้อนดินก้อนนั้น ก้อนดินเป็นสีดิน มีความหนัก มีความทึบของความเป็นธาตุดินภาวนาไป ปฐวีกสิณัง ปฐวีกสิณัง รู้สึกสัมผัสได้ว่าก้อนดินที่ลอยอยู่ เราจับจับ สัมผัส สัมผัส สัมผัสได้ถึงความกลม ความหนัก อาการที่สามารถเปื้อนมือได้ของดิน ก้อนดิน เราสามารถเห็นภาพ กำหนดเพ่งจดจ่อ เวลากำหนดในกสิณนั้น ท่านให้เล่นกสิณ เล่นก็คือ จับเล่น จับหมุน จับยกขึ้น ย่อเล็ก  ขยายใหญ่ เลื่อนขวา เลื่อนซ้าย เลื่อนขึ้นบน ลงล่าง คือสามารถบังคับควบคุมภาพนิมิตแห่งกสิณได้ดั่งใจนึก เข้าถึงคุณสมบัติแห่งกสิณธาตุนั้นอย่างชัดเจน รู้สึกถึงความหนัก รู้สึกถึงความทึบ หากเราเอามือกำหนดความรู้สึกเหมือนเราเอามือเข้าไปชกก้อนดิน ก้อนดวงกสิณที่เป็นดินนั้น ก็รู้สึกว่ามันๆทึบๆหนักๆเหมือนกับชกก้อนดิน กำหนดจิตเล่นอยู่กับก้อนดิน ปฐวีกสิณัง จนสนิทสนม จนรู้สึกคุ้นเคย จนสัมผัสได้ถึงคุณสมบัติแห่งความเป็นดินได้อย่างชัดเจน ย่อเล็ก ขยายใหญ่เท่าภูเขา เวลาใหญ่เท่าภูเขา ทิ้งลงมาบนพื้นมันรู้สึกถึงความสะเทือนเลื่อนลั่นจนเกิดแผ่นดินไหวได้ สะท้านสะเทือนได้

กำหนดจดจ่ออยู่กับกสิณต้น คือภาพกฐินต้นนั้น มีความเพลิน มีความคุ้นเคย บังคับควบคุม  เลื่อนเล็ก  ย่อเล็กขยายใหญ่ได้ดั่งใจทุกอย่าง คราวนี้ต่อมากำหนดให้ภาพกสิณดินนั้นหยุดนิ่งอยู่ จากก้อนดินนั้นให้ค่อยๆใสขึ้น ขาวขึ้น  ใสขึ้น ตอนแรกเราเปลี่ยนภาพช้าๆจากดินดำๆค่อยๆกลายเป็นขาวขุ่น ขุ่นเป็นใสจนกลายเป็นลูกแก้วใส แต่มีความหนัก มีคุณสมบัติแห่งดิน คือความทึบตัน มีความหนัก แต่มันมีความใส ใสเป็นแก้วเฉยๆ มีแสงสว่าง เมื่อลูกแก้วกสิณดินของเรามีแสงสว่าง ใจเราเป็นสุข ยินดีกับแสงสว่างนั้น เห็นภาพกสิณดินเป็นแสงสว่างแก้วใสสว่าง ใจเรายิ้มเป็นสุข อารมณ์ใจที่เราทรงอารมณ์เห็นลูกแก้วแห่งกสิณดิน เป็นแสงสว่าง จิตเราเข้าถึงกสิณดินในอุคคหนิมิต เดินจิตต่อไปจากแก้วใสที่มีแสงสว่างของกสิณดิน กลายเป็นเพชร คือจากแก้วเรียบๆกลายเป็นเพชรเจียระไนละเอียด เหลี่ยมระยิบระยับ มีแสงรัศมีเป็นเส้นแสงออกมา มีไอละอองหมอกแห่งความเป็นทิพย์พร่างพรายรายรอบสว่าง ใจเราย่งยินดีว่ากสิณดิน กสิณดินนี่จริงๆให้ทำเหมือนกับเขาเป็นเพื่อนรักของเรา กสิณดินสุดที่รักของฉัน ตอนนี้เค้าเป็นเพชรระยิบระยับ รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ความเป็นทิพย์ของกสิณดินนั้น ยินดีที่กสิณนั้น มันมีพลัง มีความระยิบระยับกลายเป็นเพชร อย่าลืมว่าสมาบัติแปลว่า สมบัติของจิต กสิณดินของฉันเป็นเพชรสวยแพรวพราว ใจฉันเป็นสุข ใจฉันยินดี ความเป็นเพชรแห่งกสิณดินเกิดขึ้นสว่าง ใจเป็นสุข ความเป็นทิพย์ของจิตเกิดขึ้นเต็มกำลัง ใจยิ้มเอิบอิ่มเต็มที่ ภาวนาปักจิตลงไป กำหนดจิตลงไปในกสิณดิน ภาพกสิณดินกลายเป็นปฏิภาคนิมิตคือเต็มกำลังแห่งกสิณดิน ภาวนาลงไป ในขณะที่เป็นเพชรประกายพรึก

