เสียงธรรมจากห้อง “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”
วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565
เรื่อง อธิษฐานรวมบารมีเก่า
โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค
กำหนดจิต กำหนดรู้ในร่างกายของเรา ผ่อนคลาย ปล่อยวางร่างกาย การกำหนดความรู้ตัวทั่วพร้อม ความรู้สึก การปล่อยวาง ความรู้สึกในร่างกาย ความปล่อยวาง ความกังวลในจิตใจ เป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติ เคล็ดลับหนึ่งของการปฏิบัติ ยิ่งเราปล่อยวางร่างกายได้มากเท่าไหร่ คำว่าการปล่อยวางร่างกายนั้น ความหมายก็เหมือนกับการที่เราพิจารณาตัดขันธ์ 5 จิตยิ่งฝึกปล่อยวาง ตัดวางร่างกายมากเท่าไหร่ อารมณ์จิตที่เราตัดความโลภ โกรธ หลงอันเป็นเหตุที่ก่อที่เนื่องมาจากการมีขันธ์ 5 ร่างกาย ก็พลอยง่ายขึ้นเพียงนั้น
สำหรับการฝึกฝนในการปฏิบัติ ในส่วนของทั้งสมถะและวิปัสสนา เป้าหมายของการฝึกสมถะก็เพื่อให้เราทรงสมาธิจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตเข้าถึงฌานในระดับที่สูงขึ้น คือระดับของฌาน 4 กำลังของฌาน 4 เป็นกำลังของจิตที่ตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ เป็นกำลังอยู่ในระดับที่ใช้พิจารณาในวิปัสสนาญาณ จนตัดกิเลสเพื่อมรรคผลพระนิพพานได้ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ในการปฏิบัติในส่วนของสมถะนั้น การได้ฌาน 4 เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการปฏิบัติทั้งหมด ทั้งสมถะและวิปัสสนา เหตุผลนี้จึงเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่พบเจอกันเป็นปกติ ความรู้สึกที่ว่าเราไม่อาจจะหยุดความคิดได้ เราไม่อาจจะสงบใจได้ เราไม่อาจจะปล่อยวางได้ คำพูดเหล่านี้บอกให้ทำใจสงบทุกคนก็จะพูดเสมอว่า พูดก็เหมือนง่ายแต่ทำมันยาก เราหลายคนก็เคยผ่านสภาวะ ผ่านความรู้สึกตามที่อาจารย์ได้บอกเช่นนี้แล้ว ดังนั้นอันที่จริงแล้ว ถ้าหากเราเป็นคนที่รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาในการปฏิบัติ ในการปฏิบัติธรรมทั้งสมถะวิปัสสนา จุดแรกที่เราควรจะต้องเผด็จศึกให้ได้ในสงครามของการตัด สงครามแห่งสังสารวัฏนี้ก็คือ เราต้องปฏิบัติเพื่อให้ได้ฌาน 4 ก่อน อันนี้เป็นเป้าหมายสำคัญ ในส่วนของสมถะ เพราะเมื่อไหร่ที่เราได้สมถะ ได้ฌาน 4 ก็เหมือนกับเราได้กำลังใหญ่ ได้อาวุธ จิตมีจิตตานุภาพ อยู่เหนือกิเลส อยู่เหนือนิวรณ์ 5 ประการ อยู่เหนือความสับสนวุ่นวายของใจ เมื่อจิตตานุภาพมันค่อยๆเพิ่มพูนขึ้นสูงขึ้น จึงค่อยเพาะบ่มพิจารณาในปัญญาก็คือวิปัสสนาญาณ ค่อยๆสั่งสม เมตตา พรหมวิหาร 4 ในการขัดเกลา ในการค่อยๆปรับกระแสจิตของเรา จากหยาบให้ละเอียด จากโหดเหี้ยมโหดร้ายรุนแรงให้มีความอ่อนโยนปราณีต
ดังนั้นการที่เราตั้งเป้าที่จะฝึกฌาน 4 ให้ได้ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งปกติคนส่วนใหญ่กว่าจะได้ฌาน ใช้เวลายาวนานมาก บางคน 10 ปี 20 ปีก็ไม่ได้สักที นั่งหลับตาทำสมาธิภาวนาเมื่อไหร่ มีแต่ความสับสนวุ่นวายทั้งนั้น ความวุ่นวายมันเกิด ความคิดความฟุ้งมันเกิด ความกังวลทั้งหลายมันเกิด หรือถ้ามันไม่เกิดความวุ่นวายในใจ ก็ไปปรากฏเป็นความรู้สึกยุ่งอยู่กับอาการต่างๆที่เป็นกับดักของการปฏิบัติธรรม อาการที่เกิดขึ้นจากปิติ หรือไปเกิดขันธมาร เกิดเวทนา เวทนานี้ก็คือเกิดความปวดบ้าง ความเมื่อยบ้าง กว่าจะสู้กับมันจนกระทั่งจิตสงบเข้าถึงฌาน 4 กว่าจะทะลุผ่านได้ก็ใช้เวลาเนิ่นช้าเนิ่นนานไปมาก แล้วกว่าจะผ่านไป มีความเข้าใจ กว่าจะเข้าสู่วิปัสสนาภูมิ สรุปรวมไปแล้ว ใช้เวลาไปครึ่งค่อนชีวิตหรือนานกว่านั้น หรือบางคนก็ไม่ผ่าน หรือบางคนก็พาลมีความรู้สึกว่ามันลำบากหนัก เลยหยุดที่จะปฏิบัติหรือเลิกที่จะปฏิบัติไป ดังนั้นเป้าหมาย ถ้าเราเข้าใจเราฉลาด เราชิงปักธงให้ได้ซะก่อนก็คือ ทำฌาน 4 ให้ได้ ฌาน 4 สำหรับผู้ปฏิบัติทั่วไป เขาปฏิบัติกันได้แค่ฌาน 4 ในอานาปานสติก็ดีใจกันแล้ว การที่จะมาฝึกให้ได้ฌาน 4 ของกสิณจิตเป็นปฏิภาคนิมิต การที่จะมาปฏิบัติจนกระทั่งจิตเข้าถึงเมตตาอัปปมาณฌาน แผ่เมตตาไปทุกภพทุกภูมิ สำหรับบุคคลทั่วไป อันที่จริงไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่ต้องใช้กำลังใจ เป็นเรื่องที่ต้องใช้บารมี เป็นเรื่องที่จะต้องมีบุพกรรม ที่เราเคยเจริญพระกรรมฐานมาในกาลก่อน ถึงจะเกิดผลต่อเนื่อง ดังนั้นคนที่เขามีความฉลาด มีปัญญาในอธิษฐานบารมี เขาก็จะเริ่มฉลาดที่จะ หนึ่ง อธิษฐานรวมบารมีเก่า
