green and brown plant on water

กสิณ

เวลาอ่าน : 5 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน”  

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม  2565

เรื่อง กสิณ

 โดย อาจารย์ คณานันท์  ทวีโภค

สวัสดีนะครับทุกท่าน กำหนดจิต ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ทั่วร่างกาย ผ่อนคลายร่างกายทุกส่วน ปล่อยวาง ทั้งในความรู้สึกที่เกี่ยวพันกับร่างกายทั้งหมด และในความรู้สึก ความคิด การปรุงต่างๆ ความวุ่นวายใจ ผ่อนคลายและปล่อยวางทุกเรื่องราว จนจิตของเราอยู่กับความสงบ อยู่กับลมหายใจสบายๆ กำหนดความรู้สึก จินตภาพว่าลมหายใจของเรา เป็นเหมือนกับแพรไหมพริ้วผ่านเข้าออก ภายในและภายนอกร่างกาย อยู่กับลมหายใจ อยู่กับความรู้สึก ปลอดโปร่งโล่งละเอียดเบาสบาย ลมหายใจพร้อมกับอารมณ์ใจที่เบา ความเบา ความละเอียด จดจำอารมณ์กรรมฐาน พิจารณาไว้เสมอ ว่ายิ่งเบา ยิ่งปล่อยวาง อารมณ์ที่เพ่ง อารมณ์ที่เครียด อารมณ์ที่หนัก ยิ่งหนักคืออารมณ์เรามีความเผลอยึด ไม่ว่าจะเป็นความยึดติดในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความพะวักพะวง กังวลในสิ่งต่างๆ แต่เมื่อไหร่ที่เรายิ่งปล่อยวางได้มากเท่าไหร่ อารมณ์จิตเรายิ่งเบาสบาย อารมณ์จิตยิ่งเบาสบาย ยิ่งเป็นสัญญาณ เครื่องหมายว่าจิตเราเข้าสู่สมาธิที่สูงขึ้น ลมหายใจเป็นสัญญาณของระดับสมาธิในอานาปานสติ ยิ่งลมหายใจมีความละเอียด มีความเบาลงมากเท่าไหร่ นั่นคือจิตเราเข้าถึงสมาธิที่ละเอียด ที่สูงขึ้นเพียงนั้น จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดก็คือฌาน 4 ในอานาปานสติ ลมหายใจสงบระงับหยุดนิ่ง หยุด สงบ เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขารมณ์ จิตหยุดจากการปรุงแต่ง กำหนดอยู่ในความหยุด ความนิ่ง ความสงบ มีสติรู้สึกพร้อมอยู่ แต่จิตวางเฉยจากสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นิ่ง สงบ เอิบอิ่ม จิตภายในยิ้มผ่องใส ในความนิ่ง มีความเอิบอิ่ม มีความสุข ให้จิตของเราได้พักอยู่กับความสงบ พักจากการปรุงแต่ง เข้าถึงความสุขของความสงบ ใจสบายเบา  ยิ่งปล่อยวางยิ่งเบา ยิ่งสงบยิ่งผ่องใส กำหนดรู้ในความสงบนั้น สติรู้ตื่นอยู่ กำหนดสติรู้ แต่ไม่ปรุงแต่ง ไม่ฟุ้ง ไม่ส่งออกนอก อยู่กับภายใน กำหนดรู้อยู่กับความนิ่ง ความหยุด ความสงบ ความตั้งมั่นของจิต

จากนั้นกำหนดต่อไป ให้เห็นกลางอกของเรา กลางจิตปรากฏเป็นดวงแก้วประกายพรึก ในเรื่องของการกำหนดนิมิต คือเห็นด้วยความรู้สึกของใจ การเห็นด้วยความรู้สึกของใจ ไม่ใช่เห็นด้วยตาที่เป็นตาเนื้อ แต่เป็นการกำหนดจินตภาพ นิมิตจริงๆก็คือการกำหนดจินตภาพ จินตภาพที่เราต้องนึกถึง การที่เราฝึกกสิณ นั่นก็คือดูภาพของกสิณกองใดกองหนึ่ง จากนั้นก็ลืมตาและหลับตาฝึก จนกระทั่งภาพนิมิตของกสิณ กลายเป็นภาพจำบันทึก ติดจิตติดใจ นึกถึงเมื่อไหร่ก็ปรากฏนึกถึงได้เสมอตลอดเวลา ดังนั้นการนึกถึงก็คือการจินตภาพ เพียงแต่จิตเราเกาะอยู่กับภาพที่เรานึก เกาะอยู่กับภาพที่เราจดจ่อ กสิณคืออุบายในการฝึกสมาธิเพื่อให้จิตจดจ่ออยู่กับภาพนิมิต คือภาพจำของจิต แต่ความพิเศษของกสิณก็คือ ในภาพจำของจิต ภาพกสิณที่ปรากฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 กองสำคัญคือกสิณธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีพลังอำนาจพิเศษ คือมีพลังของพ่อธาตุ แม่ธาตุ กำกับ เมื่อจิตของเรากำหนด จนเกิดสมาธิในระดับสูงขึ้น กำลังของอภิญญาก็จะเริ่มปรากฏ ด้วยกำลังอำนาจของกสิณ ไม่ว่าจะเป็นกสิณ ดิน น้ำ ลม หรือไฟ หรือแม้แต่กสิณกองอื่นที่อยู่ในกสิณธาตุทั้ง 4 ก็ดี ร

วมไปถึงกสิณทั้ง 10 กอง อันประกอบต่อเนื่องมาจากกสิณธาตุก็มี วรรณกสิณ ก็แปลว่ากสิณสี กสิณสีก็มีอีก 4 กอง สีขาว สีเหลืองหรือสีทอง นิลกสิณ สีดำหรือสีเขียวเข้ม แล้วก็กสิณสีแดง พอพ้นจากกสิณที่เป็นวรรณกสิณ ก็มีกสิณที่เป็นแสงสว่าง แสงสว่างก็ให้เรานึกถึงหลอดไฟที่มันสว่าง หรือเป็นช่องแสงที่มีแสงลอดลงมาเป็นลำแสง ส่วนกสิณกองสุดท้ายก็คือ กสิณที่เป็นความว่าง แต่ความว่างนี้ ไม่ใช่ความว่างอย่างอรูปฌาน แต่เป็นลักษณะของที่ว่างที่โล่งๆว่างๆ ดังนั้นจริงๆแล้วกสิณทั้ง 10 เป็นเรื่องง่าย มีอารมณ์เหมือนๆกัน เริ่มต้นเพียงแค่นึกภาพกสิณต้นก็คือ ดินก็นึกถึงภาพดิน น้ำก็นึกถึงภาพน้ำ ลมก็นึกถึงภาพลม ไฟก็นึกถึงภาพกองไฟ กสิณสีก็นึกถึงสีที่เป็นวง โดยปกติการกำหนดภาพก็ จะให้กำหนดเป็นภาพ 2 มิติก็คือภาพแบนๆ แต่ที่จริง ความสามารถของจิต การประมวลผลของจิต หากเราประมวลภาพของจิต คือจิตเราสามารถสร้างภาพเป็น 3 มิติได้ กำลังของจิตมันจะมีสูงมากกว่า 2 มิติ คำว่า 3 มิติก็คือให้นึกถึงว่าเป็นลูกแก้วทรงกลมเสมอ หรือเป็นก้อน เป็นกองกสิณที่เป็นทรงกลมเสมอ ไม่ใช่เพียงแค่แบนๆ นึกถึงแล้ว ในกองกสิณรวมๆ ง่ายที่สุดก็คือให้นึกถึงลูกแก้วใสๆ ลูกแก้วหินควอตซ์ใสๆ ลูกแก้วที่เป็นใสๆ ถ้าใจเรานึกถึงเห็นความใสอย่างยิ่ง ใสบริสุทธิ์อย่างยิ่งได้ ตรงจุดนี้ก็ถือว่าเป็นอุคหนิมิต จิตรวมตัวจนเกิดความใสความนิ่ง