ปฐวีกสิณัง ธาตุดินของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

จากนั้นกำหนดจิต เห็นดวงกสินที่เป็นเพชรประกายพรึกค่อยๆลอยเข้าไปทางจมูกของเรา ลอยเข้าไปขึ้นไปถึงกลางกระหม่อม จากกลางกระหม่อม ค่อยๆเคลื่อนลงมาอยู่ใจกลางภายในสมองตรงพอดีกับตาที่สาม เคลื่อนตัวต่อมาผ่านบริเวณคอหอยของเรา กำหนดอยู่ เคลื่อนต่อมาผ่านอก บริเวณหัวใจ เคลื่อนตรงลงมาต่อไปลงไปบริเวณใต้สะดือ 2 นิ้ว ศูนย์กลางกาย เคลื่อนต่ำลงไปถึงก้นกบของเรา จากนั้นเคลื่อนกลับขึ้นมาบริเวณศูนย์กลางกาย ฐานที่ตั้งของจิต กำหนดจิตอธิษฐาน เห็นกสิณดินเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง ตั้งจิตว่าเราตั้งธาตุกสิณดินในร่างของเรา รวมทั้งปลุกธาตุดินในกายของเราทั้งหมด อาการ 32 ที่เป็นธาตุดินทั้งหมดในร่างกายของเราถูกปลุก ปลุกธาตุดินขึ้น ปลุกธาตุ ตั้งธาตุ

ปฐวี กสิณัง ธาตุดินของข้าพเจ้า มีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

ปฐวี กสิณัง ธาตุดินของข้าพเจ้า มีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

ปฐวี กสิณัง ธาตุดินของข้าพเจ้า มีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

เห็นธาตุดินที่เป็นเพชรประกายพรึกเป็นปฏิภาคนิมิต สว่างทะลุร่างกาย เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย  ธาตุดินทั้งหลาย กระดูก เนื้อ เส้นเอ็น มันสมอง อาการ 32 ตับ ไต ไส้พุงทั้งหลาย ที่เป็นธาตุดินกลายเป็นเพชรประกายพรึก กายหยาบ ขันธ์ 5 กลายเป็นเพชรประกายพรึก สว่าง ธาตุดินถูกปลุกขึ้น จิตตานุภาพของข้าพเจ้า กายของข้าพเจ้า ธาตุดินเป็นปฏิภาคนิมิตเป็นเพชรประกายพรึก กำหนดว่าธาตุดินเรา ตั้งฐาน ตั้งธาตุ อยู่ที่ศูนย์กลางกายที่ฐานที่ตั้งของจิต บริเวณภายในท้องน้อย หรือตันเถียน จุดเดียวกันทั้งหมดนะ จากนั้นปล่อยเขาไว้