เรื่องอธิษฐานรวมบารมีเก่านั้นจริงๆแล้ว สำหรับผู้ที่เคยเกิดมาอยู่ในสายของพระมหายาน สายพระโพธิสัตว์ ความรู้เรื่องอธิษฐานบารมีนี้ มีเป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่างอาทิเช่น ท่านที่เคยเกิดในธิเบต ปฏิบัติธรรมมาเป็นลามะธิเบต เป็นพระสายมหายาน ท่านก็กำหนดไปเลยว่า การเกิดในแต่ละชาติของท่าน ปฏิบัติธรรมมาถึงจุดไหน ปฏิบัติธรรมมาถึงเท่าไหร่ อธิษฐานจิตว่า พอชาติต่อไปก็ขอต่อ ขอต่อคือชาติที่แล้วเราฝึกถึงป 1 ชาติที่ 2 ต่อมาเกิด เราก็ไม่ย่ำอนุบาล เราขอขึ้นป 2 ตายไปจากป 2 เราก็ขอขึ้นป 3 ไล่ของเก่าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งบารมีของเก่าที่เราเคยฝึก เคยปฏิบัติ กรรมฐานที่เราเคยได้ มันก็สะสมบ่มตัวไล่ขึ้นมา อย่างในอดีตชาติเรา เราลองพิจารณาว่า เราเคยฝึกกสิณไหม เราเคยฝึกปฏิบัติเจริญพระกรรมฐานไหม เราเคยเจริญเมตตา เจริญพรหมวิหาร 4 ไหม พอเราคิดพิจารณาได้เช่นนี้ จิตเรารวมอธิษฐาน
อธิษฐานว่ากรรมฐานทั้งหลายที่เราเคยปฏิบัติมาในกาลก่อน ในชาติก่อน ในอดีตชาติ ขอให้กลับมารวมตัวกัน
กำลังอธิษฐานบารมีก็นำพาให้การปฏิบัติของเราเข้าถึงได้ง่ายขึ้นไวขึ้น หรือบางครั้งนิสัยวาสนาบารมีเก่า มันจะนำพาให้เราเคยบังเอิญได้ คือพบหรือมีประสบการณ์ทางด้านจิต ทางด้านการปฏิบัติโดยที่เมื่อก่อนเราก็อาจจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เราได้สิ่งที่เราทำนั้น เราทำไปได้อย่างไร เรารู้ได้ยังไง เราเข้าถึงสภาวะแบบนั้นได้อย่างไร หรือบางครั้งเราก็รู้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุคคล อย่างการปฏิบัติ วิสัยของคนที่ชอบทรงอารมณ์ในการดูแสงไฟ เจริญกสิณไฟ หรือนั่งมองสายน้ำ อารมณ์ใจของเรามันเกิดขึ้น ความสงบเย็นเกิดขึ้น จากสภาวะที่เรามองสายน้ำก็ดี มองกองไฟ มองแสงเทียนก็ดี จิตมันรวมขึ้นเป็นสมาธิ อารมณ์ต่างๆที่มันเกิดขึ้น มันคือของเก่าคือบารมีเก่า
ดังนั้นการที่เรามาปฏิบัติ เราได้ง่ายเราได้สูงขึ้น มันเป็นของเก่าที่เราเคยได้มาในกาลก่อน สำหรับเรื่องกรรมฐานนี้ ถ้าพูดไปสำหรับบุคคลที่ยังไม่เคยได้มาในกาลก่อนก็ดี หรือกำลังบารมียังไม่ถึงจุดที่จะเข้าสู่ภาวนา เราก็จะพบได้ว่าจะพูดให้ตาย เขาก็ไม่ได้มาสนใจที่จะมาปฏิบัติธรรม เต็มที่สำหรับบางคนที่บอกว่าอยู่ในเขตพระพุทธศาสนา ก็อาจจะได้เพียงแค่ การที่จะทำทาน ทำบุญไหว้พระ ไปวัด กราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป แสวงหาวัตถุมงคลทั้งหลายเอา ไปกราบครูบาอาจารย์ที่ไหนว่าดีก็ไปกราบ แต่ตัวเองยังไม่สนใจที่จะปฏิบัติให้ตัวเองเข้าถึงจิตตานุภาพ เข้าถึงสมาธิ เข้าถึงธรรม เข้าถึงมรรคผล ตรงจุดนี้เราก็ต้องพิจารณาดู ว่าตัวเรานั้นเข้ามาปฏิบัติ เราต้องก้าวข้ามจุดที่เป็นพื้นฐาน จุดที่คนทั่วไปเขาติด อย่าหยุดอยู่เพียงแค่การทำทาน ทานนั้นเราทำสม่ำเสมอทำด้วยปัญญา ทำด้วยความฉลาด แต่สิ่งสำคัญที่มีผล มีอานิสงส์ ซึ่งถ้าเราสังเกตดู อย่างหลวงพ่อจรัญวัดอัมพวันท่านกล่าวไว้ก็ดี ครูบาอาจารย์สายพระป่าก็ดี หลวงพ่อพระราชพรหมญาณ หลวงพ่อฤาษีท่านก็ดี ท่านจะเน้นย้ำเสมอว่า ต้องก้าวเข้าสู่การเจริญพระกรรมฐานเป็นสำคัญ
การเจริญพระกรรมฐาน เป็นเหตุที่ทำให้เราสามารถมีจิตตานุภาพ สามารถกำหนดภพภูมิ การเกิดการจุติของเราได้ แม้จนกระทั่งเป็นเหตุที่ทำให้เราได้มรรคผลพระนิพพาน หลุดพ้นจากสังสารวัฏ กำลังของทานถ้าไม่มีวิปัสสนาไม่มีกรรมฐานมากำกับ กำลังของทานก็มีเหตุได้ ในส่วนของกามาวจรสวรรค์ คือเป็นเหตุที่ให้เสวยไปได้เป็นเทวดาบ้าง โอกาสที่จะเป็นพรหมก็มี แต่มีน้อยขึ้นไป แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเจริญพระกรรมฐาน กำลังจิต กำลังใจ กำลังปัญญาเราสูงขึ้น การพิจารณาธรรมเราสูงขึ้น การขัดเกลา การเปลี่ยนอุปนิสัยใจคอ จากหยาบให้เป็นละเอียด จากหยาบให้ปราณีต จากที่มองเห็นหรือพิจารณาเพียงแค่วัตถุของหยาบ ก็มีปัญญามองเห็นเหตุ เห็นผล รู้ว่าสิ่งที่เราทำเหตุเช่นนี้เกิดผลเช่นไร ทำดีเกิดผลดี ปราศจากการเบียดเบียน ทำให้เกิดความสงบเย็น ปราศจากความเร่าร้อนใจในชาตินี้ อันนี้เป็นเพียงแค่เหตุในปัจจุบัน