ต่อมาก็คือการกำหนดให้เห็นภาพของกสิณนั้น เป็นปฏิภาคนิมิต คำว่าปฏิภาคนิมิตนั้น ถือว่าเป็นฌาน 4 ของกสิณเมื่อเปรียบเทียบกับอานาปานสติ อารมณ์ของอานาปานสติก็คือจิตหยุดนิ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเบกขารมณ์ ลมหายใจดับ คือมันไม่หายใจ มันไม่อยากหายใจ มันนิ่งมันหยุดของมัน ภาษาปฏิบัติเรียกว่าลมหายใจสงบระงับลง จิตเข้าถึงอุเบกขารมณ์ เข้าถึงเอกัคคตารมณ์ คือในสภาวะความนิ่งหยุดของลม กลายเป็นความตั้งมั่นของจิต นิ่งหยุด จากนั้นจริงๆถ้าจะฝึกต่อให้เร็ว ก็คือในความนิ่ง ความหยุด ปรากฏขึ้นมาเป็นดวงแก้ว ดวงแก้วจากใสก็คืออุคหนิมิต กำหนดต่อไปให้เป็นปฏิภาคนิมิต ก็คือเปลี่ยน นึกภาพให้กลายเป็นเพชรระยิบระยับ ภาพที่เป็นเพชรระยิบระยับ ยิ่งเป็นเพชรสว่างมากเท่าไหร่ มีรัศมี มีเส้นแสงรัศมีรุ้งพุ่งออกไปโดยรอบ  360° เส้นรัศมีของจิต ตรงนี้ก็มีความสำคัญ ยิ่งกำหนดชัดเจนสว่างไกลได้มากเท่าไหร่ ก็มีผลกับรัศมีของกายทิพย์ คราวนี้สภาวะโดยรอบอาณาเขตที่เราฝึก ในการทรงกสิณที่เป็นปฏิภาคนิมิต ถ้าเห็นสภาวะที่รายรอบร่างกายของเรา มันมีความสว่างระยิบระยับเป็นกากเพชรแพรวพราวระยิบระยับรายล้อมรอบด้วย อันนี้ก็เรียกว่าสภาวะความเป็นทิพย์ของจิต ที่มีขอบเขตรัศมี หากเรากำหนดในอารมณ์เห็น กำหนดทรงอารมณ์ในนิมิตของกสิณได้ชัดเจนเป็นปฏิภาคนิมิต พร้อมกับสภาวะความเป็นทิพย์ อันนี้จิตมันก็จะเริ่มทรงในเรื่องของอภิญญา มีกำลังของอภิญญาปรากฏขึ้น

เมื่อกำหนดทรงอารมณ์ไว้ กำหนดใจพิจารณาเสมอ เมื่อไรที่กำหนดเห็นจิตของเราเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง ที่หลวงพ่อฤาษีท่านสอน ท่านก็สอนว่าถ้าจิตเป็นประกายพรึกสว่างนั้น แปลว่าจิตเราทรงอยู่ในอารมณ์ของพระอริยเจ้า คือว่าจิตมันมีความแพรวพราวสว่างไสว พิจารณาแล้วก็ทรงอารมณ์ไว้ พิจารณาดูจิต ดูจิตของเราเองนี่แหละว่า ในขณะที่เราทรงอารมณ์ ความแพรวพราว ความผ่องใสความสุข ความเอิบอิ่มของจิต มันปรากฏ ยิ่งเห็นจิตมีความเป็นเพชรแพรวพราวมากเท่าไหร่ อารมณ์ใจของเรายิ่งเอิบอิ่ม ยิ่งเป็นสุขมากขึ้นเพียงนั้น อันนี้เรียกว่าอารมณ์กรรมฐาน อารมณ์ใจของเราในขณะที่ทรงสมาธิในแต่ละกองกรรมฐานในแต่ละกอง กำหนดให้เห็นจิตของเราแพรวพราวสว่าง ทรงอารมณ์ไว้ กำหนดไว้ คราวนี้ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของการฝึกกสิณก็คือ อารมณ์ที่เราฝึก เราฝึกเพื่อให้มีจิตตานุภาพ อยู่เหนือกสิณ จิตตานุภาพที่เพิ่มพูนขึ้น อยู่เหนือกองกสิณนั้น ฝึกไป ทำไป เพื่อให้เรามีจิตตานุภาพของอภิญญา การฝึกให้เรามีจิตตานุภาพอยู่เหนือกสิณก็คือ เราเป็นผู้ควบคุมนิมิต เราเป็นผู้ควบคุมกองกสิณ เราเป็นผู้ควบคุมกองแห่งกสิณ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งปวง การควบคุมบังคับกองกสิณก็คือ เราสามารถเคลื่อนย้ายกองกสิณไปได้  เคลื่อนย้ายไปทางซ้ายก็ได้ ไปทางขวาก็ได้ เคลื่อนกองกสิณให้อยู่ภายในร่างกายของเราในจุดไหนก็ได้ ให้อยู่ที่ใจกลางฝ่ามือทั้งสองข้าง แยกกองกสิณ 2 กองแตกต่างกองกันก็ได้ เคลื่อนกองกสิณย้ายไปตามจักระทั้ง 7 ก็ทำได้