มากำหนดจิตต่อไป นึกภาพก้อนน้ำ มวลน้ำที่ลอยเป็นทรงกลม น้ำมีอาการกระเพื่อมตามลักษณะของธาตุน้ำ มีความเปียก มีความเวือมแบบน้ำ มีความชุ่มฉ่ำมีไอเย็นแบบน้ำ มวลน้ำลอยอยู่ ทำความรู้สึกว่าเหมือนกับเราเอามือประคองน้ำ จับน้ำขยายให้มวลน้ำก้อนน้ำที่เป็นทรงกลมนั้นใหญ่ขึ้นมากเท่าไหร่ก็ได้ ย่อเล็กเหลือเพียงแค่หยดเดียวก็ได้ ขยายเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ เท่ากับโลกเรานี้ทั้งหมดก็ได้ กำหนดด้วยความเพลิดเพลินด้วยความสุข สามารถบังคับควบคุมกสิณของน้ำ มวลน้ำก้อนน้ำได้ดั่งใจ ใจมีความสุข ใจมีความสบาย ใจรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของธาตุน้ำ จิตตานุภาพเราผูกพันเชื่อมโยงกับมวลน้ำ พลังแห่งธาตุน้ำนี้ กำหนดจิตต่อไปหมุนมวลน้ำ เห็นมวลน้ำนั้นหมุนปั่น เห็นมวลน้ำนั้นกลายเป็นน้ำแข็ง มีไอเย็นออกมา จากน้ำแข็งกำหนดจิตเห็นมวลน้ำนั้นกลับมาเป็นน้ำอุณหภูมิปกติ จากนั้นกำหนดว่าเห็นก้อนมวลน้ำนั้น กลายเป็นน้ำเดือด มีไอระเหยออกมาโดยรอบของมวลน้ำจากทุกทิศทาง มีไอน้ำออกมาจากทุกทิศทางแต่มวลน้ำยังคงตัวเป็นทรงกลมอยู่ ย่อเล็กได้ ขยายใหญ่ได้ดั่งใจ และบังคับกลับมาเป็นมวลน้ำดังเดิม

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป เปลี่ยนมวลน้ำให้เป็นอุคคหนิมิตกลายเป็นดวงแก้วใส แต่ในดวงแก้วใสมันก็มีความเปียกของน้ำ มีความเย็นของน้ำ มีการเปลี่ยนรูปทรงไปตามภาชนะต่างๆของน้ำได้ ดวงแก้วใสสว่างขึ้นเป็นอุคคหนิมิตของกสิณน้ำ กำหนดจิตเห็นกสิณน้ำเปลี่ยนจากอุคคหนิมิตกลายเป็นเพชรประกายพรึก เพชรประกายพรึกมีแสงสว่างเป็นรุ้งรัศมี มีประกายพร่างพรายพ้นจากเส้นขอบเส้นรัศมี เป็นประกายระยิบระยับเป็นความเป็นทิพย์ เห็นกสิณน้ำกลายเป็นเพชรสว่างแพรวพราว ใจเรายิ่งมีความสุข ยิ่งรู้สึกว่าพลังแห่งธาตุน้ำนั้นเปี่ยมพลังสูงสุด ความเป็นทิพย์สูงสุดภาวนาบริกรรมปักลงไปที่กสิณน้ำที่เป็นปฏิภาคนิมิตนั้น

อาโป กสิณัง ธาตุน้ำของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

อาโป กสิณัง ธาตุน้ำของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

อาโป กสิณัง ธาตุน้ำของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

จากนั้นเคลื่อนมวลน้ำ ดวงน้ำที่เป็นปฏิภาคนิมิต เข้าไปทางจมูก เลื่อนขึ้นไปกลางกระหม่อม จากกลางกระหม่อมที่เป็นเพชรประกายพรึกสว่าง มีความเย็นความเปียก ค่อยๆเคลื่อนตัวผ่านสมอง กลางสมองตรงกับตาที่สามกำหนดจิตต่อมา ค่อยๆเคลื่อนลงไปที่บริเวณคอ จากคอค่อยๆลงไปบริเวณหน้าอก จากหน้าอกค่อยๆเคลื่อนตัวลงไปที่ฐานที่ตั้งของจิตที่ศูนย์กลางกาย จากนั้นเคลื่อนลงไปที่บริเวณปลายก้นกบ และย้อนเคลื่อนกลับมาที่ศูนย์กลางกายตันเถียน กำหนดเห็นมวลน้ำที่เป็นปฏิภาคนิมิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง สว่างพร่างไปทั่วร่างกาย ปลุกธาตุน้ำทั่วกายของเราที่เป็นเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ปัสสาวะ น้ำลาย เสมหะ สิ่งที่เป็นธาตุน้ำของเราจงเปี่ยมพลัง ภาวนาบริกรรมปลุกธาตุน้ำทั่วร่างกายของเราเป็นเพชรประกายพรึก สว่างจนเห็นกาย ในส่วนที่เป็นธาตุน้ำทั้งหมดสว่างเป็นเพชรประกายพรึก จิตจดจ่ออยู่ที่ศูนย์กลางกาย เห็นดวงกสิณที่เป็นปฏิภาคนิมิตของธาตุน้ำ ปักอธิษฐานลงไป ปลุกธาตุน้ำอาโป กสิณัง ธาตุน้ำของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์ อาโป กสิณัง ธาตุน้ำของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์ อาโป กสิณัง ธาตุน้ำของข้าพเจ้ามีกำลัง  มีเดช มีฤทธิ์ กำหนดวางกสิณ ให้มาอยู่ข้างๆเยื้องมาด้านหลัง หากมองเป็นกากบาทรูปบวกอยู่ที่บริเวณกลางกายของเรา ธาตุดินอยู่ด้านหน้า ธาตุน้ำเอาวางอยู่ด้านขวาเป็นกากบาท วางเค้าไว้ ตั้งธาตุไว้ในท้องของเรา ไว้ในกายของเรา