ธรรมะทำให้เรามีปัญญารู้เหตุรู้ผล รู้ว่าจะทำยังไงให้ชีวิตเราสงบเย็น ยิ่งอาฆาตแค้นพยาบาทมากเท่าไหร่ ยิ่งร้อนยิ่งทุกข์ ยิ่งเพ่งโทษยิ่งปรารถนาอยากได้ทรัพย์สินผู้อื่น อิจฉาริษยามากเท่าไหร่ ยิ่งเร่าร้อนยิ่งทุกข์ ยิ่งรักยิ่งหลงมากเท่าไหร่ ยิ่งเมาในรัก เมาในลาภยศสรรเสริญ เมาในอายุ เมาในวัตถุสิ่งของมากเท่าไหร่ยิ่งเร่าร้อน อันนี้เป็นปัญญาที่เราทำให้ชีวิตในขณะที่มีชีวิต มีความสงบเย็น แต่สูงกว่านั้นเมื่อไหร่ที่เราได้ญาณ ญาณทั้ง 8 ประการ คืออตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ จุตูปปาตญาณ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ เจโตปริยญาณ อาสวักขยญาณ ญาณทั้ง 8 เป็นเครื่องทำให้เราเห็นเข้าใจในเรื่องของสังสารวัฏ คนที่เขามองพระพุทธศาสนาหรือมาปฏิบัติธรรมแบบพุทธปรัชญา คือมองว่าสมาธิทำให้ใจเราสงบ ทำให้ความดันลดลง ทำให้ความทุกข์ลดลง แต่ไม่ได้พิจารณาลึกไปถึงว่า การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเหตุ ที่จะนำพาดวงจิตนี้ไปยังภพภูมิต่างๆ ปรากฏว่าของดีที่สุด ของสูงที่สุดในการปฏิบัติเจริญพระกรรมฐานนั้นเขาไม่ได้ ได้เพียงแค่เหตุของความสงบสุขในปัจจุบัน ซึ่งบางคนก็มองว่าแค่นี้ก็คุ้มแล้วสำหรับการฝึกสมาธิการปฏิบัติ
แต่สำหรับเราเองปฏิบัติถึงขั้นนี้แล้ว เราต้องเข้าใจว่ามิติด้านลึกเรียกว่าเป็นมิติที่ 5 การเกิดการจุติ ภพ บั้นปลายของภพ ความสิ้นสุดในสังสารวัฏ มันปรากฏขึ้นกับเราสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรม ปัญญาความรู้แจ้งเห็นความวุ่นวาย เห็นภัยเห็นทุกข์ในสังสารวัฏมันเกิดขึ้นกับเรา ความวุ่นวายในโลกมันเกิดขึ้นเสมอ ยุคสมัยที่เราดำรงอยู่นี้ เป็นช่วงเวลาอันสั้นเหลือเกินในความสงบ และถึงบอกว่ามันมีความสงบ มันก็มีความวุ่นวาย มีเรื่องดราม่า มีเรื่องทุกข์ มีเรื่องกระทบใจ มีเรื่องความวุ่นวาย จะเป็นในครอบครัวในชีวิตของตัวเราเอง จะเป็นเรื่องราวของบ้านเมืองในประเทศเราก็ดี จะเป็นเรื่องราวของโลกใบนี้ ความเป็นไป ความวุ่นวายของโลกใบนี้ ของประเทศต่างๆก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีความวุ่นวาย มีความทุกข์ ด้วยเหตุนี้ พระยสะท่านพิจารณาเห็น ท่านจึงตัดอุทานว่า โลกนี้วุ่นวายหนอ โลกนี้ขัดข้องหนอ ขณะที่ท่านเป็นลูกมหาเศรษฐี แต่ปัญญาที่ท่านพิจารณา ท่านก็เห็นความวุ่นวายของโลก ความสับสนของโลก ความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความไม่ได้ดั่งใจ เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้ว ใจท่านจึงเริ่มปรารถนาออกจากทุกข์ พระพุทธองค์ท่านทรงตรัส ที่นี่สงบ ที่นี่ปราศจากความวุ่นวาย ที่ที่ปราศจากความวุ่นวายทั้งหลายอยู่ที่ไหน อยู่ภายในจิตของเรา เรากำหนดจิตปล่อยวางร่างกาย ปล่อยวางความวุ่นวาย ละ วางจากอัตตาตัวตนสมมุติ ละ วาง ความวุ่นวายทั้งปวง ความเกาะยึดในร่างกายขันธ์ 5 วางทุกสิ่งจนเข้าถึงความสงบ กำหนดรู้เท่าทัน รู้เห็นโลก รู้ปล่อยวาง
กำหนดรู้ทั่วร่างกาย ผ่อนคลายปล่อยวางกล้ามเนื้อทุกส่วน ปล่อยวางเรื่องราวความวิตกความกังวล สิ่งที่รบกวนจิตใจทั้งหลาย เราวางลงพร้อมกับความผ่อนคลายปล่อยวาง ละวางอัตตาตัวตน ละวางร่างกาย ละวางขันธ์ 5 ละวางสมมติทั้งปวง ผ่อนคลายปล่อยวางถึงที่สุด จนจิตสงบนิ่ง หยุด วาง เบา วางทุกสิ่งจนจิตเข้าถึงความสงบในระดับฌาน แนวทางการปฏิบัติ การฝึกฝนให้เข้าถึงเคล็ดในการปล่อยวางขั้นสุดยอด คือเมื่อตั้งแต่เรากำหนดจิต ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน ปล่อยวางความกังวลทั้งหลาย ภาษาพระท่านเรียกว่าปลิโพธ ตัดวางความกังวลทั้งปวง ปล่อยวางสมมุติทั้งปวง สมมุตินั้นก็คืออัตตาความยึดมั่นถือมั่นเกาะเกี่ยวในบุคคลในตัวตนของเรา ความห่วงหาอาวรณ์ ความรักความหลง ห่วงลูกห่วงหลาน ห่วงสามีห่วงภารกิจ ห่วงทั้งปวงนี้รวมเรียกกันว่า ปลิโพธหรือความกังวล ทิ้งกาย ทิ้งความกังวลจนหมด รู้สึกว่าร่างกายเราผ่อนคลายปล่อยวางอย่างแท้จริง