การกำหนดกองกสิณเป็นดวงแก้วเพชรประกายพรึก เมื่อเคลื่อนย้ายได้ดั่งใจนึก ขยายใหญ่ ย่อให้เล็ก เล็กที่สุดเท่ากับปลายของเข็มหมุด ปลายแหลมที่สุดของเข็มหมุด ใหญ่จนกระทั่งดวงกสิณนั้นคลุมโลก คลุมจักรวาลก็ทำได้ กำลังจิตของเราสามารถกำหนดภาพของกสิณได้ดั่งใจนึก กำหนดกำลังของกสิณได้ดั่งใจ มีอารมณ์ความสุข ความสนุก ความสว่าง ความเบิกบานรื่นเริงใจในการฝึกกสิณ การฝึกกสิณถึงมีชื่อเรียกว่าเป็นกีฬาสมาบัติ เป็นกีฬาของจิตที่ใช้ฝึกฝนตบะ ดังนั้นการฝึกสมาธิจริงๆไม่จำเป็นต้องนิ่ง ต้องหยุดเพียงอย่างเดียว การฝึกกสิณนั้น ตราบที่เรายังเห็นภาพกสิณปรากฏขึ้นในใจของเรา เคลื่อนย้ายไปมา โยกซ้าย โยกขวา หมุนให้วนรอบกายของเรา หมุนให้อยู่เหนือศีรษะ หมุนให้กลายเป็นเรานั่งอยู่บนดวงกสิณ

พอฝึกไปได้ถึงขั้นหนึ่ง ความเป็นทิพย์ของกสิณ เราเอาธาตุรู้ของจิตเรา เข้าไปรู้อยู่ที่ดวงกสิณ เวลาที่เคลื่อนย้ายดวงกสิณวนรอบกายของเรา ก็เหมือนมีธาตุรู้ เห็นภาพเหมือนมีกล้อง 360 องศา เคลื่อนวนอยู่รอบกายของเรา ตรงนี้ก็เป็นการฝึก เป็นปกติ เป็นเรื่องธรรมดา แต่ความคล่องตัวของการที่เราฝึกก็คือ ฝึกการเคลื่อนไหวของกองกสิณอย่างต่อเนื่อง ฝึกให้นิ่ง ให้หยุดอยู่กับกองกสิณ ฝึกในการเคลื่อนไหว ในการย่อเล็ก ขยายใหญ่ ฝึกในการเปลี่ยนกองกสิณ เป็นกสิณจากดิน เป็นน้ำจากน้ำ เป็นไฟจากไฟ เป็นสีแดง สีแดงกลายเป็นแสงสว่าง ฝึกจนกระทั่งมีความคล่องตัวทั้งหมด อันนี้ก็เป็นเรื่องของการฝึกในส่วนของพื้นฐาน ซึ่งถ้าใครมีความเพลิดเพลินถูกจริต มีความคล่องตัว กสิณที่เราฝึกนั้นก็จะเป็นบาทฐาน เป็นกำลังของอภิญญาสมาบัติที่สำคัญ คราวนี้เมื่อไหร่ก็ตามที่การฝึกเอาแค่ภาพกสิณที่เป็นเพชรประกายพรึกชัดเจนสว่าง คราวนี้ต่อเนื่องมาควบกองกสิณ การควบกองกสิณก็ได้แก่ การที่เราเปลี่ยนมากำหนดจากดวงแก้วกลมเป็นเพชรใสกลายเป็นภาพองค์พระ ก็เรียกว่าควบกองพุทธานุสติกรรมฐาน ควบกับอโลกสิณ อันนี้ก็ให้กำหนด กำหนดเห็นเป็นพระพุทธรูปเป็นเพชรสว่าง มีรัศมี มีแสงสว่าง อันที่จริงมันควบกองสูงขึ้นไปได้อีก ควบกองสูงอีกทำยังไง ก็คือกำหนดว่าเมื่อไหร่ที่จิตเราเห็นภาพพระพุทธรูปพุทธนิมิตในจิต เป็นเพชรสว่าง จิตเราถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน นั่นก็คือเราควบอารมณ์พระนิพพาน

กำหนดจิตต่อไปว่าแสงสว่างฉัพพรรณรังสีของภาพพุทธนิมิตของพระพุทธองค์ที่ปรากฏในจิต มีกระแสแห่งพระพุทธเมตตาแผ่ออกไปโดยรอบ หากเรากำหนดเช่นนี้ ก็เป็นการควบเมตตากรรมฐาน มีการเจริญพรหมวิหาร 4 มีการเจริญเมตตาไปพร้อมกับภาพฉัพพรรณรังสี กระแสพุทธบารมีของพระพุทธองค์ ดังนั้นการที่จิตเราทรงภาพพระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงภาพพระตั้งแต่ฐาน 1 ก็คือ กำหนดน้อมนึกภาพองค์พระอยู่เหนือกระหม่อม อยู่เหนือเศียรเกล้าของเรา อยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็ถือว่าเป็นการทรงภาพพระ 1 ฐาน หากทรงภาพพระ 3 ฐานก็มีภาพพระ คือมีพระพุทธองค์อยู่เหนือเศียรเกล้าบนกระหม่อม ภายในศีรษะองค์ที่ 2  ในอกในกายของเราเป็นองค์ที่ 3 กำหนดมีรัศมีแผ่คุ้มครองตลอดเวลา อันนี้ก็ถือว่ากำลังของเรามีกำลังพุทธคุณคุ้มครอง ท่านคลุมทั้ง 3 ฐาน นั่นก็คือเรามีกำลังพุทธานุภาพ มีกำลังพุทธานุสติคอยคุ้มครองรักษาเราอยู่

คราวนี้ให้เรากำหนดจิต เห็นภาพองค์พระทั้ง 3 ฐานชัดเจน นิ่ง สงบ อยู่กับภาพพระที่เป็นเพชรสว่าง จิตมีศรัทธาความเชื่อมั่นเต็มร้อย ว่ากระแสพุทธบารมีของพระพุทธองค์ ลงมาสถิตเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธนิมิตในจิตของเรากระแสจากพระนิพพาน กระแสกำลังพุทธานุภาพของพระพุทธองค์ ลงมาถึงกายของเรา ทรงอารมณ์จิตนี้ไว้ จากนั้นกำหนดจิตอธิษฐาน  ขออาราธนาบารมีพระพุทธองค์ น้อมนำฉัพพรรณรังสีรวมทั้งกระแสบุญศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย จากพระนิพพานลงมายังกายเนื้อ ลงมายังบ้านเรือนเคหสถาน ลงมายังบุคคลที่เป็นญาติทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นกัลยาณชน บุคคลที่เป็นที่รักของเรา ขอกระแสแห่งพุทธานุภาพคุ้มครองเราจากภัยพิบัติ จากศึกสงคราม จากรังสี จากภยันอันตราย โรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ศึกสงคราม กัมมันตภาพรังสีทั้งปวง ขอกระแสบุญแผ่สว่าง จนรู้สึกว่าบ้านเรือนเคหะสถานของเรา มีประกายระยิบระยับแพรวพราวพร่างพรายรายรอบอยู่ รอบกายของเรา รอบกายบุคคลที่เรารักที่เราห่วงใย มีแสงสว่างกากเพชรโปรยปรายพร่างพราย ความเป็นทิพย์ลงมา กำหนดทรงอารมณ์นี้ไว้ น้อมใจพิจารณาอธิษฐาน ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่การแห่งบุญใหญ่ คือบุญแห่งกฐินทาน ทุกกองกฐินที่เราได้ร่วมบุญร่วมจิต ขอกระแสบุญนี้จงส่งผลทันใจ บุญจงมารักษาคุ้มครอง บุญจงนำพาให้มีแต่ความคล่องตัว กำหนดจิตให้มีแต่ความสว่างไสว จากนั้นกำหนดพิจารณาในวิปัสสนาญาณต่อนะ พิจารณาดูร่างกายของเรา องค์พระที่คลุมทั้ง 3 ฐาน ทะลุมองเห็นร่างกาย เหมือนกายที่เป็นกายเนื้อนั้น มองทะลุเห็นโครงกระดูก เห็นอวัยวะภายในทั้งหมด พิจารณาด้วยใจที่เป็นอุเบกขา ใจที่ไม่ทุกข์ ไม่กลัว พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง ว่าสังขารร่างกายมันก็เป็นเช่นนี้