จากนั้นมากำหนดจิตต่อไปในกสิณธาตุ กำหนดภาพลมอยู่ภายในปริมณฑลที่เป็นทรงกลม มีอาการพัดพา มีอาการสั่นไหวของลม สามารถเพิ่มความรุนแรงกลายเป็นเฮอริเคน กลายเป็นลมหมุน กลายเป็นลมงวงช้าง เห็นการพัดพาหมุนเวียนของลม มีการพัดพา กำหนดจิตให้ปริมณฑลทรงกลมที่มีลมพัดผ่านนั้น สามารถเพิ่มพูนกำลังการพัดพาแรงลมแรงขึ้นมากเท่าไหร่ก็ได้ดั่งใจนึก ขยายขอบเขตของแรงลมให้ใหญ่เป็นซุปเปอร์เฮอริเคน ก็สามารถขยายได้ ทำให้เป็นเพียงลมพัดแผ่วเบามีความเย็นความสบายก็สามารถทำได้ กำหนดให้กระแสลมทั้งหลายพัดไปทางซ้าย พัดไปทางขวา พัดก้อนเมฆออกไป พัดเมฆฝนเข้ามา กำหนดจิตว่าเราสามารถบังคับควบคุมลมทั้งหลายได้ดั่งใจนึก ขยายขึ้นลดลง เพิ่มทวีความรุนแรง และก็ลดลงให้กลายเป็นกระแสลมเบาสบายปกติได้ดั่งใจ กำหนดจิตต่อไป ให้เห็นธาตุลมในปริมณฑลที่เป็นทรงกลมกลายเป็นลูกแก้วใสสว่างเป็นอุคคหนิมิต กำหนดจิตว่าใจเราเป็นสุข เราบังคับควบคุมเป็นเจ้าของกสิณแห่งลม มีกำลังแห่งกสิณลม ธาตุลมเป็นกำลังแห่งเรา จากอุคคหนิมิตกำหนดจิตต่อไป เห็นกสิณลมนั้น จากดวงแก้วใสสว่างกลายเป็นเพชรประกายพรึก มีความพรั่งพราย มีความเป็นเพชรเต็มกำลัง กำหนดจิต กสิณลมวาโย กสิณัง ธาตุลมของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์ จากนั้นกำหนดจิตเคลื่อนกสิณลมที่เป็นปฏิภาคนิมิตเข้าไปทางจมูกเลื่อนขึ้นไปถึงใจกลางกระหม่อม สัมผัสได้ถึงกระแสลมที่พัดเย็นอยู่เหนือศีรษะ จากนั้นเคลื่อนตัวลงไปภายในศีรษะตรงกับตาที่ 3 เคลื่อนลงผ่านบริเวณคอหอย ผ่านลงไปกลางหน้าอก ผ่านลงไปที่บริเวณท้องน้อย บริเวณจุดที่เป็นตันเถียน ฐานที่ตั้งของจิต เคลื่อนต่อไปที่ปลายก้นกบ และเคลื่อนกลับมาตั้งฐานที่บริเวณตันเถียน ฐานที่ตั้งของจิตอีกครั้งหนึ่ง กำหนดจิตให้อยู่ตรงกลาง อธิษฐานเห็นธาตุลมที่พัดพา กำหนดจิตว่าลมของเรานับแต่นี้ มีพลังเต็มเปี่ยมแห่งธาตุลม ลมหายใจแห่งอานาปาของเรามีพลังแห่งปราณของธาตุลม วาจาของเราที่มีกระแสลมพัดออกไป เป็นวาจาแห่งอิทธิของลม มีประกาศิต ลมที่เราเป่าเสกเป่าสามารถมีพลังแห่งแรงอธิษฐานจิต ลมที่เสกมีกำลังอภิญญา ลมที่เป่าเสกมีกำลังแห่งการบำบัดรักษา กำหนดจิตจดจ่ออยู่กับกสิณลมที่เป็นปฏิภาคนิมิตที่ศูนย์กลางกาย อธิษฐานจิต ลมทั่วร่างกายเป็นประกายพรึก อธิษฐานจิตปักลงไปที่กสิณลมที่เป็นปฏิภาคนิมิตนั้น