สภาวะที่เกิดขึ้นในขณะที่เราผ่อนคลายปล่อยวางอย่างแท้จริง ถ้าปฏิบัติได้ถึงขั้น ผ่อนคลายปุ๊บเต็มที่ปุ๊บ จะเท่ากับเราควบกับการเจริญวิปัสสนาญาณจนถึงระดับที่เราตัดขันธ์ 5 ทิ้งกาย แยกรูปแยกนามจนเหลือแต่จิต ปฏิบัติได้ถึงขั้นนี้เมื่อไหร่ เพียงแค่ผ่อนคลายปล่อยวาง จิตจะรวมลงเข้าสู่ฌาน 4 ในอานาปานสติ คือจิตนิ่งสงบ การปฏิบัติของเราเมื่อเราผ่อนคลายปล่อยวาง นับแต่นี้ มันจะก้าวข้ามเวทนาจากขันธมารคือความปวดความเมื่อยทั้งหมดออกไปจนหมดสิ้น การทรงสมาธิ การเจริญจิต การเดินจิตนับแต่นี้จะกลายเป็น แยกจิต แยกรูป แยกนาม จิตเข้าถึงฌานเพียงแค่ผ่อนคลายปล่อยวาง สิ่งที่ทำยาก กลายเป็นง่าย อันนี้คือขั้นสูงของผู้ที่ปฏิบัติจนเป็นวสี อันนี้เป็นจุดที่สำหรับผู้ที่มาปฏิบัติในเมตตาสมาธิควรฝึกฝนจนเข้าถึง การกำหนดจิตเข้าฌาน 4 แค่ลัดนิ้วมือเดียวก็เป็นเรื่องง่าย เมื่อไหร่ที่กำหนดตัดละวางจนจิตเข้าถึงฌาน 4 ได้ การกำหนดในสมถะที่สูงขึ้น จำไว้ว่าสมถะในหมวดของสมถะมีกรรมฐาน 40 กองที่เป็นแบบแผน แต่อุบายในการฝึกให้จิตเข้าถึงสมถะสมาธิ สมถะสมาธิมีกระบวนการมีวิธีฝึกมากกว่า 40 อย่าง อะไรก็ตามที่เป็นอุบายที่ทำให้จิตจดจ่อสงบรวมเป็นหนึ่งได้ ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องมือในการทำสมถะให้เกิดขึ้น
อันนี้เราทำความเข้าใจกันก่อน บางคนใช้เสียง อย่างพระจีนพระมหายานท่านเคาะ มีกระดองเต่ามีไม้แล้วเคาะก๊อกๆๆๆๆ จิตจดจ่ออยู่กับเสียงเคาะนั้น จิตก็เป็นสมาธิ หรือเคาะ singing bowl กลึ้งงงง… เกิดความกังวาล จิตก็นิ่งแนบอยู่กับเสียงเคาะนั้น บางครั้งสมาธิที่มันเกิดขึ้น เรากำหนดจิตแทนที่จะมาจัดลมหายใจ เรามาจับสันตติคือสภาวการณ์ที่เป็นอาการเต้นตุ๊บของชีพจร อาการตุ๊บของหัวใจเต้น ตุ๊บๆๆๆ อยู่กับความรู้สึกในการเต้นของหัวใจตลอดเวลา จิตก็รวมเป็นสมาธิ เรื่องสันตตินี้ตัวครูบาเจ้าเพชร ท่านบอกว่าท่านก็จับอารมณ์นี้ ให้จับหัวใจเต้นเนี่ยทำ 3 วัน รับรองได้อภิญญา เห็นท่านเคยบอกอาจารย์แบบนี้ อาการจับอาการหัวใจเต้นก็เป็นสมาธิได้ รวมความว่าอุบายใดที่ทำให้จิตรวมเป็นสมาธิเราใช้ได้หมด อันนี้เราก็ทะลุข้ามกรอบข้อจำกัดของการฝึกสมถะมา มากกว่าบุคคลทั่วไปขั้นหนึ่ง แล้วคราวนี้เรามาทำความเข้าใจต่อว่า
สมถะนั้นถ้ามาอธิบายในอีกแบบหนึ่ง ลำดับขั้นของสมถะ ให้เราคิดพิจารณาว่า หนึ่งพื้นฐานที่สุดคือฌาน 4 ในอานาปานสติ คือการจับลมหายใจ ใช้ลมหายใจ ความหยาบ ความละเอียด จำนวนครั้งของการหายใจ เป็นเครื่องวัดระดับของสมาธิ อันนี้เคยกล่าวหลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อไหร่จิตเข้าถึงฌาน 4 ในอานาปานสติ ลมหายใจสงบนิ่ง ละเอียด ดับ เรียกว่าลมสงบระงับ คำภาวนาหายไป ลมหายใจหายไป ทำยังไงต่อ อันที่จริงก็คือเมื่อลมหายใจหายไป จิตต้องมาอยู่กับอาการหยุดนิ่งของจิตที่ลมมันดับนั้น จับเอกัคคตารมณ์ จับอุเบกขารมณ์ให้ได้ให้ชัดเจน อุเบกขารมณ์ เอกัคคตารมณ์ เป็นเครื่องวัดตัวสติรู้ ตรวจสอบระดับของฌาน 4 ในอานาปานสติ เป็นตัวฝึก เป็นตัวพื้นฐานที่ทำให้การฝึกต่อยอดไปถึงการได้ญาณนั้น มันมีความเที่ยงตรง จิตเราตั้งมั่นไหม จิต เราแกว่งไกวไหม จิตเรามีอคติไหม จิตเราหวั่นไหวปรุงแต่งไปกับการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต มั้ย จิตนิ่งสงบเที่ยงตรง อุเบกขา เมื่ออุเบกขาแล้วความสนใจในกายก็ไม่มี ความสนใจกับสิ่งกระทบก็ไม่มี ดังนั้นจิตมันเกิดความตั้งมั่นไม่หวั่นไหว กำลังของจิตก็ยิ่งแนบ ยิ่งเที่ยงตรง ยิ่งมั่นคงขึ้น คราวนี้เมื่อได้อานาปานสติ ในตัวนิ่งตัวหยุด ก็เข้าใจต่อไปว่า คราวนี้ในส่วนของการได้ฌาน 4 จิตสงบนิ่ง จิตนิ่งมันก็เหมือนกับน้ำที่มันเคยขุ่นมันตกตะกอนนอนก้น น้ำมันใส อันที่จริงในเรื่องของญาณเครื่องรู้ต่างๆ ตั้งแต่ได้ฌาน 4 ในอานาปานสติ เจโตปริยญาณก็เริ่มกำหนดรู้ เพราะสิ่งมันผุดรู้ขึ้นมา ญาณมันเริ่มผุดรู้ขึ้นมา รู้วาระจิตคนอื่น กำหนด ไม่ต้องกำหนดส่วนใหญ่เวลารู้มันมักจะผุดรู้ขึ้นมาเอง ไม่ต้องไปกำหนดด้วยซ้ำ อยู่ๆก็รู้ว่าคนอื่นคิดอะไรเวลาที่เรานิ่งเวลาที่เราเบาเวลาที่เราสงบจริง มันจะรู้ขึ้นมา
คราวนี้ต่อมา เมื่อตรงนี้มันเกิดขึ้น ญาณคุณธรรมพิเศษมันเกิดขึ้น อภิญญาจิต เจโตปริยญาณมันเกิดขึ้น ตัวสมาธิที่เราทำต่อมาก็คือ ในความนิ่งความหยุดในกำหนดตัวหยุดที่นิ่งที่หยุดที่เล็กที่สุด กำหนดให้เป็นลูกแก้ว กำหนดให้เป็นลูกแก้วสว่างมันก็เข้าสู่ภาคของการเข้าสมถะ ได้ฌาน 4 ได้ฌานจากการเจริญกสิณ ซึ่งการเจริญกสิณนั้น มันก็คือการที่เรากำหนดภาพ สมาธิเกิดขึ้นโดยการกำหนดภาพ แต่คราวนี้ความพิเศษของการกำหนดหรือการฝึกกสิณก็คือ กสิณเป็นบาทฐานของการได้อภิญญา กสิณธาตุเป็นบาทฐานที่ทำให้ได้อิทธิวิธี นะมะพะทะ แปลว่าดินน้ำลมไฟ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ภาวนาบริกรรมไปกำหนดลูกแก้ว ท่านอาจารย์ครูบาอาจารย์ที่ท่านสอน ก็เป็นความฉลาดที่ท่านสอนเช่นนี้ เพราะเราภาวนาไปแล้ว ดินน้ำลมไฟ ดินน้ำลมไฟ กำหนดลูกแก้วขึ้นมาหนึ่งลูก ภาวนาดินน้ำลมไฟ เมื่อไหร่ลูกแก้วเป็นปฏิภาคนิมิต