พิจารณาต่อไป ว่าแท้ที่จริงแล้ว เราไม่ใช่ร่างกายเนื้อขันธ์ 5  ขันธ์ 5 เป็นเพียงแต่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณาให้เห็นขันธ์ 5 เป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อธิษฐานในอาการ 32 แยกกองออกมา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กระดูก ส่วนที่เป็นของแข็งกองอยู่ ส่วนนี้ถือว่าเป็นธาตุดิน แยกอาการ 32 ธาตุน้ำ เนืองนองอยู่ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ปัสสาวะ น้ำลาย กองนองเนืองอยู่ เป็นธาตุน้ำ พิจารณาต่อไปในธาตุของลม ธาตุของลม กองลม ลมหายใจ ลมหายใจทั้งหลาย ลมภายในกาย ลมที่พัดอยู่ภายนอก กำหนดอยู่ภายนอกเป็นกองของลม กองของไฟคือไฟที่ก่อให้เกิดความร้อนเผาผลาญในร่างกาย กำหนดเป็นกองของไฟ พิจารณาว่าขันธ์ 5 ของเรา แยกในอาการ 32  อาการ 32 แยกกองเป็นจตุธาตุววัตคือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ พิจารณาว่าไอ้อาการ 32 กองผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ทั้งหลาย อวัยวะทั้งหลาย ดังที่กล่าวมานั้น ทั้งหมดนั้น มันเป็นกายของเราไหม ผมที่ตัดมาจากศีรษะไปแล้ว เมื่อหลุดร่วงจากกาย มันก็ไม่ใช่กายของเรา น้ำลายที่เราบ้วนออกจากปาก พอพ้นออกจากปาก จะให้เราหยิบตัก มากลืนกินอีกครั้ง บอกว่ามันก็เป็นของในกายมันใช่หรือไม่ อุจจาระ ปัสสาวะ เราขับถ่ายออกมาจากกายแล้ว เรามองว่าเป็นของสกปรก ให้หยิบมาทา มาฉาบผิว เราก็รู้สึกว่าเป็นของที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง

พิจารณาว่าที่เราพิจารณาว่าสิ่งต่างๆ มูตร คูถ อุจจาระ ปัสสาวะ ที่มองว่าเป็นของน่ารังเกียจ อันที่จริงมันมาจากร่างกายของเราหรือไม่ น้ำลาย น้ำมูก ขี้หู ขี้ตา ขี้ไคล อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อ ทุกสิ่งที่มันเป็นของสกปรกล้วนออกมาจากทวารทั้ง 5 พิจารณาดูว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ พอออกมาแล้ว เรารู้สึกพอใจหรือเรารู้สึกว่าเรารังเกียจ พิจารณาปล่อยวาง จากความเกาะ ความยึดทั้งปวง พิจารณาให้เห็นจริง ว่าเราไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ 5 เราไม่มีในร่างกาย ขันธ์ 5 นั้นเมื่อมาประชุมรวมตัว มาประกอบเป็นร่างกาย จิตมาอาศัยกายนี้อยู่เพียงชั่วคราว มาอาศัยอยู่ตามสมมุติ ทรัพย์สินทั้งหลาย สมบัติทั้งหลาย อันที่จริงก็เป็นของของโลก ยศ ตำแหน่งทั้งหลายก็เป็นของสมมุติ ญาติคนรักทั้งหลายก็เป็นสิ่งที่สมมุติ แม้แต่นามของเรา ชื่อของเราก็เป็นสิ่งสมมุติ  หน้าที่การงาน หัวโขน ตำแหน่ง ก็เป็นแค่สิ่งสมมุติ

พิจารณาต่อไปจนถึงความตายว่า หากเราตายไปแล้ว เราก็สิ้นจากสมมุตินี้ หากยังเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ถ้ายังเกิดเป็นมนุษย์ เราก็เปลี่ยนบท เปลี่ยนสมมุติ เปลี่ยนคนที่จะมาเป็นพ่อ แม่ เปลี่ยนคนที่จะมาเป็นสามี ภรรยา เปลี่ยนคนที่จะมาเป็นลูก เปลี่ยนหน้าที่  เปลี่ยนตำแหน่งทุกอย่าง ชาติที่แล้วเคยมาสูง  ก็อาจจะมาเกิดเป็นสามัญชน หรือชาตินี้เกิดมาเป็นสามัญชน อีกชาติอาจจะเกิดมาเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีก็เป็นไปได้ แต่ทุกสิ่งมันเป็นไปตามสมมุติ สมมุติที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากผลบุญที่เรากระทำ เหตุที่เรากระทำ หรือแม้แต่สิ่งที่เราอธิษฐาน ว่าจะลงมาทำ ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างนั้น หากพิจารณาโดยปรมัตถ์ ความจริงที่ถือว่าเป็นความจริงในเชิงปรมัตถ์ก็คือ เราไม่ใช่ร่างกาย ร่างกายไม่ใช่เรา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียงแค่สมมุติ ทุกอย่างมันมีการเปลี่ยนแปลง ผันแปรไปตามวาระ ตามกระแสของบุญของกรรม ตามเหตุที่เราทำมาในอดีต ภพชาติ วนเวียนอยู่กัน เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิทั้งหลาย ไม่มีที่สิ้นสุด พิจารณาจนจิตมองเห็นยอมรับตามความเป็นจริง ปล่อยวาง