วาโย กสิณัง ธาตุลมของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

วาโย กสิณัง ธาตุลมของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

วาโย กสิณัง ธาตุลมของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

จากนั้นอธิษฐานจิตต่อไป ลมของเราตอนนี้ปรากฏความเป็นประกายพรึกออกไปเป็นไอละเอียดเป็นอนุภาคทางจมูก ธาตุลมของเราแผ่ออกเป็นอนุภาค เป็นอีเทอร์ เป็นละอองไอหมอกละเอียด เป็นเพชรละอองแผ่ออกไปจากรูขุมขนทั่วร่างกาย ธาตุลมของเราเปี่ยมพลัง เปี่ยมจิตตานุภาพ จากนั้นกำหนดจิตวางธาตุลม ตั้งธาตุลมไว้ที่บริเวณด้านหลังของกากบาท เป็นระยะ ตั้งแต่ 3 ธาตุเรียบร้อยแล้ว

คราวนี้ก็มากำหนดบริเวณเบื้องหน้าของเรา ตั้งจิตให้เห็นเป็นรูปดวงกลมที่เป็นเปลวไฟอยู่ภายใน เปลวไฟนี้สามารถกำหนดให้มีความร้อนแรง มีความเข้มข้น ดวงของกองไฟที่ปรากฏในทรงกลมนั้น สามารถขยายความเข้มข้นจนเป็นดวงอาทิตย์ มีความร้อน มีความแผดเผ่า และในขณะเดียวกันก็สามารถหรี่ลง พลังแห่งไฟความร้อนให้หรี่ลงเป็นความอบอุ่นที่พอดีได้ ให้เป็นความร้อนที่พอเหมาะพอสมได้ เป็นความร้อนแรงเป็นความแรงกล้า เป็นความสว่างเจิดจ้าร้อนแรงดั่งดวงอาทิตย์ ก็สามารถทำได้ดังใจ ย่อเล็กขยายใหญ่ ย่อเล็กจนเหลือแค่ปลายหัวไม้ขีด เปลวไฟเล็กเพียงแค่ประกายน้อยๆเพียงนิดเดียวก็ได้ ขยายใหญ่จนกระทั่งกลายเป็นดวงอาทิตย์ขนาดมหึมาใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของสุริยจักรวาลก็ได้ ความรู้สึกของเรากำลังแห่งสุริยะ กำลังแห่งไฟ กำลังแห่งสุริยเทพ ผนึกกำหนดอยู่ในจิตของเรา จิตตานุภาพเราเพิ่มพูนขึ้น ตบะเดชะแห่งกสิณไฟความร้อนปรากฏขึ้น กำหนดจิตเห็นกสิณไฟที่เป็นดวงไฟนั้น มีไอความร้อนปรากฏ ความรู้สึกของเรามีความเพลิดเพลิน มีความสนุก มีจิตตานุภาพอยู่เหนือไฟนั้น กำหนดจิตต่อไปว่า ขอให้ดวงไฟนั้นเปลี่ยนกลายเป็นอุคคหนิมิต เป็นดวงแก้วใสสว่าง มีรัศมี ดวงแก้วที่ใสสว่างเป็นอุคคหนิมิตของกสิณไฟ จากนั้นกำหนดจิตต่อไป จากกสิณไฟที่เป็นอุคคหนิมิตกลายเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง มีรัศมี มีเส้นแสง มีความเป็นทิพย์พร่างพรายรายรอบ เคลื่อนดวงกสิณที่เป็นปฏิภาคนิมิตของกสิณไฟ เข้าทางจมูกเลื่อนขึ้นไปเหนือกลางกระหม่อม จากกลางกระหม่อมเลื่อนลงมาที่กึ่งกลางหน้าผาก ภายในกลางศีรษะ เคลื่อนตัวลงไปบริเวณคอหอย เคลื่อนผ่านลงไปบริเวณหน้าอก เคลื่อนผ่านลงไปตรงศูนย์กลางกาย เคลื่อนผ่านลงไปที่ปลายก้นกบ เคลื่อนเคลื่อนกลับมาที่ศูนย์กลางกายบริเวณใต้ท้องฐานที่ตั้งของจิตอีกครั้งหนึ่ง เห็นเป็นปฏิภาคนิมิต กำหนดความรู้สึกปลุกธาตุไฟในร่างกาย ความร้อนในร่างกาย ความร้อนจนรู้สึกได้ว่ามีไอความร้อนแผดเผา แผ่ขึ้นออกมาจากรูขุมขนจากกายเนื้อของเราทั้งหมด มีไอร้อนไออุ่นแผ่กระจายออกมา สัมผัสได้ถึงไอร้อนไออุ่นที่แผ่ขึ้นทั่วร่างกาย ธาตุไฟที่เป็นปฏิภาคนิมิตเราจดจ่อ อธิษฐานปลุกธาตุไฟทั่วกายของเรา ตั้งธาตุไฟ อธิษฐานจิต