นั่นก็แปลว่าดินน้ำลมไฟ กสิณธาตุทั้ง 4 เราก็สำเร็จไปเรียบร้อย โดยที่เราไม่รู้ตัวว่าได้ คราวนี้ครูบาอาจารย์ท่านฉลาด สอนย้ำเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ผูกเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง นึกลูกแก้วได้ นึกเป็นปฏิภาคนิมิตได้ เป็นปฏิภาคนิมิตนั่นก็คือฌาน 4 ของกสิณ ลูกแก้วใสคืออุคคหนิมิต คือเป็นฌานละ เป็นฌานของกสิณละ จิตตั้งมั่นนึกภาพตั้งมั่นได้จริงๆก็เริ่มเป็นฌาน พอเป็นลูกแก้วใสนี่ก็เป็นฌานสูงขึ้น เป็นก้อนดินเฉยๆก็เป็นฌาน ใสก็เป็นฌานสูงขึ้น พอเป็นปฏิภาคนิมิตคือเป็นเพชรระยิบระยับแพรวพราวสว่างพร่างพรายชัดเจน นั่นก็เริ่มความเป็นทิพย์ เริ่มสภาวะของการเกิดอภิญญาจิต ไม่ว่าจะก้าวข้ามไปสู่ การได้เตวิชโช คือวิชชา 3 หรือ ฉฬภิญโญคืออภิญญา 6 ก็ตาม อันนี้ก็คือเรื่องของเหตุผลของการที่เราปฏิบัติ
ดังนั้นจำไว้มันไล่มาตั้งแต่
ขั้น 1 การได้ฌานจากอานาปานสติ
ขั้น 2 คือการได้ฌานจากกสิณจิต กสิณจิตต้องทำให้ได้จนกระทั่งเป็นปฏิภาคนิมิต ทำจนรู้สึกได้ว่าสภาวะรายรอบร่างกายของเรามันพร่างพรายระยิบระยับ หรือเวลาที่เราถอดกายทิพย์ออกไปแล้ว มันพร่างพรายระยิบระยับ สภาวะเรารู้สึกได้ว่า ยิ่งจิตของเราเห็นลูกแก้วเป็นประกายพรึกระยิบระยับมากเท่าไหร่ กสิณจิต เรายิ่งรู้สึกว่าอารมณ์ใจเรายิ่งมีความสุขมากขึ้นเพียงนั้น คราวนี้เมื่อเราพิจารณาให้ดูให้ดี จิตที่เป็นปฏิภาคนิมิต จำไว้ว่าครูบาอาจารย์หลวงพ่อฤาษีท่านสอนว่า จิตเป็นเพชรประกายพรึกเมื่อไหร่ อารมณ์จิตสภาวะจิตขณะนั้นเราเทียบเท่ากับสภาวะอารมณ์จิตของพระอริยเจ้า คือสงบ สงัดจากกิเลสทั้งปวง มีความผ่องใส มีความเบิกบาน สะอาดเป็นจิตประภัสสร
ดังนั้นยิ่งเราทรงจิตเป็นประภัสสรมากเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ ใจเป็นสุขมากเท่าไหร่ นั่นก็คือจิตเราห่างจากกิเลสนานเท่านั้น มีกำลัง ชนะกิเลสได้มากเท่านั้นนานเท่านั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราควรจะต้องฝึกให้เกิดความทรงตัว ซึ่งการฝึกต่อมาในเรื่องของกสิณจิตก็คือ ต้องฝึกในการกำหนดทรงให้นาน ทรงสภาวะรู้สึก เห็น สัมผัส ความเป็นประกายพรึกของจิต ย่อเล็ก ขยายใหญ่ ย้ายซ้าย ขวา ขับเคลื่อนเลื่อนไปตามตำแหน่งต่างๆทั่วร่างกาย จะฝึกให้มันวิ่งไปทั่วร่างกายก็ดี จะฝึกให้เคลื่อนไปผ่องใสเป็นประกายพรึกไปทั่วทุกจักระทั้ง 7 ทั่วร่างก็ดี อันนี้เป็นเรื่องที่เราฝึกฝน ซึ่งจริงๆมันก็อยู่ในวิชชาของผู้ที่เขาฝึกในเรื่องของปราณก็ดี ฝึกในเรื่องของการฝึกจักระ เปิดจักระทั้งหลายก็ดี คนที่ได้กสิณจิตแล้วสามารถทรงอารมณ์จิต กำหนดดวงกสิณอยู่ตามตำแหน่งต่างๆของจักระทั้ง 7 ของตนได้ ทะลุในกายได้ เคลื่อนได้ โคจรให้กสิณนั้นเลื่อนโคจรตามแนวลมปราณ ตรงนี้ก็ถือว่าเราทะลุทะลวงจักระของตัวเองได้ละ ไม่ต้องไปพึ่งพาผู้อื่น ยิ่งกสิณของเรามันมีความชัดมากเท่าไหร่ มีสภาวะความอิ่ม ความสุขของอารมณ์ ความพร่างพราย ความเป็นประกายพรึกมากเท่าไหร่ ความเป็นทิพย์แรงอธิษฐาน ความปรารถนา
อธิษฐานจิตในขณะที่จิตเป็นเพชรประกายพรึก นั่นก็คือจิตเรากลายเป็นแก้วสารพัดนึก ยิ่งเราเชื่อมั่นในสภาวะที่จิตผ่องใส จิตเป็นทิพย์ จิตเป็นดวงแก้วสารพัดนึก และรู้ค่าจิตที่ผ่องใสเป็นประภัสสรนี้มากเท่าไหร่ พลังจิตเราก็ยิ่งเพาะบ่มสะสมบ่มตัวมากขึ้นเพียงนั้นไปด้วย ความก้าวหน้าในอภิญญาจิตเราก็สูงขึ้น ยิ่งเมื่อไหร่ที่เราผนวกองค์พระ คืออาราธนากำลังของพุทธคุณ พุทธานุสสติ อยู่ในพุทธนิมิตในองค์พระ กำลังของพุทธคุณ กำลังของพระพุทธเจ้าอันไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ ก็ยิ่งเพิ่มพูนกำลังของดวงจิตที่เป็นทิพย์ ที่เป็นเพชรประกายพรึกนั้น ให้มี พลานุภาพมีความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นมากขึ้นเพียงนั้นตามไปด้วย อันนี้คือเรื่องของการที่เราพัฒนาจิตในส่วนของสมถะให้สูงขึ้น มีผลที่เพิ่มศักยภาพของจิต จิตตานุภาพของจิต พลานุภาพของจิต