เมื่อไหร่ที่เราปล่อยวาง ยอมรับตามความเป็นจริงได้ ความทุกข์มันก็จะถูกวาง จะเบาจากใจของเรา บางทีเรามาคิดว่า ทำไมเราถึงต้องลำบาก ทำไมเราคิดว่า ทำไมชีวิตของเราถึงต้องมาเจอกับอุปสรรค ทำไมชีวิตของเราจะต้องมาเจอกับคนที่เค้ามาเอารัดเอาเปรียบ จงพิจารณาไว้เสมอว่า หนึ่ง เป็นเหตุอันเกิดขึ้นจากกรรม  สอง เหตุที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่มีธรรมะอยู่ในทุกเรื่องราว ทุกเหตุการณ์ ในความยากลำบากของชีวิตที่ปรากฏขึ้น หากพิจารณาเป็นวิปัสสนาญาณ ความทุกข์ที่เราเห็นทำให้เราเห็นคุณของพระนิพพาน ทำให้เราเข็ด เบื่อกับการเวียนว่ายตายเกิด บางครั้งความสุขซะอีก ที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน ความหลงอยู่ในภพภูมิทั้งหลาย ความหลงหรือโมหะเมื่อเกิดขึ้น มันก็จะเกิดความคิดที่ว่า โอ้ยชาตินี้เรามีความสุข มีความสบาย เรามีทรัพย์สิน เรามีความคล่องตัว เราอยากได้อะไรเราก็ได้สมความปรารถนา เราอยากกินของอร่อยเราก็หาได้ ที่ไหนก็ได้ง่ายดาย พอความหลงมันเกิดขึ้น มันก็คิดหลงต่อไปว่า ชาติหน้าเราเกิดมา เราก็เป็นแบบนี้อีก เดี๋ยวเราก็สบายแบบนี้ เดี๋ยวเราก็มีความสุขแบบนี้ เดี๋ยวเราก็ได้ปรนเปรออยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้งหลาย ที่พอใจเช่นนี้ เงินทองที่มีอยู่แบบนี้ ชาติหน้าเราก็รวยแบบนี้เหมือนเดิม ตามที่จริงแล้ว ความไม่เที่ยงของภพ เกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่บังเอิญเราใช้บุญจนหมดแล้ว พอชาติต่อไปเริ่มเป็นวาระที่เราต้องใช้กรรม เกิดในชาติต่อไปถึงวาระ ช่วงเวลาที่กรรม ฝ่ายวิบากกรรมเริ่มให้ผลละ ค

ราวนี้มันยังไม่เป็นอย่างที่เราคิด บางคนบางท่าน อย่างหลวงพ่อท่านเคยเกิด เคยจุติลงมาเป็นกษัตริย์ พอในในชาติที่ท่านมาปฏิบัติเพื่อมรรคผล ท่านก็มาเกิดเป็นคนธรรมดาสามัญชน จนกระทั่งบวชเรียน ตัดกิเลส บรรลุอรหันต์ ครูบาอาจารย์หลายท่านก็เกิดมาในภพที่สูงมาก่อน เกิดมาอยู่ในความเป็นกษัตริย์กันหลายท่าน เมื่อไหร่ที่มาปฏิบัติเพื่อพระนิพพาน ท่านก็มาเกิดเป็นคนธรรมดาสามัญ เหตุผลเพราะว่าทำให้สามารถสละได้ง่าย เห็นทุกข์ได้ง่าย พิจารณาได้ง่าย ดังนั้นหากเราพิจารณาให้ดี จิตเราพิจารณายอมรับตามผลของกรรม หากมีความทุกข์มีวิบาก เมื่อไหร่ที่เห็นความเป็นธรรมดา เมื่อไหร่ที่เรายอมรับความเป็นจริง ความทุกข์ก็จะคลายลง เมื่อไหร่ที่เราวาง ความทุกข์ก็จะคลายลง

และพิจารณาให้เห็นต่อไปว่า ความทุกข์ที่ปรากฏนี้กลับเป็นกำลังใจให้เราเห็นคุณของพระนิพพาน ยิ่งมีกำลังใจในการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจาก การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ยิ่งขึ้น ก็เท่ากับเราสามารถเป็นผู้ที่มีปัญญา เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความพ้นทุกข์ เปลี่ยนวิบากอุปสรรคให้กลายเป็นบารมีและปัญญาในธรรม จงพิจารณาและปล่อยวาง ยอมรับตามความเป็นจริง ความทุกข์ที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลสูง วรรณะสูง หรือเป็นคนยากจนเข็ญใจ ก็ล้วนแต่มีความทุกข์ในแบบของตน ความทุกข์จริงๆที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นที่ไหน เกิดขึ้นที่จิต ความทุกข์ความยากลำบากทางกาย หากเราไม่รู้สึกว่ามันลำบาก ความทุกข์มันก็ไม่ปรากฏ หากเราวางให้ลง ปลงให้ได้ ความทุกข์มันก็เบาบาง ยิ่งวางได้มาก ความทุกข์ก็น้อยกว่าคนที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นสูง ดังนั้นจงฝึกที่จะผ่อนคลายพร้อมกับปล่อยวาง ผ่อนคลายพร้อมกับปล่อยวาง ทั้งวางในจิต ทั้งวางกาย

เมื่อกำหนดจนรู้สึกได้ชัดเจนแล้ว พิจารณาในธรรม พิจารณาตัดร่างกาย พิจารณาตัดรูปแล้ว ก็กำหนดตั้งจิต อาราธนาขอบารมีพระพุทธเจ้าทรงสงเคราะห์ ขอยกจิตอาทิสมานกายของข้าพเจ้า ขึ้นไปบนพระนิพพานด้วยเถิดพระพุทธเจ้าค่ะ พุ่งจิตของเราขึ้นไปอยู่เบื้องหน้าสมเด็จองค์ปฐมบนพระนิพพาน กำหนดน้อมให้เห็นอาทิสมานกายของเราเป็นกายพระวิสุทธิเทพสว่าง มีความสว่าง มีความเป็นเพชรแพรวพราว อารมณ์สำคัญในการทรงในมโนมยิทธิ ก็คือความรู้สึกของเรา มีความรู้สึกในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ ไม่มีความรู้สึก หรือมีความรู้สึกก็เบาบางที่สุด ในความรู้สึกเป็นกายเนื้อบนโลก รู้สึกเพียงแต่ว่าเราเป็นกายพระวิสุทธิเทพ มีเครื่องทรงของความเป็นพระวิสุทธิเทพ อยู่บนพระนิพพาน นั่งอยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอรหันต์ทุกๆพระองค์บนพระนิพพาน กำหนดในความรู้สึก ว่าเรานั่งกระโหย่งประนมมือ และกราบด้วยความนอบน้อม