เตโช กสิณัง ธาตุไฟของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

เตโช กสิณัง ธาตุไฟของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

เตโช กสิณัง ธาตุไฟของข้าพเจ้ามีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

กำหนดความรู้สึกเข้าถึงพลังแห่งกสิณไฟ พลังแห่งความร้อน พลังแห่งแสงสว่าง พลังแห่งสุริยเทพ จากนั้นกำหนดจิตต่อไป เลื่อนดวงของกสิณไฟมาไว้ที่ปลายด้านที่อยู่ทางด้านซ้ายมือ เราเห็นธาตุดินอยู่ด้านหน้า น้ำอยู่ด้านขวา ลมอยู่ด้านหลัง ไฟอยู่ด้านซ้าย เห็นทั้งดวงแก้วทั้ง 4 กำหนดเห็นเป็นดินคือกสิณต้น เป็นก้อนดินอยู่ภายในกาย น้ำเป็นดวงน้ำอยู่ภายในกาย ลมเป็นดวงลมอยู่ภายในกาย ไฟเป็นดวงไฟอยู่ภายในกาย จากนั้นกำหนดจิตต่อไปให้เห็นเป็นปฏิภาคนิมิต ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นปฏิภาคนิมิต 4 ดวงอยู่ จากนั้นธาตุดิน  ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟทั้งหมดหมุนเวียนขวา หมุนด้วยความเร็วเพิ่มขึ้น เร็วเพิ่มขึ้น  เร็วเพิ่มขึ้น เร็วเพิ่มขึ้นจนกระทั่งกสิณธาตุทั้ง 4 นั้นรวมตัวกันเป็นหนึ่ง กลายเป็นดวงกสิณ กสิณธาตุทั้ง 4 รวมเป็นหนึ่ง เป็นดวงใหญ่อยู่ภายในท้อง กำหนดจิตอธิษฐาน

ธาตุทั้ง 4 ของข้าพเจ้า มีกำลัง มีเดช มีฤทธิ์

ขอกำลัง พละ เดชะ แห่งแม่พระธรณี แม่พระคงคา พ่อพระพาย พ่อพระเพลิง รวมไปถึงสุริยเทพ

ขอกำลัง อำนาจ ตบะ เดชะแห่งกสิณธาตุทั้ง 4 จงปลุกธาตุ เดินธาตุ ตั้งธาตุ ทั่วร่างกายขันธ์ 5 กายทวาร วจีทวาร มโนทวารของข้าพเจ้า รู้สึกสัมผัสได้ว่าดวงกสิณธาตุที่เป็นปฏิภาคนิมิตอยู่ภายในท้องของเรา