คราวนี้เมื่อจิตมันสามารถที่จะแผ่สว่างเป็นเพชรประกายพรึกได้ มีกำลังของพุทธคุณลงมา ในเมื่อจิตมันแผ่กำลัง แผ่ความผ่องใสออกมาได้ เราก็ชิงกำหนดใจของเรา เวลาที่แผ่กระแส แผ่แสงสว่างเส้นแสงแผ่สว่างออกมา เราก็ควบอารมณ์ของเราในการแผ่เมตตาออกมา พร้อมกับกระแสจิต กระแสความเป็นทิพย์ของเราออกไป แผ่ออกไปได้มากเท่าไหร่ ยิ่งเมตตามากเท่าไหร่ ยิ่งแบ่งปันมากเท่าไหร่ ยิ่งไม่ห่วง ไม่หวงในบุญในกุศล ในความดี ในความสุขมากเท่าไหร่ ยิ่งให้ได้มากเท่าไหร่ จิตตานุภาพในการแผ่เมตตาอันไม่มีประมาณของเราก็ยิ่งเพิ่มขึ้น จิตตานุภาพในการแผ่เมตตาอย่างไม่มีประมาณเพิ่มขึ้น ก็นำพาให้จิตเราเกิดรัศมีกายสว่างขึ้น จากเมื่อก่อนเราแผ่เมตตาไปได้ใกล้ๆ ได้แค่คนรอบตัว กลายเป็นว่าเส้นแสงรัศมีกาย กระแสแห่งการแผ่เมตตาของเรา กลับกลายเป็นแผ่ไปได้อย่างไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ มากกว่าบุคคลทั่วไปหรือดวงจิตสามัญทั่วไป ซึ่งอันที่จริงหากเราพิจารณาดู ผู้ที่สามารถแผ่เมตตาอย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ เข้าไปหลายภพหลายภูมิได้ จริงๆเป็นวิสัยของบุคคลที่เข้าถึงในระดับพรหมที่เรียกว่าอาภัสราพรหม คือเป็นพรหมที่มีรัศมีจิตส่องสว่างอย่างไม่มีประมาณ เป็นประเภทที่ 1 ส่วนอีกวิสัยหนึ่ง ก็เป็นวิสัยของพระโพธิสัตว์ ที่ท่านเป็นพระมหาโพธิสัตว์ที่มีกำลังจิตกำลังใจเมตตาต่อมวลหมู่สรรพสัตว์อย่างไม่มีประมาณ จึงนำพาให้ท่านสามารถแผ่เมตตาอันไม่มีประมาณนี้ได้
ดังนั้นเมื่อใจของเรา จิตของเราพัฒนาขึ้นสูงขึ้น แผ่เมตตาอันไม่มีประมาณได้ ก็หมายความว่าเราละวางความห่วง ควมหวงในบุญ อคติที่เรามีกับบุคคลทั้งหลาย ฉันให้คนนี้ ฉันรักคนนี้ ฉันแผ่เมตตาให้คนนี้ คนนี้ฉันไม่ชอบ คนนี้ฉันชังฉันไม่ให้ ฉันไม่แผ่เมตตา ใจเราก็ก้าวข้ามพ้นอคติความยึดมั่นถือมั่น ใจเราก็ก้าวขึ้นภูมิขึ้นสูงขึ้น ภูมิจิตภูมิธรรมเราก็สูงขึ้นปราณีตขึ้นละเอียดขึ้นไปตามลำดับ พอเราฝึกไปถึงขั้นนี้ อันนี้ก็คือเรื่องของพรหม อันนี้ก็คือเรื่องของกำลังจิต อันนี้ยังอยู่ในเรื่องของสมถะ แต่พอถึงอีกขั้นหนึ่งในของสมถะ จำไว้ว่าสมถะสูงขึ้น คือได้ทั้งฌาน ได้ทั้งกสิณจิต ได้ทั้งเมตตาจิต คือพรหมวิหาร คราวนี้อีกขั้นหนึ่งก็คือเรื่อง ของสมถะที่สูงกว่าการแผ่เมตตา ที่เป็นตัวกำลังจริงๆของตัวสมถะก็คือ อรูปพรหม อรูปฌาน พอกำหนดจิต เห็นดวงจิตสว่างอย่างไม่มีประมาณ กำหนดสว่างจนสลายล้างรูป รูปทั้งปวง วัตถุทั้งปวง โลกจักรวาล ทุกสรรพสิ่งสลายโล่งว่าง สลายหายไปจนหมด จิตปล่อยวางไม่ยึดติด ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดวัตถุใด โลกจักรวาล กาลเวลา ความทรงจำ สัญญา สิ่งที่กระทบทางอายตนะทั้งปวง ทุกสิ่งกลายเป็นความว่าง เวิ้งว้างว่างเปล่า ว่างเบาไร้ภาระทั้งปวง อวิชชาทั้งปวงสลายไป รูปวัตถุทั้งหลายสลายไป สัญญาความจำ ความโกรธ ความแค้น ความอาฆาต ความรัก ความหลงสลายไปจนหมด กลายเป็นความว่างอย่างไม่มีประมาณ เกิดสภาวะความเป็นอนันตกาล ขาวโล่งว่าง ไม่มีขอบ ไม่มีผนัง ไม่มีเพดาน ไม่มีพื้น จิตเราว่าง อันนี้ก็คืออารมณ์ของอรูป
ซึ่งเมื่อไหร่ที่เข้าในสภาวะลึกมากๆ หากไม่เข้าใจในเรื่องของพระนิพพานมาก่อน ก็เป็นเรื่องที่อาจจะทำให้หลง คือเกิดอวิชชาที่เรียกว่า อรูปราคะอันเป็นสังโยชน์ข้อที่ 7 พาให้หลงคิดว่าอรูปนี้คือพระนิพพาน กิเลสหมดแล้ว สิ้นแล้ว จิตไม่ยึดไม่ถือ อันนี้ก็ยังไม่ใช่ ให้เรากำหนดรู้ว่า เราใช้กำลังของอรูป เพื่อเป็นจิตตานุภาพ เป็นกำลังในการปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน ซึ่งเมื่อไหร่กำลังของอรูปเราฝึกเข้าถึง ถึงแม้ว่าจะเป็นฆราวาส ถึงแม้ว่ายังอารมณ์ไม่เข้าถึงมรรคผล แม้ว่าอารมณ์ยังไม่เข้าถึงความเป็นพระโสดาปัตติผลก็ตาม แต่เมื่อไหร่อารมณ์ใจเราเข้าสู่อรูปได้ จิตพิจารณาทรงสภาวะในอรูปได้ จะอรูปกองใดกองหนึ่ง อภิญญาจิตในสายของปฏิสัมภิทาญาณก็เริ่มปรากฏขึ้น ปัญญาญาณต่างๆที่ลึกซึ้งก็เริ่มปรากฏขึ้น อันนี้เป็นเรื่องที่มันเกิดขึ้น
ซึ่งอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ได้ว่า ในอรูปนี้ เราล้าง ล้างสัญญาความทรงจำ ล้างข้อมูลขยะในจิต พอเราล้างจิตของเรา เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่เราล้างข้อมูล ขยะล้างข้อมูลที่เราไม่ได้ใช้ ข้อมูลที่มันไม่มีประโยชน์ การประมวลผลของสมอง การประมวลผลของจิต ศักยภาพของจิตมันไม่ถูกหน่วง ความหน่วงของจิตมันเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง ถ้าพูดเป็นภาษาดิจิตอลก็บอกว่ามันเกิดจิตเตอร์ เกิดแหล็ก จิตมันจะเคลื่อน มันจะพุ่ง มันจะมีความคล่องตัวไปอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีความหน่วงของจิต ความหน่วงของจิตเกิดขึ้นเพราะ หนึ่งจิตเรามีความกังวลมาก จิตเรามีความวุ่นวายมาก จิตเรามีนิวรณ์มาก จิตเราเกาะร่างกายมาก จิตเรายึดในสัญญาความจำ ติดภาระรุงรังผูกพันเส้นใยของกรรมความทรงจำทั้งหลาย หน่วงเหนี่ยวให้จิตเคลื่อนตัวได้ช้า