จากนั้นพิจารณาในอารมณ์พระนิพพานต่อไป พิจารณาว่าพระนิพพาน ใจของเราเมื่อยกขึ้นมาบนพระนิพพานได้ ใจเราตัดความห่วงตัดขันธ์ 5 ตัดร่างกาย จิตของเราตัดภพภูมิ คือความสนใจ ความอาลัย ความยินดีในความเป็นมนุษย์ ในความเป็นเทวดา ในความเป็นพรหมไม่มีในจิตของเรา อารมณ์จิตเราพิจารณาดู ว่าเมื่อไหร่หากเราเข้าถึงซึ่งพระนิพพานอย่างแท้จริง คือตายจากร่างกาย จากขันธ์ 5 จากชีวิตในชาตินี้ เราเข้าถึงพระนิพพาน ตัดเข้าสู่อรหันตผล เข้าสู่พระนิพพานอย่างถาวรกรรมทั้งหลาย วิบากทั้งหลาย ไม่ส่งผลกับเราได้อีกต่อไป กิจทั้งหลายจบแล้ว สิ้นแล้ว วิบากกรรมทั้งหลายไม่อาจส่งผล ภพชาติ การเกิด การเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องมีกับเรา หนี้กรรมเก่าทั้งหลาย ที่เราตกค้างอยู่ วิบากกรรมที่มีต่อเจ้ากรรมนายเวร ที่เขามุ่งหวังจะจองเวรเรา ก็ไม่อาจจะมาจองเวรจองกรรม เพราะเราพ้นจากโลก พ้นจากวัฏสงสารไปเสียแล้ว ความห่วง ความกังวล ว่าเมื่อไหร่กรรมเก่าจะมาไล่ทันไม่มีในจิตของเรา ภาระทั้งหลายไม่มีในจิตของเรา จบกิจในพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง จิตของเราโปร่ง โล่งเบา ปราศจากความห่วง ความอาลัยในบุคคล ในภพ ใจปลอดโปร่งเป็นสุขอย่างยิ่ง เมื่อยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน ก็หมั่นที่จะต้องทบทวนอารมณ์พระนิพพาน นิพพานัง ปรมังสุขัง อารมณ์จิตเข้าถึงอารมณ์พระนิพพาน สว่าง ว่าง วางเบา วางจากทุกสรรพสิ่ง วางจากความทุกข์ วางจากความกังวลทั้งปวง จิตสว่างผ่องใส อาทิสมานกายของเราสว่างเป็นเพชร ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้วิมานบนพระนิพพานของเราปรากฏขึ้น วิมานบนพระนิพพานปรากฏชัดเจนสว่าง กำหนดพิจารณาว่า ตายเมื่อไหร่เราขอขึ้นมาอยู่บนพระนิพพานนี้ วิมานปรากฏ แม้บุญอันส่งผลให้เราไปจุติเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นมหาเศรษฐี บุญแห่งกฐินที่เราสร้าง ที่เราบำเพ็ญ ที่เราเป็นเจ้าภาพร่วม ที่เราอนุโมทนา ที่เราได้ทำบุญตลอดชีวิต มากกว่าร้อยกว่าพันกอง อานิสงส์มากมายมหาศาล แต่เราขออธิษฐานว่า บุญทั้งหลาย ทานทั้งหลาย ขอจงส่งผล ศีลทั้งหลายขอจงส่งผล กรรมฐานทั้งหลาย ขอจงส่งผลให้ข้าพเจ้าเข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบัน บุญจงรวมตัว กุศลจงรวมตัว บารมี 30 ทัศจงรวมตัว

กำหนดน้อมพิจารณาจนจิตอาทิสมานกาย กายพระวิสุทธิเทพเรายิ่งสว่างขึ้น จิตปราศจากความอาลัย ในบุคคลในภพทั้งปวง สังโยชน์ทั้งสิบขาดสะบั้นจากจิตของเรา ความโง่ไปหลงเกิด หลงเวียนว่ายตายเกิด หลงติดในสัญญา หลงติดในความอธิษฐาน หลงติดในภพในภูมิ หลงติดในสถานที่ สิ้นไปจากใจของเรา จิตเราจดจ่ออยู่กับพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น เราเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด ให้อภัย อโหสิกรรมกับทุกดวงจิต ดวงวิญญาณ ความเป็นเจ้ากรรมนายเวรไม่มีในจิตของเรา ความอาฆาตแค้นพยาบาทจองเวรไม่มีในจิตของเรา ความเกาะ ความหลง ในเบญจกามคุณ 5 ไม่มีในจิตของเรา ความติดในอารมณ์สุขแห่งฌาน คือรูปราคะ อารมณ์จิตที่ติด ที่หลงหรือสำคัญผิดว่าความว่างคือพระนิพพานไม่มีในจิตของเรา ที่เรียกว่าอรูปราคะขาดสะบั้นไปจนหมด ความหลง ความไม่รู้ อวิชชาทั้งหลาย สลายดับไปจากใจของเรา กำหนดน้อมว่าเมื่อเราอยู่บนพระนิพพาน เราตั้งจิตดับอวิชชาทั้งปวง เห็นคุณของพระนิพพาน ตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป แผ่เมตตาจากพระนิพพาน น้อมกระแสของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์บนพระนิพพาน น้อมกระแส รวมกระแส สานเชื่อมกระแส แผ่ลงมายังโลก แผ่เป็นเมตตาลงมายัง 3 ภพ 3 ภูมิ นับตั้งแต่ภพของอรูปพรหมทั้ง 4  ภพของพรหมโลกทั้ง 16 ชั้น มีท่านท้าวสหัมบดีพรหมเป็นประธาน ภพของสวรรค์ทั้ง 6 มีพระอินทร์ ท่านปู่ ท่านย่า ท้าวมหาราชทั้ง 4 ท่านอินทกะทั้งหลายเมตตาเป็นประธาน แผ่เมตตาลงมายังภพของรุกขเทวดา ภุมมเทวดาทั่วโลก ทั่วอนันตจักรวาล แผ่เมตตาจากพระนิพพานลงมายังโลกมนุษย์ สรรพสัตว์ และมนุษย์ทั้งหลายที่มีกายเนื้อขันธ์ 5 มีกายหยาบทั้งโลก ทั่วจักรวาล ทั้งโลกใบนี้และทั่วดวงดาวทุกภพ แผ่เมตตาต่อไปยังภพภูมิของโอปปาติกะ สัมภเวสี มิติแดนลับแล ภพที่ทับซ้อน เมืองพญานาค เหล่าบริวารทั้งหลายของท้าวมหาราชทั้ง 4 พญาครุฑ คนธรรพ์ วิทยาธร มิติที่ซ้อนอยู่ในป่าหิมพานต์ แผ่เมตตาถึงทุกท่าน ทุกรูป ทุกนาม แผ่เมตตาต่อไปยังภพของโอปปาติกะ สัมภเวสี ขอจงปรับภพปรับภูมิขึ้นสู่ภพภูมิที่เป็นสุขๆ แผ่เมตตาต่อไปยังภพของเปรตอสุรกายทั้งหลาย แผ่เมตตาต่อไปยังภพของสัตว์นรกทุกขุม ขอท่านพญายมราชและนายนิรยบาลทั้งหลาย เมตตามาเป็นประธานและพยานบุญของข้าพเจ้า