    กำหนดจิต กำหนดความรู้สึกที่ฝ่ามือขวา กำหนดให้เห็นเป็นเปลวไฟพวยพุ่งขึ้นมาจากฝ่ามือ ฝ่ามือซ้ายเห็นเป็นลม เป็นเกลียวลม เป็นลมเหมือนกับพายุงวงช้างหมุนอยู่ภายในฝ่ามือของเรา เราสามารถกำหนดให้เปลวไฟทางมือขวานั้นพวยพุ่งสูงขึ้นไปได้เป็น 2 เมตร 3 เมตรสูงขึ้นไปมากมาย มือซ้ายกสิณลมก็สามารถทำให้กองลมมันเกิดขึ้นสูงขึ้นใหญ่ขึ้นมากมาย ความรู้สึกทั่วร่างกายขันธ์ 5 ขันธสันดานรู้สึกสัมผัสได้ถึงพลังแห่งธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เต็มเปี่ยมอยู่ทั่วร่างกายขันธ์ 5 ของเรา ความรู้สึกเปี่ยมพลังเข้าถึงเป็นหนึ่งเดียวกสิณทั้ง 4 เป็นเอกัคคตารมณ์เป็นหนึ่งเดียว คือทั้ง 4 ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ผนึกเป็นหนึ่งเดียว ได้ชื่อว่าสำเร็จกสิณธาตุทั้ง 4 อันเป็นบาทฐานแห่งอิทธิวิธี จิตรวมเป็นหนึ่งเดียวกับกสิณ รู้สึกว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน เอกัคคตารมณ์มีความสำคัญตรงนี้ เป็นหนึ่งเดียวกับพลังงาน เป็นหนึ่งเดียวกับทุกสรรพสิ่ง เป็นหนึ่งเดียวกับธาตุดิน เป็นหนึ่งเดียวกับธาตุน้ำ เป็นหนึ่งเดียวกับธาตุลม เป็นหนึ่งเดียวกับธาตุไฟ เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติทั้งปวง เข้าถึงพลังงานทั้งหลาย เป็นหนึ่งเดียวกับพลังทั้งหลาย จิตตานุภาพเพิ่มพูนขึ้น ตั้งจิตอธิษฐานกัน

ขอให้ข้าพเจ้าใช้กำลังอำนาจแห่งอภิญญาจิต แห่งกสิณธาตุทั้ง 4 โดยพุทธานุญาตและใช้เพื่อโปรดสงเคราะห์ เกื้อกูลในมวลหมู่เวไนยสัตว์ รวมไปถึงใช้ประโยชน์ในการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ขอกำลังจิตตานุภาพ กำลังอภิญญาใหญ่ กำลังอภิญญาสมาบัติ จงอย่าได้เป็นไป ที่ทำให้เกิดโทษ เกิดมานะทิฐิ เกิดความเหิมเกริมกำเริบเสิบสาน เอาไปใช้ในทางที่ผิด เอาไปใช้ในการที่เบียดเบียนบุคคลอื่น เอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่ได้ประกอบไปด้วยธรรม มีความโลภ โกรธ หลงเป็นที่ตั้ง ขอกำลังอภิญญาสมาบัตินี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในมรรคผลพระนิพพาน เพื่อเป็นไปในการทรมานบุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิให้เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นไปเพื่อแสดงความกระจ่างแจ้ง สัจธรรม รวมถึงคุณธรรมวิเศษแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อสร้างศรัทธาในมวลหมู่บุคคลทั้งหลายที่กำลังพึ่งเข้ามาศึกษา ขอจงใช้เพื่อประโยชน์เพียงข่ายเดียวเท่านั้นด้วยเทอญ และขอให้เทพพรหมเทวดาทั้งหลาย โมทนาสาธุ ปกปักรักษาคุ้มครอง ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ประสิทธิ์ประสาท ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ที่สำเร็จสัมฤทธิ์ในกสิณธาตุทั้ง 4 ในอภิญญาสมาบัติ เป็นผู้คล่องแคล่วเชี่ยวชาญเข้าถึงพลังอย่างแท้จริง