ให้เราฝึกให้เราสังเกตไว้ เมื่อไหร่วันไหนเราฝึกเจริญจิต ใช้กำลังเข้าถึงอรูปสมาบัติ แล้วยกจิตไปพระนิพพาน หรือยกจิตขึ้นสู่การใช้มโนมยิทธิ เราจะรู้สึกได้ว่ากายทิพย์เราเร็ว เรามีความคล่องตัว แต่เมื่อไหร่ จำไว้หรือทบทวนอารมณ์เก่าที่เราเคยเป็น เวลาที่เมื่อก่อนเราตัดร่างกายไม่ดี เจริญพิจารณาวิปัสสนาญาณตัดขันธ์ 5 ไม่ดี ธรรมไม่ละเอียดยังห่วงร่างกาย ห่วงอาการทางกาย ยังห่วงเต้น ห่วงสัตว์ คือห่วงว่าร่างกายจะเต้นอย่างไร มันจะเอียงยังไง จะสั่นยังไง ยิ่งห่วงกายมาก ห่วงว่าจะกลับร่างไม่ได้ เราจะสังเกตว่ากายทิพย์ อาทิสมานกาย กายพระวิสุทธิเทพของเรา มันจะมีความหนืด มันจะมีความหน่วง มันจะขยับเขยื้อน มันจะไปได้ช้า คนอื่นเขาปู๊ดป๊าดไปกราบพระเรียบร้อย สว่างนั่งอยู่บนแท่นของตัวเอง สว่างเจิดจ้า แล้วของเรายังมืดๆมัวๆทึมๆอยู่ อันนี้ก็เป็นเรื่องของความหนืดของจิต สิ่งที่เหนี่ยวรั้งจิตเรา จิตเรายิ่งตัดวางร่างกายได้มากเท่าไหร่ แยกร่างกาย แยกกาย แยกจิตได้มากเท่าไหร่ ความคล่องตัวการใช้จิตตานุภาพ การใช้กายทิพย์ พลังกายทิพย์ การใช้กำลังแห่งมโนมยิทธิยิ่งเกิดขึ้นเต็มกำลัง
เมื่อเราปฏิบัติไปถึงขั้นนี้ จงฉลาดจงเข้าใจด้วยว่า การที่เราได้มโนมยิทธิ นั่นคือเราสำเร็จในวิชากายทิพย์ไปด้วยในตัว มโนมยิทธิก็คือการที่เรามีฤทธิ์ทางใจ ใช้กายภายในก็คือกายทิพย์ไปในภพต่างๆภูมิต่างๆ ระลึกชาติย้อนเวลาข้ามมิติเวลา ข้ามดวงดาว ข้ามกาแล็กซี่ ใช้กายทิพย์ไปยังภพภูมิ ภพพญานาค ไปยังสวรรค์ ไปยังพรหม ไปยังพระนิพพาน นั่นก็คือเราไปด้วยอะไร ไปด้วยกายทิพย์ ดังนั้นก็บอกเลยว่าจริงๆเราสำเร็จวิชากายทิพย์ไปด้วยในตัว เพียงแต่ถ้าพูดถึงวิชากายทิพย์ กายทิพย์จะมีพลังมากเท่าไหร่ ก็ด้วยรัศมีกายสว่างมากเท่านั้น มีความผ่องใส มีความสุขมากเท่าไหร่ กายทิพย์ยิ่งมีพลังมากเท่านั้น ดังนั้นจิตเรายิ่งสว่าง ยิ่งผ่องใส ยิ่งสะอาดจากกิเลสมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความบริสุทธิ์วิมุติ ในอารมณ์พระนิพพานมากเท่าไหร่ กายทิพย์เรายิ่งมีกำลังทวีคูณมากเท่านั้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้นตอนนี้เราจะเริ่มเข้าใจทั้งหมด สมถะ เวลาที่เราเรียนในเมตตาสมาธิ เราเรียนตั้งแต่ต้นจนจบ เรียนตั้งแต่ต้นยันตาย ถ้าเราฝึกเทคนิคสำคัญตัวแรกได้ การไล่อารมณ์ การเดินจิต มันก็เป็นเรื่องง่าย จะเริ่มนั่งปุ๊บ ผ่อนคลายร่างกาย ตัดกายจนจิตฟึ่บ ฝึกตัดวางร่างกาย แยกรูปแยกนาม เข้าฌาน 4 จากการแค่วางร่างกาย แค่ผ่อนคลายปุ๊บ จิตเข้าฌาน 4 ทันที จิตเป็นเพชรประกายพรึก กสิณจิตเป็นประภัสสร มีภาพพระทันที จิตที่เป็นประภัสสร ค่อยๆก่อรูปเป็นกายพระวิสุทธิเทพ เป็นอาทิสมานกายทันที ยกจิตพุ่งจิตขึ้นไปบนพระนิพพานได้ทันที อันนี้เราอธิบายแบบรวบรัดสำหรับคนที่เข้าปฏิบัติได้อย่างคล่องตัว แต่ถามว่าเขาตัดเรื่องวิปัสสนาญาณไปไหม
อันที่จริงตั้งแต่ผ่อนคลายปล่อยวางนั่นก็คือตัดร่างกายไปตั้งแต่ต้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอย่างที่อาจารย์บอกเสมอ สมถะเป็นกำลังให้วิปัสสนา วิปัสสนาเป็นกำลังให้เกิดสมถะ ตัดร่างกายได้มากเท่าไหร่ จิตยิ่งเป็นฌานได้มากเท่านั้น ดังนั้นฝึกที่จะผ่อนคลาย ผ่อนคลายร่างกายปุ๊บ ทิ้งกายได้ทันที วิธีฝึกที่เร็วที่สุดง่ายที่สุด ก่อนนอนทุกคืน พอเข้าสู่ที่นอน นอนเข้าที่ ทิ้งกาย กำหนดว่ากายนี้ตาย ทิ้งกายเป็นมรณานุสติ ถ้าในเชิงโยคะก็บอกว่า ฝึกในท่าศพอาสนะ ผ่อนคลายทั่วกาย ทิ้งตายตัดกาย ตัดเป็นตัดตาย ตัดตายแยกเหลือจิต จิตแนบนิพพาน ยกจิตขึ้นไปนิพพานจบ ตัดว่างทุกอย่าง ตัดห่วงทุกอย่าง ฝึกเช่นนี้ทุกวันเป็นปกติ แต่ต้องกำหนดมั่นหมายในผล ว่าผ่อนคลายเมื่อไหร่ ทิ้งกายจนจิตเข้าฌาน ทิ้งความห่วงทั้งปวง ทิ้งภาระทั้งปวง ทิ้งลูกทิ้งหลาน กำหนดว่าเราทิ้งกายไปพระนิพพาน ฝึกจนรู้สึกได้ว่าเมื่อทิ้งกาย ผ่อนคลายร่างกาย จิตเข้าถึงฌาน 4 ได้เลย อันนี้ต้องทำ ถ้าทำได้ทุกคนแล้วจะยิ่งตระหนักถึงความลึกซึ้งของสิ่งที่อาจารย์สอน สำหรับวันนี้ก็ค่อนข้างจะรวบรัด เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วได้เวลาสี่ทุ่ม เราทิ้งกายเรียบร้อย