จากนั้นตั้งจิตแผ่เมตตาจากพระนิพพาน เปิดโลก เปิด 3 ภพภูมิ สว่าง ขอสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอดวงจิตทั้งหลาย พ้นจากความทุกข์ พ้นจากการเบียดเบียนกัน ขอกระแสสติแห่งเมตตาจงปรากฏ ได้สติฉุกคิด มีเมตตาอารี เอื้อเฟื้อแบ่งปันต่อกัน ขอกระแสธรรม ขอกระแสมรรคผลพระนิพพาน จงซึมเข้าสู่ดวงจิตของทุกดวง ดวงจิตนั้นจะเข้าถึงมรรคผล เข้าถึงกระแสเร็วช้าต่างกันเพียงใด ก็ตามแต่วาระ แต่บุญวาสนาของแต่ละดวงจิตนั้นเทอญ แต่จิตของเราแผ่กระแสแห่งพระนิพพาน ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งมรรคผล เมล็ดพันธุ์แห่งโพธิจิต ลงสู่ทุกดวงจิตดวงใจ ขอกระแสบุญจากพระพุทธองค์ ได้ส่งลงสู่ดวงจิตนั้น ดวงจิตใดที่อยู่ในวิสัยเป็นประดุจดอกบัวที่เพิ่งบานแย้ม สว่างบานรับแสงอาทิตย์ ก็จงรู้ตื่นขึ้น สู่กระแสธรรม สู่กระแสมรรคผลพระนิพพาน น้อมกระแสจนมองเห็นว่าแสงสว่าง แสงกระแสบุญจากพระนิพพานนั้น แผ่ส่องสว่างไปยังทุกดวงจิตดวงใจ

และก็ขอให้กระแสจากพระนิพพานนี้ ส่องลงสู่ดวงจิตของสาธุชนทั้งหลาย พุทธบริษัท 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่อยู่บนโลกมนุษย์ในขณะนี้ หรืออยู่ในอนุอุตรธรรมทวีป คือดาวดวงอื่นแต่อยู่ในวิสัยที่สามารถฟังธรรม ปฏิบัติธรรมได้ ขอกระแสแห่งพระนิพพานจงแผ่ลงสู่ทุกดวงจิตนั้น เพื่อให้บานขึ้นเข้าสู่ยุคชาววิไลกันทุกดวงจิตด้วยเถิด ขอกระแสแห่งพระนิพพานเป็นเหมือนกับเกราะแก้วคุ้มครอง บุคคลผู้เป็นกำลังในการนำพายุคสมัยเข้าสู่ยุคชาววิไล ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวง ทั้งโรคระบาด ทั้งผลลัพธ์จากโรคระบาด รอดพ้นจากภัยในสงครามโลกทั้งหลาย ในการรบ ในศึกสงครามทั้งหลาย รอดพ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลาย รอดพ้นจากภัยของสงครามนิวเคลียร์ทั้งหลาย รอดพ้นจากอุปสรรค ภยันอันตรายทั้งปวง ขอบุญ ขอเทวดาพรหม ผู้เป็นสัมมาทิฐฏิ ได้มาเมตตาคุ้มครองรักษาทุกคน ทุกรูป ทุกนามด้วยเถิด จากนั้นเราตั้งจิตนะ อุเบกขา ในช่วงเวลาต่อไป การเสียชีวิตของผู้คน ก็จะมีการทยอยล้มตายกันในหลายสาเหตุ ใจเราไม่ทุกข์ มองให้เห็นทุกอย่างเป็นไปตามกฎของกรรม เป็นไปตามธรรมชาติ คนที่ปฏิบัติธรรมก็อาจจะมีบางคนที่เสียชีวิต คนที่ไม่ปฏิบัติธรรมบางคนก็รอด เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา หรือแม้แต่ตัวเราเอง เราก็อาจจะไม่รอดก็เป็นได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่จิตเราเข้าถึงกระแสแห่งความเป็นพระอริยเจ้า เข้าสู่กระแสแห่งมรรคผลแล้ว เมื่อพูดถึงความตาย เราไม่ได้กลัวความตาย แต่ใจเราเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าถึงเป็นหนึ่งเดียวกับพระนิพพาน เราจะมีความรู้สึกว่าตายเมื่อไหร่เรามาพระนิพพาน ความกลัวตายก็จะไม่มีในเรา ยิ่งครูบาอาจารย์ที่ท่านเข้าถึงความเป็นอรหัตผล ใจท่านจริงๆแล้วมีแต่ความรู้สึกที่เร่งวันเร่งคืนว่า อยากที่จะตายเร็วๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าตายเมื่อไหร่ท่านก็พ้นจากความทุกข์ของขันธ์ 5 ตายเมื่อไหร่ก็พ้นจากความทุกข์ในการมีร่างกายเนื้อ ตายเมื่อไหร่ก็พ้นจากความทุกข์ในการเป็นมนุษย์อยู่ อยู่ในโลก อยู่ในสังสารวัฏ แต่เหตุที่ท่านยังทรงฝืนสังขาร หรือต่ออายุสังขารของท่าน ก็เพื่อโปรดญาติโยม ในการที่จะเป็นประโยชน์ ในการเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นกำลังของพระพุทธศาสนา

ดังนั้นอันที่จริงแล้วเมื่อไหร่ก็ตามอารมณ์ใจเรารู้สึกว่าตายเมื่อไหร่เราไปพระนิพพาน ใจเรามีคติที่ไปแน่นอนชัดเจนในพระนิพพานแน่นอน ความทุกข์ ความกลัวตายก็จะไม่มีในเรา หากเรามีความเข้าใจในสัญญา  ความรู้สึก การรับรู้ในมิติเวลาของภพ การเป็นมนุษย์นั้นเป็นเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีบนสวรรค์ เป็นเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาทีบนพรหม ดังนั้นความจริงแล้ว ชีวิตในความเป็นมนุษย์นั้นมันสั้นอย่างยิ่ง ยังไม่ทันจะเรียนรู้อะไรได้มากมาย เราก็ตายจากความเป็นมนุษย์ บางคนใช้เวลาอยู่กับโลกมนุษย์ 80-90 ปี ยังไม่สัมผัสถึงธรรมะ ยังไม่ได้รู้ในรสของพระธรรม ความสงบร่มเย็นของใจ เราพึงเป็นผู้ระลึกไว้เสมอว่า เราเป็นผู้ที่มีบุญใหญ่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้เข้ามาเจริญพระกรรมฐาน นั่นแปลว่าก้าวเข้าสู่พระนิพพานของเรานะมันใกล้ ยิ่งเจริญพระกรรมฐานจนยกจิตขึ้นถึงพระนิพพานได้นั้น แปลว่าพระนิพพานนั้นยิ่งอยู่ไม่ไกล ถ้าใจเรามีศรัทธา ถ้าใจของเราเข้าถึงอย่างแท้จริง ดังนั้นเราได้เปรียบกับบุคคลอีกมากมาย เกิดมาอยู่ในแผ่นดินไทย แต่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา เกิดมานับถือพระพุทธศาสนา แต่ไม่รู้จักบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ดังนั้นตัวเราเข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา คือปฏิบัติเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด เรานั้นได้แก่น ได้แก่นความดีของพระพุทธศาสนา เราพึงที่จะภูมิใจในตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องบุพเพกตปุญญตา บุญเก่าที่เราทำไว้ดีแล้ว ทำให้เราเข้าถึง มีธรรมฉันทะในธรรม พูดถึงคนที่เขาปฏิบัติจนได้สมาธิ ฝึกจนได้มโนมยิทธิ คนฝึกได้อาจจะมีเป็นหมื่นเป็นแสนคน แต่คนที่รักษาไว้ หรือยังทรงกำลังใจในการปฏิบัติในมโนมยิทธิเพื่อพระนิพพานเป็นที่สุด อาจจะมีเหลือเพียง 1 ใน 10 เท่านั้น

ดังนั้นเราจงบอกตัวเองว่า เมื่อไหร่เราเข้าถึงความดี เราได้มาพบมาเจอ มาพบมาเจอหลวงพ่อ มาพบมาเจอครูบาอาจารย์ซึ่งสอนให้เราเข้าถึงขณะนี้ได้แล้ว เราจะต้องทำพระนิพพานให้แจ้งในชาตินี้ให้ได้ กำลังใจเราต้องมีความมั่นคงเด็ดเดี่ยว ไม่ท้อถอย เมื่อไหร่ที่เราทรงอารมณ์ไว้เช่นนี้ ไม่ว่าจะมีความไม่เที่ยง แปรปรวน ภัยพิบัติ ภัยสงครามทั้งหลาย มันก็เป็นธรรมชาติของมันเช่นนี้ ภูเขาไฟระเบิด การล้างโลก สงครามล้าง มันก็ไม่ได้เกิดเพียงแค่หนนี้เป็นหนแรก มันเกิดมาทุกครั้ง ชั่วกัปชั่วกัลป์มากมาย หมื่นแสนล้านครั้ง อารยธรรมที่ล่มสลายในอดีต แอตแลนติส อาณาจักรต่างๆ ที่มันถูกการล่มสลายไป มันก็เป็นวัฏฏะ การเกิดดับเช่นนี้ ท้ายสุดพิจารณาดูให้เห็นจริง ความเจริญเกิดขึ้น ก็มีความเสื่อม  มันเป็นกฎไตรลักษณ์ของมันอยู่แล้ว ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น เจริญ เสื่อม สลายตัวไป แม้แต่ชีวิตขันธ์ 5 ร่างกายของเรา ดังนั้น จิตเมื่อเรารู้เท่าทัน ปล่อยวาง ใจเราก็ไม่มีความหวาดกลัว ไม่มีความทุกข์ มีแต่ความรู้สึกการรับมือทุกสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ใจเรามีคติที่ไปคือพระนิพพาน

เมื่อพิจารณาแล้วใจเราเป็นสุข ปัญญาความรู้แจ้งเกิด กระแสพุทธบารมีคุ้มครอง ก็น้อมกราบพระพุทธเจ้า กราบทุกท่านบนพระนิพพาน กราบด้วยความเคารพ ขอบุญรักษา ตายเมื่อไหร่มาพระนิพพาน ใจของเรามีความมั่นคงเด็ดเดี่ยว กำลังอภิญญาสมาบัติ ยิ่งเหตุการณ์เข้าใกล้ความคับขัน ภายในจิตเรายิ่งกระตุ้นความรู้ตื่น ยิ่งกระตุ้นความเพียรในการปฏิบัติ เมื่อพิจารณาแล้ว ก็น้อมพุ่งจิตลงกลับมาที่กายเนื้อ อาราธนาน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาที่กายเนื้อ ฟอกชำระ ธาตุขันธ์ ขันธ์ 5 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการ 32 ธาตุทั้ง 4 มีแต่กระแสความสว่าง เป็นเพชรระยิบระยับไปทุกส่วน ทุกร่าง ทุกเซลล์ กระแสบุญคุ้มครองกาย วาจา ใจ จิตสว่างผ่องใสเต็มกำลัง จากนั้นเราก็หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ 3 ครั้ง หายใจเข้าพุท ออกโธ ครั้งที่ 2 ธัมโม ครั้งที่ 3 สังโฆ

จากนั้นตั้งจิตอธิษฐาน หยุดจิตอธิษฐาน ให้กำลังกรรมฐานนั้น แรงอธิษฐานมีกำลัง แล้วจึงโมทนาสาธุกับกัลยาณมิตรทุกคนที่ฝึกสมาธิร่วมกัน รวมที่ท่านได้มาฝึกในภายหลัง กำหนดด้วยกระแสจิตเมตตา ขอให้เพื่อนๆกัลยาณมิตรทุกคน พ้นจากวิบาก พ้นจากกรรม พ้นจากเวรภัยทั้งปวง ขอให้ทุกคนมีความเจริญก้าวหน้าในธรรมยิ่งๆขึ้นไป ขอให้หมู่เหล่าทุกสายการปฏิบัติ จงมีความรักความสามัคคีรักใคร่ รวมจิตร่วมใจกัน จากนั้นก็กำหนดจิตนะ ค่อยๆลืมตาขึ้นช้าๆด้วยจิตอันเป็นสุข ใจเอิบอิ่มผ่องใส ตั้งใจว่าเราจำอารมณ์กรรมฐานได้ เราไปฝึกเอง ทรงภาพพระเอง ทรงอารมณ์จิตขึ้นไปกราบพระพุทธเจ้าบนพระนิพพานได้เอง พิจารณาธรรม พิจารณาขันธ์ 5 พิจารณาตัดร่างกายได้เอง กำหนดจิตว่า เราต้องเป็นที่พึ่งของตน ใจเราทำสม่ำเสมอ ความเพียร การเร่งรัดบารมี ปรากฏตื่นขึ้นในใจ สำหรับวันนี้ก็ขอโมทนากับทุกคน พบกันใหม่สัปดาห์หน้า พยายามตั้งใจกันนะครับ สำหรับวันนี้สวัสดีครับ 

ถอดความและเรียบเรียงโดย : คุณวรรณภา

You cannot copy content of this page