จากนั้นกำหนดจิตนะ ทรงภาพพระ ทรงภาพพระพุทธองค์ ทรงภาพครูบาอาจารย์ ขอพระพุทธองค์ทรงเมตตาขอกระแสพระธรรม ขอกระแสแห่งพระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีวิสัยในอภิญญาสมาบัติ ขอเมตตามาประสิทธิ์ประสาทให้การฝึกการปฏิบัติของข้าพเจ้านั้น ยิ่งก้าวหน้าขึ้น ก้าวไกลขึ้น เข้าถึงสรรพอภิญญาทั้งปวง เพื่อประโยชน์สุข เพื่อประโยชน์ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ด้วยเทอญ ขอครูบาอาจารย์ ตอนนี้ใครเห็นท่านใดมาปรากฏ ที่เมตตามาปรากฏตอนนี้ก็มีหลวงปู่ใหญ่ หลวงปู่เทพโลกอุดร ท่านมาปรากฏ หลวงปู่แหวนสุจิณโณ หลวงพ่อฤาษี หลวงปู่ปาน หลวงพ่อจงวัดหน้าต่างนอก สมเด็จพุฒาจารย์โต ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ท่านรับรู้รับทราบ เมตตามาปรากฏ อธิษฐานจิตกราบท่านด้วยความนอบน้อม ด้วยความเคารพ ขอให้ท่านประสิทธิ์ประสาท ครูบาอาจารย์ที่เป็นกายทิพย์ ขอจงประสิทธิ์ประสาท จากนั้นน้อมจิต ใช้อทิสมานกายกราบทุกท่านทุกๆพระองค์ จากนั้นกลับมาอยู่กับกาย กำหนดรู้ว่า ภายในร่างกายของเรามีกสิณธาตุทั้ง 4 สถิตอยู่ภายในท้อง อยู่ที่ฐานที่ตั้งของจิตคือตันเถียน กำหนดรู้ กำหนดใช้ได้ตลอดเวลา ดึงพลัง ดึงความรู้สึกเปี่ยมพลังแห่งกสิณธาตุทั้ง 4 ได้ตลอดเวลา ประยุกต์ใช้ในการฝึก ในการบำบัดรักษาโรค ในการตั้งธาตุ กำหนดใช้ญาณเครื่องรู้พิจารณากาย ธาตุใดพร่อง กำหนดเพิ่มธาตุที่พร่องให้เต็มให้สมดุล ธาตุใดเกินเช่นธาตุไฟมีมากเกิน เกิดสภาวะร้อนในก็ลดธาตุไฟที่มากเกินให้มันเบาลง หรี่ลง จำไว้ว่าหากใช้ในการปรับธาตุในการบำบัดรักษาโรค หลักก็คือธาตุทั้ง 4 มีกำลังพอดีพอสม และสมดุล เวลาใช้เป็นอภิญญาสมาบัติ ก็คือต้องดึงพลังเพื่อมาเต็มที่กำหนดเข้าถึงพลังงานมหาศาลของธาตุแต่ละธาตุ หรือธาตุทั้งหมด มีกำลังแห่งธาตุทั้ง 4 เป็นกำลัง

สำหรับวันนี้ก็เลยเวลาไปค่อนข้างมาก ก็ขออภัยด้วย แต่คาดว่าคนที่โชคดีได้มาฝึกในเรื่องกสิณในวันนี้ก็น่าจะได้ประโยชน์ ก็ขอโมทนาสาธุกับทุกคนที่ปฏิบัติธรรม กัลยาณมิตรให้เราแต่ละคนโมทนาสาธุ ในบุญกุศลที่ปฏิบัติเจริญพระกรรมฐาน สำหรับเรื่องกสิณธาตุ เสริมอีกนิดนึง กสิณธาตุทั้ง 4 จงไปพิจารณาต่อ ในการจังหวะที่เราดึงกสิณเข้ามาภายในกาย การเคลื่อนของกสิณนั้นก็คือเคลื่อนตามตำแหน่งของจักระ เราจริงๆแล้วแต่ละคนถ้ามีเวลามากกว่านี้ก็กำหนดฝึกตั้งแต่กสิณต้น ไล่ทุกจักระ กสิณต้นอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ทุกจักระ ไล่ให้ครบทั้ง 7 จักระ อันนี้เรื่องที่ 1 เรื่องที่ 2 ใช้ปัญญาพิจารณาว่าจะเอากสิณธาตุทั้ง 4 มาดับกิเลสยังไงบ้าง พิจารณาดับกิเลสยังไงบ้าง เอากสิณไฟมาเผาความโลภยังไง เอากสิณไฟมาเผาความหลงยังไง เอากสิณน้ำมาดับความโกรธยังไง เราไปพิจารณาเอานะ อันนี้มาเสริม สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนาบุญกับทุกคนด้วย สำหรับใครที่เรียนในคอร์สพลังแห่งความโชคดี พรุ่งนี้ก็จะเป็นวาระที่อาจารย์ส่งพลังให้สามทุ่ม คนไหนที่เรียนก็รับพลังเข้าไปได้เต็มๆ ถ้าคนไหนยังไม่เรียนก็สามารถสมัครได้ พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะครับ ในห้องเมตตาสมาธิ สำหรับวันนี้โมทนาบุญ ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ สวัสดี

ถอดความและเรียบเรียงโดย คุณ Wannapa

คุณไม่สามารถคัดลอกเนื้อหานี้ได้