กำหนดจิต เห็นจิตเป็นเพชรประกายพรึก กำหนดพุ่งจิต อาทิสมานกายปรากฏเป็นกายพระวิสุทธิเทพ ขึ้นไปกราบพระพุทธองค์ ขึ้นไปกราบสมเด็จองค์ปฐม กราบทุกท่านบนพระนิพพาน กำหนดจิตว่านับแต่นี้ เรากราบพระพุทธองค์ ถึงพระพุทธองค์เสมอ น้อมจิตแผ่เมตตาลงมายังโลก ลงมายังจักรวาล ลงมายังสังสารวัฏ กระแสของพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ กระแสแห่งพระนิพพาน เชื่อมโยงส่งต่อถึงจิตเราเสมอ กระแสแห่งการปฏิบัติของเรา จิตเรายิ่งมีความก้าวหน้าในทั้งสมถะและวิปัสสนาญาณละเอียดขึ้นสูงขึ้น เข้าใจลึกซึ้งชัดเจนหยั่งลึกเข้าสู่การปฏิบัติที่ลึกซึ้งขึ้นเสมอ กรรมฐานทุกกองที่เคยได้ในกาลก่อน ขอจงมารวมตัวในจิตข้าพเจ้า อภิญญาสมาบัติทั้งหลาย สายบุญ สายทรัพย์ สายสมบัติ สายบารมีทั้งหลาย จงมารวมตัวในจิตของข้าพเจ้า ขอการปฏิบัติของข้าพเจ้าจงมุ่งรัดตัดตรงสู่มรรคผลพระนิพพาน ขอธรรมทั้งหลาย อันรวบรัดจงกระจ่างแจ้งในจิตของข้าพเจ้า
จากนั้นน้อมจิตกราบลาพระพุทธเจ้า กราบลาทุกท่านบนพระนิพพาน กำหนดว่านับแต่นี้เราจะฝึกฝนให้ทักษะในการปฏิบัติของเรา เพียงผ่อนคลายปล่อยวาง เราทิ้งกายตัดกาย ตัดตายได้พร้อมกัน คนอื่นเขาย็อกแย็ก เขาตั้งท่าเขายงโย่ยงหยกยังไงวุ่นวายยังไงปล่อยเขา เราวี๊บ ปล่อยวางผ่อนคลาย แล้ววี๊บจิตเข้าสู่สมาธิขั้นสูงได้ทันที ทุกอย่างอยู่ที่การฝึก ทุกอย่างอยู่ที่ความเข้าใจ จับแก่นเข้าใจลึกซึ้งได้ สมาธิก้าวหน้า การฝึกวิทยายุทธก็เหมือนกับการปฏิบัติจริง เข้าใจเคล็ดวิชา วิทยายุทธที่ลึกล้ำก้าวหน้า ก็สามารถเข้าถึงได้ในเวลารวดเร็ว สำหรับวันนี้เราก็กราบลาพระพร้อมกัน กำหนดจิตแผ่กระแสบุญกุศล การปฏิบัติของเรา เป็นการแผ่เมตตาเป็นพุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา พ่อแม่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณบูชา ปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพพาน
แผ่กระแสเมตตาจากการปฏิบัติ กระแสธรรม กระแสมรรคผล กระแสพระนิพพานลงมา นับตั้งแต่อรูปพรหมทั้งปวง พรหมโลกทั้ง 16 ชั้น สวรรค์ทั้ง 6 รุกขเทวดา ภุมมเทวดา มนุษย์และสัตว์ที่มีกายเนื้อขันธ์ 5 สังขาร กายหยาบจับต้องได้ ทั่วอนันตจักรวาล ภพภูมิเมืองบังบด ลับแล มิติทับซ้อน โอปปาติกะ สัมภเวสี ดวงจิตดวงวิญญาณทั้งหลาย เปรตอสุรกายทั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลายในนรกภูมิ ขอกระแสกุศลแผ่เมตตาไปอย่างไม่มีประมาณถึงทุกรูปทุกนามทุกท่าน ขอกระแสแห่งพระนิพพาน กระแสบุญศักดิ์สิทธิ์ จงน้อมลงมาถึงสถานปฏิบัติธรรม วัดวาอารามทุกแห่ง พระพุทธรูป พระมหาเจดีย์ พระบรมธาตุเจดีย์ พระบรมสารีริกธาตุพระพุทธรูป วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ตลอดจนกระแสธรรม ขอจงหลั่งไหลเป็นกระแสมรรค กระแสผล กระแสธรรม กระแสสัมมาทิฏฐิ กระแสธรรมปฏิบัติตรง จงหลั่งไหลลงมาสู่สาธุชนพุทธบริษัท 4 กระแสธารแห่งธรรม จงหลั่งไหลลงมาก่อเกิดให้ยุคแห่งชาววิไล ยุคแห่งการเข้าใจบรรลุธรรมจงปรากฏขึ้น จากนั้นกำหนดจิตของเรานิ่งหยุดอธิษฐาน กำหนดว่าจิตเราเจริญทั้งกรรมฐาน ฌาน 4 กสิณจิต อรูปฌาน พุทธานุสติ อารมณ์พระนิพพาน จิตที่อธิษฐานหลังกรรมฐาน มีพลังความเข้มแข็งความศักดิ์สิทธิ์ อธิษฐานจิตตามวาสนาบารมีตามนิสัย
จากนั้นจึงน้อมจิตโมทนาสาธุกับเพื่อนๆกัลยาณมิตรที่ปฏิบัติธรรมด้วยทุกคน เพื่อนที่มาฟัง ที่มาปฏิบัติธรรมในภายหลัง ขอให้ได้ผลอานิสงส์ เกิดปัญญาญาณความเข้าใจ จนปฏิบัติให้เกิดผล ให้กระจ่างกับใจของตน ปฏิบัติจนเกิดผลชัดเจน ปฏิบัติจนเข้าถึงมรรคผลพระนิพพานกันได้ทุกคนทุกท่านด้วยเทอญ ขอพรจากพระ ขอพรจากพระพุทธองค์ ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จงประสิทธิ์ประสาท จิตผ่องใสสว่าง จากนั้นจึงค่อยๆหายใจเข้าลึกๆช้าๆ ภาวนาพุทออกโธ ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ ตั้งจิตตั้งกำลังใจว่าเราจะปฏิบัติสม่ำเสมอทุกวันไม่ขาด ปฏิบัติทุกครั้งที่มีการสอน ยิ่งเข้าใจยิ่งลึกซึ้งยิ่งก้าวหน้าขึ้นในทุกวัน การปฏิบัติธรรมง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น จับหลักได้มากขึ้นในทุกครั้งที่ปฏิบัติ
สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนากับทุกคนให้มีความเจริญก้าวหน้า ให้มีความคล่องตัว สามารถเข้าถึงการเข้าสู่อารมณ์ฌานขั้นสูงเพียงแค่ผ่อนคลายปล่อยวางทิ้งกาย ทิ้ง ตัดเป็นตัดตาย ได้กันทุกคน สำหรับวันนี้สวัสดีครับ
ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณวรรณภา